ผู้เขียน หัวข้อ: แก้ พ.ร.บ.สสส. 16 ประเด็น ปรับนิยามสร้างเสริมสุขภาพ-ตั้งเพดานงบไม่เกิน 4,000 ลบ.  (อ่าน 796 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สธ. เผยแก้ไข พ.ร.บ. สสส. 16 ประเด็น ชี้ เป็นเรื่องที่ “คลัง - ยธ.” พิจารณาก่อนส่งให้ สธ. เผย ปรับนิยามส่งเสริมสุขภาพใหม่ ครอบคลุมมิติกาย จิต สังคม พร้อมตั้งเพดานงบกองทุนไม่เกิน 4 พันล้านบาทต่อปี แต่เปิดช่องให้ปรบเพิ่มหรือลดรายได้สูงสุดได้ทุก 3 ปี
       
       จากกรณีเครือข่ายภาคประชาชนยื่นหนังสือถึง นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรียกร้องให้มีส่วนร่วมในการทำประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
       
       วันนี้ (29 มี.ค.) นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. สสส. ว่า ประเด็นที่จะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในร่าง พ.ร.บ.สสส. พ.ศ. 2544 มีประมาณ 16 ประเด็น ซึ่งเป็นประเด็นที่ทางกระทรวงการคลัง และ กระทรวงยุติธรรม มีการทำและพิจารณามาก่อนแล้ว ก่อนที่จะมีการส่งเรื่องมาให้ สธ. ทำประชาพิจารณ์ต่อ โดยจะมีการทำประชาพิจารณ์ทั้งสิ้น 2 ครั้ง คือ ในวันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 3 เม.ย. นี้ ส่วนกรณีที่มีการวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการทำประชาพิจารณ์ว่าไม่มีการเปิดกว้างให้บุคคลภายนอกได้มีส่วนนั้น ต้องยอมรับว่า ไม่สามารถเชิญตัวแทนจากทุกกลุ่มมาร่วมในการทำประชาพิจารณ์ได้ แต่เชื่อว่ารอบด้าน เพราะก่อนการทำประชาพิจารณ์ ทางผู้จัดการเรื่องการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส.ได้มีการร่วมกับ สสส. ในการเชิญผู้ที่มีส่วนร่วม มาร่วมกันทำประชาพิจารณ์ นอกจากนี้ สธ. ยังได้มีการดึงกลุ่มบุคคลที่ถือว่าเป็นกลาง มาร่วมกันทำประชาพิจารณ์ ก่อนจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. สสส.
       
       “การแก้ไขเพิ่มเติมร่าง พ.ร.บ. สสส. มีการแก้ไขทั้งสิ้น 16 ประเด็น ซึ่งเป็นเรื่องที่ทางกระทรวงการคลัง และกระทรวงยุติธรรม มีการแก้ไขและหารือกันไว้บ้างแล้ว การเข้ามามีส่วนร่วมของ สธ. จึงถือว่าเป็นรูปแบบของการผนึกกำลังร่วมกันของ 3 กระทรวง แต่โดยหลักการแล้วจะเป็นกระทรวงยุติธรรมที่เป็นคนนำไปดำเนินการ หลังจากมีการทำประชาพิจารณ์ครบทั้ง 2 รอบแล้ว ก็คาดว่าจะใช้เวลาในการรวบรวมข้อเสนอที่ได้จากการทำประชาพิจารณ์ร่วมกันทั้งหมดมาปรับอีกประมาณ 1 - 2 เดือน หลังจากนั้นก็คาดว่าจะสามารถรวบรวมข้อเสนอต่างๆ ส่งให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา” นพ.มรุต กล่าว
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ร่าง พ.ร.บ. สสส. ที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม มีทั้งหมด 16 ประเด็น อาทิ
1. แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ” โดยให้หมายความว่า การใดๆ ที่มุ่งกระทำเพื่อสร้างเสริมให้บุคคลมีสุขภาวะทางกาย จิต และสังคม โดยสนับสนุนพฤติกรรมของบุคคล สภาพสังคม และสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การมีร่างกายที่แข็งแรง สภาพจิตที่สมบูรณ์ อายุยืนยาวคุณภาพชีวิตที่ดี และเกิดผลสัมฤทธิ์ต่อประชาชน
2. แก้ไขเพิ่มเติมให้มีการจำกัดวงเงินกองทุน และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจในการปรับเพิ่มหรือปรับลดรายได้สูงสุด โดยระบุว่า ให้กองทุนมีอำนาจจัดเก็บเงินบำรุงกองทุนจากผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามกฎหมายว่าด้วยสุรา และกฎหมายว่าด้วยยาสูบในอัตราร้อยละ 2 ของภาษีที่เก็บจากสุรา และยาสูบ โดยให้มีรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอนุมัติขอ ครม. มีอำนาจในการปรับเพิ่มหรือลดรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี

โดย MGR Online       29 มีนาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ประชาพิจารณ์แก้ไข พ.ร.บ. สสส. รอบแรก สธ. เผย ภาคีเครือข่ายห่วงตั้งเพดานกองทุน 4,000 ล้านบาท กระทบการทำงาน ได้รับงบน้อยลง ยันไม่ทำให้งบน้อย แต่งบไม่ให้โตขึ้น ใช้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หากไม่เพียงพอขอเพิ่มได้ กรมบัญชีกลางชี้ปรับเพดานกองทุนได้ทุก 3 ปี แต่ต้องขอดูผลงาน เอ็นจีโอเตือนรับฟังรอบด้าน หลากหลาย
       
       วันนี้ (31 มี.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชัน กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... ครั้งที่ 1 หรือ พ.ร.บ. สสส. โดยเชิญผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม อาทิ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และภาคีเครือข่าย รวมกว่า 100 คน
       
       นพ.เสรี ตู้จินดา ประธานคณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวขณะเปิดประชุม ว่า รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และ สธ. ได้ยกร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ใน 16 ประเด็น เพื่อให้การปฏิบัติงานของกองทุนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยจัดให้มีการประชาพิจารณ์ ในวันที่ 31 มี.ค. และวันที่ 3 เม.ย. อย่างไรก็ตาม สสส. เปรียบเสมือนเรือ การปรับปรุงแก้ไขต้องเป็นไปเพื่อให้ยังคงเดินหน้าต่อไปได้ตามพันธกิจที่กำหนด และเกิดประโยชน์ต่อสังคมไทยอย่างแท้จริง
       
       นพ.มรุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการ สธ. กล่าวว่า ประเด็นการกำหนดเพดานงบประมาณกองทุน มีความคิดเห็นหลากหลาย เช่น จะมีผลกระทบต่อผู้รับงบสนับสนุนหรือไม่ แต่ที่ผ่านมา หลังจากพิจารณาการสนับสนุนโครงการต่างๆ พบว่า ไม่ทำให้ได้รับงบน้อยลง เพียงแต่ไม่ให้งบโตขึ้น ถือว่าเป็นประเด็นที่มีผู้เกี่ยวข้องมาก เรื่องงบประมาณนั้นมีการปรับได้ หากในการใช้มีประสิทธิภาพ เห็นผลชัดเจนขึ้น หากเงินไม่พอใช้ในการจัดการตรงนี้ก็สามารถขอเพิ่มได้ แต่หากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จาก 4,000 ล้านบาท เป็น 5,000 ล้านบาท หรือขึ้นเป็น 6,000 ล้านบาท อย่างน้อยทุก 3 ปี จะมีการมาปรับวงเงินตรงนี้ อาจจะปรับขึ้นได้อีก ไม่ได้บอกว่าน้อยลง เป็นการการันตีด้วยซ้ำว่าจะไม่น้อยลง ไม่ได้มีการไปจำกัดอะไร ที่ผ่านมาบางปีใช้งบไม่ถึง 4,000 ล้านบาท ด้วยซ้ำ หากต้องการมากกว่านั้นก็ขอมาได้ ตามเห็นสมควร กระทรวงการคลังก็จะจัดหางบให้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ หลังจากทำประชาพิจารณ์จบทั้ง 2 วันแล้ว จะมีการปรึกษากันทั้ง 3 กระทรวงเพื่อที่จะปรับกฎหมายเป็นขั้นตอนสุดท้าย ให้ทั้ง 3 กระทรวง โดยเฉพาะกระทรวงยุติธรรมเป็นหลักในการเสนอเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา
       
       นายวรัชญ์ เพชรร่วง ผู้อำนวยการกองกำกับและพัฒนาระบบเงินนอกงบประมาณ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ได้มีการปรับแก้ไขในมาตรา 11 ให้มีการกำหนดรายได้สูงสุดปีงบประมาณละไม่เกิน 4,000 ล้านบาท และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยการอนุมัติของ ครม. มีอำนาจในการปรับเพิ่มหรือปรับลดรายได้สูงสุดตามมาตรานี้ทุก 3 ปี เพื่อให้กองทุนมีรายได้เพียงพอและเหมาะสมต่อการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ โดยให้พิจารณาถึงขอบเขตการดำเนินงานและผลการประเมินการดำเนินงานของกองทุน โดยเงินส่วนที่เกินจากรายได้สูงสุดที่กำหนดไว้ ให้กองทุนนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งเข้าใจว่ามีข้อห่วงใยเงินงบประมาณกองทุนฯ เป็นเงินนอกงบประมาณ ไม่ควรถูกจำกัดสิทธิ อย่างไรก็ตามเงินงบประมาณหรือเงินนอกงบประมาณ ล้วนเป็นรายได้แผ่นดิน การกำหนดวงเงินไม่ใช่การลิดรอนอำนาจของกองทุนฯ ยังคงใช้งบได้ตามกรอบวัตถุประสงค์ และมีการเปิดช่องให้สามารถปรับเพิ่มได้
       
       ด้าน นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลักการในการก่อตั้งของ สสส. ตั้งแต่ปี 2544 เกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมสุขภาพภาคประชาชนในทุกสาขาอาชีพ เป็นเงินภาษีนอกงบประมาณ ดังนั้น หากมีการปรับแก้ไขควรแก้ไขในเชิงบูรณาการสร้างสรรค์เพื่อให้การใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างรอบด้านทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ ซึ่งล้วนเป็นภาคีเครือข่ายที่ร่วมดำเนินงานกับ สสส. ไม่อยากให้ดำเนินการในลักษณะเร่งรีบจนเกินไป เพราะอาจกระทบกับการดำเนินงานสร้างเสริมสุขภาพในภาพรวมได้
       
       น.ส.อรุณี ศรีโต ประธานเครือข่ายแรงงานนอกระบบ กล่าวว่า ขอเรียกร้องให้ สธ. เปิดรับฟังความคิดเห็นให้หลากหลายมากขึ้น ทบทวนอย่างรอบด้าน เพราะจะแก้กฎหมายทั้งทีอย่าให้เสียของ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่าการทำงานในโครงการต่างๆ จากภาครัฐลงไปไม่ถึงชาวบ้าน แต่กิจกรรมรณรงค์ดีๆ ที่เกิดขึ้นก็ได้งบประมาณมาจาก สสส. ที่ลงไปสนับสนุน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของคนเล็กคนน้อย มีความสำคัญมาก มองให้เห็นคุณค่าของคนจริงๆ เวลาประเมิน สสส. ต้องมองให้เห็นการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ด้วย

โดย MGR Online       31 มีนาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ภาคีเครือข่าย สสส. วอล์กเอาต์ ไม่ร่วมประชาพิจารณ์แก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. พ้อแก้กฎหมายบนพื้นฐานความเกลียด - กลัว “หมอชนิกา” เห็นใจ สสส. ไม่มีส่วนร่วมยกร่างแก้ พ.ร.บ. วอน 3 กระทรวงคิดใหม่ นักกฎหมาย ชี้ ร่างแก้ไขขัด ม.77 ขาดการรับฟังเสียงผู้เกี่ยวข้อง
       
       หลังจากมีการปรับแก้ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ พ.ศ. ... หรือ พ.ร.บ. สสส. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้จัดให้มีการประชาพิจารณ์ โดยเชิญผู้แทนจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ความเห็น ซึ่งจะมีการดำเนิน 2 วัน คือ วันที่ 31 มี.ค. 2560 และ วันที่ 3 เม.ย. 2560 ซึ่งได้มีการประชาพิจารณ์ไปแล้วรอบหนึ่งนั้น
       
       วันนี้ (3 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น สธ. ได้จัดประชุมสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. สสส. เป็นครั้งที่ 2 พญ.ชนิกา ตู้จินดา ที่ปรึกษาคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า ในฐานะอดีตคณะกรรมการกองทุน สสส. มีความรู้สึกเข้าใจและเห็นใจ โดยเฉพาะภาคีเครือข่ายที่ทำงานร่วมกับ สสส. เพราะการทำงานของ สสส. เป็นงานบุญ ควรมีส่วนเข้าไปรับทราบในกระบวนการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าการรับฟังความเห็นในครั้งนี้คงไม่สามารถสรุปได้ เพราะเท่าที่ได้รับฟังตั้งแต่เปิดประชุมมายังไม่มีใครเห็นด้วยกับการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้เลย โดยเฉพาะหลักการและเหตุที่ได้ยกขึ้นมาเป็นลักษณะรีบเขียนจากวิกฤตที่เกิดกับ สสส. ที่ผ่านมา โดยไม่มีการเท้าความให้ถี่ถ้วนและรอบด้าน ดังนั้น การรับฟังความเห็นในวันนี้ตนคิดว่าอยากให้ทุกคนที่ทำงานกับ สสส. ได้ร่วมกับระบายความในใจ โดยยึดหลักการทำงานเพื่อประเทศชาติตามเจตนารมณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ อย่างไรก็ตาม ตนก็เห็นใจผู้บริหารประเทศจากสถานการณ์ที่ผ่านมา แต่การรับฟังความเห็นในวันนี้ก็สะท้อนกลับไป สธ. แล้วว่า ความคิดความเห็นของ 3 กระทรวงคงไม่เพียงพอ
       
       นายวันชัย บุญประชา ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว กล่าวว่า กระบวนการร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ที่ผ่านมา ไม่มีได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และตนอยากถามว่า เหตุใดจึงมีทัศนคติที่เป็นไปในเชิงลบต่อกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพของคนไทย ทัศนคติเช่นนี้ทำให้เครือข่ายของคนทำงานสร้างเสริมสุขภาพกว่า 10 ปี มีความกังวลและเกิดคำถามว่า ข้อคิดเห็นจากเครือข่ายฯ ในที่ประชุมประชาพิจารณ์ในครั้งนี้จะถูกนำไปพิจารณาหรือไม่ หรือเพียงทำตามขั้นตอนปฏิบัติเท่านั้น
       
       นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ อดีตนายแพทย์เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การที่ระบุไว้ในเหตุผลของการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. ว่า กฎหมายของ สสส. มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินงานของกองทุน การใช้จ่ายเงินงบประมาณไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลนั้น ถือเป็นการแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ด้วยความเกลียดและความกลัว ทั้งที่การตรวจสอบที่ผ่านมาไม่พบประเด็นการทุจริต อีกทั้ง สสส. ยังได้รับรางวัลหน่วยงานที่มีธรรมาภิบาล และองค์กรต่างชาติยกย่องให้เป็นต้นแบบการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ไม่ใช่เซลล์หลักในการทำงานแต่เป็นฮอร์โมนแห่งความสุขที่หนุนเสริมการทำงานทุกๆ หน่วยงานไม่ใช่เฉพาะแค่กระทรวงสาธารณสุขเท่านั้น ตนจึงขอเรียกร้องให้แก้ไขหลักการและเหตุผลในร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ใหม่
       
       นายไพศาล ลิ้มสถิต กรรมการบริหารศูนย์กฎหมาย สุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากหลักการและเหตุผลในร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ นั้นตนเองว่าอาจขัดร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2559 ในมาตรา 77 ที่ระบุว่า ก่อนการตรากฎหมายรัฐพึงจัดรับฟังความเห็นผู้เกี่ยวข้อง และศึกษาวิเคราะห์ผลกระทบจากกฎหมายอย่างรอบด้าน และเป็นระบบ เปิดเผยแผนการรรับฟังความเห็นต่อประชาชน และนำข้อมูลมาประกอบการตรากฎหมายทุกขั้นตอน ดังนั้น กระบวนการก่อนมีกฎหมายต้องมีขั้นตอนเหล่านี้
       
       นพ.มารุต จิรเศรษฐสิริ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินการหลังจากที่รับฟังความเห็นจากที่ประชุมประชาพิจารณ์ร่างแก้ไข พ.ร.บ. กองทุนฯ ในครั้งที่ 1 และ ครั้งที่ 2 แล้ว จะสรุปประเด็นข้อคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้ง 16 ประเด็น นำเสนอต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รับทราบภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ จากนั้นนำเข้าสู่ที่ประชุมร่วม 3 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อพิจารณาว่ามีประเด็นใดที่มีข้อห่วงใยจาก สสส. และภาคีเครือข่ายฯ นั้น ควรมีการปรับแก้ไขอย่างไรให้กองทุน สสส. ยังคงดำเนินงานได้ตามเจตนารมณ์ รวมถึงจะได้เชิญ ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. เข้ามามีร่วมในกระบวนการจากนี้ด้วย
       
       ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ตลอดการทำงานของ สสส. กว่า 15 ปี มีเนื้อหาการทำงานที่ชัดเจน ไม่ใช่กองทุนที่ล้มเหลวเหมือนที่มีการกล่าวหา มีนวัตกรรมที่เกิดจากการทำงานที่กว้างขวาง หลากหลาย เข้าใจว่า ผู้ที่อาจไม่เคยได้สัมผัสการดำเนินงานของ สสส. อาจใช้หลักกฎหมาย หรือหลักการทางนโยบายมาตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ตนหวังว่า จะได้มีโอกาสชี้แจง และแสดงเจตนารมณ์ของกองทุนฯ โดยเฉพาะการจัดตั้งกองทุนได้มีการศึกษามานานกว่า 8 ปีก่อนที่จะมีการผ่าน พ.ร.บ. สสส. ในปี 2544 และตลอดระยะเวลาการทำงานก็ถูกประเมินจากองค์กรในระดับประเทศมากมาย องค์การอนามัยโลกเองได้ยกให้ สสส. เป็นต้นแบบองค์กรนวัตกรรมทางการเงินเพื่อการทำงานสร้างเสริมสุขภาพ ที่อยากให้ประเทศได้มาเรียนรู้และนำไปใช้เป็นแบบอย่าง
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นร่างแก้ไข พ.ร.บ. สสส. ครั้งนี้ มีการแสดงความคิดเห็นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะประเด็นที่มีการระบุหลักการและเหตุผลในการแก้ไข ที่ระบุว่า มีการดำเนินงานที่ไม่สอดคล้องกับกองทุนฯ ไม่เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งขัดกับข้อเท็จจริงที่ สสส. เป็นหน่วยงานที่ได้คะแนนการประเมินด้านคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ จากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ถึงร้อยละ 81.41 ได้รับเกียรติบัตรรับรองจากนายกรัฐมนตรี ว่า เป็นองค์กรที่มีคุณธรรมและความโปร่งใสการดำเนินงานระดับสูงมาก ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่จึงเสนอให้มีการกลับไปแก้ไขหลักการและเหตุผล และเปิดโอกาสให้ สสส. และผู้เกี่ยวข้องเข้าไปมีส่วนร่วมในการยกแก้ไขร่าง พ.ร.บ. สสส. ก่อนจะนำมาสู่การประชาพิจารณ์ที่รอบด้านอีกครั้ง โดย นางทิชา ณ นคร กรรมการกองทุน สสส. ตัดสินใจออกจากที่ประชุมประชาพิจารณ์ และในภาคบ่ายภาคีเครือข่ายด้านสร้างเสริมสุขภาพ ได้ตัดสินใจไม่เข้าร่วมการประชาพิจารณ์ เพื่อแสดงจุดยืนไม่ยอมรับการประชาพิจารณ์ครั้งนี้
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศการประชาพิจารณ์ในช่วงบ่าย ได้มีการพิจารณาประเด็นแก้ไขใน 16 ประเด็น อาทิ การแก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “สร้างเสริมสุขภาพ”, การจำกัดวงเงินงบประมาณ 4,000 ล้านบาท/ปี, การกำหนดแผนการดำเนินงานประจำปีของกองทุน ต้องนำเสนอกระทรวงการคลังพิจารณาเห็นชอบอย่างน้อย 30 วัน, แก้ไของค์ประกอบคระกรรมการกองทุน โดยตัดรองประธานกรรมการฯ คนที่ 2, เป็นประเด็นที่มีการแสดงความคิดเห็นอย่างกว้างขวางไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขดังกล่าว เนื่องจากทำให้เกิดข้อจำกัดในการปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการกำหนดแผนการดำเนินงานประจำปีตามมาตรา 16/1 และ 16/2 จะทำให้ สสส. ต้องทำงานในลักษณะเดียวกับกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ ซึ่งทำให้ขาดความคล่องตัวในการดำเนินงาน และขัดกับเจตนารมณ์ในการก่อตั้ง สสส.

โดย MGR Online       3 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 WHO ร่อนหนังสือถึง สธ. ยก “สสส.” ต้นแบบหน่วยงานสร้างสุขภาพระดับโลก แนะแก้ พ.ร.บ. สสส. การทำงานสร้างสุขภาพต้องอิสระ และมีงบประมาณที่เพียงพอ
       
       จากที่กระทรวงสาธารณสุข จัดประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (ฉบับที่…) พ.ศ…. เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ครั้งที่ 1 ในวันที่ 31 มีนาคม และจะจัดขึ้นครั้งที่ 2 ในวันที่ 3 เมษายน นั้น องค์การอนามัยโลก โดย ดร.แดเนียล เอ. เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A. Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงสาธาณสุข แสดงความเห็นกรณีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ. ว่า การสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เป็นการลงทุนที่คุ้มค่า เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยลดผลกระทบทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากความเจ็บป่วย มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เวทีในการตัดสินใจด้านนโยบายระหว่างประเทศต่างๆ ทั้งสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ และสมัชชาสุขภาพโลก ล้วนเห็นพ้องว่าประเทศต่างๆ ควรมีกลไกทางการเงินที่ทันสมัย เพียงพอ และยั่งยืน เพื่อรองรับงานด้านการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ
       
       ดังนั้น กองทุนที่มีลักษณะคล้ายกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงถูกจัดตั้งขึ้นทั่วโลก และองค์กรอนามัยโลกตระหนักดีว่า สสส. มีสถานะเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวในไทยและต่างประเทศ ผ่านการดำเนินงานด้านต่างๆ ที่ผ่านมา สสส.มีส่วนช่วยผลักดันให้นโยบายใหม่ๆ เช่น การควบคุมยาสูบเกิดขึ้น ช่วยขยายโครงการด้านความปลอดภัยทางถนนให้มีประสิทธิภาพและทันสมัย
       
       “สสส. และโครงการอื่นๆ ที่มีลักษณะคล้ายกันทั่วโลก ประสบความสำเร็จ เพราะยืนหยัดอยู่บนหลักพื้นฐานที่ชัดเจน และพิสูจน์แล้วว่าได้ผล หนึ่งในนั้นคือ ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ ซึ่งความเป็นอิสระด้านการเงิน การดำเนินการ และนโยบาย ทำให้ สสส. สามารถทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนได้เป็นอย่าดี นอกจากนี้ ยังทำให้ สสส. มีความยืดหยุ่น สามารถปรับกลยุทธ์การทำงานให้เหมาะสมกับโอกาสและความท้าทาย โดยไม่ติดอยู่กับข้อจำกัดโครงสร้างงานด้านสุขภาพเดิม แลฃะรับมือกับความท้ายทายด้านนโยบายที่หลากหลายได้เป็นอย่างดี”
       
       ดร.แดเนียล ระบุอีกว่า หลักการที่สำคัญมากต่อประสิทธิผลของงานด้านสร้างเสริมสุขภาพ คือ การมีทรัพยากรที่เพียงพอ และมั่นคง จึงจะช่วยให้มาตรการต่างๆ เกิดความยั่งยืน และมีส่วนสนับสนุนวิสัยทัศน์ด้านการสาธารณสุขของไทยในระยะยาว ทั่งนี้ ไทยใช้งบประมาณด้านสุขภาพประมาณร้อยละ 10 ในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลกและน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาและกำลังพัฒนาบางประเทศมาก ดังนั้นไทยต้องใช้จ่ายด้านนี้มากขึ้น ไม่ใช่น้อยลง ยกตัวอย่างกรณีการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายในการให้บริการด้านสุขภาพระดับทุติยภูมิและตติยภูมิแก่ผู้สูงอายุ จะมากขึ้นเรื่อยๆ และจะเริ่มสร้างแรงกดดันต่อระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าและงบประมาณของประเทศในไม่ช้า วิธีที่ดีที่สุในการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพคือการเพิ่มการลงทุนในกิจกรรมเพื่อสนับสนุนและสร้างเสริมสุขภาพ นอกจากนี้ พันธสัญญาของไทยในการบรรลุเป้าหมายของโลก ทั้งเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน และปฏิญญาว่าด้วยโรคไม่ติดต่อและว่าด้วยความปลอดภัยทางถนนขององค์การสหประชาชาติ ล้วนต้องการการลงทุนในด้านนี้ที่มากขึ้น
       
       “องค์การอนามัยโลกมีความยิดีเป็นอย่างที่ที่ร่วมงานกับ สสส. อย่างต่อเนื่อง และสนับสนุนหลักการต่างๆ ที่เป็นหัวใจแห่งความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ สสส. กล่าวคือ ความเป็นอิสระในการทำงานที่หลากหลายรอบด้าน และความเพียงพอและมั่นคงด้านการเงินในระยะยาวในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เพื่อพัฒนาสุขภาพของประชาชนไทย”

โดย MGR Online       2 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
ภาคประชาชน ร้องนายกแพทยสภา ตรวจสอบจริยธรรม “หมอเชิดชู - หมออรพรรณ์” ตะเพิดผู้แทน WHO จากเวทีประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส. ชี้ ใช้ถ้อยคำรุนแรง เสื่อมเสียภาพลักษณ์ประเทศ
       
       วันนี้ (5 เม.ย.) เมื่อเวลา 13.00 น. นายนรินทร์ แป้นประเสริฐ ผู้ประสานงานเครือข่ายเฝ้าระวังแอลกอฮอล์กรุงเทพ พร้อมด้วยเครือข่ายแอลกอฮอล์วอชท์ และภาคีเครือข่าย 30 คน เดินทางมายังสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เพื่อยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา นายกแพทยสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบจริยธรรม พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา และ พญ.อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา ที่แสดงพฤติกรรมไม่เหมาะสมในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ ร่าง พ.ร.บ. กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ฉบับที่... พ.ศ. ... เมื่อวันที่ 31 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยใช้ถ้อยคำไม่เหมาะสม กดดันจน นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ (Dr.Daniel A.Kertesz) ผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องออกจากห้องประชุมไปในที่สุด สร้างความเสื่อมเสียต่อองค์กรแพทยสภา กระทรวงสาธารณสุข รวมถึงภาพลักษณ์ของไทย ผ่าน นพ.สุกิจ ทัศนสุนทรวงศ์ เลขาธิการแพทยสภา โดยได้นำหลักฐานที่มีมอบไว้ด้วย
       
       นายนรินทร์ กล่าวว่า ในเวทีสัมมนาประชาพิจารณ์ร่าง พ.ร.บ.สสส. ที่ประชุมดำเนินการไประยะหนึ่ง ผู้ดำเนินการในที่ประชุม คือ นายวราสิทธิ์ กาญจนสูตร ได้อนุญาตให้ นพ.แดเนียล เอ.เคอร์แทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลก ซึ่งมาร่วมเวทีประชาพิจารณ์รับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่เมื่อ นพ.แดเนียล ได้เริ่มแสดงความเห็นเพียงไม่ถึงหนึ่งนาที พญ.เชิดชู และ พญ.อรพรรณ์ ได้กดไมโครโฟนโดยไม่รอให้ประธานเรียกให้พูด และไม่ยินยอมให้ผู้แทนองค์การอนามัยโลกได้แสดงความคิดเห็นจบ ทั้งที่ผู้ดำเนินการประชุมแจ้งว่าจะขอให้พูดเพียง 5 นาทีเท่านั้น โดยใช้คำพูดรุนแรง อาทิ ประชาพิจารณ์เกี่ยวข้องกับชาวต่างชาติ หรือ WHO หรือไม่ WHO เป็นพ่อเราหรือเปล่า หรือมีเวทีเยอะแยะที่ WHO จะไปพูด ไม่จำเป็นต้องมาพูดในเวทีนี้ ถ้ายอมอ้ายที่ไม่ใช่สัญชาติไทยมาให้ความคิดเห็น การทำประชาพิจารณ์เรื่องนี้จะโมฆะ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมมีทั้งข้าราชการระดับสูง ตัวแทนแพทย์จากที่ต่างๆ นักวิชาการ ตัวแทนหน่วยงานของรัฐ องค์กรภาคประชาสังคม เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 100 คน และประเทศไทยเป็นภาคีสมาชิกขององค์การอนามัยโลก เป็นองค์กรหลักนานาชาติ ทำหน้าที่ดูแลด้านสุขภาพของโลก ย่อมเกี่ยวข้องกับงานสุขภาพของทุกประเทศ และในประกาศสำนักนายกฯ เรื่องการรับฟังความคิดเห็น ก็ไม่ได้ห้ามชาวต่างชาติด้วย
       
       “อยากเรียกร้องให้มีการตรวจสอบ พญ.เชิดชู และ พญ.อรพรรณ์ ในฐานะวิชาชีพแพทย์ ว่าขัดต่อจริยธรรมใน หมวด 2 หลักทั่วไป ข้อ 6 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมย่อมไม่ประพฤติ หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นเหตุให้เสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ และรวมถึง หมวด 5 การปฏิบัติต่อผู้ร่วมวิชาชีพ ข้อ 30 ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมพึงยกย่องให้เกียรติเคารพในศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน รวมทั้งในฐานะกรรมการแพทยสภาว่าเหมาะสมหรือไม่ และเร็วๆ นี้ จะไปยื่นหนังสือถึงกรรมาธิการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติให้พิจารณาเรื่องนี้ เนื่องจากมีการกล่าวอ้างว่าเขามาจากกรรมาธิการนี้ด้วย” นายนรินทร์ กล่าว

โดย MGR Online       5 เมษายน 2560