ผู้เขียน หัวข้อ: อึ้ง! เยาวชนเสพยา 1.7 ล้านคน สธ.ตั้งเป้าปี 55 บำบัด 4 แสนราย  (อ่าน 1129 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
สธ.เร่งบำบัดผู้เสพสารเสพติด ตั้งเป้าในปี 2555 บำบัดให้ได้อย่างน้อย 4 แสนคน หลังพบเยาวชนไทยใช้สารเสพติดมากถึง 1.7 ล้านกว่าคน อายุเฉลี่ย 15-17 ปี
       
       นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับการแก้ไขและป้องกันปัญหายาเสพติด ว่า กระทรวงสาธารณสุข จะเร่งสนองยุทธศาสตร์ “พลังแผ่นดิน เอาชนะยาเสพติด” ซึ่งเป็นนโยบายเร่งด่วนของนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลที่กำหนดให้การแก้ไขและป้องกันยาเสพติดเป็นวาระแห่งชาติ ตั้งเป้าแก้ไข ลดความรุนแรงปัญหายาเสพติดให้ได้ภายใน 1 ปี ตั้งเป้าบำบัดผู้เสพและผู้ติดยาเสพติดทุกประเภทในปี 2555 ให้ได้อย่างน้อย 4 แสนคนทั่วประเทศ โดยขณะนี้โรงพยาบาลทุกแห่งในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข สามารถให้การบำบัดรักษาได้ทุกที่ และมีระบบการติดตามในชุมชน โดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ซึ่งมีประมาณ 2 ล้านคนทั่วประเทศ เฝ้าระวังปัญหายาเสพติดในชุมชน และติดตามดูแลช่วยเหลือผู้ผ่านการบำบัดรักษาแล้ว ป้องกันการหันไปเสพยาซ้ำอีก เป็นการคืนลูกหลานสู่ครอบครัวที่มีความสุข ขณะเดียวกัน ให้ อย.ควบคุมสารตั้งต้นและเคมีภัณฑ์ที่นำมาใช้ในการผลิตยาเสพติดอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะตามแนวชายแดน พร้อมทั้งสร้างภูมิต้านทานให้เยาวชนกลุ่มเสี่ยงในโครงการทูบี นัมเบอร์วันไม่ให้ยุ่งเกี่ยวกับการเสพยาเสพติด เพื่อลดนักเสพหน้าใหม่
       
       นายวิทยา กล่าวว่า จากผลการศึกษาของสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ ในกลุ่มเยาวชนอายุ 12-24 ปี ทั้งอยู่ในระบบและนอกระบบการศึกษา จำนวน 12 ล้านกว่าคน ในพื้นที่ 17 จังหวัด ระหว่างวันที่ 15 สิงหาคม-14 กันยายน 2554 พบว่า มีเด็กและเยาวชนใช้สารเสพติด ซึ่งไม่นับรวมเหล้าบุหรี่ จำนวน 1,715,447 คน ยาเสพติดที่ใช้มากที่สุด อันดับ 1 ได้แก่กัญชา อันดับ 2 คือยาบ้า และอันดับ 3 ยาไอซ์ อายุเฉลี่ยที่เสพอยู่ในช่วง 15-17 ปี โดยเฉพาะยาบ้าพบว่าเริ่มเสพยาบ้าครั้งแรกเมื่ออายุเพียง 7 ปี ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วงมาก จะต้องเร่งดำเนินการป้องกัน เพื่อไม่ให้เยาวชนตกเป็นทาสยาบ้า สมองถูกยาเสพติดทำลาย
       
       นว.ตรี บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สารเสพติด จะมีผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจของผู้เสพ ทำให้ผู้เสพมีลักษณะและความประพฤติเปลี่ยนไปจากเดิม มีข้อสังเกตง่ายๆ 10 ประการ ได้แก่ 1.การใช้เงินสิ้นเปลือง 2.พบอุปกรณ์การเสพ อาจพบบุหรี่รอยยับและมักเก็บไว้ต่างหาก หรือพบกระดาษฟอยล์ ไฟแช็ก 3.มีนิสัยโกหก เช่น เสพยาในห้องน้ำนานแต่โกหกว่าท้องผูก โกหกว่าเครื่องประดับหาย เป็นต้น 4.มีนิสัยลักขโมย 5.มีนิสัยเกียจคร้านไม่รับผิดชอบ เนื่องจากหลังเสพยาแล้ว ผู้เสพจะมีอาการเมายา ทำให้ลดความตั้งใจและลดพฤติกรรมต่างๆ ลง ไม่สนใจสิ่งแวดล้อมรอบตัว 6.ร่างกายผอมแห้งแรงน้อย เพราะขณะอยู่ในอาการเมายาจะไม่มีรู้สึกอยากอาหาร หรือต้องการเก็บเงินไว้ซื้อยา 7.ขาดความรับผิดชอบ สกปรก 8.อารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย เอาแต่ใจตัวเอง 9.เก็บตัว ไม่สุงสิงกับคนอื่น ไม่รับรู้ปัญหาภายในบ้าน ใช้ห้องน้ำนาน 10.ติดต่อกับคนแปลกหน้า ส่วนใหญ่เป็นผู้เสพยาเสพติดเหมือนกัน หากพบว่าสมาชิกในครอบครัวมีอาการดังกล่าวข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายข้อ ขอให้โทร.ปรึกษาได้ที่สถาบันธัญญรักษ์หมายเลข 1165 ตลอด 24 ชั่วโมง

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 ธันวาคม 2554