ผู้เขียน หัวข้อ: ประเทศไทยรออะไร? เรื่องไขมันทรานส์  (อ่าน 4362 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด

ในแวดวงวิชาการทราบกันดีว่า ไขมันทรานส์เป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งของโรคหัวใจและหลอดเลือด(Cardiovascular disease-CVD) หลายประเทศมีการตื่นตัวรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชนและมีการออกมาตรการต่างๆไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบายหรือด้านกฎหมายเพื่อให้ประชาชนลดการบริโภคไขมันทรานส์ องค์การอนามัยโลกได้วิเคราะห์และนำเสนอให้มาตรการลดไขมันทรานส์เป็นหนึ่งในมาตรการที่คุ้มค่าที่สุด(best buys)ในการลดกลุ่มโรคไม่ติดต่อ( NCD- non communicable diseases) เพราะสามารถทำได้(feasible) ใช้จ่ายไม่มาก(low cost)แต่มีประสิทธิภาพสูง(high effectiveness)

เมื่อเอาผลลัพธ์ที่ประเทศ(หนึ่ง)และเมือง(หนึ่ง)ที่ออกกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์(trans-fat ban)มาลองประมาณดู ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์ เราจะลดการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและโรคหลอดเลือดสมองได้ถึงปีละเกือบสามหมื่นคน( 28,000 คน) และลดการตายได้ 8,000-9,000 คนต่อปี คำถาม คือ แล้วประเทศไทยรออะไรอยู่?


อัตราป่วยและตายจากโรคหัวใจและหลอดเลือด(cardiovascular disease)ของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะโรคหลอดเลือดหัวใจ(coronary heart disease)และโรคหลอดเลือดสมอง(stroke) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้พยายามลดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคนี้ด้วยมาตรการต่างๆ ดังที่เราได้รับรู้จากข่าวที่เผยแพร่ออกมาให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะๆ

(ไขมันทรานส์ คือ อะไร? อาหารประเภทไหนมีไขมันทรานส์ อ่านในลิงค์นี้เลย
https://www.facebook.com/praditc/media_set?set=a.1388761687841802.1073741866.100001239514505&type=3)


ประเทศ(หนึ่ง) ที่กล่าวถึงคือ ประเทศเดนมาร์ก เรื่องไขมันทรานส์ในประเทศนี้ เริ่มต้นในปี ค.ศ.1993 เมื่อมีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่ง(1)ที่พบว่ามีการบริโภคไขมันทรานส์สัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดหัวใจ(coronary heart disease) สภาโภชนาการของประเทศเดนมาร์ก(The Denish Nutrition Council-DNC)ได้ประชุมด่วนในประเด็น”อันตรายของเนยเทียม” (Emergency meeting on margarine hazard)หลังการประชุมมีการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาผลกระทบของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพอย่างจริงจัง ในขณะที่อุตสาหกรรมเนยเทียม ได้ประกาศว่าการผลิตเนยเทียมที่ไม่มีไขมันทรานส์จะมีต้นทุนที่สูงเกินไป

หนึ่งปีต่อมา(ค.ศ.1994) สภาโภชนาการของประเทศเดนมาร์ก (DNC)ได้แถลงผลการศึกษาและได้เสนอให้ปกป้องสุขภาพของประชาชนด้วยการลดไขมันทรานส์ในเนยเทียมซึ่งจะทำให้มั่นใจได้ว่าชาวเดนมาร์กจะบริโภคไขมันทรานส์น้อยกว่า 2 กรัมต่อวัน (บริโภคมากกว่า5กรัมต่อวันเพิ่มความเสี่ยงต่อเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ25%(2)) ซึ่งคราวนี้อุตสาหกรรมเนยเทียมได้ยอมรับที่จะลดไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์(ท่ามกลางความกดดันของสังคม)

รัฐบาลเดนมาร์กจึงได้นำเรื่องการจำกัดไขมันทรานส์เข้าสู่การพิจารณาของสหภาพยุโรป แต่ได้ถูกปฏิเสธในปี ค.ศ.1998 จนในที่สุดรัฐบาลเดนมาร์ก(ผิดหวังจากสหภาพยุโรป)ได้ออกกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์ในประเทศตัวเองซึ่งเป็นประเทศแรกในโลกในปี ค.ศ.2003(บังคับใช้ 1มกราคม ค.ศ.2004) แต่ถูกต่อต้านคัดค้านจากอุตสาหกรรมอาหารของยุโรป หาว่าเป็นการกีดกันทางการค้า(ไขมันทรานส์ของเดนมาร์ก เริ่มต้น 1993 จบที่ 2003)

(กฎหมายจำกัดไขมันทรานส์ของเดนมากร์ก -Denmark's trans fat law ...จำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหาร ไม่เกิน 2 กรัมต่อปริมาณไขมัน100กรัม ทั้งอาหารที่ผลิตในประเทศและอาหารที่ส่งเข้ามาจากต่างประเทศ หากฝ่าฝืน มีบทลงโทษทั้งปรับเป็นเงิน และจำคุกสูงสุดไม่เกิน 2 ปี)

หลังจากกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์ มีผลใช้บังคับ อาหารในเดนมาร์กมีปริมาณไขมันทรานส์ลดลงเหลือหนึ่งในสิบของปริมาณก่อนมีกฎหมาย อัตราตายจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดลดลงอย่างมาก งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่า อัตราตายในช่วงปี ค.ศ.1985-2009 ลดลงถึง 70% ลดลงมากกว่าประเทศอื่นๆ ถึงแม้ว่าอาจลดลงจากปัจจัยหลายอย่าง แต่การจำกัดไขมันทรานส์ถูกชูให้เป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้อัตราตายลดลง(3) งานวิจัยอีกชิ้นพบว่าการจำกัดไขมันทรานส์ของเดนมาร์กลดการตายจากกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ 14.2 คน ต่อประชากรหนึ่งแสนคนต่อปี(4) หรือช่วยชีวิตคนเดนมาร์กได้วันละ 2 คน(ประเทศเดนมาร์กมีประชากร 5 ล้านกว่าคน)

ลองมาคำนวณดูครับ ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์เหมือนประเทศเดนมาร์ก ซึ่งสามารถลดการตายได้ 14.2 คนต่อหนึ่งแสนประชากรต่อปี เอาตัวเลขประชากรไทย 65 ล้านคน ก็เป็น 9,230 คน นั่นคือ ในปีหนึ่งๆ ชาวไทยเก้าพันกว่าคนจะไม่ตายถ้ามีกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์


เมือง(หนึ่ง)ที่กล่าวถึงคือ มหานครนิวยอร์ค สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกาเรื่องไขมันทรานส์ เริ่มต้นที่ 1993 เหมือนประเทศเดนมาร์ก โดยที่แวดวงวิชาการและภาคประชาชนเรียกร้องให้องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA)บังคับให้มีการระบุปริมาณไขมันทรานส์ในผลิตภัณฑ์อาหาร จนถึงปีค.ศ. 2006 องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA) ถึงได้ออกกฎบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานส์ (Mandatory labeling)ในฉลากบอกข้อมูลทางโภชนาการ (Nutrition facts)

ในปีนั้นเองมหานครนิวยอร์คได้ผ่านกฎหมายบังคับให้จำกัดไขมันทรานส์โดยมีผลบังคับในปี 2007 ถือเป็นมหานครแห่งแรกในสหรัฐอเมริกาที่จำกัดไขมันทรานส์ และในปีต่อมา ค.ศ.2008 อาโนลด์ ชวาร์เซเน็กเกอร์ ผู้ว่าการรัฐแคริเฟอร์เนีย ก็ประกาศจำกัดไขมันทรานส์ (the Trans Fat Bill) ในรัฐแคริเฟอร์เนีย(ซึ่งเป็นรัฐที่มีพลเมืองมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา) ถือว่าเป็นรัฐแรกที่จำกัดไขมันทรานส์ มาจบที่ปี ค.ศ.2015 ที่ องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา(FDA)ประกาศให้ไขมันทรานส์เป็นสิ่งที่ไม่ปลอดภัย (no longer generally recognized as safe- GRAS) ให้ยุติการใช้ไขมันทรานส์ในอาหาร มีผลบังคับใช้ในปี 2018(บังคับใช้ทุกเมืองทุกรัฐทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา)

การจำกัดไขมันทรานส์ของมหานครนิวยอร์ค ทำให้เกิดอะไรขึ้นบ้าง? เริ่มที่อาหารมื้อกลางวันของชาวนิวยอร์ค(5)มีปริมาณไขมันทรานส์ลดลงจากเกือบ 3 กรัม(ก่อน Ban) เหลือเพียง0.5 กรัม(หลัง Ban)

ผลงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่ง(6)พบว่าหลังจากการจำกัดไขมันทรานส์ในนิวยอร์ค การเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดของชาวนิวยอร์คลดลง 12 รายต่อหนึ่งแสนประชากรต่อปี ลองมาคำนวณดูครับ ประเทศไทย 65 ล้านคน เราอาจลดการเสียชีวิตได้ถึงปีละ 7,800 คนเลยทีเดียว (ตัวเลขก็ใกล้ๆกับของประเทศเดนมาร์ก)


งานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งซึ่งเพิ่งตีพิมพ์ในปีนี้เอง(7) พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาตัวภายในโรงพยาบาลด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองในพื้นที่ที่มีกฎหมายจำกัดไขมันทรานส์ น้อยกว่าในพื้นที่ที่ไม่ได้จำกัด เป็นจำนวน 43 รายต่อหนึ่งแสนประชากรต่อปี ลองมาคำนวณดูครับ ประเทศไทย 65 ล้านคน เราอาจลดผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมองได้ถึงปีละ 27,950 คน และแน่นอนลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขและการสูญเสียด้านสังคมได้อีกมากมาย


องค์การอนามัยโลก(WHO)ได้แนะนำให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกดำเนินการลดการบริโภคไขมันทรานส์ของประชาชนลงตั้งแต่ปี ค.ศ.2006(10 ปีผ่านมาแล้ว) จากสถิติแล้วกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของประชากรทั่วโลก คือ
17.5 ล้านคนต่อปี(ประมาณ ร้อยละ30 ของการตายทั้งหมด) และ
มากกว่าร้อยละ75 ของการตายนี้เกิดในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง(low- and middle-income countries) และ
ร้อยละ 80 เกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง(8) ซึ่งไขมันทรานส์เป็นสาเหตุสำคัญในกลุ่มโรคนี้
ประเทศที่เจริญแล้วมีรายได้สูง(high income countries) ตายประมาณ 25 %ใน 17.5 ล้านคน และก็เป็นกลุ่มประเทศที่ตื่นตัวเอาจริงเอาจังกับเรื่องไขมันทรานส์มากที่สุด โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรป (ผู้นำในเรื่องนี้คือประเทศเดนมาร์ก)


ธนาคารโลกแบ่งประเทศต่างๆทั่วโลกเป็น 4 กลุ่มโดยใช้รายได้เป็นเกณฑ์
กลุ่มที่มีรายได้สูง(high income economies)
กลุ่มที่มีรายได้ปานกลาง(ค่อนข้างสูง)(upper middle income economies)
กลุ่มที่รายได้ปานกลาง)(lower middle income economies) และ
กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ)(low income economies)

เรื่องการปกป้องคนของประเทศตัวเองจากอันตรายของไขมันทรานส์ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเทศที่ร่ำรวยแล้ว ในกลุ่มประเทศที่ไม่ค่อยร่ำรวยก็มีประเทศอาเจนตินานี่แหละเป็นผู้นำในเรื่องไขมันทรานส์ (ประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มเดียวกับประเทศอาเจนตินาที่มีรายได้ปานกลางค่อนข้างสูง)

ประเทศอาเจนตินา เรื่องไขมันทรานส์ เริ่มที่ ปี ค.ศ. 2004 โดยที่อุตสาหกรรมอาหารของเขาเริ่มลดการใช้ไขมันทรานส์เอง ถือเป็น voluntary reduction อาจเป็นเพราะเขาตระหนักว่า ไขมันทรานส์ที่เขาใส่ลงไปในอาหารที่ขายให้ประชาชนเป็นพิษเป็นภัย เลยคำนึงถึงสุขภาพของประชาชน หรือถูกกดดันโดยสังคมก็ไม่ทราบ แต่ผ่านมาอีก 2 ปี คือในปี ค.ศ.2006 อาเจนตินาก็ออกกฎหมายบังคับให้ระบุปริมาณไขมันทรานส์ในข้อมูลด้านโภชนาการของอาหารถ้ามีไขมันทรานส์มากกว่า 0.2 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค ถ้าน้อยกว่านั้นไม่ต้องระบุ(เข้มข้นกว่าในสหรัฐอเมริกาอีก เพราะในสหรัฐอเมริกาให้ระบุถ้ามากกว่า 0.5 กรัมต่อหนึ่งหน่วยบริโภค)
ในปี 2012 ถึงมีกฎหมายจำกัดปริมาณไขมันทรานส์ในอาหารโดยเริ่มที่น้ำมันพืชและเนยเทียม ห้ามเกิน 2%ของปริมาณไขมันทั้งหมด และจบที่ปี ค.ศ.2015 ที่บังคับใช้ครอบคลุมในอุตสาหกรรมอาหารทั้งหมด ประเทศอื่นๆที่อยู่ใกล้เคียงกับอาเจนตินาก็เริ่มขยับแล้วเรื่องไขมันทรานส์ไม่ว่าจะเป็น บราซิล ชิลี คอสตาริกา หรือ เม็กซิโก


นั่นแสดงว่าไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ร่ำรวยหรือไม่รวย ก็สามารถดูแล ปกป้องประชาชนของตัวเองได้ ถ้าตั้งใจจะทำ ถ้าให้ความสำคัญเรื่องสุขภาพของประชาชนก่อนเรื่องอื่นๆ

ในวันที่ 3 มกราคม ปี ค.ศ.2015 มีการพาดหัวข่าวใน Inter press service(9) ว่า “ชาวอาเจนตินาเฉลิมฉลองปีใหม่ที่ปราศจากไขมันทรานส์ “ ในรูปเป็นอาหารมื้อเช้า (Classic breakfast)ของชาวอาเจนตินาที่มี "Medialunas" ขนมปังคล้ายครัวซองต์ (Croissant)กับกาแฟใส่นม จะต้องไม่มีไขมันทรานส์อีกต่อไปเพราะกฎหมายมีผลบังคับใช้แล้ว(ในบ้านเราอาจเป็นปาท่องโก๋กับกาแฟ) ซึ่งคาดว่าจะรักษาชีวิตชาวอาเจนตินาได้ปีละ 1,500 คนจากโรคหัวใจ และป้องกันไม่ให้เกิดอาการของหลอดเลือดหัวใจตีบตันได้ปีละ 5,000ครั้ง และลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขได้ปีละ 100 ล้านดอลล่าห์สหรัฐ(ประมาณ 3,500 ล้านบาท)


มีหลักฐานทางวิชาการและงานวิจัยมากเกินพอซักอีก( overwhelming evidence base) ถึงผลเสียและอันตรายของไขมันทรานส์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค การละเลยไม่ควบคุมเรื่องไขมันทรานส์เปรียบเหมือนมีระเบิดเวลาในระบบสุขภาพ(10) แล้วใครจะเป็นคนรับผิดชอบต่อชีวิตของผู้คนที่ต้องตายไปจากการละเลยเรื่องนี้(ก็คนที่มีหน้าที่ดูแลสุขภาพของประชาชนนั่นแหละ)

เช่น ในยุโรป 70,000 คนต่อปี จะไม่ตายถ้ามีกฎหมายการควบคุมจำกัดไขมันทรานส์ทั้งภูมิภาคยุโรป แต่สภาสหภาพยุโรปก็ยังไม่มีการออกกฎหมายข้อบังคับในเรื่องไขมันทรานส์เลย ทั้งๆที่มีการนำเรื่องเข้าสู่สภามานาน จนหลายประเทศ(นำด้วยประเทศเดนมาร์ก)ไม่รอสภาสหภาพยุโรปแล้ว ออกกฎหมายดูแลประชาชนของประเทศตัวเอง มีการกล่าวกันว่าเหตุผลสำคัญที่เรื่องไขมันทรานส์ไม่ขยับในระดับบนของสหภาพยุโรป คือ อำนาจของการวิ่งเต้น (the power of lobbies in Europe)


แล้วประเทศไทย รออะไร?

เอกสารอ้างอิง

(1) Intake of trans fatty acids and risk of coronary heart disease among women. Lancet. 1993 Mar 6;341(8845):581-5.

(2) Association between trans fatty acid intake and 10-year risk of coronary heart disease in the Zutphen Elderly Study; a prospective population-based study. Lancet. 2001 Mar 10;357(9258):746-51

(3) Ritzau: Danish first place: Fewer die of cardiovascular disease…Dansk førsteplads: Færre dør af hjertesygdomme (Sundhed 05.05.2014)

(4) Denmark’s Policy on Artificial Trans Fat and Cardiovascular Disease.Am J Prev Med. 2016 Jan;50(1):69-76

(5) Change in trans fatty acid content of fast-food purchases associated with New York City's restaurant regulation: a pre-post study. Ann Intern Med. 2012 Jul 17;157(2):81-6

(6) Trans Fat and Cardiovascular Disease Mortality:Evidence from Bans in Restaurants in New York. EUI Working Paper MWP 2014/12

(7) Hospital Admissions for Myocardial Infarction and Stroke Before and After the Trans-Fatty Acid Restrictions in New York. JAMA Cardiol. April 12, 2017.

(8) WHO Fact sheet. Cardiovascular diseases (CVDs). http://www.who.int/mediacentre/factsheets/fs317/en/

(9) Argentina Celebrates New Year Free of Trans Fats.http://www.ipsnews.net/2015/01/argentina-celebrates-new-year-free-of-trans-fats/

(10) Trans-fats: health time bomb by regulatory omission. http://www.euroscientist.com/transfats-health-time-bomb-by-regulatory-omission/

จาก
https://www.facebook.com/praditc/media_set?set=a.1515894505128519.1073741869.100001239514505&type=3&pnref=story
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 26 กรกฎาคม 2017, 01:29:54 โดย story »