ผู้เขียน หัวข้อ: เฉลยคำตอบ! ทำไมน้ำไม่ท่วม "รพ.อินทร์บุรี" และที่มาของ "นักต่อสู้ชลประทาน"  (อ่าน 1214 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
จังหวัดสิงห์บุรีเป็นจังหวัดเล็กๆ ซึ่งทุกคนคงจำได้ดี เพราะสิงห์บุรีเป็นจังหวัดหนึ่งที่ถูกน้ำท่วมหนัก เกือบทุกพื้นที่

โดยเฉพาะข่าวใหญ่ นั่นก็คือประตูระบายน้ำบางโฉมศรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

ขณะเดียวกัน ยังเป็นจังหวัดที่มีแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่าน

ขึ้นชื่อว่าอยู่ติดแม่น้ำ ก็คงเป็นเรื่องปกติที่สิ่งปลูกสร้างทั้งหลายจะถูกน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก

ทำให้ได้รับความเสียหายไม่น้อย

แต่จะมีซักกี่ที่ล่ะ ที่จะอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข และไม่คิดว่า น้ำท่วมเป็นปัญหา หรือจะมีซักกี่ที่ล่ะ จะสามารถป้องกันน้ำท่วมได้

ก่อนจะได้รับฉายานามว่า "นักต่อสู่น้ำชลประทาน"

เหตุที่ได้รับฉายานามดังกล่าว เจ้าตัวเล่าให้ฟังว่า น้ำจะท่วมหรือไม่ท่วมขึ้นอยู่กับกรมชลประทาน เพราะว่าอยู่ริมแม่น้ำ โดนน้ำจากชลประทานท่วม และอยู่ในแม่น้ำในสายตาชลประทาน น้ำขึ้นมาตรงนี้ไม่ถือว่าน้ำท่วม แต่ถือว่าน้ำล้นตลิ่ง

นี่คือเหตุผลง่ายๆ ก่อนจะเปรียบเทียบกับ "นักต่อสู้น้ำป่าไหลหลาก" และถามว่าทำไมถึงได้รับฉายานามนั้น

ก็เพราะว่า ต้องต่อสู้กับน้ำป่านั่นเอง

เห็นแบบนี้แล้ว ใครจะเชื่อว่านักต่อสู้น้ำชลประทานผู้นั้น คือ "เภสัชกร" ประจำโรงพยาบาลอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี

ซึ่งเป็นโรงพยาบาลหนึ่งที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา และผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมมาหลายต่อหลายครั้ง หรือนับเป็นสิบๆ ปี แต่น้ำยังไม่เคยท่วมในโรงพยาบาล ในทั้งๆ พื้นที่อื่นแทบจะต้องหนีตายกันอย่างโกลาหล

คำถามก็คือว่า แล้วเป็นเพราะอะไร? "มติชนออนไลน์" มีคำตอบ และจะได้รู้เทคนิคว่ามีวิธีในการรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมอย่างไร

"ทิพย์พร สุคติพันธ์" ให้สัมภาษณ์กับ "มติชนออนไลน์" ไว้อย่างน่าสนใจว่า เรียนรู้ที่จะรับมือกับน้ำมาตั้งแต่เมื่อปี 2538 หรือเมื่อเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ และโรงพยาบาลนี้ มีจุดต่างจากที่อื่นคือ เวลาน้ำท่วมบุคลากรทุกคนจะออกมาช่วยกัน ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล ทุกๆ คนจะช่วยกันป้องกันไม่ให้น้ำท่วม และโรงพยาบาลนี้การที่หมอหรือพยาบาลจะออกมากรอกทรายใส่กระสอบถือเป็นเรื่องปกติ ใครที่มีแรงพอก็จะออกมาช่วยกันทำ

เมื่อถามว่าการวางแผนป้องกันน้ำท่วมมีจุดเริ่มต้นอย่างไรนั้น ทิพย์พร บอกว่า เริ่มที่การศึกษาเรื่องน้ำท่วมว่าเกิดอะไรขึ้น คือ จะเริ่มดูจากแผนที่ทางอากาศประกอบกับการคาดเดาสถานการณ์ ไล่ตั้งแต่ภาคเหนือลงมาจนถึงจังหวัดพิจิตร ตั้งแต่ช่วงเดือนมิถุนายน ซึ่งเป็นช่วงก่อนเข้าฤดูฝน และที่จ.พิจิตรจะเป็นที่ราบกว้างใหญ่ น้ำจากแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านจะไหลลงมากองรวมกันและค่อยๆ เคลื่อนที่อย่างช้าๆ ลงมาที่ อ.ชุมแสง โดยจะอำเภอนี้เป็นจุดชี้ว่าน้ำจะท่วมโรงพยาบาลหรือไม่ พอหลังจากที่ชุมแสงท่วมแล้วนั้น น้ำก็จะค่อยๆ ไหลลงมาท่วมที่จ.นครสวรรค์ แล้วก็จะมาถึงเขื่อนเจ้าพระยา

ขณะเดียวกัน ก็ได้มีการหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ตประกอบ โดยเฉพาะการใช้ข้อมูลของกรมชลประทาน (http://water.rid.go.th/waterreport/)โดยเว็บไซต์นี้จะมีหัวข้อสำคัญ ไม่าจะเป็นภาพถ่ายดาวเทียมของพายุ ปริมาณน้ำในเขื่อน รายงานสถานการณ์ทั่วประเทศ ซึ่งสิ่งนี้สำคัญที่สุด เพราะนายทิพย์พร บอกว่า จะสามารถเห็นได้เลยว่าน้ำที่ตรงจุดนั้นมีเท่าไรบ้าง

มีวิธีการเตรียมตัวป้องกันน้ำท่วมต่างจากที่อื่นอย่างไร?

นายทิพย์พร กล่าวว่า แผนของโรงพยาบาลอินทร์บุรีนั้น พอถึงเดือนมิถุนายนฝนเริ่มตก ก็จะเริ่มดูข้อมูลน้ำจากชลประทานถ้าหากช่วงเดือนมิถุนายนถึงเดือนกรกฎาคม น้ำเริ่มท่วมพิจิตร ทีมงานก็จะเริ่มเฝ้าติดตามสถานการณ์ ถ้าหากว่าท่วมเยอะ ที่นี่ก็จะไม่รอดแน่ๆ เช่นเดียวกับปีนี้ แต่จะโดนหนักหรือโดนน้อยขึ้นอยู่กับว่าน้ำจะอยู่นานหรือไม่นาน ของแถมเพิ่มมาก็คือ น้ำจากเขื่อนสิริกิต์ ซึ่งในปีนี้มีน้ำเยอะมากถึง 70 - 80% ตั้งแต่ต้นปี ยิ่งพอเจอพายุไหหม่า พายุนกเตน น้ำก็ยิ่งเยอะ เราก็มองแล้วว่า เขื่อนนี้จะต้องปล่อยน้ำมาเพิ่มอีกแน่ๆ

หลังจากพอเรารู้ปริมาณน้ำแล้ว ก็เข้าสู่การต้องเริ่มเตรียมตัว โดยการเตรียมกระสอบทรายพร้อมๆ กับการเช็คอุปกรณ์ เครื่องสูบ ทางเดิน และอื่นๆ สิ่งสำคัญ เราต้องอ่านใจสำนักชลประทานที่ 12 ว่าจะมีการปล่อยน้ำอย่างไร ชลประทานทำอะไร ซึ่งปีนี้เดาใจถูก เพราะอย่าลืมว่าน้ำที่ท่วมนั้น เป็นน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยา โดยเฉพาะการสังเกตุถนนเลียบฝั่งแม่น้ำทั้ง 2 ข้าง ขณะเดียวกัน ก็มีการศึกษาเรื่องภาพถ่ายดาวเทียมต่างๆ ประกอบ แต่ตอนนี้ยังอ่านไม่ขาดว่า ถ้าน้ำท่วมจ.พิจิตรเท่านี้แล้ว จะรู้ได้ว่าจะท่วมโรงพยาบาลอินทร์บุรีขนาดไหน

คิดว่าในปีถัดๆ ไปจะพยายามศึกษาเรื่องนี้ให้มากขึ้น ซึ่งตอนนี้นั้นระยะเวลาจากเขื่อนเจ้าพระยามาถึงที่นี่จะใช้เวลาประมาณ 5 - 6 ชั่วโมง ถ้าจากนครสวรรค์จะมาถึงที่โรงพยาบาลอินทร์บุรี ภายใน 9 ชั่วโมง โดยจะรู้แค่ว่าจะท่วมสูงเท่าไร โดยการใช้จุดวัดที่นครสวรรค์ ก่อนจะสามารถยกของหนีน้ำล่วงหน้าได้ แต่หลังๆ มานี้สามารถตอบคำถามได้ว่า พรุ่งนี้น้ำจะขึ้นเท่าไร

จุดเด่นคือการเรียงกระสอบทราย

นายทิพย์พร ยังกล่าวอีกว่า ที่นี่เรียงกระสอบทรายไม่เหมือนที่อื่น คือที่อื่นเห็นนำมากองๆ กันไว้ เช่นเดียวกับทหารเรียงกระสอบแบบบังเกอร์ ซึ่งน้ำรั่วซึมได้ และจากประสบการณ์แล้ว จะเรียงกระสอบแบบบางๆ แบนๆ ทราย 2 พลั่วต่อกระสอบหนึ่งถุง ไม่ปิดปากถุงกระสอบแล้ววางลงไป แล้วใบที่ 2 ก็วางทับตรงปากถุงใบแรกไปเรื่อยๆ ชั้นที่ 2 ชั้นที่ 3 ก็จะมีคนเดินบนย่ำให้แนบติดกัน พอ 4 - 5 ชั้น ก็จะทำแถวสอง เมื่อถามว่าวิธีการนี้มาจากไหนนั้น ก็ยังไม่รู้ว่าใครเป็นคนเริ่มต้น และเริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2545 ซึ่งกล้าบอกได้เลยว่าที่อื่นหรือที่ตามข่าวเรียงไม่เป็น

ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นก็คือ การเลี้ยงน้ำ ซึ่งน้ำที่ผุดจากใต้ดินก็จะมีการสร้างบ่อล้อมไว้ ความสูงเท่าน้ำข้างนอก แล้วปูผ้าพลาสติกไว้ข้างใน พอน้ำข้างในกับข้างนอกเท่ากัน น้ำก็จะหยุดซึม นอกจากนี้แล้วยังมีวิวัฒนาการในเรื่องของการสร้างทางเข้าออก สิ่งนี้ไม่เหมือนใครจริงๆ ซึ่งแต่เดิมนั้นในปี 2538 ใช้การพายเรือ ปี 2545 ใช้ไม้มาทำสะพานเหมือนที่ทำกันทั่วๆ ไป ลงทุนครั้งละ 4 - 5 หมื่นบาท พอน้ำแห้งไม้พวกนี้ก็จะเสียหายใช้การไม่ได้อีก พอปี 2549 ก็ใช้ขอบบ่อซีเมนต์รองไม้กระดานแทน แต่สิ่งที่ตามมาคือการยกหนีน้ำยาก ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้เหล็กนั่งร้านที่สามารถยกขึ้นหรือ โดยเชื่อว่าที่อื่นไม่ได้ทำ

มากกว่านั้น นายทิพย์พร กล่าวต่อว่ายังใช้รถอีแต๋นในการสัญจร คือ เวลาน้ำท่วมไม่สูงเรือยังวิ่งไม่ได้ รถก็ลุยน้ำลำบาก รถอีแต๋นจึงมีประโยชน์ รถอีแต๋นใช้ขนกระสอบทรายดีกว่ารถกระบะมาก

การรู้ล่วงหน้าคือหัวใจสำคัญในการรับมือน้ำท่วม

ส่วนการรับมือกับคนไข้นั้น เมื่อน้ำใกล้ถึงระดับ 80 เซนติเมตร จะมีการสั่งออกซิเจนมาสำรองไว้ ไม่ว่าที่โรงพยาบาลจะเหลือเท่าไหร่ ซึ่งปกติแล้วออกซิเจน 1 ถึงใช้ได้ 20 วัน ขระเดียวกันรถออกซิเจนจะวิ่งเข้ามาได้ที่น้ำลึกไม่เกิน 80 เซนติเมตร เมื่อนี้น้ำท่วม 70 วัน ทำให้ต้องย้ายผู้ป่วยหนักออกจากโรงพยาบาลช่วงตอนน้ำท่วมกลางๆ แต่ที่เหลือก็พออยู่ได้ เช่นเดียวกับยาและเวชภัณฑ์อื่นๆ

อีกเรื่องหนึ่งก็คือ เมื่อระดับน้ำภายนอกท่วมสูงถึง 130 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระดับเดียวกับเตียงคนไข้ในโรงพยาบาล ก็จะมีการอพยพทุกอย่างที่อยู่ต่ำกว่าระดับดังกล่าว เราจะไม่เสี่ยง ทั้งนี้ถือว่า คนไข้สำคัญที่สุด และเรื่องไฟก็ถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ เพราะโรงพยาบาลต้องใช้ไฟกันทั้งโรงพยาบาล ฉะนั้น เมื่อคนยังอยู่ในพื้นที่จะเกิดความวุ่นวาย ซึ่งจะเห็นได้ว่า พอน้ำมาจะมุ่งแต่อพยพคนไข้โดยไม่ได้ย้ายอย่างอื่น จนได้รับความเสียหาย

เมื่อถามว่าอะไรลำบากที่สุด นายทิพย์พร กล่าวว่า ช่วงต้นหรือช่วงประมาณ 10 วันแรกของน้ำท่วม เพราะน้ำจะขึ้นเรื่อยๆ จะต้องต่อสู้ตลอด ต้องกรอกทราย เรียงกระสอบ สูบน้ำ ต้องทำสะพาน คือช่วงดังกล่าวจะเป็นภาคแรงงานทั้งหมด ต้องเฝ้าระดับน้ำจนถึงช่วงดึก

ฉะนั้น การสร้างสะพาน การเรียงกระสอบ และการพยากรณ์ล่วงหน้า คือจุดเด่นหรือเทคนิคสำคัญที่เชื่อว่าที่อื่นไม่มี ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

คิดว่าชลประทานไม่ได้โกหก แต่ประชาชนไม่เข้าใจมากกว่า

ที่ผ่านมานั้นเป็นการแจ้งเตือนที่ผิด ข้อมูลบิดเบือน ซึ่งคิดว่าที่ผ่านมากรมชลประทานไม่ได้โกหก เพียงแต่ประชาชนไม่เข้าใจ เพราะมีการรายงานแบบนักวิชาการ อย่างเช่นน้ำจะไปที่นั่น 50 คิว แล้วประชาชนจะรู้ได้อย่างไรว่ามีปริมาณน้ำเท่าไหร่ จะทำอะไรกับบ้านได้บ้าง ซึ่งกรมชลประทานควรจะมีวิธีรายงานที่ทำให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายกว่านี้ เปลี่ยนจากภาษาวิชาการให้เป็นภาษาชาวบ้าน ขณะเดียวกัน ที่ผ่านมานั้น เห็นความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับน้ำท่วมนั่นก็คือ น้ำมีเยอะขึ้น ฝนตกเยอะขึ้น และน้ำท่วมถี่มากขึ้น

เวลาน้ำจะท่วมไม่ได้เริ่มที่เขื่อนเจ้าพระยา แต่น้ำจะเริ่มก่อนถึงเขื่อนเจ้าพระยาก่อนจะมาท่วมในพื้นที่ไต้เขื่อนอีก 2 - 3 เดือน แต่คนจำนวนมากจะเริ่มขยับตัวก็ต่อเมื่อน้ำเริ่มมาอยู่ที่ปากเขื่อนเจ้าพระยาแล้ว แต่ทางเราจะเริ่มขยับตัวก่อน ดูง่ายๆ คือโรงพยาบาลจะซื้อกระสอบในราคา 4 บาท แต่คนกรุงเทพฯ จะซื้อกระสอบแพงกว่านี้หลายเท่าตัว

"เช่นเดียวกับชาวนา ภาคกลางจะทำนาปีละ 2 - 3 ครั้งๆ ละ 100 วัน และเมื่ออีก 3 เดือนน้ำจะท่วม ทำไมถึงไม่บอกชาวนาว่าไม่ต้องลงข้าว โดยชดเชยให้เท่าไรก็ว่าไป ไม่ได้ทำนาแต่ได้เงิน ดีกว่าการที่ชาวนาลงเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว ก่อนจะถูกน้ำท่วมแล้วค่อยมาชดเชยให้ทีหลัง ซึ่งขาดทุน เช่น ปีนี้รัฐบาลจ่ายให้ 2 พันบาทต่อไร่ แต่ลงทุนมากกว่านั้น เมื่อบอกชาวนาว่าไม่ต้องลงทุนทำนาแต่จะจ่ายให้ 2 พันบาท จะดีกว่านี้เยอะ ควรจะบอกเขาได้ว่าที่ตรงนี้ของคุณท่วมแน่ๆ ไม่ต้องลงข้าว ก็ถือเป็นการเช่าที่นาแล้วแล้วระบายน้ำลงไปซะ ก็จะไม่ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนหนักไปกว่านี้" นายทิพย์พร อธิบาย

พอจะยกระดับเป็น "อินทร์บุรีโมเดล" ได้หรือไม่?

ก็พอได้นะ นายทิพย์พร ตอบอย่างไม่ลังเล อย่างน้อยที่สุดเรามีกลไก มีการวางระบบ มีแผน ซึ่งหลายๆ ส่วนนั้น กระทรวงสาธารณสุขก็นำไปเป็นแบบอย่าง เพราะในส่วนของเราคือแผนป้องกัน ที่สำคัญ คนไทยไม่เคยเรียนรู้การรับมือกับสถานการร์น้ำท่วม

ถัดไปวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมอย่างไรบ้าง?

นายทิพย์ กล่าวว่า ปีหน้า "ลานีญ่า" ยังอยู่ ซึ่งจะต้องเฝ้าระวังตั้งแต่เดือนมิถุนายนเป็นต้นไป พอเดือนพฤษภาคมก็ต้องเริ่มประชุมได้แล้วว่า จะปรับแก้อะไรบ้าง และปีนี้เองก็ไม่คิดว่าน้ำจะท่วมด้านหน้าโรงพยาบาลสูงถึง 160 เซนติเมตร แม้มีคนเสนอให้ทำถนนยกสูงเท่ากับความสูงถนนด้านหน้าโรงพยาบาลเพื่อให้ช่วงน้ำท่วมสามารถสัญจรไปมาได้ แต่ชาวบ้านที่อยู่บริเวณนั้น ก็ไม่ยอมอยู่ดี

ทั้งหมดนี้จึงอาจเรียกได้ว่าเขาคือ "นักสู้น้ำชลประทาน" ตัวจริง ก่อนจะสามารถรับมือกับสถานการณ์น้ำและป้องกันโรงพยาบาลแห่งนี้ไว้ได้สำเร็จ

ซึ่งน้อยนักที่สถานพยาบาลไม่กี่แห่งจะป้องกันน้ำท่วมได้

ขณะเดียวกัน คงจะเป็นคำตอบได้ว่า ทำไมน้ำไม่ท่วมโรงพยาบาลอินทร์บุรีน้ำถึงไม่ท่วม ...

เรื่อง: วุฒิพงษ์ ภาชนนท์, ทิพาภรณ์ สุคติพันธ์
มติชนออนไลน์  21 ธันวาคม พ.ศ. 2554
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 22 ธันวาคม 2011, 06:21:29 โดย pani »