ผู้เขียน หัวข้อ: ผลการตรวจสอบการดำเนินงานของ สปสช. และข้อเสนอแนะ โดย สตง.(รายละเอียดแต่ละประเด็น)  (อ่าน 56055 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ผลการตรวจสอบและข้อเสนอแนะ

จากการตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ใช้งบบริหารสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบริหาร) และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) พบว่า การบริหารจัดการยังไม่ถูกต้องและเหมาะสมในหลายประเด็นดังนี้

ประเด็นที่ 1   การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้อง และไม่ประหยัด
ประเด็นที่ 2   การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด
ประเด็นที่ 3   การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงิน สวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม
ประเด็นที่ 4   การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ประเด็นที่ 5   ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification)
ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์
ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545
ประเด็นที่ 7   การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกำหนด

รายละเอียดแต่ละประเด็นข้อตรวจพบมีดังนี้

ประเด็นที่ 1    การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้อง และไม่ประหยัด
จากการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากงบบริหารของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีการจ่ายเงินไม่ถูกต้อง และไม่ประหยัด ดังนี้
1.1 การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

จากการตรวจสอบสัญญาจ้างเลขาธิการ สปสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 - 2553 พบว่าไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี โดยมีรายละเอียดดังนี้
เลขาธิการ สปสช. คนปัจจุบัน เริ่มปฏิบัติงานเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2551 ในอัตราค่าจ้างเดือนละ 171,600.00 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 42,900.00 บาท ต่อมาเมื่อมีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีที่ 1 ระหว่างวันที่ 1 เมษายน 2551 - 31 มีนาคม 2552 คณะกรรมการมีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินเดือนเป็นเดือนละ 200,000.00 บาท และเงินประจำตำแหน่งเดือนละ 50,000.00 บาท

จากกรณีข้างต้นในช่วงเวลาปฏิบัติงาน 1 ปี เลขาธิการได้รับการปรับเงินเดือนจากอัตราเดือนละ 171,600.00 บาท เป็นเดือนละ 200,000.00 บาท หรือเป็นกรอบอัตราสูงสุดของกรอบเงินเดือนเลขาธิการตามมติ ครม. เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 16.55 ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขของการได้รับเงินเดือนของเลขาธิการ ตามมติ ครม.ที่กำหนดว่า “การกำหนดอัตราค่าตอบแทนพื้นฐานในส่วนของเงินเดือนประจำในระยะเริ่มแรกไม่ควรกำหนดไว้ให้ใกล้เคียงกับขั้นสูงสุดเพื่อให้สามารถปรับอัตราค่าตอบแทนพื้นฐาน (เงินเดือน) ได้ตามผลงานเป็นระยะ ๆ ตลอดอายุสัญญา” ดังนั้นการกำหนดอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการจากการปฏิบัติงานปีแรกแล้วปรับเป็นอัตราสูงสุดตามกรอบถือว่าเป็นการไม่ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี

1.2 การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 มีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบ 4 คน มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 7 กรกฎาคม 2546 และมีคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการตรวจสอบชุดใหม่มีจำนวน 5 คน เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 ในคำสั่งดังกล่าวได้กำหนดค่าตอบแทนเหมาจ่ายเป็นรายเดือน หรือค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบโดยให้ประธานอนุกรรมการได้รับเดือนละ 20,000.00 บาท และอนุกรรมการได้รับคนละ 16,000.00 บาทต่อเดือน
เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนฯ หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมฯ และการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน โดยมติคณะรัฐมนตรีมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดกรอบอัตราเงินเดือนและประโยชน์
ตอบแทนอื่นและเบี้ยประชุม ให้องค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 และองค์การมหาชนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะให้อยู่ในหลักเกณฑ์เดียวกัน ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีกำหนดเบี้ยประชุมของประธานกรรมการ กรรมการ และอนุกรรมการ และมีการจ่ายจริง ดังนี้

1.2.1   สปสช. เป็นองค์การมหาชนในกลุ่มที่ 3 กำหนดอัตราเบี้ยประชุมกรรมการขั้นต่ำและขั้นสูงเท่ากับ 6,000.00 - 12,000.00 บาท จากการตรวจสอบพบว่ากรรมการได้รับเบี้ยประชุมคนละ 12,000.00 บาทต่อเดือน
1.2.2   ประธานกรรมการให้ได้รับอัตราสูงกว่ากรรมการร้อยละ 25 ดังนั้น ขั้นต่ำและขั้นสูงของประธานกรรมการเท่ากับ 7,500.00 - 15,000.00 บาท จากการตรวจสอบพบว่าประธานกรรมการได้รับเบี้ยประชุมเดือนละ 15,000.00 บาท
1.2.3   อนุกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมเป็นรายเดือนตามที่คณะกรรมการกำหนดแต่ไม่เกินครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมกรรมการ ดังนั้นจากข้อมูลตามข้อ 1.2.1 อนุกรรมการตรวจสอบจะได้รับเบี้ยประชุมในอัตราสูงสุดไม่เกินคนละ 6,000.00 บาทต่อเดือน จากการตรวจสอบพบว่าอนุกรรมการตรวจสอบยังคงได้รับเบี้ยประชุมในอัตราคนละ 16,000.00 บาทต่อเดือน
1.2.4   ประธานอนุกรรมการให้ได้รับในอัตราสูงกว่าอนุกรรมการร้อยละ 25 ดังนั้นจากข้อมูลตามข้อ 1.2.2 ประธานอนุกรรมการตรวจสอบจะได้รับเบี้ยประชุมในอัตราสูงสุดไม่เกินเดือนละ 7,500.00 บาท จากการตรวจสอบประธานอนุกรรมการตรวจสอบยังคงได้รับเบี้ยประชุมในอัตราเดือนละ 20,000.00 บาท

กล่าวโดยสรุปตั้งแต่มติคณะรัฐมนตรีวันที่ 7 กันยายน 2547 ถึงปัจจุบันเดือนมีนาคม 2553 เป็นระยะเวลา 5 ปี 6 เดือนที่ สปสช. จ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบสูงเกินกว่าที่คณะรัฐมนตรีกำหนดเป็นเงินจำนวน 3,105,000.00 บาท ปรากฏดังตาราง


หมายเหตุ :    
1. อัตราเบี้ยประชุมที่ควรได้รับ หมายถึง อัตราเบี้ยประชุมที่คำนวณมาจากฐานอัตราเบี้ยประชุมของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ คือครึ่งหนึ่งของอัตราเบี้ยประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
2. รวมเบี้ยประชุมที่จ่ายสูงเกินไปใช้ระยะเวลาคำนวณ 5 ปี 6 เดือน หรือ 66 เดือน (1 ตุลาคม 2547 – 31 มีนาคม 2553)
3. คณะอนุกรรมการชุดที่ 1 มีอนุกรรมการจำนวน 3 คน คำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม 2546  คำนวณการประชุมตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรี (เดือนตุลาคม 2547) ถึงวันที่ได้อนุกรรมการชุดที่ 2 (เดือนกันยายน 2550) เป็นระยะเวลา 36 เดือน
4. คณะอนุกรรมการชุดที่ 2 มีอนุกรรมการจำนวน 4 คน คำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2550 คำนวณการประชุมตั้งแต่มีคำสั่งแต่งตั้งเดือนตุลาคม 2550 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 เป็นระยะเวลา 30 เดือน
...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ธันวาคม 2011, 01:17:00 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
1.3 การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างไม่เหมาะสม

สปสช. เริ่มมีนโยบายให้จ่ายเงินโบนัสให้เจ้าหน้าที่ของ สปสช. ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 การจ่ายเงินโบนัสพิจารณาจากผลการดำเนินงานในภาพรวมของ สปสช. ซึ่งประเมินโดยบริษัท ไทยเรทติ้งแอนด์อินฟอร์เมชั่นเซอร์วิส จำกัด (Thai Rating & Information Service Co., Ltd. : TRIS ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทริส คอร์ปอชั่น จำกัด TRIS Corporation Limited หรือ ทริส (TRIS)) และจากมติของคณะกรรมการกำหนดกรอบวงเงินโบนัสจากการประเมินผลงานในภาพรวมโดย ทริส ซึ่งแบ่งผลงานออกเป็น 3 ระดับ คือ
ระดับ A คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 81 ได้รับกรอบเงินโบนัสร้อยละ 12 ของเงินเดือน
ระดับ B คะแนนตั้งแต่ร้อยละ 71 - 80 ได้รับกรอบเงินโบนัสร้อยละ 8 ของเงินเดือน และ
ระดับ C คะแนนระหว่างร้อยละ 60 - 70 ได้รับกรอบวงเงินโบนัสร้อยละ 4 ของเงินเดือน
โดยมีแนวทางและหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัส ที่ประกอบด้วยการพิจารณาผลการปฏิบัติงานดังนี้
ส่วนที่ 1 ให้เจ้าหน้าที่ของ สปสช. ทุกสำนักทุกคนเท่า ๆ กัน ในฐานะเป็นส่วนหนึ่งของทีมที่ช่วยผลักดันเป้าหมายของ สปสช. ให้บรรลุเป้าหมาย
ส่วนที่ 2 จัดสรรให้สำนักไม่เท่ากัน โดยให้ตามผลงานของสำนัก และทุกคนในสำนักเดียวกันได้เท่ากัน ในฐานะเป็นหนึ่งของทีมสำนัก และรับผิดชอบต่อผลงานของสำนักร่วมกัน
ส่วนที่ 3 ให้แต่ละคนไม่เท่ากันโดยให้ตามผลงานส่วนบุคคล

ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 - 2552 การประเมินผลงานของ สปสช. โดยรวมที่ประเมินโดยทริสนั้น สปสช. มีผลงานอยู่ในระดับ A ทั้ง 5 ปี โดยมีคะแนนระหว่าง 90.95 - 93.80 โดยมีรายละเอียดผลการประเมินแต่ละปีงบประมาณปรากฏดังตาราง


จากผลการประเมินผลการดำเนินงานโดยทริสตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 - 2552 สปสช. จึงมีการจ่ายเงินโบนัส ให้แก่เจ้าหน้าที่ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2548 - 2552 จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 - 2552 และจ่ายเงินโบนัสให้ลูกจ้างตั้งแต่ปีงบประมาณ 2552เป็นต้นมา ปรากฏดังตาราง


หมายเหตุ :
1. ปีงบประมาณ 2548 - 2551 สปสช. มีการจ้างบุคคลปฏิบัติงานใช้ชื่อเรียกว่า “พนักงาน” ต่อมาในปีงบประมาณ 2552 มีการปรับจากพนักงานเป็นเจ้าหน้าที่ประมาณ 150 ตำแหน่ง และที่เหลือบางส่วนปรับเป็นลูกจ้างทำให้ปีงบประมาณ 2552 มีเจ้าหน้าที่เพิ่มขึ้นมาก

2. ปีงบประมาณ 2548 - 2549 มีพนักงานจำนวน 158 คน และ 204 คน ตามลำดับ แต่ไม่มีการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) และ สปสช. จ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่พนักงานในปีงบประมาณ 2550 - 2551 เป็นเงินจำนวน 2,751,615.00 บาท

3. ปีงบประมาณ 2552 จ่ายเงินโบนัสเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 

จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการจ่ายเงินโบนัสให้แก่เจ้าหน้าที่ พนักงาน และลูกจ้างของ สปสช. พบว่าไม่ได้นำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนต่อคณะกรรมการ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1.3.1   ในปีงบประมาณ 2549 การจ่ายเงินโบนัสของ สปสช. เป็นการจ่ายโดยไม่มีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการ ซึ่ง สปสช. จ่ายเงินโบนัสให้เจ้าหน้าที่ และลูกจ้าง เป็นจำนวนเงิน 18,702,836.00 บาท โดย สปสช. นำมติคณะกรรมการเรื่องการจ่ายโบนัสในปีงบประมาณ 2548 มาใช้สำหรับการจ่ายโบนัสในปีงบประมาณ 2549 ในขณะที่ปีอื่น ๆ จะมีมติคณะกรรมการอนุมัติให้จ่าย

1.3.2   ในปีงบประมาณ 2550 - 2551 สปสช. จ่ายเงินโบนัสให้พนักงานที่ สปสช. จ้างตามข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2546 ข้อ 15 ซึ่งไม่ถือว่าเป็นลูกจ้างของ สปสช. แต่เป็นพนักงานจ้างเหมาเฉพาะกรณี ซึ่งจากการสอบถามเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่าพนักงานสามารถได้รับค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการบริหารงานบุคคลสำหรับพนักงาน (ลูกจ้างสัญญาจ้าง) พ.ศ. 2550 ลงวันที่ 27 กรกฎาคม 2550 ข้อ 11 พนักงานนอกจากได้รับค่าจ้างตามอัตราจ้างแล้วอาจได้รับเงินค่าตอบแทนอื่น เงินเพิ่มพิเศษ ค่าล่วงเวลา เบี้ยขยัน ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าใช้จ่ายอื่น สวัสดิการ การสงเคราะห์และประโยชน์เกื้อกูล ตามที่คณะกรรมการบริหารและพัฒนาทรัพยากรบุคคลกำหนด การจ่ายเงินโบนัสให้พนักงานในปีงบประมาณ 2550 - 2551 จำนวน 2,751,615.00 บาท นั้นเป็นการจ่ายโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคล และไม่ได้นำเสนอการจ่ายโบนัสให้พนักงานเพื่อขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการทำให้คณะกรรมการยังไม่ได้พิจารณาว่าการจ่ายโบนัสให้พนักงานถูกต้องตามแนวทางหลักเกณฑ์การจ่ายเงินโบนัสที่คณะกรรมการกำหนด
...

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
1.4 การใช้จ่ายเงินบางรายการเป็นไปโดยไม่ประหยัด
จากการวิเคราะห์รายการค่าใช้จ่ายของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พบว่ามีการใช้จ่ายเงินโดยไม่ประหยัด กล่าวคือมีการเลือกเบิกค่าพาหนะเดินทางประเภทรถส่วนตัวมากกว่าการเบิกค่าพาหนะประจำทาง การเบิกค่าเครื่องบินไม่เป็นไปตามประกาศที่ สปสช. กำหนด และการเบิกเบี้ยเลี้ยงในการเดินทางที่ซ้ำซ้อนกับค่าอาหาร โดยมีรายละเอียดดังนี้

1.4.1 การเดินทางโดยเครื่องบินไม่เป็นไปตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ที่กำหนดประกาศฯ กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานตำแหน่งอื่น ๆ ตั้งแต่ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักลงมาสามารถเดินทางโดยเครื่องบินได้เฉพาะกรณีที่มีความจำเป็น แต่จากการตรวจสอบพบว่า การเดินทางโดยเครื่องบินของผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นผู้ปฏิบัติงานหรือพนักงานตำแหน่งอื่น ๆ ที่มิใช่ผู้บริหาร ผู้เชี่ยวชาญ หรือรองผู้อำนวยการสำนัก หากเป็นการเดินทางมาจากจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของสนามบินภายในประเทศแล้ว ส่วนใหญ่ผู้เข้าร่วมประชุมจะเดินทางโดยเครื่องบินและการขอเบิกค่าโดยสารเครื่องบินทุกรายการไม่ได้ระบุถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบิน ไม่ว่าการเดินทางดังกล่าวนั้นจะได้รับอนุมัติจากผู้อำนวยการพื้นที่สาขาเขตหรือไม่ก็ตาม ตัวอย่างปรากฏดังตาราง
ตัวอย่างโครงการและจำนวนเจ้าหน้าที่ที่เดินทางโดยเครื่องบินโดยไม่ประหยัดและไม่ได้ระบุเหตุผลความจำเป็น ประจำปีงบประมาณ 2552

ที่มา : เอกสารประกอบการเบิกค่าใช้จ่ายในการประชุมอบรมสัมมนา สำนักบริหารการเงิน สปสช.

1.4.2 ค่าเบี้ยเลี้ยงการเดินทาง
การจ่ายเงินค่าเบี้ยเลี้ยงการเดินทางในการจัดประชุมอบรมสัมมนาถือปฏิบัติตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 โดยในการเข้าร่วมประชุมอบรมสัมมนาเมื่อมีการจัดอาหารเลี้ยงก็ยังคงเบิกค่าเบี้ยเลี้ยงได้เต็มสิทธิ แต่จากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรม การจัดงาน และการประชุมระหว่างประเทศ พ.ศ. 2549 ข้อ 20 ได้กำหนดกรณีที่มีการจัดอาหารให้แก่ผู้เข้าประชุมอบรมสัมมนาที่ได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงด้วยนั้น ให้หักค่าเบี้ยเลี้ยงได้ในอัตรามื้อละ 1 ใน 3 ของอัตราเบี้ยเลี้ยงเหมาจ่ายต่อวัน แต่ประกาศของ สปสช. ดังกล่าวไม่ได้วางหลักเกณฑ์ข้อนี้ไว้ทำให้หน่วยงานมีการเบิกค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน เนื่องจากผู้เข้าประชุมอบรมสัมมนาจะได้รับค่าเบี้ยเลี้ยงเต็มจำนวนแม้ในการอบรมดังกล่าวจะได้มีการจัดอาหารให้ครบทุกมื้อแล้วก็ตาม
...




story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
1.5 การจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีการจ้างที่ปรึกษาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 จากการตรวจสอบพบว่าการจ้างที่ปรึกษาไม่เหมาะสม ดังนี้

1.5.1 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ้างที่ปรึกษาในลักษณะต่อเนื่องและอัตราค่าจ้างค่อนข้างสูง
สปสช. เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2546 ตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2545 มีการจ้างที่ปรึกษาโดยทำเป็นสัญญาและใช้ชื่อว่า “สัญญาจ้างพนักงาน” และกำหนดให้ปฏิบัติงานในตำแหน่งพนักงาน (ที่ปรึกษาอาวุโส) ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 จนถึงปัจจุบันปีงบประมาณ 2552 รายละเอียดข้อมูลที่ปรึกษาอาวุโสและอัตราค่าจ้าง ปรากฏดังตาราง


หมายเหตุ :   
1. ปีงบประมาณ 2549 - 2552 จ้างเจ้าหน้าที่ สปสช. ที่เกษียณแล้วเป็นที่ปรึกษาอาวุโส
1.1 นพ.ปัญญา  กีรติหัตถยากร เกษียณในตำแหน่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ เงินเดือน 96,130.00 บาท สปสช.จ้างเป็นที่ปรึกษาอาวุโส
เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2548
1.2 พญ.เรณู  ศรีสมิต เกษียณในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพ เงินเดือน121,540.00 บาท สปสช.จ้างเป็นที่ปรึกษาอาวุโส
เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2548
1.3 เจ้า นางเขมรัสมี  ขุนศึกเม็งราย เกษียณในตำแหน่งผู้อำนวยการ สปสช. เขต 1 เชียงใหม่ เงินเดือน 112,400.00 บาท สปสช.จ้างเป็นที่ปรึกษาอาวุโสเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2551

2. ปีงบประมาณ 2553 ยังคงมีการจ้างที่ปรึกษาอาวุโส 3 คน ตามข้อ 1 และมีการจ้างที่ปรึกษาเพิ่มจำนวน 3 คน
2.1 นายวิญญู พิทักษ์ปกรณ์ เริ่มจ้างหลังเกษียณจาก สปสช. ในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย จ้างในอัตราเดือนละ 70,000 บาท
เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2552
2.2 นพ.สมชาย นิ้มวัฒนากุล อดีตเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชจังหวัดนครศรีธรรมราช จ้างในอัตราเดือนละ 80,000.00 บาท
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552
2.3 นพ.นิพนธ์ โตวิวัฒน์ อดีตเป็นนายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกันประจำสาธารณสุขจังหวัดอุทัยธานี จ้างในอัตราเดือนละ 41,500.00 บาท เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2553

จากตารางข้างต้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 - 2552 สปสช. มีการจ้างที่ปรึกษาอาวุโส จำนวน 3 คน โดยทั้ง 3 คน เป็นเจ้าหน้าที่ของ สปสช. มาก่อนและหลังจากจ้างแล้วจะมีการจ้างอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยสัญญาที่จัดทำในช่วงปีงบประมาณ 2549 - 2550 จะจัดทำทุกปี โดยมีเงื่อนไขในสัญญาว่าจะต่ออายุเมื่อผ่านการประเมินผล ต่อมาในปีงบประมาณ 2551 - 2552 มีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหารายละเอียดในหัวข้อระยะเวลาการจ้าง โดยกำหนดเพิ่มในวรรคสอง คือ

“ในกรณีที่ระยะเวลาตามสัญญาจ้างพนักงานนี้ใกล้จะสิ้นสุดลง หากสำนักงานต้องการจ้างพนักงานปฏิบัติงานต่อไปอีกให้ถือว่าสัญญาจ้างพนักงานนี้ขยายออกไปอีกทุก ๆ หนึ่งปี เว้นแต่สำนักงานจะมีการยุบหรือยกเลิกตำแหน่งและได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าแล้ว ให้สัญญานี้สิ้นสุดลงตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา” และยังคงต้องให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาต่อสัญญาจ้าง โดยรูปแบบการประเมินผลให้เป็นไปตามที่ผู้รับจ้างกำหนด

ข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่า สปสช. มีการจ้างที่ปรึกษาในลักษณะต่อเนื่องและใช้สัญญาฉบับเดียวแล้วมีการต่ออายุสัญญาไปเรื่อย ๆ นอกจากนั้นพิจารณาจากอัตราค่าจ้างของแต่ละคนพบว่ามีอัตราที่ค่อนข้างสูงและในปีงบประมาณ 2553 มีการจ้างที่ปรึกษาเพิ่มอีกจำนวน 3 คน เป็นอดีตเจ้าหน้าที่ สปสช. 1 คน และบุคคลภายนอก 2 คน

1.5.2   การจัดทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาไม่ครบถ้วน
   จากการตรวจสอบการทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาทั้ง 3 คน พบว่า สปสช. จัดทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาไม่ครบถ้วน ปรากฏดังตาราง

หมายเหตุ :  เจ้า นางเขมรัสมี  ขุนศึกเม็งราย เริ่มจ้างในปีงบประมาณ 2551 และในปีงบประมาณ 2552 ใช้สัญญาจ้างของปีงบประมาณ 2551

จากตารางข้างต้น สปสช. จัดทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาไม่ครบถ้วน ดังนี้

1.5.2.1 สัญญาจ้าง นพ.ปัญญา กีรติหัตถยากร เริ่มจ้างในปีงบประมาณ 2549 และได้ทำสัญญาจ้างในปีงบประมาณ 2549 - 2550 สำหรับปีงบประมาณ 2551 ไม่ได้จัดทำสัญญาแต่มีการจ่ายเงินค่าจ้าง และเริ่มมาจัดทำสัญญาจ้างอีกครั้งในปีงบประมาณ 2552
1.5.2.2 สัญญาจ้าง พญ.เรณู ศรีสมิต เริ่มจ้างในปีงบประมาณ 2549 และได้ทำสัญญาจ้างในปีงบประมาณ 2549 - 2550 สำหรับปีงบประมาณ 2551- 2552 ไม่ได้จัดทำสัญญา แต่มีการจ่ายเงินค่าจ้างต่อเนื่องทุกปี
1.5.2.3 สัญญาจ้าง เจ้า นางเขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย เริ่มจ้างในปีงบประมาณ 2551 และได้ทำสัญญาในปีงบประมาณ 2551 โดยในสัญญาฉบับนี้ได้มีการระบุระยะเวลาการจ้างต่อเนื่องว่า

“ในกรณีที่ระยะเวลาตามสัญญาจ้างพนักงานนี้ใกล้จะสิ้นสุดลง หากสำนักงานต้องการจ้างพนักงานปฏิบัติงานต่อไปอีก ให้ถือว่าสัญญาจ้างพนักงานนี้ขยายออกไปอีกทุก ๆ หนึ่งปี เว้นแต่สำนักงานจะมีการยุบหรือยกเลิกตำแหน่งและได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าแล้ว ให้สัญญานี้สิ้นสุดลงตามระยะเวลา ที่กำหนดในสัญญา” ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2552 จึงเป็นการจ้างต่อเนื่องตามสัญญาในปีงบประมาณ 2551 อย่างไรก็ตามในปีงบประมาณ 2553 สปสช. ได้จัดทำสัญญาจ้างที่ปรึกษาใหม่ทั้งหมด และระบุระยะเวลาการจ้างต่อเนื่องเช่นเดียวกับสัญญาที่ทำในปีงบประมาณ 2551

1.5.3   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจ้างที่ปรึกษาทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูง
จากการสอบถามผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลงและวิเคราะห์ข้อมูลรายละเอียดประกอบสัญญาจ้าง พบว่า สปสช. จ้างที่ปรึกษาอาวุโสทำหน้าที่ผู้บริหารระดับสูงเช่นเดียวกับเลขาธิการ รองเลขาธิการ หรือผู้ช่วยเลขาธิการ โดยได้กำหนดในขอบเขตความรับผิดชอบของแต่ละคนดังนี้
1.5.3.1 นพ.ปัญญา กีรติหัตถยากร มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญา
ในปีงบประมาณ 2550 - 2553 คือ ให้คำปรึกษาและคำแนะนำเกี่ยวกับการใช้สิทธิเข้ารับบริการสาธารณสุขที่สถานบริการอื่น การติดตามเงินลงทุนและการพิจารณาเงื่อนไขการชำระหนี้ การประสานงานด้านการเมือง การชี้แจงข้อมูลแก่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สนับสนุนและกำกับการพัฒนาคุณภาพของหน่วยบริการ ติดตามและตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ และงานอื่น ๆ ที่เลขาธิการมอบหมาย
1.5.3.2 พญ.เรณู ศรีสมิต มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาปีงบประมาณ 2550 - 2553 คือ สนับสนุนการบริการผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี โครงการโรคลมชัก โครงการยิ้มสวยเสียงใส การพัฒนาระบบยาและเวชภัณฑ์ การบริหารจัดการงบประมาณสำหรับโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานของหน่วยบริการและการควบคุมกำกับติดตามและประเมินผลหน่วยบริการ
ในส่วนของศูนย์ตติยภูมิเฉพาะด้าน การพัฒนาระบบคุณภาพและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล และงานอื่น ๆ ที่เลขาธิการมอบหมาย
1.5.3.3 เจ้า นางเขมรัสมี ขุนศึกเม็งราย มีหน้าที่ความรับผิดชอบตามสัญญาปีงบประมาณ 2551 - 2553 คือ การสนับสนุนและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบบริการคุณภาพ (Quality Management System : QMS) เน้นหนักด้าน Management review ระบบตรวจสอบภายในและการบริหารความเสี่ยง คณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข การทบทวนเวชระเบียนในสถานพยาบาลตามมาตรฐานโรงพยาบาลและบริการสุขภาพ (Hospital Accreditation : HA) และการประเมินคุณภาพการรักษา (Clinical audit) การพัฒนาเครือข่ายบริการรวมทั้งระบบส่งต่อ - ส่งกลับ การพัฒนาการชดเชยเพื่อรับรองการพัฒนาระบบบริการ การพัฒนาระบบยาและเวชภัณฑ์ มาตรฐานการบริการเป็นรายกรณีและรายโรค การติดตามและตรวจเยี่ยมหน่วยบริการ การสนับสนุนและปฏิบัติงานร่วมกับส่วนงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย และงานอื่น ๆ ที่เลขาธิการมอบหมาย (ภาคผนวกที่ 3)

จากข้อเท็จจริงการปฏิบัติหน้าที่ตามขอบเขตความรับผิดชอบดังกล่าวจะมีหน่วยงานและผู้ปฏิบัติรับผิดชอบอยู่แล้วในแต่ละภารกิจ แต่กำหนดให้มีที่ปรึกษาทำงานเต็มเวลาเหมือนเจ้าหน้าที่ของ สปสช.

1.5.4 เอกสารการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาสำหรับปีงบประมาณ 2551 และ 2552 ไม่สมบูรณ์

จากการสัมภาษณ์ผู้อำนวยการสำนักบริหารทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาทั้ง 3 คน ชี้แจงว่า รูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาไม่เป็นลายลักษณ์อักษร แต่การประเมินผลใช้มติการประชุมของคณะกรรมการนโยบายทรัพยากรบุคคลที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ 4 คน คือ เลขาธิการ และรองเลขาธิการ 3 คน แต่การประชุมคณะกรรมการดังกล่าวไม่เป็นทางการ และไม่ได้จัดทำรายงานการประชุม การต่อสัญญาที่ปรึกษาใช้การแจ้งผลการลงมติของคณะกรรมการดังกล่าวที่แจ้งให้สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลงด้วยวาจาไม่มีการแจ้งผลการลงมติเป็นลายลักษณ์อักษร

อย่างไรก็ตามแม้ว่าในสัญญาว่าจ้างที่ปรึกษาจะระบุว่ารูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามที่ผู้ว่าจ้างกำหนด แต่รูปแบบการประเมินผลการปฏิบัติการของที่ปรึกษาในลักษณะดังกล่าวไม่เหมาะสมเนื่องจากไม่มีหลักฐานการประเมินผลการปฏิบัติงานที่เป็นทางการ ดังนั้นในปีงบประมาณ 2552 สปสช. จึงมีการประเมินผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาอาวุโสประจำปีงบประมาณ 2551 เป็นลายลักษณ์อักษรแต่พิจารณาจากเอกสารรายงานผลการประเมินพบว่าไม่มีการลงวันที่ที่ทำการประเมินผลและลายมือชื่อรับทราบผลการประเมินซึ่งระบุไว้ในแบบฟอร์ม ต่อมา
ในปีงบประมาณ 2552 ได้มีการปรับแบบฟอร์มประเมินผลงานที่ปรึกษาใหม่ โดยในแบบฟอร์มไม่มีการระบุวัน เดือน ปี ที่ทำการประเมินจึงถือว่าเป็นการจัดทำเอกสารที่ไม่สมบูรณ์
.........................................................................................
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 07 ธันวาคม 2011, 02:14:17 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 1การใช้จ่ายงบบริหารไม่ถูกต้อง และไม่ประหยัด

เพื่อให้การใช้จ่ายเงินงบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ ประหยัด และคุ้มค่า สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
1. ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
•การปรับอัตราเงินเดือนให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
1.1 แก้ไขการกำหนดอัตราเงินเดือนของเลขาธิการให้มีการปฏิบัติให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด
•การจ่ายเงินค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบ
1.2 ให้ตรวจสอบการจ่ายค่าเบี้ยประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี โดยหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความเห็นว่าการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการตรวจสอบไม่ได้เป็นการมาประชุมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการจ่ายผลตอบแทนให้คณะอนุกรรมการตรวจสอบในการปฏิบัติงานตรวจสอบ
•การจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส)
1.3 ทบทวนการจ่ายเงินค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้แก่ผู้ปฏิบัติงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยประสานงานกับสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปตามแนวทางที่ถูกต้อง
1.4 ควบคุมกำกับให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปฏิบัติตามมติคณะกรรมการในการจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (เงินโบนัส) และนำเสนอจำนวนเงินที่ต้องจ่ายค่าตอบแทนพิเศษ (โบนัส) ให้บุคลากรทุกประเภทของสำนักงานหลักประกันสุขภาพในแต่ละปีต่อคณะกรรมการ
• การจ้างที่ปรึกษา
1.5 ออกระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการจ้างที่ปรึกษาให้มีความชัดเจน โดยในระเบียบหรือข้อบังคับดังกล่าวให้มีรายละเอียดข้อมูลอย่างน้อยในเรื่องดังต่อไปนี้
1.   ความหมายของที่ปรึกษาสำนักงาน
2.   ลักษณะขอบเขตงานที่ต้องจ้างหรือใช้บริการที่ปรึกษา
3.    จำนวนที่ปรึกษาในแต่ละปี
4.   กรอบอัตราผลตอบแทน
5.   ระยะเวลาในการจ้าง
6.   เกณฑ์การพิจารณาผลงาน

อย่างไรก็ตามสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติควรให้ความสำคัญกับความจำเป็นที่ต้องมีที่ปรึกษาและกำหนดอัตราผลตอบแทนที่ไม่สูงมากเกินไป

2. เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
•การใช้จ่ายเงินกรณีการประชุม อบรม สัมมนา
2.1 แก้ไขประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 หรือกำหนดเป็นแนวปฏิบัติเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพิจารณากำหนดอัตราค่าเบี้ยเลี้ยงให้เหมาะสมกรณีมีการจัดบริการอาหารให้ในระหว่างการประชุม อบรม สัมมนา เพื่อให้การใช้จ่ายงบประมาณของแผ่นดินเกิดประโยชน์สูงสุด และไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับรายจ่ายอื่นที่หน่วยงานได้จ่ายให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุมไปแล้ว
2.2 สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องค่าใช้จ่ายในการบริหารและการจัดการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 เกี่ยวกับหลักฐานที่ใช้ประกอบการเบิกจ่าย เช่น กรณีเดินทางโดยเครื่องบินต้องกำหนดให้มีบัตรที่นั่งโดยสารเครื่องบินแนบรายการขอเบิกทุกครั้ง และหากมีการอนุมัติให้ผู้ปฏิบัติงานที่ตำแหน่งต่ำกว่ารองผู้อำนวยการสำนักเดินทางโดยเครื่องบิน ต้องระบุถึงเหตุผลความจำเป็นที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินให้ชัดเจน โดยเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวต้องคำนึงถึงความประหยัดและคุ้มค่าเป็นสำคัญ
..............................................................................

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประเด็นที่ 2   การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้กำหนดข้อบังคับ สปสช. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 เพื่อใช้สำหรับการจัดหาและบริหารงานพัสดุของสำนักงาน โดยที่ข้อบังคับดังกล่าวค่อนข้างเปิดกว้างมากกว่าระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และมีการปฏิบัติตามข้อบังคับดังกล่าวไม่เคร่งครัด

2.1 การบริหารพัสดุของ สปสช. ไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และข้อบังคับที่กำหนดไว้ ดังนี้

2.1.1 การบริหารพัสดุของ สปสช. ไม่ได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน

2.1.1.1 สปสช. ไม่ได้ส่งแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในกำหนดเวลาอย่างช้าภายในวันที่ 31 ตุลาคม ของทุกปี ตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2546 ข้อ 5 โดยในปีงบประมาณ 2550 – 2552 สปสช. ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินตามหนังสือลงวันที่ 9 พฤศจิกายน 2549 วันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 และ วันที่ 19 ธันวาคม 2551 ตามลำดับ

2.1.1.2 แผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างมีรายการไม่ครบถ้วน ตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2546 ข้อ 4(1) แผนที่จัดทำเป็นแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างสำหรับครุภัณฑ์ที่มีราคาเกิน 100,000.00 บาท และที่ดินสิ่งก่อสร้างที่มีราคาเกิน 2,000,000.00 บาท

   จากการตรวจสอบโดยการเปรียบเทียบรายการจัดซื้อจัดจ้างตามแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างประจำปีงบประมาณ 2552 กับการจัดซื้อจัดจ้างจริง พบว่า สปสช. จัดซื้อจัดจ้างจริงมากกว่ารายการตามแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ปรากฏดังตาราง

จากตาราง รายการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่ปรากฏในแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างที่ส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีจำนวน 28 สัญญา หรือคิดเป็นร้อยละ 77.78 โดยรายการที่ไม่ได้จัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายเกี่ยวกับการจัดหาระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พบว่ายังมีความเข้าใจไม่ถูกต้องในรายจ่ายที่เป็นค่าครุภัณฑ์ จึงไม่ได้นำรายการรายจ่ายเกี่ยวกับการจัดหาระบบสารสนเทศและคอมพิวเตอร์มาจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง

2.1.2 สปสช. ไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 และคู่มือการจัดหาพัสดุ

ข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 หมวด 2 การจัดหา ข้อ 8 กำหนดว่า “ให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีความประสงค์จะขอให้จัดหาพัสดุเพื่อใช้งาน แสดงความจำนงต่อเจ้าหน้าที่พัสดุโดยเสนอบันทึกตามแบบที่เลขาธิการกำหนด แสดงวัตถุประสงค์หรือความจำเป็นในการใช้งาน รายละเอียดของพัสดุที่ขอให้จัดหา กำหนดเวลาที่ต้องการใช้และรายละเอียดที่จำเป็น” และในคู่มือการจัดหาพัสดุได้กำหนดหลักเกณฑ์การจัดหาคือ ให้สำนักต่าง ๆ จัดทำบันทึกเสนอเลขาธิการขออนุมัติหลักการในการจัดหาพัสดุ โดยแบบของเนื้อหาบันทึกอย่างน้อยต้องมีข้อความดังนี้

(ก) เหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดหา
(ข) รายละเอียดของพัสดุ รวมทั้ง Spec (ถ้ามี)
(ค) ราคามาตรฐาน ราคากลาง หรือราคาอ้างอิงในตลาด หรือราคาที่เคยจัดหาครั้งหลังสุด
(ง) ระยะเวลาที่จะใช้ หรือให้งานแล้วเสร็จ
(จ) วงเงินที่จะใช้ / หมวดเงิน
(ฉ) วิธีที่จะจัดหา และเหตุผลที่จะต้องใช้วิธีนั้น ๆ

จากการตรวจสอบการจัดหาพัสดุของสำนักต่าง ๆ ระหว่างปีงบประมาณ 2552 - 2553 จำนวน 42 รายการพบว่า บันทึกเสนอเลขาธิการเพื่อขออนุมัติหลักการในการจัดหาพัสดุไม่มีเนื้อหาข้อ (ค) ราคามาตรฐาน ราคากลาง หรือราคาอ้างอิงในตลาดหรือราคาที่เคยจัดหาครั้งหลังสุดทุกรายการ และจากการสอบถามผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ซึ่งเป็นผู้จัดทำบันทึกขออนุมัติหลักการการจัดหาพัสดุเสนอเลขาธิการจำนวน 8 สำนัก ส่วนใหญ่ให้ข้อมูลว่ามีการสืบหาราคามาตรฐาน ราคากลาง หรือราคาอ้างอิงในตลาด หรือราคาที่เคยจัดหาครั้งหลังสุดก่อนทำบันทึกขออนุมัติแต่ไม่ได้นำข้อมูลเสนอไป

ในการเสนอขออนุมัติ นอกจากนี้จากการสอบถามเจ้าหน้าที่พัสดุ สำนักบริหารทั่วไป ซึ่งทำหน้าที่จัดซื้อได้รับข้อมูลสอดคล้องกันว่าไม่ได้ทำการตรวจสอบบันทึกเสนอขออนุมัติของสำนักต่าง ๆ ว่ามีเนื้อหาครบตามที่คู่มือกำหนดหรือไม่ ทั้งนี้ในรายงานผลการจัดหาของคณะกรรมการจัดหาพัสดุส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ระบุว่าได้นำข้อมูลเกี่ยวกับราคากลางมาใช้ประกอบการตัดสินใจแต่อย่างใด กรณีที่การจัดหาพัสดุของเจ้าหน้าที่ สปสช. ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อการใช้ราคากลางเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสมในการจัดหาพัสดุนั้น ย่อมส่งผลให้มีการจัดหาพัสดุในราคาที่สูงเกินไป แม้บางกรณีหากมีการต่อรองราคาแล้วผู้เสนอหรือผู้เข้าแข่งขันราคาจะยอมลดราคาลงให้อย่างมากก็ตาม

2.1.3 การให้เลขที่ใบสั่งซื้อสั่งจ้างในทะเบียนคุมใบสั่งซื้อสั่งจ้างไม่ครบทุกรายการ ข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ข้อ 12 กำหนดหลักฐานในการจัดหาพัสดุไว้ 3 แบบดังนี้

(ก) ใบเสร็จรับเงินหรือใบส่งของ ใช้สำหรับการจัดหาพัสดุโดยวิธีตกลงราคาซึ่งผู้ขายหรือผู้รับจ้างสามารถส่งมอบพัสดุทั้งหมดได้ทันทีหรือเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนหรือมีเหตุฉุกเฉิน

(ข) ใบสั่งซื้อหรือจ้าง ใช้สำหรับการจัดหาพัสดุที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างสามารถส่งมอบพัสดุหรืองานจ้างทั้งหมดได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันถัดจากวันที่สำนักงานตกลงซื้อหรือจ้าง

(ค) หนังสือสัญญา ใช้สำหรับกรณีนอกเหนือจากข้อ 1 และข้อ 2 หรือเป็นการจัดหาพัสดุที่มีการส่งมอบเป็นงวด การเช่า การแลกเปลี่ยน หรือการจัดหาพัสดุที่เลขาธิการเห็นสมควรให้ทำเป็นหนังสือสัญญา

ใบสั่งซื้อหรือจ้างซึ่งเป็นหลักฐานในการจัดหาพัสดุรูปแบบหนึ่งของ สปสช. ที่ใช้ในการจัดซื้อหรือจ้างกรณีที่ผู้ขายหรือผู้รับจ้างสามารถส่งมอบพัสดุหรืองานจ้างทั้งหมดภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากวันที่ สปสช. ตกลงซื้อหรือจ้างนั้น สปสช. สามารถจัดทำใบสั่งซื้อหรือจ้างได้ 2 ลักษณะ คือ

(1) ใบสั่งซื้อหรือจ้างจากระบบคอมพิวเตอร์หรือระบบ SAP จะใช้ในกรณีที่จัดหาโดยใช้งบบริหาร และ

(2) ใบสั่งซื้อหรือจ้างที่จัดทำด้วยมือจะใช้ในกรณีที่เป็นการจัดหาโดยใช้งบบริหารผ่านเงินยืมทดรอง การจัดหาโดยใช้งบกองทุน และงบสวัสดิการ

จากการตรวจสอบพบว่าทะเบียนคุมใบสั่งซื้อหรือจ้างที่จัดทำด้วยมือไม่มีหมายเลขใบสั่งซื้อหรือจ้างจำนวนมาก โดยในปีงบประมาณ 2551 ไม่มีหมายเลขใบสั่งซื้อหรือจ้าง จำนวน 47 หมายเลข คิดเป็นร้อยละ 26.86 ของจำนวนหมายเลขทั้งหมดที่เรียงลำดับในทะเบียนคุมทั้งสิ้น 175 หมายเลข และปีงบประมาณ 2552 ไม่มีหมายเลขใบสั่งซื้อหรือจ้าง จำนวน 228 หมายเลข คิดเป็นร้อยละ 49.78 ของจำนวนหมายเลขทั้งหมดที่เรียงลำดับในทะเบียนคุมทั้งสิ้น 458 หมายเลข กรณีดังกล่าวไม่เป็นไปตามหลักการควบคุมภายในที่ดีเนื่องจากไม่สามารถให้ความเชื่อมั่นได้ว่าจำนวนใบสั่งซื้อหรือจ้างที่ สปสช. ออกทั้งหมดมีจำนวนกี่รายการ และมีความครบถ้วนหรือไม่เพียงใด
......................................................................................

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
2.2 การคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างในการจัดหาโดยวิธีเปรียบเทียบราคาด้วยการเปิดประมูลทั่วไปไม่เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด

ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม การต่อรองราคาในการประกวดราคาจะกระทำได้ต่อเมื่อมีกรณีราคาที่เสนอของรายที่สมควรซื้อจ้างนั้นเสนอราคาสูงกว่าวงเงินงบประมาณ

จากการตรวจสอบวิธีการพิจารณาผลการคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างโดยวิธีเปรียบเทียบราคาด้วยการเปิดประมูลทั่วไป พบว่า สปสช. ไม่ได้พิจารณาคัดเลือกพัสดุหรืองานจ้างของผู้เสนอราคาที่ตรวจสอบแล้วมีคุณภาพและคุณสมบัติถูกต้องตามเงื่อนไขในขั้นตอนการยื่นซองเสนอราคา แต่พิจารณาคัดเลือกตามเงื่อนไขเพิ่มเติมที่ปรากฏในประกาศการจัดหาพัสดุโดยวิธีเปรียบเทียบราคา เงื่อนไขเพิ่มเติมดังกล่าว คือ “สปสช. โดยคณะกรรมการดำเนินการจัดหาพัสดุจะดำเนินการเรียกผู้เสนอราคาต่ำมากกว่าหนึ่งรายมาต่อรองราคาทีละราย ทั้งนี้การดำเนินการต่อรองราคาแต่ละราย คณะกรรมการฯ จะไม่เปิดเผยราคาให้ผู้เสนอราคารายอื่น ๆ ทราบ เมื่อทำการต่อรองราคาทุกรายแล้ว คณะกรรมการฯ อาจเรียกผู้เสนอราคาเฉพาะรายต่ำสุดครั้งหลังสุดมาต่อรองราคาอีกครั้งก็ได้ และการต่อรองราคานี้ถือว่าสิ้นสุด”

ขั้นตอนการต่อรองราคาที่ สปสช. กำหนดขึ้นเพิ่มเติมเพื่อใช้เป็นเงื่อนไขในการพิจารณาคัดเลือกคู่สัญญาดำเนินการจัดหาพัสดุนี้ไม่ได้ปรากฏอยู่ในข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2546 และประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องแนวทางปฏิบัติในการจัดหาพัสดุ ลงวันที่ 23 มกราคม 2547 แต่อย่างใด ทำให้บางกรณีผู้ยื่นซองเสนอราคาต่ำสุดในชั้นต้นไม่ได้รับเลือกให้เป็นคู่สัญญา รายละเอียดปรากฏดังตาราง
ตัวอย่างการจัดหาพัสดุโดยวิธีเปรียบเทียบราคาที่ผู้ยื่นซองเสนอราคาต่ำสุดไม่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคู่สัญญา




ที่มา : สำนักบริหารการเงิน สปสช. / จากการรวบรวมข้อมูลโดยสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน

โดยหลักการต่อรองราคาตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมข้อ 43 ได้กำหนดไว้ว่า การต่อรองราคาจะกระทำได้ก็ต่อเมื่อกรณีราคาที่เสนอของรายที่เห็นสมควรซื้อหรือจ้างนั้นสูงกว่าวงเงินงบประมาณ ให้คณะกรรมการเปิดซองสอบราคา/พิจารณาผลการประกวดราคาเรียกผู้เสนอราคารายนั้นมาต่อรองราคาให้ต่ำสุดเท่าที่จะทำได้ก่อน แต่หากดำเนินการแล้วไม่ได้ผลให้เรียกผู้เสนอราคาที่คณะกรรมการเห็นสมควรซื้อหรือจ้างทุกรายมาต่อรองราคาใหม่พร้อมกันด้วยวิธียื่นซองเสนอราคา และคณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) ได้ยืนยันหลักการต่อรองราคาดังกล่าวตามหนังสือหารือของ กวพ. ที่ นร (กวพ) 1204/8049 ลงวันที่ 8 สิงหาคม 2540 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าเงื่อนไขที่จะต่อรองราคาได้นั้น จะต้องเกิดจากราคาของผู้เสนอราคาต่ำสุดเกินกว่าวงเงินงบประมาณ และหากต่อรองไม่ได้ผลจึงให้เรียกทุกรายมาต่อรองใหม่ด้วยวิธียื่นซองเสนอราคาพร้อมกัน

ดังนั้นการที่ สปสช. กำหนดเงื่อนไขการพิจารณาคัดเลือกผู้ขาย/ผู้รับจ้างเพิ่มเติมในประกาศนอกจากจะขัดกับหลักการต่อรองราคาตามระเบียบพัสดุที่มุ่งเน้นให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้เสนอราคาแล้ว การเรียกผู้เสนอราคามาต่อรองราคาทีละรายตามที่ สปสช. กำหนดเงื่อนไขขึ้นมาเองยังอาจขัดต่อหลักการจัดหาที่โปร่งใส เนื่องจากไม่สามารถตรวจสอบและให้ความเชื่อมั่นได้ว่าข้อมูลราคาเป็นความลับระหว่างผู้เสนอแต่ละราย รวมทั้งการเจรจาต่อรองไม่มีข้อเสนอเรื่องผลประโยชน์อื่นใดอันจะทำให้ผู้เสนอรายอื่นเสียเปรียบ ตลอดจนไม่สามารถยืนยันได้ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการพิจารณาผลในกระบวนการต่อรองราคานั้นมีความโปร่งใสและเป็นธรรมหรือไม่อย่างไร กรณีเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการจัดหาพัสดุของ สปสช. นั้นไม่ได้ตั้งอยู่บนหลักการจัดหาพัสดุที่ดี ที่เน้นให้ทุกกระบวนการมีความโปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้เสนอทุกราย นอกจากนี้ในอนาคตเงื่อนไขดังกล่าวอาจเกิดปัญหาร้องเรียนเรื่องความเป็นธรรมในการกำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอได้

ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 2 การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด

เพื่อให้การบริหารพัสดุของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีความถูกต้องเหมาะสม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. ปฏิบัติตามประกาศคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้าง พ.ศ. 2546 โดยเคร่งครัดโดยเฉพาะการจัดทำแผนการปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างส่งให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภายในระยะเวลาที่กำหนด และแผนการจัดซื้อจัดจ้างต้องจัดทำรายละเอียดรายการให้ครบถ้วน ทั้งกรณีทำเป็นสัญญาและใบสั่งซื้อสั่งจ้าง

2. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2546 ข้อ 8 และคู่มือการจัดหาพัสดุข้อ (1) (ค) อย่างเคร่งครัด

3. สั่งการให้เจ้าหน้าที่ให้เลขที่ใบสั่งซื้อหรือจ้างที่ทำด้วยมือให้ครบถ้วนโดยจัดเรียง
ไปตามลำดับก่อนหลัง โดยไม่ว่างหมายเลขไว้

4. แก้ไขระเบียบการจัดหาพัสดุของ สปสช. ให้สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยเฉพาะหลักการและวิธีการจัดหาพัสดุ และหากเนื้อความในประกาศการจัดหาพัสดุใดจำเป็นต้องมีข้อความหรือรายการแตกต่างไปจากที่คณะกรรมการว่าด้วยการพัสดุ (กวพ.) กำหนดหรือแบบที่ผ่านการตรวจพิจารณาของสำนักงานอัยการสูงสุดแล้วโดยข้อความดังกล่าวมีสาระสำคัญตามที่กำหนดไว้ในตัวอย่างหรือแบบของ กวพ. และไม่ทำให้ทางราชการเสียเปรียบให้สามารถกระทำได้ เว้นแต่พิจารณาแล้วเห็นว่าจะมีปัญหาในทางเสียเปรียบหรือไม่รัดกุมพอให้ส่งร่างประกาศการจัดหาพัสดุไปให้สำนักงานอัยการสูงสุดพิจารณาก่อน
...
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 ธันวาคม 2011, 01:02:32 โดย story »

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประเด็นที่ 3    การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

การจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมจะได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ ซึ่งจะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้ภาครัฐที่มีสิทธิจะได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจะต้องจัดทำโครงการเสนอให้องค์การเภสัชกรรมพิจารณาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2551 สปสช. ใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเพื่อแจกจ่ายให้แก่หน่วยบริการต่าง ๆ การจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมในปีงบประมาณ 2551 และ 2552 มีจำนวน 2,307,195,769.54 บาท และ 3,330,137,933.50 บาทตามลำดับ ทำให้ สปสช. มีสิทธิได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการจัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมเป็นจำนวนเงินรวม 189,339,067.38 บาท ปรากฏดังตาราง

ที่มา : Commission summary report (only customer 2551 – 2552) องค์การเภสัชกรรม
หมายเหตุ :
1. ในปีงบประมาณ 2546 - 2550 สปสช. ไม่ได้จัดซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรม เนื่องจากงบประมาณทั้งหมดจัดสรรให้หน่วยบริการ และกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นผู้จัดซื้อ ต่อมาผลการประเมินการดำเนินงานของหน่วยบริการพบว่า ประชาชนมีปัญหาในการเข้าถึงยาบางชนิด บางแห่งจัดซื้อในราคาแพงมาก ดังนั้นยาบางชนิด สปสช. จึงดำเนินการจัดซื้อเอง เช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ยาต้านวัณโรค ยาต้านไวรัสเอดส์ และน้ำยาล้างไต เป็นต้น
2. ในปีงบประมาณ 2552 มีการจัดซื้อยาจำนวนมากแต่ได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐไม่แตกต่างจากปีงบประมาณ 2551 เนื่องจากยาบางชนิดไม่ได้รับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐ เช่น กลุ่มยาฉีด เป็นต้น

ในปีงบประมาณ 2551 และ 2552 สปสช. ได้จัดทำโครงการเพื่อขอรับเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐเป็นจำนวนเงิน 165,564,740.00 บาท เงินจำนวนดังกล่าว สปสช. ได้รับเป็นเงินบริจาคเข้ากองทุนสวัสดิการตามระเบียบ สปสช. ว่าด้วยการจัดสวัสดิการของสำนักงาน พ.ศ. 2550 และ สปสช. ได้เบิกจ่ายเงินจากกองทุนสวัสดิการไปจัดทำโครงการเพียงวันที่ 31 ธันวาคม 2552 เป็นเงิน 90,435,151.82 บาท ทำให้ สปสช. มีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐคงเหลือในกองทุนสวัสดิการ จำนวน 75,129,588.18 บาท ปรากฏดังตาราง


จากการตรวจสอบการเบิกจ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากกองทุนสวัสดิการพบว่า สปสช. เบิกจ่ายเงินไปจัดสวัสดิการในหลาย ๆ ด้าน เช่น การจัดทำโครงการศึกษาดูงานต่างประเทศ การจ่ายเพื่อการช่วยเหลือแก่ผู้ทำประโยชน์แก่สำนักงาน และการจ่ายเพื่อประโยชน์แก่การสนับสนุน
การปฏิบัติงาน

จากข้อมูลข้างต้นแม้ว่าทั้งองค์การเภสัชกรรมและ สปสช. จะมีการกำหนดข้อบังคับและระเบียบเพื่อให้มีการเบิกจ่ายและใช้จ่ายเงินดังกล่าวเป็นไปอย่างถูกต้อง มีกฎ ระเบียบรองรับ แต่เงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ สปสช. ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมเป็นผลมาจากการใช้เงินจากกองทุน

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติจัดซื้อ ควรนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐไปใช้ประโยชน์ในการจัดทำโครงการเพื่อพัฒนาบุคลากรในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ดังนั้นการนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐไปใช้จ่ายเพื่อสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ ลูกจ้างและพนักงานของ สปสช. จึงไม่เหมาะสม

ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 3   การนำเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้เป็นเงินสวัสดิการเป็นการปฏิบัติที่ไม่เหมาะสม

เพื่อให้การบริหารจัดการเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1. กำหนดหลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้รับจากองค์การเภสัชกรรมให้เป็นการนำไปใช้เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อหน่วยบริการ

2. กรณีเงินสนับสนุนกิจกรรมภาครัฐที่ได้จากองค์การเภสัชกรรมมาแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ดำเนินการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปรับเป็นการดำเนินการโครงการที่ให้ประโยชน์กับหน่วยบริการโดยตรง
...

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประเด็นที่ 4    การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 กำหนดอำนาจในการออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และข้อกำหนดต่าง ๆ เกี่ยวกับการบริหารงานบุคคล โดยเฉพาะโครงสร้างองค์กรหรือการจัดแบ่งส่วนงานเป็นอำนาจของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มาตรา 19 ที่ระบุว่า “ให้คณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ควบคุมดูแลสำนักงานให้ดำเนินกิจการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ อำนาจหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง
(1) กำหนดนโยบายการบริหารงาน และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงาน
(2) อนุมัติแผนการเงินของสำนักงาน
(3) ควบคุมดูแลการดำเนินงานและบริหารงานทั่วไปตลอดจนออกระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และข้อกำหนดเกี่ยวกับการบริหารงานทั่วไป การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ การเงินและทรัพย์สิน การติดตามประเมินผลและการดำเนินการอื่นของสำนักงาน”

จากการตรวจสอบการออกประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงาน ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันพบว่าไม่ถูกต้อง คือ

4.1 ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการแบ่งส่วนงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ประกาศ ณ วันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2546 ลงนามโดยเลขาธิการ สปสช. (ภาคผนวกที่ 2) โดยประกาศฉบับนี้อาศัยอำนาจในการออกประกาศตามความในมาตรา 31 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งอำนาจทั้งหมดเป็นอำนาจของเลขาธิการ พร้อมทั้งอ้างมติจากการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3/2545 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2545 ภายหลังมีการแบ่งส่วนงานใหม่และมีการออกประกาศโดยอาศัยอำนาจ
ในการออกประกาศเหมือนข้างต้น

4.2 ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่องการจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงาน ประกาศ ณ วันที่ 3 มิถุนายน 2551 (ภาคผนวกที่ 3) ลงนามโดยเลขาธิการ สปสช. โดยประกาศฉบับนี้อาศัยอำนาจในการออกประกาศตามความในมาตรา 31 และมาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และข้อ 10 แห่งข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม โดยไม่มีการกล่าวถึงมติที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เนื่องจากไม่ได้นำเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ต่อมาได้มีการแก้ไขอีก 3 ครั้ง ได้แก่ แก้ไขฉบับที่ 2 วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 แก้ไขฉบับที่ 3 วันที่ 30 กันยายน 2552 และแก้ไขฉบับที่ 4 วันที่ 28 มกราคม 2553 ซึ่งประกาศฯ ทั้งหมดลงนามโดยเลขาธิการ สปสช. และอาศัยอำนาจหน้าที่เช่นเดียวกับประกาศข้างต้น

จากการสอบถามเลขาธิการและเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายของ สปสช. ชี้แจงว่าไม่มีการนำเรื่องเกี่ยวกับการจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานเข้าพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จึงไม่มีการกล่าวอ้างมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในประกาศ เนื่องจากถือว่าข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2551 (ฉบับที่ 2) ซึ่งลงนามโดยประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ข้อ 10 ที่ว่า “สำนักงานจะมีผู้ปฏิบัติงานในตำแหน่งใด ประเภทใด ระดับใด อยู่ในส่วนงานใด จำนวนเท่าใด ให้เลขาธิการเป็นผู้กำหนด โดยคำนึงถึงความจำเป็น ลักษณะหน้าที่ ความรับผิดชอบ ปริมาณและคุณภาพของงาน ภายใต้กรอบนโยบาย เป้าหมาย แผนงานและวงเงินงบประมาณรวมทุกด้านเกี่ยวกับบุคคล ที่คณะกรรมการให้ความเห็นชอบ” เป็นการมอบอำนาจเรื่องการจัดแบ่งส่วนงานให้เป็นอำนาจของเลขาธิการ และในทางปฏิบัติก็มิได้นำโครงสร้างองค์กรหรือการจัดแบ่งส่วนงานใหม่เสนอเพื่อให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทราบหรือเห็นชอบ

จากข้อบังคับฯ ข้างต้นไม่ถือเป็นการมอบอำนาจให้เลขาธิการประกาศการจัดส่วนงานหรือโครงสร้างองค์กร แต่ให้อำนาจในการจัดคนลงในส่วนงานต่าง ๆ นอกจากนั้นรายงานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 12/2550 วันที่ 28 ธันวาคม 2550 วาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณา หัวข้อ 4.1 เรื่องระบบการบริหารบุคลากรของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีมติที่ประชุม 2 ข้อ คือ

(1) อนุมัติการปรับปรุงระบบการบริหารงานบุคลากรของ สปสช. ตามที่ผ่านความเห็นชอบเบื้องต้นจากคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์และให้ สปสช. จัดทำคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification) ของบุคลากร และ

(2) มอบคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ติดตามผลการบริหารงานบุคลากรของ สปสช. เสนอคณะกรรมการเพื่อทราบในอีก 4 เดือนข้างหน้า แต่จากข้อเท็จจริงพบว่าภายหลังจากมีมติคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติดังกล่าวในปีงบประมาณ 2551 จนถึงปัจจุบันปีงบประมาณ 2553 สปสช. ไม่เคยมีการนำเสนอเรื่องบุคลากรให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณาใด ๆ และภายหลังจากการประชุมดังกล่าวมีการปรับและแก้ไขโครงสร้างองค์กรหลายครั้งที่สำคัญ ๆ ได้แก่ ตามประกาศวันที่ 3 มิถุนายน 2551 วันที่ 23 กรกฎาคม 2552 วันที่ 30 กันยายน 2552 และวันที่ 28 มกราคม 2553 ก็ไม่มีการนำเสนอให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อทราบหรือเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบเช่นกัน

ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 4    การจัดส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545

เพื่อให้การดำเนินการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปโดยถูกต้องสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาสั่งการให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเสนอการจัดแบ่งส่วนงานและการกำหนดตำแหน่งงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีการเปลี่ยนแปลงต่อคณะกรรมการก่อนการประกาศใช้
...

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประเด็นที่ 5    ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification)

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐที่ตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ซึ่งหน่วยงานในกำกับของรัฐถือเป็นองค์การมหาชนประเภทหนึ่ง แต่มีความแตกต่างจากองค์การมหาชนในเรื่องกฎหมายจัดตั้ง ความเป็นอิสระในการบริหารจัดการ และลักษณะของภารกิจ แต่หลักเกณฑ์พื้นฐานในการจัดตั้งองค์กรยังมีองค์ประกอบเช่นเดียวกับองค์การมหาชน คือ เมื่อรัฐบาลมีนโยบายด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อจัดทำบริการสาธารณะ หากการจัดทำบริการสาธารณะนั้นมีความเหมาะสมที่จะจัดตั้งหน่วยงานบริหารขึ้นใหม่ที่แตกต่างไปจากส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานบริหารที่จัดตั้งขึ้นใหม่นั้นมีความมุ่งหมายให้มีการใช้ประโยชน์ในทรัพยากรและบุคลากรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด จากหลักเกณฑ์พื้นฐานดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลขององค์การมหาชนมีความสำคัญอย่างมาก จากการตรวจสอบการบริหารทรัพยากรบุคคลของ สปสช. พบว่าค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง โดยมีรายละเอียดดังนี้

5.1   สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงเกินกว่าหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด

จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับจำนวนบุคลากรและค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรตั้งแต่เริ่มจัดตั้งในปีงบประมาณ 2546 - 2552 พบว่ามีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือน หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุม และการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน โดยกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับองค์การมหาชน เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน และเบี้ยประชุม เป็นต้น ไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี และหากองค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้อยู่ในกรอบวงเงินดังกล่าวได้ให้นำเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เพื่อพิจารณาเป็นรายกรณี โดยให้ขอความเห็นของกระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณเพื่อประกอบการพิจารณา แต่จากการตรวจสอบข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรของ สปสช. พบว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2549 เป็นต้นมา สปสช. มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสูงกว่าอัตราที่คณะรัฐมนตรีกำหนดไว้ข้างต้นทุกปี โดยไม่ได้เสนอไปยัง ก.พ.ร. เพื่อพิจารณาแต่อย่างใด ปรากฏดังตาราง


ทั้งนี้ เมื่อวิเคราะห์การจ้างเจ้าหน้าที่และบุคลากรประเภทอื่น ๆ ของ สปสช. จะเห็นได้ว่ามีการจ้างเกินกว่ากรอบอัตรากำลังที่คณะกรรมการกำหนด โดยมีรายละเอียดปรากฏตามตาราง

ที่มา : สำนักบริหารทรัพยากรบุคคลและการเปลี่ยนแปลง สปสช.

หมายเหตุ :

1. ปีงบประมาณ 2548 - 2551 สปสช. มีการจ้างพนักงานตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2546 ข้อ 15 ซึ่งกำหนดว่า “ในกรณีที่จำเป็นโดยสภาพของงานที่มีลักษณะเฉพาะ หรืองานที่มีลักษณะหรือเวลาของการปฏิบัติงานเป็นพิเศษ หรืองานที่มุ่งหมายความสำเร็จของงานเป็นหลัก เลขาธิการอาจจ้างบุคคลที่เห็นสมควรให้ปฏิบัติงานดังกล่าวเป็นการเฉพาะก็ได้ โดยทำเป็นสัญญาจ้าง บุคคลดังกล่าวมิให้ถือว่าเป็นลูกจ้างตามข้อบังคับนี้”

2. ปีงบประมาณ 2552 สปสช. มีการจ้างลูกจ้างตามข้อบังคับฯ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2546 ข้อ 8(2) ซึ่งกำหนดว่า ผู้ปฏิบัติงาน มี 3 ประเภท ดังนี้ ...(2) ลูกจ้าง ได้แก่ บุคคลผู้ซึ่งสำนักงานจ้างให้ทำงานโดยมีการกำหนดระยะเวลาจ้างไว้ในสัญญาจ้าง...”

5.2 มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification)

คำอธิบายลักษณะงาน (Job description) ของ สปสช. ได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification) ของเจ้าหน้าที่ไว้ 4 ด้าน คือ ด้านคุณวุฒิการศึกษา ด้านประสบการณ์ ด้านความรู้และทักษะ และด้านสมรรถนะ จากการตรวจสอบคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานด้านคุณวุฒิการศึกษาของเจ้าหน้าที่ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ในสำนักนโยบายและแผน สำนักบริหารสารสนเทศการประกัน และสำนักงานสาขาเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้นจำนวน 111 อัตรา ปรากฏดังตาราง


จากตาราง พบว่าการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานรวมทั้ง 3 สำนักมีเพียงร้อยละ 8.11 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมด แต่หากพิจารณาเป็นรายสำนักแล้วพบว่าสำนักบริหารสารสนเทศการประกันมีการบรรจุเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานในอัตราที่ค่อนข้างสูงคือร้อยละ 19.44 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ทั้งหมดในสำนัก โดยตำแหน่งที่มีการบรรจุแต่งตั้งไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานได้แก่ ผู้อำนวยการสำนัก ผู้เชี่ยวชาญ และหัวหน้ากลุ่มงาน ตำแหน่งละ 1 คน และเจ้าหน้าที่อาวุโสและหัวหน้างานตำแหน่งละ 2 คน ถึงแม้ว่า สปสช. จะได้กำหนดคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานไว้ 4 ด้านดังกล่าว แต่เนื่องจากคุณสมบัติด้านคุณวุฒิการศึกษาของเจ้าหน้าที่เป็นคุณสมบัติเบื้องต้นที่จำเป็นและสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจนในเรื่องความรู้ความสามารถ ดังนั้นการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่ตรงตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงานด้านคุณวุฒิการศึกษาที่กำหนดไว้ย่อมส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการดำเนินงานของ สปสช. เนื่องจากเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานอาจมีความรู้ความสามารถไม่เพียงพอ และเป็นการบั่นทอนขวัญกำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานที่มีความสามารถมากกว่าแต่ไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง

ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 5 ค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด และการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification)

เพื่อให้การบริหารทรัพยากรบุคคลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาดำเนินการ ดังนี้

 1. ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2547 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2552 เกี่ยวกับการกำหนดกรอบวงเงินรวมสำหรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรอย่างเคร่งครัด

 2. ให้มีการบรรจุแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ให้ตรงตามที่กำหนดไว้ในคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่งงาน (Job Specification) อย่างเคร่งครัด
...


story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีหน้าที่ในการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีวัตถุประสงค์ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุน และส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ โดย “บริการสาธารณสุข หมายถึง บริการด้านการแพทย์และสาธารณสุขซึ่งให้โดยตรงแก่บุคคลเพื่อการสร้างเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัยโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสมรรถภาพที่จำเป็นต่อสุขภาพและการดำรงชีวิต ทั้งนี้ให้รวมถึงการบริการการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกตามความหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะ” แต่จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. มีการจ่ายเงินไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 คือ

   เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปใช้จ่ายในลักษณะการบริหารงาน สปสช. ได้รับงบประมาณ 2 ส่วนคือ งบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบบริหาร) และงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (งบกองทุน) การดำเนินงานของ สปสช. เพื่อบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใช้งบประมาณในส่วนงบประมาณสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สำหรับงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นงบประมาณที่จะนำไปจัดสรรให้หน่วยบริการเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนและส่งเสริมการจัดบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ จากการตรวจสอบการจ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 พบว่าเลขาธิการได้อนุมัติให้นำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในส่วนของงบเหมาจ่ายรายหัวสำหรับบริการผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอกจำนวน 95,325,000.00 บาท ไปจ่ายให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการเพื่อการดำเนินงานที่นอกเหนือจากบริการสาธารณสุข ตัวอย่างปรากฏดังตาราง

ตัวอย่างข้อตกลงที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมาใช้ในลักษณะการบริหารงาน ประจำปีงบประมาณ 2552



ที่มา : เอกสารข้อตกลงดำเนินงานตามโครงการ สำนักบริหารกองทุน สปสช.

หมายเหตุ : รายละเอียดแต่ละโครงการมีดังนี้
   1. โครงการลำดับที่ 1 เกี่ยวกับการประเมินการพัฒนาคุณภาพตามระดับคะแนนคุณภาพ สำหรับโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และประเมินเพื่อรับรองคุณภาพโรงพยาบาลที่พร้อมรับการตรวจเยี่ยมประเมิน
   2. โครงการลำดับที่ 2 เกี่ยวกับการจัดประชุมแพทย์และเครือข่ายผู้รับผิดชอบระดับอำเภอและจังหวัด เพื่อชี้แจงการเตรียมความพร้อมและแนวทางในการดำเนินงานให้วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่แก่กลุ่มเป้าหมาย และดำเนินการประชาสัมพันธ์ให้กลุ่มเป้าหมายมารับบริการวัคซีน พร้อมทั้งติดตามผลการให้บริการและติดตามอาการภายหลังการได้รับวัคซีนโดยกรมควบคุมโรค
   3. โครงการลำดับที่ 3 เกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพข้อมูลการเงินการบัญชีของหน่วยบริการ และพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศการประเมินผลการเฝ้าระวังสถานการณ์ทางการเงินการคลังและข้อมูลบริการของเครือข่ายหน่วยบริการ เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับผู้บริหารหน่วยบริการทุกระดับ
   4. โครงการลำดับที่ 4 เกี่ยวกับการศึกษาและพัฒนาต้นแบบการรับส่งข้อมูลการรักษาและการใช้ยาของผู้ป่วยนอกรายบุคคล ต้นแบบสารสนเทศให้รองรับการแสดงข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชนเพื่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ต้นแบบการเชื่อมโยงข้อมูลบริการที่ใช้เป็นโครงสร้างพื้นฐานด้านสารสนเทศให้สามารถรับส่งข้อมูลระหว่างระบบของหน่วยบริการและศูนย์ข้อมูลของ สปสช. และจัดทำแผนขยายผลการพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนข้อมูลรายบุคคลของการให้บริการ ณ จุดบริการของหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

การที่ สปสช. นำเงินกองทุนไปใช้จ่ายไม่เป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 มีผลกระทบทำให้หน่วยบริการไม่ได้รับงบประมาณเพื่อการดำเนินงานตามที่ควรจะเป็น

ข้อเสนอแนะ ]ประเด็นที่ 6   การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดในพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

เพื่อให้การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะ ดังนี้

1.ให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพิจารณาการใช้จ่ายเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของเงินกองทุน

2. ให้เลขาธิการกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพสาขาเขตพื้นที่ปฏิบัติตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติของแต่ละปีงบประมาณอย่างเคร่งครัด
...

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
ประเด็นที่ 7    การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกำหนด

ในแต่ละปีกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะได้รับการจัดสรรงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวสำหรับประชากรผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยมีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นผู้บริหารจัดการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 - 2553 กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับจัดสรรงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวในอัตรา 1,202.40  1,308.50  1,396.30  1,659.20  1,899.69  2,100.00  2,202.00  และ 2,401.33 บาท/หัวประชากรตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ตามลำดับ และในการดำเนินงานแต่ละปี สปสช. จัดทำคู่มือเพื่อใช้ในการบริหารจัดการงบอัตราเหมาจ่ายรายหัว ซึ่งได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารที่มีความซับซ้อนและมีการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้ง

กองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้รับการจัดสรรงบอัตราเหมาจ่ายรายหัวในการให้บริการสาธารณสุขหลายรายการ สำหรับรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2546 - 2553 ได้รับการจัดสรรในอัตรา 175.00  206.00  210.00  224.89  248.04  253.01  262.06 และ 271.79 บาท/หัวประชากรตามสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโดยการบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ามีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนไทยทุกคนทุกสิทธิในทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน มีการกระจายงบประมาณลงสู่พื้นที่อย่างเป็นธรรมและกระตุ้นให้ผู้ให้บริการมีแรงจูงใจที่เหมาะสมในการให้บริการมากขึ้น โดยการจ่ายเงินจะจ่ายตามผลงานและความครอบคลุมของการให้บริการเพื่อให้เกิดการให้บริการอย่างแท้จริงและสามารถผลักดันให้มีการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคตามชุดสิทธิประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ ในการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคต้องจัดให้มีบริการครอบคลุมประชาชนคนไทยทุกคน ดังนั้นในการจัดสรรเงินให้กับหน่วยบริการจึงคำนวณตามฐานข้อมูลของประชากรทั้งประเทศ ในปีงบประมาณ 2551 - 2553 สปสช. ได้มีการบริหารจัดการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ปรากฏดังตาราง

กรอบการบริหารงบสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ประจำปีงบประมาณ 2551 - 2553



กรอบการบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคแต่ละรายการตามตารางที่ 17มีคู่มือเพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้บริหารระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าทุกระดับ ผู้ให้บริการ และผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย จากการตรวจสอบการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) พบว่า

สปสช. จัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ งบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัดเป็นงบประมาณที่จัดสรรเพื่อการบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรครายบุคคลที่จัดในหน่วยบริการ ตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 กำหนดขอบเขตการสนับสนุนงบประมาณของงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัดเป็นการจัดสรรในลักษณะเหมาจ่ายรายหัวโดยโอนงบประมาณให้แก่หน่วยบริการโดยตรง (หน่วยบริการ หมายความว่า สถานบริการสาธารณสุขของรัฐ ของเอกชน และของสภากาชาดไทย หน่วยบริการประกอบโรคศิลปะสาขาต่าง ๆ และสถานบริการอื่นที่คณะกรรมการกำหนดเพิ่มเติมที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้ตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545)

จากการตรวจสอบพบว่า สปสช. จัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัดให้มหาวิทยาลัยซึ่งไม่ใช่หน่วยบริการตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 การจัดสรรงบบริการดังกล่าวไม่เป็นไปตามคู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปีงบประมาณ 2552 ตัวอย่างปรากฏดังตารางที่ 18 นอกจากนั้นการให้หน่วยงานหรือองค์กรอื่นดำเนินโครงการจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการโครงการและค่าธรรมเนียมสถาบันอย่างน้อยร้อยละ 10 ของงบประมาณที่ได้รับทั้งหมด จึงส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการที่ได้รับงบประมาณน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

ตัวอย่างการจัดสรรงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคสำหรับบริการที่มีความต้องการใช้บริการเด่นชัด (P&P Expressed demand services) แก่หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการ




ข้อเสนอแนะ ประเด็นที่ 7    การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคไม่เป็นไปตามที่คู่มือกำหนด

เพื่อให้การบริหารงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเป็นไปอย่างถูกต้อง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีข้อเสนอแนะให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำกับดูแลสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติสาขาพื้นที่พิจารณาอนุมัติโครงการ/กิจกรรมด้วยความรอบคอบและเป็นไปตามแนวทางที่คู่มือบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติกำหนด

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
จดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

สหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย(สผพท.)
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข โทร ๐๘๖ ๕๖๕ ๙๙๘๕

๑๕ ธันวาคม ๒๕๕๔

เรียน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี

จากการที่ปรากฏเป็นข่าวใน website ของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ว่าได้สรุปผลการตรวจสอบประเมินการทำงานของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)ที่ใช้งบบริหารสปสช.และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสตง.พบว่าการบริหารจัดการยังไม่ถูกต้องและเหมาะสมใน ๗ ประเด็น ซึ่งมีรายละเอียดที่นายวิทยา บุรณศิริ ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข น่าจะได้รับรายงานรายละเอียดของการตรวจสอบ และข้อเสนอแนะจากสตง.แล้ว

ต่อมามีข่าวจากสื่อมวลชนว่านายวิทยา บุรณศิริ ได้ลงนามในคำสั่งที่สธ.๑๗๕๗/๒๕๕๔ แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยคาดว่าใช้เวลา ๔๐ วัน จะสรุปผลการตรวจสอบได้นั้น ดิฉันขอสรุปความเห็นของสตง.เสนอท่าน เผื่อท่านยังไม่ได้รับรายงานจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และขอเสนอประเด็นที่ไม่ถูกต้องเพิ่มเติมอีกดังต่อไปนี้

๑. สปสช.มิได้เป็นองค์กรอิสระ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะซึ่งมีภารกิจในการให้บริการสาธารณะเช่นเดียวกับองค์การมหาชนพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมติครม.เมื่อวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ได้กำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือน ฯ หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมฯและการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชนตามที่สำนักงานก.พ.ร.เสนอ แต่จากการตรวจสอบของสตง.พบว่า สปสช.มิได้ดำเนินการตามมติครม.นี้ และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพก็มิได้กำกับดูแลการทำงานของสปสช.ให้ถูกต้องตามมติครม.นี้เรื่อยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๑ และยังปฏิบัติไม่ถูกต้องอีกทั้งหมดรวมเป็น ๗ ประเด็น ดังนี้คือ

๑.จากการตรวจสอบของสตง.พบว่า สปสช.มิได้ดำเนินการตามมติครม.นี้ และคณะกรรมการ

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็มิได้กำกับดูแลการทำงานของสปสช.ให้ถูกต้องตามมติครม.นี้เรื่อยมาตั้งแต่ปีพ.ศ.๒๕๕๑ เกี่ยวกับการกำหนดอัตราเงินเดือนและเบี้ยประชุม ซึ่งสตง.ชี้ว่าไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า ไม่ถูกต้องและไม่มีประสิทธิภาพ

๒.การบริหารพัสดุไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งหลักเกณฑ์ของสตง. ประกาศของสตง.

เรื่องการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดซื้อจัดจ้างพ.ศ. ๒๕๔๖ และยังไม่ปฏิบัติตามข้อบังคับสปสช.ว่าด้วยการพัสดุและคู่มือการจัดหาพัสดุของสปสช. รวมทั้งระเบียบการจัดหาพัสดุของสปสช.ก็ไม่สอดคล้องกับระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุพ.ศ. ๒๕๓๕

๓.สปสช.นำเงินสนับสนุนกิจกรรรมภาครัฐจากการซื้อยาจากองค์การเภสัชกรรมโดยใช้งบกองทุน

หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไปใช้เป็นเงินสวัสดิการ โดยไม่เหมาะสม

ทั้งนี้ สปสช.ได้ทำผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่กำหนดให้สปสช.เป็นเพียง

หน่วยงานที่ “จ่ายค่าบริการสาธารณสุขให้แก่หน่วยบริการสาธารณสุข มิได้กำหนดให้สปสช.เป็นผู้ไปซื้อยาและเวชภัณฑ์เอง แต่สปสช.ก็ทำการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์เอง และได้เงินสนับสนุนจากองค์การเภสัชกรรมถึง๑๖๕,๕๖๔,๗๐๐.๐๐ บาท และสปสช.นำเงินนี้ไปใช้เป็นสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ ลูกจ้าง พนักงานของสปสช. และบุคคลภายนอกอีกด้วย นับว่าสปสช.ทำผิดกฎหมายและเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ

๔.เลขาธิการสปสช.ทำผิดพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ ในการจัดส่วนงานและ

การกำหนดตำแหน่งงานเข้าพิจารณาในคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ แต่ทำตามความเห็นเบื้องต้นของคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ และเลขาธิการสปสช.ไม่เคยเสนอเรื่องบุคลากรให้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อทราบหรือพิจารณาใดๆทั้งสิ้น นับว่าเลขาธิการสปสช.ถืออำนาจในการบริหารงานบุคคลเหมือนเป็นบริษัทของตนเอง

๕.สปสช.ใช้จ่ายงบประมาณด้านบุคลากรไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ครม.กำหนด และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ไม่เป็นไปตามคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (Job Specification)ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนมติครม.

๖. การใช้จ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดใน

พระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ. ๒๕๔๕ ซึ่งสตง.แสดงหลักฐานไว้ ๔ รายการเป็นเงิน ๙๕,๓๒๕,๐๐๐.๐๐ บาท แต่ข้อเท็จจริง (facts ) นั้นสปสช.ยังใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ของกองทุนอีกมาก เช่นการเอาเงินไปทำโครงการรักษาเฉพาะโรค ซึ่ง สปสช.ไม่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย และได้ใช้จ่ายงบประมาณของโครงการพิเศษเหล่านั้น ร้อยละ ๑๐

เป็นค่าบริหารโครงการจากงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพ ซึ่งงบกองทุนฯต้องใช้เพื่อการรักษาพยาบาลและบริการสาธารณสุขเท่านั้น จะใช้เพื่อการบริหารไม่ได้ และนอกจากนั้น สปสช.ก็ได้รับงบบริหารแยกจากงบกองทุนอยู่แล้วเป็นงบบริหารสำนักงาน สปสช. และสปสช.ยังเอื้อประโยชน์ให้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมิใช่คู่สัญญาเป็นหน่วยบริการประจำ ไปรับทำโครงการพิเศษเหล่านี้ ถือว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชน และสปสช.ยังเอาเงินไปซื้อเวชภัณฑ์เองผ่านองค์การเภสัชกรรม เพื่อหวังเงินตอบแทน(ในข้อ ๓) โดยที่เวชภัณฑ์นั้นมีคุณภาพต่ำ เช่น เล็นส์แก้วตาเทียม และอื่นๆอีกมาก

๗.การบริหารงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในรายการงบบริการสร้างเสริมสุขภาพและ

ป้องกันโรคไม่เป็นไปตามคู่มือกำหนด ซึ่งที่จริงแล้วในเรื่องการบริหารงบกองทุนฯดังกล่าวนี้ รัฐมนตรี ว่าการกระทรวงสาธารณสุข ควรสอบถามจากคณะผู้ตรวจราชการของกระทรวงสาธารณสุขทุกเขต ก็จะทราบความจริงที่สถานบริการสาธารณสุขของกระทรวงทุกแห่ง ต่างก็ได้รับงบประมาณจากกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่ตรงกับความเป็นจริง กล่าวคืองบประมาณขาขึ้นที่สปสช.ขอไปยังสำนักงบประมาณ กับที่สปสช.ให้สถานบริการสาธารณสุขมาไม่ตรงกัน โดยที่ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของสปสช.จะไปดำเนินการแยกย่อยเงินกองทุนค่าบริการสาธารณสุขนี้ (โดยความจริงแล้ว ปลัดกระทรวงสาธารณสุขจะต้องรายงานเรื่องนี้ให้รัฐมนตรีทราบเพื่อหาทางแก้ไข แต่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขก็ละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่นี้ ปล่อยให้รพ.ของสธ.ได้เงินจากสปสช.น้อยกว่าที่รัฐบาลจัดสรรมา จน รพ.หลายร้อยแห่งประสบกับการขาดสภาพคล่อง และบางแห่งก็แทบล้มละลาย ทำให้ประชาชนต้องเดือดร้อน ดังเป็นข่าวที่ทราบกันอยู่แล้ว)

นอกจากพฤติกรรมการบริหารที่ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมนี้ สปสช.ยังไม่มีความโปร่งใสในการ

บริหารจัดการเงินช่วยเหลือประชาชนตามมาตรา ๔๑ ที่พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ได้รับความเสียหายในอัตราสูงสุดเพียงรายละไม่เกิน ๒๐๐,๐๐๐.๐๐ บาท ทำให้ประชาชนไม่ได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้น ทั้งๆที่มีเงินงบประมาณตามมาตรา ๔๑ นี้เป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้จ่ายช่วยเหลือประชาชน

ฉะนั้น การที่สตง. ตรวจพบ และชี้การใช้งบบริหาร สปสช. และงบกองทุนหลักประกันสุขภาพ

แห่งชาติ ไม่ถูกต้องและไม่เหมาะสมใน ๗ ประเด็น ทั้งนี้ สปสช.ไม่ได้ดำเนินการตามมติ ครม. ซึ่ง สตง.ชี้ว่า ไม่ประหยัด ไม่คุ้มค่า ไม่ถูกต้อง และไม่มีประสิทธิภาพ และ สปสช.ใช้เงินงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ใน

พรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ส่งผลกระทบต่อคุณภาพบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขได้รับงบไม่เพียงพอในการซื้อยาและจัดหายา เวชภัณฑ์และเครืองมือแพทย์ในการรักษาผู้ป่วย ฯ ล ฯ

จะเห็นได้ว่า การดำเนินงานของสปสช.เป็นอุปสรรคต่อการจัดบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขอย่างมาก คือ จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาลไปยังสถานพยาบาลอย่างขาดแคลน ทำให้ประชาชนได้รับบริการอย่างขาดคุณภาพ นอกจากนั้นทำให้ประชาชนไม่ได้รับยาที่เหมาะสมที่สุด ในการรักษาการเจ็บป่วย การใช้งบประมาณจำนวนมาก ไปจัดทำโครงการพิเศษรักษาคนไข้กลุ่มโรคเฉพาะบางโรค โดยไม่ได้ให้หน่วยงานบริการประจำที่มีระบบเครื่องมือและบุคคลการทำการเฉพาะจัดบริการที่มีคุณภาพให้ โดยนำเงินไปจัดให้โรงพยาบาลเอกชน ที่ไม่เป็นหน่วยบริการประจำทำโครงการพิเศษ และ สปสช.ได้ดำเนินการจัดซื้อยา เวชภัณฑ์ รวมแก้วตาเทียมคุณภาพต่ำ ซึ่งจะเกิดผลเสียต่อสุขภาพของประชาชน ฯ ลฯ

ด้วยสปสช.มิได้เป็นองค์กรอิสระ แต่เป็นหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะซึ่งมีภารกิจในการให้บริการสาธารณะเช่นเดียวกับองค์การมหาชนพ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่ง ตาม มติ ครม.ในวันที่ ๗ กันยายน ๒๕๔๗ ข้อ ๖ ถ้าองค์การมหาชนใด ไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน หรือไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือมีความซ้ำซ้อนกัน ให้พิจารณายุบเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขต่อไป

จึงขอให้นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีพิจารณาทบทวนยกเลิกการดำเนินงานของ สปสช.และคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ขอแสดงความนับถือ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา ประธานสผพท. พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล รองประธานสผพท.

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
มติคณะรัฐมนตรี การประชุมคณะรัฐมนตรีนอกสถานที่อย่างเป็นทางการ

วันนี้ (วันอังคารที่ 7 กันยายน 2547) เมื่อเวลา 09.00 น. ณ หอประชุมกรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ศาลาประชาคม จังหวัดหนองคาย พันตำรวจโท ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการนอกสถานที่ จังหวัดหนองคาย สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้........ ฯลฯ......

12. เรื่อง การปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนฯ หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมฯ และการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน

คณะ รัฐมนตรีพิจารณาการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราเงินเดือนฯ หลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมฯ และการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชนตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ แล้วมีมติดังนี้

1. เห็นชอบการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนด อัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทน อื่นของผู้อำนวยการองค์การมหาชน และการปรับปรุงหลักเกณฑ์การกำหนดเบี้ยประชุมและประโยชน์ตอบแทนอื่นของประธาน กรรมการ กรรมการ ที่ปรึกษา และอนุกรรมการขององค์การมหาชนที่สำนักงาน ก.พร. เสนอ โดยให้แก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้

 1.1 ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เห็นควรจัดให้อยู่ในกลุ่มที่ 1 เนื่องจากเป็นองค์กรเพื่อพัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน

 1.2 เบี้ยประชุมของอนุกรรมการให้ได้รับเป็นรายเดือน

 1.3 กรณีองค์การมหาชนที่ผู้อำนวยการได้รับอัตราเงินเดือนและประโยชน์ตอบแทนอื่น สูงกว่า หลักเกณฑ์ที่ปรับปรุงใหม่ ให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแลรับไปดำเนินการเจรจาจัดทำข้อตกลงกับผู้อำนวยการที่ ยังอยู่ในอายุสัญญาจ้าง โดยอาจนำส่วนต่างของเงินเดือนที่ได้รับเดิมกับเงินเดือนตามอัตราใหม่ไปจ่าย เป็นเงินตอบแทนในลักษณะอื่น เช่น เงินรางวัล เป็นต้น

 1.4 การกำหนดอัตราค่าตอบแทนพื้นฐานในส่วนของเงินเดือนประจำในระยะเริ่มแรกไม่ควร กำหนดไว้ให้ใกล้เคียงกับขั้นสูงสุด เพื่อให้สามารถปรับอัตราค่าตอบแทนดังกล่าวได้ตามผลงานเป็นระยะ ๆ ตลอดอายุสัญญา

2. ให้นำหลักเกณฑ์ตามข้อ 1. ไปใช้กับหน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติเฉพาะ ซึ่งมีภารกิจ ในการให้บริการสาธารณะเช่นเดียวกับองค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราช บัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542 ตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ

3. เห็นชอบการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชนตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ

4. เห็น ควรกำหนดกรอบวงเงินรวมสำรับค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรสำหรับองค์การ มหาชน เช่น เงินเดือน ค่าตอบแทน เบี้ยประชุม เห็นต้น ไว้ไม่เกินร้อยละ 30 ของเงินอุดหนุนประจำปี หากองค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้อยู่ในกรอบวงเงินดังกล่าวได้ ให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณายกเว้นเป็นราย ๆ ไป

5. ในการสรรหาผู้อำนวย การขององค์การมหาชน เห็นควรให้รัฐมนตรีที่กำกับดูแล และคณะกรรมการ องค์การมหาชนกำหนดวัตถุประสงค์ เป้าหมาย ตัวชี้วัด ผลผลิต ตลอดจนกรอบวงเงินค่าตอบแทน แล้วแจ้งให้ ก.พ.ร. ทราบก่อนประกาศรับสมัครผู้อำนวยการ ทั้งนี้ เพื่อความโปร่งใส และเพื่อประโยชน์ในการติดตาม ประเมินผลการปฏิบัติ-งานต่อไปด้วย

6. ให้ รัฐมนตรีที่กำกับดูแลองค์การมหาชน และ ก.พ.ร. ตรวจสอบและติดตามผลการดำเนินงานขององค์การมหาชนต่าง ๆ หากองค์การมหาชนใดไม่สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ไม่คุ้มค่ากับ ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการดำเนินงาน หรือไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริง หรือมีความซ้ำซ้อนกัน ให้พิจารณายุบเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขต่อไป ทั้งนี้ ให้ ก.พ.ร. รับไปพิจารณาด้วยว่า เพื่อให้เกิดความประหยัดและมีประสิทธิภาพ ในกระทรวงหนึ่ง ๆ อาจกำหนดให้มีองค์การมหาชนเดียว แต่ภายใต้องค์กรนั้นอาจมีหน่วยที่มีภารกิจเฉพาะด้านหลาย ๆ หน่วยได้

ข้อเสนอการพัฒนาการดำเนินงานและการประเมินผลองค์การมหาชน มีดังนี้

1. หลักการ ให้องค์การมหาชนทุกแห่งจัดทำแผนยุทธศาสตร์เสนอต่อคณะรัฐมนตรีและลงนามในคำ รับรองการปฏิบัติงาน โดยให้ ก.พ.ร. และสำนักงาน ก.พ.ร. เป็นผู้ประเมินผลงานขององค์การมหาชนตามคำรับรองการปฏิบัติงานและรายงานผลต่อ คณะรัฐมนตรี

2. แนวทาง องค์การมหาชนทุกแห่ง

 1) นำหลักการตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี พ.ศ. 2546 ไปประยุกต์ใช้

 2) จัดทำแผนยุทธศาสตร์เสนอคณะรัฐมนตรี และลงนามตามคำรับรองผลการดำเนินงานระหว่างรัฐมนตรีกับประธานคณะกรรมการและ ระหว่างประธานคณะกรรมการกับผู้อำนวยการ

 3) ประเมินผลการปฏิบัติงานเมื่อครบ 1 ปี ภายหลังลงนาม

 4) ให้ความสำคัญกับการประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าขององค์การมหาชน

 5) ให้ความสำคัญกับการประเมินประสิทธิภาพและความคุ้มค่าขององค์การมหาชน

 6) มีการนำมาตรการเชิงลบมาใช้

 7) ประกาศให้ประชาชนทราบเกี่ยวกับข้อตกลงผลการดำเนินงานผลการประเมินตามข้อตกลงและสิ่งจูงใจที่ได้รับ

 8) ดำเนินการตามมาตรการอย่างต่อเนื่องทุกปี

3. กลุ่มเป้าหมาย

 ระยะที่ 1 องค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชนฯ

 ระยะที่ 2 องค์การมหาชนตามพระราชบัญญัติเฉพาะซึ่งมีภารกิจให้บริการสาธารณะ

4. กรอบการประเมิน อยู่ภายใต้ตัวชี้วัด 4 มิติ

 1) มิติด้านประสิทธิผลตามพันธกิจ

 2) มิติด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการ

 3) มิติด้านคุณภาพให้บริการ

 4) มิติด้านการพัฒนาองค์กร

5. สิ่งจูงใจที่ให้แก่องค์การมหาชน ขึ้นกับผลสำเร็จของการดำเนินกิจการตามเป้าหมายมาตรการเชิงบวก เช่น ส่วนแบ่งจากการลดค่าใช้จ่ายการเพิ่มเงินอุดหนุนทั่วไปรายปี เป็นต้น มาตรการเชิงลบ เช่น ยกเลิกสัญญาของผู้อำนวยการก่อนหมดสัญญาจ้าง