ผู้เขียน หัวข้อ: “หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน 1669” โทรสั่งฟาสต์ฟูดยังมาเร็วกว่า!  (อ่าน 481 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
เจ็บป่วยฉุกเฉิน โทร 1669 บริการฟรีตลอด 24 ชั่วโมง! นี่คือปลายสายเดียวของผู้ที่หวังอยากฝาก “ชีวิต” และ “ลมหายใจ” เฮือกสุดท้ายเอาไว้ให้ เมื่อเสียงไซเรนรถพยาบาลฉุกเฉินเข้ามาระยะประชิด นั่นอาจเป็นสัญญาณความวางใจของญาติผู้ป่วยได้ว่า “ผู้ป่วย(ใกล้)ถึงมือหมอแล้ว”

ทว่า เหตุการณ์การสูญเสียคนสำคัญวงการฟุตบอล อย่าง “โก๋-บุญธรรม บูรณธรรมานันท์” กลับต้องทำให้สังคมหันมาตั้งคำถามต่อการทำงานอันล่าช้าของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินฯ ทั้งที่จุดเกิดเหตุอยู่ห่างจากสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแค่ฝั่งตรงกันข้าม
ห่างแค่เพียงเอื้อมมือ..แต่ทำไมแสนไกล

จากประเด็นฮอตในโลกออนไลน์ กรณีที่ “โก๋-บุญธรรม บูรณธรรมานันท์” อดีตกองหลังทีมชาติไทย และสโมสรองค์การโทรศัพท์ เสียชีวิตด้วยอาการหัวใจวายขณะซ้อมฟุตบอลที่สนามกีฬาภายในกระทรวงสาธารณสุข โดยเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นราวๆ 17.00 น. ขณะที่กำลังซ้อมฟุตบอล จู่ๆ ได้เกิดอาการเหนื่อยและออกมานั่งพักที่ข้างสนามโดยไม่ได้บอกใคร แต่สักพักก็วูบหงายหลัง ทำให้กลุ่มเพื่อนที่เล่นด้วยกันเข้าไปช่วยเหลือ

ซึ่งบริเวณดังกล่าวอยู่ตรงข้ามกับอาคารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ซึ่งเป็นหน่วยงานควบคุมดูแลงานการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 กลุ่มเพื่อนได้วิ่งมาขอความช่วยเหลือจากสถาบันดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ช่วยแจ้งเหตุให้ แต่ไม่รู้ว่าแจ้งไปที่หน่วยงานใด

พร้อมกับยังมีการแจ้งไปยังเบอร์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งได้มีการถามรายละเอียดต่างๆ โดยระหว่างนั้นยังอยู่ที่สนามฟุตบอลประมาณ 10-15 นาที ยังไม่มีเจ้าหน้าที่มารับตัว กลุ่มเพื่อนจึงตัดสินใจพาขึ้นรถนำส่งที่ รพ.บำราศนราดูรแทน แต่ปรากฏว่าไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้ทัน


จากกรณีที่เกิดขึ้นทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันในโลกออนไลน์ ถึงระบบการทำงานของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินฯ รวมถึงขั้นตอนการสักถามข้อมูล ซึ่งมองว่ากลายเป็นเรื่องเสียเวลาและทำให้การเดินทางมาช่วยเหลือผู้ป่วยช้าลงกว่าเดิม และนี่คือความคิดเห็นส่วนหนึ่งจากโลกโซเชียลฯ ถึงกรณีดังกล่าว

“ส่วนประเด็นโทร.ไป 1669 แล้วมารับช้า อันนี้ก็น่าคิด ทำยังไงให้การเดินทางมารับตัวผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบันทึก ทำ KPI (ดัชนีชี้วัดผลงานหรือความสำเร็จของงาน) ดูไหมว่า ที่ผ่านมาแต่ละเคส แจ้งนานเท่าไหร่ ระยะทางขนาดไหน ใช้เวลาเท่าไหร่ ”

“อันนี้ผมพูดในเรื่องที่เจอนะครับ การประสานงานของ 1669 จะว่าช้าก็ช้าจริงๆ จะว่าเร็วก็เร็วชิ_หาย แต่บางทีมันไม่ทันการณ์ต่อชีวิตคน ก็อยากบอกคนทั่วไปให้ทราบว่า ในกรุงเทพฯ ควรหาเบอร์มูลนิธิไว้ดีกว่าครับ”

“อยากจะขำ พวกเบอร์ฉุกเฉินบางอย่างถึงเวลาจริงก็เกี่ยงกัน เมื่อเดือนที่แล้วพ่อลุกจากที่นอนไม่ไหว น้ำในหูไม่เท่ากัน โทร.เรียกไปตั้งนานละ โยนกันไปกันมา โฆษณาหมดงบไปเท่าไหร่ คิดดูให้มันเหมือนที่โฆษณาไว้บ้างเถอะ”

ในขณะที่อีกฟากฝั่งได้ให้ความคิดเห็นในทางตรงกันข้ามว่า แท้จริงแล้วแม้เหตุการณ์จะเกิดขึ้นภายในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขก็ตาม ทว่า เจ้าหน้าที่และพนักงานส่วนใหญ่ไม่ได้เป็นแพทย์ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นยังเกิดนอกเหนือเวลาราชการไปแล้ว นี่จึงเป็นเสียงอีกแง่มุมที่ช่วยลดแรงปะทะระหว่างผู้สูญเสียกับผู้ให้การช่วยเหลือไปได้บ้าง


“คนกระทรวงสาธารณสุข ไม่ได้เป็นหมอทุกคนนะคะ และหมอๆ ที่อยู่ในกระทรวงก็ใช่ว่าจะรักษาโรคได้ เพราะบางท่านเป็นผู้บริหาร ไม่ได้รักษาคนไข้มานานมากแล้วค่ะ ที่ดีที่สุด คือทุกคนต้องเรียนรู้การปฐมพยาบาลเบื้องต้น หัดปั๊มหัวใจ ใช้เครื่อง AED (เครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ) ให้เป็นมากกว่ารอพึ่งหมออย่างเดียวนะ ”

“ต่อให้มีหมอ แต่ถ้าไม่ได้นั่งเฝ้าข้างสนามเหมือนแมตช์ใหญ่ๆ ต้องวิ่งไปตามมาทำ CPR (ปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพ) ยังไงก็ไม่ทัน ไม่กี่นาทีสมองก็ตายแล้ว ต้องให้เพื่อนที่เตะบอลด้วยกันนั่นแหละทำ CPR”

“ไม่ใช่ไม่ได้เป็นหมอทุกคนหรอกครับ แทบจะไม่มีหมอเลยมากกว่า ที่ผมเห็นๆ ทุกวันนี้ฝ่ายเอกสารเกือบจะทั้งหมด แล้วที่นำหน้าว่านายแพทย์อะไรนี่ ผมเห็นแต่ตำแหน่งบริหารทั้งนั้น”

ถึงแม้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะยังไม่ข้อสรุปว่าใครถูก-ผิด แต่ดูเหมือนว่าชาวเน็ตและสังคมจะตัดสินไปแล้วว่า “หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน” ที่เปรียบเสมือน “ฮีโร่” ช่วยยื้อชีวิตผู้ป่วย กลับกลายเป็น หน่วยแพทย์ที่มาช้ายิ่งกว่าบริการสั่งอาหารฟาสต์ฟูดไปเสียแล้ว

ความหวังหรือความเสี่ยง 10 minutes “Dead” Line!

เมื่อเหตุการณ์ดังกล่าวถูกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ แสดงความคิดเห็นกันไปต่างๆ นานาทั่วโลกออนไลน์ จนนำมาสู่การตั้งคำถามของสังคมที่ว่า “เกิดอะไรขึ้นกับการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน” ซึ่งยังคงเป็นคำถามแคลงใจของใครหลายคน

จากประสบการณ์ที่ติดลบของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการโทร.แจ้งเหตุแต่ไม่มีคนรับ การซักถามข้อมูลมากเกินไป หรือการมาถึงล่าช้าจนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย จนในกรณีล่าสุดกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่เกิดขึ้นในจุดเกิดเหตุ ซึ่งห่างจากสถาบันแพทย์ฉุกเฉินแค่เพียงตรงกันข้าม

ทางทีมข่าวผู้จัดการ Live ได้ต่อสายไปยัง “นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์” รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ ถึงกรณีดังกล่าวที่สังคมต่างตั้งคำถามถึงการทำงานที่ล่าช้าของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินในครั้งนี้ ทว่า นายแพทย์ภูมินทร์ได้พูดถึงระยะเวลาในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยตามมาตรฐานว่าอยู่ที่ 10 นาที ซึ่งจากการรับแจ้งคือเวลา 17.23 ซึ่งถึงจุดเกิดเหตุไม่เกิน 17.30 แต่กลับสวนทางกันกับรถผู้ป่วยเสียก่อน

“เท่าที่เราได้ข้อมูล ตั้งแต่โทร.มาเข้าระบบเราจนถึงรถออกไป มีการโทร.เข้ามาเวลา 17.23 ระบบของเราจะเรคคอร์ดไว้หมดทุกนาทีว่ารับแจ้งเมื่อไหร่ ประสานรถเมื่อไหร่ รถออกไปเมื่อไหร่ ฉะนั้น ที่เราได้รับแจ้งคือ 17.23 น.ที่ศูนย์สั่งการประจำจังหวัดคือ รพ.พระนั่งเกล้า ทางนั้นเขาจะหา รพ.ที่ใกล้ที่สุดว่าอยู่ตรงไหน ซึ่งคือ รพ.บำราศนราดูร17.24 น.แจ้งบำราศนราดูร ดังนั้น ประมาณ 2-3 นาที รถออกจาก รพ.บำราศนราดูร

แต่รถยังมาไม่ถึง คนไข้สวนออกไปก่อน จริงๆ ถ้าสมมุตรถไปถึงผมคิดว่าไม่น่าเกิน 17.30 เพราะ รพ.บำราศนราดูรมันใกล้มาก เพราะฉะนั้นจากตอนที่รับแจ้งจนถึงจุดเกิดเหตุประมาณ 7 นาทีก็ถึงแล้ว แต่รถไม่ได้ไปถึงทางนั้นเพราะคนไข้สวนออกไปก่อน”

ดูเหมือนว่าการสื่อสารจากทั้งสองฝ่ายจะมีความคลาดเคลื่อนไม่ตรงกัน ทั้งนี้ นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ ได้ให้ความเห็นว่าระหว่างนี้ทางสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินได้มีการตรวจสอบระบบดังกล่าว เพื่อให้ได้คำตอบอย่างชัดเจนว่าระยะเวลาในการโทร. เข้าจริงๆ นั้นว่าอยู่ที่เท่าใด แต่หากเพื่อนผู้ป่วยโทร. เข้ามาก่อนหน้านั้นคงต้องหาสาเหตุของความผิดพลาดต่อไป

“ส่วนปัญหาที่ยังไม่ชัดเจนในเวลานี้นั้น คือเวลาที่เกิดเหตุ และเวลาที่โทร.แจ้งศูนย์ เป็นเวลาเท่าใดแน่ เพราะเวลาที่ถูกบันทึกในระบบ คือ 17.23 น. หากเพื่อนผู้ป่วยโทร.ก่อนหน้านั้น คงต้องหาสาเหตุเพิ่มเติมว่ามีความผิดพลาดอย่างไร ทั้งนี้ยืนยันว่า สพฉ.จะพยายามสอบข้อเท็จจริงเพื่อพัฒนาระบบต่อไป”

ในขณะที่โลกออนไลน์ต่างตัดสินการทำงานของ “หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน” ว่ามีส่วนทำให้ผู้ป่วยถึงแก่ความตาย เราจึงอดถามไม่ได้ถึงจุดอ่อนที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำงานของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินว่า “เหตุใด ปัญหาเดิมๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกลับยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน”


และถึงแม้ว่าทางหน่วยแพทย์ฉุกเฉินจะมีการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนอุ่นใจยังไง แต่ก็ดูเหมือนว่าปัญหาเรื่องความล่าช้าในการเข้าช่วยเหลือผู้ป่วยจะยังไม่หมดไปเสียที..

“ต้องทำความเข้าใจว่า เมื่อเกิดเหตุเราตั้งว่า 8-10 นาที แต่เวลารถวิ่งไปอาจจะเจอรถติด อาจจะเจออุบัติเหตุ อาจจะเจออะไรที่ไปได้ช้ากว่านั้นก็เป็นไปได้ อันนี้คือในสถานการณ์ที่มันเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น เพียงแต่เราอยากให้ประชาชนเข้าใจว่า ถึงยังงั้นก็แล้ว แต่มันก็ดีกว่าที่หอบหิ้วกันมาเอง

เพราะลองคิดดูว่า รถผมไปถึงคนไข้กำลังพามาโรงพยาบาล แล้วเจอรถติด เจออุบัติเหตุพอดี ต้องใช้เวลาเกือบชั่วโมงกว่าจะถึงโรงพยาบาลได้ แต่ในหนึ่งชั่วโมงนั้น มีพยาบาล มีเครื่องออกซิเจน มีเครื่องมือดูแลตลอด ระหว่างจุดเกิดเหตุที่นำส่ง แต่ถ้าออกมาเองเจอรถติดก็จะทำให้มีปัญหาอยู่ในรถของประชาชนเอง มันไม่ปลอดภัยครับ”

แม้เหตุการณ์ในครั้งนี้จะอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบหาข้อสรุปที่แท้จริง แต่สำหรับเรื่องราวที่เกิดขึ้นคงเป็น “บทเรียน” ให้กับการทำงานของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินที่ประชาชนต่างฝาก “ชีวิต” และ “ลมหายใจ” เอาไว้ เพื่อจะได้พัฒนาระบบที่มีความเข้มแข็งและแข็งแรงให้สมกับที่ประชาชนฝาก “ความหวัง” สุดท้ายไว้ให้ต่อไป

ข่าวโดย ทีมข่าวผู้จัดการ Live


 23 ก.พ. 2560 20:37:00   โดย: MGR Online