ผู้เขียน หัวข้อ: นายกแพทยสภารุดขอโทษ “ผู้แทน WHO” แทน 2 กรรมการ พูดจาไม่เหมาะสม  (อ่าน 796 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
นายกแพทยสภารุดขอโทษ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก หลังเครือข่ายภาคประชาชน ร้องเรียน “2 สาวกรรมการแพทยสภา” ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมกดดัน “หมอแดเนียล” ไม่ให้แสดงความเห็นประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.สสส.
       
       จากกรณีเครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือร้องต่อแพทยสภาให้ตรวจสอบจริยธรรม กรรมการแพทยสภา จำนวน 2 คน ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉบับที่... พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม กดดันจน นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A.Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกจากห้องประชุมไปในที่สุด สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข และ ประเทศไทย
       
       วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ทำการองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา พร้อมด้วย นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา และ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เดินทางเข้าพบ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก เพื่อสวัสดีปีใหม่ไทย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจและขออภัยต่อกรณีที่มีกรรมการแพทยสภา ซึ่งเข้าประชุมในฐานะตัวแทนหน่วยงานอื่น เพื่อทำประชาพิจารณ์การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. ... โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะในการแสดงเหตุผลไม่ให้ผู้แทนอนามัยโลกแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเดินทางมาร้องเรียนที่แพทยสภาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา
       
       พญ.ชัญวลี กล่าวว่า หลังการพูดคุยกันแล้ว นพ.แดเนียล ได้กล่าวกับคณะผู้บริหารว่าเข้าใจ และมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลกในหลายประเทศ ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงกว่านี้มาก อย่างไรก็ตาม นพ.แดเนียล เข้าใจ และยังมีทัศนคติที่ดีและคงความเคารพต่อแพทยสภาซึ่งเป็นองค์กรทางการแพทย์ รวมถึงยินดีร่วมมือในการทำงานด้านสาธารณสุขในประเทศไทยต่อไป

โดย MGR Online       12 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
ภาคประชาชน ร้องนายกแพทยสภา ตรวจสอบจริยธรรม “หมอเชิดชู - หมออรพรรณ์” ตะเพิดผู้แทน WHO จากเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส. ชี้ ใช้ถ้อยคำรุนแรง เสื่อมเสียภาพลักษณ์ประเทศ
       
       วันนี้ (5 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ พร้อมด้วยเครือข่ายแอลกอฮอล์วอชท์ และภาคีเครือข่าย 30 คน เดินทางมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉบับที่... พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม กดดันจน นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A.Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกจากห้องประชุมไปในที่สุด สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาพลักษณ์ของไทย ผ่าน นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา โดยได้นำหลักฐานที่มีมอบไว้ด้วย
       
       นายนรินทร์ กล่าวว่า ในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส. ที่ประชุมดำเนินการไประยะหนึ่ง ผู้ดำเนินการในที่ประชุม คือ นายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร ได้อนุญาตให้ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ซึ่งมาร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่เมื่อ นพ.แดเนียล ได้เริ่มแสดงความเห็นเพียงไม่ถึงหนึ่งนาที พญ.เชิดชู และ พญ.อรพรรณ์ ได้กดไมโครโฟนโดยไม่รอให้ประธานเรียกให้พูด และไม่ยินยอมให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้แสดงความคิดเห็นจบ ทั้งที่ผู้ดำเนินการประชุมแจ้งว่าจะขอให้พูดเพียง 5 นาทีเท่านั้น โดยใช้คำพูดรุนแรง อาทิ ประชาพิจารณ์เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ หรือ WHO หรือไม่ WHO เป็นพ่อเราหรือเปล่า หรือมีเวทีเยอะแยะที่ WHO จะไปพูด ไม่จำเป็นต้องมาพูดในเวทีนี้ ถ้ายอมอ้ายที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมาให้ความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้จะโมฆะ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมมีทั้งข้าราชการระดับสูง ตัวแทนแพทย์จากที่ต่างๆ นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 คน และประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เป็นองค์กรหลักนานาชาติ ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพของโลก ย่อมเกี่ยวข้องกับงานสุขภาพของทุกประเทศ และในประกาศสำนักนายกฯ เรื่องการรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่ได้ห้ามชาวต่างชาติด้วย
       
       “อยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พญ.เชิดชู และ พญ.อรพรรณ์ ในฐานะวิชาชีพแพทย์ ว่าขัดต่อจริยธรรมใน หมวด 2 หลักทั่วไป ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติ หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และรวมถึง หมวด 5 การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 30 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน รวมทั้งในฐานะกรรมการแพทยสภาว่าเหมาะสมหรือไม่ และเร็วๆ นี้ จะไปยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเขามาจากกรรมาธิการนี้ด้วย” นายนรินทร์ กล่าว

โดย MGR Online       5 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง : อดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2 สมัยระหว่างปี 2547-2557
ให้ความเห็ว่า

ในส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทของ WHO ผมในฐานะที่เคยเป็นเจ้านน้าที่ระดับสูงของ WHO มาก่อน ขอให้ความเห็นดังนี้

- เป็นหลักปัฏิบัติที่สำคัญใน WHO ว่า WHO จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว หรือเกี่ยวข้องในปัญหาของประเทศที่มีความขัดแย้งระหว่างฝ่ายต่างๆ WHOต้องเอาตัวออกห่างให้ไกลที่สุดจากข้อขัดแย้งในประเทศ การให้คำแนะนำทางวิชาการของ WHO จะต้องกระทำในบรรยากาสที่ปราศจากความขัอแย้ง WHO จะต้องวางตัวเป็นกลางในทุกๆกรณีให้ดีที่สุด

- ผมได้เห็น statement ของ WHO Representative ที่พูดในวันนั้น และได้แปลเป็นไทยแล้ว รู้สึกว่าคงจะแปลเกินที่เขาพูดไปมาก มีการเสริมแต่งเติมเนื้อหาเพื่อสนับสนุน status quo ของสสส และผมเห็นว่า WHO Representative ไม่เข้าใจประเด็นของการประชุมอย่างแท้จริง
.............................................

การสัมมนาประชาพิจารณ์ร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
ครั้งที่ 1 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์
วันที่ 2 เมษายน 2560
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา

ผู้เขียนเรื่องนี้ ได้รับจดหมายเชิญเข้าร่วมการประชาพิจารณ์จากคุณหมอมารุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะที่ผู้เขียนเป็นที่ปรึกษากิติมศักดิ์กรรมาธิการสาธารณศุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ การประชุมนี้จัดขึ้นในวันที่ 2 เมษายน 2560
จากจม.เชิญประชุมนั้น ได้อ้างว่าหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติและนายกรัฐมนตรีได้มีบัญชาให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมหารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้รักษาการตามพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ในการแต่งตั้งคณะกรรมการ เพื่อพิจารณาแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ให้เกิดความยั่งยืน โดยมีผลบังคับใช้ก่อนเปลี่ยนรัฐบาล โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมได้หารือร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมทั้งผู้แทนหน่วยรัฐที่เกี่ยวข้อง พิจารณาและมีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับที่ .. พ.ศ. ....

ในเอกสารประกอบการรับฟังความคิดเห็นได้เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่1/2559 เรื่องประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติมครั้งที่ 3 ข้อ6 ให้ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 5 กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ตามบัญชีแนบท้ายคำสั่งนี้พ้นจากการเป็นกรรมการและการดำรงตำแหน่งในกองทุนดังกล่าว และให้ผู้มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการใหม่ตามกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
และยังได้เผยแพร่บัญชีแนบท้ายคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 1/2559 ซึ่งมีรายชื่อกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (จำนวน 7 ราย)

ประกาศดังกล่าวจึงอาจจะเป็นที่มาของการเขียนเหตุผลในการแก้ไขกฎหมายสสส.ว่า โดยที่กฎหมายว่าด้วยกองทุนสนับสนุนการสรางเสริมสุขภาพมีบมบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุน การใช้จ่ายเงินไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ฯลฯ
บรรยากาศในการประชุมเริ่มจากพิธีเปิดการสัมนาโดยนพ.เสรี ตู้จินดา ประธานที่ปรึกษารมว.สธ. หลังจากนั้นเริ่มการเข้าสู่การพิจารณาเนื้อหารายละเอียดในร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับที่ .. พ.ศ. .... ที่ผู้จัดได้แจกให้แก่ผู้เข้าประชุมทุกคน

เมื่อเริ่มการสัมนา มีผู้แสดงความไม่เห็นด้วยกับเหตุผลที่กล่าวไว้ในพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับที่ .. พ.ศ. .... ว่า เป็นกฎหมายฉบับเดียวที่ยกร่างโดยกล่าวว่าการบริหารกองทุนที่ผ่านมาไม่มีธรรมาภิบาล และต้องการให้มีกองทุนนี้บริหารแบบองค์กรภาคประชาชนเหมือนเดิมและไม่ต้องการให้มีการ “จำกัดวงเงินจากภาษีบาปไว้แค่ 4,000 ล้านบาท"ตามที่เขียนไว้ในร่างกม.ใหม่

การรับฟังความเห็นก็เป็นไปอย่างราบรื่น จนกระทั่งมีบางคน(ที่ไม่รู้ว่าเป็นใคร) ได้เชิญผู้แทนองค์การอนามัยโลกมาให้ความเห็นเป็นภาษาอังกฤษพร้อมกับเตรียมล่ามภาษาไทยไว้คอยแปลด้วย จึงเกิดการคัดค้านไม่ให้ชาวต่างชาติมาออกความเห็นในการพิจารณารับฟังความคิดเห็นร่างกฎหมายของประเทศไทย เพราะเขาไม่ใช่พลเมืองไทย จึงไม่มีสิทธิในการมาแสดงความคิดเห็นในเวทีประชาพิจารณ์กฎหมายไทย

แต่ผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นก็ยินยอมให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกพูดต่อ ผู้เขียนจึงต้องประท้วงว่านอกจากผู้แทนองค์การอนามัยโลกจะไม่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นแล้ว ยังเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของไทย และจะทำให้การประชาพิจารณ์ครั้งนี้ผิดระเบียบการรับฟังความคิดเห็นของสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ดำเนินการฯก็ยังอนุญาตให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกพูดแสดงความเห็นต่อไป ผู้เขียนก็อดรนทนไม่ได้ จึงบอกว่า WHO ไม่ใช่พ่อ คนไทยไม่ต้องฟัง และการรับฟังความคิดเห็นในวันนี้จะเป็นโมฆะ เนื่องจากทำผิดระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว จึงทำให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกต้องยุติการแสดงความคิดเห็นและยอมออกจากห้องประชุมไป

ยังมีรายละเอียดเรื่องคุณสมบัติของกรรมการกองทุนฯและอื่นๆอีกมาก แต่เนื่องจากผู้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นนี้ ไม่ได้เตือนให้ทุกคนพูดกระชับ สั้นๆ ตรงประเด็นให้ได้ใจความ จึงทำให้การรับฟังความคิดเห็นนี้ไม่สามารถดำเนินการต่อไปจนจบร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับที่ .. พ.ศ. .... ที่กำหนดไว้ได้ และเลิกประชุมตรงเวลากำหนด (ถึงแม้ว่าตอนเริ่มประชุมจะล่าช้าไปกว่ากำหนดการก็ตาม)

ทั้งนี้ผู้เขียนได้เสนอข้อคิดเห็นในร่างพ.ร.บ.สสส. ฉบับที่ .. พศ. .... โดยได้กล่าวแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และได้ฝากความคิดเห็นไว้ก่อนปิดประชุม โดยสาระสำคัญที่สุดที่ผู้เขียนฝากไว้คือ ขอให้กำหนดให้กรรมการ และผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นบุคคลตามาตรา 100 ของพร.บ.ปปช. เพื่อให้สามารถตรวจสอบและขจัดปัญหาการมีผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) ของบุคคลเหล่านี้ (อันอาจจะเป็นเหตุผลในการแก้ไขพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. 2544 ดังที่คณะกรรมการยกร่างพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับที่ .. พ.ศ. .... ได้ให้เหตุผลไว้)

และที่สำคัญคือการประเมินผลจากบุคคลภายนอก ผู้เขียนได้เสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบภายนอกที่ต้องมีผู้ตรวจสอบบัญชีรับอนุญาต ร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบการเงิน การคลังและบัญชีของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพเป็นประจำทุกปีด้วย

และขอให้กพร. (คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามมติครม.วันที่ 7 กย. 2547 ทำหน้าที่ประเมินผลงานของการดำเนินงานของกรรมการสสส.ว่า ได้ดำเนินงานในรอบปี อย่างมีประสิทธิผล ประสิทธิภาพ ประหยัด คุ้มค่าและเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง และในมติครม.ฉบับนี้ ยังได้เขียนไว้อีกว่า ถ้าประเมินแล้วไม่ผ่านเกณฑ์ดังกล่าว ให้พิจารณายุบหน่วยงานที่ไม่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพดังกล่าว

ความเห็นของผู้เขียนต่อพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพฉบับที่ .. พ.ศ. .... มีดังต่อไปนี้คือ
1.การยกร่างพ.ร.บ.สสส.ใหม่ เน้นที่การแก้ไขปัญหาบทบัญญัติของกฎหมายที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุน และการใช้จ่ายเงืนงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล
ผู้เขียนเห็นว่าน่าจะเขียนว่าการดำเนินงานของสสส.ไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติของกฎหมาย

2.ในพ.ร.บ.ไม่มีนิยามคำว่า สุขภาวะ และพ.ร.บ.ก็ใช้คำว่า “กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” แต่ในมาตรา 3 คำว่า “สุขภาวะ” ก็ปรากฎขึ้นมา จึงควรให้นิยามว่าสุขภาวะต่างจากสุขภาพอย่างไร และกองทุนนี้จะ “สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพหรือสุขภาวะ”?
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน “สุขภาพ หมายถึงภาวะที่ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ"
สุขภาวะไม่ปรากฎคำนี้ในพจนานุกรม แต่คำว่าภาวะ แปลว่า ความมี ความเป็น ความปรากฎ
ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Health ซึ่งหมายความถึงความสมบูรณ์ แข็งแรงทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์ สังคม ไม่ได้หมายถึงความไม่เป็นโรคหรือพิการเท่านั้น Health is a state of complete physical mental and social well-being and not merely the absence of disease or infirmity แต่ในปัจจุบันความหมายชอง Health ก็ได้เปลี่ยนไป.
ในแง่ที่เป็นการที่มนุษย์สามารถปรับตัวให้เข้าได้กับการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย จิตใจและสังคม เพื่อทำให้ตนเองมีความรู้สึกพึงพอใจกับสภาพของตนเอง (มีสุขภาพดีแม้มีข้อจำกัดทางกายภาพ)
ฉะนั้นถ้าจะใช้คำว่าสุขภาวะ ก็ควรต้องมีคำจำกัดความของคำว่าสุขภาวะคืออะไร แตกต่างกับคำว่าสุขภาพหรือไม่/อย่างไร ?

3.คำว่า “สร้างสุขภาพ” หมายความว่า อะไร? ในกรณีกองทุนนี้ ต้องการสนับสนุนให้ “ปัจเจกบุคคล” มีความสามารถในการสร้างสุขภาพได้เองอย่างเดียว หรือต้องการให้สสส. “ส่งเสริมให้หน่วยงานภาครัฐ หรือสสส.เอง” ดำเนินงานเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ “ส่งเสริมและสนับสนุน” กิจกรรมที่จะทำให้ประชาชน “สร้างสุขภาพได้ด้วย”
3.1 ถ้าต้องการเพียงอย่างเดียวก็ต้องเน้นกิจกรรมให้ประชาชนตระหนักรู้ และนำไปปฏิบัติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์เป็นรูปธรรม
3.2 ถ้าต้องการทั้งสองอย่าง สสส.ก็ต้องมีหน้าที่ในการช่วยผลักดันรัฐบาลให้มีนโยบายที่จัดการสิ่งแวดล้อม การจัดสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ สถานที่ออกกำลังกาย และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ให้ปราศจากมลภาวะ ทั้งในดิน น้ำ อากาศ อาหาร
แต่การจัดการต่างๆเหล่านี้ เป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเกษตร และกระทรวงอุตสาหกรรม รวมทั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่นเทศบาลอยู่แล้ว
จึงมีคำถามว่า สสส.ควรมีบทบาทแค่ไหน/อย่างไร? และกำหนดไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน
เพื่อจะนำมาบัญญํติในมาตรา 3
อนึ่ง มีข้อสังเกตว่าถ้าต้องการให้สสส.มีบทบาทในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ปัจเจกบุคคลสามารถ “สร้างสุขภาพ”ได้ งานนี้ก็เป็นภาระรับผิดชอบของกรมอนามัย(Department of Health) กระทรวงสาธารณสุขที่มีหน้าที่รับผิดชอบเรื่องนี้
จึงควรพิจารณาว่า ควรโอนพ.ร.บ.สสส.ให้เป็นภารกิจของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ มากกว่าจะมีการตั้งกรรมการและสำนักงานอิสระนอกหน่วยราชการ อันเป็นต้นเหตุแห่งการใช้จ่ายเงินงบประมาณที่ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล (ซึ่งเป็นเหตุผลที่ต้องมีการแก้ไขกฎหมายนี้) และต้องจ่ายค่าจ้างกรรมการและเจ้าหน้าที่อีกในอัตราที่สูงกว่าอัตราค่าตอบแทนข้าราชการให้มาทำงาซ้ำซ้อนกับกรมอนามัย

4. ในมาตรา 5 เดิม วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน ควรยกเลิก(4) ที่สนับสนุนให้มีการศึกษาวิจัย เนื่องจากมีกองทุนสำหรับการวิจัยมากมายในองค์กรอื่น เช่นสวรส. สกว. และการศึกษาวิจัยของสสส.ก่อให้เกิด “ผลประโยชน์ทับซ้อน”มากมาย แต่มีคำถามว่าเคยมีการนำผลการวิจัย มาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของประชาชนหรือไม่? และผลจากการวิจัยเหล่านี้ได้นำมาเป็นประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคคลตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนสสส.หรือไม่? เช่น ลดการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา ขับรถในขณะที่ดื่มสุรามาแล้ว ลดละการบริโภคยาเสพติด ?

5.ในมาตรา 9 เดิม ควรตัด(3)ออก ไม่ควรให้นำเงินกองทุนไปหาผลประโยชน์ เพราะจะสุ่มเสี่ยงต่อการทุจริตประพฤติมิชอบดังในกรณีไทยพีบีเอส หรือกากรกขาดธรรมาภิบาลในการบริหารกองทุน

6.ใน มาตรา 10 เดิม ขอแก้ไขว่า “กองทุนมีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ใช้งบประมาณจากภาษีที่เป็นรายได้ของแผ่นดิน จึงต้องทำตามระเบียบการใช้จ่ายเงินงบประมาณแผ่นดินตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด

7. ในมาตรา 11 เดิม ที่บัญญัติในมาตรา 4 ใหม่ ควรจะแก้ไขโดยให้กระทรวงการคลังที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรอยู่แล้ว ให้จัดเก็บภาษีตามกฎหมายสุราและยาสูบ แล้วเก็บเพิ่มเติมจากสุราและยาสูบที่ร้อยละ 2 ของภาษี แต่ไม่เกินปีละ 4,000 ล้านบาทและจัดสรรให้แก่กองทุนสสส. (โดยที่สสส.ไม่ต้องไปเรียกเก็บเอง) และให้รมต.คลัง เสนอครม.ให้พิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมได้ในกรณีที่สสส.ร้องขอตามความจำเป็น
(เมื่อกำหนดให้การจัดเก็บเงินเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังแล้ว มาตรา 12-15 ก็ยกเลิกได้)

8.มาตรา 5 (ฉบับร่างแก้ไข) ให้พิจารณามาตรา 5 เดิมและมาตรา9 เดิม ที่เสนอให้ตัดมาตรา5 (4) และมาตรา9 (3)

9. ในมาตรา6 (ในฉบับร่างแก้ไข) เห็นด้วย

10.มาตรา7 (ในฉบับร่างแก้ไข) (3) กรรมการโดยตำแหน่งควรจะตัดปลัดกระทรวงอื่นๆออกหมด ยกเว้น ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพิ่ม อธิบดีกรมอนามัย ถ้าวัตถุประสงค์ของกองทุนมีเพียงต้องการให้สสส.ส่งเสริมปัจเจกบุคคลให้สร้างสุขภาพตามข้อสังเกตุ 3.1
แต่ถ้าต้องการให้สสส.สนับสนุนหน่วยงานภาครัฐตามข้อสังเกตุ 3.2 ก็ให้คงตำแหน่งกรรมการตามมาตรา 7 (ร่างแก้ไขใหม่) ไว้
แต่ขอตั้งข้อสังเกตุว่าปลัดกระทรวงต่างๆอาจมีภารกิจมากมาย จนส่งผู้แทนมาประชุมเสมอๆ (เหมือนที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในคณะกรรมการต่างๆ) จึงอาจไม่ได้รับฟังข้อคิดเห็นที่มีประโยชน์จากกรรมการเหล่านี้เท่าใดนัก

11. ในมาตรา 7 (ในฉบับร่างแก้ไข) (5) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ควรมีที่มาจาก นักวิชาการด้านสุขศึกษา (จากคณะสาธารณสุขศาสตร์)เลือกกันมา 2 คน ด้านสื่อสารมวลชน ด้านโภชนาการ ด้านการกีฬา ด้านการศึกษา และด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งหมด 7 คน

12.ในมาตรา 8 (ในฉบับร่างแก้ไข) ขอให้เพิ่มเติมว่า ให้คณะกรรมการและผู้จัดการเป็นบุคคลตามมาตรา 100 ของปปช. เพื่อป้องกันการมีผลประโยชน์ทับซ้อน

13.ในมาตรา 9 (ในฉบับร่างแก้ไข) ให้กรรมการผ็ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี (เท่ากับผู้จัดการ)

14. ในมาตรา 10 (ในฉบับร่างแก้ไข) มาตรา 21 ขอแก้ไขเป็น “ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมการดำเนินกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในมาตรา 5
และตัด (3) ออก ไม่ต้องให้กองทุนไประดมจัดหาทุนอีก เพราะปัจจุบันก็ไม่เห็นว่าสสส.จะต้องไประดมหาทุนมาเพิ่มอีก มีแต่เอาเงินไปแจกกองทุนอื่นที่ผิดวัตถุประสงค์ของกฎหมายสสส.

15.ในมาตรา 11 (ในฉบับร่างแก้ไข) ไม่เห็นด้วย ถ้าประธานหรือรองประธานไม่สามารถมาประชุมได้ ควรเลื่อนการประชุมออกไปจนกว่าประธานหรือรองประธานมาประชุมได้ (เพื่อไม่ให้มีการใช้อำนาจของคณะกรรมการโดยมิชอบ)
16. ในมาตรา 14 (ในฉบับร่างแก้ไข) ให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่บริหารกิจการของกองทุนให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการและเป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย

17.ควรให้มีการจัดตั้งกรรมการตรวจสอบภายนอกเพื่อตรวจสอบบัญชี การเงินการคลังและทรัพย์สินของกองทุน โดยมีผู้สอบบัญชีที่ได้รับใบอนุญาตร่วมเป็นกรรมการตรวจสอบด้วย
18.ให้แก้ไขมาตรา 37 เดิม ให้กพร.ดำเนินการประเมินผลการดำเนินงานของกองทุนประจำปี

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
วันที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๖๐

เรื่อง ให้นายกแพทยสภาและคณะทำตามกฎหมายเกี่ยวกับการยืนยันข้อเท็จจริงว่า ๒ แพทย์หญิง
(เชิดชู-อรพรรณ์) กระทำไม่เหมาะสม ก้าวร้าว ต่อผู้แทนองค์การอนามัยโลก และให้ข่าวต่อสื่ออันได
ต่อสาธารณะชนแล้ว พร้อมให้ดำเนินการสอบ และลงโทษ หากพบผิด ทั้งนี้เพื่อยุติอย่างชัดแจ้ง

เรียน บรรณาธิการข่าว

ตามที่ปรากฏเป็นข่าวอ่านพบว่า วันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๐ ในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการฯ และเดลินิวส์ ๑ พาดหัวข่าวว่า “นายกแพทยสภา ขอโทษผู้แทนอนามัยเหตุหมอไทยก้าวร้าว” และพาดหัวข่าวรอง “แพทยสภาหอบคณะขอโทษผู้แทนองค์การอนามัยโลก ปมหมอไทยก้าวร้าว กันท่าแสดงความเห็นต่อร่างกฎหมาย สสส.” พร้อมทั้งแสดงความเสียใจและขออภัยต่อกรณีที่มีกรรมการแพทยสภา ซึ่งเข้าประชุมในฐานะตัวแทนหน่วยงานอื่น เพื่อทำประชาพิจารณ์การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. ... โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะในการแสดงเหตุผลไม่ให้ผู้แทนอนามัยโลกแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเดินทาง่ามาร้องเรียนที่แพทยสภาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา และข้อความต่อมาว่า พญ.ชัญวลี กล่าวว่า หลังการพูดคุยกันแล้ว นพ.แดเนียล ได้กล่าวกับคณะผู้บริหารว่าเข้าใจ และมองว่าเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยไปเป็นผู้แทนองค์การอนามัยโลกในหลายประเทศ ซึ่งมีการใช้ถ้อยคำที่รุนแรงกว่านี้มาก อย่างไรก็ตาม นพ.แดเนียล เข้าใจ
๒ ข้อความพาดหัวข่าวว่า “นายกแพทยสภารุดขอโทษ “ผู้แทน WHO” แทน 2 กรรมการ พูดจาไม่เหมาะสม” หัวข้อข่าวรอง “นายกแพทยสภารุดขอโทษ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก หลังเครือข่ายภาคประชาชน ร้องเรียน “2 สาวกรรมการแพทยสภา” ใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสมกดดัน “หมอแดเนียล” ไม่ให้แสดงความเห็นประชาพิจารณ์ พ.ร.บ.สสส. จากกรณีเครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือร้องต่อแพทยสภาให้ตรวจสอบจริยธรรม กรรมการแพทยสภา จำนวน 2 คน ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉบับที่... พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม กดดันจน นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A.Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกจากห้องประชุมไปในที่สุด สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข และ ประเทศไทย วันนี้ (12 เม.ย.) ที่ทำการองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย
กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา พร้อมด้วย นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา และ พญ.ชัญวลี ศรีสุโข โฆษกแพทยสภา เดินทางเข้าพบ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก เพื่อสวัสดีปีใหม่ไทย พร้อมทั้งแสดงความเสียใจและขออภัยต่อกรณีที่มีกรรมการแพทยสภา ซึ่งเข้าประชุมในฐานะตัวแทนหน่วยงานอื่น เพื่อทำประชาพิจารณ์การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. ... โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะในการแสดงเหตุผลไม่ให้ผู้แทนอนามัยโลกแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเดินทางมาร้องเรียนที่แพทยสภาเมื่อวันที่ 5 เม.ย. ที่ผ่านมา ขออภัยต่อกรณีที่มีกรรมการแพทยสภา ซึ่งเข้าประชุมในฐานะตัวแทนหน่วยงานอื่น เพื่อทำประชาพิจารณ์การปรับแก้ร่าง พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. ... โดยมีการใช้ถ้อยคำที่ไม่เหมาะในการแสดงเหตุผลไม่ให้ผู้แทนอนามัยโลกแสดงความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าว จนทำให้เครือข่ายภาคประชาชนเดินทางมาร้องเรียนที่แพทยสภาเมื่อวันที่ 5 เม.ย.

จากสองกรณีต่อเนื่องกัน ที่ปรากฏเป็นข่าวในวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๖๐ กรณีมี NGO ยื่นให้แพทยสภาตรวจสอบ ๒ แพทย์หญิงโดย ระบุชื่อแพทย์ทั้งสอง และต่อมาวันที่ ๑๓ เมษายน ๒๕๖๐ นายกแพทยสภา กับคณะ ได้เดินทางไปขอพบผู้แทนองค์การอนามัยโลก พร้อมแพร่ภาพเกี่ยวข้อง และกล่าวต่อสื่อ ทำให้สื่อเสนอข่าวว่า คณะบุคคลดังกล่าวได้ขอโทษฯ อันทำให้ พญ.ทั้งสองถูกบุคคลที่สามและสังคมทั่วไปเข้าใจได้ว่าเป็นผู้ก้าวร้าว และพูดไม่เหมาะสมต่อกรณีผู้แทนองค์การอนามัยโลก ในการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมาย พรบ.สสส. เมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ โดยทั้งหมดได้กระทำไปโดยพลการ ไม่ได้รับมอบจาก พญ.อรพรรณ์ พญ.เชิดชู หรือคณะกรรมการแพทยสภาแต่อย่างใด และชั่วโมงที่ไปแถลงดังกล่าว เป็นห้วงเวลาที่มีการประชุมคณะกรรมการแพทยสภา และนายกแพทยสภา ได้ พบและประชุมร่วมกับ พญ.อรพรรณ์ ก็ไม่เคยได้กล่าวถึงเรื่องนี้แต่ประการใด กับทั้ง นายกแพทยสภา ทราบดีว่ายังไม่มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้อันชอบด้วยกระบวนการทางจริยธรรมแต่อย่างใด การกระทำดังกล่าว นายกแพทยสภาย่อมเล็งเห็นผลเสียที่จะเกิดกับแพทย์หญิงทั้งสองจากการกระทำของตนเองได้ จึงเป็นที่สงสัยว่า มีเจตนาในเรื่องนี้อย่างไร
จึงขอแจ้งผ่านสื่อไปยัง นายกแพทยสภา และผู้มีหน้าที่
๑ ถ้าสองแพทย์ผิดตามที่ยืนยัน ข้าพเจ้าขอให้พิจารณาลงโทษ และให้ทำการสอบสวนผลโดยด่วน และมีบทสรุปที่ชัด และยุติเรื่องตามหลักการ และให้เสนอเป็นข่าวในระดับที่ใกล้กับการกระทำครั้งนี้ของนายกฯ ผิดคือผิด ถูกคือถูก ขอให้ลงคะแนนอย่างเปิดเผย ห้ามทำแบบลับ
๒ ขอให้แถลงว่าเหตุใดจึงกระทำการเช่นนั้นกับสองแพทย์หญิง ทั้งที่ทราบถึงขั้นตอนกระบวนการที่ถูกต้อง
๓ บุคคลทั้งสาม ไม่อยู่ในฐานะตัวแทนขององค์กรแพทยสภา ในเรื่องที่ไปขอโทษดังกล่าวได้ เนื่องจากกฎหมายไม่ให้อำนาจไว้ การกระทำการใดๆในนามแพทยสภา ต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการที่กฎหมายกำหนด นายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา ไม่มีหน้าที่ตามกฎหมายเช่นนั้น และผู้มีอำนาจบริหารเกี่ยวกับแพทยสภา คือคณะกรรมการแพทยสภาทั้งหมด ๕๖ คน ทั้งนี้ต้องมีมติของคณะกรรมการที่ทำการประชุมและลงความเห็น ตามข้อบังคับของแพทยสภา จึงให้ทั้งสามชี้แจงด้วย
๔ สำหรับกรณีแถลงคนหนึ่งอ้างว่าเป็นโฆษกแพทยสภานั้น ใน พรบ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ไม่มีตำแหน่งดังกล่าวตามกฎหมาย และไม่อาจกระทำการดังกล่าวได้

เมื่อ คสช.ได้เข้ามาปฏิรูปประเทศ ได้ตรวจสอบกรณีการประพฤติมิชอบ และการมีผลประโยชน์ทับซ้อนในองค์กร สสส. และ สปสช. เป็นต้น รวมถึงให้ตรวจสอบการใช้เงิน อันอาจไม่ชอบด้วยวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ซึ่งจากการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบ พบว่า สสส. มีการใช้งบและดำเนินงานอย่างไม่ชอบด้วยหลักธรรมาภิบาล และพบกรรมการมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการใช้อำนาจอันบกพร่อง ทำให้คสช.ได้สั่งให้กรรมการ ๗ คน พักการปฏิบัติไปกระทั่งปัจจุบัน ต่อมานายกรัฐมนตรี มีบัญชาให้กระทรวงยุติธรรม กระทรวงการคลัง และกระทรวงสาธารณสุข แก้ไขกฎหมาย สสส.โดยยกร่างกฎหมายดังกล่าว และให้เปิดประชาพิจารณ์ รับฟังความเห็นในคนไทย เพื่อนำความเห็นมาประกอบ ก่อนที่จะเสนอเข้าสภา เพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ภายในประเทศต่อไป
ผู้จัดการประชาพิจารณ์ เป็นหน่วยงานของรัฐบาล ทราบถึงว่ากระบวนการรับฟังสาธารณะนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการตรากฎหมายของประเทศ เป็นกิจการภายในของประเทศ และเป็นการรับฟังประชาชนไทย ต้องไม่ให้การรับฟังต้องผิดไปจากเจตนารมณ์ของการประชาพิจารณ์กฎหมายไทย
เนื่องด้วยร่างกฎหมาย สสส. ที่กำลังเปิดรับฟังประชาชนไทยในขณะนั้น มีประเด็นในหลักการ ซึ่งมีข้อหนึ่งทำนองว่าเพื่อให้มีธรรมาภิบาลใน สสส. และจำกัดเพดานงบประมาณที่รัฐ จะจัดให้ สสส. ไว้ไม่เกินสี่พันล้นบาท ในวันเปิดรับฟัง บุคคลที่เป็น NGO ซึ่งรับเงินจาก สสส.และผู้เกี่ยวข้องกับ สสส. แสดงความไม่เห็นด้วยกับหลักการของร่างกฎหมายที่รัฐบาลเสนอ ขอให้ต้ดข้อความออก และให้รัฐจัดงบให้เป็นร้อยละ ๒ ของภาษีเหล้าบุหรี่ โดยไม่มีเพดาน ซึ่ง พญ.ทั้งสองคน สนับสนุนหลักการและสาระสำคัญที่รัฐบาลยกร่างดังกล่าว ต่อมามีการขอพูดของผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ซึ่งคือพนักงานองค์การอนามัยโลก และมีผู้แปลคำกล่าวมาพร้อมด้วย แสดงถึงมีการเตรียมการ เมื่อ พญ.ทั้งสองพบเช่นนั้น จึงขอให้ประธานรับฟังความเห็น ชี้ขาดว่าในการดำเนินการนั้นเป็นการประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายของไทยใช่หรือไม่ จะให้บุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ไม่มีหน้าที่ในฐานะพลเมืองไทย กระทำการเช่นนั้นได้หรือไม่ มีการกล่าวแย้งประกอบกับประธานไม่ชี้ขาด และต่อมาแจ้งว่าผู้แทนองค์การอนามัยโลกขอไม่พูดให้ความเห็น

ต่อกรณีผู้แทนองค์การอนามัยโลก -ผู้แทนฯเข้ามาในห้องประชุมประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายภายในประเทศ/ใครเชิญ/เหตุเชิญฯ
การที่ผู้แทนฯเข้ามาในห้องประชุมประชาพิจารณ์ร่างกฎหมายภายในประเทศ เกี่ยวกับ สสส. นั้น มาภายใต้คำเชิญของผู้ใด องค์กรใด ซึ่งหวังผลสิ่งใด หรือมาเพราะเหตุผู้แทนมีเจตนามาประชุมในกิจการภายในของประเทศไทย ซึ่งต้องถามเหตุจูงใจที่กระทำเช่นนั้น อันอาจเป็นการฝ่าฝืนข้อบังคับขององค์การระหว่างประเทศที่ห้ามกระทำการอันเป็นการเกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐอื่นหรือไม่ และถ้ามาเพราะเหตุเจตนาของผู้แทนแล้ว ต้องถามว่าผู้แทนทราบเรื่องกิจกรรมอันเป็นกิจการภายในรัฐไทยได้อย่างไร หากมีผู้แจ้ง ผู้เชิญมา ผู้เชิญนั้นต้องเปิดเผยว่าเป็นใคร และมีความมุ่งหมายใด จนบัดนี้ยังไม่เปิดเผยทั้งที่เป็นสาระสำคัญ และมีประเด็นโต้แย้งดังกล่าว ทั้งนี้ขอให้พิจารณาประกอบข้อความเกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศ องค์กรอนามัยโลก ด้วย
ข้อนี้ ขอให้ผู้จัดและกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยผู้จัดการให้องค์กรระหว่างประเทศเข้ามาในกิจการภายในประเทศ และให้แสดงจุดมุ่งหมายของการกระทำดังกล่าว หากไม่มีผู้เชิญมา ควรที่รัฐบาลไทยจะเสนอให้ตรวจสอบการกระทำของผู้แทนองค์การอนามัยโลกว่า ชอบด้วยหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ข้อบังคับขององค์การสหประชาชาติและองค์การดังกล่าวหรือไม่ ที่เข้ามาลักษณะที่อาจเป็นการแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยและไม่วางตัวตามกรอบงาน และเพื่อให้วินิจฉัยสอบสวนว่า ผู้แทนดังกล่าวกระทำการดังกล่าวโดยเหมาะสมหรือไม่
ผู้แทนองค์การอนามัยโลก กระทำการไม่เหมาะสม ไม่ทำตามหรือฝ่าฝืนหลักการที่เจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ ต้องไม่เข้าเกี่ยวข้องกิจการภายในของประเทศสมาชิก ตามหลักกฎหมายระหว่างประเทศ และตามที่ นพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ในภูมิภาคเอเชีย ที่ชื่อ SEARO ซึ่งมีฐานะในระดับสูงกว่าผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศ ซึ่งให้ความเห็นว่า ไม่ควรที่ผู้แทนฯ จะเข้าประชุมในการประชุมลักษณะดังกล่าว
องค์การอนามัยโลก ( World Health Organization ตัวย่อ WHO) ถือกำเนิดตาม ตราสารจัดตั้งองค์การอนามัยโลกได้รับการลงนามโดย 61 ประเทศเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม ค.ศ. 1946 รับผิดชอบการประสานงานด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ก่อตั้งเมื่อ 7 เมษายน ค.ศ. 1948 มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์[1] และมีสำนักงานส่วนภูมิภาคตั้งอยู่อีกใน 6 เมือง ได้แก่ นิวเดลี ณ.ประเทศอินเดีย เป็นต้น ซึ่งรับผิดชอบประเทศทางเอเชีย เช่นอินเดีย พม่า รวมถึงไทยเป็นต้น
โดยมีหน้าที่ 4 ข้อหลัก คือ อำนวยความช่วยเหลือแก่ประเทศต่างๆ ตามความต้องการเมื่อได้ร้องขอมา จัดให้บริการด้านสุขภาพอนามัยแก่ประเทศต่างๆทั่วโลก ส่งเสริมและประสานงานด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ระหว่างชาติเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพต่างๆ อันไม่อาจดำเนินไปได้โดยลำพังของแต่ละประเทศ ทำหน้าที่แก้ปัญหาโรคที่ยังไม่สามารถจัดการได้ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก
องค์การอนามัยโลกนับเป็นหนึ่งในองค์กรชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ ( United Nations; ตัวย่อ: UN) หรือ องค์การสหประชาชาติ เป็นองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งมีความมุ่งหมายที่แถลงไว้เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ความร่วมมือในกฎหมายระหว่างประเทศ ความมั่นคงระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคม สหประชาชาติก่อตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1945 หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีพนักงานองค์การระหว่างประเทศเป็นผู้ปฏิบัติงาน และเป็นการจ้างพนักงานตามสัญญาจ้าง มี ๒ ระดับ คือพนักงานองค์กรระหว่างประเทศระดับสูง ได้แก่ เลขาธิการ UN เป็นฐานะต้น และพนักงานฯระดับทั่วไป เช่นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีหน้าที่ช่วยปฏิบัติภารกิจเฉพาะด้าน ทำหน้าที่เหมือนตัวแทนของของรัฐสมาชิกทั้งปวงปฏิบัติงานในนามขององค์การระหว่างประเทศ เพื่อประโยชน์โดยรวมขององค์กรระหว่างประเทศ ไม่ใช่ของกลุ่มใด บุคคลของรัฐใด หรือของรัฐสมาชิกใด ซึ่งมีข้อบังคับออกตามบทบัญญัติแห่งกฎบัตรสหประชาชาติ มาตรา 101 อันเป็นกฎหมายระหว่างประเทศ กำหนดให้พนักงานขององค์การระหว่างประเทศต้องงดเว้นที่จะรับนโยบายหรือคำสั่งจากรัฐบาลอื่นใด(รวมถึงของกลุ่มบุคคลใดในรัฐอื่นใด) ต้องคงไว้ซึ่งความเป็นกลางและรักษาประโยชน์โดยรวมขององค์กรระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด ต้องทำงานให้กับองค์การระหว่างประเทศอย่างเต็มที่โดยการปฏิเสธที่จะทำงานภายนอกอื่นใดอันจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่การปฏิบัติหน้าที่ในฐานะที่เป็นพนักงานองค์การระหว่างประเทศ

ต่อ กรณีบุคคล NGOในกิจการ สสส.
การที่ NGO ชื่อตามข่าว ได้ยื่นหนังสือร้องให้แพทยสภาตรวจสอบจริยธรรมนั้น โดยการยืนยันข้อเท็จจริงอันไม่ครบถ้วน มีความเท็จ และนำเสนอให้ปรากฏต่อบุคคลที่สาม เป็นการทำให้ พญ.อรพรรณ์ ซึ่งทำหน้าที่คนไทย แพทย์ไทย เสียหายได้ ได้ทำการร่างฟ้องคดีฐานทำให้เสียหายต่อชื่อเสียง เกียรติคุณ เป็นคดีอาญา ตามมาตรา ๓๒๖ แล้ว สำหรับการยื่นขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของแพทย์นั้น สามารถทำได้ แพทย์หญิงทั้งสองยินดีอย่างที่สุดที่จะให้มีการสืบสวนสอบสวนในเรื่องดังกล่าว

ขอแสดงความนับถือ

พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล

กรรมการแพทยสภา
อดีตผู้อำนวยการสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์
กระทรวงสาธารณสุข

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
แถลงการณ์ เรื่องนายกแพทยสภาและเลขาธิการกับโฆษกแพทยสภา ไปขอโทษผู้แทนองค์การอนามัยโลกแทนพญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนาและพญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล
ดิฉันเห็นว่าที่ดิฉันวิจารณ์ว่านายกแพทยสภา "งี่เง่า" นั้น ก็ อาจจะเป็นการใช้คำพูดแรงเกินไป ก็รู้สึกเสียใจ
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับการกระทำของเขาที่ไปขอโทษผู้แทนองค์การอนามัยโลก มันเท่ากับการประณามหรือรับรองว่าดิฉันทำผิด ทั้งๆที่จริงแล้ว ดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิดกฎหมายหรือผิดจริยธรรม

ทั้งนี้ในเหตุการณ์วันนั้น ดิฉันประท้วงผู้ดำเนินการอภิปรายว่า WHO ไม่มีสิทธิพูดในเวทีนี้แต่เขาไม่ห้ามทั้งๆที่ดิฉันพูดขอร้องหลายครั้ง มากกว่า 3-4 ครั้ง ดิฉันจึงต้องบอกผู้ดำเนินการอภิปรายว่า WHO ไม่ใช่พ่อ คนไทยไม่ต้องไปฟัง ที่ต้องใช้คำพูดนั้น ก็เพื่อใหัผู้ดำเนินการอภิปรายห้ามผู้แทนองค์การอนามัยโลกพูด เพราะมันเป็นการแทรกแซงกิจการภายในประเทศเรา ซึ่งคำพูดนี้ ทำให้ผู้ดำเนินการอภิปราย(ประชาพิจารณ์) ได้ห้ามไม่ให้ผู้
แทนWHO พูด
และดิฉันยังได้ยินเขาบอกให้ผู้แทนWHO เขียนความเห็นเสนอมาแทน
และดิฉันภูมิใจที่สามารถปกป้องการถูกแทรกแซงกิจการภายในของประเทศไทยได้
อนึ่ง ในการประชุมอนุกรรมการบริหารแพทยสภา ในวันที่ 10 เมษายน 2560 ที่มีนายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา และโฆษกแพทยสภาประชุมร่วมกับคณะอนุกรรมการบริหาร ดิฉันก็ได้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในการทำประชาพิจารณ์ไปแล้ว ซึ่งที่ประชุม รวมทั้งนายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา และโฆษกแพทยสภาก็รับทราบ และไม่ได้มีมติว่าจะตำหนิหรือชื่นชม และในการประชุมกรรมการแพทยสภาในวันที่ 12 เมษายน 2560 ก็ไม่ได้มีการพูดถึงเรื่องนี้อีก

แต่จู่ๆ ทั้งสามคนนี้ไปขอโทษผู้แทน WHO แทนดิฉัน ในนามแพทยสภา ซึ่งเป็นการแอบอ้าง เพราะคณะกรรมการแพทยสภาก็ไม่ได้มีมติให้ดำเนินการ และดิฉันก็ไม่ได้แต่งตั้งทั้ง 3 คนไปขอโทษแทนดิฉันแต่อย่างใด เพราะดิฉันยังยืนยันว่าดิฉันไม่ได้ทำอะไรผิด ดังที่ท่านอดีตผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศาสตราภิชานนพ.สำลี เปลี่ยนบางช้าง(รับผิดชอบ 11 ประเทศ) ได้บอกดิฉัน และได้อนุญาตให้ดิฉันอ้างคำพูดของท่านได้
ดิฉันจึงยืนยันว่านายกแพทยสภา เลขาธิการแพทยสภา และโฆษกแพทยสภา ทำไม่ถูกต้องในกรณีนี้
พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา
กรรมการแพทยสภา และอนุกรรมการบริหารแพทยสภา
14 เมษายน 2560