ผู้เขียน หัวข้อ: รพ.ราชวิถีจัดซื้อยาพิเศษแทนทั้งประเทศ ไม่ผิด กม.ไม่ขาดยาแน่ เซตห้องทำงานวางระบบ  (อ่าน 646 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 สธ. ย้ำ “รพ.ราชวิถี” ตัวแทน รพ. จัดซื้อยาโครงการพิเศษทำได้ตามกฎหมาย เผย เซตห้องทำงานด้านจัดซื้อยาแล้ว ระบบเหมือน สปสช. ทั้งหมด คาด เปิดทำงานได้ในสัปดาห์หน้า พร้อมชวนเอ็นจีโอร่วมติดตามการทำงาน เผย ยาเอดส์ขาดมาจากการจัดส่งของผู้ขาย ไม่เกี่ยวกับการเตรียมเปลี่ยนหน่วยงานจัดซื้อ

จากกรณี คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) มีมติเสียงข้างมากเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษปี 2561 และให้ รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการในการจัดซื้อยากลุ่มพิเศษ เช่น ยาบัญชี จ.2 ยาต้านพิษ ฯลฯ ซึ่งเครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มเอ็นจีโอออกมาคัดค้าน ว่า ไม่สามารถทำได้และสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้ผู้ป่วยขาดยาแคลนยา

วันนี้ (31 ส.ค.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดประทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวกรณีดังกล่าว ว่า ก่อนอื่นต้องขอบคุณเครือข่ายผู้ป่วยและกลุ่มเอ็นจีโอที่แสดงข้อห่วงใยต่างๆ ในการใช้กลไกใหม่ในการจัดซื้อยาโครงการพิเศษ ซึ่งเข้าใจดีว่าเมื่อเป็นระบบใหม่อาจจะไม่คุ้นชินและมีความกังวล ซึ่งอยากให้เข้ามาเสนอว่า มีข้อกังวลอะไรอีกบ้าง จะได้ทำเป็นบันทึกไว้เพื่อเตรียมความพร้อม อย่างไรก็ตาม กลไกใหม่ดังกล่าวไม่ใช่ว่าเพิ่งจะมาเริ่ม แต่มีการเตรียมความพร้อมมานาน 2 - 3 เดือน หลังจากที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และ คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยืนยันชัดเจนว่า สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ไม่สามารถจัดซื้อได้ตามกฎหมาย จนกระทั่งออกมาเป็นมติบอร์ด สปสช. ดังกล่าวให้มีการตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อ และให้ รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการในการจัดซื้อ ซึ่งทาง สตง. ซึ่งเป็นผู้ดูแลระเบียบก็ยืนยันชัดเจนว่า สามารถทำได้ จึงไม่ต้องกังวลว่ากฎหมายไม่รองรับ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ก็ยืนยันว่า ของใหม่จะต้องดีกว่าของเดิม ดังนั้น จึงไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดการขาดยาขึ้น ผู้ป่วยต้องเข้าถึงยาได้เหมือนเดิมหรือดีขึ้นกว่าเดิม
นพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ขณะนี้ก็มีการประสานกับ รพ.ราชวิถี ในการเตรียมความพร้อมระบบการจัดซื้อยาแบบใหม่ และอยู่ระหว่างการปรับปรุงประกาศ เนื่องจากการจัดสรรงบต่างๆ ต้องมีประกาศรองรับที่ชัดเจน การโอนงบประมาณให้ รพ.ราชวิถี จัดซื้อก็เช่นกัน สำหรับแผนการจัดซื้อนั้นเดิมทีก็จะแบ่งการจัดซื้อเป็นงวดๆ โดย 1 ปีก็มีการจัดซื้อประมาณ 3 - 4 งวด เพื่อให้มียาพอใช้ตลอดทั้งปีและยามีอายุยาว เพราะหากซื้อมาครั้งเดียวยาก็จะมีอายุสั้น ซึ่งแผนการจัดซื้อเหล่านี้ก็มอบให้กับ รพ.ราชวิถี เช่นกัน จึงไม่ต้องกังวล โดยหากสำนักงบประมาณโอนงบประมาณมายัง สปสช. ก็จะโอนงบต่อไปยัง รพ.ราชวิถี เพื่อจัดซื้อยาตามแผนในแต่ละงวด ซึ่งนับตั้งแต่ 1 ต.ค. 2560 ซึ่งจะเริ่มปีงบประมาณ 2561 ช่วงที่ยังไม่ได้รับงบประมาณที่จะให้ รพ.ราชวิถี จัดซื้อ หากมีปัญหายาไม่พอ สปสช. ก็ยังมียาสำรองไว้ ขณะที่ อภ. ก็พร้อมช่วยเหลือเพื่อไม่ให้เกิดยาขาดเช่นกัน

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ อภ. กล่าวว่า การจัดซื้อยาแทบไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิม เพียงแต่แค่เปลี่ยนหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดซื้อจาก สปสช. มาเป็น รพ.ราชวิถี แต่แผนการจัดซื้อยาก็ยังเหมือนเดิม และดีขึ้นเพราะมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ มาร่วมรับทราบ โดยเฉพาะหน่วยบริการเพื่อที่จะมีความใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่างผู้ที่จะต้องใช้หน้างานจริงและผู้ที่ต้องวางแผนจัดซื้อ ที่สำคัญ สปสช. ก็ยังอยู่ในคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อฯ ส่วนที่กำหนดเป็น รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการจัดซื้อ เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่ มีบุคลากรที่มีประสบการณ์ด้านการจัดซื้อจำนวนมากๆ และสอดคล้องกับกฎระเบียบกติกาในการมอบอำนาจ เพราะการจัดซื้อของ สปสช. ไม่เหมือนกับ รพ. ทั่วๆ ไป ที่อยู่ประมาณ 50 - 100 ล้านบาท แต่อยู่ที่ระดับกว่าพันล้านบาท ก็ต้องเลือกโรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ที่จะสามารถโอนเงินในการจัดซื้อได้

เมื่อถามถึงกรณีเครือข่ายผู้ป่วยกังวลเรื่องการขาดยา นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้ที่มีปัญหาคือ ยาต้านไวรัสเอชไอวีตัวหนึ่ง ที่เดิมทีผู้ป่วยได้รับยาที่ใช้ได้นานประมาณ 3 เดือน แต่ประสบปัญหาไม่ค่อยพอโรงพยาบาลหลายแห่งก็จ่ายเพียง 1 เดือน ซึ่งปัญหานี้มีมากว่า 4 - 5 เดือนแล้ว ซึ่งเกิดจากทางผู้ขายยาที่ประสบปัญหาเรื่องการจัดส่งยา ก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับการเปลี่ยนหน่วยงานในการจัดซื้อ ทั้งนี้ ทางเอ็นจีโอสามารถเข้ามาติดตามประเมินผลการดำเนินงานได้ หรือเข้ามาร่วมตรวจรับยา การพิจารณาราคา

ด้าน นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า ขณะนี้ก็รอคำสั่งลงมาอย่างเป็นทางการ แต่ รพ. ก็มีการเตรียมความพร้อม อย่างเรื่องสถานที่ก็มีการจัดห้องๆ หนึ่งไว้เป็นสำนักงานในการดำเนินการเรื่องของการจัดซื้อ ที่ต้องทำร่วมกันกับ อภ. สปสช. และ สธ. ซึ่งคาดว่าสัปดาห์หน้าจะสามารถเปิดห้องทำงานได้ ซึ่งการเบิกจ่ายยาก็ใช้โปรแกรมเดิมเหมือนที่ สปสช. เคยดำเนินการ เพียงแต่ยกทั้งหมดมาไว้ที่ห้องดังกล่าว


31 ส.ค. 2560 17:31:00   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 บอร์ด สปสช. เห็นชอบ “รพ.ราชวิถี” ตัวแทน รพ. ทั่วประเทศจัดซื้อยากลุ่มพิเศษปี 2561 แทน สปสช. หลัง สตง. ท้วงผิดกฎหมาย ไม่สามารถซื้อได้ พร้อมเห็นชอบตั้งอนุกรรมการวางแผนจัดซื้อยา ดึงทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม

วันนี้ (18 ส.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) วาระพิเศษ มีการพิจารณาวาระการจัดหายา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ตามโครงการพิเศษ ปีงบประมาณ 2561 ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และประธานบอร์ด สปสช. โดยที่ประชุมเสียงข้างมาก คือ เห็นชอบ 12 เสียง ไม่เห็นด้วย 4 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียง คือเห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นตามโครงการพิเศษ ปี 2561 และให้ รพ.ราชวิถี เป็นตัวแทนหน่วยบริการในการสั่งซื้อยากลุ่มพิเศษ เช่น ยาบัญชี จ.2 ยาต้านพิเศษ ฯลฯ จากองค์การเภสัชกรรม (อภ.) แทน สปสช. หลังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทักท้วงว่า สปสช.ไม่สามารถจัดซื้อได้ตามกฎหมาย

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สตง. ทักท้วงว่า สปสช. ไม่มีอำนาจในการสั่งซื้อยา เพราะขัดต่อข้อกฎหมาย แต่การปรับเปลี่ยนทันทีเลยอาจเกิดผลกระทบ ซึ่งบอร์ด สปสช. ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2560 จึงให้ สปสช. ทำไปเช่นเดิม แต่ในปีงบประมาณ 2561 ต้องทำให้ทุกอย่างถูกต้อง ทั้งนี้ หากคณะกรรมการไม่เห็นด้วยและยืนยันจะให้ทำแบบเดิมก็สามารถลงมติได้ทุกคนมีสิทธิ์ แต่ตนมีทางออกที่ถูกต้องให้ ซึ่งการที่จะมอบให้ รพ.ราชวิถี จัดซื้อยาแทน สปสช. ก่อนส่งเรื่องให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) นั้น ระบบเหมือนเดิมเกือบทั้งหมด เพียงแต่แก้ไขทุกอย่างให้ถูกต้อง ซึ่งระบบที่จะเกิดขึ้นนี้จะเป็นความร่วมมือที่ชัดเจนของ สธ. สปสช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการหารือทุกส่วนเห็นพ้องกันว่า วิธีนี้เป็นแนวทางที่ถูกต้อง ขอยืนยันว่าจะไม่มีการออก ม.44 ออกมาเพื่อแก้ไขปัญหานี้อีกแน่นอน
ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า กระบวนการจัดซื้อเหมือนเดิมเกือบทั้งหมด โดยบอร์ด สปสช. เห็นชอบแต่งตั้งคณะคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการจัดซื้อยาฯ ซึ่งมีหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นกรรมการ ทั้ง สธ. สปสช. อภ. รวมถึงภาคเอ็นจีโอ ในการดูรายการยา การต่อรอง หรือการกำหนดราคากลาง เพียงแต่เปลี่ยนจากการสั่งซื้อเดิมที่เป็น สปสช. มาเป็นหน่วยบริการ ซึ่งบอร์ด สปสช. เห็นชอบให้ รพ.ราชวิถี สังกัดกรมการแพทย์ ที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากในการเป็นตัวแทนหน่วยบริการทั้งหมดในการจัดซื้อยา โดยให้ สปสช. โอนเงินมายัง รพ.ราชวิถี ในการจัดซื้อยากับ อภ. แทน ซึ่งตรงนี้ก็เป็นไปตาม พ.ร.บ. การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้วันที่ 23 ส.ค. นี้ ให้หน่วยงานหนึ่งจัดซื้อแทนหน่วยงานอื่นๆ ได้ เรียกว่า รพ.ราชวิถี ก็จะเป็นตัวแทนในการจัดซื้อยาแทน รพ. ทั่วประเทศ โดยกระบวนการทั้งหมดนี้อยู่ระหว่างสรุปเรื่องเพื่อเสนอเข้า ครม. สำหรับการจัดซื้อยาในปี 2562 ก็น่าจะเป็นไปตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับใหม่

เมื่อถามถึงภาคประชาชนมองว่า รพ.ราชวิถี ไม่มีความพร้อม และปัจจุบันมีการขาดยาต้านไวรัสเอชไอวี นพ.โสภณ กล่าวว่า ต้องถามว่าปัญหาการขาดยาปัจจุบันใครรับผิดชอบ จะมาโยงว่าให้ รพ.ราชวิถี จัดซื้อแทนแล้วทำให้ขาดยาคงไม่ใช่ มองว่าควรมาหาทางออกและแก้ปัญหาร่วมจะดีกว่าหรือไม่ ทำอย่างไรให้ถูกกฎหมาย และสุดท้ายก็เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง สธ. สปสช. และ อภ. อยู่ดี ส่วนเรื่องการขาดยาต้านไวรัสเอชไอวีเท่าที่ทราบก็ไม่ใช่ว่ามีใครที่ไม่ได้รับยาเลย เพียงแต่จากเดิมรับยาทุก 3 เดือน เหลือมารับยาทุกๆ เดือน ตรงนี้ก็ต้องไปตรวจสอบว่าเกิดจากอะไร

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง กรรมการ สปสช. สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับหลักการครั้งนี้ เพราะ สธ. ยังไม่สามารถวางระบบที่จะจัดซื้อยาในอนาคตได้ และบางหลักการก็ยังไม่มีกฎหมายรองรับ หากดำเนินการไปแล้วอาจขัดต่อข้อกฎหมายได้ และตั้งข้อสังเกตว่ากรณีที่มอบหมายให้ รพ.ราชวิถี เป็นคนกลางในการจัดซื้อยาในปีงบประมาณ 2561 นั้น ขณะนี้ ผอ.รพ ราชวิถี ก็ยังไม่มีการออกมาแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ ทำให้ไม่เชื่อมั่นว่าการจัดซื้อครั้งนี้จะทำได้จริงหรือไม่

18 ส.ค. 2560 17:39:00   โดย: MGR Online

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“การจัดซื้อยารวมระดับประเทศ” เป็นหนึ่งนโยบายบริหารภายใต้ “กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ที่มักถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ทั้งในแง่ของการลิดรอนสิทธิการรักษาของแพทย์ ผลประโยชน์จากการต่อรองราคาและการจัดซื้อยา

ที่มาของการดำเนินนโยบายนี้ เกิดจากปัญหาเข้าไม่ถึงการรักษาของผู้ป่วย แม้ว่าในปี 2545 คนไทยทุกคนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารองรับก็ตาม ยังคงพบว่ามีผู้ป่วยจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงยาราคาแพงบางชนิดได้ เนื่องมากจากอัตราการเกิดโรคไม่แน่นอน หน่วยบริการประมาณการปริมาณยาที่ต้องสำรองไว้ได้ยาก และต้องใช้งบประมาณสูงในการสำรองยาเหล่านั้น

สาเหตุจากการเข้าไม่ถึงยาจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ต้องหาทางออกร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านยา อาทิ ศูนย์พิษวิทยา รามาธิบดี สภากาชาดไทย กรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค องค์การเภสัชกรรม เป็นต้น ใช้กลยุทธ์บริหารจัดซื้อยารวมระดับประเทศ รวมถึงวัคซีนที่จำเป็น โดยได้เริ่มในปี 2553 นำไปสู่การพัฒนาระบบกระจายยาที่เพิ่มการเข้าถึงยาของผู้ป่วยเพิ่มขึ้น

มูลค่ายาและเวชภัณฑ์กว่า 7 พันล้านบาทต่อปี (จากมูลค่าการซื้อยาของประเทศกว่า 145,000 ล้านบาทต่อปี) ที่ สปสช.ดำเนินการจัดซื้อนั้น หากดูเม็ดเงินแม้ว่าจะเป็นจำนวนที่มาก แต่เมื่อคำนวณอัตราการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในระบบและการบริหารจัดการทั้งหมด แล้วเป็นการจัดซื้อเฉพาะรายการยาจำเป็นและมีปัญหาต่อการเข้าถึงที่ไปตามข้อบ่งใช้ที่คณะกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติรับรองเท่านั้น ซึ่งอยู่ที่เพียงร้อยละ 4.9 ของมูลค่าการบริโภคยาทั้งประเทศ

ดังนั้นยาที่ สปสช.จัดซื้อที่ผ่านมา จึงมีเพียงกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษ ยาบัญชี จ.2 ที่เป็นกลุ่มยาราคาแพง ยารักษาโรคเรื้อรังที่ต้องมีระบบจัดการพิเศษเพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ยา ได้แก่ ยาต้านไวรัสเอชไอวี น้ำยาล้างไต และวัคซีนป้องกันโรคเท่านั้น ขณะที่รายการยาอื่นๆ ในระบบอีกประมาณร้อยละ 95 (หรืออีกประมาณ 139,000 ล้านบาท) ยังคงให้หน่วยบริการเป็นการจัดซื้อเช่นเดิม

หลังจากคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติได้คัดเลือกยาไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว สปสช.จะนำรายการยาจำเป็นดังกล่าวเสนอต่อบอร์ด สปสช.พิจารณาอนุมัติ เพื่อบรรจุสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า แล้วจึงทำแผนงบประมาณรองรับต่อ ซึ่งระหว่างนี้ สปสช.จะประสานงานกับคณะทำงานผู้เชี่ยวชาญกำหนดคุณลักษณะของยาที่จำเป็นต่อการเข้าถึง โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานของรัฐ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยแพทย์สาขาที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เพื่อให้ยาและวัคซีนที่จัดซื้อมีคุณภาพแล้วจึงดำเนินการจัดซื้อ

กระบวนการจัดหาและจัดซื้อต่อจากนี้ สปสช.มอบให้องค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้จัดหา รวมถึงหน้าที่ต่อรองกับบริษัทยาที่เป็นไปตามราคาเหมาะสม ตามคำแนะนำโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์ก่อน

ย้ำว่าขั้นตอนกระบวนการนี้ สปสช.ไม่ได้ยุ่งเกี่ยว ทั้งนี้เพื่อความโปร่งใสการดำเนินนโยบายนี้ของ สปสช.โดยเฉพาะการรับเปอร์เซ็นค่ายาจากบริษัทยาที่มักมีการกล่าวถึง และด้วยราคาจัดซื้อที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก คงเป็นไปไม่ได้ที่บริษัทยาจะให้ผลประโยชน์อีก เช่นเดียวกับการพิจารณารายการยาของคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คงไม่มีใครสามารถชี้นำเพื่อนำยารายการใดรายการหนึ่งเพื่อเข้าสู่ระบบเพื่อหาประโยชน์ได้

ส่วนข้อกล่าวหาการจำกัดสิทธิการรักษาของแพทย์นั้น เมื่อดูรายการยาบัญชียาหลักแห่งชาติ จะเห็นได้ว่ามีความครอบคลุมและเพียงพอในการรักษาผู้ป่วยอย่างครอบคลุม แต่หากแพทย์ต้องการใช้ยาใหม่ที่เป็นยานอกบัญชี สามารถนำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติเพื่อกำหนดในบัญชียาหลักแห่งชาติได้ และบรรจุสิทธิประโยชน์เบิกจ่ายระบบหลักประกันสุขภาพต่อไป

แต่ในกรณีที่แพทย์ยืนยันความจำเป็นที่ต้องใช้ยานอกบัญชีที่ยังไม่มีการบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติ กรณีนี้ สปสช.ได้เปิดช่องเบิกจ่ายค่ายาบางรายการเช่นกัน แต่เป็นไปตามเพดานราคาที่กำหนด เนื่องจากยาบางรายการมีราคาแพงมาก โดยเฉพาะยารักษาโรคมะเร็ง จึงต้องจัดการระบบให้มีความครอบคลุมการดูแลผู้ป่วยในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้อย่างทั่วถึง ขณะเดียวกันยังเป็นการคุ้มครองความปลอดภัยด้านยาให้กับผู้ป่วยจากยาใหม่ที่ถูกพัฒนาขึ้นและยังไม่มีรายงานทางคลินิกและผลข้างเคียงที่มากพอ

ผลการจากนโยบายจัดซื้อยารวมระดับประเทศสำหรับยารายกการที่มีความจำเป็นนั้น ด้วยการจัดซื้อยาปริมาณที่มากและมีจำนวนสั่งที่ชัดเจนแน่นอน บริษัทยาสามารถวางแผนในการผลิตและการนำเข้าที่ชัดเจนได้ จึงยอมลดราคาในระดับที่ต่ำกว่าท้องตลาดมาก ต่างจากการแยกจัดซื้อโดยโรงพยาบาลแต่ละแห่ง จึงเท่ากับว่าเป็นการเพิ่มศักยภาพการใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า ขณะเดียวกันยังลดความสูญเสียจากกรณียาหมดอายุ จากการพัฒนาระบบการจัดเก็บและกระจายยา ส่งผลให้ประเทศประหยัดงบประมาณมหาศาลถึง 7 พันล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นการลดภาระการจัดหาและจัดซื้อยาที่จำเป็นต่อการเข้าถึงให้กับโรงพยาบาล รวมถึงการแบ่งเบางบประมาณจัดซื้อยาราคาแพงเพื่อดูแลผู้ป่วยจากงบเหมาจ่ายรายหัวที่จำกัด

แต่ที่สำคัญผลที่เกิดขึ้นยังไม่เทียบเท่ากับการทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาอย่างครอบคลุมและทั่วถึง โดยเฉพาะกลุ่มยากำพร้าและยาต้านพิษที่แม้มีเงินบางครั้งยังจัดซื้อไม่ได้ เนื่องจากเป็นกลุ่มยาที่มีการใช้น้อยมากและไม่ทำกำไร ที่ผ่านมาบริษัทยาจึงมีการผลิตน้อยมากและมีบางรายการไม่ผลิตแล้ว แต่ผู้ป่วยยังจำเป็นต้องใช้ในการช่วยชีวิต แต่ด้วยการรวมปริมาณจัดซื้อระดับประเทศ ทำให้มีพลังในการจัดหาและจัดซื้อยาเหล่านี้ได้

แต่เรื่องเหล่านี้ กลับถูกคนบางกลุ่มตัดตอนข้อมูลไปบิดเบือนว่าการที่ สปสช.จัดซื้อยารวมทำให้เกิดการผูกขาด ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ มูลค่าการจัดซื้อยาอยู่ที่ร้อยละ 4.9 ของการมูลค่าการจัดซื้อยาทั้งประเทศเท่านั้น

4.9% นี้ไม่สามารถเรียกได้ว่าผูกขาดตลาดยา

ที่สำคัญเป็นการจัดซื้อยาในกลุ่มที่จำเป็นต้องซื้อรวมเท่านั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศและผู้ป่วย ภายใต้งบประมาณที่มีจำกัด พูดง่ายๆ คือ ถ้าไม่ซื้อยารวม ยาบางรายการก็ไม่สามารถที่จะซื้อ และบางรายการก็จะได้ในราคาที่แพง สิ้นเปลืองงบประมาณประเทศไปโดยใช่เหตุ ทั้งที่สามารถจัดการได้

สิ่งที่ยืนยันในเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีคือ เมื่อคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ (คตร.) ซึ่งได้ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และให้ยุติการดำเนินงานที่ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน หนึ่งในนั้นคือให้ สปสช.ยุติการทำหน้าที่จัดซื้อยารวมไว้ก่อน แต่ภายหลังต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดย คตร.ก็ได้อนุมัติเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2558 ให้ สปสช.ดำเนินการจัดหา ยา วัคซีน และเวชภัณฑ์ ดังกล่าวผ่านองค์การเภสัชกรรมเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียหายต่อระบบสาธารณสุขในภาพรวมของประเทศ ก่อนที่จะมีคำสั่งมาตรา 44 ที่ 37/2559 วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 ให้ สปสช.ทำหน้าที่จัดหายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ ได้เหมือนเดิม

นั่นก็เป็นเพราะ ตระหนักว่าการให้ยุติชั่วคราวได้สร้างผลกระทบต่อการให้บริการสาธารณสุขอย่างไร และกระทบต่อผู้ป่วยอย่างไร

20 มี.ค. 2560
https://mgronline.com/qol/detail/9600000028277