ผู้เขียน หัวข้อ: "หมอทองสา" คว้าหมอไทยดีเด่นปี 60 ชำนาญรักษา "ไข้หมากไม้"  (อ่าน 1118 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
 "พ่อหมอทองสา" หมอพื้นบ้านวัย 80 ปี คว้ารางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2560 ชำนาญรักษาไข้หมากไม้ จากการรับพิษในทุ่งนา ห่วงความรู้พื้นบ้านสูญพันธุ์ เหตุคนรุ่นใหม่ไม่สนใจ ไม่รู้จักสมุนไพร เดินหน้าถ่ายทอดองค์ความรู้


วันนี้ (30 ส.ค.) ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติครั้งที่ 14 ภายใต้หัวข้อ "เสน่ห์ไทย สมุนไพรไทย 4.0" พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดงาน พร้อมกับมอบประกาศเกียรติคุณและโล่รางวัลเชิดชูเกียรติ "หมอไทยดีเด่นแห่งชาติ ปี 2560" ให้ "นายทองสา เจริญตา" อายุ 80 ปี จาก จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งมีความรู้ความชำนาญด้านการรักษาไข้หมากไม้ และมอบรางวัล Prime Minister Herbal Awards : PMHA ประจำปี 2560 ให้แก่ผู้ประกอบการสมุนไพร เพื่อส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ประกอบด้วย รางวัลผลิตภัณฑ์สมุนไพรดีเด่น ยาสมุนไพรดีเด่น เครื่องสำอางสมุนไพรดีเด่น และอาหารเสริมสมุนไพรดีเด่น
นายทองสา กล่าวว่า พ่อของตนเป็นหมอพื้นบ้านและมีตำรายาประจำครอบครัว ซึ่งเป็นอักษรธรรมบันทึกไว้ในใบลาน มีมากกว่า 300 ตำรับยา ซึ่งตนก็ได้ศึกษามาจากในนั้น โดยเริ่มศึกษาตั้งแต่อายุ 24 และรักษาผู้คนเรื่อยมา จนกระทั่งตอนนี้อายุ 80 ปีแล้ว โดยรักษาโรคได้จำนวนมาก โดยเฉพาะปีกมดลูก ริดสีดวง ประดง ฝี ไข้ นิ่วในไต สัตว์พิษกัดต่อย โรคเลือด โรคเด็กและสตรี รวมถึงโรคบุรุษ ความชำนาญอีกโรคคือ ไข้หมากไม้ ซึ่งเกิดจากการรับพิษในทุ่งนาที่มีการหมักหมมของใบไม้ ต้นไม้ พืชต่างๆ ตามโคลนตม


นายทองสา กล่าวว่า ตนใช้สมุนไพรในการรักษาเป็นหลัก ซึ่งในอดีตสมุนไพรตามธรรมชาติมีมาก แต่ปัจจุบันมีน้อยลง ต้องมีการปลูกเพิ่มทดแทน อย่างทุกวันนี้ตนก้ใช้ทั้งสมุนไพรธรรมชาติ และสมุนไพรที่ปลูกเอง ซึ่งมีปลูกไว้กว่าเป็นพันๆ ต้น ในฐานะหมอพื้นบ้านสิ่งที่ตนห่วงก็คือ ความรู้ในเรื่องของการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านที่จะสูญหาย เพราะคนรุ่นใหม่ไม่ค่อยสนใจ แม้จะมีการทำตำราออกมาให้ได้ศึกษา แต่ความเป็นจริงคือ คนรุ่นใหม่ก็ยังไม่รู้จักพืชสมุนไพรอยู่ดีว่า ชนิดไหนคืออะไร ต้องสอนเข้าป่าพาไปรู้จักพืชชนิดต่างๆ

"ปัจจุบันตนก็ได้ถ่ายทอดความรู้ เพราะที่บ้านตนเองนั้นเป็นแหล่งเรียนรู้สมุนไพรและองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านจังหวัดร้อยเอ็ดและโรงเรียนในเขตอำเภอหนองพอก รวมถึงได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้านแก่นักศึกษา ม.มหาสารคามและม.ขอนแก่น และแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลโพนทองกระทั่งสามารถรวบรวมตำรับยาได้มากกว่า 100 ตำรับ และได้มีการแปลคัมภีร์ใบลานตำรับยากว่า 1,000 ตำรับจากอักษรธรรมโบราณเป็นภาษาไทยและมอบเอกสารแก่นักศึกษาเพื่อการศึกษาวิจัยต่อยอดต่อไป ในปัจจุบันได้มีสร้างห้องอบสมุนไพรเพื่อใช้ดูแลรักษาและฟื้นฟูสุขภาพคนในชุมชนอีกด้วย" นายทองสา กล่าว


30 ส.ค. 2560 17:29:00   โดย: MGR Online