ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องเล่าจากแพทยสภา  (อ่าน 5581 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ความขัดแย้งทางการเมืองกับการแพทย์

กรรมการแพทยสภา เสนอว่า ตามที่ปรากฏเป็นข่าวเกี่ยวกับแพทย์โรพยาบาลชุมชน ได้ปฏิเสธการรักษามารดาของผู้ร้องเรียน เนื่องจากเห็นว่าผู้ป่วย สวมเสื้อสีแดง รวมทั้งเขียนข้อความลงไปในใบการตรวจรักษาว่า ขอให้ส่งผู้ป่วยรายนี้ไปพบแพทย์ท่านอื่น เนื่องจากทำใจตรวจคนใส่เสื้อแดงไม่ได้ คณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาแล้วเห็นว่าเป็นเรื่องเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาเวชกรรม จึงเห็นควรให้แพทยสภาพิจารณาและทำการตรวจสอบ เลขาธิการแพทยสภาจึงขอส่งเรื่องดังกล่าวให้ ประธานคณะอนุกรรมการจริยธรรมดำเนินการสิบสวนหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรม ได้สอบถามข้อมูลไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลและแพทย์ผู้ถูกร้องเรียน เกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนที่เกิดขึ้น แพทย์หญิงผู้ถูกร้องเรียน ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตนได้ออกตรวจผู้ป่วยนอกที่โรงพยาบาล ซึ่งมีแพทย์ 2 คน คือ ตนและเพื่อน เวลาประมาณ 10.30 น.ผู้ร้องเรียนได้พามารดามาตรวจกับตนด้วยเรื่องปวดบริเวณต้นคอ ซึ่งเป็นผู้ป่วยเก่าที่แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนเคยรักษามาก่อน เมื่อตนเห็นผู้ร้องเรียนสวมเสื้อสีแดงมาโรงพยาบาล จึงมีความเห็นว่าการใส่เสื้อสีแดงเป็นการแบ่งแยกและทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม จึงได้พูดออกไปว่าที่นี่เป็นโรงพยาบาลและเป็นสถานที่ราชการ ไม่ควรใส่เสื้อสีแดงมาเพราะทำให้แตกแยก จากนั้นจึงตรวจผู้ป่วยต่อจนเสร็จ และได้สั่งตรวจเอกซ์เรย์กระดูกต้นคอทางด้านตรงและด้านข้าง แต่เนื่องจากเป็นเวลาพักเที่ยงจึงได้ส่งต่อผู้ป่วยให้เพื่อนรักษาต่อ และเขียนกระดาษโน้ตแนบไปกับเวชระเบียนผู้ป่วยนอก เพื่อฝากให้เพื่อนทำการตรวจต่อหลังจากได้ฟิมล์แล้ว ทั้งยังเขียนเหตุผลท้ายกระดาษที่แนบไปด้วยว่า “ทำใจตรวจคนเสื้อแดงไม่ได้”

   เมื่อเสร็จแล้วก็ไปทำงานอื่นต่อและไปพักเที่ยงตามปกติ จนกระทั้งเวลาบ่ายโมงปรากฏว่ามีเหตุการณ์นำกระดาษที่แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนเขียนไปเผยแพร่บนอินเตอร์เน็ต และประท้วงไล่แพทย์ผู้ถูกร้องเรียน ดังที่เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาล จึงให้แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนได้ลาพักเพื่อให้เหตุการณ์ได้ลดความรุนแรง หลังจากนั้นผู้อำนวยการโรงพยาบาลและนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดได้โทรศัพท์ติดต่อแพทย์หญิงผู้ถูกร้องเรียน และผู้ร้องเรียนให้ทำความเข้าใจกันในเรื่องเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนรู้สึกเสียใจและไม่คิดว่าเหตุการณ์จะบานปลายถึงเพียงนี้ เมื่อพบกับผู้ร้องเรียนก็ทราบว่า ทางผู้ร้องเรียนก็ไม่ได้ติดใจเอาความแต่อย่างใด แต่ช่วงระหว่างเกิดเหตุการณ์ แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนได้รับจดหมายไปรษณีย์ที่มีข้อความด่าข่มขู่ทำร้าย ทำให้ผู้ใหญ่เกรงว่าจะเกิดเรื่องบานปลายและอาจจะเกิดความ ไม่ปลอดภัยต่อแพทย์ จึงมีคำสั่งให้ย้ายไปปฏิบัติงานที่อื่นต่อไป

   พิเคราะห์ข้อเท็จจริงประกอบพยานหลักฐานทั้งหมดตามที่ปรากฏในสำนวลคดีแล้วเห็นว่าตามข้อเท็จจริง และพยานหลักฐานที่ปรากฏนั้นพฤติกรรมของแพทย์หญิงผู้ถูกร้องเรียนน่าจะเป็นการประกอบวิชาชีพโดยคำนึงถึงลัทธิทางการเมืองอยู่จึงมีมติ คดีมีมูล

   คณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาแล้วมีมติ ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวน พิจารณาดำเนินการสอบสวนคณะอนุกรรมการสอบสวน พิจารณาแล้วมีความเห็นว่าผู้ถูกกล่าวโทษ กระทำผิดตามข้อบังคับแพทย์สภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ประกอบกับข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 2 ข้อ 7 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดีโดยไม่คำนึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคมหรือลัทธิทางการเมือง”

   อนึ่ง จากการดำเนินการสอบสวนคณะอนุกรรมการสอบสวน พิจารณาแล้วเห็นว่า แพทย์หญิงผู้ถูกกล่าวโทษ ได้รู้สึกผิดในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้ว จึงสมควรลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือนกรณีผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมประกอบวิชาชีพด้วยเจตนาดี โดยไม่คำนึงถึงฐานะ เชื้อชาติ สัญชาติ ศาสนา สังคมหรือลัทธิทางการเมืองคณะอนุกรรมการกลั่นกรองและคณะกรรมการแพทยสภาเห็นพ้อง
   
   เราได้บทเรียนอะไรจากคดีนี้ แพทย์ผู้ถูกร้องเรียนได้ทำการตรวจรักษาเบื้องต้นให้แก่ผู้ป่วยรายนี้ตามปกติไม่ได้ปฏิเสธให้การรักษา แต่แพทย์ไม่พอใจที่บุตรสาวของผู้ป่วยใส่เสื้อสีแดงฝักใฝ่พรรคการเมืองมาโรงพยาบาลซึ่งความจริงเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่จะใส่เสื้อสีอะไรก็ได้ พอดีถึงเวลาพักรับประทานอาหารกลางวัน ผลการตรวจทางรังสียังไม่กลับมาแพทย์ผู้ร้องเรียนจึงส่งต่อให้แพทย์ผู้ร่วมงานดูต่อซึ่งมาน่าจะมีปัญหาอะไร แต่แพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษไปเขียนแสดงความไม่พอใจในกระดาษส่งให้เพื่อนแพทย์ว่าทำใจตรวจคนเสื้อแดงไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหา ถ้าแพทย์คุยบ่นกันเองสองคนก็คงไม่มีปัญหา แต่การเขียนนั้นเป็นหลักฐาน ผูกมัดตน ความจริงผู้ป่วยและญาติไม่นาจะเห็นข้อความนี้เพราะเวชระเบียนอยู่ที่ห้องตรวจแต่บุคลากรในโรงพยาบาลซึ่งส่วนใหญ่ในจังหวัดนั้นเป็นพวกสนับสนุนเสื้อแดงได้นำไปบอกญาติผู้ป่วยและไปลงในอินเตอร์เน็ต ทำให้เกิดการร้องเรียนและการปองร้ายขึ้น เมื่อแพทย์ทำความเข้าใจกันดีไม่เอาเรื่องต่อ แพทย์ก็เป็นประชาชน มีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมือง แต่ห้ามเอาเรื่องการเมืองมาเกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาล การแสดงออกของแพทย์ในสาธารณะหรือที่เป็นลายลักษณ์อักษร จะต้องทำด้วยความระมัดระวังเพราะมีคนคอยจับผิดอยู่ตลอดเวลารวมทั้งบุคลากรที่อยู่รอบข้างเราด้วย แพทย์มีเรื่องจริยธรรมควบคุมอยู่ อาชีพอื่นสามารถปฏิเสธได้ แต่แพทย์ปฏิเสธไม่ได้เพราะเกี่ยวกับชีวิตคน

จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จัดทำบัญชีรับจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ไม่ตรงกับความจริง

สำนักงานเลขาธิการแพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของนายแพทย์ผู้หนึ่ง กรณีเจ้าหน้าที่กองควบคุมวัตถุเสพติดได้ทำการตรวจสอบสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ซึ่งมีนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ เป็นผู้รับอนุญาตและดำเนินกิจการ พบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวมีการจัดทำบัญชีรับ - จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ (บ.จ.9) ไม่ตรงกับความเป็นจริง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ถูกเปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 20,000 บาท เลขาธิการแพทยสภาได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ดำเนินการสืบสวนหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ได้ประชุมปรึกษาและตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดีรวมทั้งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เจ้าหน้าที่กองควบคุมวัตถุเสพติดได้ทำการตรวจสอบสถานพยาบาลแห่งหนึ่ง ในเขตปทุมวัน กรุงเทพฯ ซึ่งมีนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ เป็นผู้รับอนุญาตและผู้ดำเนินกิจการ โดยสถานพยาบาลแห่งนี้ได้รับอนุญาตให้ครอบตรองหรือใช้ประโยชน์ซึ่งวัตถุออกฤทธิ์ตามใบอนุญาต จากการตรวจสอบพบว่าสถานพยาบาลดังกล่าวมีการจัดทำรายการบัญชีรับ – จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท (บ.จ.9) ไม่ตรงกับความเป็นจริง อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท พ.ศ. 2518 ซึ่งมีโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท ตามมาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ได้ยอมรับในการกระทำความผิดของตน กรณีนี้ จึงมีมติ คดีมีมูล คณะกรรมการแพทยสภา พิจารณาแล้วมีมติ คดีมีมูล ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวนดำเนินการสอบสวน

พิเคราะห์จากข้อเท็จจริงประกอบกับพยานหลักฐานทั้งหมดแล้ว สรุปได้ว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ เป็นผู้ขออนุญาตและดำเนินการ สถานพยาบาลได้มีการจัดทำรายงานบัญชีรับ – จ่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตใจ ไม่ตรงกับความเป็นจริง และพบว่ามีความผิดพลาดของบัญชีรับ – จ่าย เนื่องจากในช่วงเวลาดังกล่าวทางคลินิกได้มีการเปลี่ยนแปลงผู้จัดทำรายงานที่เสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แต่เกิดจากการประสานงานที่ไม่ชัดเจน ทำให้ผู้จัดทำรายงานคนเก่ายังจัดทำรายงานตามปกติเป็นเดือนสุดท้าย และนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษไม่ได้แจ้งข้อมูลแก่พนักงานคนเก่าว่ามีการรับยาเข้ามาในเดือนนั้น แต่มอบหมายให้ผู้จัดการทำรายการคนใหม่ทำแทน ทำให้ผู้จัดการทำรายงานคนเก่าทำรายงานโดยไม่ได้ลงข้อมูลการรับยา และเกิดความเข้าใจผิดที่ผู้ส่งเอกสารได้นำเอกสารชุดรายงานดังกล่าวมาเสนอต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาทำให้เกิดการผิดพลาดขึ้นโดยมิได้ตั้งใจ และนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษได้เข้าชี้แจงต่อคณะกรรมการอาหารและยาพร้อมทั้งส่งรายงานรายงานฉบับที่ถูกต้องสมบูรณ์เสนอต่อคณะกรรมการอาหารและยาไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งสำหรับกรณีดังกล่าวทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ทำการเปรียบเทียบปรับนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ เป็นจำนวนเงิน 20,000 บาท (สองหมื่นบาท) ไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

   คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2549 หมวด 2 ข้อ 5 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนให้สมควรในสังคมโดยธรรมและเคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง” จึงมีมติลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือน กรณี ไม่เคารพต่อกฎหมายบ้านเมือง
เหตุการณ์เช่นเดียวกันพบบ่อยมาก สาเหตุมีหลายประการ

1.   แพทย์ขาดความรู้เรื่องกฎหมายว่าต้องทำรายละเอียดการรับจ่ายวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทอย่าง
ละเอียด เนื่องจากไม่ได้มีการสอนในโรงเรียนแพทย์ เป็นเรื่องที่ต้องไปศึกษาเองทางคณะกรรมการอาหารและยาเพิ่งจัดอบรมในเรื่องนี้ให้กับแพทย์ที่ขออนุญาตครอบครองยาปนระเภทนี้เมื่อปีที่แล้ว

2.   แพทย์จบใหม่บางคนรู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีนายทุนเปิดสถานพยาบาลแต่ไม่ได้เป็นแพทย์จึงไปว่าจ้าง
ให้แพทย์ที่จบใหม่มาเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาล เมื่อสถานพยาบาลมีการกระทำผิดกฎหมายมาว่าแพทย์จะทราบหรือไม่ก็ตาม แพทย์ที่เป็นผู้ขออนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบทั้งหมด

3.   แพทย์บางท่านได้แจ้งเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลแล้วต่อมาได้ย้ายไปที่อื่นแต่ไม่ได้แจ้งเลิก เมื่อ
มีการทำผิดกฎหมายขึ้นในสถานพยาบาลนั้น แพทย์ผู้ไปขออนุญาตเป็นผู้ดำเนินการจะต้องเป็นรับผิดชอบ แม่ว่าตนไม่อยู่แล้วก็ตาม หรือใบอนุญาตหมดอายุแล้วไม่ได้ไปต่อก็ยังถือว่าต้องรับผิดชอบอยู่ แถมจะโดนปรับฐานที่ไม่ต่อใบอนุญาต

4.   แพทย์บางท่านตั้งใจทำผิดกฎหมายโดยคิดว่าคงไม่มีใครตรวจสอบ เพราะการขายยาเสพติด หรือยา
ลดความอ้วน หรือยาที่มีผลต่อจิตประสาทสามารถทำรายได้มาก บางคนรับจ้างเป็นผู้ดำเนินการ สถานพยาบาลให้กับนายทุน ได้ค่าตอบแทนสูงโดยไม่ต้องทำงานมาก แล้วปล่อยให้สถานพยาบาลนั้นค้ายาเสพติดอยู่หน้าร้าน โดยอ้างว่าตนตรวจผู้ป่วยอยู่ในห้องไม่ทราบว่ามีการขายยา ในบางรายมีการขายเป็นล้านเม็ด ในกรณีเช่นนี้ควรลงโทษหนัก ถอนใบอนุญาตหรือพักใช้ใบอนุญาตไม่ต่ำกว่าหกเดือน

   แพทยสภามีหน้าที่กำจัดแพทย์ที่เลวออกจากระบบและขอร้องให้แพทย์ด้วยกันช่วยทำการสอดส่องแจ้งให้แพทยสภาทราบด้วย เพื่อรักษาเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพและความวางใจของสังคม

จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เรื่องเล่าจากแพทยสภา(18)-เมื่อแพทย์ขาดจริยธรรม
« ตอบกลับ #17 เมื่อ: 03 กันยายน 2017, 23:19:40 »
เมื่อแพทย์ขาดจริยธรรม

สำนักงานเลขาธิการแพทยสภาได้รับเรื่องจากกองการประกอบโรคศิลปะร้องเรียนกล่าวโทษแพทย์หญิง ผู้ดำเนินการคลินิกชีวบำบัดเวชกรรม กรณีกองการประกอบโรคศิลปะได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงคลินิกดังกล่าวและได้รับการชี้แจงว่าการใช้ปากกา จิ้มที่ผิวหนังเป็นการตรวจด้วยวิธี ENT (Electro Neural Therapy) และเจาะเลือดออกมาปั่นและฉีดกลับเข้าในร่างกายใหม่นั้น เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยวิธี ต่อต้านกาสร้างภูมิแพ้ (Counter Sensitization) ด้วยการนำเลือดไป ปรับความเข้มข้นกับน้ำเกลือ แล้วนำกลับมาฉีดเข้ารางกาย และให้อมในปากเพื่อดูดซึมเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย จึงขอให้แพทยสภาตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ เลขาธิการแพทยสภาส่งเรื่อให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาข้อร้องเรียนประกอบกับความเห็นจาก ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ข้อมูลจากกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกข้อมูลจากกองการประกอบโรคศิลปะ และคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือเชิญแพทย์หญิงที่ถูกกล่าวโทษจำนวน 2 ครั้ง แต่แพทย์หญิงที่ถูกกล่าวหาเป็นผู้ดำเนินการสถานพยาบาลดังกล่าวในขณะนั้นไม่ได้มาตามกำหนดเวลาทั้ง 2 ครั้ง

   ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาทั้งหมดข้างต้น คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ มีความเห็นว่าพฤติกรรมของแพทย์หญิงผู้ถูกกล่าวโทษ ถือเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าอาจมีกี่กระทำผิดตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม จึงมีมติ คดีมีมูล

   คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้ทำหนังสือแจ้งประเด็นความผิดพร้อมหมายเรียก ให้แพทย์หญิงที่ถูกกล่าวโทษ ทราบถึง 3 ครั้ง และส่งหนังสือแจ้งประเด็นความผิดพร้อมหมายเรียกไปที่คลินิกชีวบำบัดเวชกรรม ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำคลินิกได้ทำหนังสือแจ้งมาว่า แพทย์หญิงผู้ถูกกล่าวโทษ ได้ลาออกจากผู้ดำเนินการสถานพยาบาลนี้แล้ว และได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ ขอเชิญเจ้าหน้าที่ผู้รับเรื่องร้องเรียนกรณีนี้ให้มาชี้แจง แต่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่สามารถมาชี้แจงได้ ขอยืนยันข้อมูลตามหนังสือร้องเรียน

   คณะอนุกรรมการสอบสวน พิจารณาแล้ว ไม่สามารถดำเนินการสอบสวนกรณีดังกล่าวนี้เนื่องจากไม่สามารถติดต่อเชิญแพทย์หญิงผู้ถูกกล่าวโทษ มาให้การกับคณะอนุกรรมการสอบสวนฯ อีกทั้งเจ้าหน้าที่กองประกอบโรคศิลปะผู้รับเรื่องมาสามารถมาชี้แจงเพราะย้ายสถานที่ปฏิบัติงานจึงเห็นควรส่งเรื่องดังกล่าวให้ คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาดำเนินการต่อไป

   คณะกรรมการแพทยสภา พิจารณา แล้วมีมติ ให้ส่งเรื่องคืนให้คณะอนุกรรมการสอบสวนเพื่อให้ดำเนินการให้ครบถ้วนตามกระบวนการสอบสวน โดยส่งข้อมูลให้ผู้ร้องเรียนโต้แย้ง หากติดต่อไม่ได้อีกครั้งขอให้ส่งข้อมูลความเห็นผู้เชี่ยวชาญแล้วส่งให้คณะกรรมการแพทยสภาพิจารณาเกี่ยวกับกรณีนี้ หากเป็นความผิดกรณีมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมให้พิจารณาระดับการลงโทษ และให้เลขาธิการแพทยสภาทำหนังสือติดต่อประสาน ไปยังกองการประกอบโรคศิลปะขอให้ช่วยตรวจสอบสถานพยาบาลที่มีการดำเนินการในลักษณะที่เกี่ยวกับคลินิกนี้ หลังจากได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้วคณะกรรมการแพทยสภามีมติ

1.   พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทย์หญิงที่ถูกกล่าวโทษ เป็นเวลา 1 เดือน
2.   เห็นควรให้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาศึกษาวิธีดำเนินการ และรูปแบบเรื่องแพทย์ทางเลือกสาขาต่างๆ
3.   ทำหนังสือแจ้งกองการประกอบโรคศิลปะ ให้ดำเนินการกับสถานพยาบาลคลินิกเวชกรรมบำบัด

ขณะนี้มีแพทย์บางท่านทำการรักษาแบบไม่มีพื้นฐานทางวิชาการ และไม่มีข้อมูลสนับสนุนวิธีการของคน บางคนก็อ้างว่าเป็นวิธีการของแพทย์ทางเลือกซึ่งไม่ต้องมีหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ หลอกลวงให้ผู้ป่วยหลงเชื่อ เมื่อถูกเรียกมาให้การก็จะหนีมากล้ามาให้การเนื่องจากอธิบายหลักการรักษาไม่ได้ แพทยสภาจะต้องดำเนินการกับแพทย์ที่หลอกลวงประชาชนทุกราย ส่วนกองประกอบโรคศิลปะจะต้องดำเนินการกับสถานพยาบาลให้เด็ดขาด ขณะเดียวกันจะต้องจัดระบบแพทย์ทางเลือกให้ชัดเจนมิให้คนมาแอบอ้าง การทำโทษแพทย์ที่ทำผิดจริยธรรมในอนาคตจะมีการปรับและมีโทษในฐานะไม่มาตามหมายเรียกของแพทยสภาซึ่งถือเป็นเจ้าพนักงานด้วย

จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เรื่องเล่าจากแพทยสภา(19)-ปลอมเอกสารสั่งยา
« ตอบกลับ #18 เมื่อ: 03 กันยายน 2017, 23:21:22 »
สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ได้รับเรื่องร้องเรียนจากแพทย์หญิง ก. เกี่ยวกับพฤติกรรมอันไม่เหมาะสมของนายแพทย์ ข.  กรณีนายแพทย์ ข. ได้ทำการปลอมเอกสารและแอบอ้างชื่อของผู้ร้องในการสั่งซื้อยา alprazolam 1 mg. จำนวน 10 กล่องๆละ 500 เม็ด ผู้ร้องจึงปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจและได้วางแผนจับกุมนายแพทย์ ข. ในวันส่งมอบยาดังกล่าว ซึ่งหลังการจับกุมนายแพทย์ ข. ยอมรับสารภาพว่าจะนำยาไปขายต่อให้ร้านขายยา โดยกระทำไปเพราะความโลภ และแจ้งว่าจะไม่ทำอีกเพราะสำนึกผิดแล้ว ผู้ร้องเกิดความสงสารจึงไม่ได้ดำเนินคดีแต่เกรงว่านายแพทย์ ข. จะมีพฤติกรรมเช่นนี้อีก เลขาธิการแพทยสภาได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาดำเนินการหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ได้เชิญแพทย์หญิง ก. มาให้ถ้อยคำ หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ได้ประชุมปรึกษาและตรวจพิจารณาเอกสารทั้งหมดในสำนวนคดีรวมทั้งพนายหลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบ พบว่า นายแพทย์ ข. ได้ติดต่อทำสัญญาเช่าตึกจากแพทย์หญิง ก. เพื่อเปิดคลินิก ซึ่งหลังจากทำสัญญาแล้วแพทย์หญิง ก. ได้ทำการตรวจสอบพบว่านายแพทย์ ข. ใช้ชื่อปลอมในการทำสัญญาเช่าตึกรวมทั้งได้แอบอ้างชื่อของแพทย์หญิง ก. ในการสั่งซื้อยา alprazolam 1 mg. จำนวน 10 กล่องๆละ 500 เม็ดจากบริษัทยา นายแพทย์ ข. ได้ชี้แจงยอมรับว่าได้กระทำการตามที่แพทย์หญิง ก. ร้องเรียนจริง โดยรู้สึกละอายใจและสำนึกผิดในการกระทำดังกล่าว

   กรณีนี้จึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่า นายแพทย์ ข. กระทำการปลอมเอกสารและแอบอ้างชื่อแพทย์หญิง ก. ในการสั่งซื้อยา alprazolam ตามคำร้องเรียนจริง ซึ่งแม้ว่าแพทย์หญิง ก. ในฐานะผู้เสียหายจะมิได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายแพทย์ ข. ตามกฎหมายบ้านเมืองเนื่องจากนายแพทย์ ข. ยอมรับสารภาพต่อแพทย์หญิง ก. และสัญญาว่าจะไม่ทำพฤติกรรมเช่นนี้อีก คณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาแล้วสรุปว่าเป็นคดีมีมูล ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการสอบสวน ดำเนินการสอบสวน

   คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้ทบทวนข้อมูลของคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ทั้งหมดรวมทั้งข้อมูลหนังสือที่นายแพทย์ ข. แจ้งมาด้วยสรุปได้ว่า

   นายแพทย์ ข. ได้ทำการปลอมเอกสารและแอบอ้างชื่อของแพทย์หญิง ก. ในการสั่งซื้อยา alprazolam ตามคำร้องเรียนจริง ซึ่งแม่ว่าแพทย์หญิง ก. ในฐานะผู้เสียหานจะมิได้แจ้งความดำเนินคดีกับนายแพทย์ ข. ตามกฎหมายบ้านเมือง แต่ การที่นายแพทย์ ข. กระทำการปลอมเอกสารและแอบอ้างชื่อผู้อื่นในการสั่งซื้อยานั้นถือเป็นการประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพซึ่งถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง ทำเอกสารเท็จและแอบอ้างชื่อแพทย์ผู้อื่น

   นอกจากนี้ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2527) ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กำหนดว่า ยาอัลปราโซแลม (alprazolam) จัดเป็นวัตถุออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 4 ฉะนั้น การสั่งซื้อยาดังกล่าวจะต้องมีชื่อแพทย์และชื่อสถานพยาบาลสั่งซื้อมาใช้ในสถานพยาบาลเท่านั้นประกอบกับระเบียบการสั่งซื้อยาดังกล่าวต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเท่านั้น อีกทั้งปริมาณการสั่งซื้อยาดังกล่าวต้องเป็นไปตามกฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเท่านั้น อีกทั้งปริมาณการสั่งซื้อก็ต้องเป็นไปตามที่กฎกระทรวงสาธารณสุขกำหนดเช่นกัน ซึ่งหากผู้ใดกระทำผิดระเบียบตามที่กฎกระทรวงกำหนดจะมีโทษทางอาญาด้วย ดังนั้น กรณีนี้จึงเป็นการประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 2 ข้อ 5 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมดำรงตนในสังคมโดยธรรมและเคารพกฎหมายบ้านเมือง” ข้อ 6 “ผู้ประกอบวิชาชีพย่อมไม่ประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ” และหมวด 5 ข้อ 30 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน” ข้อ 31 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องไม่ทับถมให้ร้ายหรือกลั่นแกล้ง” จึงเห็นควรลงโทษ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นระยะเวลา 1 เดือน

   คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า นายแพทย์ ข. มีพฤติกรรมกระทำความผิดร้ายแรง และได้นำยาตัวนี้ไปขายต่อคลินิกอื่นอีกด้วย การกระทำนี้ถือว่าเป็นการประพฤติหรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ จึงเห็นสมควรเพิ่มการลงโทษการพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม ของนายแพทย์ ข. เป็นระยะเวลา 3 เดือน กรรมการแพทยสภาเห็นพ้องด้วย

   กรณีนี้เป็นกรณีตัวอย่างของจรรณยาบรรณแพทย์ที่ใช้ทั่วโลกว่า ถ้าเห็นแพทย์คนใดหลอกลวงผู้ป่วยหรือทำผิดจริยธรรม แพทย์ที่ทราบจะต้องแจ้งให้ผู้ที่ดูแลควบคุมทราบเพื่อดำเนินการป้องปราม การที่นายแพทย์ ข. ยอมรับผิดและสัญญาว่าจะไม่ทำอีก เป็นผลให้แพทย์หญิง ก. ให้อภัยไม่ดำเนินการทางศาลถือเป็นเมตตาธรรมของแพทย์หญิงผู้นั้นที่ไม่ต้องการทำร้ายผู้ที่สารภาพและสำนึกผิดแล้ว แต่จะต้องแจ้งแพทยสภาเพื่อดำเนินการพิจารณาทางด้านจริยธรรม แพทย์เป็นเสมือนคนในครอบครัวเดียวกันเมื่อมีเรื่องการกระทำที่ไม่ถูกต้องเราจะไม่ไปป่าวประกาศประจานให้คนทั่วไปทราบแต่ต้องดำเนินการทำโทษกันเองภายในเพื่อให้เป็นเยี่ยงอย่างจะได้ไม่มีแพทย์ผู้อื่นกระทำผิดอีก ในกรณีนี้แพทย์ยอมรับผิดเพราะจนต่อหลักฐานการสัญญาว่าจะได้ไม่ทำอีกอาจจะจริงหรือไม่จริงก็ได้เพราะเป็นเพียงคำสัญญาด้วยวาจาแพทย์ผู้กระทำผิดทราบอยู่แล้วว่าการปลอมแปลงเอกสารเป็นความผิดทางอาญาและจริยธรรมและทราบดีว่าการซื้อยาที่มีผลต่อจิตประสาทประเภทสี่ต้องขออนุญาตและต้องมีการบันทึกข้อมูลการใช้ แพทย์ผู้นี้ทำเอกสารปลอมเพื่อโยนความผิดไปให้แพทย์ผู้อื่นซึ่งถือเป็นเรื่องผิดกฎหมายบ้านเมืองละจริยธรรมเช่นกัน ในสังคมปัจจุบันเป็นสังคมของวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ทุกคนอยากรวยโดยไม่คิดถึงความถูกต้องและขาดความเห็นอกเห็นใจกัน เราต้องกลับมาเน้นเรื่องจริยธรรมให้มากขึ้นในวงการแพทย์ เพื่อให้สังคมยอมรับและรักษามาตรฐานในวิชาชีพให้ดีที่สุด ผู้ป่วยที่ฟ้องแพทย์ที่ได้ทำการรักษาแต่ผลออกมาไม่ดีอย่างที่คาดหวังไว้สูงล้วนแล้วแต่ต้องการเงิน หวังที่จะรวยทางลัด ไม่มีความกตัญญูกตเวทีที่แพทย์ได้พยายามช่วยเหลือ เหล่าเครือข่ายที่เข้ามาช่วยสร้างความแตกแยกในสังคมล้วนแล้วแต่มีผลประโยชน์ส่วนตัวแอบแฝงอยู่ด้วยเป็นส่วนใหญ่

จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เรื่องเล่าจากแพทยสภา(20)-ยาลดความอ้วน
« ตอบกลับ #19 เมื่อ: 03 กันยายน 2017, 23:22:51 »
ยาลดความอ้วน

สำนักงานเลขาธิการแพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยากล่าวโทษแพทย์ผู้หนึ่งเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่เหมาะสม กรณีสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาตรวจสอบสถานพยาบาลคลินิก ซึ่งมีแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ เป็นผู้ดำเนินการพบว่ามีพฤติกรรมการใช้ยาชุดลดความอ้วนจริงอันประกอบด้วยยาหลายชนิดให้กับผู้ป่วยที่ต้องการลดน้ำหนักรับประทานชุดละ 2 สัปดาห์ ทำให้ผู้ป่วยที่รับประทานยาเกิดอาการข้างเคียง ซึ่งการจ่ายยาให้กับผู้ป่วยจำนวนมากๆ เช่นนี้อาจไม่ได้ทำการตรวจรักษาและให้คำแนะนำถึงวิธีการใช้ยาอย่างละเอียดแก่ผู้ป่วยไม่เพียงพอ อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยได้ จึงขอให้แพทยสภาพิจารณาด้านจริยธรรมว่าเป็นการสั่งจ่ายยาที่เหมาะสมหรือไม่เลขาธิการแพทยสภาได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาข้อมูลประวัติการรักษาของหญิงสาวผู้หนึ่ง บันทึกการตรวจที่คลินิก และสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องประกอบกับข้อร้องเรียนที่ได้รับจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา แล้วเห็นว่าแม้ว่าการใช้ยารักษาโรคอ้วนจะยังไม่มีมาตรฐานอ้างอิง แต่การรักษาโดยไม่มีข้อบ่งชี้ดังเอกสารร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ที่แสดงตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่งซึ่งได้รับการรักษาจากแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ดังกล่าวนับเป็นการประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ไม่ได้มาตรฐาน และไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ป่วย เห็นว่าเป็นกรณี คดีมีมูล

   คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้พิจารณาเอกสารหลักฐานประกอบกับคำให้การของแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษแล้วมีความเห็นว่า แพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ยอมรับว่าวิธีดำเนินการรักษาผู้ป่วยเกี่ยวกับเรื่องลดความอ้วนนั้นไม่ถูกต้องทั้งหมด กำลังดำเนินการลดจำนวนคนไข้ลง ยกเว้นในคนที่อ้วนมากจริงก็สมควรให้และจะมีความเข้าใจว่าเฟนเตอมีนมีผลทำให้ผู้ใช้ยาซึมเศร้า ซึ่งตามความเห็นของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย มีใจความสำคัญสรุปได้ว่า การประกอบวิชาชีพเวชกรรมของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ไม่ได้มาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมเนื่องจาก

1.   การวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไม่ถูกต้อง ไม่ได้ใช้เกณฑ์การวินิจฉัย
2.   ไม่มีการปฏิบัติตามขั้นตอนการดูแลรักษาผู้ป่วยอ้วน ตั้งแต่การวินิจฉัยผู้ป่วยบางรายไม่เข้าข่ายอ้วน ไม่มีการแนะนำเรื่องอาหารและการออกกำลังกาย แต่ให้ผู้ป่วย
        รับประทานยาเลย
3.   การจ่ายยาที่เป็นสูตรลับ ถือว่าผิด

คณะอนุกรรมการสอบสวน พิจารณาแล้วมีประเด็นสำคัญอีกประเด็นหนึ่งก็คือที่จ่ายยาให้คนไข้เก่าโดย
มิได้ตรวจคนไข้ ซึ่งต้องจ่ายยาไปกับผู้ที่มาขอรับยาแทน ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นยาออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทประเภท 2 ซึ่งต้องระมัดระวังในการใช้ยาอย่างรัดกุม แต่กลับหละหลวม ซึ่งเกิดกับคนไข้วันละประมาณ 300 ราย จึงมีความเห็นว่า มีผลกระทบต่อสุขภาพกายและจิตต่อผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน จึงเห็นสมควร พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรม เป็นเวลา 3 เดือน กรณีประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่รักษามาตรฐานในระดับที่ดีที่สุด และประกอบวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยและความสิ้นเปลืองของผู้ป่วย

   ในยุคปัจจุบันผู้หญิงมีค่านิยมว่าต้องผอมจึงจะสวย จึงพยายามลดน้ำหนักตัวลง ทั้งๆที่บางคนน้ำหนักตัวอยู่ในเกณฑ์ปกติ การลดน้ำหนักตัวที่ดีคือการควบคุมอาหารและออกกำลังกายซึ่งต้องใช้ความพยายามสูง คนบางคนอยากลดน้ำหนักตังลงอย่างรวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความอดทนหรือความพยายามมาก เลยคิดว่าใช้ยามาช่วยลดน้ำหนักจะสะดวกและรวดเร็วกว่าโดยหารู้ไม่ว่าการรับประทานยาลดน้ำหนักอาจมีอันตราย ยาหลายตัวเป็นยาเสพติด บางตัวมีผลต่อจิตประสาท ส่วนใหญ่เมื่อหยุดยาจะกลับมาอ้วนกว่าเดิม แพทย์ที่จะสั่งยานี้ให้ผู้ป่วยจะต้องซักประวัติและตรวจร่างกายผู้ป่วยว่ามีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์หรือไม่ คือต้องเป็นโรคอ้วนไม่ใช่เพียงอยากผอม การให้ยาแต่ละครั้งก็ต้องมีการตรวจผู้ป่วยว่ามีอาการข้างเคียงจากยาหรือไม่ นอกจากนี้ถ้าไม่ได้ตรวจผู้ป่วยอาจมีคนมาขอซื้อไปใช้เป็นยาเสพติดได้ การขายยาที่มีผลต่อจิตประสาทโดยไม่ได้ตรวจผู้ป่วยเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย มีแพทย์ถูกจำคุกเพราะขายยา ไดอะซีแพมเพียงสิบเม็ดโดยไม่ได้ตรวจผู้ป่วยมาแล้ว การที่อยากร่ำรวยโดยการขายยาลดความอ้วนเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่ง

จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เรื่องเล่าจากแพทยสภา(21)-วุฒิบัตรปลอม
« ตอบกลับ #20 เมื่อ: 03 กันยายน 2017, 23:24:18 »
วุฒิบัตรปลอม

สำนักงานเลขาธิการแพทยสภา ได้รับเรื่องจากสถานพยาบาลแห่งหนึ่งส่งเรื่องร้องเรียน นายแพทย์ผู้หนึ่ง ว่าได้แจ้งความอันเป็นเท็จต่อสถานพยาบาล ในการจัดเก็บข้อมูลประกอบการเบิกจ่ายค่าตอบแทนสำหรับกำลังคนด้านสาธารณสุข กรณีที่นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ แจ้งว่าได้รับวุฒิบัตรฯ สาขาอายุศาสตร์ และได้รับเงินตามวุฒิที่แจ้ง เมื่อตรวจสอบข้อมูลมาที่แพทยสภา ปรากฏว่านายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ยังไม่ได้รับวุฒิบัตรฯ แต่อย่างใด ทำให้หน่วยงานได้รับความเสียหาย จึงขอให้แพทยสภาตรวจสอบ เลขาธิการแพทยสภาได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ได้พิจารณาข้อร้องเรียนประกอบกับคำสั่งจากสถานพยาบาลและคณะอนุกรรมการฯ ได้ทำหนังสือแจ้งคำร้องเรียนถึง 2 ครั้ง แต่นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ไม่ได้มาชี้แจงต่อคณะอนุกรรมการฯ จากเอกสารที่รวบรวมได้ทั้งหมดข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ได้แจ้งต่อสถานพยาบาล ว่าได้รับวุฒิบัตรฯ สาขาอายุรศาสตร์ จากการแจ้งข้อมูลดังกล่าว ทำให้นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ได้รับเงินเดือนตามวุฒิที่แจ้ง เมื่อสถานพยาบาล ตรวจสอบมาที่แพทยสภา ปรากฏว่านายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษยังไม่ได้รับวุฒิบัตรฯ แต่อย่างใด

   ทางสถานพยาบาลก็ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสอบสวนข้อเท็จจริง ในเรื่องดังกล่าวซึ่งผลการสอบสวน ได้ข้อเท็จจริงว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ได้กรอกรายละเอียดในแบบฟอร์มการจัดเก็บข้อมูลประกอบการเบิกจ่ายค่าตอบแทนฯ ว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม แต่ไม่แนบวุฒิบัตรฯ ประกอบมากับแบบฟอร์ม ทางสถานพยาบาลจึงติดต่อขอให้นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษมอบวุฒิบัตรหลายครั้ง แต่นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ก็ไม่ส่งมอบวุฒิบัตรฯ ดังกล่าว และเมื่อตรวจสอบกับทางแพทยสภาแล้วปรากฏว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ยังไม่ได้รับวุฒิบัตรฯ แต่อย่างไร คณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาว่าคดีมีมูลส่งเรื่องให้อนุกรรมการสอบสวนดำเนินการต่อ

   คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้ทำหนังสือแจ้งประเด็นความผิดให้ นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษทราบ แต่หนังสือถูกส่งกลับ จึงได้ตรวจสอบที่อยู่กับสำนักงานกลางทะเบียนราษฎร์ กระทรวงมหาดไทย แล้วส่งหนังสือแจ้งประเด็นเป็นครั้งที่ 2 แต่หนังสือส่งกลับมาแจ้งว่าไม่มีผู้รับ จึงได้ทำหนังสือเชิญพยาน 2 ท่าน มาชี้แจงข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการของสถานพยาบาล ขอทราบพฤติกรรมของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ขณะที่ปฏิบัติงานที่สถานพยาบาล ซึ่งผู้อำนวยการได้ทำหนังสือแจ้งมา สรุปได้ความว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษมีพฤติกรรมดังนี้
1.   ไม่เคารพเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา
2.   พูดจาหยาบคาย มีเหตุการณ์ทะเลาะกับเพื่อนร่วมงาน
3.   มีเจ้าหน้าที่มาทวงหนี้และร้องเรียนด้านการเงินกับผู้บังคับบัญชาหลายครั้ง
4.   แอบอ้างว่าจบผู้เชี่ยวชาญทั้งๆ ที่สอบไม่ผ่าน
5.   สั่งใช้ยาเกินความจำเป็น
6.   พยายามใช้กลุ่มยาเสพติดกับผู้ป่วยอย่างไม่สมเหตุสมผล

ด้วยเหตุผลดังที่วินิจฉัยมาทั้งหมดข้างต้นคณะอนุกรรมการสอบสวน มีความเห็นว่า พฤติกรรมของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ ถือเป็นการกระทำความผิดตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ประกอบกับข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549  หมวด 2 ข้อ 5 และข้อ 6 แม้ว่านายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษจะไม่มาชี้แจงด้วยตัวเอง แต่จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นได้ว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษจะไม่มาชี้แจงด้วยตัวเอง แต่จากข้อมูลทั้งหมดชี้ให้เห็นได้ว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวโทษ มีเจตนากระทำผิดโดยการปลอมแปลงเอกสารทางราชการ และแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จต่อต้นสังกัด ซึ่งถือได้ว่าเป็นโทษร้ายแรง จึงสมควรให้ พักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเวชกรรมเป็นเวลา 3 เดือนกรณี กระทำการอันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ

   ความจริงคนที่โกหกหลอกลวงไม่ควรเป็นแพทย์ ทางต้นสังกัดสามารถฟ้องเป็นคดีอาญาได้ด้วย ในช่วงนี้ทางแพทยสภาสอบพบแพทย์ปลอมหลายราย จึงมีการทำบัตรประจำตัวแพทย์ขึ้น ในเดือนที่ผ่านมามีแพทย์สองรายที่ทางสถานพยาบาลเอกชนส่งใบวุฒิบัตรมาให้แพทสภาตรวจสอบปรากฏว่าเป็นแพทย์จริงแต่ใบวุฒิบัตรแสดงตนเป็นผู้เชี่ยวชาญปลอมโดยแพทย์เอาใบวุฒิบัตรใบจริงของแพทย์ผู้อื่นมาถ่ายเอกสารแล้วใช้คอมพิวเตอร์แก้ชื่อสาขา เมื่อตรวจสอบที่แพทยสภาพบว่าเลขที่ใบวุฒิบัตรเป็นของแพทย์ท่านอื่น เมื่อตรวจสอบ
รายชื่อผู้ที่ได้รับวุฒิบัตรจากแพทยสภาและราชวิทยาลัยไม่พบชื่อแพทย์ที่อยู่ในเอกสารที่ส่งมาแพทยสภาจะต้องดำเนินการลงโทษแพทย์พวกนี้ ขณะเดียวกันก็ขอให้สถานพยาบาลขอดูเอกสารตัวจริงและสำเนาถ่ายเอกสารใบวุฒิบัตรมาให้แพทยสภาตรวจสอบก่อนที่จะรับเข้าทำงาน ถ้าพบเอกสารเท็จควรแจ้งดำเนินการตามกฎหมายไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างต่อไป


จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สถานรักษายาเสพติดต้องขึ้นทะเบียน และติดตามความรู้ที่ถูกต้อง

สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร้องเรียนเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของนายแพทย์ผู้หนึ่ง กรณีใช้ยาน้ำแก้ไอผสมโคเดอีนค่อนข้างมากให้กับผู้ป่วยในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ณ โรงพยาบาลเอกชนสองแห่ง จึงขอให้แพทยสภาตรวจสอบว่าการกระทำดังกล่าวของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหานั้นถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ เลขาธิการแพทยสภาส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรม พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง

   คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาข้อร้องเรียนประกอบคำชี้แจงข้อเท็จจริงของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา ความเห็นจากราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย และคำโต้แย้งชี้แจงประเด็นความผิดของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา จากเอกสารข้อมูลที่รวบรวมได้ทั้งหมด รวมทั้งพยาน หลักฐานที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชน ว่ามีการจ่ายยาน้ำแก้ไอผสมเดอีนเพื่อการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติด ซึ่งตรวจสอบแล้วพบว่ามีการจ่ายยาน้ำแก้ไอผสมโคเดอีนจริง โดยมีนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา เป็นผู้สั่งจ่ายยาดังกล่าวทั้งสองโรงพยาบาล และจากคำชี้แจงข้อเท็จจริงของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ได้ปฏิเสธการสั่งจ่ายยาดังกล่าวให้กับผู้ติดสารเสพติด คณะอนุกรรมการจริยธรรมพิจารณาว่าเป็นคดีมีมูล ส่งให้กรรมการสอบสวนดำเนินการ

   คณะอนุกรรมการสอบสวนได้พิจารณาข้อมูลประกอบการพิจารณาทั้งหมดแล้วเห็นว่า กรณีนี้ นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา ได้สั่งน้ำยาแก้ไอผสมโคเดอีนให้กับผู้ป่วยจำนวนมาก ประมาณ 5-6 ขวดต่อสัปดาห์ โดยอ้างว่าผู้ป่วยมีความจำเป็นต้องได้รับยาดังกล่าวไม่เช่นนั้นผู้ป่วยเหล่านี้จะฆ่าตัวตาย

   ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีความเห็น (ครั้งที่ 1 ) ว่า การใช้ยาสูตรดังกล่าวในการบำบัดรักษาผู้ติดยาเสพติดนั้น ไม่ถูกต้องตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ด้วยเหตุผลดังนี้
1.   การรักษาผู้ป่วยที่ติดยาโคเดอีน ไม่ปรากฏว่ามีรายงานการรักษาด้วยวิธีการให้โคเดอีนรับประทาน
อย่างต่อเนื่อง แต่อย่างใด
2.   มีรายงานการรักษา การติดยาโคเดอีนด้วยการใช้ยากลุ่ม ที่ยับยั้ง cytochrome P450 2D6 เช่น
quinidine, fluoxetine
3.   ในต่างประเทศมีการรักษาผู้ที่ติดยา โดยวิธีถอนพิษยาอย่างรวดเร็ว โดยการวางยาสลบและให้ยา naltrexone

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย มีความเห็น (ครั้งที่ 2) เกี่ยวกับข้อมูลของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา
โต้แย้งความเห็นของราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ซึ่งราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ยืนยันความเห็นเดิมที่ว่า การรักษาผู้ติดโคเดอีนไม่ปรากฏว่ามีรายงานการรักษาด้วยวิธีการให้ยาโคเดอีน รับประทานขนาดต่ำต่อไปเรื่อยๆ และหลักการรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติดประกอบด้วย 3 ขั้นตอนคือ (1) การเตรียมผู้ป่วย (2) การถอนสารพิษ และ (3) การฟื้นตัวและฟื้นสภาพ ซึ่งวิธีการให้ยาเพื่อทดแทนหรือการลดขนาดยาเป็นหนึ่งในขั้นตอนการถอนพิษยาแต่หลักการในการให้ยาลดอาการถอนพิษสารในผู้ป่วยคิดสารเสพติดชนิดฝิ่นคือ ยาที่ใช้ลดอาการออกฤทธิ์ ดับสารเสพติด หรือออกฤทธิ์กับสารเสพติด หรือออกฤทธิ์ผ่านกลไกอื่นซึ่งทำให้อาการถอนฤทธิ์ลดลงได้ (Principles of Addition Medicine 3 rd Edition, Section 5 Chap-ter 4, ASAM inc. Maryland 2003) และระยะเวลาในการถอนพิษสารส่วนใหญ่ ไม่เกิน 21 วัน

ส่วนเรื่องการรักษาผู้ป่วยเสพติดเฮโรอีน ด้วยเฮโรอีนเม็ด โดยอ้างอิงสารที่ไม่ปรากฏที่มาของสาร (มีเพียงเลขหน้า 662-663) ไม่สามารถประเมินความน่าเชื่อถือได้ และวิธีดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ส่งความเห็นครั้งที่สาม สรุปได้ความว่ายืนยันความเห็นเดิมว่า วิธีรักษาดังกล่าวไม่ใช่การถอนพิษสารโดยการลดจำนวนสารเสพติดลง เนื่องจากหลักการถอนพิษสาร โดยการลดปริมาณสารเสพติดลงนั้น วิธีการที่เป็นมาตรฐานส่วนใหญ่ใช้เวลาไม่เกิน 21 วัน แต่การรักษาดังกล่าวเป็นการให้สารเสพติดแบบคงระดับยาไว้ ซึ่งราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ได้เคยให้ความเห็นแล้วว่าไม่ปรากฏว่ามีรายงานการักษาด้วยวิธีนี้ในเอกสารทางการแพทย์ในฐานะข้อมูลทางการแพทย์ และเอกสารที่ผู้ถูกร้องเรียนส่งให้เพื่อโต้แย้ง นอกจากผู้เขียนบทความจะไม่ใช้แพทย์แล้ว ยังไม่มีชื่อหรือเลขที่กำกับหนังสือใด เพื่อยืนยันความน่าเชื่อถือของบทความ รวมถึงไม่พบอยู่ในฐานข้อมูลทางกรแพทย์ และผู้ถูกร้องเรียนได้อ้างว่า การรักษาผู้ติดยาแก้ไอปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานและวิธีที่เป็นมาตรฐานนั้น

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์ฯ ยืนยันว่าหลักการในการรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติด คือ codeine ซึ่งเป็นสานอนุพันธ์ฝิ่นนั้น มีวิธีการถอนฝิ่นที่เป็นมาตรฐานโดยการให้สารทดแทนในกลุ่ม alpha 2 agonist เช่น clonidine หรือ lofexidine

ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า ในกรณีนี้ซึ่งมีการรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติดในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสภานพยาบาลเพื่อบำบัดรักษาผู้เสพติดสารเสพติดกับกระทรวงสาธารณสุข เป็นการรักษาที่ไม่ได้มาตรฐานวิชาชีพ

ดังนั้น คณะอนุกรรมการสอบสวน ได้พิจารณาข้อมูลทั้งหมดแล้ว จึงเห็นว่าการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของนายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา ที่ให้การรักษาผู้ป่วยติดยาแก้ไอโดยจ่ายยาแก้ไอที่ประกอบด้วย ยาเสพติดตัวเดียวกัน สัปดาห์ละ 6 ขวดนั้น เป็นการรักษาผู้ป่วยโดยไม่ได้มาตรฐานการประกอบวิชาชีพเวชกรรม ถือว่าเป็นความผิดตามข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 ข้อ 15 “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมในระดับที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ภายใต้ความสามารถและข้อจำกัดตามภาวะวิสัยและพฤติการณ์ที่มีอยู่” จึงเห็นควรลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือนกรณีไม่รักษามาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม

บทเรียนนี้เห็นได้ว่า แพทย์ไม่ทราบว่าการรักษาผู้ป่วยติดสารเสพติดในสถานพยาบาลนั้น ต้องทำในสถานพยาบาลที่ได้ขึ้นทะเบียนเพื่อบำบัดรักษาผู้เสพติดกับกระทรวงสาธารณสุขและการรักษาจะต้องมีหลักการทางการแพทย์ที่พิสูจน์แล้ว มิใช่คิดขึ้นเองโดยไม่มีใครรับรองซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย

จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558