
อุบัติเหตุของการคลอด
สำนักงานเลขาธิการแพทยสภาได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้ป่วย เกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมของนายแพทย์ประจำโรงพยาบาลชุมชนท่านหนึ่ง กรณีผู้ป่วยได้ไปคลอดที่โรงพยาบาลชุมชนระหว่างรอคลอดมีอาการเลือดออกจากช่องคลอด แต่พยาบาลไม่มาดูแลและให้นอนรอต่อไปจนกระทั่งมีเลือดออกมากขึ้น พยาบาลจึงทำการกรีดถุงน้ำคร่ำ และแจ้งว่าอย่าเบ่งคลอดเพราะจะทำให้เด็กขาดอากาศหายใจเนื่องจากหัวเด็กออกมาทับสายสะดือ แต่ผู้ป่วยกลั้นลมเบ่งไม่ไหวต่อมาเมื่อแพทย์มาดูจึงให้ส่งตัวไปรับการรักษาต่อที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด หลังกาคลอดปรากฏว่าเด็กเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศหายใจเป็นเวลานานก่อนมาถึงโรงพยาบาลประจำจังหวัดเลขาธิการแพทยสภาได้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ พิจารณาแสวงหาข้อเท็จจริง
คณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ ได้เชิญผู้ป่วยมาให้ถ้อยคำ ได้ประชุมปรึกษาและตรวจพิจารณาคำร้องเรียน คำชี้แจงแก้คำร้องเรียน ความเห็นพยานผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งพยานหลักฐานอื่นที่เกี่ยวข้องประกอบแล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า ผู้ป่วยอายุ 38 ปี ตั้งครรภ์ที่2 อายุครรภ์ 41 สัปดาห์ ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลชุมชน 11 ครั้ง ผลการฝากครรภ์ปกติ ได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลชุมชน เมื่อเวลาประมาณ 08.00 น. ด้วยเรื่องเจ็บครรภ์คลอดมา 1 ชั่วโมงก่อนมาโรงพยาบาล ผลการตรวจร่างกายแรกรับสัญญาณชีพอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตรวจภายในพบว่าปากมดลูกเปิด 1 เซนติเมตร ความบางตัว 25% ส่วนนำเป็นศีรษะ อยู่ที่ระดับ 0 ถุงน้ำคร่ำยังไม่แตก เสียงหัวใจทารกปกติ จึงได้รับตัวไว้ในห้องคลอดเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการคลอด
จากนั้นการคลอดมีความก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยเวลาประมาณ 10.30 น. พยาบาลตรวจภายในพบว่าปากมดลูกเปิด 8 เซนติเมตร ความบางตัว 100% ส่วนนำอยู่ที่ระดับ 0 คลำพบถุงน้ำอยู่ จึงพยายามทำการเจาะถุงน้ำคร่ำแต่ไม่สามารถเจาะได้เนื่องจากถุงน้ำติดศีรษะเด็ก ต่อมาได้ตรวจภายในซ้ำพบว่ามีภาวะสะดือย้อย จึงได้แจ้งให้ทีมงานทราบและดำเนินการดูแลเบื้องต้นโดยให้ผู้ป่ายยกก้นสูง ใช้ถาดำหรับนอนถ่ายปัสสาวะอุจจาระ (bed pan ) รองก้น ใช้นิ้วสอดใส่ผ่านปากมดลูกเพื่อดันศีรษะทารกให้ลอยขึ้นไว้ ให้ออกซิเจนและสารน้ำทางหลอดเลือด
ต่อมาแพทย์ได้มาประเมินอาการและตัดสินใจให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อด้วยการผ่าท้องคลอดที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดทันที โดยที่ได้ติดต่อประสานงานกับพยาบาลห้องคลอดของโรงพยาบาลประจำจังหวัด ในช่วงระหว่างเวลาประมาณ 10.40 น. ถึง 10.50 น. ซึ่งได้แจ้งว่าให้ส่งต่อผู้ป่วยได้ และให้ดำเนินการเตรียมผู้ป่วยให้พร้อมสำหรับการผ่าตัดด้วย ระหว่างการส่งต่อในรถพยาบาล มีพยาบาลวิชาชีพ 2 คนให้การดูแลต่อเนื่องจากที่ดำเนินการมา เสียงหัวใจทารกอยู่ระหว่าง 136 ถึง 140 ครั้งต่อนาที
ต่อมาเวลาประมาณ 11.50 น. ผู้ป่วยถูกรับไว้รักษาที่โรงพยาบาลประจำจังหวัด แต่ยังไม่สามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ทันที ต้องไปรับการประเมินเบื้องต้นที่ห้องคลอดก่อน โดยพยาบาลห้องคลอดซักประวัติ ตรวจภายในพบว่าปากมดลูกเปิด 4 เซนติเมตร และตรวจพบเสียงหัวใจทารกอยู่แต่เต้นช้ามากจึงได้รายงานให้แพทย์เวรทราบแพทย์ได้เริ่มทำการผ่าท้องคลอดเวลาประมาณ 11.30 น. ทารกคลอดเวลาประมาณ 11.38 น. คะแนนวัดการมีชีพ (Agar score)ที่ 1, 5 และ 10 นาที ได้ 0 ทั้งหมด (ไม่มีเสียงหัวใจเต้น ตัวเขียว อ่อนปวกเปียก ไม่หายใจ ) กุมารแพทย์ทำการกู้ชีพเบื้องต้น Apgar score ที่ 13 นาที ได้ 1 (คะแนนเต็ม 10) ได้รับการวินิจฉัยว่าเกิดภาวะขาดออกซิเจนอย่างรุนแรง ( severe birth asphyxia ) จากนั้นทารกได้รับการดูแลต่อโดยกุมารแพทย์อย่างไรก็ตาม ทารกแรกเกิดมีอาการทรุดหนักลงและเสียชีวิตใน 3 วันต่อมา
ประเด็นที่ต้องพิจารณามีว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 ประกอบกับข้อบังคับแพทยสภาว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 ข้อ 15 หรือไม่
ตามประเด็นดังกล่าวมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ของ นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหา เป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือไม่ พิเคราะห์แล้วในปัญหาข้อนี้ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทยให้ความเห็นว่า ผู้ป่วยรายนี้ หลังจากได้รับการวินิจฉัยวา มีภาวะสายสะดือย้อยแล้ว ได้รับการดูแลเบื้องต้นโดยการให้ยกก้นสูง สอดมือเข้าไปในช่องคลอดเพื่อดันส่วนนำของทารกไว้ตลอด ให้อกซิเจน และพิจารณาให้คลอดโดยเร็วที่สุด ซึ่งในรายนี้ปากมดลูกยังเปิดไม่หมด ส่วนนำยังอยู่สูง การผ่าตัดทำคลอดน่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุด ทีมงานที่โรงพยาบาลชุมชนจึงได้ประสานกับโรงพยาบาลที่มีความพร้อมในการผ่าท้องคลอดซึงในระหว่างการส่งต่อ ผู้ป่วยก็ยังได้รับการดูแลเบื้องต้นต่างๆ ดังกล่าวเท่าที่ทำได้ จึงนับว่าเป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรมตามศักยภาพของสถานพยาบาลนั้น กรณีนี้จึงฟังได้ว่าการดูแลรักษาผู้ป่วยรายนี้ของแพทย์ เป็นไปตามมาตรฐานของการประกอบวิชาชีพเวชกรรม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว คณะอนุกรรมการการจริยธรรมฯ มีความเห็นว่า นายแพทย์ผู้ถูกกล่าวหามิได้ประพฤติผิดข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 ประกอบกับข้อบังคับแพทยสภา ว่าด้วยการรักษาจริยธรรมแห่งวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2549 หมวด 4 ข้อ 15 จึงมีมติ คดีไม่มีมูล ยกข้อกล่าวหา คณะอนุกรรมการกลั่นกรองฯ และกรรมการแพทยสภาพิจารณาแล้วมีความเห็นพ้องกับคณะอนุกรรมการจริยธรรมฯ
จากรายงานผู้ป่วยรายนี้เราต้องยอมรับความจริงว่าการทำคลอดในประเทศไทยปีละแปดแสนกว่ารายนั้นส่วนใหญ่ทำโดยพยาบาลผดุงครรภ์ ถ้ามีปัญหาจึงตามแพทย์ ในรายที่มีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันมาก่อน เช่นในรายนี้ สายสะดือย้อยออกมาก่อนที่ศีรษะเด็กจะออกมาทำให้ศีรษะเด็กกดทับบนสายสะดือเป็นผลให้เลือดจากรกไม่สามารถไปยังเด็กได้ เด็กก็จะขาดออกซิเจน ขณะที่ปากมดลูกยังปิดไม่หมดเอาเด็กออกทางช่องคลอดก็ทำไม่ได้ มีอยู่ทางเดียวคือรีบผ่าเอาเด็กออกทางหน้าท้องโรงพยาบาลชุมชนไม่มีวิสัญญีแพทย์ เครื่องมือไม่พร้อม ในอดีตแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชนจะเสี่ยงผ่าเพื่อช่วยชีวิตเด็ก แต่ในปัจจุบันไม่มีแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชนขนาดเล็กกล้าผ่า เพราะถ้าผ่ารอดก็เสมอตัวแต่ถ้าเกิดปัญหา อาจถูกพิพากษาให้ติดคุกเพราะไม่มีวิสัญญีแพทย์และเครื่องมือก็ไม่พร้อมแบบโรงพยาบาลใหญ่ แพทย์ที่ดูแลก็เป็นแพทย์ทั่วไป มิใช่สูติแพทย์ ถ้ามีปัญหาผู้พิพากษาก็จะลงโทษแพทย์ฐานไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญทำไมจึงทำการผ่าตัด ในรายนี้ใช้เวลาติดต่อและส่งผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลจังหวัดในเวลาสิบห้านาทแต่ก็ไม่ทัน การที่มรการฟ้องร้องมากในปัจจุบันเป็นผลเสียต่อผู้ป่วยเอง ทำให้ไม่มีแพทย์คนใดกล้าทำการรักษา ทั้งที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปี พ.ศ. 2550 มาตรา 80 วรรคสองได้เขียนไว้ว่า ผู้มีหน้าที่ให้บริการดังกล่าวซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรฐานวิชาชีพและจริยธรรมย่อมได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย
ในปัจจุบันเมื่อมีเด็กตาย ผู้ป่วยก็จะได้เงินช่วยเหลือเบื้องต้นโดยไม่ต้องพิสูจน์ถูกผิด เมื่อได้เงินผู้ป่วยเกิดความเข้าใจผิดคิดว่าแพทย์ผิด เลยอยากได้เงินมากขึ้นเพราะสามารถฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคได้โดยไม่ต้องวางเงิน ไม่เสียค่าทนายและไม่ต้องหาหลักฐานใดๆ แพทย์ที่ถูกกล่าวหาจะต้องหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าตนไม่ผิดทำให้แพทย์เสียกำลังใจ มีผลกระทบต่อจิตใจแพทย์อย่างมหาศาล กฎหมายที่ออกมาอย่างรวดเร็ว ไม่รอบคอบ ในช่วงปฏิวัติ มองปัญหาด้านเดียว เป็นผลร้ายอย่างยิ่งต่อผู้ป่วยและการแพทย์ในประเทศไทย
จาก หนังสือ เรื่องเล่าจากแพทยสภา
โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เมษายน 2558