ผู้เขียน หัวข้อ: ผลตรวจ “ช็อกโกแลต” พบตะกั่วไม่เกินเกณฑ์ แต่ยังไม่มีมาตรฐานแคดเมียม แนะดูปริมาณ “  (อ่าน 660 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ผู้บริโภคตรวจ “ช็อกโกแลต” 19 ยี่ห้อ พบปนเปื้อน “ตะกั่ว” 8 ตัวอย่าง แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ส่วน “แคดเมียม” พบ 18 ตัวอย่าง แต่ยังไม่มีมาตรฐานทั้งระดับประเทศและยุโรป แนะดูฉลากก่อนเลือกซื้อช็อกโกแลต ชี้ มีส่วนผสมโกโก้มาก ยิ่งเสี่ยงเจอการปนเปื้อนสารโลหะหนักมากขึ้น เสี่ยงสะสมในร่างกายกระทบต่อสุขภาพ

วันนี้ (4 ต.ค.) น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แถลงข่าวผลการตรวจสอบการปนเปื้อนแคดเมียมและตะกั่วในช็อกโกแลต ว่า จากการสุ่มตรวจตัวอย่างช็อกโกแลตที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจำนวน 19 ตัวอย่าง เมื่อ ส.ค. - ก.ย. 2560 เป็นดาร์กช็อกโกแลตจำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่นๆ อีก 9 ตัวอย่าง พบว่า มีเพียง 1 ตัวอย่างที่ไม่พบทั้งตะกั่วและแคดเมียม มี 8 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนทั้งตะกั่วและแคดเมียม และมี 10 ตัวอย่างที่ปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียม อย่างไรก็ตาม ปริมาณตะกั่วที่พบสูงสุดนั้นอยู่ที่ 0.05 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานของไทยและต่างประเทศ ส่วนแคดเมียมยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานทั้งระดับประเทศ หรือแม่แต่ของยุโรป แต่ทางยุโรปกำลังกำหนดมาตรฐานเพื่อประกาศใช้ในปี 2019 เบื้องต้นเท่าที่ทราบเกณฑ์ คือ หากสัดส่วนของช็อกโกแลตต่ำกว่า 30% ต้องมีแคดเมียมไม่เกิน 0.1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) ถ้ามีช็อกโกแลต 30 - 50% แคดเมียมต้องไม่เกิน 0.3 มก./กก. ถ้าช็อกโกแลต 50% แคดเมียมต้องไม่เกิน 0.8 มก./กก.

“แม้ช็อกโกแลตที่ตรวจจะมีการปนเปื้อนตะกั่วไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่ยังไม่มีมาตรฐานของแคดเมียม จึงยังพูดได้ไม่เต็มว่าทั้งหมดผ่านเกณฑ์ อย่างไรก็ตาม พบว่า มี 2 ตัวอย่างที่ผลิตในประเทศมาเลเซียไม่แสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ซึ่งการไม่แสดงฉลากภาษาไทยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 6 (10) และมีโทษตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 คือ ปรับไม่เกิน 3 หมื่นบาท ส่วนการไม่แสดงเลขสารบบอาหารมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท” น.ส.สารี กล่าว

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตะกั่วและแคดเมียมถือเป็นโลหะหนัก ซึ่งการปนเปื้อนในอาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ทั้งนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 พ.ศ. 2527 เรื่อง ช็อกโกแลต กำหนดให้สารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มก./กก. แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน หรือไม่ใส่น้ำตาล ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มก./กก. สำหรับตะกั่วหากสะสมในร่างกายในปริมาณมากๆ จะส่งผลต่อระบบประสาท ทำให้เซลล์สมองถูกทำลาย เดินเซ ความจำเสื่อม เป็นพิษต่อระบบโลหิต ต่อไต ระบบทางเดินอาหาร ทำให้ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน และระบบสืบพันธุ์ ทำให้เป็นหมัน แม้ตะกั่วจะสามารถขับออกทางปัสสาวะและเหงื่อ แต่ในชีวิตประจำวันเรามีการสะสมตะกั่วจากน้ำ อาหาร และอากาศอยู่แล้ว จึงไม่ควรได้รับเพิ่มอีก ส่วนแคดเมียมหากได้รับมากๆ อาจจะทำให้เกิดอาการเฉียบพลันได้ เช่น เวียนหัว คลื่นไส้ อาเจียนรุนแรง ถ่ายเหลวและอาจมีภาวะเลือดปน รวมถึงไตวายเฉียบพลันทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้ หากต้องการบริโภคช็อกโกแลตควรอ่านฉลากก่อน ยิ่งมีปริมาณโกโก้มากเท่าไร ก็มีโอกาสที่ตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนมากขึ้น และควรอ่านฉลากพลังงานด้วยว่า 1 บรรจุภัณฑ์ มีปริมาณกี่แคลอรี เนื่องจากช็อกโกแลตมักมีน้ำตาลสูง เพื่อพิจารณาว่าควรแบ่งกินเท่าไรในการหลีกเลี่ยงภาวะอ้วน

ด้าน น.ส.อัฏฐพร ฤทธิชาติ นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ กล่าวว่า การได้รับสารตะกั่วและสารแคดเมียมในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มทารกในครรภ์และเด็ก โดยมีผลต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็ก ทำให้ระดับสติปัญญาด้อยลง ผลการเรียนตกต่ำ สมาธิสั้น และก้าวร้าว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบสืบพันธุ์ ตับ ไต และระบบการสร้างเม็ดเลือด นอกจากนี้ องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ อาทิ มะเร็งปอด มะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก และกำหนดให้สารประกอบของตะกั่วเป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์ ทั้งนี้ สารตะกั่วและแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการดูดซึมสารโลหะหนักของพืชได้ ดังนั้น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งอาหารของเราได้

4 ต.ค. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000101382