ผู้เขียน หัวข้อ: ร.ร.แพทย์วอน "คลัง" ออกเกณฑ์เปิดช่องซื้อ "ยากลุ่มซับซ้อน" ตาม กม.จัดซื้อจัดจ้าง  (อ่าน 479 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 เครือข่าย รพ.กลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์ฯ ออกแถลงการณ์ห่วง พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ไม่ครอบคลุมการจัดซื้อยาต้นแบบ ยาจำเพาะเจาะจง เพื่อรักษาโรคซับซ้อน เหตุไม่มีกฎหมายลูกรองรับ หวั่นซ้ำเติมผู้ป่วย ผลการรักษาไม่ดีอย่างที่ควรเป็น ชี้หากเดินหน้าจัดซื้อเสี่ยงทำผิดกฎหมาย วอนคลังเร่งแก้ไข

หลังจากโรงเรียนแพทย์ 13 แห่ง ได้ยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอธิบดีกรมบัญชีกลาง เมื่อวันที่ 8 ส.ค. ที่ผ่านมา ถึงข้อกังวลต่อ พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะบังคับใช้วันที่ 23 ส.ค. 2560 นี้ เนื่องจากไม่มีเกณฑ์ในการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ที่มีความจำเพาะเจาะจงและมูลค่าสูงได้

ล่าสุด วันนี้ (22 ส.ค.) เครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ประกอบด้วยโรงพยาบาลโรงเรียนแพทย์จำนวน 19 แห่ง ได้ออกแถลงการณ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า เครือข่ายฯ ขอชี้แจงเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจตรงกันในฐานะที่เป็นสถานพยาบาลที่เป็นฝ่ายปฏิบัติในการจัดหายา อวัยวะเทียม ฯลฯ สำหรับผู้ป่วยภายใต้ พ.ร.บ.ดังกล่าว ดังนี้ 1. ทางเครือข่ายฯ เห็นด้วยกับหลักการและเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของความคุ้มค่าของสินค้า บริการ และงานก่อสร้าง โดยการจัดหาให้ได้สินค้า บริการ และงานก่อสร้างที่ต้องดี มีคุณภาพ และตรงตามวัตถุประสงค์การใช้งาน ไม่ใช่ราคาต่ำสุดเสมอไป
2. ทางเครือข่ายฯ ได้ร่วมกันศึกษาและพิจารณา พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว มีความกังวลใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากสินค้าทางการแพทย์เหล่านี้มีความซับซ้อนหรือมีความจำเพาะสูง ต่างจากสินค้าทั่วๆ ไปอย่างสิ้นเชิง ยกตัวอย่าง ยากลุ่มช่วยชีวิต อาทิ ยาหัวใจบางชนิด ฯลฯ หรือ กลุ่มยาที่ใช้รักษาโรคหรือภาวะเป็นอันตรายร้ายแรง เช่น ยารักษาโรคมะเร็งบางชนิด ยากดภูมิสำหรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เป็นต้น ถึงแม้ว่าโรคส่วนใหญ่สามารถรักษาด้วยยาสามัญที่มีคุณภาพแทนการใช้ยาต้นแบบที่มีชื่อสามัญเดียวกันได้อย่างได้ผลดี แต่ในบางกรณียังมีความจำเป็นต้องใช้ยาต้นแบบแทนการใช้ยาสามัญที่มีชื่อเดียว พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่เปิดช่องให้สถานพยาบาลดำเนินการจัดหายาที่จำเป็นเหล่านี้ให้แก่ผู้ป่วยได้ ซึ่งอาจส่งผลเสียที่ร้ายแรงกับผู้ป่วย ซึ่งจะเป็นการซ้ำเติมความเจ็บป่วยของผู้ป่วยให้ทวีรุนแรงขึ้นได้ แต่หากสถานพยาบาลฝืนดำเนินการจัดหาเพื่อให้มียาแก่ผู้ป่วย ก็จะเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย เนื่องจากไม่มีกฎหมายลูกที่จะเป็นแนวทางที่ชัดเจนของจัดหายาและอวัยวะเทียม ฯลฯ ให้แก่ผู้ป่วยได้

3. แนวทางที่ทางเครือข่ายฯ นำเสนอนั้นได้ยึดมั่นในประโยชน์ที่จะมีต่อผู้ป่วยและประเทศชาติเป็นพื้นฐานสำคัญ เพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางออกที่จะช่วยให้สถานพยาบาลอื่นๆ ทั่วประเทศ ไม่เฉพาะสถานพยาบาลในเครือข่ายฯ สามารถดำเนินการจัดหายา อวัยวะเทียม ฯลฯ สำหรับผู้ป่วยต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะส่งผลเสียไปยังผู้ป่วย

4. เนื่องจากยาเป็นสินค้าทางการแพทย์ที่ไม่ใช่เรื่องของแต่ละสถานพยาบาล ผู้ป่วยในระบบสุขภาพต้องมีการส่งต่อระหว่างสถานพยาบาลต้นทางและปลายทาง หากปล่อยให้แต่ละสถานพยบาลต่างคนต่างทำ โดยไม่มีแนวทางกลางของประเทศในการจัดหายาที่ใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยเหล่านี้ อาจจะมีผลต่อระบบการส่งต่อผู้ป่วยของประเทศและการเข้าถึงยาจำเป็นของผู้ป่วย อาจยิ่งสร้างความสิ้นเปลืองของประเทศชาติ อันเนื่องมาจากผลการรักษาไม่ดีอย่างที่ควรจะเป็น เพราะแต่ละสถานพยาบาลมียาที่มีคุณภาพไม่เท่ากัน จึงขอเสนอผู้เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วน ก่อนที่จะส่งผลเสียหายไปยังผู้ป่วย

22 ส.ค. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000085909