ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.มงกุฎวัฒนะ ผ่าตัดหัวใจ "สิทธิบัตรทอง" ฟรีไม่ได้ เหตุ สปสช.ไม่จ่ายเงิน  (อ่าน 1413 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สิทธิบัตรทอง "รพ.มงกุฎวัฒนะ" กว่า 2 แสนคน อดผ่าตัด-ใส่สายสวนหัวใจฟรี ตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป เหตุ สปสช.ไม่จ่ายเงิน หลัง รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่เห็นด้วยเกณฑ์ตรวจประเมินเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจ "หมอเหรียญทอง" ชี้ควรใช้หลักเกณฑ์กับ รพ.นอกระบบบัตรทอง ไม่ใช่ รพ.ที่อยู่ในระบบ

วันนี้ (19 ก.ย.) พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า รพ.มงกุฎวัฒนะให้บริการผ่าตัดหัวใจและใส่สายสวนหัวใจแก่คนไข้มานานกว่า 20 ปี โดยให้บริการแก่ผู้ป่วยบัตรทองด้านนี้ตั้งแต่ปี 2553 โดยเป็นหน่วยบริการประจำและรับส่งต่อ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองในความดูแลของ รพ.มงกุฏวัฒนะประมาณ 1.2 แสนคน และปีนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ขอให้รับเป็นหน่วยส่งต่อผู้ป่วยมาดูแลจาก รพ.เอกชนที่ถอนตัวอีกกว่า 6 หมื่นคน ทำให้ปัจจุบันมีผู้ใช้สิทธิบัตรทองรวมกว่า 2 แสนคน อย่างไรก็ตาม สปสช.ยื่นข้อเสนอให้ รพ.มงกุฎวัฒนะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะด้านการรักษาโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วยวิธีการผ่าตัดในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2560 ซึ่งมีข้อกำหนดว่า ต้องจัดหาศัลยแพทย์หัวใจมาประจำที่ รพ. วันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ อย่างน้อย 1 คน จึงจะผ่านเกณฑ์การตรวจประเมิน



"ข้อเสนอดังกล่าวเรารับไม่ได้ เพราะเราเป็นหน่วยบริการหลักให้บริการประชาชนเทียบเท่า รพ.รัฐอยู่แล้ว และหากมีการส่งต่อก็ยินดีจะรักษาให้ โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานรับส่งต่อ และมีแพทย์หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมง ไม่จำเป็นต้องแขวนชื่อแพทย์เพียงคนเดียวเพื่อให้มาตอบปัญหาหรือรับผิดชอบคนเดียว แพทย์ทุกคนมีใบประกอบวิชาชีพ และมีความสามารถ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวมองว่า ควรนำไปใช้กับหน่วยบริการนอกระบบบัตรทองที่ต้องการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคหัวใจเท่านั้น ไม่ใช่นำมาใช้กับหน่วยบริการประจำที่ต้องรักษาผู้ป่วยบัตรทองทุกโรคอยู่แล้ว" พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า การไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ทำให้ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน เท่ากับว่าตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2560 เป็นต้นไป คนไข้บัตรทองที่มีสิทธิอยู่ที่ รพ.มงกุฎวัฒนะหากป่วยเป็นโรคหัวใจ จะไม่สามารถผ่าตัดหรือใส่สายสวนหัวใจฟรีได้ ต้องส่งต่อไปรับบริการที่ รพ.อื่น แต่หากต้องการรักษาที่นี่ก็ต้องจ่ายเงินเอง เพราะสปสช.จะไม่จ่ายเงินให้กับ รพ.มงกุฎวัฒนะ รวมถึงกรณีรพ.อื่นต้องการส่งต่อคนไข้หัวใจมารักษาที่ รพ.มงกุฏวัฒนะก็ไม่สามารถส่งต่อมาได้เช่นเดิม เพราะ สปสช.จะไม่จ่ายให้เช่นกัน โดยในช่วง ต.ค.-ธ.ค. 2560 มีคนไข้นัดคิวผ่าตัดราว 40-50 ราย ก็ต้องหา รพ.ใหม่และรอคิวใหม่ นอกจากนี้ แม้ผู้ป่วยจะเข้ามาด้วยอาการฉุกเฉินก็ไม่เข้าเกณฑ์ด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาแน่นอน ทั้งนี้ ตนจะได้ทำหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. และนายกรัฐมนตรีเพื่อขอให้ สปสช.หยุดหลักเกณฑ์ดังกล่าว

19 ก.ย. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000096244

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช.แจง รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่านเกณฑ์หน่วยรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจ เหตุมองต่างมุมเรื่องมีแพทย์ประจำเวลาราชการ ทำคนไข้ผ่าตัดหัวใจฟรีไม่ได้ช่วง ต.ค. - ธ.ค. 40-50 ราย เตรียมประสานส่งต่อผ่าตัดที่อื่นแทน

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีรพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป้นหน่วยบริการรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจ ทำให้ผ่าตัดและใส่สายสวนหัวใจฟรีแก่ผู้ใช้สิทธิบัตรทองไม่ได้ ว่า ต้องขอย้ำว่า รพ.มงกุฎวัฒนะยังเป็นหน่วยบริการประจำและยังรักษาประชาชนสิทธิบัตรทองได้เหมือนเดิม แต่กรณีการรักษาโรคหัวใจต้องเป็นไปตามเกณฑ์หน่วยบริการรับส่งต่อเฉพาะโรคหัวใจ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อ พ.ค. 2560 และบังคับใช้ ต.ค.นี้ โดยเกณฑ์นี้จะใช้กับหน่วยบริการที่ผ่าตัดหัวใจ มี 5 ด้าน คือ 1.สถานที่ อุปกรณ์ ต้องมีห้องผ่าตัด 2.บุคลากรที่ดูแล 3.เกณฑ์ด้านการจัดการ 4.ด้านการบริการ และ 5.ด้านการให้ข้อมูล ซึ่งเกณฑ์นี้บังคับทั้งหมดทั้ง รพ.รัฐและเอกชน

นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า สำหรับ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่านเกณฑ์เดียวคือ เรื่องของบุคลากรที่ต้องมีแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ หลอดเลือด และทรวงอก ปฏิบัติงานประจำเต็มเวลาในเวลาราชการอย่างน้อย 1 คน ไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องคุณภาพบริการ ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะมีมุมมองที่แตกต่าง เพราะมองว่า เป็น รพ.เอกชน ไม่มีเวลาราชการเหมือนรัฐ เพราะทำ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ซึ่ง สปสช.ก็มีการชี้แจงและหารือกับ รพ.มงกุฎวัฒนะ ซึ่งจริงๆ มองในเกณฑ์ผู้ให้บริการน่าจะเป็นประโยชน์ตรงที่มีชื่อมีตัวตนของแพทย์ และคณะทำงานในการกำหนดเกณฑ์ก็มองว่าเกณฑ์นี้มีประโยชน์ ไม่ควรตัดออก เพราะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน

"ขอย้ำว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ ยังมีมาตรฐาน มีคุณภาพในการให้บริการตามเดิม เพียงแต่ไม่ผ่านเกณฑ์ข้อย่อยข้อเดียว จึงไม่สามารถขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจได้ สำหรับคนไข้ที่รอคิวอยู่นั้น สปสช.จะหา รพ.ให้และทำเรื่องส่งต่อไปยัง รพ.อื่นแทน อย่างไรก็ตาม การส่งต่อไปรพ.อื่นอาจต้องใช้เวลา แต่ยืนยันว่า ผู้ป่วยทุกคนจะได้รับการรักษา ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นไปตามเกณฑ์และกฎหมายของสปสช. ซึ่งผู้ป่วยสามารถติดต่อมาที่สปสช.ได้ ส่วนผู้ป่วยที่ยืนยันจะผ่าตัดที่ รพ.มงกุฎวัฒนะก็ต้องรอให้เป็นไปตามเกณฑ์ ไม่อย่างนั้นก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง แต่ทาง สปสช.ก็หวังว่าทาง รพ.มงกุฎวัฒนะจะปฏิบัติตามข้อกำหนด" นพ.ประจักษวิช กล่าว

19 ก.ย. 2560
MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช.ยันผู้ป่วยบัตรทอง รพ.มงกุฎวัฒนะ ยังผ่าตัดหัวใจฟรีเหมือนเดิม ยกเว้นผู้ป่วยที่ส่งต่อมา "หมอปิยะสกล" พร้อมหารือ "หมอเหรียญทอง" แก้ปัญหาเห็นต่างหลักเกณฑ์ขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจ

จากกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ออกหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจ แต่ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขหนึ่งที่กำหนดให้ต้องมีแพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมหัวใจ ประจำในเวลาราชการวันจันทร์-ศุกร์ เนื่องจากเป็น รพ.เอกชน มีแพทย์หมุนเวียนตลอด 24 ชั่วโมงและเป็นหน่วยบริการประจำในระบบบัตรทองอยู่แล้ว ควรนำไปใช้กำหนดกับหน่วยบริการนอกระบบมากกว่า จนทำให้ผู้ใช้สิทธิบัตรทอง รพ.มงกุฎวัฒนะกว่า 2 แสนคน ส่อวืดรักษาด้วยการผ่าตัดหัวใจหรือใส่สายสวนหัวใจฟรี ตั้งแต่ ต.ค. 2560

วันนี้ (20 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า จริงๆ เกณฑ์ดังกล่าวได้ออกประกาศในราชกิจจานุเบกษาไปแล้วตั้งแต่เมื่อวันที่ 4 พ.ค. 2560 ซึ่งจะใช้จริงในเดือนตุลาคมนี้ โดยตนได้หารือกับทางนพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสปสช. แล้ว และทราบว่าได้เข้าไปชี้แจงและร่วมหารือกับทาง ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะแล้วเช่นกัน อย่างไรก็ตาม เมื่อทางรพ.มงกุฎวัฒนะมีข้อคิดเห็นเช่นนี้ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนที่จำเป็นต้องรักษาโรคหัวใจ ตนได้กำชับให้ทางเลขาธิการสปสช. ไปดำเนินการหารือเรื่องนี้ให้ชัดเจนว่าจะอย่างไรต่อ หากร่วมมือกันได้ก็ต้องร่วมมือกันทำ เพื่อประชาชนด้วยกัน

"ทราบมาว่าเรื่องนี้ รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านเกณฑ์กรณีบุคลากร คือ ไม่มีแพทย์หัวใจปฏิบัติงานประจำ ซึ่งตามเกณฑ์แล้วจำเป็นต้องมี อย่างน้อย 1 คน แม้ทางรพ.จะระบุว่า มีแพทย์หมุนเวียนเป็นเวรตลอด 24 ชั่วโมง แต่ข้อเท็จจริง หากมีแพทย์ประจำก็จะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนได้ด้วยหรือไม่ แต่เราก็พร้อมรับฟังความคิดเห็นเรื่องนี้ ซึ่งผมจะมีการประชุมผู้บริหาร สปสช.เดือนละ 1 ครั้งอยู่แล้ว และช่วงเช้าวันที่ 21 ก.ย.นี้ก็จะมีการประชุมเช่นกัน ซึ่งผมจะให้มีการหารือเพื่อแก้ปัญหาเรื่องนี้ และเรื่องอื่นๆ ที่ รพ.เอกชนมีส่วนร่วม เพราะเราต้องคุยต้องหารือให้เกิดความร่วมมือด้วยกัน เนื่องจากการร่วมมือทั้ง รพ.รัฐและเอกชน เป็นสิ่งที่ดี ยิ่งก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนยิ่งเป็นเรื่องดี ดังนั้นอะไรที่มีปัญหาจะมีการหารือกันให้ชัดเจน คาดว่าจะทราบผลได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป” นพ.ปิยะสกล กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณี พล.ต.นพ.เหรียญทอง จะขอหารือ นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ยินดี หากคิดถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก ก็พร้อมคุยกันได้

ด้าน นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ยังคงยืนยันเหมือนเดิมว่า ผู้ป่วยบัตรทองทุกคนที่รับบริการในรพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะกรณีเป็นเฉพาะผู้ป่วยโรคหัวใจในการส่งต่อมารับบริการ ซึ่งไม่ต้องกังวล เพราะสปสช.จะไม่ยอมให้เดือดร้อนไปถึงผู้ป่วย จะหาทางในการช่วยเหลืออย่างแน่นอน ส่วนกรณีที่ทางรพ.มงกุฎวัฒนะ ระบุว่า ด้วยความที่เป็นหน่วยบริการหลักด้วยจะไม่สามารถรักษาผู้ป่วยหัวใจที่ฉุกเฉินนั้น จริงๆ การที่เป็นหน่วยบริการหลัก หรือหน่วยบริการส่งต่อ หากมีศักยภาพช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉิน ก็ต้องรักษาอยู่แล้ว

“ไม่ต้องห่วง สปสช.จะหาทางจ่ายเงินให้อยู่แล้วในกรณีผู้ป่วยฉุกเฉิน เราไม่ให้คนไข้มาเสี่ยง ซึ่งทาง รพ.ก็ต้องรักษา เพราะมีทั้งเรื่อง พ.ร.บ.สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2559 และยังมีเรื่อง จรรยาบรรณของแพทย์อีก ซึ่ง สปสช.มีหน้าที่จ่ายก็ต้องจ่าย เรื่องขึ้นทะเบียนจริงๆ มีทางออกอยู่แล้ว แต่อย่างไรเสียต้องยึดคนไข้เป็นหลัก ขอย้ำว่า สปสช.พยายามหาทางแก้ไขอยู่ ขอให้มั่นใจผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต สปสช.จ่ายให้แน่นอน” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

20 ก.ย. 2560
 โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปสช.ขยายเวลา 1 ปี ให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ และ รพ.เอกชนอีก 7 แห่งที่เคยเป็นหน่วยบริการส่งต่อรักษาหัวใจ ปรับตัวเข้ากับเกณฑ์ใหม่ ย้ำต้องแยกเกณฑ์หน่วยประจำและส่งต่อจากกัน แม้จะรักษาโรคเฉพาะทางได้ เพื่อความชัดเจน

จากกรณีโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านการตรวจประเมินเป็นหน่วยบริการรับส่งต่อรักษาโรคหัวใจของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ในเงื่อนไขต้องมีศัลยแพทย์หัวใจประจำเวลาราชการ เพราะมองต่างมุมว่าเป็น รพ.เอกชนมีแพทย์หมุนเวียน 24 ชั่วโมง และเป็นหน่วยบริการประจำระบบบัตรทองอยู่แล้ว เหตุใดต้องเอาเกณฑ์ของหน่วยบริการนอกระบบมาใช้กับหน่วยบริการประจำ

วันนี้ (21 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งมีวาระถึงกรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ โดยให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุม ว่า เกณฑ์ใหม่ดังกล่าวได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ซึ่งข้อกำหนดหนึ่งคือ ให้มีศัลยแพทย์ด้านหัวใจประจำ รพ. 1 คน เพื่อความปลอดของผู้ป่วย ซึ่งส่วนใหญ่มารับบริการช่วงเวลาราชการอยู่แล้ว ส่วนการที่ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่าน และเสนอให้เปลี่ยนเกณฑ์เพื่อให้ รพ.สามารถใช้แพทย์พาร์ทไทม์ได้นั้น ที่ประชุมเห็นว่า ความปลอดภัยของประชาชนสำคัญที่สุด จะไปเปลี่ยนเกณฑ์คงไม่ได้ แต่เนื่องจากเพิ่งมีการประกาศใช้ เลยให้โอกาส รพ.ที่เคยทำอยู่ก่อน โดยยืดเวลาให้สามารถใช้แพทย์พาร์ทไทม์ได้ 1 ปี หลังจากนั้นต้องให้เป็นไปตามเกณฑ์คือ มีแพทย์ประจำ และได้มอบหมายให้ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการ สปสช. หารือกับ พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้

นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า รพ.เอกชนที่เคยผ่าตัดหัวใจในระบบบัตรทองมาก่อน เมื่อมีประกาศเกณฑ์ใหม่ ส่งผลให้มี รพ.เอกชนอีก 7 แห่ง ไม่ได้ยื่นเข้ามาเป็นหน่วยบริการรับส่งต่ออีก เพราะพิจารณาแล้วว่าอาจไม่เข้าเกณฑ์ด้วยเหตุผลบางประการ และรวมกับ รพ.มงกุฎวัฒนะที่ไม่ผ่านเกณฑ์เพราะเงื่อนไขต้องมีศัลยแพทย์หัวใจประจำ รวมเป็น 8 แห่ง ทั้งนี้ ประกาศที่ออกมามีความกระชั้นชิด ทำให้ รพ.ปรับตัวไม่ทัน จึงจะมีการยืดเวลาให้ รพ.ทั้งหมดนี้เตรียมตัวอีก 1 ปี และคนไข้จะได้ไม่เดือดร้อน และจะมีการหารือกับ รพ.เอกชนทั้งหมดว่า เมื่อมีการขยายเวลาเพื่อให้ปรับตัวน่าจะมีความพร้อมมากขึ้นหรือไม่ ส่วน รพ.อื่นที่เข้ามาใหม่ก็จะให้ใช้ตามเกณฑ์นี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า รพ.อีก 7 แห่งเป็นหน่วยบริการประจำและส่งต่อเหมือน รพ.มงกุฎวัฒนะหรือไม่ นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า เดิมก่อนมีประกาศฉบับใหม่นี้ มี รพ.เป็นหน่วยบริการรับส่งต่อทั้งหมด 57 แห่ง แต่เมื่อมีประกาศฉบับใหม่มี รพ. 50 แห่งส่งมาเพื่อขอประเมินขึ้นเป็นหน่วยบริการส่งต่อของบัตรทอง โดย 7 แห่งที่ไม่ได้ส่งมา ส่วนใหญ่เป็นหน่วยบริการส่งต่อทั้งหมด ยกเว้น 1 แห่งที่เป็นทั้งหน่วยบริการส่งต่อและหน่วยบริการประจำเหมือน รพ.มงกุฎวัฒนะ แต่เมื่อ รพ.มงกุฎวัฒนะไม่ผ่านเกณฑ์ จึงมีหน่วยบริการส่งต่อที่ผ่านประเมิน 49 แห่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุใดต้องแยกเกณฑ์หน่วยบริการประจำและส่งต่อ ทั้งที่รักษาได้เหมือนกัน นพ.ประจักษวิช กล่าวว่า หน่วยบริการประจำจะดูแลทุกเรื่อง ทั้งส่งเสริมป้องกัน คนไข้นอก คนไข้ในที่รักษาทั่วไป หากรักษาไม่ได้ก็ต้องส่งต่อ ก็จะมีส่งต่อทั่วไป หรือส่งต่อเฉพาะโรค เช่น โรคหัวใจ เพราะเป็นเรื่องจำเพาะ เด็กน้ำหนักน้อย ยกตัวอย่าง รพ.หนึ่งผ่าตัดข้อเข่าไม่ได้ ก็ต้องส่งต่อทั่วไปที่มีศัลยแพทย์ ซึ่งแม้หน่วยบริการประจำจะมีศักยภาพในการผ่าตัดรักษาเฉพาะโรคได้ รู้ว่าทำได้ แต่เพื่อให้เกิดความชัดเจนขึ้น และมีความมั่นใจกับประชาชนด้วย ไม่ใช่ว่าหน่วยบริการประจำจะทำได้ทุกเรื่อง จึงจำเป็นต้องแยกเช่นนี้

“ย้ำว่าผู้ป่วยบัตรทองยังรักษาได้เหมือนเดิมทั้งหมด อย่างผู้ป่วยโรคหัวใจก็ยังรักษาได้ตามเดิม ส่วนเรื่องของระบบการบริหารจัดการ สปสช.จะเข้าเจรจาหารือกับ รพ.เอกชน และไม่ต้องห่วง ทุกอย่างจะไม่กระทบกับผู้ป่วยแน่นอน และขอย้ำอีกว่าส่วนผู้ป่วยบัตรทองใน รพ.มงกุฏวัฒนะท่านอื่นๆ ก็รักษาได้ตามปกติ” รองเลขาธิการ สปสช.กล่าว

 21 ก.ย. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000096969

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“หมอเหรียญทอง” ยันชัดไม่หาศัลยแพทย์หัวใจมาทำงานธุรการประสาน สปสช. ในเวลาราชการ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์หน่วยบริการรับส่งต่อรักษาหัวใจ ชี้ เสียของ เสียบุคลากร ย้ำ มีศัลยแพทย์หัวใจ 3 คน ทำงาน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ถามกลับหาอาจารย์แพทย์หัวใจมาแขวนป้าย แต่ผ่าตัดไม่ไหวจะผ่านเกณฑ์หรือไม่ เกิดประโยชน์กับคนไข้จริงหรือไม่ ชี้ ไม่ควรนำเกณฑ์มาใช้กับหน่วยบริการประจำที่สามารถผ่าตัดได้

ความคืบหน้ากรณี รพ.มงกุฎวัฒนะ ไม่ผ่านเกณฑ์มีศัลยแพทย์หัวใจประจำในการขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการรับส่งรักษาโรคหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ทั้งที่เป็นหน่วยบริการประจำ จนผู้ป่วยอาจได้รับผลกระทบ ซึ่งจากการประชุมผู้บริหารสำนักงานหลักประกันสัขภาพแห่งชาติ (สปสช.) นำโดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. ได้ข้อสรุปที่จะไม่แก้ไขหลักเกณฑ์ในการขึ้นทะเบียน แต่จะให้เวลา 1 ปี ในการปรับตัวนั้น

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการ รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าวว่า ต้องขอบคุณ นพ.ปิยะสกล แทนประชาชน เพราะคือการช่วยเหลือประชาชนที่อย่างน้อยจะไม่เดือดร้อนไปอีก 1 ปี อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ มีศัลยแพทย์หัวใจ 3 คน และพร้อมให้การดูแลรักษาคนไข้ 24 ชั่วโมง ผ่าตัดหัวใจคนไข้ทั้งคนไทยและต่างชาติมาตลอด นี่คือ ระบบเต็มเวลาของ รพ.เอกชน ที่ไม่ได้แยกเป็นเวลาทำงานเหมือนราชการที่จะต้องมีแพทย์เต็มเวลาในวันจันทร์ - ศุกร์ เท่านั้น จึงยืนยันว่า จากนี้ไปอีก 1 ปี รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็จะไม่จัดหาศัลยแพทย์หัวใจมาเพิ่มเติมเพียงเพื่อทำงานธุรการในเวลาจันทร์ - ศุกร์ คอยประสานงานกับ สปสช. ในการรับส่งต่อคนไข้โรคหัวใจแน่นอน

“การที่ สปสช. ออกเกณฑ์แบบนี้ก็เพื่อให้หน่วยรับส่งต่อด้านหัวใจได้มีศัลยแพทย์หัวใจคอยประสานงานกับ สปสช. ในวันเวลาราชการเท่านั้น เพราะ สปสช. ทำงานแค่จันทร์ - ศุกร์ แต่การเจ็บป่วยของคนไข้ไม่ได้เกิดแค่เวลาราชการ เกิดได้ตลอดเวลา ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ เป็นหน่วยบริการหลักของระบบบัตรทอง มีคนไข้ใช้สิทธิบัตรทองประจำอยู่ที่นี่ เรารักษาทุกโรคและมีศูนย์ประสานงานกับ สปสช. เฉพาะอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเอาศัลยแพทย์มาแปะป้ายตามเกณฑ์ของหน่วยรับส่งต่อของ สปสช. เพื่อทำหน้าที่แค่ประสานงานอีก เพราะเสียของ เสียบุคลากร และฝากถาม สปสช. ว่า หลังครบกำหนด 1 ปีแล้ว รพ. จัดหาศัลยแพทย์หัวใจระดับอาจารย์แพทย์มาทำงานประจำจันทร์ - ศุกร์ ตามเกณฑ์ของ สปสช. แต่ท่านอายุ 80 ปีแล้ว ผ่าตัดไม่ไหวแล้ว แบบนี้คือผ่านเกณฑ์หรือไม่ ถ้าผ่านแล้วการเอาชื่อศัลยแพทย์มาแค่แขวนป้ายได้ประโยชน์อะไรกับคนไข้” พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า กฎเกณฑ์นี้ไม่ได้มีปัญหา หากใช้กับหน่วยบริการที่รับส่งต่อเฉพาะด้านหัวใจ ที่จำเป็นต้องมีศัลยแพทย์หัวใจมาทำหน้าที่ประสานงาน เพราะเขาไม่ใช่หน่วยบริการหลักอย่าง รพ.มงกุฎวัฒนะ ที่มีศูนย์ประสานงานเฉพาะ ไม่จำเป็นต้องนำศัลยแพทย์หัวใจที่เรามีอยู่มาทำหน้าที่ตรงนี้ ส่วนหน่วนบริการรับส่งเฉพาะอย่างเดียวอาจจำเป็นต้องมีแบบนั้น เพื่อให้หน่วยบริการรองที่ไม่มีศักยภาพในการรักษาโรคหัวใจสามารถส่งต่อไปหน่วยรับส่งต่อเหล่านั้นได้ แต่ของ รพ.มงกุฎวัฒนะเป็นหน่วยหลักที่สามารถรักษาโรคหัวใจได้เองไม่ต้องส่งต่อ และมีศักยภาพรับส่งต่อจากหน่วยบริการรองอื่นๆ ไม่ควรนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้กำหนด อย่างที่ผ่านมา สปสช. เคยออกกฎเกณฑ์แบบนี้ในเรื่องหน่วยรับส่งต่อเฉพาะโรคนิ่วในไต การสลายนิ่ว ต้องมีศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะอย่างน้อย 1 คน ประจำจันทร์ - ศุกร์ ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ ก็มีศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะพร้อมดูแลคนไข้ 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ก็ไม่ต้องจัดหา ทำให้เป็นหน่วยบริการส่งต่อเฉพาะโรคนิ่วในไตไม่ได้ คนไข้บัตรทองที่ต้องเข้ารับการสลายนิ่ว รพ.มงกุฎวัฒนะก็ต้องส่งต่อไปที่อื่น เพราะถ้ารักษาที่นี่ สปสช.จะไม่จ่ายค่ารักษา หรือคนที่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองได้ก็ผ่าที่นี่

“แต่กรณีนี้ไม่ได้ออกมาคัดค้านแม้จะไม่ได้เห็นด้วย เพราะการสลายนิ่วไม่ใช่ภาวะความเป็นความตายของคนไข้เหมือนโรคหัวใจ ซึ่งสุดท้ายคนไข้ไปร้อง สปสช. ท้ายที่สุดแพทย์ที่เป็นที่ปรึกษา สปสช. ก็มาขอร้องให้ รพ.มงกุฎวัฒนะ รับส่งต่อคนไข้สลายนิ่วเหมือนเดิม ผมก็บอกไปว่าคุณสมบัติไม่ครบตามเกณฑ์ที่ สปสช. กำหนด ก็ได้รับการบอกกล่าวว่าให้ทำเหมือนเดิม ไม่ต้องหาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะมาแขวนป้าย เพราะ รพ. มีศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะและศักยภาพในการสลายนิ่วได้ ก็รักษาคนไข้สลายนิ่วมาจนถึงตอนนี้ แต่คราวนี้เป็นเรื่องโรคหัวใจ ที่เป็นความเป็นความตายของคนไข้ จะมาทำแบบการสลายนิ่วไม่ได้ เมื่อครบ 1 ปี ผมก็ทำอยู่เหมือนเดิมเพราะเรามีศัลยแพทย์หัวใจพร้อมอยู่แล้ว ถึงเวลานั้น สปสช. ก็อาจจะต้องออกมาผ่อนผันไปอีก 1 ปีไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเห็นและเข้าใจได้ว่ากฎเกณฑ์นี้มันแย่แค่ไหนหากนำมาใช้กับหน่วยบริการหลัก และยึดตามหลักความเป็นจริง และคิดได้ว่าคนไข้ไม่ได้ประโยชน์ คิดว่าจะเอาเรื่องเงินมาบีบให้ทำ แต่ผมไม่ทำ เพราะประชาชนเดือดร้อน ผมไม่ได้ทิฐิ แต่เพราะ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีศัลยแพทย์หัวใจอยู่แล้ว ไม่เอาแพทย์มาทำงานธุรการเด็ดขาด เรื่องนี้ต้องออกมาบอกให้สังคมรับทราบ เพื่อไม่ให้เข้าใจผิดว่า รพ. ใจจืดใจดำไม่ผ่าตัดหัวใจให้คนไข้ แต่มันเป็นเพราะกฎเกณฑ์ของ สปสช. ถามว่า รพ.มงกุฎวัฒนะ จะถอนตัวออกจากระบบบัตรทองหรือไม่ ผมถือประชาชนของในหลวงเป็นที่ตั้ง จึงจะไม่ออกและพร้อมรับคนไข้จาก รพ. อื่นๆ ที่ถอนตัวจากบัตรทองมาดูแลให้ด้วย” พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าว

22 ก.ย. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000097013

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“หมอเหรียญทอง” เผย ผู้ป่วยบัตรทองผ่าตัดหัวใจ รพ.มงกุฎวัฒนะได้เหมือนเดิมแล้ว หลัง สปสช.ยอมถอย ปรับประกาศหลักเกณฑ์มีศัลยแพทย์หัวใจประจำเวลาราชการ ครอบคลุมหน่วยบริการเฉพาะรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจที่ขึ้นทะเบียนใหม่ ไม่รวมหน่วยบริการประจำที่มีศักยภาพ ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องตกอยู่ภาวะเสี่ยงวิกฤต เดือดร้อนจากค่าผ่าตัดหัวใจ

พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เปิดเผยว่า ภายหลังจากที่ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงมาแก้ไขปัญหาประกาศหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนหน่วยบริการรับส่งต่อผู้ป่วยโรคหัวใจในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ที่ระบุให้ต้องมีศัลยแพทย์ผ่าตัดหัวใจประจำในเวลาราชการ ทั้งที่ รพ.มงกุฎวัฒนะ มีศัลยแพทย์หัวใจที่เป็นแพทย์เวรประจำ 24 ชั่วโมง ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยหัวใจในระบบบัตรทองไม่สามารถรับการผ่าตัดที่ รพ.ได้ ซึ่งจากการหารือเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทำให้ขณะนี้ไม่มีปัญหาแล้ว เนื่องจากประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว สปสช.จะบังคับเฉพาะหน่วยบริการใหม่ที่จะขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยรับส่งต่อผ่าตัดหัวใจเท่านั้น ไม่ครอบคลุมถึงหน่วยบริการประจำอย่าง รพ.มงกุฎวัฒนะที่มีศัลยแพทย์หัวใจประจำ 24 ชั่วโมง ทำให้คนไข้ไม่เดือดร้อน ซึ่งไม่เพียงแต่ รพ.มงกุฎวัฒนะเท่านั้น แต่รวมถึง รพ.อื่นๆ ที่เป็นหน่วยบริการประจำที่มีศักยภาพผ่าตัดหัวใจด้วย

พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวต่อว่า ขณะนี้การบริการผู้ป่วยโรคหัวใจของหน่วยบริการประจำบัตรทองได้กลับเป็นอย่างเดิมอย่างที่เคยทำมา โดยได้มีการแก้ไขไปหลายวันแล้ว ซึ่งผู้ป่วยโรคหัวใจที่ต้องผ่าตัด หากหน่วยบริการประจำบัตรทองใดผ่าตัดหัวใจไม่ได้ก็ให้ส่งต่อ แต่หากหน่วยบริการไหนมีศักยภาพผ่าตัดได้ ก็ให้ผ่าตัดได้เหมือนเดิม ซึ่ง รพ.มงกุฎวัฒนะ มีการผ่าตัดหัวใจอยู่แล้ว ไม่เพียงแต่ผ่าตัดผู้ป่วยบัตรทองขึ้นทะเบียนกับ รพ.เท่านั้น แต่ยังรับส่งต่อจาก รพ.ปทุมธานี รพ.นครนายก เป็นต้น

“หากเปรียบกองทัพเราก็เหมือนทหารประจำการที่ได้ขึ้นทะเบียนประจำการอยู่แล้ว ซึ่งกรณีการดูแลผู้ป่วยโรคหัวใจ สปสช.อยากให้มีหน่วยบริการเสริมเข้ามาเหมือนกับทหารกองหนุน ดังนั้นทหารประจำการจึงไม่ต้องขึ้นทะเบียนกองหนุนใหม่” ผอ.รพ.มงกุฎวัฒนะ กล่าว

ต่อข้อซักถามว่า รพ.มงกุฎวัฒนะต้องชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจกับผู้ป่วยบัตรทองของ รพ.หรือไม่ จากที่เคยออกประกาศข้อเท็จจริงไปก่อนหน้านี้ พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า คงไม่ต้องเพราะคนไข้ รพ.มงกุฎวัฒนะเองก็เข้าใจหมดแล้ว ซึ่งหลังจากนี้เป็นเรื่องที่ สปสช.ต้องไปชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจ ทั้งนี้ยืนยันว่าการที่ออกมาสู้ในเรื่องนี้ไม่ใช่เพราะ รพ.มงกุฎวัฒนะเดือดร้อนที่จะไม่สามารถเบิกจ่ายค่าผ่าตัดหัวใจได้ แต่เพราะเรากลัวประชาชนเดือดร้อน ซึ่งการส่งต่อผ่าตัดหัวใจเป็นความเสี่ยงวิกฤต และหากผ่าตัดที่ รพ.ผู้ป่วยก็ต้องจ่ายค่ารักษาเองนับแสนบาท

ส่วนกรณีที่มีการประชุมร่วมกับ สปสช. โดยมี รมว.สาธารณสุข เป็นประธานนั้น พล.ต.นพ.เหรียญทอง กล่าวว่า เป็นเรื่องการแก้ไขปัญหาการดูแลผู้ป่วยบัตรทอง ซึ่งต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามาช่วยดูแลตามนโยบายพลังประชารัฐ ไม่ใช่เรื่องผ่าตัดหัวใจซึ่งจบไปแล้ว เป็นคนละประเด็นกัน

30 ก.ย. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000100127