ผู้เขียน หัวข้อ: สิทธิพยาบาล "ส.ส.-ส.ว." หลักแสนบาท เรื่อง "เว่อร์" หรือ "จำเป็น" ???  (อ่าน 973 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
จากกรณีที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2554 เห็นชอบร่างระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินเกี่ยวกับการประกันสุขภาพ (การรักษาพยาบาล) ของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ... ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์และสิทธิค่ารักษาพยาบาลหลายรายการ อาทิ ค่ารักษาพยาบาลทั่วไปต่อครั้งได้ 100,000 บาท ค่าผ่าตัดต่อครั้งได้ 120,000 บาท และค่าตรวจสุขภาพประจำปีได้ 7,000 บาท

จากเดิมค่าใช้จ่ายต่อปีที่ 12.6 ล้านบาท เพิ่มมาเป็น 124.63 ล้านบาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากเดิมถึง 112 ล้านบาทต่อปี

ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เพราะ ส.ส.-ส.ว.มีเงินเดือนสูงอยู่แล้ว แต่ยังได้รับสิทธิรักษาพยาบาลในเกณฑ์ดี (มาก) อาจสะท้อนภาพความเหลื่อมล้ำ และขัดเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 51 ที่ระบุบุคคลย่อมมีสิทธิในการได้รับการบริหารด้านสาธารณสุขอย่างเท่าเทียม มีคุณภาพและมาตรฐาน

"สัมพันธ์ ทองสมัคร" อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 13 สมัย ปัจจุบันนั่งเป็นกรรมการสภาที่ปรึกษา ปชป.

เล่าภาพความทรงจำเก่าๆ ของการทำหน้าที่ผู้แทนฯ ว่า ความยากลำบากและความอดทนต่างจากวันนี้อย่างสิ้นเชิง โดยเฉพาะส.ส.ในยุคแรก หลายคนไม่ได้มีฐานะร่ำรวย มาจากชาวบ้าน บางคนเป็นครู เป็นชาวนา แต่อาสามารับใช้ประชาชน

"ผมเองก็เป็นครูโรงเรียนบ้านนอกใน อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช ตั้งแต่ปี 2510 แล้วลาออกมาลงผู้แทนฯสมัยแรกปี 2518 ก็ไม่ได้บำเหน็จบำนาญข้าราชการ"

ส่วนเพื่อนและรุ่นพี่ ส.ส.หลายคนที่เขารู้จัก ก็มีฐานะยากจน ไม่มีธุรกิจส่วนตัว ถือกระเป๋าใบเดียวขึ้นรถไฟมา กทม. เขาจึงเห็นด้วยว่าอาชีพ "ผู้แทนฯ" ต้องได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมจากรัฐ เพราะผู้แทนฯทำหน้าที่เพื่อประชาชน แม้ในยุคนี้ จะมีแต่ผู้แทนฯร่ำรวย บางคนก็ไม่ใช่สิทธิที่สภาจัดให้ ยอมควักเงินไปรักษากับโรงพยาบาลเอกชนเอง เพราะมีกำลัง

"ส.ส.ที่ลำบากก็มีนะ ผมจำได้ยุคแรกๆ ได้เงินเดือนไม่เกิน 5 พันบาท โดนซองผ้าป่า งานบวช ฯลฯ เข้าไปก็หมดแล้ว แต่ละบาทแต่ละสตางค์สำหรับ ส.ส.บางคนนั้นมีความหมาย แต่ก็อาจไม่มีความหมายสำหรับ ส.ส.ที่ร่ำรวยบางคน"

ผู้แทนฯอาวุโสเมืองใต้ ทิ้งท้ายถึงภาพความทรงจำ โดยยกตัวอย่างเพื่อน ส.ส.ในยุคแรกที่ล่วงลับไปแล้ว ก็หลายคน เช่น "ฉ่ำ จำรัสเนตร" หรือ "ครูฉ่ำ" ซึ่งตาบอดข้างหนึ่ง ฐานะยากจน แต่ได้เป็นผู้แทนหลายสมัย สังกัดพรรคธรรมาธิปัตย์, "คล้าย ละอองมณี" อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงผู้เถรตรงไม่ยอมใคร ผู้ร่วมก่อตั้ง ปชป.ในยุคแรก เป็นต้น ที่เขาถือว่าเป็นผู้แทนฯตัวจริงที่ "รัฐ" ให้สิทธิประโยชน์กับคนเหล่านั้นน้อยมาก

"หลายคนมาจากการเป็นครู แม้หลายคนจะเป็นทนายมาก่อน แต่เมื่อเป็นผู้แทนฯ ก็ต้องนั่งเก้าอี้ผู้แทนทนายอาสา ว่าความช่วยชาวบ้านฟรีๆ แล้วจะเอาเงินมาจากไหน สำหรับ ส.ส.สูงอายุจำเป็นมาก เพราะป่วยบ่อย และค่ารักษาพยาบาลเดี๋ยวนี้ก็สูงมาก"

ขณะที่ "พีรพันธุ์ พาลุสุข" ส.ส.ยโสธร พรรคเพื่อไทย ผู้อาวุโสในอาชีพผู้แทนฯตั้งแต่ปี 2529 เล่าว่า เดิมผู้แทนฯใช้ระบบประกันสุขภาพหมู่ เพราะ ส.ส.หลายคนที่มาทำงาน ไม่ได้เป็นคนมีฐานะหรือรายได้ในขั้นดีมากมาย แต่อยากทำงานเพื่อบ้านเมือง

"จริงๆ แล้วพวกเรา สวัสดิการไม่มีเหมือนคนอื่น ต่างจากข้าราชการที่มีสวัสดิการสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้ทั้งครอบครัว แต่ ส.ส.รุ่นเก่าไม่มีธุรกิจอะไรเลย อย่าง ปู่แคล้ว (แคล้ว นรปติ) 20 กว่าปีในชีวิตการเมือง จบชีวิตไปก็จบกัน"

"พีรพันธุ์" สะท้อนแกมน้อยใจว่า อะไรที่เป็นสิทธิประโยชน์ของ ส.ส. สังคมมักมองว่าเป็นเรื่องไม่จำเป็น อย่างเรื่องบำเหน็จบำนาญ สังคมก็ไม่รับ แต่สำหรับ ส.ส.แล้ว ถือว่าจำเป็นมากในบั้นปลาย

ส่วนสิทธิรักษาพยาบาลใหม่ ที่มองว่าได้มากกว่าคนทั่วไป เป็นความเหลื่อมล้ำ

"เขา" อธิบายว่า เป็นการให้สวัสดิการตามตำแหน่งหน้าที่ เพราประชาชนก็มีประกันสังคม และหลักประกันสุขภาพ ซึ่งโดยรวมแล้ว วงเงินก็มาก

"ผมคิดว่าเรื่องสิทธิต่างๆ ของพวกเรา สภาต้องทำความเข้าใจกับประชาชนด้วย เพราะที่จริงแล้ว หากใครไม่เจ็บป่วย ก็ไม่ต้องเบิก แต่ที่ผ่านมามีปัญหา เพราะวงเงินน้อยมาก ผมเคยไปทำฟัน แล้วกลับมาเบิกไม่ได้ บอกว่าวงเงินเต็มแล้ว ก็ต้องจ่ายเอง เพื่อนผู้แทนฯหลายคน ก็ต้องออกเองหลายครั้ง เพราะเต็มวงเงิน

"เรื่องสิทธิรักษาพยาบาล ต้องให้ความสำคัญกับผู้แทนฯด้วย เพราะบางคนไม่มีฐานะ โดยเฉพาะ ส.ส.รุ่นเก่า แต่ก็มีรุ่นใหม่บางคนที่มีธุรกิจ ร่ำรวย อยากเป็นผู้ทรงเกียรติเลยมาเป็น ส.ส. จึงถืองานสภาเป็นงานรอง ก็มี..."

(ที่มา หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 19 ธันวาคม 2554)