ผู้เขียน หัวข้อ: เคลียร์ชัด!! ป่วยไม่เกิน 3 วันไม่ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ นายจ้างไม่มีสิทธิขอ  (อ่าน 554 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด

กสร.ย้ำชัดป่วยไม่เกิน 3 วัน ไม่ต้องใช้ "ใบรับรองแพทย์" ประกอบสิทธิลาป่วย และนายจ้างไม่สิทธิเรียกขอ ชี้หากไม่ให้สิทธิลา จนไม่ได้ค่าจ้าง ให้ร้องเรียนพนักงานตรวจแรงงาน ด้านแพทยสภาเผยแต่ละหน่วยงานมีเกณฑ์ใช้ใบรับรองแพทย์ต่างกัน หมอต้องออกให้โดยสุจริต ตรงตามหลักวิชาการ ไม่ควรแสดงความเห็นนอกเรื่องจากการรักษา ไม่ฟันธงผิดจริยธรรมหรือไม่

จากกรณีสื่อสังคมออนไลน์มีการโพสต์เรื่องราวของผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งที่ไม่พอใจต่อข้อความในใบรับรองแพทย์ ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยเป็นบุคคลวัย 27 ปีใช้ประกันสุขภาพด้วยเรื่องไข้สูงกลางคืน สมควรให้พักผ่อน 1 วัน  แต่ในบันทึกความคิดเห็นของแพทย์กลับมีข้อความว่า "การกรรโชกใบรับรองแพทย์กรณีหยุดงานไม่เกิน 3 วันผิดกฎหมายแรงงาน เลว และเห็นแก่ตัว ทำให้เกิดปัญหาคนไข้ล้นโรงพยาบาลลิดรอนสิทธิคนไข้ คนไข้มีสิทธิหยุด 3 วันโดยไม่มีใบรับรองแพทย์" จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งประเด็นว่า แพทย์อาจต้องการตำหนิบริษัทที่ให้ขอใบรับรองแพทย์ ทั้งที่หยุด 1 วันไม่จำเป็นต้องใช้ และบางส่วนมองว่าแพทย์พูดจาแรง และเป็นการตำหนิผู้ป่วยหรือไม่

วันนี้ (28 ก.ย.) นายอภิญญา สุจริตตานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง ส่วนสิทธิการรับค่าจ้างขณะลาป่วยนั้นกำหนดให้ 1 ปีมีสิทธิได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วัน และกฎหมายยังกำหนดว่า หากลาป่วยตั้งแต่ 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ หากลูกจ้างไม่อาจแสดงได้ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ สำหรับกรณีที่แต่ละบริษัทมีการกำหนดเงื่อนไขในการใช้สิทธิลาป่วยต่างกัน เช่น ลางาน 1 หรือ 2 วันต้องใช้ใบรับรองแพทย์มาประกอบนั้น ตรงนี้ถือว่าไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิที่จะปฏิเสธไม่ต้องแสดงใบรับรองแพทย์ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากไม่แสดงใบรับรองแพทย์ ทำให้บริษัทหรือนายจ้างไม่ให้สิทธิวันลาป่วยและไม่ได้รับค่าจ้างตามที่กฎหมายกำหนด  นายอภิญญา กล่าวว่า หากเป็นเช่นนั้น ลูกจ้างสามารถดำเนินการร้องเรียนพนักงานตรวจแรงงานในพื้นที่ได้ เพราะถือว่านายจ้างปฏิบัติไม่สอดคล้องกับกฎหมายคุ้มครองแรงงาน อย่างไรก็ตาม กรณีลาป่วยเป็นเท็จก็จะมีความผิดทางวินัยได้เช่นกัน หากนายจ้าง ลูกจ้างมีข้อสงสัยสอบถามได้ที่ กองคุ้มครองแรงงาน โทร. 0-2245-7170 , 0-2246-6389  สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 ถึง 10 สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด หรือหมายเลขโทรศัพท์สายด่วน 1546

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา กล่าวว่า การเขียนใบรับรองแพทย์นั้น ก่อนอื่นผู้ที่จะออกใบรับรองแพทย์ได้นั้น คือ 1.ต้องเป็นผู้ที่ได้รับใบประกอบวิชาชีพ 2.ได้เห็นคนไข้จริงหรือเป็นแพทย์เจ้าของไข้ และ 3.ต้องออกใบรับรองแพทย์ให้โดยสุจริต ยึดถือตามหลักวิชาการ ซึ่งตามหลักแล้วการออกใบรับรองแพทย์ก็จะเขียนเฉพาะอาการเจ็บป่วยและความเห็นเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยของคนไข้เท่านั้น ไม่ควรเขียนเกี่ยวกับเรื่องอื่นลงไป ซึ่งเรื่องดังกล่าวคงยังไม่สามารถฟันธงได้ว่า การเขียนใบรับรองแพทย์เช่นนี้มีความผิดหรือไม่ ต้องดูองค์ประกอบและบริบทในการเขียนใบรับรองแพทย์ขณะนั้น รวมถึงจุดประสงค์ในการเขียนของแพทย์ด้วยว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้ หากประชาชนมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาเรื่องจริยธรรมของแพทย์ ก็สามารถส่งเรื่องและข้อมูลมาให้แพทยสภาดำเนินการตรวจสอบได้

พญ.ชัญวลี กล่าวว่า สำหรับการออกใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการใช้สิทธิวันลาป่วยนั้น โดยทั่วไปหากเป็นข้าราชการ คือป่วย 30 วันขึ้นไปจึงจะใช้ใบรับรองแพทย์ ส่วนประกันสังคม คือป่วย 3 วันขึ้นไปจึงต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ตรงนี้ถือเป็นเกณฑ์กลาง แต่ในความเป็นจริงแต่ละหน่วยงาน องค์กร และบริษัทมีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างกันไป บางแห่งป่วย 1-2 วันก็ต้องใช้ใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการใช้สิทธิลาป่วยเพื่อรับเงินค่าจ้าง แต่ก็มีบางแห่งที่แม้ว่า ลูกจ้างจะมีหรือไม่มีใบรับรองแพทย์ก็หักเงินค่าจ้าง อย่างตนอยู่ รพ.พิจิตร ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ บุคลากรสาธารณสุขทั่วไป หรือลูกจ้าง หากป่วย 2 วันขึ้นไปก็ต้องใช้ใบรับรองแพทย์ ถือเป็นกฎเกณฑ์ของหน่วยงาน เรียกได้ว่า แต่ละหน่วยงานก็มีเกณฑ์ในการใช้สิทธิลาป่วยไม่เหมือนกัน ดังนั้น ก็ต้องเคารพหลักเกณฑ์ของแต่ละหน่วยงานด้วย การออกใบรับรองแพทย์จึงเป็นหน้าที่ของแพทย์ที่ต้องเขียนให้คนไข้ แต่ประเด็นสำคัญคือต้องเขียนด้วยความสุจริตและยึดถือตามหลักวิชาการ และหลักทางการแพทย์ หากเขียนโดยเป็นการซื้อใบรับรองแพทย์ ก็ถือว่าผิดจริยธรรม

"ปัญหาเรื่องการเขียนใบรับรองแพทย์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่เป็นความทุกข์ใจของแพทย์ เพราะคนไข้บางคนก็มาขอให้เขียนว่าควรลาเท่านี้วัน หรือบางคนแพทย์ไม่สามารถตรวจพิสูจน์ได้ว่าป่วย จึงเขียนตามใจเขาไม่ได้ เช่น บางคนป่วยท้องเสียนอนอยู่บ้าน แต่วันนี้ลุกขึ้นเดินได้มาพบแพทย์ แต่ไม่สามารถตรวจได้ว่าเมื่อวานนั้นป่วยจริง ก็ออกใบรับรองแพทย์ย้อนหลังให้ไม่ได้ หรืออย่างบางครั้งแพทย์ก็เป็นเรื่องของความเมตตา เพราะทราบดีว่าหากคนไข้ไม่มีใบรับรองแพทย์ก็ใช้สิทธิลาไม่ได้ ไม่ได้รับค่าจ้าง หากไม่เขียนให้ก็หาว่าไม่มีความเมตตา ซึ่งบางท่านก็เขียนให้เพราะเมตตาคนไข้ ซึ่งถามว่าผิดไหมก็ถือว่าผิด หรือกรณีเทศกาลหยุดยาวกลับบ้านไม่ทัน ก็มาขอให้แพทย์ออกใบรับรองให้ก็มี และไม่เพียงแค่คนไข้ ทางนายจ้างก็พยายามตรวจสอบว่า เป็นการเขียนเพื่อเอื้อให้ลูกจ้างเขาใช้สิทธิลาด้วยหรือไม่ ซึ่งปัญหาต่างๆ เหล่านี้ก็ทำให้มีเป็นคดีในแพทยสภาส่วนหนึ่งด้วย อย่างไรก็ตาม แพทยสภาก็พยายามย้ำว่า การออกใบรับรองแพทย์ควรออกโดยสุจริตใจ และเป็นไปตามความรู้ตามหลักวิชาการทางการแพทย์จะดีที่สุด และอธิบายให้คนไข้เข้าใจว่า เหตุใดถึงไม่สามารถออกใบรับรองแพทย์ให้ได้" พญ.ชัญวลี กล่าว

28 ก.ย. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000099529