ผู้เขียน หัวข้อ: ให้ลูกกินมากไป! ระวังภาวะ Metabolic Syndrome ในวัยรุ่น  (อ่าน 1013 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
สำหรับพ่อแม่ที่ไม่ใส่ใจ และปล่อยให้ลูกรับประทานมากเกินไปในวัยเด็ก พิจารณาข่าวนี้กันให้ดี เพราะนักวิชาการสภาบันโภชนาการออกมาเตือนว่า หากเด็กทานอาหารมากเกินไป นอกจากปัญหาโรคอ้วนแล้ว อาจทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Metabolic Syndrome จากภาวะอ้วนลงพุงในวัยรุ่นได้ ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคอื่น ๆ ตามมา นับเป็นอีกหนึ่งปัญหาสุขภาพที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม
       
        ดร.อุรุวรรณ แย้มบริสุทธิ์ นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า ภาวะอ้วนของเด็กไทยทั้งในเด็กเล็ก และเด็กโตมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น ซึ่งนอกจากสาเหตุปัจจัยจากพันธุกรรมแล้ว การบริโภคอาหารที่มากเกินไปอาจทำให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาภาวะอ้วนลงพุง และ Metabolic Syndrome ซึ่งเป็นกลุ่มภาวะผิดปกติของร่างกายก่อให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน แล้วในที่สุดจะนำไปสู่การเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่
       
       โดยภาวะ Metabolic Syndrome นั้น ประกอบด้วยกลุ่มอาการหลายอย่างรวมกัน คือ เด็กและวัยรุ่นจะอ้วน และมีค่าเส้นรอบเอวมากเกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งใช้เป็นดัชนีคัดกรองตัวแรก เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งจะมีภาวะดื้ออินซูลิน นอกจากนี้ยังมีภาวะความดันโลหิตสูง ภาวะไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูง ภาวะ High-density lipoprotein cholesterol (HDL-C) ต่ำอีกด้วย เมื่อตรวจพบสิ่งเหล่านี้ แสดงว่าผู้ป่วยมีปัญหา Metabolic Syndrome ส่งผลต่อความผิดปกติของระบบการเผาผลาญในร่างกายเพิ่มขึ้น
       
       สำหรับกลไกการเกิดภาวะ Metabolic Syndrome นั้น เกิดจากปัจจัยหลัก 2 ส่วน คือ ภาวะอ้วน และภาวะดื้อต่ออินซูลิน โดยมีภาวะอ้วนเป็นปัจจัยพื้นฐาน ผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่มีภาวะอ้วนจะมีการสะสมเนื้อเยื่อไขมันตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันตัวเซลล์ไขมันเองก็มีการขยายขนาดและสร้างสารที่ทำให้ร่างกายเกิดกระบวนการอักเสบตามมา ทำให้ร่างกายมีการอักเสบเพิ่มขึ้น และยาวนานขึ้น ยิ่งมีภาวะอ้วนลงพุงด้วยแล้วจะมีเนื้อเยื่อไขมันสะสมบริเวณพุงและอวัยวะภายในมากกว่าตำแหน่งอื่น ๆ ทำให้มีการปล่อยกรดไขมันอิสระออกมาจำนวนมากและไปสะสมตามเนื้อเยื่อตับ และตับอ่อน ทำให้อินซูลินทำงานไม่ปกติ จึงไม่สามารถพาน้ำตาลเข้าสู่เซลล์ได้ เกิดปัญหาภาวะดื้อต่ออินซูลิน แม้อินซูลินจะผลิตฮอร์โมนออกมาเป็นจำนวนมาก แต่ฮอร์โมนเหล่านั้นก็ไม่สามารถออกฤทธิ์ต่อเซลล์ได้อย่างเต็มที่
       
       นอกจากนี้ ภาวะดื้อต่ออินซูลินยังมีผลต่อการยับยั้งภาวะการสลายไขมันในเนื้อเยื่อไขมันด้วย ทำให้กรดไขมันอิสระในเลือดเพิ่มมากขึ้น เกิดไขมันสะสมที่ตับ และระบบการทำงานของตับเสื่อมลง ทั้งยังทำให้เยื้อบุผนังหลอดเลือดทำงานผิดปกติ และมีการเพิ่มขึ้นของ Fibrinogen และสาร PAI-1 และสะสมในหลอดเลือด เกิดหลอดเลือดแดงแข็งตามมาด้วย
       
       ดังนั้น เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคดังกล่าว นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการท่านนี้ ฝากถึงพ่อแม่ทุก ๆ ท่านว่า ควรเน้นที่การป้องกันไม่ให้เด็กมีภาวะอ้วน หรือน้ำหนักเกินตั้งแต่ต้นมากกว่าการรักษา หากมีภาวะอ้วน การที่จะควบคุมน้ำหนักได้ถือเป็นเรื่องที่ยาก แม้จะทำให้สำเร็จแต่ก็ควบคุมได้ในระยะเวลาสั้น ๆ เท่านั้น เมื่อหยุดการควบคุม เด็กก็จะกลับมาอ้วนอีกครั้ง ฉะนั้นการป้องกันไม่ให้เด็กอ้วนเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด
       
       "พ่อแม่ควรดูแลเอาใจใส่ต่อสุขภาพเด็ก โดยเริ่มให้อาหารเสริมตามวัยควบคู่ไปด้วยเมื่อเด็กอายุ 6 เดือนขึ้นไป และควรระวังเรื่องคุณภาพของอาหารเสริมด้วย เพราะถ้าเป็นอาหารเสริมที่คุณภาพไม่ดี หรือมีแคลอรีมากเกินไปอาจส่งผลทำให้น้ำหนักมากเกินได้ แต่โดยทั่วไปแล้วในช่วงวัยแรกเกิดถึง 2 ปีไม่ควรจำกัดอาหารไขมันมากนัก เพราะอาจมีผลต่อการเจริญเติบโตได้ แต่ยังต้องควบคุมการให้นม และอาหารที่มีรสหวานไม่ให้มากเกินไป เพราะทำให้เด็กมีน้ำหนักเพิ่มง่าย และติดรสหวาน รวมทั้งอาหารที่มีรสเค็มจัดซึ่งเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง" นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการให้แนวทางเพื่อการป้องกัน
       
       นักวิจัยประจำหน่วยมนุษยโภชนาการ แนะนำเพิ่มเติมว่า ในมื้ออาหารแต่ละวัน ควรมีเมนูผักทุกวันเพื่อให้เด็กเคยชินกับการบริโภคผักด้วย เนื่องจากผักให้วิตามินและแร่ธาตุช่วยลดปัญหาท้องผูก ส่วนอาหารว่างระหว่างมื้อ แนะนำให้เป็นผลไม้ที่ให้กากใย และไม่หวานมากนัก เช่น มะละกอสุก ฝรั่ง ชมพู่ เงาะ เป็นต้น นอกจากนี้ เด็กควรได้ดื่มนมเพื่อสะสมแคลเซียมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เด็กจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่เพื่อช่วยให้กระดูกและฟันแข็งแรง
       
       ในส่วนของลูกวัยรุ่นนั้น พยายามให้เด็กรับประทานอาหารให้ครบทุกมื้อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมื้อเช้า เพื่อให้ร่างกายสามารถนำพลังงานไปใช้ประโยชน์ได้อย่างเหมาะสม แต่ควรลดการรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก อาหารหวาน น้ำอัดลม และควรพากันออกกำลังกายโดยเน้นการออกกำลังกายที่มีความกลมกลืนไปกับวิถีชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานอย่างเหมาะสมซึ่งจะช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง
       
       โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากภาวะ Metabolic Syndrome คงไม่มีพ่อแม่ท่านใดปรารถนาอยากให้เกิดกับลูกของตัวเอง แต่เชื่อเถอะครับว่า หากเราเรียนรู้ในการป้องกันพร้อมปรับพฤติกรรมการบริโภคและพากันออกกำลังกายให้เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง และสม่ำเสมอ โรคเหล่านี้ก็จะไม่ย่างกรายเข้ามาอย่างแน่นอนครับ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    13 ธันวาคม 2554