ผู้เขียน หัวข้อ: อดีต กก.สิทธิฯ ยัน “ล้างไตช่องท้อง”ทางเลือกแรกรักษา แต่ไม่บังคับ ไม่ละเมิดสิทธิ  (อ่าน 569 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
อดีตกรรมการสิทธิฯ ยันล้างไตช่องท้อง ไม่ละเมิดสิทธิผู้ป่วย ชี้ เป็นนโยบายทางเลือกแรกที่ไม่บังคับ มีจุดเด่น หลายประการ คุณภาพชีวิตดีกว่า ไม่ต้องเดินทาง ค่าใช้จ่ายไม่แพง
       
       นพ.สุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กำหนดนโยบายล้างไตช่องท้องอันดับแรกกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวาย ว่า ไม่ถือเป็นการละเมิดสิทธิผู้ป่วย เพราะถือเป็นทางเลือกแรก (PD First Policy) แต่หากผู้ป่วยไม่สามารถล้างไตทางหน้าท้องได้ เช่น เคยผ่าหน้าท้องมาแล้ว หรือ ทำแล้วมีโรคแทรกซ้อนแล้วทำต่อไม่ได้ ก็สามารถเปลี่ยนมาฟอกเลือดแทน ตรงนี้จึงยืนยันว่า ไม่ละเมิดผู้ป่วย ทั้งนี้ ข้อดีของการล้างไตหน้าท้อง คือ 1. ไม่ต้องเดินทางไปถึงที่โรงพยาบาล เพราะถ้าเป็นผู้สูงอายุจะต้องฟอกเลือดมากสุดสัปดาห์ละ 3 - 4 ครั้ง จะมีค่าเดินทางสูง
       
       นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า 2. ผู้ป่วยสูงอายุที่หัวใจไม่แข็งแรง ก็มีความเสี่ยงต่อการฟอกเลือดเนื่องจากการล้างเลือด 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ต้องเอาเลือดออกมาครั้งละ 2 - 3 ลิตร แล้วฟอก แล้วเอาเลือดกลับคืนร่างกาย จากนั้นเอาน้ำที่ใส่ไปข้างในร่างกายออกมาข้างนอก ทั้งหมดทำให้ ปริมาณเลือดในร่างกายถูกดึงออกอย่างรุนแรง แต่ถ้าล้างช่องท้องจะไม่มีลักษณะอย่างนี้ วิธีการจะธรรมชาติค่อยเป็นค่อยไป ต่างจากคนหนุ่มที่เป็นโรคไตวาย ถ้ารักษาด้วยการฟอกเลือดอาจใช้เวลาเพียง 2 ชั่วโมง 3. ค่าใช้จ่ายในการฟอกเลือดสูง ต่อให้มีเงินมากพอก็ยังมีปัญหาไม่จบ ไม่เท่านั้นญาติต้องพามา และต้องขาดงาน และ 4. ปัจจุบันโรงพยาบาลแต่ละแห่งมีเครื่องฟอกเลือดไม่พอเฉลี่ยไม่ถึง 10 เครื่อง แต่ละวันก็ฟอกได้ 3 - 4 รอบ แต่การล้างหน้าท้องมาทำที่บ้านเองไม่จำกัดจำนวนผู้ป่วยในการรักษา
       
       “มันเป็น pd first ซึ่งในทางนโยบายกว่าจะตัดสินเรื่อง pd first ก็คุยกันยาวนาน มีการปรึกษา เปรียบเทียบ มีขัอมูลมทางวิทยาศาสตร์ชัดเจน ที่ฮ่องกงก็ใช้ระบบนี้ หรือที่อินโดนีเซีย มีเกาะจำนวนมาก และมีไม่กี่ที่มีเครื่องฟอกไต เขาก็ใช้ระบบนี้ แต่ถ้าล้างด้วยหน้าท้อง ทำที่บ้าน หลับแล้วก็ตื่นขึ้นมาทำได้ แม่ผมก็ยังใช้ ตอนนี้อายุ 87 ปี ฟอกมา 15 เดือนแล้ว ใช้สิทธิ์ข้าราชการ มีสิทธิ์เลือกฟอกเลือด แต่ผมยังเลือกให้ล้างทางช่องท้อง ทั้งหมดนี้จะแนวทางไหน ก็แล้วแต่วัย แล้วแต่คน มีข้อดีข้อเสีย เลือกเอาได้ แต่การให้ทำ pd first นั้น ไม่ได้ละเมิดสิทธิแน่นอนเพราะได้รับบริการทางสุขภาพที่ได้มาตรฐานเท่าเทียมกัน”
       
       นพ.สุรเชษฐ์ กล่าวว่า ปัจจุบันหมออาวุโสยังปรับตัวไม่ได้กับการใช้วิธีล้างไตทางช่องท้อง เพราะไม่คุ้นชินจึงไม่ชอบ อีกทั้งต้องมีกระบวนการไปเยี่ยมคนไข้ที่บ้าน ซึ่งในกรุงเทพฯ ช่วงแรกไม่มีหมอยอมฟอกเลือดทางหน้าท้อง เพราะมีปัญหาเรื่องการติดตามดูผู้ป่วย แต่ต่างจังหวัดมีโดยเฉพาะระบบพยาบาลครอบครัว อย่างไรก็ตาม ระบบการล้างไตทางช่องท้องมีโดดเด่นหลายที่ เช่น หนองคาย พระนครศรีอยุธยา หรือที่ รพ.บ้านแพ้ว ก็เคยมาช่วยตั้งสาขาล้างไตหน้าท้องที่สุขุมวิทมาแล้ว ที่พูดกันมากว่า ล้างไตทางหน้าท้องติดเชื้อง่ายกว่าความจริงก็ทั้ง 2 แบบ แต่ทั้งหมดอยู่ที่การทำความเข้าใจ บุคลากรทางสาธารณสุขต้องให้ข้อมูลครบทั้ง 2 ด้าน ซึ่งที่ผ่านมาเขาอาจจะยังไม่คุ้นชินเพราะเคยทำอย่างไร ก็ทำอย่างนั้น

โดย MGR Online       19 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
อายุรแพทย์ไต รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช ชี้ ล้างไตหน้าท้องเหมาะกับสถานการณ์ในประเทศไทย ที่มีทรัพยากรจำกัด ยันมีมาตรฐานเทียบเท่าต่างประเทศ ชี้รักษาได้จำนวนมากกว่าเมื่อเทียบกับฟอกเลือด
       
       นพ.กมล โฆษิตรังสิกุล อายุรแพทย์โรคไต รพ.มหาราชนครศรีธรรมราช กล่าวถึงกรณี สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กำหนดนโยบายล้างไตช่องท้องอันดับแรกกับผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ว่า เดิมทีการล้างไตในไทยมีมาเมื่อ 20 ปีที่แล้ว จากที่คนไข้โรคไตไม่มีสิทธิ์อะไรนอกจากข้าราชการอย่างเดียว แต่ก็มาเพิ่มสิทธิ์มาเรื่อยๆ ในระบบประกันสังคม โดยเฉพาะคนไข้ที่เป็นบัตรทองที่เพิ่งมีมาเมื่อสิบกว่าปีก่อน ผลลัพธ์ของการรักษาที่ผ่านมาจึงเพิ่มขึ้น โดยคนไทย 60 ล้านคน มีสิทธิบัตรทอง 80% หรือเกือบ 50 ล้านคน
       
       นพ.กมล กล่าวว่า ไม่สามารถบอกได้ชัดว่า การล้างไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางหน้าท้องวิธีใดดีกว่ากัน เพราะทั้ง 2 วิธีเป็นการรักษาที่มีมาตรฐานทั้งคู่ สำหรับการล้างไตหน้าท้อง บุคลากรสาธารณสุขของไทยได้ไปดูงานจากประเทศอื่นที่ทำกันมาก่อน เช่น ฮ่องกง เม็กซิโก ซึ่งทั้ง 2 ประเทศ มีประชากรมากและทรัพยากรมีจำกัดเหมือนไทย
       
       ส่วนกรณีที่เป็นข่าวทางโซเชียลว่า หมอทำงานต่ำกว่ามาตรฐาน ทำให้คนไข้ที่รักษาด้วยล้างไตหน้าท้องเสียชีวิตมากกว่าคนไข้ฟอกเลือด ก็ยอมรับว่า ผลลัพธ์เป็นอย่างนั้น แต่อย่าลืมว่า ก่อนที่คนไข้จะมารักษาด้วยการล้างไตหน้าท้อง เขาถูกคัดเลือกมาตั้งแต่ เศรษฐานะ สถานะทางสังคมแล้ว กล่าวคือ คนไข้บัตรทองของ สปสช. คือคนไข้ที่ไม่ได้ทำงานราชการ หรือบริษัทไม่มีสิทธิ์เบิกประกันสังคม และก็ถูกให้เลือกว่า ควรล้างไตทางหน้าท้องก่อน แต่ก็ไม่ได้บังคับให้เลือกล้างไตทางหน้าท้องเสมอไป เพราะในประกาศของ สปสช. ระบุว่า คนไข้ที่ล้างไตหน้าท้องมีสิทธิ์เปลี่ยนการฟอกเลือดได้ตามการบ่งชี้ทางการแพทย์
       
       นพ.กมล กล่าวว่า ผลการติดตามการรักษาโดย สปสช. หรืองานวิจัยที่ทำร่วมกับต่างประเทศพบว่า อัตราการเสียชีวิต หรือติดเชื้อด้วยวิธีล้างไตหน้าท้องในช่วง 10 ปีมานี้ไม่ได้แตกต่างกับต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม การล้างไตหน้าท้องมีจุดเด่นที่สามารถรักษาคนไข้ได้จำนวนมาก และรักษาอยู่ที่บ้าน ส่วนการฟอกเลือดจะต้องมีการลงทุนโดยรัฐหรือเอกชน และราคาสูง ไม่ว่าจะเป็นเครื่องไตเทียม ระบบน้ำบริสุทธิ์ ทั้งนี้เครื่องไตเทียมปัจจุบันอยู่ที่ 5 แสนบาทต่อเครื่อง ฉะนั้นใน 1 เครื่องรักษาได้ 1 คนทุกๆ 4 ชั่วโมง ซึ่งใน 1 วันทำได้ประมาณ 2 - 3 คน สรุปแล้ว ใน 1 สัปดาห์เครื่องไตเทียมจะดูแลรักษาคนไข้ไตวายเรื้อรังได้ 6 - 9 คน
       
       “จะเห็นว่า รัฐลงทุน 5 แสนบาทเพื่อดูแลคน 9 คน อันนี้คิดเฉพาะเครื่องไตเทียม ยังไม่ได้คิดเรื่องระบบน้ำหรืออย่างอื่น ดังนั้นเมื่อถามว่าแบบไหนดีกว่ากัน มันก็ต้องดูหลายมิติ รวมทั้งความพร้อมของประเทศด้วย” นพ.กมล กล่าวและว่า ข้อดีอีกอย่างของการล้างไตหน้าท้อง คือ สามารถเลือกล้างอยู่ที่บ้านได้ วิธีการรักษาก็สามารถยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนได้ตามมาตรฐานการล้างไตหน้าท้อง แต่ก็อาจมีข้อเสียที่ไม่เหมาะกับคนไข้บางคนที่ไม่มีคนคอยช่วยดูแล หรือคนไข้มีโรคร่วมหลายอย่าง ขณะที่การฟอกเลือดคนไข้จะต้องเดินทางมารักษา ในต่างจังหวัดยิ่งลำบาก เพราะต้องนั่งรถออกมาหลายต่อเพื่อมาศูนย์ไตเทียม คนไข้บางคนต้องมีญาติพามา เพราะมาเองไม่ได้
       
       นพ.กมล กล่าวว่า อย่างน้อยในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา กระบวนการรักษาโรคไตได้รับการพัฒนาขึ้น ทั้งการล้างไตหน้าท้องและฟอกเลือด อีกทั้งในประเทศไทยมีศูนย์ไตเทียมเพิ่มมากขึ้นจากเดิม ที่มีแค่ 10 ศูนย์ จนวันนี้ มีศูนย์ไตเทียมหลักพันแห่ง และคนไข้ที่ในอดีตไม่เคยมีการล้างไต หรือมีแค่หลักร้อยเมื่อ 20 ปีก่อน มาวันนี้มีคนไข้ที่มาล้างไตหน้าท้องถึงสองหมื่นคน การเข้าถึงก็มากกว่าอดีต

โดย MGR Online       23 เมษายน 2560