ผู้เขียน หัวข้อ: ครม.ไม่อนุมัติ 10,992 อัตราข้าราชการพยาบาลใหม่ให้ สธ. แนะนำตำแหน่งว่างมาบริหาร  (อ่าน 5447 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ครม.มีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้ สธ.ตามมติ คปร. เพิ่มอัตราข้าราชการพยาบาลวิชาชีพ 450 อัตราเพื่อบรรจุ โครงการผลิตพยาบาลเพื่อจังหวัดชายแดน ให้ รพ.สต.พื้นที่ชายแดน ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการพยาบาลวิชาชีพตั้งใหม่ 10,992 อัตรา ให้ สธ.สธ.นำตำแหน่งว่างมาบริหารรองรับบรรจุพยาบาลตามจำเป็น ให้ สธ.ปรับการทำงานให้พยาบาลวิชาชีพทำภารกิจเฉพาะที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ



เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมได้มีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับกระทรวงสาธารณสุขตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 30 มีนาคม 2560 ตามที่สำนักงาน กพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการร่วมคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐเสนอ และให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐดังกล่าวให้ถูกต้องครบถ้วน รวมทั้งรับความเห็นของสำนักงาน ก.พ. ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

คปร.ในการประชุมครั้งที่ 1/2560 เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2560 ได้พิจารณาเรื่อง การเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) แล้ว มีมติอนุมัติโดยมีเงื่อนไขให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ดำเนินการ ดังนี้

1. อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพให้กับ สป.สธ. เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากรพยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่ารวม 450 อัตรา ทั้งนี้ ให้คณะอนุกรรมการสามัญประจำกระทรวงสาธารณสุข (อ.ก.พ.สธ.) กำหนดอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ ปีละ 50 อัตรา ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560-2568 เป็นระยะเวลา 9 ปี และให้ สป.สธ. พิจารณาจัดสรรตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพดังกล่าวให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ในพื้นที่ชายแดน และให้กำหนดเป็นตำแหน่งที่ต้องตรึงไว้เป็นการประจำในพื้นที่โดยมิให้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งเป็นสายงานอื่น และไม่ให้ สธ. ขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพจนกว่าจะสิ้นสุดปีงบประมาณ พ.ศ. 2568

2. ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้ สป.สธ.นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น

3. ให้ สธ.ปรับปรุงการทำงานในโรงพยาบาลให้มีลักษณะการผสมผสานทักษะความชำนาญงานเฉพาะด้าน เพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งปรับลดหรือทบทวนให้พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติเฉพาะภารกิจที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลได้ปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อผู้รับบริการ

4. ให้ สธ. พิจารณาการจ้างพนักงานราชการหรือใช้วิธีการจ้างพนักงานจากภายนอกองค์กร (Outsource) เพื่อทดแทนการบรรจุเป็นข้าราชการ ในภารกิจที่มีความจำเป็นต้องใช้บุคลากรเพิ่มเติม

5. ให้ สป.สธ. รายงานผลการดำเนินการตามข้อ 1 และข้อ 3 ให้ คปร.ทราบภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ อ.ก.พ. กระทรวงสาธารณสุขมีมติอนุมัติการกำหนดตำแหน่งอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพในแต่ละปี

แหล่งที่มา เว็บไซต์รัฐบาลไทย

Wed, 2017-05-10
https://www.hfocus.org/content/2017/05/13891

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เครือข่ายพยาบาลลูกจ้าง สธ.รณรงค์ชวนพยาบาลเปลี่ยนภาพโปรไฟล์ “ขอบคุณรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของพยาบาล” หลัง ครม.มีมติตามมติ คปร.ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาล 10,992 อัตราตามที่ สป.สธ.เสนอ

เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2560 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติตามมติของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) ในการประชุม ครั้งที่ 1/2560 วันที่ 30 มีนาคม 2560 ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น (ดูข่าว ที่นี่)

ล่าสุด เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข ได้รณรงค์ผ่าน Facebook/ Nurse Team Thailand ซึ่งมียอดกดไลค์กว่า 70,000 ไลค์ ระบุว่า “ขอเชิญชวนพยาบาลทุกท่านร่วมเปลี่ยนภาพ profile เพื่อแสดงจุดยืน กรณีรัฐบาลไม่อนุมัติตำแหน่งใหม่ให้พยาบาล 10992 อัตรา รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของพยาบาล=รัฐบาลทิ้งประชาชน”

ทั้งนี้ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวฯ ระบุว่า จากมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว ผลกระทบต่อวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั้งหมด เพราะจำนวนพยาบาลปัจจุบันมีตำแหน่งเป็นแค่ลูกจ้างชั่วคราวนั่นเอง ดังนั้นการที่ไม่มีการบรรจุ แต่ให้ใช้ตำแหน่งเดิมที่ไม่เพียงพอกับการบรรจุเป็นพยาบาลวิชาชีพได้ ส่งผลให้พยาบาลที่ยังไม่ได้รับการบรรจุมีแนวโน้มที่จะลาออกไปอยู่ในภาคเอกชนบริการที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแน่นอน

Wed, 2017-05-10
https://www.hfocus.org/content/2017/05/13894

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด


“พยาบาลวิชาชีพ” ฉุนรัฐบาลไม่เห็นความสำคัญ ไม่ยอมอนุมัติบรรจุเป็นข้าราชการ 1 หมื่นกว่าตำแหน่ง ประกาศรณรงค์พยาบาลทั่วประเทศซึ่งมีสถานะเป็นเพียง “ลูกจ้างชั่วคราว” นับหมื่นคน ลาออกพร้อมกัน 30 กันยายนนี้

วันที่ 11 พ.ค.2560 จากกรณีที่การประชุม ครม. ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม โดยมีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992  อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่ และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคต มาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็นนั้น

เครือข่ายพยบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ได้ประกาศเชิญชวนพยาบาลทุกคนร่วมเปลี่ยน  ภาพโปรไฟล์เพื่อแสดงจุดยืน กรณีรัฐบาลไม่อนุมัติตำแหน่งใหม่ให้พยาบาล 10,992 อัตรา พร้อมระบุว่า รัฐบาลไม่เห็นความสำคัญของพยาบาล เท่ากับรัฐบาลทิ้งประชาชน โดยมีข้อความว่า “ไม่บรรจุ ลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560” และ “ขอบคุณรัฐบาล ที่ไม่เห็นความสำคัญของพยาบาล 30 ก.ย. 2560 ลาออกทั้งประเทศ”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุม ครม. เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ประชุมมีมติอนุมัติการเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ให้กับกระทรวงสาธารณสุข โดยมีเงื่อนไขให้ดำเนินการ ข้อสำคัญก็คือ

ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น

และให้กระทรวงสาธารณสุข ปรับปรุงการทำงานในโรงพยาบาลให้มีลักษณะการผสมผสาน ทักษะความชำนาญงานเฉพาะด้าน เพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งปรับ ลดหรือทบทวนให้พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติเฉพาะภารกิจที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลได้ปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและเกิดผลดีต่อผู้รับบริการ

และให้กระทรวงสาธารณสุข พิจารณาการจ้างพนักงานราชการ หรือใช้วิธีการจ้างพนักงานจากภายนอกองค์กร (Outsource) เพื่อทดแทนการบรรจุเป็นข้าราชการ ในภารกิจที่จำเป็นต้องใช้บุคลากรเพิ่มเติม เป็นที่มาของการประกาศท้วงของพยาบาลทั่วประเทศ

 

ที่มา : http://news.sanook.com/2217058/
11พค2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ชัดนะประหยัดงบฯไม่บรรจุพยาบาลนับหมื่น
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2017, 12:03:34 »
“วิษณุ”แจงไม่บรรจุพยาบาลเพิ่ม นอกจากประหยัดงบฯ อดีตผ่อนผันเพิ่มจำนวนหลายอัตราแล้ว อยู่ที่สธ.จัดสรร ขอให้อ่านคำแจงก.พ.ชัดเจนหมดแล้ว

เมื่อเวลา 11.30 น.วันที่ 11 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์กรณีพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวขู่ลาออก หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เมื่อวันที่ 9 พ.ค.ไม่อนุมัติพยาบาล 10,992 อัตราเข้าบรรจุเข้ารับราชการว่า ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราการพลเรือน(ก.พ.)จะชี้แจงหรืออาจจะชี้แจงไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบหลายครั้ง ได้ผ่อนให้ไปจำนวนมากแล้วหลายอัตราแล้ว ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุขจะเอาอัตราเหล่านั้นไปจัดสรรอย่างไร ซึ่งบางคนอาจสมประโยชน์ และไม่สมประโยชน์ เป็นเรื่องของทางกระทรวง แต่สิ่งที่ก.พ.ออกคำชี้แจงไปถือว่าชัดเจนแล้ว อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน

เมื่อถามว่า เหตุผลที่ไม่เปิดบรรจุเนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดินใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มันมีอะไรมากกว่านั้น ถ้าจะตอบว่าไม่จริง ไม่เกี่ยวกับการประหยัดก็คงไม่ใช่ เพราะต้องประหยัด แต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ ยังมีอีกหลายเหตุ เพราะถ้าเอาตามอัตราที่แต่ละกระทรวงเรียกร้องให้บรรจุ ก็ต้องเพิ่มอัตรกำลังอีกเป็นแสนคน ในขณะที่วันนี้ข้าราชการทั่วประเทศ ตลอด 10-20 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาลนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทำปฏิรูประบบราชการในปี 44-45 สามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ประมาณ 4 แสนคน ถือว่าน่าพอใจ หากจะเอาตามที่แต่ละกระทรวงให้เพิ่มคนก็จะเพิ่มไปอีกประมาณ 1 แสนคน เมื่อถามว่า จะมีผลกระทบหรือไม่ เมื่อพยายาลกลุ่มนี้ขู่ลาออกหากไม่ได้รับการบรรจุ นายวิษณุ กล่าวว่า ขอให้ฟังคำชี้แจงของก.พ.มีอะไรก็ให้ทางกระทรวงเจรจาบอกความจำเป็น แต่อัตราที่ก.พ.ให้ไปก็เป็นจำนวนหมื่นแล้ว

วันพฤหัสบดี ที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
บ้านเมือง

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“บิ๊กตู่”ลั่นให้ความสำคัญวิชาชีพพยาบาล บรรจุเข้าราชการต้องเป็นไปตามแผนปฏิรูปกำลังพล 5-10 ปี แนะดูอัตราเกษียณอายุ ก่อนพิจารณาตั้งใหม่ วอนอย่าเดินขบวน หวั่นเข้าทางการเมือง "วิษณุ"เผยมีทางออกในใจแล้วรอผลสธ.-ก.พ.ก่อน

เมื่อเวลา 15.00 น.วันที่ 15 พ.ค.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงกรณีพยาบาลวิชาชีพขู่จะลาออกหากรัฐบาลไม่บรรจุให้เป็นข้าราชการว่า กำลังพิจาณาอยู่ ตนเข้าใจและให้ความสำคัญ ประเด็นการปฏิรูปทั้งระบบบุคลากรเป็นกำลังสำคัญ ซึ่งต้องดูว่าขาดแคลนเท่าไหร่ และประเมินล่วงหน้า 5-10 ปี ตามแผนการปฏิรูประบบสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล โดยคนเหล่านี้จะต้องเป็นพนักงานลูกจ้างชั่วคราวไปก่อน ทั้งนี้การเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)จะต้องมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่ใช่ว่าจะพูดว่าตนจะให้หรือไม่ให้ แต่ได้ให้ไปทำรายละเอียดเพื่อส่งเข้ามา พร้อมบอกไปว่าการบรรจุข้าราชการต้องดูอัตราการเกษียณอายุ ซึ่งมีหลายระดับหรือหลายซี บางอัตราต้องลดลงในส่วนที่ไม่ใช่แพทย์ พยาบาล เพื่อที่จะเปิดบรรจุในระดับที่ต่ำว่า เช่น ซีใหญ่ๆเกษียณไปหนึ่งคน ก็สามารถบรรจุระดับซีที่น้อยกว่าได้ 3-4 คน ส่วนที่เหลือก็ให้เปิดรับลูกจ้างในส่วนที่ขาด

“ต้องค่อยๆไต่ ไล่ขึ้นมาแบบนี้ ไม่ใช่ของเก่าก็เต็มแล้วเพิ่มของใหม่ไปอีกเรื่อยๆ แต่ต้องมี 3 อย่างคือข้าราชการในระบบ ข้าราชการเกษียณอายุ และที่ต้องปรับทดแทน แต่ไม่ใช่ว่าเกษียณเท่าไหร่จะตั้งใหม่เท่านั้น แต่ต้องหาวิธีลดการบรรจุ ไม่ได้หมายความว่าไม่บรรจุเลย แต่ให้ลดระดับซีใหญ่เป็นซีเล็ก ก็จะเป็นไปเวียนเข้ามา ระบบการแต่งตั้งต้องเป็นแบบนี้ และเวลานี้กระทรวงสาธารณสุขกำลังพิจารณาว่าจะเฉลี่ยอย่างไร แต่ที่นำเรื่องเข้า ครม.ในวันนั้น คือขอเปิดอัตราคราวเดียว 3 ปี ปีละ 3 พัน ซึ่งหากลดได้ จะดีกว่าหรือไม่ ผมคิดว่าส่วนนี้สำคัญ ผมให้เป็นพิเศษ จะไม่ให้ได้อย่างไร แต่ต้องให้แบบมีหลักเกณฑ์ตามกติกาของทุกกระทรวง โดยทุกกระทรวงต้องเอาคนที่ค้างการบรรจุใส่ไปก่อน ถ้าไม่พอจะเปิดรับอย่างไรก็ว่ามา นโยบายการบริหารกำลังพลต้องเป็นแบบนี้ ผมให้นโยบายกว้างๆไปแล้ว อย่ามาเดินขบวนเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไรทั้งสิ้น บรรจุไดก็บรรจุได้ ก็ต้องหาทางกัน ไม่ใช่ไม่สำคัญ แหม่ จริงๆวะ สำคัญทุกเรื่อง ชีวิตคนไม่สำคัญได้อย่างไร ฉะนั้นอย่ามาหากินกับการเมืองกันในวันนี้ ไม่เอา ไปเข้าทางคนอีก ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

เมื่อถามว่าที่พูดถึงการเข้าทางการเมืองนั้น หมายถึง น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ไม่ใช่หรือที่ออกมาวิจารณ์เรื่องดังกล่าว นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ใครก็ไม่รู้ จะไปรู้จักหรือไม่ ใครก็ไม่รู้จักสักคน แต่กำลังพูดถึงการทำงาน อย่าเอาคนมาพูด ไม่ขอพูดด้วย รัฐบาลต้องพูดด้วยหลักการ


"วิษณุ"เผยมีทางออกในใจแล้วรอผลสธ.-ก.พ.ก่อน
 
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ช่วงบ่ายวันเดียวกัน ถึงข้อเรียกร้องของกลุ่มพยาบาลที่ต้องการให้บรรจุเป็นข้าราชการว่า การประชุมครั้งนี้จะมีโอกาสพบกับเลขาธิการก.พ. คงได้มีการพูดคุยกันถึงผลการหารือระหว่างก.พ. ก.พ.ร.และกระทรวงสาธารณสุขว่าเป็นอย่างไร ได้ข้อสรุปหรือไม่ หากได้ข้อสรุปหน่วยงานเหล่านั้นคงได้หารือกับตนในวันนี้เลย แต่หากยังไม่ได้ข้อสรุป เบื้องต้นได้นัดหน่วยงานดังกล่าวมาหารือหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 16 พ.ค. ทั้งนี้

"ผมจะไม่เป็นคนไปพูดคุยกับกลุ่มพยาบาลวิชาชีพ แต่จะให้เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนตัวมีทางออกอยู่ในใจแล้ว พยายามคิดว่า ทำอย่างไร ที่จะแก้ปัญหานี้ให้ได้อย่างยั่งยืน และคิดว่าคงไม่งดงามนักที่จะมาขู่กันแบบนี้ ยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาจริง และเป็นมาทุกยุคทุกสมัย"นายวิษณุ กล่าว

วันจันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2560
บ้านเมือง

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
นางพิลัยวรรณ์ แก้วมนตรี พยาบาลวิชาชีพที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเรียบร้อยแล้ว แสดงความเป็นห่วงถึงเรื่องที่เกิดขึ้น หากไม่เร่งพิจารณาการบรรจุเป็นข้าราชการให้กับพยาบาลวิชาชีพรุ่นน้อง ก็อาจเกิดภาวะสมองไหล เพราะปัจจุบันโรงพยาบาลเอกชนให้ค่าตอบแทนมากกว่าโรงพยาบาลรัฐ 2 ถึง 3 เท่า ท่ามกลางภาระงานดูแลผู้ป่วยที่ไม่หนาแน่นเท่ากับโรงพยาบาลรัฐ จึงต้องการให้รัฐบาลทบทวนมติคณะรัฐมนตรีที่ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 10,992 อัตรา เพราะตอนนี้พยาบาลรุ่นน้องต่างอยู่ในภาวะท้อแท้สิ้นหวัง

ส่วนสาเหตุที่คณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติการบรรจุตำแหน่งครั้งนี้ สำนักงานข้าราชการพลเรือนออกแถลงการณ์ชี้แจงว่า แม้กระทรวงสาธารณสุขจะส่งคำขอบรรจุจำนวน 10,922 อัตรา มาเป็นช่วงเวลา 3 ปี ระหว่าง 2560 – 2562 โดยตามแผนจะบรรจุปีละ 3,664 อัตรา ไม่ใช่การบรรจุครั้งเดียว แต่หากพิจารณาภาพรวมพบว่า ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุขมีสัดส่วนรายจ่ายงบประมาณบุคคลถึงร้อยละ 72.81 ของงบประมาณรายจ่ายต่อปีทั้งหมด อีกทั้งสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขยังมีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่ถึง 11,213 อัตรา สำนักงานข้าราชการพลเรือนจึงเห็นว่า ควรใช่อัตราว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยนำมาบรรจุให้กับตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ แทนที่การขออนุมัติอัตราใหม่


นอกจากนี้สัดส่วนพยาบาลของไทยต่อการดูแลผู้ป่วย ก็อยู่ในเกณฑ์ขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดให้พยาบาลวิชาชีพ 20 คน ดูแลประชากร 10,000 คน ซึ่งจำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยมีสัดส่วนอยู่ 21.4 คน ต่อประชากร 10,000 คน


นอกจากนี้สำนักงานข้าราชการพลเรือน ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีอัตรากำลังในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพอยู่ทั้งหมด 105,260 อัตรา  สถานะแบ่งเป็นข้าราชการที่ได้รับการบรรจุแล้ว 90,574 อัตรา พนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราวที่ยังไม่ได้บรรจุเป็นข้าราชการรวมกันอยู่กว่าหมื่นอัตรา

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 11 พ.ค. สำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เผยแพร่เอกสารข่าวชี้แจงกรณีที่คณะรัฐมนตรีมีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ให้กับสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) ว่า คำขอของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ขอให้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) จัดสรรอัตรากำลัง 2 ส่วน รวม 11,442 อัตรา

ส่วนแรกขออัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ แบ่งบรรจุเป็นระยะเวลา 3 ปี ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2562 ปีละ 3,664 อัตรา รวม 10,992 อัตรา

ส่วนที่สองขอเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ สำหรับจัดสรรให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ชายแดน เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากร พยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า ปีละ 50 อัตรา เป็นระยะเวลา 9 ปี ช่วงปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2568 รวม 450 อัตรา

คปร.เห็นควรเพิ่มอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ สำหรับจัดสรรให้กับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลในพื้นที่ชายแดน เพื่อบรรจุผู้สำเร็จการศึกษาจากโครงการผลิตบุคลากร พยาบาลเพื่อพัฒนาสุขภาพประชาชนในจังหวัดชายแดนตามรอยสมเด็จย่า เป็นระยะเวลา 9 ปีงบประมาณ พ.ศ.2560-2568 รวม 450 อัตรา แต่ไม่เห็นควรจัดสรรอัตราตั้งใหม่จำนวน 10,992 อัตรา เนื่องจากสป.สธ. มีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่เป็นจำนวนมาก ถึงวันที่ 3 มี.ค. ที่ผ่านมา จำนวน 11,213 อัตรา หรือ ร้อยละ 5.8 ของกรอบอัตรากาลังข้าราชการทั้งหมด จำนวน 192,960 อัตรา

จึงเสนอให้สป.สธ อาจใช้ตำแหน่งว่างไปกำหนดเป็นตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพได้ตามความจำเป็น และควรบริหารจัดการอัตราว่างให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้เกิดความคุ้มค่า ไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณด้านบุคคลภาครัฐ เพราะปัจจุบันสป.สธ. มีสัดส่วนงบบุคลากร เมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายทั้งหมดที่ร้อยละ 72.81

ทั้งนี้ ให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงการทำงานในโรงพยาบาลให้มีลักษณะการผสมผสานทักษะ ความชำนาญงานเฉพาะด้าน เพื่อให้บุคลากรในโรงพยาบาลทำหน้าที่สนับสนุนการทำงานร่วมกับพยาบาลวิชาชีพ รวมทั้งปรับลดหรือทบทวนให้พยาบาลวิชาชีพทำเฉพาะภารกิจที่ต้องใช้พยาบาลวิชาชีพ เพื่อให้พยาบาลวิชาชีพในโรงพยาบาลได้ปฏิบัติงานการพยาบาลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม

นอกจากนี้ คปร. ยังพิจารณาสัดส่วนในการให้บริการประชาชนพบว่า จำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยมี จำนวนสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลก ซึ่งเกณฑ์ขั้นต่ำควรมีพยาบาลวิชาชีพอย่างน้อย 20 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ปัจจุบันมี 21.4 คน ต่อ ประชากร 10,000 คน ทั้งนี้ ข้อมูลดังกล่าวไม่รวมถึงจำนวนพยาบาลวิชาชีพที่เป็นพนักงานราชการ พนักงาน กระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว

11 พฤษภาคม 2560
ข่าวสด

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จากกรณีที่ ครม.มีมติ ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการ พยาบาลจำนวน 10,992 อัตรา ซึ่งทำให้เกิดกระแสการคัดค้าน โดย เพจ Nurse team thailand ได้ประกาศผ่านเพจว่า “ไม่บรรจุ ลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560” จนเกิดกระแสติดแฮชแทก #Nurse team thailand และกลุ่มพยาบาลออกมารณรงค์เคลื่อนไหวเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กเพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน

ทั้งนี้ ในวันนี้ (11 พ.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข มีการเรียกประชุมเรื่องนี้ด่วน โดย นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม ว่า นายกรัฐมนตรีมีความเป็นห่วงในเรื่องนี้มาก พอมติ ครม.ออกมา ท่านก็ส่งโน้ตแสดงความเป็นห่วงให้กับตนทันที ตนก็เรียนท่านนายกฯ ว่าจะมาปรับระบบบริหารอัตรากำลังให้ดีที่สุด ใช้อัตราว่างที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ซึ่งขณะนี้มีอัตราว่างอยู่ 10,000 กว่าตำแหน่ง จริงๆ แล้วดูเหมือนเยอะ แต่ สธ.มีบุคลากรอยู่ประมาณ 4 แสนคน ซึ่ง 10,000 จาก 4 แสนคือประมาณ 5% เท่านั้น คปร.จึงเห็นว่า สธ.น่าจะนำมาบริหารอัตราว่างให้เหลือน้อยที่สุด ซึ่งอัตรานี้ไม่ใช่แค่พยาบาลอย่างเดียว แต่รวมถึงเจ้าหน้าที่ทั้งหมด ทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร วิชาชีพสาธารณสุขทั้งหมด

“สธ.คงต้องหารือและทำความเข้าใจกับ คปร.และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ว่ายังขาดอัตรากำลังพยาบาลแน่ๆ และจะเรียนรองนายกรัฐมนตรี นายวิษณุ เครืองาม ขอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ. คปร. ก.พ. และหน่วยงานกลางอย่างมหาวิทยาลัย มาศึกษาเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสมในการบรรจุพยาบาล ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ข้าราชการเท่านั้น ยังรวมถึงพนักงานราชการก็ต้องให้มีความก้าวหน้าด้วย อย่างไรก็ตาม ตำแหน่งที่มีจะใช้บรรจุพยาบาลมากสุดเท่าที่ทำได้ คือไม่ได้แย่กว่าเดิมจากการบรรจุของทุกปีที่ผ่านมาแน่นอน ทั้งนี้ พยาบาลอยู่คู่กับโรงพยาบาลอยู่แล้ว และทราบว่าภาระหน้าที่หนักแค่ไหน ขออย่าเพิ่งเสียกำลังใจ เพราะก็อยู่กันมานานแล้ว และย้ำว่านายกฯ ครม. และ สธ.ต่างให้ความสำคัญกับพยาบาล” นพ.ปิยะสกล กล่าว

โดย นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดสธ. กล่าวว่า ปัจจุบันจำนวนพยาบาลในกระทรวงฯ มี 100,855 คน เป็นข้าราชการ 87,252 คน เป็นพนักงานราชการ 260 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน ทั้งนี้ ปี 2559 บรรจุไปแล้ว 1,700 ตำแหน่ง และในปี 2560 มีจำนวนที่คำนวณตำแหน่งว่างแล้ว 2,621 ตำแหน่ง โดยมี 1,200 ตำแหน่งจะได้บรรจุภายใน 1-2 เดือน ซึ่งได้กระจายให้เขตตรวจราชดำเนินการแล้ว และอีก 600 ตำแหน่งได้บรรจุภายในเดือนกันยายน 2560 ขณะเดียวกันในเดือนตุลาคมจะมีพยาบาลเกษียณอายุราชการอีก 800 ตำแหน่ง ซึ่งก็จะว่างและสามารถบรรจุเพิ่มได้อีก

11 พฤษภาคม 2560
ข่าวสด

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
‘พยาบาลลูกจ้าง’ฮือทวงอัตรา อีกโจทย์ใหญ่สธ.
« ตอบกลับ #8 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2017, 12:12:06 »
หากยังจำกันได้ปัญหาการบรรจุตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ยิ่งในตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพแล้วก็เคยเกิดปัญหาการรอบรรจุมาตลอด

ล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2560 โดยส่วนหนึ่งระบุว่า ไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัด สธ.นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการ เพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น ส่งผลให้เครือข่ายพยาบาลสังกัด สธ.โดยเฉพาะเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ไม่พอใจอย่างมากและออกมาเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ อาทิ การเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ในเฟซบุ๊กเป็นรูปโบสีดำพร้อมข้อความ คืนความสุขให้พยาบาล และ ไม่บรรจุลาออกยกกระทรวง 30 กันยายน 2560

กระทั่ง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ.ต้องเรียกประชุมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ. ในฐานะผู้ดูแลเรื่องอัตรากำลัง และผู้แทนจากสภาการพยาบาล คือ นางกฤษดา แสวงดี อุปนายกสภาการพยาบาล คนที่ 2 และได้ข้อสรุปว่าจะขอเข้าหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในสัปดาห์หน้า เพื่อขอตั้งคณะทำงานร่วมระหว่าง สธ., ก.พ., คปร. และหน่วยงานกลางอย่างมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาเรื่องอัตรากำลังที่เหมาะสมในทุกวิชาชีพ แต่เบื้องต้นจะเน้นเรื่องพยาบาลวิชาชีพก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไร และขอให้พยาบาลทุกคนอย่าเพิ่งท้อใจ เพราะนายกรัฐมนตรี และผู้บริหาร สธ.เข้าใจ และอยู่ระหว่างดำเนินการหาทางออกเรื่องนี้

อย่างไรก็ตาม จากการพูดคุยกับบุคคลในแวดวงสาธารณสุข ต่างวิพากษ์วิจารณ์ถึงกรณีมติ ครม.ครั้งนี้ว่าเป็นเพราะสาเหตุใด ซึ่งอาจเป็นเพราะคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ (คปร.) และคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คงมองว่า สธ.ขอตำแหน่งแทบทุกปี แม้ตัวเลข 10,922 อัตรา จะเป็นตำแหน่งรวม 3 ปี เฉลี่ยปีละประมาณ 3,000 กว่าอัตราก็ตาม แต่ด้วยตัวเลขหมื่นกว่าอัตรา ขณะที่กระทรวงอื่นอาจขออัตราตำแหน่งหลักร้อยหรือหลักพันเท่านั้น แต่บริบทต่างกัน นั่นเพราะ สธ.มีบุคลากรกว่า 4 แสนคน

พยาบาลวิชาชีพ ซึ่งถือเป็นบุคลากรสาธารณสุขที่ขาดไม่ได้อีกวิชาชีพหนึ่งในโรงพยาบาล มีภาระงานหนัก เมื่อเทียบกับประชาชนที่เข้ารับบริการในโรงพยาบาลจำนวนมหาศาล ขณะที่บุคลากรทางการแพทย์ทุกวิชาชีพ รวมทั้งพยาบาลกลับไม่เพิ่ม ส่งผลต่อภาระงานมากมาย ซึ่งจุดนี้หลายคนก็ยังคาดเดากันไปต่างๆ นานาว่า อาจเกิดความไม่เข้าใจ และพยายามเรียกร้องให้ผู้บริหาร สธ.ช่วยเหลือ

น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ โรงพยาบาล (รพ.) ร้อยเอ็ด ผู้ประสานงานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ประจำภาคอีสาน บอกว่า พยาบาลที่ยังเป็นลูกจ้างชั่วคราวรอบรรจุตำแหน่งข้าราชการมาตลอด เมื่อ ครม.มีมติเช่นนี้จึงทำให้หมดหวัง และน้อยใจว่านายกฯไม่เห็นความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานด้านสาธารณสุขเลย อย่างไรก็ตาม หากจะพูดถึงปัญหา โดยเปรียบเทียบระหว่างพยาบาลที่ได้รับการบรรจุและที่เป็นลูกจ้างชั่วคราวนั้น จะพบว่าพยาบาลที่ได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการจะมีการปรับเงินเดือน 2 ครั้ง/ปี ครั้งละ 800-1,000 บาท ส่วนลูกจ้างชั่วคราวมีการปรับ 1 ครั้ง/ปี ขึ้นเพียงครั้งละ 500 บาทเท่านั้น

โดยเงินเดือนเริ่มต้นของพยาบาลที่บรรจุเป็นข้าราชการนั้นเดือนละ 15,000 บาท และลูกจ้างชั่วคราวได้เงินเดือนแรกเข้าประมาณ 13,000 บาท/เดือน

ส่วนค่าเวรหากมีการทำล่วงเวลามากกว่า 22 วัน/เดือน จะได้ค่าตอบแทนวันละ 600 บาท ซึ่งก็จะไม่เกิน 3 วัน เท่ากับจะได้ประมาณ 1,800 บาท และค่าเข้าเวรกลางคืนจะได้วันละ 240 บาท ซึ่งจะได้เข้าประมาณ 10 วัน/เดือน ก็จะได้ประมาณ 2,400 บาท เฉลี่ยแต่ละเดือนจะได้เพิ่มแค่ประมาณ 4,200 บาท ทั้งนี้ก็ไม่แน่นอน จะได้เพียงบาง รพ.เท่านั้น เพราะเงินที่นำมาจ้างเอามาจากเงินสนับสนุนค่าเครื่องมือแพทย์

”จากปัญหาดังกล่าว ทำให้ลูกจ้างชั่วคราวของ รพ.รัฐลาออกไปมาก เกิดภาระงานที่หนักกับคนที่ยังปฏิบัติงานอยู่ เพราะต้องรับผิดชอบดูแลคนป่วยมากขึ้น” น.ส.รุ่งทิวากล่าวทิ้งท้าย

ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานปลัด สธ.ระบุว่า ปัจจุบันมีจำนวน 100,855 คน เป็นข้าราชการแล้ว 87,252 คน เป็นพนักงานราชการ 260 คน และพนักงานกระทรวงสาธารณสุข 6,538 คน และลูกจ้างชั่วคราว 6,805 คน

ดังนั้น ยังขาดตำแหน่งอีกกว่าหมื่นตำแหน่งที่รอการบรรจุเป็นข้าราชการ

เรื่องนี้ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัด สธ.ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันตำแหน่งพยาบาลที่บรรจุเป็นข้าราชการแล้วมี 87,252 ตำแหน่ง แต่เมื่อมีการวิเคราะห์และคำนวณตาม FTE (Full Time Equivalent) ซึ่งเป็นหน่วยนับอัตรากำลังการทำงานของ สธ.จะพบว่า จำเป็นต้องมีพยาบาลที่ต้องได้รับการบรรจุอีกราว 9,800-10,000 ตำแหน่ง ซึ่งการคำนวณยึดตามระเบียบ ก.พ. ดังนั้น เมื่อคำนวณแล้วพยาบาลที่ต้องได้รับการบรรจุของ สธ. และจะเพียงพอต่อระบบการบริการต้องอยู่ที่ประมาณ 100,000 ตำแหน่ง ขณะนี้จึงยังขาดอีกราวหมื่นตำแหน่ง

ดังนั้น เมื่อเสนอขอเพิ่มตำแหน่งพยาบาลอีกกว่าหมื่นตำแหน่งในกรอบระยะเวลา 3 ปีต่อ ครม.หากได้ตามนั้น รวมทั้งประสิทธิภาพการจัดการตำแหน่งว่างของ สธ.แล้ว จึงเชื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาพยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอในระบบได้ และในปี 2564 ก็อาจไม่ต้องขอตำแหน่งในส่วนนี้เพิ่มเติมอีก

แต่ไม่เห็นควรจัดสรรอัตราตั้งใหม่จำนวน 10,992 อัตรา เนื่องจาก สป.สธ.มีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่เป็นจำนวนมาก มีตำแหน่งว่าง ณ วันที่ 3 มีนาคม 2560 จำนวน 11,213 อัตรา หรือร้อยละ 5.8 ของกรอบอัตรากำลังข้าราชการทั้งหมด จำนวน 192,960 อัตรา

ขณะที่ข้อมูลอีกด้านจากสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ยืนยันสาเหตุไม่เห็นควรจัดสรรอัตราตั้งใหม่จำนวน 10,992 อัตรา เพราะพบว่าสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุขมีตำแหน่งข้าราชการว่างอยู่ถึง 11,213 อัตรา ควรใช้ตำแหน่งว่างไปกำหนดบรรจุตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพได้ เพื่อไม่เป็นการเพิ่มภาระงบประมาณด้านบุคคลภาครัฐ

และเมื่อพิจารณาสัดส่วนในการให้บริการประชาชน พบว่าจำนวนพยาบาลวิชาชีพของไทยสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่องค์การอนามัยโลกกำหนด คือมีพยาบาลวิชาชีพอย่างน้อย 20 คน ต่อประชากร 10,000 คน แต่ปัจจุบันของไทยมี 21.4 คนต่อประชากร 10,000 คน ตัวเลขนี้ยังไม่รวมถึงจำนวนพยาบาลวิชาชีพที่เป็นพนักงานราชการ พนักงานกระทรวงสาธารณสุข และลูกจ้างชั่วคราว

การลุกฮือของพยาบาลลูกจ้างครั้งนี้ นอกจากกดดันรัฐบาล ยังต้องตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการบริหารจัดการของ สธ.ด้วย…

13 พฤษภาคม 2560
มติชนออนไลน์

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กรณีพยาบาลวิชาชีพชั่วคราวขู่ลาออก หลัง ครม.ไม่อนุมัติบรรจุเข้ารับราชการ 'วิษณุ' แจงเป็นผลที่น่าพอใจจากการปฏิรูประบบราชการ ตั้งแต่ รบ.ทักษิณ ที่สามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ 4 แสน  ด้าน สธ.ถกด่วน

11 พ.ค. 2560 จากกระแสความไม่พอใจของกลุ่มพยายบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ถึงขั้นขู่ลาออก หลังเมื่อ 9 พ.ค.ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) นำตำแหน่งว่างที่มีอยู่และตำแหน่งที่จะว่างในอนาคตมาบริหารจัดการเพื่อรองรับการบรรจุพยาบาลวิชาชีพตามความจำเป็น  (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม : ผุดแคมเปญชวนพยาบาล ค้าน ครม.ไม่อนุมัติตำแหน่งข้าราชการพยาบาลวิชาชีพใหม่กว่าหมื่นอัตรา )

ล่าสุดวันนี้ (11 พ.ค.60) เวลา 11.30 น.ที่ทำเนียบรัฐบาล วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนี้ว่า ทราบว่าทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราการพลเรือน (ก.พ.) จะชี้แจงหรืออาจจะชี้แจงไปแล้วด้วยซ้ำ เพราะเรื่องนี้คณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ได้พิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบหลายครั้ง

"ได้ผ่อนให้ไปจำนวนมากแล้วหลายอัตรา ขึ้นอยู่กับกระทรวงสาธารณสุข จะเอาอัตราเหล่านั้นไปจัดสรรอย่างไร ซึ่งบางคนอาจสมประโยชน์ และที่ไม่สมประโยชน์ เป็นเรื่องของทางกระทรวงสาธารณสุข แต่สิ่งที่ก.พ. ออกคำชี้แจงไปถือว่าชัดเจนแล้ว อยากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้อ่าน" วิษณุ กล่าว

ต่อกรณีคำถามถึงเหตุผลที่ไม่เปิดบรรจุพยาบาลวิชาชีพ เนื่องจากต้องการประหยัดงบประมาณแผ่นดินใช่หรือไม่นั้น วิษณุ กล่าวว่า มันมีอะไรมากกว่านั้น ถ้าจะตอบว่าไม่จริง ไม่เกี่ยวกับการประหยัดมันก็ไม่ใช่ เพราะต้องประหยัด แต่ไม่ใช่เหตุผลใหญ่ ยังมีอีกหลายเหตุ เพราะถ้าเอาตามอัตราที่แต่ละกระทรวงสาธารณสุขเรียกร้องให้บรรจุ ก็ต้องเพิ่มอัตรากำลังอีกเป็นแสนคน
"ในขณะที่วันนี้ข้าราชการทั่วประเทศ ตลอด 10-20 ปี ที่ผ่านมา ตั้งแต่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ทำปฏิรูประบบราชการในปี 2544-2545 สามารถตรึงอัตรากำลังไว้ได้ที่ประมาณ 4 แสนคน ถือว่าน่าพอใจ หากจะเอาตามที่แต่ละกระทรวงสาธารณสุขให้เพิ่มคนก็จะเพิ่มไปอีกประมาณ 1 แสนคน" วิษณุ แจกแจง
 
สำหรับคำถามว่าจะมีผลกระทบหรือไม่ เมื่อเครือข่ายพยายาลวิชาชีพกลุ่มนี้ขู่ลาออก (30ก.ย.2560) หากไม่ได้รับการบรรจุนั้น วิษณุ กล่าวว่า ขอให้ฟังคำชี้แจงของ ก.พ.มีอะไร ก็ให้ทางกระทรวงสาธารณสุข เจรจาบอกความจำเป็น แต่อัตราที่ก.พ.ให้ไปก็เป็นจำนวนหมื่นอัตราแล้ว
 
สธ.ถกด่วน

ขณะที่ ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(รมว.สธ.) ได้เรียกหน่วยงานภายในที่เกี่ยวข้อง อาทิ ที่ปรึกษาฯ, ปลัดกระทรวงสาธารณสุข , รองปลัดฯและผู้แทนสภาการพยาบาล ประชุมด่วน โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้ารับฟัง

ทั้งนี้ ปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข มีอัตราตำแหน่งข้าราชการที่ว่างอยู่เกือบ 10,000 ตำแหน่ง แต่ตำแหน่งดังกล่าวมีบุคคลที่จะเข้ารับการบรรจุอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถขยับบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งต่างๆที่ว่างได้ เพราะในส่วนของตำแหน่งระดับบนๆ ที่จะต้องขยับยังไม่มีการขยับ อย่างไรก็ตาม คาดว่าหลังประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีคำตอบในเรื่องนี้

ที่มา : คมชัดลึกออนไลน์ ไทยรัฐออนไลน์ และ TNN24
Thu, 2017-05-11

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
“อยากจะบอกว่ามันก็เงินภาษีของประชาชนเหมือนกัน ถ้ามาจ่ายเป็นค่าบุคลากรสูงมากแบบนี้ รัฐบาลก็ไม่มีเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น สมมุติว่าเรานำเงินงบประมาณแผ่นดินปีละ 2 ล้านล้านบาท ตอนนี้ก็ประมาณครึ่งหนึ่งที่เป็นงบบุคลากร ที่จะต้องนำมาจ่ายเดือน เงินสวัสดิการ ของทางข้าราชการ”



ประเด็นการบรรจุพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว กระทรวงสาธารณสุข เข้าเป็นข้าราชการประจำกลายเป็นทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ภายหลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรีไม่อนุมัติอัตราข้าราชการตั้งใหม่ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา

ส่งผลให้เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ชวนกันแสดงพลังประกาศลาออกในวันที่ 30 ก.ย. นี้ สร้างแรงสะเทือนให้วงการสาธารณสุขของไทยทันที หากฝั่งรัฐบาล VS เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ต่างคนต่างไม่ยอมถอย

สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org จึงต่อสายตรงคุยกับ “เมธินี เทพมณี” เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งเป็นมีหน้าที่โดยตรงเกี่ยวกับการเปิดอนุมัติอัตราข้าราชการทั้งประเทศ เพื่อไขข้อสงสัยว่าเหตุใดจึงไม่สามารถอนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอได้

@สาเหตุที่ไม่อนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ

ขณะนี้ดูตำแหน่งทางราชการแล้ว การขออนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ จำนวน 10,992 อัตรา ก็อยู่ในวิสัยที่ทำได้ เพียงแต่กระทรวงสาธารณสุขต้องหมุนตัวเลขกรอบอัตราอีกหน่อย โดยปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็บอกว่ามีตำแหน่งว่างอยู่ แต่ไม่ได้เป็นตำแหน่งพยาบาลเพียงอย่างเดียว โดยอาจจะต้องหมุนกันทั้งแพทย์ เทคนิคการแพทย์ กายภาพบำบัด เป็นต้น ตอนนี้เขากำลังจัดตัวเลขให้ลงตัว และทางก.พ.ก็พยายามเต็มที่ให้มันไปได้

“ตำแหน่งที่ขอเปิดใหม่เท่าที่คุยกับรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข อาจจะเปิดเพิ่มให้ได้ 3,000 ตำแหน่ง แต่จะได้ครบ 3,000 คนหรือไม่ มันอาจจะไม่ใช่ อาจจะต้องแบ่งกัน ตำแหน่งมีอาจจะไม่ลงไปพยาบาลทั้งหมด ทางก.พ.จะเร่งคุยกันให้เร็วสุด ซึ่งทางรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะให้รายละเอียดอีกครั้ง”

โดยการดูแลพยาบาลวิชาชีพของกระทรวงสาธารณสุขตอนนี้ถือว่าดีมาก เขาแบ่งเป็น 3 ขั้นตอน เริ่มจากลูกจ้างชั่วคราว ต่อด้วยพนักงานสาธารณสุข โดยเงินไม่เป็นปัญหาสำหรับกระทรวงสาธารณสุขที่จะต้องดูแลพยาบาล เพราะมีระบบดูแลพยาบาลดีมากอยู่แล้ว หากไม่เป็นข้าราชการก็จะอยู่ในระบบประกันสังคมเหมือนทั่วไป แต่ตัวเลขตอนนี้ 3,000 กว่าคนที่เขาขอ ก็น่าจะทำได้

@ปัญหาเริ่มต้นที่ทางก.พ.เห็นว่าไม่สามารถเปิดตำแหน่งข้าราชการเพิ่มได้คืออะไร

ก.พ.ไม่ได้เพิ่มอัตราข้าราชการมาหลายปีแล้ว เหตุที่ไม่เพิ่มเพราะหน่วยงานของรัฐมีสวัสดิการดีมาก ข้าราชการถ้าไม่เสียชีวิตเราจะจ่าย 5-6 คนต่อหัวจนหลังเกษียณอายุราชการ เช่น เมื่อเจ็บป่วยก็ให้เบิกพ่อ-แม่-ภรรยา-บุตร ได้ สมัยก่อนระบบบำเหน็จ-บำนาญ เราคิดว่าข้าราชการจะเสียชีวิตกันเมื่ออายุ 60 กว่า แต่ขณะนี้คนไทยอายุเฉลี่ย 75 ปี ทำให้ระบบบำเหน็จ-บำนาญ แบกภาระงบประมาณต่อคนสูงมาก

“น้อง ๆ พยาบาลก็พูดว่าการที่เขาได้รับบรรจุเป็นข้าราชการ ทำให้เขามีความมั่นคงในชีวิต แม้เงินเดือนจะน้อยถ้าเทียบกับโรงพยาบาลเอกชน ทำให้เขามุ่งมั่นทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่อยากจะบอกว่ามันก็เงินภาษีของประชาชนเหมือนกัน ถ้ามาจ่ายเป็นค่าบุคลากรสูงมากแบบนี้ รัฐบาลก็ไม่มีเงินไปลงทุนทำอย่างอื่น สมมุติว่าเรานำเงินงบประมาณแผ่นดินปีละ 2 ล้านล้านบาท ตอนนี้ก็ประมาณครึ่งหนึ่งที่เป็นงบบุคลากร ที่จะต้องนำมาจ่ายเดือน เงินสวัสดิการ ของทางข้าราชการ”

@รัฐบาลจึงต้องพยายามลดเงินส่วนนี้ โดยเฉพาะเงินสวัสดิการ

ใช่ ในหลักเกณฑ์นี้เราก็ต้องพยายามลด โดยทุกส่วนราชการได้รับนโยบายจากรัฐบาลไปแล้ว ว่าต้องพยายามไม่บรรจุข้าราชการเพิ่ม แล้วให้ข้าราชการ 1 คน ทำงานมากกว่าเดิม อันนี้พูดไปก็จะร้อนแรงอีก แต่เอกชนเขาทำกันมานานแล้วใช่ไหม เช่น 1 คน ทำหลายหน้าที่ แล้วเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องใช้กำลังคนเยอะ เราจึงต้องคิดว่าควรยืนอยู่ในความพอดี

@แสดงว่าปัญหาของการไม่บรรจุเป็นข้าราชการคือเรื่องบำเหน็จ-บำนาญเพียงอย่างเดียว

เท่าที่ดิฉันมองก็น่าจะใช่ เพราะระบบบำเหน็จ-บำนาญ เป็นแรงจูงใจที่ดีในการเป็นข้าราชการเหมือนพวกพี่ ซึ่งคำนวณแล้วก็จะได้ 60 เปอร์เซ็นต์ของเงินเดือนงวดสุดท้าย

@หากไม่รับข้าราชการเพิ่มกระทรวงอื่นจะมีปัญหาตามมาหรือไม่

กระทรวงอื่นไม่มีหรอก ช่วงเปลี่ยนผ่านแบบนี้แต่ละกระทรวงทราบดีว่าจะต้องเอาตำแหน่งงานที่จำเป็นไว้ แล้วหาคนเก่งๆมาทำ และพัฒนาคนที่อยู่ในระบบให้มีประสิทธิภาพ ไม่ใช่งานชิ้นหนึ่งทำกัน 3 คน เราก็ไม่อยากเห็นข้าราชการทำอย่างนั้น เราอยากเห็นข้าราชการทำงานเต็มที่คุ้มค่าเงินเดือนที่เราจ่าย ไม่ใช่ทำงานไปวันต่อวันหรือทำงานรูทีน (Routine) และในอนาคตงานรูทีนข้าราชการต้องไม่ทำแล้ว ต้องเปลี่ยนบทบาทของตัวเองเป็นผู้กำกับดูแลให้เอกชนเขาเข้มแข็ง

“แต่ส่วนตัวเห็นว่าบางงานก็อาจจะจำเป็นอยู่ เช่น งานของพยาบาล ก็ต้องแยกออกมา เพราะงานบางอย่างไม่ได้ทำเพื่อกำไรหรือหวังว่าจะรวย งานอะไรที่ไม่ได้หวังรวยราชการต้องทำเอง อะไรที่เอกชนเขาทำดีกว่าราชการ เราก็ไม่ควรไปทำเลย ฉันเป็นคนประชาสัมพันธ์ให้คนเก่งมารับราชการ เพราะเห็นว่าเด็กรุ่นใหม่ที่เก่ง ๆ ไม่คิดจะรับราชการเลย คนที่จะมองยุทธศาสตร์ประเทศ มองว่าประเทศจะเคลื่อนไปทิศทางไหน คนที่เก่งงานวิจัย เป็นต้น คนแบบนี้แทบที่จะไม่คิดรับราชการ”

ทางราชการก็พยายามลดค่าใช่จ่ายกันอย่างมาก เช่น ไม่มีนโยบายให้รับคนขับรถมานานแล้ว เราจ้างไม่ไหว จึงต้องจ้างเหมาพร้อมเช่ารถแทน เพื่อลดค่าใช้จ่ายทั้งหมด รวมถึงพนักงานบันทึกข้อมูลก็ไม่ได้จ้างแล้ว เพราะทุกคนต้องบันทึกข้อมูลเองหมด ไม่มีเสมียนพิมพ์แล้ว งานมันเป็นยุคสมัย หลายตำแหน่งที่เลิกจ้างไปแล้ว เพราะวิธีการทำงานเปลี่ยนไป

ทั้งหมดคือเหตุผล-ความจำเป็น ในมุมมองของ “เลขาธิการก.พ.” ที่ไม่สามารถอนุมัติตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพได้

อาจถึงเวลาแล้วหรือไม่ที่ “ข้าราชการ” ต้องย้อนมองการทำงานของตัวเอง ?

วันจันทร์ ที่ 15 พฤษภาคม 2560
https://www.isranews.org/main-issue/56245-isranews_56245.html

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"ช่วยกันหาพญามาร...ตัวการทำพยาบาลน้ำตาตก"
« ตอบกลับ #11 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2017, 12:17:34 »
ณ ประเทศหนึ่งในดาวยูเรนัส(อีกครั้ง)

เสียงบ่นเรื่องเฟซบล็อควลี #สมแล้วที่เป็นประเทศด้อยพัฒนา ยังไม่ทันจางหายไป ก็มีการประท้วงของเหล่าพยาบาลและบุคลากรสุขภาพด้วยน้ำตานองหน้า เรื่องการไร้อนาคตด้านการทำงาน

หากติดตามย่างก้าวการบริหารกระทรวงให้ดี จะเห็นชัดเจนตั้งแต่ต้นว่า เน้นโปรโมทอัตลักษณ์ส่วนตนของนักบริหารเป็นหลัก

นโยบายส่วนใหญ่ที่ผลักออกมา ล้วนเป็นไปตามแนวทางที่ตนเองต้องการ เป็นขั้นเป็นตอนอย่างแยบยล ตั้งแต่การปรับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ การอาศัยอำนาจรัฐในการปรับเปลี่ยนองคาพายพต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดระเบียบคน เงิน ของ ให้เข้ากับแผนระยะยาวของตน

หมากที่เดินแต่ละตานั้น แสดงถึงการคำนวณ ใคร่ครวญ ชงและตบอย่างเหมาะเจาะอย่างไม่น่าเชื่อ ทั้งการป่วนของนักวิชาเกินผ่านสื่ออย่างหนักหน่วง ไปจนถึงกระบวนการรับส่งประเด็นเพื่อไปรื้อระบบให้เป็นไปตามที่ปักธงไว้

ยกเว้นบางกรณีที่มีหลุดโผจนเกิดกระแสตีกลับจากการกระทำของลูกแถวที่อยากดังตามนาย อาทิ การชวนให้ท้องแล้วจะแถมวิตามิน

แต่โดยรวมต้องถือว่าทีมงานบริหารนี้แยบยลมากเมื่อเทียบกับในอดีต กุมอำนาจกุมตาเดินในกระดานไว้เกือบทั้งหมด

เหตุการณ์สำคัญอย่างเรื่องตำแหน่งบรรจุพยาบาลหมื่นกว่าตำแหน่งที่กระทรวงชงเสนอไปครม.แล้วโดนตีกลับมาล่าสุดนั้นจึงไม่น่าจะเป็นเรื่อง 'บังเอิญ'

ในเมื่อก่อนหน้านี้ คำสั่งการเรื่องการต่ออายุข้าราชการเกษียณของกระทรวงเพื่อปูทางให้ 'คนเกษียณ' ได้ทำงาน ได้เงิน และได้อำนาจต่อ ภายใต้นโยบายทีมหมอครอบครัวนั้นผ่านฉลุยไร้แรงต้าน ทั้งๆ ที่คนมากมายพากันทักท้วงว่าแทนที่จะสามารถนำตำแหน่งเกษียณมาบรรจุคนรุ่นใหม่ไฟแรง หรือประหยัดงบรัฐที่จะต้องเสียเงินจ้างคนระดับบริหารหรือทรงคุณวุฒิหรือเชี่ยวชาญ แต่มักลืมเวชปฏิบัติหรือร้างลาการสัมผัสผู้ป่วยและประชาชนไปนาน ความรู้ก็เลือนหาย ขืนจ้างต่อ ก่อนจ้างยังต้องจัดการอบรมรื้อฟื้นให้อีกต่างหาก สู้สนับสนุนเงินที่ประหยัดได้ไปลงทุนในส่วนที่ขาดแคลนจะดีกว่า...

แต่สุดท้ายแล้วก็เข้าอีหรอบ...กรูจะทำ ใครจะทำอะไรได้?

สังเกตได้ชัดเจนต่อไปอีกว่า พอครม.เซย์โน ไม่อนุมัติตำแหน่งบรรจุพยาบาล ก็มีตัวหมากสำคัญสองตัวที่โผล่ออกสื่อทันทีทันใด
หนึ่งคือ นักบริหารที่เราคุ้นเคยกันดี...บอกว่าทั่นตู่ห่วง และจะเร่งปรับหาตำแหน่งภายในในช่วงระยะสั้นก่อนแล้วค่อยทำเรื่องขอไปยังครม.อีกครั้ง
สองคือ หน่วยงานคุมตำแหน่งรัฐอย่าง 'กอพลอ' ออกมาอ้างบอกว่าแกน่ะมีตำแหน่งภายในว่างตั้งหมื่นตำแหน่ง ให้ไปจัดการซะ แถมสำทับว่างบุคลากรของแกน่ะปาเข้าไป 72% เชียวนะ

ฝ่ายที่สองออกข่าวมาปุ๊บ ฝ่ายแรกออกข่าวแทบจะทันที โชว์หน้าขาวผ่อง บอกว่า ตำแหน่งภายในน่ะใช้สำหรับทุกวิชาชีพนะ อย่าเข้าใจผิด

ผู้รู้บางท่านก็มาชี้ให้เห็นว่าไอ้ตัวเลขงบบุคลากร 72% ก็ไม่ถูกต้อง เพราะมีงบจากแหล่งอื่นที่ต้องนำมาคำนวณด้วย จริงๆ แล้วงบบุคลากรที่ใช้คือ 40% เท่านั้น ต่ำกว่าที่ฝ่ายสองออกมาให้ข่าว

ไอ้เราติดตาม สดับตรับฟังแล้วก็ได้แต่ปลง...ทำงานอะไรกันวะ? นี่กระมังที่เป็นต้นตอของความด้อยพัฒนาของประเทศนี่เอง...
ดูข่าวทั้งสองฝ่ายที่ออกมาเล่นผ่านสื่อแล้ว...อยากจะบอกทั้งสองฝ่ายว่า...

"...มาโต้อะไรผ่านสื่อตอนนี้ครับ
ก่อนนำเรื่องเข้าครม.ก็ควรคุยและเช็คกับกพ.ให้เข้าใจก่อนไม่ใช่หรือ?
ทีเรื่องนโยบายต่ออายุคนแก่ เพื่อปูทางให้ทำงานต่อหลังเกษียณล่ะ ดูเหมือนปูด้วยกลีบกุหลาบเกินไปไหม?..."

ประเทศเรานั้นทั้งภาครัฐและเอกชนล้วนขาดแคลนพยาบาลอย่างหนัก ผลิตได้ปีละแค่ 12,000 คน อีกสิบปีพยาบาลจะเกษียณอย่างน้อยหนึ่งในสาม ยิ่งจะเป็นวิกฤติหนักท่ามกลางสังคมสูงอายุที่ต้องการการดูแลรักษามากขึ้นทวีคูณ

เรื่องทีมหมอครอบครัวในดาวยูเรนัสที่ใครบางคนฝันว่าจะเกษียณเร็วๆ นี้แล้วจะผันตัวไปจับงานนี้เพื่อกุมอำนาจระยะยาวนั้นจงลืมไปได้เลย งานของคุณจะล่มไม่เป็นท่า หากทรัพยากรบุคคลในทีมสุขภาพอย่างพยาบาลนั้นเกิดปัญหาเช่นนี้

และยิ่งจะทำให้สังคมประสบปัญหาหนักแบบเรื้อรังหากควบคู่ไปกับแผนของคนบางคนที่เร่งผลิตหมอครอบครัวแบบหลากหลายวิธีการ เน้นจำนวนมากกว่าเรื่องคุณภาพมาตรฐาน

หมอจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อมีคุณพยาบาลช่วยเหลือและทำงานร่วมกัน ควบคู่กับสหสาขาวิชาชีพ เพราะเราดูแลชีวิตคน

ปัญหาที่เราเจอตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันน่าจะเกิดจาก 'พญามาร' ที่เป็นต้นตอของการสร้างและดำเนินนโยบายที่ผิดพลาด เพราะใช้กิเลสเป็นตัวนำ

หากผู้บริหารประเทศที่กุม M44 อยู่นั้นอยากจะแก้ไขปัญหาให้ประชาชนอย่างแท้จริง ก็ควรรับรู้และจัดการกับ 'กลุ่มพญามาร' เสียที

ว่าแต่ท่านเอาแต่บอกว่าจะทำตามสัญญา...ท่านรู้หรือยังว่าพญามารอยู่ที่ไหน?

วันเสาร์ ที่ 13 พฤษภาคม 2560
https://www.isranews.org/isranews-article/56206-nurse.html

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
พลังต่อรองระหว่าง"พญามาร"และ"กลุ่มคุณพยาบาล"
« ตอบกลับ #12 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2017, 12:18:51 »
"...หนทางเดียวที่จะพลิกกระดาน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองต่อกลุ่มพญามารคือ การจับมือระหว่างกลุ่มพยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ หยุดร่วมมือในกิจกรรมประชุมตามนโยบายหลักของกลุ่มพญามาร แต่มิใช่หยุดทำงานพยาบาล หรือให้บริการสาธารณสุขดูแลประชาชนนะครับ โปรดทำงานวิชาชีพสุขภาพของเราให้เต็มที่..."

การรณรงค์ให้ลาออกนั้นน่าจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เนื่องจากการที่คนจะตัดสินใจลาออกเพื่อแสดงพลังการมีส่วนร่วมประท้วงนั้นอาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ระหว่างคุณพยาบาลที่ทำงานในระบบ-แกนนำรณรงค์-กลุ่มพญามาร จะตกอยู่ในรูปแบบ "แพั-ชนะ-ชนะ" หรือ "แพ้-แพ้-ชนะ" กล่าวคือ

หนึ่ง คนลาออกจะขาดรายได้ระหว่างช่วงที่ต้องหางานใหม่ และงานใหม่ที่ได้อาจมีผลต่อวิถีชีวิตของตัวเองและครอบครัว นอกจากนี้หากออกพร้อมกันจำนวนมาก ที่ทำงานใหม่อาจถือโอกาสเลือกจุกจิกหรือกดค่าแรงได้

แต่เหนืออื่นใดคือ คุณพยาบาลที่เหลืออยู่ในระบบ จะได้รับผลกระทบจากการลาออก กล่าวคือต้องแบกรับภาระงานมากขึ้น ทั้งเชิงจำนวนเวร หรืองานจิปาถะที่รับผิดชอบแทน รวมถึงความเสี่ยงต่อการเกิดเหตุฟ้องร้องของประชาชนจากปัญหาคุณภาพการดูแล

ดังนั้นแทบจะปิดประตูฟันธงได้เลยว่า กลุ่มคุณพยาบาลที่ปฏิบัติงานในระบบนั้นยากที่จะ"ชนะ"

สอง คนตั้งแคมเปญรณรงค์อาจได้รับชัยชนะหากมีคนร่วมด้วยตามเป้า แต่มีโอกาสสูงกว่าที่จะไม่ได้ตามเป้า เนื่องจากธรรมชาติของคนเรามักกลัวการเปลี่ยนแปลง หากไม่เข้าตาจนจริงๆ

โอกาสชนะจึงน้อยกว่า แต้มต่อคงเป็นอย่างมาก 1:2

สาม กลุ่มพญามารที่วางแผนให้เกิดเหตุการณ์คว่ำข้อเสนอตั้งแต่ต้นนั้นนับว่าถือไพ่ที่เหนือกว่าตั้งแต่ในมุ้ง ไม่ว่าจะเป็นแผนการเตะถ่วงเพื่อศึกษากำลังคน ประโยชน์จากการกุมอำนาจแต่งตั้งบรรจุตำแหน่งที่มีน้อยกว่าความต้องการบรรจุ ตลอดจนการอ่านเกมส์ล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุการณ์เคลื่อนไหวรณรงค์เพื่อใช้ประโยชน์บางประการในการเลือกคน

และที่แน่ๆ คือการวิเคราะห์ล่วงหน้าว่าสองฝ่ายแรกแทบไม่มีโอกาสชนะ หากเดินหมากรณรงค์ประท้วง

หนทางเดียวที่จะพลิกกระดาน เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองต่อกลุ่มพญามารคือ การจับมือระหว่างกลุ่มพยาบาล และสหสาขาวิชาชีพ หยุดร่วมมือในกิจกรรมประชุมตามนโยบายหลักของกลุ่มพญามาร

แต่มิใช่หยุดทำงานพยาบาล หรือให้บริการสาธารณสุขดูแลประชาชนนะครับ โปรดทำงานวิชาชีพสุขภาพของเราให้เต็มที่

แค่ทุกวิชาชีพร่วมกันไม่เข้าประชุม จะด้วยเหตุสุดวิสัยใดก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประชุมที่เกี่ยวกับตัวชี้วัดหลักที่กลุ่มพญามารทำสัญญาประเมินผลงานกับเจ้านาย ทั้งนายระดับกระทรวงและระดับรัฐบาล

จนกว่าจะมีการอัปเปหิกลุ่มพญามารออกจากกระทรวงไป เพื่อให้เกิดอนาคตที่ดีกว่า

คิดสะระตะแล้วไม่มีแนวทางอื่นที่จะทำได้ในเวลาอันใกล้ .


วันอาทิตย์ ที่ 14 พฤษภาคม 2560
https://www.isranews.org/isranews-article/56234-nurse140560.html

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เรียกร้องทบทวนมติ ไม่บรรจุพยาบาลวิชาชีพ
« ตอบกลับ #13 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2017, 12:21:21 »
อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย ปัญหาบุคลากรพยาบาล เป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน ซึ่ง 10 ปีที่ผ่านมา นำเรื่องนี้เข้าสู่คณะรัฐมนตรี ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง เพื่อขอกันตำแหน่งบุคลากรจากกระทรวงต่าง ๆ เพื่อให้เป็นตำแหน่งพยาบาล แต่ก็ยังทำให้ มีตำแหน่งค้าง อยู่อีกกว่า 1 หมื่นอัตรา

ขณะที่ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนมติของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังพลภาครัฐ และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 10,992 อัตรา ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะรณรงค์ให้พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในสังกัดโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เขียนใบลาออก ให้มีผลตั้วแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพที่ร้องขอ 10,992 ตำแหน่ง เป็นการคิดคำนวณ 3 ปีตั้งแต่ปี 2561-2563 หากได้จำนวนนี้ในแต่ละปี จะแก้ปัญหาพยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอในระบบได้

ขณะที่ เครือข่ายพยาบาลวิชาชีพ ลูกจ้างชั่วคราว ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้รัฐบาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ทบทวนมติของคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังพลภาครัฐ และเรียกร้องให้คณะรัฐมนตรี อนุมัติอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพ 10,992 อัตรา ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข จะรณรงค์ให้พยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวที่ปฏิบัติงานในสังกัดโรงพยาบาลกระทรวงสาธารณสุข เขียนใบลาออก ให้มีผลตั้วแต่วันที่ 1 ตุลาคมนี้

ก่อนหน้านี้ นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าอัตราตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพที่ร้องขอ 10,992 ตำแหน่ง เป็นการคิดคำนวณ 3 ปีตั้งแต่ปี 2561-2563 หากได้จำนวนนี้ในแต่ละปี จะแก้ปัญหาพยาบาลวิชาชีพไม่เพียงพอในระบบได้

http://news.mthai.com/general-news/563879.html

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ครม.ไฟเขียว8,900อัตรา พยาบาลเฮ3ปีบรรจุครบ
« ตอบกลับ #14 เมื่อ: 18 พฤษภาคม 2017, 12:22:06 »
ครม.เห็นชอบตำแหน่งพยาบาล 8,900 ตำแหน่งใน 3 ปี สำหรับปี 60 บวกกับตำแหน่งว่างของสธ. 2,200 จะได้บรรจุ 5 พันคน ให้ สธ.ทำความชัดเจนเสนอ ครม. 23 พ.ค.นี้อีกครั้ง นายกฯ มอบ "ก.พ.-ก.พ.ร.-ทุกกระทรวง" ปรับโครงสร้างภายในใหม่ทั้งหมด เครือข่ายพยาบาลฯ พอใจ แต่ขอดูมติ ครม.ที่เป็นลายลักษณ์อักษรก่อน

ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 16 พฤษภาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการบรรจุพยาบาลเป็นข้าราชการว่า ตนรับฟังข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายทั้งในส่วนของกระทรวงสาธารณสุข ที่ได้มีการประชุม โดยได้มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ไปหาวิธีการเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ซึ่งมีแนวโน้มในทางที่ดีขึ้น

"ผมขอใช้คำว่า จะมีการทยอยบรรจุให้ โดยใช้อัตราภายในไปก่อน นี่คือหลักการที่สามารถปรับได้จำนวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือก็จะมีการเพิ่มเติมให้ในห้วงเวลา 3 ปี เบื้องต้นก็แค่นี้ไปก่อน คิดว่าเป็นสิ่งที่ทำได้ดีที่สุดในขณะนี้ สิ่งสำคัญก็ต้องดูแลในภาพรวมของรัฐบาลและส่วนราชการทั้งหมดด้วย ซึ่งมีทั้งข้าราชการ พนักงานราชการ ลูกจ้างชั่วคราว ลูกจ้างประจำ ต้องดูว่าในอนาคตจะทำอย่างไร ไม่เช่นนั้นก็จะเกิดปัญหาอยู่แบบนี้ แต่ก็ต้องมีข้อยกเว้นสำหรับผู้ที่ต้องให้บริการประชาชน"

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ในส่วนของพยาบาลนั้น เรามีการผลิตออกมาทุกปี ก็ต้องเข้ามาทำงานอยู่แล้ว ถามว่าจะบรรจุได้ทั้งหมดหรือไม่ ก็ต้องบอกว่าส่วนหนึ่งถ้ามีความจำเป็นก็ลาออกไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งเป็นไปได้หรือไม่ว่าภาคเอกชนจะให้ทุนสำหรับผู้ที่เรียนพยาบาล และกลับไปยังสถานพยาบาลของตนเอง เรื่องนี้ก็ต้องมีการกลับไปคิดใหม่ หาวิธีการใหม่ อย่าไปคิดเพียงว่าแก้ปัญหาโดยการบรรจุใหม่อย่างเดียว เพราะวันข้างหน้ามันจะล้น สำหรับพยาบาลนั้น อย่างไรก็ขาด เพราะมีการลาออกไปอยู่กับภาคเอกชน ซึ่งถือเป็นปัญหา เพราะรัฐไม่สามารถให้ค่าตอบแทนได้มากเท่าภาคเอกชน ไม่เช่นนั้นก็จะพันกันไปทั้งหมด โดยเฉพาะเรื่องของงบประมาณ

"แต่ยืนยันว่ารัฐบาลจะดูแลเรื่องนี้ ในส่วนของคนอื่นก็ต้องมีการปรับโครงสร้างภายในทุกๆ กระทรวงใหม่ทั้งหมด ซึ่งตนได้มอบภารกิจไปแล้ว ให้ทั้งสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ไปดูว่าเราจำเป็นต้องปรับโครงสร้างภายในส่วนราชการใหม่หรือไม่ ทั้งหมดต้องทำงานสอดคล้องกันให้ได้ จะเชื่อมโยงกันอย่างไร ภายในกระทรวงจะทำอย่างไรให้มีการเพิ่มคนได้โดยใช้งบประมาณน้อยที่สุด หรือใช้ภายในวงเงินงบประมาณเดิม ดูทั้งเรื่องคนที่จะเกษียณอายุ และการบรรจุเข้ามาใหม่ ส่วนหนึ่งคือการสอบบรรจุ อีกส่วนคือการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งที่ผ่านมาใช้แค่การสอบเพียงอย่างเดียว ทุกอย่างจะต้องชัดเจนขึ้น ขอรับข้อเสนอและข้อเรียกร้องต่างๆ ไว้ รัฐบาลจะทำอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาระยะยาวด้วย เพราะปัญหาเช่นนี้เกิดมาทุกปีโดยไม่ได้รับการแก้ไขในเรื่องของโครงสร้าง ก็ต้องทำให้เหมาะสมกับความจำเป็นและงบประมาณที่มีอยู่" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ถึงการแก้ปัญหาตามข้อเรียกร้องของพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราวให้บรรจุเป็นข้าราชการจำนวน 11,000 อัตราว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข ได้นำเสนอแนวทางในที่ประชุมว่า อัตราว่างในปี 60 ที่กระทรวงสาธารณสุขสามารถบรรจุได้คือ 2,200 อัตรา ดังนั้นจะเหลือ 8,800 อัตรา และหากดำเนินการบรรจุใน 3 ปีตั้งแต่ปีนี้ จะบรรจุได้ปีละ 2,900 อัตรา รวมกับจำนวนพยาบาลที่จะเกษียณอายุราชการ หากดำเนินการในลักษณะเดียวกันจะสามารถบรรจุพยาบาลได้ทั้งหมด ซึ่งแนวทางดังกล่าวยังไม่ถือว่าเป็นมติ ครม. เป็นเพียงแนวทางแก้ปัญหาที่มีการนำเสนอ ซึ่งที่ประชุมก็พึงพอใจ

"นอกจากนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอตั้งคณะกรรมการเป้าหมายนโยบายบุคลากรสาธารณสุขขึ้น เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรภายในกระทรวงอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แก้ปัญหาในรายปี ตามที่นายกฯ เน้นย้ำทุกกระทรวง ทบวง กรมว่า ให้แก้ปัญหาทั้งระบบ โดยคาดว่าคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะสามารถนำเสนอ ครม.เพื่อแก้ปัญหาได้ในวันที่ 23พ.ค.นี้ เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเพราะแรงกดดันจากพยาบาลที่ขู่จะลาออกรัฐบาลถึงลงมาแก้ปัญหา แต่เพราะรัฐบาลทุกปัญหาด้วยฟังเหตุด้วยผล และพบว่าเรื่องนี้มีปัญหาจริง" พล.ท.สรรเสริญกล่าว

ด้าน น.ส.รุ่งทิวา พนมแก พยาบาลวิชาชีพปฏิบัติการ รพ.ร้อยเอ็ด ในฐานะผู้ประสานงานเครือข่ายพยาบาลวิชาชีพลูกจ้างชั่วคราว ประจำภาคอีสาน กล่าวถึงกรณีมติ ครม.พิจารณาเห็นชอบตามที่มีการเสนอเรื่องการขอบรรจุอัตราตำแหน่งข้าราชการของพยาบาลวิชาชีพ 8,900 อัตราใน 3 ปี และในปีนี้ให้อีก 2,200 อัตรา ซึ่งเป็นตำแหน่งว่างของ สธ. โดยให้ สธ.กลับไปทำให้ชัดเจน และเข้าสู่การประชุม ครม.ครั้งหน้า ว่ารู้สึกพอใจ และขอขอบพระคุณนายกรัฐมนตรี รัฐบาลกระทรวงสาธารณสุข และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง แต่ก็อยากได้ความชัดเจนเป็นลายลักษณ์อักษรเป็นมติ ครม. จึงจะมั่นใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากได้รับการบรรจุจริงๆ จะยุติการเคลื่อนไหวผ่านสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะการประกาศลาออกในวันที่ 30 ก.ย.2560 นี้หรือไม่ น.ส.รุ่งทิวากล่าวว่า หากได้รับตำแหน่ง เชื่อว่าจะไม่มีการลาออก เพราะได้รับกำลังในการทำงาน เพราะรอการบรรจุตำแหน่งมานาน โดยบางกลุ่มที่อาจลาออก เพราะต้องการไปศึกษาต่อ หรือมีปัญหาเรื่องเงิน ที่ไม่สอดคล้องกับภาระงานก็เป็นสิทธิส่วนบุคคลของน้องๆ เชื่อว่าหากได้รับตำแหน่งตามที่กระทรวงเสนอ กระทรวงจะสามารถบริหารจัดการอัตราตำแหน่งว่างในแต่ละปีอย่างลงตัวได้

“การที่พวกเราออกมาเรียกร้องนั้น ก็เพราะว่าหากครม.ไม่อนุมัติก็จะทำให้มีตำแหน่งตกค้างอีกมากมาย และก็จะสะสมไปเรื่อยๆ แต่เมื่อ ครม.อนุมัติให้จริงๆ ปัญหาตำแหน่งตกค้างก็จะเริ่มคลี่คลาย โดยหากได้รับตำแหน่งจริงๆ กลุ่มที่ได้รับการบรรจุแรกๆ ก็น่าจะเป็นกลุ่มตกค้างเดิม อย่าง จ.ร้อยเอ็ด ก็น่าจะนับตั้งแต่คนทำงาน 5 ปีลงมา” น.ส.รุ่งทิวากล่าว

สำหรับตัวเลขที่ ครม.เห็นชอบ และให้กระทรวงสาธารณสุขกลับไปดำเนินการรายละเอียด และส่งกลับมายัง ครม.ในครั้งหน้านั้น มี 8,900 อัตรา แบ่ง 3 ปี ระหว่างปี 2560-2562 คิดเฉลี่ยปีละ 2,900 อัตรา โดยในปี 2560 จะได้ตำแหน่งอัตราว่างจำนวน 2,200 อัตรา บวกกับตำแหน่ง 2,900 อัตรา รวมแล้วปี 2560 จะมีพยาบาลที่ได้รับการบรรจุทั้งสิ้น 5,100 อัตรา จากนั้นในปี 2561-2562 บรรจุปีละ 2,900 อัตรา บวกอัตราอื่นในแต่ละปี เช่น อัตราเกษียณ เป็นต้น.

Wednesday, May 17, 2017
http://www.thaipost.net/?q=%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%A1%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%80%E0%B8%82%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A78900%E0%B8%AD%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%A3%E0%B8%B2-%E0%B8%9E%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B9%80%E0%B8%AE3%E0%B8%9B%E0%B8%B5%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%88%E0%B8%B8%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%9A