ผู้เขียน หัวข้อ: ประธานบอร์ด สปส.ฟันธงรักษาโรคร้ายแห่เข้า รพ.สังกัด ร.ร.แพทย์  (อ่าน 1448 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
ประธานบอร์ด สปส.ยืนยันกำหนดอัตราค่ารักษาโรคร้ายแรงไม่ได้เอื้อประโยชน์ รพ.เอกชน ยันศึกษามาอย่างดี คาด ผู้ประกันตนแห่เข้ารักษา รพ.สังกัดมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์ เตรียมสั่ง สปส.ประเมินผลในช่วง 6 เดือน-1 ปีพร้อมตรวจสอบคุณภาพการรักษา
       
       วานนี้ (16 ธ.ค.) นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ ปลัดกระทรวงแรงงานในฐานะประธานคณะกรรมการประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงกรณีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ตั้งข้อสังเกตการปรับรูปแบบวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมไปเป็นแบบจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงต่างๆในโดยคำนวณตามระดับความรุนแรงของโรคในปี 2555 โดยเริ่มต้นที่ระดับละ 1.5 หมื่นบาท เป็นอัตราที่สูงเกินไปและเกรงจะเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อโรงพยาบาลเอกชน รวมทั้งมีผลกระทบต่อความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวด้วยว่า ตนขอยืนยันว่าการกำหนดอัตราค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงต่างๆ ในโดยคำนวณตามระดับความรุนแรงของโรค โดยเริ่มต้นที่ระดับละ 1.5 หมื่นบาทนั้นไม่ได้เป็นอัตราที่สูงเกินไปเพราะได้มีการศึกษามาอย่างรอบคอบและยึดข้อมูลที่ตรงความเป็นจริงมากที่สุด ไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้แก่ใคร
       
       “หากเทียบดูแล้วระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการมีอัตราตั้งต้นอยู่ที่ระดับละ 1.3 หมื่นบาท แต่ไม่รวมค่าห้อง ค่าอาหาร และมีการคิดเงินค่าเหล่านี้เพิ่มเติม ส่วนระบบของ สปส.คิดค่าเหล่านี้รวมไว้หมดแล้ว ขณะที่ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) มีอัตราตั้งต้นอยู่ที่ระดับละ 9 พันบาท ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำ เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) มีงบประมาณจำกัด”
       
       ทั้งนี้ สปส.ได้ให้สำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) ช่วยทำการวิจัย โดยได้ทำการศึกษาตั้งแต่ปี 2550-2553 รวมทั้งได้เก็บข้อมูลจากโรงพยาบาลรัฐทุกระดับ รวมไปถึงโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์และโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งก็ได้ข้อสรุปออกมาในอัตรากลางๆ ที่โรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนต่างให้การยอมรับทั้งที่จริงๆ แล้ว อัตราของโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยที่ผลิตแพทย์และโรงพยาบาลเอกชนสูงกว่านี้ เนื่องจากโรงพยาบาลทั้งสองส่วนนี้มองถึงประโยชน์ของสังคม
       
       “คณะกรรมการการแพทย์ของ สปส.มี ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา อดีตอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานและกรรมการแพทย์ก็ล้วนแต่เป็นหมอระดับผู้ใหญ่ในวงการแพทย์ พวกท่านเหล่านี้คงไม่ได้ไปคิดในเรื่องการเอื้อประโยชน์แก่โรงพยาบาลเอกชน” นพ.สมเกียรติ กล่าว
       
       นพ.สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การที่ สปส.ปรับระบบปรับรูปแบบวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมไปเป็นแบบจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงต่างๆ ไม่คิดในเรื่องการจะไปเอาชนะคะคานระบบบริการรักษาพยาบาลในระบบอื่นๆ แต่คิดอย่างเดียวว่าผู้ประกันตนจะได้รับบริการที่ดีที่สุดตามที่สปส.มีกำลังจ่ายได้ ไม่ได้คิดเกินไปกว่าเงินที่มีอยู่ ดังนั้น ไม่ต้องห่วงเรื่องความมั่นคงของกองทุนประกันสังคมในระยะยาวเพราะเก็บเงินสมทบมาได้เท่าไหร่ ก็ใช้งบที่สอดคล้องกับเม็ดเงินที่เก็บเงินสมทบมาได้
       
       “ผมคาดการณ์ว่า หลัง สปส.ปรับรูปแบบวิธีการจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบประกันสังคมไปเป็นแบบจ่ายค่ารักษาตามกลุ่มโรคร้ายแรงต่างๆซึ่งเริ่มในวันที่ 1 ม.ค.2555 ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงต่างๆส่วนใหญ่จะไปใช้บริการในโรงพยาบาลสังกัดมหาวิทยาลัยผลิตแพทย์ เช่น โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เนื่องจากโรงพยาบาลกลุ่มนี้มีแพทย์เก่งๆ อยู่มาก ส่วนโรงพยาบาลเอกชนจะไปใช้บริการเข้ารักษาเฉพาะโรคที่รักษาได้ง่ายๆ ยกเว้นแต่โรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ที่มีความเชี่ยวชาญการรักษาโรคเฉพาะทาง แต่ก็มีค่าใช้จ่ายสูงมากซึ่งผู้ประกันตนคงไม่มีกำลังจ่าย อย่างไรก็ตาม จะให้สปส.ติดตามดูว่าในช่วง 6 เดือน-1 ปี หลังเริ่มใช้ระบบใหม่มีผู้ประกันตนเข้าใช้บริการรักษาโรคร้ายแรงที่โรงพยาบาลสังกัดใดมากที่สุด รวมทั้งจะให้มีระบบตรวจสอบคุณภาพการรักษาด้วยว่าได้มาตรฐานหรือไม่” ประธานบอร์ดสปส.กล่าว
       
       นพ.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า เชื่อว่า หลังจากนี้ โรงพยาบาลเอกชนจะเข้าร่วมเป็นเครือข่ายในระบบประกันสังคมมากขึ้น แต่คงเป็นการให้การรักษาโรคทั่วไป เพราะไม่ต้องห่วงเรื่องประกันความเสี่ยงในการรักษาโรค เนื่องจาก สปส.มีงบประมาณค่ารักษาพยาบาลเฉลี่ยอยู่ที่ปีละ 2 หมื่นล้านบาท

ASTVผู้จัดการออนไลน์    17 ธันวาคม 2554