ผู้เขียน หัวข้อ: สบส.ยันภาพโฆษณา "จิ๋ม 3 มิติ" ขัดศีลธรรม ชี้ รพ.ต้องห้ามผู้ใดโฆษณา  (อ่าน 454 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สบส.ยันภาพโฆษณาศัลยกรรม "จิ๋ม 3 มิติ" ไม่เหมาะสม ขัดศีลธรรม ผิดหลักเกณฑ์โฆษณาสถานพยาบาล สสจ.นนทบุรีประสานทราบความผิดแล้ว ชี้เจ้าหน้าที่ รพ.โพสต์แล้วโซเชียลแห่แชร์เองไม่ใช่ข้ออ้าง รพ.ต้องห้ามมิให้บุคคลใดโฆษณา

ความคืบหน้ากรณีการโฆษณาการทำศัลยกรรม "จิ๋ม 3 มิติ" โดยการฉีดไขมันตัวเองหรือฟิลเลอร์บริเวณแคมใหญ่ เพื่อให้เกิดความโหนกนูน โดย รพ.เลอลักษณ์ ระบุว่า เกิดจากพนักงานคนหนึ่งของโรงพยาบาลเห็นคนไข้มาฉีดและคิดว่าน่าสนใจจึงโพสต์ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว จนเกิดกระแสแชร์กันออกไปจำนวนมาก โดยพร้อมให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เข้าดำเนินการตรวจสอบ

วันนี้ (8 ต.ต.) ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า การทำศัลยกรรมดังกล่าวถือว่าไม่ผิด แต่ถือว่าผิดเรื่องของการโฆษณาสถานพยาบาล ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล ในมาตรา 4.14 การโฆษณาที่มีลักษณะอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจากมีการใช้ภาพคนไข้นอนอ้าขา ที่ดูแล้วไม่เหมาะสม ซึ่งไม่สมควรที่จะโฆษณา โดยโรงพยาบาลดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ จ.นนทบุรี ซึ่งทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นนทบุรี ได้ประสานทาง รพ.ให้เข้ามารับทราบความผิดแล้ว โดย รพ.จะต้องระงับการโฆษณาทันที

เมื่อถามว่า รพ.อ้างว่าเจ้าหน้าที่นำไปโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวเอง ไม่เกี่ยวข้องกับทาง รพ. ทพ.อาคม กล่าวว่า เนื่องจากเป็นการโฆษณาที่ไม่เหมาะสม แม้สถานพยาบาลจะไม่ได้โฆษณาเอง แต่สถานพยาบาลต้องไม่ยินยอมให้บุคคลใดมีการโฆษณาอย่างเด็ดขาด ดังนั้น สถานพยาบาลก็ต้องพิสูจน์ตัวเองหรือแสดงให้เห็นว่ามีการให้ระงับการโฆษณาดังกล่าวเช่นกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการโฆษณาสถานพยาบาล ตามมาตรา 4 ห้ามมิให้โฆษณาสถานพยาบาลในลักษณะ ดังต่อไปนี้

4.1 การใช้ข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความที่ไม่มีมูลความจริงทั้งหมด หรือเพียงบางส่วน หรือมีลักษณะเป็นการหลอกลวงหรือปกปิดความจริงหรือทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นจริง 

4.2 การใช้ข้อความที่ทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าในสถานพยาบาลมีผู้ประกอบวิชาชีพ (บุคลากร) เครื่องมือ เครื่องใช้ และอุปกรณ์ทางการแพทย์แต่ข้อเท็จจริงกลับไม่มีให้บริการในสถานพยาบาล 

4.3 การใช้สถาบัน หน่วยงาน องค์กร หรือบุคคล ที่มิได้ผ่านการรับรองจากหน่วยงานของรัฐเพื่อรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลของตน เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต 

4.4 การโฆษณาแจ้งบริการโรคที่ไม่มีอยู่ในสาขาที่ผู้ประกอบวิชาชีพมีหนังสืออนุมัติ หรือวุฒิบัตร

4.5 การอ้างอิงรายงานวิชาการ ผลงานวิจัย สถิติ หรือยืนยันหรือรับรองข้อเท็จจริงอันใดอันหนึ่งในการโฆษณา เพื่อแสดงหรือเปรียบเทียบความสามารถในการให้บริการหรือการรักษาพยาบาลโดยข้อมูลที่อ้างอิงนั้น มิใช่ข้อมูลข่าวสารของทางราชการ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาต 

4.6 การใช้ข้อความหรือรูปภาพ โอ้อวดเกินจริงหรือข้อความที่กล่าวอ้างหรือบ่งบอกว่าของตนดีกว่า, เหนือกว่า, ดีที่สุด, รายแรก, แห่งแรก รับรองผล 100% หรือการเปรียบเทียบหรือการใช้ข้อความอื่นใดที่มีความหมายในทำนองเดียวกัน มาใช้ประกอบข้อความโฆษณาด้วยความประสงค์ที่จะทำให้ผู้รับบริการ หรือผู้บริโภคเข้าใจว่าการบริการของสถานพยาบาลแห่งนั้นมีคุณภาพมาตรฐานที่ดีกว่า เหนือกว่า หรือสูงกว่าสถานพยาบาลอื่นหรือเกิดความคาดหวังว่าจะได้รับบริการที่ดีกว่าหรือได้ผลสูงสุด

4.7 การโฆษณากิจการสถานพยาบาลหรือการโฆษณาความรู้ความสามารถ ความเชี่ยวชาญในการรักษาพยาบาลคุณภาพ หรือประสิทธิภาพประสิทธิผลของผู้ประกอบวิชาชีพหรือสรรพคุณของเครื่องมือเครื่องใช้ของสถานพยาบาล หรือกรรมวิธีการรักษา หรือโรคที่ให้การรักษาหรือเปรียบเทียบผลก่อนและหลังการรักษาไปในทำนองให้เข้าใจผิด โดยไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการที่เป็นมาตรฐานวิชาชีพหรือทำให้ประชาชนเกิดความคาดหวังในสรรพคุณเกินความจริง 

4.8 การใช้ชื่อสถานพยาบาล หรือข้อความที่ทำให้ผู้รับบริการหรือประชาชน อ่าน ฟัง ดูแล้วเข้าใจผิดหรือหลงเชื่อว่าสถานพยาบาลนั้น มีการประกอบกิจการดังที่โฆษณาซึ่งไม่ตรงกับที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการ

4.9 การโฆษณาสถานที่ซึ่งมิใช่เป็นของสถานพยาบาลนั้น รวมอยู่ในการโฆษณาสถานพยาบาล จนทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจว่าสถานที่ดังกล่าวเป็นสถานพยาบาล 

4.10 การโฆษณาด้วยวิธีการอันอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ร่างกาย หรือจิตใจหรือก่อให้เกิดความรำคาญแก่ผู้ใช้บริการหรือประชาชนทั่วไป 

4.11 การใช้ภาพหรือเสียงที่ไม่เหมาะสมสร้างความหวาดกลัว หรือมีลักษณะเป็นการส่อไปในทางลามกอนาจาร หรือมีลักษณะเป็นการกระตุ้น หรือยั่วยุทางกามารมณ์ 

4.12 การใช้ภาพหรือเสียงโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลงหรือแสดงอาการทุกข์ทรมานของผู้ป่วย 

4.13 การโฆษณาที่มีลักษณะที่เป็นการให้ร้าย เสียดสี หรือทับถมสถานพยาบาลหรือผู้ประกอบวิชาชีพอื่น 

4.14 การโฆษณาที่มีลักษณะอันเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

4.15 การโฆษณาที่รวมอยู่กับข้อความถวายพระพร หรือข้อความอย่างอื่นที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เว้นแต่ชื่อของสถานพยาบาล หรือผู้ประพันธ์บทความดังกล่าว 

4.16 การโฆษณาการให้บริการ "ฟรี" โดยไม่เรียกเก็บค่าใช่จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากผู้อนุญาต ทั้งนี้ จะต้องกำหนดวัน เวลา และสถานที่ให้บริการและจะต้องแสดงรายละเอียดว่าจะให้บริการฟรีในเรื่องใดให้ชัดเจน การให้ความเห็นชอบของผู้อนุญาตให้นำความใน ข้อ 5 วรรคสามมาใช้โดยอนุโลม 

4.17 การโฆษณาที่จัดให้มีการแถมพก แลกเปลี่ยน ให้สิทธิประโยชน์ รางวัล หรือการเสี่ยงโชค จากการเลือกรับบริการทางการแพทย์อย่างใดอย่างหนึ่งจากสถานพยาบาลนั้น เว้นแต่การให้สิทธิประโยชน์เหล่านั้น ผู้รับบริการเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงและมาตรฐานการรับบริการทางการแพทย์ จะต้องไม่ต่ำกว่ามาตรฐานทั่วไปของสถานพยาบาล การให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ ดังกล่าวในวรรคแรก จะต้องระบุเงื่อนไขและรายละเอียดของสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ชัดเจนและจะต้องกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาที่ให้สิทธิประโยชน์นั้นๆ

4.18 การให้ส่วนลดค่าบริการหรือค่ารักษาพยาบาล เว้นแต่กรณี ดังต่อไปนี้  (ก) เป็นการให้ส่วนลดเพื่อการอนุเคราะห์บุคคลด้อยโอกาส หรือตามแผนงานของกระทรวงสาธารณสุขหรือที่กระทรวงสาธารณสุขรับรอง (ข) เป็นการให้ส่วนลดต่อสมาชิกกลุ่มบุคคลหรือสถาบันหรือองค์กร โดยเป็นการประกาศหรือแจ้งให้ทราบเฉพาะกลุ่มนั้นๆ เท่านั้น  การให้ส่วนลดดังกล่าวข้างต้นจะต้องกำหนดประเภทของบริการให้ชัดเจน และกำหนดวันเริ่มต้นและสิ้นสุดของระยะเวลาที่ให้ส่วนลดให้ชัดเจน ทั้งนี้ การให้ส่วนลดต้องไม่เกิน 1 ปี การให้ส่วนลดที่มิได้เกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์ หรือค่ารักษาพยาบาลและมิได้เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการสถานพยาบาล หากผู้รับบริการหรือผู้บริโภคเป็นผู้รับประโยชน์โดยตรงจะกระทำก็ได้

8 ต.ค. 2560
โดย: MGR Online