ผู้เขียน หัวข้อ: กม.คุม “นมผง” บังคับใช้ 8 ก.ย.นี้ จ่อตั้งบุคลากร รพ.- สสจ.เป็น จนท.ตรวจสอบเอาผิด  (อ่าน 454 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 สธ. ประกาศบังคับใช้ “กม. คุมนมผง” 8 ก.ย. นี้ จ่อออกประกาศลูก 2 ฉบับแรกแต่งตั้ง “บุคลากรสาธารณสุข” จาก รพ. และ สสจ. ทั่วประเทศ เป็น “พนักงานเจ้าหน้าที่” ตรวจสอบเอาผิด “นมผง” โฆษณา - ทำการตลาดผิดกฎหมาย และเปรียบเทียบปรับ มั่นใจบังคับแยกฉลากนมทารก - เด็กเล็ก แก้ปัญหาโฆษณาเชื่อมโยงสินค้า


วันนี้ (1 ก.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวการประกาศบังคับใช้ พ.ร.บ. ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พ.ศ. 2560 หรือ พ.ร.บ. นมผง ว่า พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้วันที่ 8 ก.ย. 2560 ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของประเทศไทยที่ประกาศใช้เพื่อคุ้มครองทารกและเด็กเล็ก โดยการควบคุมการส่งเสริมการตลาด ผ่านสื่อโฆษณาและวิธีการลดแลกแจกแถมของผลิตภัณฑ์กลุ่มอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้เป็นไปอย่างเหมาะสม เพื่อให้เด็กทุกคนได้กินนมแม่อย่างเต็มที่ตามสูตร 1-6-2 คือ ได้ดื่มนมแม่ตั้งแต่ 1 ชั่วโมงแรกหลังคลอด กินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน และกินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนถึง 2 ปีหรือนานกว่านั้น และเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพิ่มขึ้น ซึ่งองค์การอนามัยโลกตั้งเป้าหมายให้เด็กทั่วโลกได้กินนมแม่อย่างน้อยร้อยละ 50
นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า การจะเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นต้องอาศัย 3 มาตรการ คือ 1. มาตรการส่งเสริม เพื่อช่วยให้แม่ตัดสินใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 2. มาตรการสนับสนุน เช่น แม่สามารถลางานเลี้ยงลูกแต่ยังได้รับเงินเดือนเต็ม ผู้ชายลางานเพื่อช่วยเลี้ยงลูก สถานประกอบการจัดมุมนมแม่เพื่อเอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นต้น และ 3. มาตรการปกป้อง โดยคุ้มครองแม่และครอบครัวจากการได้รับคำแนะนำที่ไม่ถูกต้อง หรือชวนเชื่อให้ใช้อาหารอื่นทดแทนในช่วงที่ควรได้รับนมแม่ ซึ่งก็คือการออกกฎหมายฉบับดังกล่าว จึงต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อเป็นของขวัญล้ำค่าให้แก่แม่และเด็กไทย เพราะนมแม่ถือว่าดีที่สุด ทั้งนี้ ในวันที่ 18 ก.ย. 2560 จะมีการประชุมคณะกรรมการควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาการสำหรับทารกและเด็กเล็ก (คสตท.) เพื่อวางหลักเกณฑ์ในการสรรหากรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เมื่อคณะกรรมการครบองค์ประชุม จึงจะมีการประชุมเพื่อให้คำแนะนำหรือความเห็นแก่ รมว.สาธารณสุข ในการออกประกาศหรือกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีอีกกว่า 10 ฉบับ

นพ.วชิระ กล่าวว่า เบื้องต้นประกาศลูกที่จะต้องออกมาก่อน คือ 1. เรื่องแต่งตั้งพนักงานเจ้าหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น ตรวจสอบเอกสาร สื่อโฆษณาที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เป็นต้น โดยคาดว่าจะแต่งตั้งจากบุคลากรสาธารณสุขในกลุ่มงานส่งเสริมและคุ้มครองผู้บริโภคของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) และโรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปทุกจังหวัดให้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ และอาจจะดึงภาคประชาสังคมและกลุ่มเอ็นจีโอเข้ามาร่วมเป็นเครือข่ายในการเฝ้าระวัง ซึ่งหากพบว่ามีการกระทำความผิดก็ให้แจ้งเรื่องมายังพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ประกาศแต่งตั้งเพื่อดำเนินการตรวจสอบความผิด แต่ระหว่างที่ยังไม่มีการแต่งตั้งกำหนดให้อธิบดีกรมอนามัยเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ไปพลางก่อน และ 2. ประกาศว่าด้วยการเปรียบเทียบปรับ เพื่อให้ผู้ซึ่งอธิบดีกรมอนามัยมอบหมายมีอำนาจเปรียบเทียบปรับได้ จากนั้นจึงทยอยออกประกาศลูกฉบับอื่นๆ ตามมา ซึ่งตาม พ.ร.บ. กำหนดให้ดำเนินการภายใน 180 วัน หลังจากกฎหมายบังคับใช้คือ ภายใน มี.ค. 2561


ผู้สื่อข่าวถามว่า อาหารสำหรับเด็กเล็กที่ยังไม่มีการออกประกาศลูกรองรับ ต้องมีการออกประกาศด้วยหรือไม่ นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทและผู้ประกอบการจำนวนมากกังวลในเรื่องนี้ ซึ่งตามกฎหมายแล้วอาหารสำหรับเด็กเล็กยังสามารถโฆษณาได้ แต่ห้ามเชื่อมโยงมาทำให้เข้าใจว่าเป็นอาหารสำหรับทารก ซึ่งหากมีการละเมิดตรงนี้จำนวนมาก คณะกรรมการฯ ก็อาจพิจารณาให้มีการออกประกาศควบคุมในภายหลังได้ แต่ปัจจุบันยังไม่จำเป็นต้องออกประกาศ

นพ.ธงชัย กล่าวว่า สำหรับปัญหาการโฆษณาข้ามกลุ่มสินค้า อย่างโฆษณานมสำหรับเด็กเล็ก แต่ระบุว่ามีสารอาหารต่างๆ เหมือนกับนมสำหรับทารก โดยมีฉลากหน้าตาเหมือนๆ กัน จนทำให้ผู้คนแยกไม่ได้ และเชื่อมโยงสินค้ากันเองนั้น พ.ร.บ.ฉบับนี้ก็กำหนดชัดว่าจะต้องแยกฉลากอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็กให้แตกต่างกันอย่างชัดเจน ก็เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนสามารถแยกผลิตภัณฑ์ออกได้ ซึ่งการแยกฉลากจะให้เวลาในการปรับเปลี่ยน 1 ปีหลังวันที่บังคับใช้กฎหมาย ซึ่งหากพ้นเวลา 1 ปีไปแล้วยังไม่ปรับเปลี่ยนจะมีโทษปรับสูงสุด 3 แสนบาท ส่วนเรื่องการโฆษณาสารอาหารต่างๆ ที่ว่าทำให้เด็กฉลาดต่างๆ นั้นจะเป็นการโฆษณาเกินจริงหรือโอเวอร์เคลมหรือไม่ ตรงนี้จะเป็นหน้าที่ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เป็นผู้พิจารณา

นายโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับจากการมีกฎหมายฉบับนี้ คือ ช่วยปกป้องสิทธิของเด็กไทยให้ได้รับนมแม่ ซึ่งเป็นอาหารที่มีพร้อมภูมิคุ้มกันและป้องกันโรคต่างๆ อันจะเกิดกับทารก และช่วยแม่และครอบครัวได้รับข้อมูลที่ครบถ้วนและถูกต้อง สร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มากขึ้น

2 ก.ย. 2560 11:23:00   โดย: MGR Online