ผู้เขียน หัวข้อ: สถานะสุขภาพของคนไทยเปรียบเทียบก่อนหลัง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ-พญ.อรพรรณ์  (อ่าน 2467 ครั้ง)

pradit

  • Global Moderator
  • Sr. Member
  • *****
  • กระทู้: 322
    • ดูรายละเอียด
สถานะสุขภาพของคนไทยเปรียบเทียบก่อนหลัง พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

อรพรรณ์   เมธาดิลกกุล พ.บ.,ส.ม.(อนามัยเขตเมือง), ส.ม.(อาชีวเวชศาสตร์) +
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข

เมื่อพศ.๒๕๔๕ ประเทศไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพ ให้คนไทยขึ้นทะเบียนเป็นผู้ถือบัตรประกันสุขภาพเพื่อเข้าใช้บริการสุขภาพ เรียกว่าบัตรทอง เข้าใช้บริการโดยเสีย ๓๐ บาทและรักษาฟรีทุกโรค ต่อมาในยุครัฐบาลคมช. ได้ประกาศเปลี่ยนเป็นรักษาฟรีโดยไม่ต้องเสีย ๓๐ บาท  และ สปสช.ทำการขึ้นทะเบียนสถานพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นหน่วยบริการประจำ หน่วยบริการเครือข่าย และหน่วยบริการรับส่งต่อ  ซึ่งส่วนใหญ่ หน่วยบริการประจำคือ โรงพยาบาลชุมชน หน่วยบริการรับส่งต่อ คือโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป และหน่วยบริการเครือข่าย คือสถานีอนามัย  นอกจากนั้นยังได้ทำการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการภาคเอกชน และภาครัฐนอกกระทรวงสาธารณสุขด้วย  โดยบริการสุขภาพที่ถือปฏิบัติ หมายถึงบริการรักษาพยาบาลผู้ป่วยนอก ผู้ป่วยใน การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การฟื้นฟูสุขภาพ  โดยรัฐจัดเป็นงบเหมาจ่ายรายหัวให้กับกองทุนหลักประกันสุขภาพ   และตัดงบประมาณเพื่อการรักษาพยาบาล และที่เกี่ยวข้องซึ่งกระทรวงสาธารณสุขได้รับออกไป  

     กระทรวงสาธารณสุข ยังคงต้องทำภารกิจในการสร้างการสาธารณสุขอันเป็นบริการสาธารณะเพื่อคนไทยโดยไม่สามารถมีเครื่องมือเพื่อจัดบริการสาธารณะในด้านการสาธารณสุขได้ กล่าวคือมีเพียงบุคลากร กับมาตรการที่ไม่มีงบประมาณในการบริหารจัดการ งานได้อย่างเพียงพอ และเต็มประสิทธิภาพ ตามหน้าที่สำคัญอันเป็นภารกิจของกระทรวงสาธารณสุข งานสร้างเสริมสุขภาพ-ป้องกันโรคติดต่ออันตราย และงานรักษาพยาบาลผู้ที่รัฐพึงช่วยเหลือ ประกอบกับการจัดระบบการสาธารณสุขของประเทศในภาพรวมตามที่กฎหมายบัญญัติไว้   ไม่อาจดำเนินการได้ ย่อมส่งผลถึงสถานะสุขภาพโดยรวมของประชาชน

ตารางที่ ๑   สถิติชีพ อัตราเกิด อัตราตาย อัตราทารกตาย อัตรามารดาตาย อัตราตายด้วยโรคที่พบมีอัตราตายสูงบางโรค  พศ.๒๕๔๓ ถึง ๒๕๕๐

นับได้ว่าสถานะทางสุขภาพของประชาชนในช่วงก่อนมีระบบหลักประกันสุขภาพ มีภาวะสุขภาพโดยรวมดีกว่าปัจจุบัน  กล่าวคือมีอัตราตายของประชากร อัตราตายของทารก อัตราตายของมารดา อัตราตายของทารกอายุต่ำกว่า ๒๘ วัน อัตราตายด้วยโรคมะเร็ง  โรคหลอดเลือดสมอง โรคไตจากการติดเชื้อ โรคทางเดินหายใจจากการติดเชื้อไม่รวมทางเดินหายใจส่วนต้น ต่ำกว่าในยุคที่มีระบบหลักประกันสุขภาพ

บุคลากรทางการแพทย์ และทรัพยากรด้านสาธารณสุขดีกว่า บุคลากรทำงานอย่างมีความเป็นปกติสุขมากกว่า เนื่องด้วยภาระงานที่ไม่มากเกิน ประชาชนได้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณสุขในสัดส่วนที่สูงกว่าปัจจุบัน

ค่าใช้จ่ายในสิทธิต่างๆ พบว่าสิทธิของข้าราชการมีอัตราที่สูงกว่า สิทธิอื่น  ทั้งนี้ควรพิจารณาถึงอัตราค่ารักษาพยาบาลที่มีการปรับตัวภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพที่สถานพยาบาลต้องบริหารเพื่อความอยู่รอดขององค์กร   อย่างไรก็ดี ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยในที่รักษาในระบบหลักประกันสุขภาพ ปี ๒๕๕๐ ที่ใช้ใน รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับ เฉลี่ยเท่ากับ 8,658.49 บาท  ต่ำกว่าที่โรงพยาบาลเอกชนได้รับเฉลี่ย 28,804.61 บาท  หรือต่ำกว่าถึงเกือบ 20,000 บาทต่อราย  นับเป็นการต่ำมาก โดย สปสช.จ่ายให้กับโรงพยาบาลเอกชนเฉลี่ยต่อผู้ป่วยใน กว่าร้อยละ 300 ของที่สปสช.จ่ายให้กับผู้ป่วยในของโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข(อย่างไรก็ดีจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยอื่นประกอบด้วย)