ผู้เขียน หัวข้อ: เร่งร่าง กม.การแพทย์ปฐมภูมิ "คนไทยทุกสิทธิ"ตรวจรักษาเบื้องต้น "คลินิกหมอครอบครัว  (อ่าน 511 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สธ.เร่งร่าง กม.การแพทย์และสาธารณสุขปฐมภูมิ ให้อำนาจ "คลินิกหมอครอบครัว" ดูแลรักษาเบื้องต้นประชาชนทุกสิทธิก่อนเข้า รพ. ช่วยลดปัญหา รพ.แออัด เพิ่มความเป็นธรรม ลงทุนน้อยได้ผลมาก พร้อมช่วยส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค เผยอยู่ระหว่างศึกษารูปแบบลงทะเบียน ปชช. 1 หมื่นคนต่อหมอประจำตัว 1 คน

นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ต้องการให้มีการบูรณาการสามกองทุนรักษาพยาบาลให้เป็นมาตรฐานเดียว ว่า เรื่องนี้ สธ.มีการดำเนินการอยู่บ้างแล้ว โดยกำลังเร่งผลักดันให้คลินิกหมอครอบครัวเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในทุกสิทธิการรักษา ทั้งหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ข้าราชการ และประกันสังคม โดยอยากให้ทุกสิทธิเข้ามารับการตรวจเบื้องต้นที่คลินิกหมอครอบครัวก่อนที่จะไปโรงพยาบาล โดยเฉพาะการรักษาผู้ป่วยนอกเบื้องต้นและการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งอนาคตตั้งใจจะให้งบส่งเสริมป้องกันโรคลงมาอยู่ในจุดนี้เพื่อทำงานเชิงรุก โดยขณะนี้อยู่ระหว่างร่าง พ.ร.บ. การแพทย์และสาธารณสุขปฐมภูมิ พ.ศ. ... ซึ่งสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันที่กำหนดให้มีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวมาดูแลประชาชน โดยมีการคณะกรรมการมาทำงานเรื่องวางแนวทางปฏิบัติของคลินิกหมอครอบครัว รวมทั้งแนวทางปฏิบัติเรื่องการส่งเสริมป้องกันและรักษาในระดับปฐมภูมิ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ.เป็นผู้ร่างกฎหมายดังกล่าว ซึ่งการดำเนินการเรื่องนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรมกับคนไทยทุกคน และเป็นการลงทุนน้อยแต่ได้ผลมาก



"กฎหมายฉบับนี้จะช่วยให้มีความชัดเจนในเรื่องการลงทะเบียนของประชาชนว่า จะมีแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวคนใดเป็นผู้ดูแล ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว 1 คนดูแลประชาชน 1 หมื่นคน ก็จะช่วยให้ประชาชนทราบว่าตัวเองจะมีแพทย์ท่านไหนเป็นแพทย์ประจำตัวในการดูแลและในทีมมีใครบ้าง แต่ต้องมาศึกษาวิธีการก่อนว่าจะมีแนวทางอย่างไร เช่น ทั้งหมู่บ้านนี้ให้ผูกติดกับคลินิกหมอครอบครัวทีมนี้เลยหรือไม่ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังต้องศึกษาเรื่องของอำนาจของคลินิกหมอครอบครัวด้วย เพราะอยากให้ทุกสิทธิการรักษามาผ่านหมอครอบครัวตรงนี้ก่อน ก็ต้องศึกษาว่าจะให้อำนาจคลินิกหมอครอบครัวอย่างไร เพราะอย่างอังกฤษหรือยุโรปก็กำหนดว่าทุกคนต้องมาหาหมอคครอบครัว ซึ่งเป็นด่านหน้าก่อนที่จะไปโรงพยาบาล แต่หากฉุกเฉินก็ยังให้ไปโรงพยาบาลได้ตามสิทธิอยู่ แต่ก็ต้องส่งข้อมูลการรักษาทั้งหมดกลับมายังทีมหมอครอบครัว เรียกได้ว่าอำนาจอยู่ตรงส่วนปฐมภูมิตรงนี้ รวมถึงยังต้องศึกษาว่า เงินจากทั้งสามกองทุนจะเข้ามาสนับสนุนจะทำอย่างไร สิทธิประกันสังคมที่ผูกไว้กับโรงพยาบาลคู่สัญญา เป็นต้น ก็คงต้องหารือกับทางกรมบัญชีกลาง สปสช. สำนักงานประกันสังคม (สปส.) และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ ด้วย" ปลัด สธ. กล่าว

ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว ว่า ผู้ป่วยนอกล้นโรงพยาบาลเป็นปัญหาที่สะสมมานาน ตั้งแต่ก่อนมีบัตรทอง แต่หลังปี 2545 ปัญหาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยอัตราการใช้บริการผู้ป่วยนอกเพิ่มจาก 2.416 ครั้งต่อคนต่อปีในปี 2549 เป็น 3.589 ครั้งในปี 2559 หากคูณตัวเลข 48 ล้านคน ก็เพิ่มมากกว่า 48 ล้านครั้ง ขณะที่บุคลากรสาธารณสุขแทบไม่เพิ่มเลย ที่ผ่านมา สปสช.และ สธ.พยายามจัดทำคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่มีปัญหาการขยายจำนวนและหาแพทย์ไปออกตรวจ จน สธ.เสนอนโยบายแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวและผลักดันจนได้รับการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงเริ่มเห็นทางแก้ไขปัญหา ยกตัวอย่าง รพศ.ขอนแก่นไม่ให้ผู้ป่วยใหม่มารับบริการผู้ป่วยนอก แต่จัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Primary Care Cluster : PCC) 4 มุมเมือง ให้แพทย์ 3 คนดูแลประชากร 30,000 คน ให้แพทย์ที่มีจิตอาสาไปอยู่ประจำ ระยะหลังให้แพทย์ที่เรียนด้านเวชศาสตร์ครอบครัวมาอยู่ประจำ ก็ช่วยสกัดผู้ป่วยที่ทะลักไป รพ.โดยไม่จำเป็นได้ โดยแพทย์ออกตรวจตอนเช้า ตอนบ่ายไปเยี่ยมบ้าน ใช้แพทย์ 3 คนต่อพยาบาลและเจ้าหน้าที่ 15 คน ถือว่าทำงานมีประสิทธิภาพมาก เป็นการทำงานในลักษณะที่ร่วมมือกับ รพ.สต. ท้องถิ่นและเอกชน วางเป้าหมายจะให้ครอบคลุมทั่วประเทศใน 10 ปี



อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องนี้ยังมีอีกมาก โดยเฉพาะการหาตัวแพทย์ให้มีจิตอาสาทำงานมวลชนแทนการไปเรียนเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพราะแม้แต่แพทย์เกษียณอายุปี 2559 ก็ยังมีเพียง 50-70 คน ต้องผ่านการอบรมนานถึง 4 เดือนและต้องทำงานเต็มเวลา ขณะที่ค่าตอบแทนก็ยังหาแนวทางที่จะเพิ่มให้โดยไม่ผิดระเบียบไม่ได้ เพราะการทำงานในเวลาราชการไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนได้ตามระเบียบกระทรวงการคลัง จึงต้องทำให้เป็นแพทย์สาขาขาดแคลน ซึ่งจะได้เงินเพิ่มจากปกติ จึงต้องอาศัยแพทย์ที่มีทัศนคติชอบทำงานในลักษณะที่ช่วยผู้ป่วยให้พ้นทุกข์และมีความสุขที่ได้ไปเยี่ยมบ้านผู้ป่วย แต่ส่วนตัวสนับสนุนเรื่องนี้ แม้ความฝันจะอยู่ไกล แต่ต้องไปให้ถึง เพราะใช้งบประมาณน้อยมากเมื่อเทียบกับประโยชน์ที่จะได้รับ อย่างญี่ปุ่นใช้คลินิกเอกชนทุกแห่งเป็นคลินิกปฐมภูมิกว่า 2 แสนแห่ง ห้ามเดินเข้าไปโรงพยาบาลโดยตรง ซึ่งหากไปรักษาโรงพยาบาลโดยไม่ได้ส่งผ่านจากคลินิก ค่าตรวจและรักษาจะแพงมาก ทำให้ผู้ป่วยไม่กล้ามา ซึ่งหากคลินิกหมอครอบครัวของไทยพัฒนาเต็มรูปแบบจะดีกว่ามาก เพราะค่าใช้จ่ายน้อยกว่า และแพทย์ยังไปทำงานส่งเสริมป้องกันโรค หรือเยี่ยมบ้านได้อีก และพัฒนาไปถึงการดูแลผู้ป่วยสูงอายุที่ติดบ้านติดเตียงในอนาคตได้

29 มิ.ย. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000066190