ผู้เขียน หัวข้อ: เปิด 14 ประเด็นเตรียมปรับแก้ พ.ร.บ.“บัตรทอง” ใหม่  (อ่าน 570 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 เปิด 14 ประเด็นพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ทั้งการจ่ายเงินหน่วยงานที่ไม่มีสิทธิตามกฎหมาย เงินเหมาจ่ายรายหัว ความครอบคลุมของสิทธิบัตรทองทุกคนบนแผ่นดินไทย การร่วมจ่ายค่าบริการ เงินเดือน และค่าตอบแทน เร่งจัดทำร่างให้เสร็จใน พ.ค. นี้ พร้อมประชาพิจารณ์ 2 - 4 มิ.ย.
       
       วันนี้ (1 พ.ค.) ในการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธาน มีวาระการรายงานความก้าวหน้าการแก้ไข พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 หลังจาก นพ.ปิยะสกล ออกคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2560 โดยต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือน
       
       นพ.ประจักษวิช เล็บนาค รองเลขาธิการ สปสช. ในฐานะเลขานุการร่วมกับ นพ.มรุต จิรเศรษฐศิริ ผู้ตรวจราชการ สธ. ของคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... กล่าวว่า คณะกรรมการชุดนี้ มี รศ.วรากรณ์ สามโกเศศ เป็นประธาน โดยมีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมา 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งคณะอนุฯ นี้แบ่งออกเป็น 2 คณะ โดยคณะอนุกรรมการที่ 1 มี นพ.เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษา รมว.สาธารณสุข เป็นประธาน จะพิจารณาประเด็นปรับแก้ที่เกี่ยวเนื่องกับคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ม.44 และ ม.77 รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และคณะอนุกรรมการที่ 2 มี นพ.ณรงค์ศักดิ์ อังคะสุวพลา กรรมการ สปสช. เป็นประธาน พิจารณาการปรับแก้ในประเด็นอื่นๆ 2. คณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ. มี นพ.วิศิษฎ์ ตั้งนภากร อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นประธาน พิจารณาในเรื่องข้อกฎหมายว่า สิ่งที่แก้ไขในประเด็นชุดที่ 1 และ 2 เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับกฎหมายอื่นๆ หรือไม่ และ 3. คณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. โดยมี นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เป็นประธาน เนื่องจากมีประสบการณ์ในการจัดทำประชาพิจารณ์ในสมัชชาสุขภาพแห่งชาติมาก่อน
       
       “การพิจารณาประเด็นดังกล่าว จะเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. ภายใน พ.ค. นี้ และคณะอนุกรรมการพิจารณาจัดทำ (ร่าง) พ.ร.บ. จะเร่งดำเนินการจัดทำร่าง พ.ร.บ. ให้เสร็จสิ้นภายใน พ.ค. นี้ เช่นกัน โดยคณะอนุกรรมการจัดทำประชาพิจารณ์ฯ จะจัดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในวันที่ 2 - 4 มิ.ย. 2560 และจะเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมต่อ รมว.สาธารณสุข ในช่วงสัปดาห์แรกของ ก.ค. 2560” นพ.ประจักษวิช กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย จากเอกสารรายงานความก้าวหน้าการพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ. สปสช. นั้น พบว่า ประเด็นของคณะอนุฯ ที่ 1 มีการพิจารณา 7 ประเด็น คือ การจ่ายเงินให้กับหน่วยงาน หรือองค์กรที่ไม่มีสิทธิได้รับตามกฎหมาย กรอบการใช้เงินกองทุนเรื่องความครอบคลุมของค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ค่าสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค การจ่ายเงินโดยตรงแก่บุคคล ไม่ผ่านหน่วยบริการตามกฎหมายกำหนด เงินเหมาจ่ายรายหัว เงินที่ได้จากผลบริการ ให้รับเข้าเป็นรายได้ของหน่วยบริการเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องและจำเป็นใช้ตามระเบียบเงินบำรุงฯ ได้ นิยามบริการสาธารณสุข เงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ให้บริการครอบคลุมทุกสิทธิ และเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้รับบริการครอบคลุมทุกสิทธิและยกเลิกการไล่เบี้ย ส่วนคณะอนุฯ ที่ 2 พิจารณา 7 ประเด็นเช่นกัน เรื่อง การจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย การร่วมจ่ายค่าบริการ การสนับสนุนยา หรือเวชภัณฑ์ หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพ คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข การยกเลิกมาตรา 46 (2) ค่าใช้จ่าย รวมเงินเดือนและค่าตอบแทน เงินงบประมาณและรายได้ของ สปสช. ไม่ต้องคืนคลังและคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของเลขาธิการ สปสช.
       
       น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกรรมการบอร์ด สปสช. กล่าวว่า การแก้ไข พ.ร.บ. มีความเกี่ยวข้องกับประชาชนเป็นวงกว้าง การทำประชาพิจารณ์เพียง 1 ครั้ง อาจจะไม่ครอบคลุมและกว้างขวางเพียงพอ จึงควรมีการเพิ่มการรับฟังความคิดเห็นให้มากยิ่งขึ้น
       
       นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสาร สังคม และรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และรับบริการ สปสช. กล่าวว่า การรับฟังความคิดเห็นต่อระบบหลักประกันสุขภาพฯ ที่ สปสช. มีการดำเนินการทุกปี โดยปี 2559 - 2560 มีการเพิ่มประเด็นแนวคิดการแก้ไขปรังปรุง พ.ร.บ. ด้วย ซึ่งมีการดำเนินการรับฟังทั้ง 13 เขตสุขภาพทั่วประเทศ หากนำความคิดเห็นดังกล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมพิจารณา จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้น

โดย MGR Online       1 พฤษภาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 ผอ.รพ.อุ้มผาง หนุนหลักการแก้ พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพฯ ให้สิทธิบัตรทองทุกคนบนแผ่นดินไทย ชี้ จะเป็นตัวอย่างที่ดีของโลก เป็นการทำ CSR ที่ฉลาดที่สุดและยังส่งเสริมการควบคุมป้องกันโรคอีกด้วย
       
       นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก ให้ความเห็นถึงการปรับปรุง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งในชั้นของคณะอนุกรรมการพิจารณาประเด็นประกอบการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพฯ คณะที่ 2 ได้กล่าวถึงการจัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทย ว่า ตนเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าวเป็นอย่างยิ่ง โดยมีเหตุผล 3 ข้อ ประกอบด้วย 1. เรื่องการแพทย์เป็นเรื่องมนุษยธรรม หากมีคนเจ็บป่วยมาที่โรงพยาบาล จะอย่างไรก็ต้องช่วยอยู่ดี ดังนั้น ถ้ารัฐไทยช่วยเหลือให้การรักษาทุกคนบนแผ่นดินไทย จะเป็นตัวอย่างที่ดีของโลกว่าทุกประเทศในโลกควรทำเช่นนี้ และถ้าคนไทยไปเจ็บป่วยในประเทศอื่น ประเทศอื่นๆ ก็ควรกระทำเช่นเดียวกับที่ประเทศไทยแสดงให้เห็น
       
       2. เป็นการควบคุมโรคระบาดไม่ให้แพร่กระจาย เนื่องจากโรคภัยไข้เจ็บไม่มีพรมแดน โดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสทางสังคม อาทิ คนต่างด้าวหรือชาวไทยภูเขาที่ไม่มีสัญชาติไทย หากเจ็บป่วยและไม่ได้รับการรักษา ก็มีโอกาสที่โรคจะแพร่กระจายไปยังคนอื่นได้ อย่างโรคอหิวาต์ หรือ วัณโรค ยังไงรัฐไทยก็ต้องให้การรักษาและปัจจุบันโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขก็ต้องรักษาอยู่แล้ว ไม่ว่าคนไข้จะมีเงินหรือไม่ก็ตาม เพราะเป็นโรคที่ติดต่อคนอื่นได้และถึงชีวิต
       
       และ 3. นอกจากกลุ่มชาวไทยภูเขาและกลุ่มคนไร้สัญชาติแล้ว โดยส่วนตัวเห็นว่าควรให้สิทธิการรักษาครอบคลุมไปถึงผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวด้วยซ้ำ แต่ไม่ใช่แรงงานต่างด้าวซึ่งกลุ่มนี้มีสิทธิประกันสังคมอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าสับสนตรงนี้ และคำว่าทุกคนบนผืนแผ่นดินก็ไม่ได้หมายถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย ขอย้ำว่าอย่าสับสนเช่นกัน นักท่องเที่ยวต่างชาติมีประกันสุขภาพอยู่แล้ว ทั้งนี้ สาเหตุที่เห็นว่าควรให้สิทธิรักษาครอบคลุมไปถึงบุตร หรือผู้ติดตามแรงงานด้าว เนื่องจากประเทศไทยได้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากแรงงานต่างด้าว ดังนั้น จึงควรคืนบางส่วนให้ในรูปของการให้การศึกษาและการรักษาพยาบาลแก่บุตร หรือผู้ติดตามของแรงงาน ถือเป็นการทำ CSR ของประเทศที่มีความ Smart เป็นอย่างยิ่ง เพราะการให้การศึกษาและรักษาพยาบาลแก่บุตรแรงงานต่างด้าว นอกจากลดโอกาสที่เด็กกลุ่มนี้จะเติบโตมาเป็นปัญหาสังคม เนื่องจากด้อยการศึกษาแล้ว ยังย้อนกลับไปถึงเหตุผลในการป้องกันและควบคุมโรคได้อีกทางหนึ่งด้วย
       
       นพ.วรวิทย์ กล่าวอีกว่า การให้สิทธิรักษาพยาบาลคนกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย เชื่อว่า จะใช้งบประมาณเพิ่มไม่มากนัก เพราะต้นทุนที่เป็น Labour Cost อาทิ เงินเดือนบุคลากรทางการแพทย์ก็ไม่ได้เพิ่ม มีเพิ่มในส่วนของค่ารักษา ค่ายา หรือค่าวัคซีนจำนวนหนึ่ง แต่สิ่งที่ได้รับคือช่วยในการควบคุมโรค นอกจากนี้ หากจะวิจารณ์หลักการนี้ว่าเป็นการเอาภาษีของคนไทยมาดูแลคนต่างด้าวก็คงไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะคนต่างด้าวทุกคนที่อาศัยบนแผ่นดินไทยก็เสียภาษีเช่นกันในรูปของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จ่ายผ่านการซื้อสินค้าต่างๆ มิใช่ไม่เสียภาษีเลยแต่อย่างใด

โดย MGR Online       5 พฤษภาคม 2560