ผู้เขียน หัวข้อ: เรื่องจริง! สธ.ยอมรับรพ.รัฐ18 แห่ง ขาดทุนกว่า 400 ล้าน ในบางที่  (อ่าน 1139 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
"รัฐมนตรีสาธารณสุข ยอมรับว่า ขณะนี้มีโรงพยาบาลกว่า 1,000 แห่ง ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤตการเงิน บางโรงพยาบาลบัญชีติดลบเกือบ 400 ล้านบาท"

"จากกรณีเพจเฟซบุ๊กสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไป นำข้อมูลสถานการณ์เงินบำรุง หรือ เงินกองทุน โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมาเผยแพร่ โดยระบุว่าขณะนี้โรงพยาบาล 18 แห่ง กำลังมีปัญหาขาดสภาพคล่องในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งจากข้อมูลพบว่าโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าขาดทุนเกือบ 400 ล้านบาทศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีสาธารณสุข ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง และย้ำว่าปัญหาวิกฤตทางการเงินของโรงพยาบาล ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมานานแล้ว ขณะนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถบริการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปได้สำหรับโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไป 18 แห่ง จากโรงพยาบาล 1,000 แห่ง ที่กำลังได้รับผลกระทบจากการขาดทุน โดยโรงพยาบาลที่มีปัญหาสภาพคล่องการเงิน เนื่องจากงบค่าใช้จ่ายรายหัวในส่วนของระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้น้อย และบริหารจัดการงบประมาณไม่ดี"

4เมย60
"เรื่องโดย Nation TV"

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เมื่อวันที่ 5 เมษายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวด่วนชี้แจงปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) ขาดสภาพคล่อง 18 แห่ง ว่า รพ.สังกัดกระทรวงไม่ได้ขาดทุนขนาดที่มีการนำเสนอกันในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อมูลไม่ครบถ้วน จากการตรวจสอบข้อมูลทุกๆ เดือนมี รพ.ขาดสภาพคล่องจาก 18 แห่ง เหลือ 5  แห่ง ประกอบด้วย รพ.พะเยา 59,598,270.18 บาท รพ.พระนั่งเกล้า 56,744,814.17 บาท รพ.ประจวบคีรีขันธ์ 39,535,105.97 บาท รพ.พิจิตร 27,820,366.25 บาท และ รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม 3,696,876.44 บาท อย่างไรก็ตามปัญหา รพ.ขาดทุนไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีปัญหามานานแล้วและได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด ไม่มีใครปล่อยให้ รพ.ล้มจนทำให้กระทบกับการให้บริการประชาชน

“ขณะนี้ รพ.ในสังกัดกระทรวงอยู่ระหว่างพัฒนาศักยภาพเพื่อดูแลประชาชน ที่เห็นตัวแดงเกิดจากการลงทุนสร้างตึก ซื้ออุปกรณ์ ซื้อยา อย่างกรณียาของมีอยู่ในมือ รอจ่ายออกไปเพื่อรักษาผู้ป่วย เกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นจะบอกว่าตรงนี้คือการขาดทุนไม่ได้ การจะดูว่าขาดทุนคือต้องดูทุนสำรองสุทธิ ซึ่งตอนนี้มีเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ขาดสภาพคล่อง” นพ.ปิยะสกลกล่าว และว่า ต้องดูที่ไตรมาส 3-4 ว่าจะเป็นอย่างไร แต่กระทรวงเองมีเงินฉุกเฉินที่เตรียมเอาไว้จัดส่งให้กับ รพ.ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องในช่วงนั้น ขณะเดียวกันก็จะมีการของบประมาณกลางปีเพื่อมาจ่ายส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย อาทิ ค่าตอบแทน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้คนในแวดวงสาธารณสุขแชร์โซเชียลเรียกร้องให้ ‘ตูน บอดี้สแลม’ เข้ามาช่วยเหลือด้วยการวิ่งขอรับบริจาคเงินนั้น นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ใครเป็นคนขอก็ไปจัดการเอง แต่จะเข้ามาช่วยเรื่องอะไรนั้นตนไม่รู้ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่ได้นิ่งเฉย ก็มีการดำเนินการทั้งส่วน สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพียงแต่คนที่แชร์ข้อมูลคงไปบังคับเขาไม่ได้ อยู่ที่ความรู้สึกของคน แต่คงทำได้เพียงขอให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สังคมได้ทราบ

นพ.วิรุฬห์ พรพัฒน์กุล ผอ.รพ.พระนั่งเกล้า กล่าวว่า ขณะนี้ รพ.พระนั่งเกล้าได้รับนโยบายให้มีการพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับการขยายเมืองมากขึ้น ทำให้มีการลงทุนอาคาร สถานที่ เครื่องมือแพทย์ บุคลากร แต่จากการบริหารงานบริการห้องพิเศษ การเพิ่มศักยภาพในการรักษาโรคยาก ซับซ้อน ทำให้มีสภาพเป็นบวกขึ้น แต่เนื่องจากมีการขาดสภาพคล่องสะสมมานาน แม้ว่าจะมีรายรับเพิ่มขึ้นแต่ก็ยังดูมีปัญหาติดลบอยู่ ยืนยันว่าไม่ว่าตัวเลขจะเป็นอย่างไร การดูแลสุขภาพของประชาชนยังให้บริการเหมือนเดิม


มติชนออนไลน์
วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สมัย รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และระบอบทักษิณ พวกนักการเมืองเสื้อแดง นปช ต่างเถียงคอเป็นเอ็นว่า จำนำข้าวไม่ขาดทุน ทำบัญชีไม่ได้
       
       ทำไมจะทำไม่ได้ คุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ เคยเขียนกลอนที่ผมแสนประทับใจเมื่อเข้ามาเรียนในคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีหนึ่ง เมื่อปี 2537 เอาไว้ว่า
       
       “คำนวณดินคำนวณฟ้าคำนวณถ้วน
       แต่คำนวณความดีมิเคยได้
       คำนวณเลขหลักล้วนคำนวณไว้
       แต่คำนวณหัวใจใช้เวลา
       คำนวณก้าวทุกก้าวที่เราย่ำ
       นักบัญชีควรนำความก้าวหน้า
       คำนวณความผิดถูกในทุกครา
       เป็นสง่าเป็นศรีศักดิ์นักบัญชี”
       
       สมัยนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข สปสช. ตระกูล ส และ เอ็นจีโอ ก็พูดเป็นเสียงตกร่องเดียวกัน ว่าไม่ขาดทุน และคิด วิเคราะห์ แยกแยะระหว่าง ขาดทุน ขาดสภาพคล่อง และจวนเจียนจะล้มละลายไม่ออก บอกว่า โรงพยาบาลของรัฐไม่มีวันขาดทุน หรือขาดทุนระดับเจ็ดแค่ห้าโรงพยาบาล!
       
       พอจะแก้กฎหมายสสส. ไม่ให้พวกใช้เงินผิดประเภท ไม่ให้มีผลประโยชน์ทับซ้อน พวก NGO ตระกูล ส ที่เคยใช้เงินหลวงง่ายๆ ก็ดิ้นรนแทบเป็นแทบตาย แล้วบอกว่าขาดเงินทุน รัฐจะทำร้ายภาคประชาชน ผมก็ประชาชน และไม่ได้เลือกพวกนี้มาเป็นตัวแทนของผมด้วย ตกลงโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนไม่ได้ แต่ NGO ตระกูล ส ก็ขาดเงินทุนไม่ได้เหมือนกัน จะดิ้นรนตายให้ได้ ทองแท้ย่อมไม่กลัวไฟ มีแต่ทองอะไรที่กลัวการตรวจสอบ
       
        ผมเคยพบอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขคนหนึ่งที่ตึกในทำเนียบรัฐบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขท่านนั้นบอกว่าโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนไม่ได้ ไม่เคยขาดทุน เราแบ่งการขาดทุนออกเป็นเจ็ดระดับ ระดับที่ 7 คือมีหนี้สินล้นพ้นตัวจนไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ ถึงจะเรียกว่าขาดทุน ผมเลยกราบเรียนไปว่า ผมมีความรู้น้อย เรียนวิชาการบัญชีมาแค่เท่าที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้สั่งสอนผมมา คำนิยามระดับเจ็ดที่อาจารย์บอกคือคำจำกัดความของคำว่า ล้มละลาย (Bankruptcy) ซึ่งหมายความว่ามีหนี้สินล้นพ้นจนไม่อาจจะชำระหนี้ได้ ด้วยความรู้อันน้อยนิดของนิสิตบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชั้นปีที่หนึ่งที่ผมจบมา คำว่า ขาดทุน คือ มีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายในรอบการดำเนินงานหรือปีนั้นๆ ปกติภาวะล้มละลายหนักหนาสาหัสกว่าขาดทุนครับอาจารย์ ถ้าหากว่าขาดทุนติดกันหลายๆ ปีจนหมดทุน ต้องไปกู้หนี้ยืมสินมา อันนี้ก็เข้าขั้นล้มละลายครับ อดีตรัฐมนตรีระดับศาสตราจารย์ท่านนั้นโกรธมากมองหน้าผมเขม็งแต่เถียงอะไรไม่ออก
       
        ผมไม่นึกว่าวันนี้จะได้ยินและได้เห็นอีกว่า โรงพยาบาลของรัฐไม่ขาดทุน ทั้งๆ ที่กว่า 500 แห่งขาดทุนย่อยยับดังได้เคยยอมรับเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2560 "เรื่องจริง! สธ.ยอมรับรพ.รัฐ18 แห่ง ขาดทุน กว่า 400 ล.บาทในบางที่" ทางสำนักข่าวเนชั่น ว่า “โรงพยาบาลศูนย์และโรงพยาบาลทั่วไปมาเผยแพร่ โดยระบุว่าขณะนี้โรงพยาบาล 18 แห่ง กำลังมีปัญหาขาดสภาพคล่องในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2559 ต่อเนื่องถึงไตรมาส 1 ปี 2560 ซึ่งจากข้อมูลพบว่าโรงพยาบาลบางแห่ง เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้าขาดทุนเกือบ 400 ล้านบาท ศ.คลินิก เกียรติคุณ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีสาธารณสุข ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง และย้ำว่าปัญหาวิกฤตทางการเงินของโรงพยาบาล ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เป็นมานานแล้ว ขณะนี้รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจ เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาวิกฤตการเงินโรงพยาบาล เพื่อให้สามารถบริการดูแลรักษาผู้ป่วยต่อไปได้" อ่านต่อที่ http://www.nationtv.tv/main/content/social/378541500/
       
       แต่วันรุ่งขึ้นหรือวันที่ 5 เมษายน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวด่วนชี้แจงปัญหาโรงพยาบาล (รพ.) ขาดสภาพคล่อง 18 แห่ง ว่า รพ.สังกัดกระทรวงไม่ได้ขาดทุนขนาดที่มีการนำเสนอกันในสังคมออนไลน์ ซึ่งเป็นข้อมูลไม่ครบถ้วน จากการตรวจสอบข้อมูลทุกๆ เดือนมี รพ.ขาดสภาพคล่องจาก 18 แห่ง เหลือ 5 แห่ง ประกอบด้วย รพ.พะเยา 59,598,270.18 บาท รพ.พระนั่งเกล้า 56,744,814.17 บาท รพ.ประจวบคีรีขันธ์ 39,535,105.97 บาท รพ.พิจิตร 27,820,366.25 บาท และ รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม 3,696,876.44 บาท อย่างไรก็ตามปัญหา รพ.ขาดทุนไม่ใช่เพิ่งเกิด แต่มีปัญหามานานแล้วและได้รับการแก้ไขมาโดยตลอด ไม่มีใครปล่อยให้ รพ.ล้มจนทำให้กระทบกับการให้บริการประชาชน
       
       “ขณะนี้ รพ.ในสังกัดกระทรวงอยู่ระหว่างพัฒนาศักยภาพเพื่อดูแลประชาชน ที่เห็นตัวแดงเกิดจากการลงทุนสร้างตึก ซื้ออุปกรณ์ ซื้อยา อย่างกรณียาของมีอยู่ในมือ รอจ่ายออกไปเพื่อรักษาผู้ป่วย เกิดประโยชน์ในอนาคต ดังนั้นจะบอกว่าตรงนี้คือการขาดทุนไม่ได้ การจะดูว่าขาดทุนคือต้องดูทุนสำรองสุทธิ ซึ่งตอนนี้มีเพียง 5 แห่งเท่านั้นที่ขาดสภาพคล่อง” นพ.ปิยะสกลกล่าว และว่า ต้องดูที่ไตรมาส 3-4 ว่าจะเป็นอย่างไร แต่กระทรวงเองมีเงินฉุกเฉินที่เตรียมเอาไว้จัดส่งให้กับ รพ.ที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องในช่วงนั้น ขณะเดียวกันก็จะมีการของบประมาณกลางปีเพื่อมาจ่ายส่วนอื่นๆ ที่จำเป็นด้วย อาทิ ค่าตอบแทน
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้คนในแวดวงสาธารณสุขแชร์โซเชียลเรียกร้องให้ ‘ตูน บอดี้สแลม’ เข้ามาช่วยเหลือด้วยการวิ่งขอรับบริจาคเงินนั้น นพ.ปิยะสกลกล่าวว่า ใครเป็นคนขอก็ไปจัดการเอง แต่จะเข้ามาช่วยเรื่องอะไรนั้นตนไม่รู้ เพราะที่ผ่านมารัฐไม่ได้นิ่งเฉย ก็มีการดำเนินการทั้งส่วน สธ.และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพียงแต่คนที่แชร์ข้อมูลคงไปบังคับเขาไม่ได้ อยู่ที่ความรู้สึกของคน แต่คงทำได้เพียงขอให้สื่อมวลชนเผยแพร่ข้อเท็จจริงให้สังคมได้ทราบ” (จาก http://www.matichon.co.th/news/519798)
       
       ขาดทุน นั้นในทางบัญชีหมายถึงมีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย โรงพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขส่วนใหญ่มีรายได้หลักจาก สปสช. หรือบัตรทอง แต่เมื่อบริการไปแล้วมักเก็บเงินได้เพียง 50-60% ของค่าบริการที่เรียกเก็บ และมีต้นทุนสูงประมาณ 70-80% ของค่าบริการที่เรียกเก็บ ทั้งนี้โรงพยาบาลของรัฐจึงขาดทุนมาโดยตลอด โปรดอ่านได้จาก โรงพยาบาลของรัฐในประเทศไทยขาดทุนเพราะ ใคร?: บทวิเคราะห์หาสาเหตุ http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9580000045566 โรงพยาบาลของรัฐโดยเฉพาะในกระทรวงสาธารณสุขนั้นขาดทุนเกือบห้าร้อยแห่ง เพราะมีรายได้น้อยกว่ารายจ่ายและเอาเงินบำรุงมาใช้จนหมด สาเหตุหนึ่งมาจากการที่คนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มขั้น เรียกว่าจาก aging society มาเป็น aged society
       
       แต่อีกส่วนหนึ่งเกิดจากค่าบริการที่เรียกเก็บนั้นเก็บเงินจาก สปสช. ไม่ได้จริง เพราะสปสช. ใช้ Capitation หรือการเหมาจ่ายรายหัวสำหรับการจ่ายผู้ป่วยนอก ดังนั้นผู้ป่วยจะมาโรงพยาบาลกี่ครั้ง จะอาการหนักและใช้ค่าใช้จ่ายมากแค่ไหน โรงพยาบาลก็ต้องรับผิดชอบเอง ส่วนผู้ป่วยในใช้การจ่ายค่าใช้จ่ายแบบกลุ่มรักษาโรคร่วม (Disease-related group) หรือ DRG การใช้ DRG ในการจ่ายเงินให้กับผู้ป่วยในของ สปสช คือโรงพยาบาลรายงานกลุ่มโรคมาก็จ่ายแบบเหมาราคาไปตามกลุ่มโรคร่วมนั้นๆ เช่น ผ่าคลอด จ่าย 4,000 อาจจะมีการปรับตามอาการหนักไม่หนักที่เรียกว่า adjusted relative weight หรือ Adjusted RW. การใช้ capitation สำหรับผู้ป่วยนอกและ DRG สำหรับผู้ป่วยในทำให้ สปสช ไม่ต้องรับความเสี่ยงอะไรเลย เป็นการโยนความเสี่ยงในการประกันสุขภาพทั้งหมดไปให้ผู้ให้บริการ ซึ่งจริงๆ แล้วคือผู้ถูกบังคับให้บริการ เพราะไม่สามารถปฏิเสธคนไข้ได้ แม้กระทั่งโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่เมื่อคนไข้อาการหนักถูก refer มา จำต้องยอมขาดทุนย่อยยับ
       
        การที่ NGO ตระกูล ส ชอบออกมาพูดว่าโรงพยาบาลของรัฐจะขาดทุนไม่ได้ และได้กำไรก็ไม่ได้ เป็นความเข้าใจผิด แสดงว่าไม่เข้าใจการบัญชีรัฐบาล (Governmental Accounting) เลย ตามมาตรฐานการบัญชีรัฐบาล (Government Accounting Standard Board: GASB) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลก็มีกำไรและขาดทุน มีงบกำไรขาดทุน มีงบดุล และงบกระแสเงินสด แต่เรียกด้วยชื่อที่แตกต่างกันออกไป
       
       งบดุล (Balance Sheet) ในทางการบัญชีรัฐบาลก็ยังเรียกว่า งบดุล
       
       งบกำไรขาดทุน (Income statement) ในทางการบัญชีรัฐบาลเรียกว่า งบแสดงรายได้ ค่าใช้จ่าย และการเปลี่ยนแปลงยอดเงินกองทุน (The Statement of Revenues, Expenditures, and Changes in Fund Balances) ซึ่งหากมีรายได้มากกว่าค่าใช้จ่ายก็คือตรงกับกำไรของบัญชีในภาคธุรกิจ (โปรดดูเพิ่มเติมได้จากhttp://www.gasb.org/cs/ContentServer?pagename=GASB/GASBContent_C/UsersArticlePage&cid=1176156735732)
       
       ทั้งนี้กรมบัญชีกลางของไทย เรียกโดยย่อกว่าว่า งบรายได้และค่าใช้จ่าย ซึ่งหากรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่ายในรอบการดำเนินงานก็คือการขาดทุน (Loss) นั่นเอง
       
       ดังนั้นที่ NGO ตระกูล ส ชอบพูดว่าโรงพยาบาลของรัฐขาดทุนหรือกำไรไม่ได้แสดงว่าไม่ได้ศึกษาความรู้ทางการบัญชีหรือการเงินมาเลย การที่โรงพยาบาลไม่มีกำไรเลย ขาดทุนเรื่อยร่ำไปจะเอาเงินที่ไหนมาสร้างตึก ซื้อเครื่องมือแพทย์ใหม่ๆ หรือให้ทุนแพทย์ไปศึกษาต่อเฉพาะทางได้ และจะทำให้คุณภาพการรักษาพยาบาลดีได้อย่างไร
       
       นอกจากนี้คำพูดของรัฐมนตรีที่บอกว่า การดูว่าขาดทุนต้องดูที่ทุนสำรองสุทธิ (Net working capital) นั้นเป็นความเข้าใจผิดหลักการทางบัญชีเป็นอย่างมาก เนื่องจากเงินทุนสำรองสุทธินั้นบ่งชี้สภาพคล่อง ซึ่งหมายถึงความสามารถในการมีเงินหรือแปลงสินทรัพย์หมุนเวียนให้เป็นเงินสดให้พอเพียงกับเงินหรือหนี้ที่ต้องจ่ายออกไป และเป็นคนละเรื่องกับกำไรขาดทุน คนทำธุรกิจย่อมทราบดีว่าถึงขายของดีได้กำไร แต่เก็บเงินได้ช้า ย่อมขาดแคลนเงิน และขาดสภาพคล่อง หากไปขอกู้เงินสดมาหมุนเวียนไม่ทันก็จะชักหน้าไม่ถึงหลังและไม่มีเงินจะชำระหนี้หรือค่าใช้จ่ายได้ทัน ขายของดีมีกำไรก็อาจจะขาดสภาพคล่องได้ถ้าสายป่านยาวไม่พอ นอกจากไปกู้เงินมาได้มากๆ จึงพอจะมีสภาพคล่องได้ ส่วนการขาดทุนไปเรื่อยๆ นั้นก็ย่อมทำให้ทุนหมด ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อกินทุนเข้าไปทุกวัน ทุนสำรองสุทธิเองก็จะหมดไปในที่สุด ไม่มีทางเป็นอื่นไปได้ นอกจากจะมีเพิ่มในส่วนของเงินกู้ (Liability) เช่น กู้เงินมาหมุนชดเชยการขาดทุน หรือเป็นหนี้มากขึ้น เช่น ค้างจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าสาธารณูปโภค และค้างจ่ายค่าแรง P4P กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
       
       ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในระบบสาธารณสุขไทยคือการขาดทุน และขาดทุนเรื้อรังมานานจนเกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องกันถ้วนหน้า การแก้ปัญหาที่ดีที่สุดคือการออกมาพูดความจริง และกางข้อมูลออกมา ซึ่งในทางบัญชีไม่ได้เป็นเรื่องยุ่งยากซับซ้อนแต่อย่างใด แต่ทุกวันนี้กลุ่มประกันสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีแต่จะอ่อนแอลงไปและไม่มีข้อมูลเหล่านี้เลย ทั้งๆ ที่เคยมี แต่มีการย้ายผู้บริหารเพื่อลดความขัดแย้งในสองนคราสาธารณสุขระหว่าง สธ และ สปสช จนทำให้กระทรวงสาธารณสุขนอกจากจะเป็นลูกจ้างแล้วยังเป็นเบี้ยล่าง สปสช. อีกด้วย เนื่องจากไม่มีข้อมูลอันเป็นอำนาจสำคัญในการต่อสู้
       
       ทั้งนี้ สายป่านที่สำคัญของโรงพยาบาลในกระทรวงสาธารณสุขคือเงินบำรุง ซึ่งเป็นเงินที่โรงพยาบาลหารายได้มาได้เองและเหลือเก็บไว้ เช่นไปขอพระเกจิอาจารย์นิมนต์ท่านมาช่วย ขายยาดม ยาลม ยาหม่อง ให้เช่าที่ทำร้านกาแฟ ยันขายธงวันมหิดล เป็นต้น
       
       เงินทุนสุทธิหรือ Net Working Capital นั้นทางบัญชีคำนวณจาก สินทรัพย์หมุนเวียนหักออกด้วยหนี้สินหมุนเวียน สินทรัพย์หมุนเวียนคือสินทรัพย์ระยะสั้นๆ ที่สามารถแปลงเป็นเงินสดหรือแม้แต่ตัวเงินสดเองที่ใช้ได้ทันทีก็ถือว่าเป็นสินทรัพย์หมุนเวียน ส่วนหนี้สินหมุนเวียน ได้แก่ หนี้สินระยะสั้นที่จะครบกำหนดต้องชำระ เช่น ค่ายา ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า เงินโอนย้ายผู้ป่วยระหว่างโรงพยาบาล เป็นต้น เมื่อมีสินทรัพย์หมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียนมากเข้าๆ ก็ทำให้ เงินทุนสุทธิติดลบ
       
       ถ้าดูรูปข้างล่างนี้ โรงพยาบาลเหล่านี้คือโรงพยาบาลที่ขาดทุนบักโกรกติดต่อกันมานานแล้ว อันได้แก่ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า โรงพยาบาลสระบุรี โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ โรงพยาบาลสกลนคร โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี โรงพยาบาลขอนแก่น ฯลฯ และการขาดทุน (มีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย) อย่างต่อเนื่องทำให้ต้องนำเงินบำรุงโรงพยาบาลมาใช้ จนกระทั่งเงินบำรุงโรงพยาบาลหมดไปแล้วหรือเงินทุนสุทธิก็หมดไปแล้วนั้น เมื่อหักหนี้สินหมุนเวียนที่ตอนนี้มีอยู่ (เช่นหนี้ค้างจ่ายค่ายา ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ค่าแรงแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ อาทิ เงิน p4p ที่แทบทุกโรงพยาบาลค้างจ่ายและถ้ารัฐมนตรีจะยืนยันว่ามีก็ช่วยจ่ายค่าแรง p4p มาก่อนเลย) ทำให้เงินบำรุงติดลบ ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง เช่น โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า การขาดสภาพคล่องอย่างแรงและไม่มีเงินสดจะจ่ายหนี้เมื่อถูกทวงถาม ทำให้มีเจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องล้มละลายได้นั้น ก็เกิดภาวะล้มละลาย (Bankrupcy) ได้ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป และคงต้องเลิกกิจการ
       
       หลายคนคิดว่ากิจการภาครัฐจะล้มละลายไม่ได้ ข้อนี้ไม่จริง แม้กระทั่งประเทศทั้งประเทศ อย่างเช่น กรีซ หรืออาร์เจนติน่า รัฐบาลก็ล้มละลาย กรีซบากหน้าไปขอเงินกู้ได้ยากยิ่งเพราะถือได้ว่าล้มละลายไปแล้วเนื่องจากก่อหนี้เพื่อประชานิยม หรือเทศบาลนครดีทรอยต์ (Detroit) ในมลรัฐมิชิแกน ซึ่งเป็นเมืองที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีตเพราะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์จนเกิดการย้ายฐานการผลิตทำให้เมืองดีทรอยต์แทบจะร้างและทำให้เทศบาลถูกฟ้องล้มละลายมาแล้ว เพราะฉะนั้นอย่าได้ประมาทว่าหน่วยงานของรัฐบาลจะล้มละลายไม่ได้

สรุปง่ายๆ คือ โรงพยาบาลในสธ นั้นขาดทุนจริงหลายโรงพยาบาลเพราะมีรายได้น้อยกว่าค่าใช้จ่าย หลายโรงพยาบาลขาดทุนต่อเนื่องกันมานาน ขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง และการขาดสภาพคล่องรุนแรงจนกระทั่งเงินทุนสุทธิติดลบเข้าใกล้ภาวะล้มละลายแล้ว
       
        ทางแก้คือคนมีหน้าที่ต้องไม่หน้าบาง ต้องยอมรับความจริง ส่วนถ้าไม่มีความรู้ทางการบัญชีการเงินก็ควรปรึกษาคนที่รู้จริงไม่ใช่ถามพวกสอพลอรอบตัว โรงพยาบาลต่างๆ ก็ต้องพูดความจริงให้ประชาชนทราบว่าขาดทุนจนจะอยู่ไม่รอดแล้วเช่นเดียวกัน ประชาชนก็ควรจะได้รู้ความจริงเช่นกัน ไม่ใช่รักษาหน้าและหาความนิยมและนั่งทับปัญหาไว้ไปวันๆ เพราะว่าทุกปัญหาแก้ไขได้ ต้องพูดความจริง ต้องใช้ข้อมูล และนำมาแก้ไขอย่างตรงไปตรงมา จริงใจ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน

โดย อาจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์       
       สาขาวิชา Business Analytics and Intelligence
       สาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง
       คณะสถิติประยุกต์
       ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
6 เมษายน 2560
http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9600000035084

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
นักวิชาการ ชี้ รพ.สธ.ขาดทุนมากกว่า 5 แห่ง แน่นอน
« ตอบกลับ #3 เมื่อ: 07 เมษายน 2017, 12:41:46 »
นักวิชาการ ชี้ รพ.สธ. ขาดสภาพคล่องมากกว่า 5 แห่ง แน่นอน จี้ สธ. จ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พี หากบอกว่าไม่มีปัญหา ย้ำขาดทุน คือ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ห่วงระบบบัตรทองทำ รพ. ได้รายรับน้อย
       
       จากกรณีข่าวสถานการณ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปขาดทุน 18 แห่ง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวว่า โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปขาดสภาพคล่องระดับ 3 - 4 เพียง 5 แห่งเท่านั้น ไม่มีแห่งใดขาดสภาพคล่องถึงระดับ 7 และสถานการณ์การขาดทุนก็ลดลง
       
       ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า สถานการณ์ด้านการเงินของโรงพยาบาลสังกัด สธ. ตอนนี้บอกได้เลยว่าน่ากังวล รอวันฝีแตก อย่างโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ซึ่งมีเงินบำรุงกว่า 1,600 ล้านบาท แค่ครึ่งปีตอนนี้หายไป 500 ล้านบาท ถ้าบริหารไม่ดีอีกปีเดียวคงเหลือศูนย์บาท และติดลบในที่สุด ตอนนี้ยังมีความเข้าใจผิดคำว่าขาดทุน กับขาดสภาพคล่องหรือไม่ คำว่าขาดทุน คือ รายได้น้อยกว่ารายจ่าย ส่วนขาดสภาพคล่อง คือ การที่มีเงินทุนหมุนเวียนน้อยกว่าหนี้สินหมุนเวียน ปัญหาคือเมื่อขาดทุนก็ต้องควักเนื้อจ่ายไปเรื่อยๆ และโรงพยาบาลกระทรวงมีปัญหาเรื้อรังมานาน ปัจจุบันขาดสภาพคล่องหรือติดลบ 86 โรงพยาบาล มากกว่า 5 โรงแน่นอน ถ้า รมว.สาธารณสุข บอกว่า ไม่มีปัญหาก็ช่วยจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี) ที่ค้างอยู่กว่า 6 เดือนด้วย จริงๆ เรื่องนี้ผู้บริหารรับรู้อยู่แล้ว
       
       ดร.อานนท์ กล่าวว่า ทั้งนี้ ปัญหาการขาดทุนมาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ คนป่วยมากขึ้น ขณะที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จ่ายเงินให้โรงพยาบาลหากเป็นผู้ป่วยนอกก็จะเหมาจ่าย เบิกเพิ่มไม่ได้ ส่วนผู้ป่วยในก็จ่ายตามแบบกลุ่มรักษาโรคร่วม (ดีอาร์จี) งบบัตรทองเป็นแบบปลายปิด แต่เพิ่มสิทธิประโยชน์จำนวนมากเพื่อหาเสียง สุดท้ายไปไม่รอด หากยังบริหารแบบนี้แค่ครึ่งปีโรงพยาบาลเสียหาย ดังนั้น ต้องสร้างการมีส่วนร่วมทั้งภาครัฐ ประชาชน ท้องถิ่น ซึ่งท้องถิ่นเงินเยอะแต่กฎหมายไม่เอื้อ อาจจะต้องมาคุยกัน หรือให้ประชาชนทำประกันสุขภาพ จ่ายครั้งละ 100 บาท แล้วสามารถลดหย่อนภาษี 2 - 3 เท่า ตรงนี้ก็จะช่วยให้ประชาชนระมัดระวังเรื่องสุขภาพตัวเอง มาพบแพทย์เมื่อจำเป็น และลดขนาด สปสช. ลง เพิ่มอำนาจการบริหารงานแบบเขตสุขภาพ ให้เป็นนิติบุคคล สปสช. ไม่ต้องเข้าไปก้าวก่ายงานของเขตสุขภาพ แค่บอกความต้องการและส่งเงินก้อนลงมา ยกเลิกกองทุนย่อยของ สปสช. ปล่อยให้เขตสุขภาพบริหาร ดูแลกันเองเพราะแต่ละพื้นที่มีสภาพปัญหาแตกต่างกัน
       
       ด้าน นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวว่า ข้อมูลโรงพยาบาลขาดทุนที่เผยแพร่ออกมาก่อนหน้านี้เป็นข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ที่ รมว.สาธารณสุข ระบุถึง เพียงแต่มองกันคนละมุม ข้อเท็จจริงการเงินของโรงพยาบาลแต่ละแห่งไม่เหมือนกัน มีขึ้น ลง แตกต่างกันในช่วงปีเดียวกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัย ซึ่งก็เป็นแบบนี้มานานเราเลยคิดว่าจะอยู่เฉยไปเรื่อยๆ คงไม่ดี การจ่ายเงินของสปสช.น้อยกว่ารายจ่าย แถมมีการเรียกคืน อ้างว่าส่งข้อมูลไม่ครบบ้าง ส่งช้าก็ตัด ยุ่งยากจนเหมือนกับว่าไม่อยากให้ ทั้งนี้ ถ้าเงินไม่พอก็กระทบกับการพัฒนาศักยภาพ การจัดหาอุปกรณ์ ยา และกระทบกับประชาชน กระทบหมด ถ้าจะให้ดีอยากให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง สธ. สปสช. กระทรวงการคลัง มาร่วมกันคิดใหม่เพิ่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และเปิดช่องให้โรงพยาบาลหารายได้เองมากกว่านี้ เพราะถ้ารอเงินจาก สปสช. อย่างเดียวไม่มีวันพอ เพราะจริงๆ ไม่ใช่แค่โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปเท่นั้นที่มีปัญหา แต่โรงพยาบาลชุมชนหลายแห่งก็มีปัญหาเหมือนกัน

โดย MGR Online       6 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
รมว.สธ.เผย "บิ๊กตู่" อนุมัติงบกลางปี จำนวน 5 พันล้านบาท ช่วยเหลือเร่งด่วน รพ.ขาดทุน ปลัด สธ.เผยแก้ปัญหาระยะยาวต้องบริหารจัดการงบมีประสิทธิภาพ เติมเงินเข้าระบบ พร้อมร่วม สปสช.แก้ไขรับ รพ.ขาดทุนยังมีอีกว่า 80 แห่ง แจงระบุ 5 แห่งเป็นการชี้แจงจากตัวเลข 18 แห่งเท่านั้น
       
       จากกรณีสังคมออนไลน์เปิดเผยสถานการณ์โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ขาดสภาพคล่อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่มีการขาดทุนมากถึง 18 แห่ง ซึ่ง สธ.ยืนยันว่าหากดูจากทุนสำรองหมุนเวียนจะขาดสภาพคล่องระดับ 3-4 เพียง 5 แห่ง ส่งผลให้นักวิชาการด้านวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง ออกมาย้ำว่า รพ.ไม่ขาดสภาพคล่องเพียงแค่ 5 แห่ง แต่มีมากกว่านี้ โดยระบุว่ารายได้น้อยกว่ารายจ่ายก็คือขาดทุน และขาดทุนต่อเนื่องก็จะทำให้ขาดสภาพคล่อง สาเหตุหลักมาจากการจัดสรรงบกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ซึ่งจะต้องมีการปฏิรูปเพราะทำให้รายรับโรงพยาบาลน้อยกว่ารายจ่าย
       
       วันนี้ (7 เม.ย.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 7 เม.ย. ตนได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กรณีเรื่องการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่อง ซึ่งท่านนายกฯ ได้มีความห่วงใยในเรื่องนี้ และเข้าใจปัญหาของ สธ. ทั้งเรื่องโรงพยาบาลการขาดสภาพคล่อง งบบำรุงโรงพยาบาลที่เริ่มร่อยหรอ ภาระจ่ายค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประกอบที่อัตราเงินงบประมาณรายหัวต่อประชากรที่ไม่สามารถเพิ่มได้เต็มอัตรา จึงได้อนุมัติงบประมาณกลางปี จำนวน 5,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินมาเติมบรรเทาการขาดสภาพคล่อง ถือเป็นการช่วยเหลือเร่งด่วนแบบเฉพาะหน้า และยังต้องติดตามผลในระยะยาวจากวงเงินช่วยเหลือนี้ต่อไปถึง ไตรมาส 3 และ 4
       
       นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า การแก้ปัญหาในระยะยาวยังต้องมีการปฏิรูประบบสุขภาพทั้งระบบ การปรับระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเงินการคลัง และทำอย่างไรให้ รพ.สามารถยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง ซึ่งจะถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนแท้จริง แต่ขณะนี้ยังไม่ขอลงรายละเอียด เพราะยังต้องมีการหารือเพิ่มกับหน่วยงานอื่น ทั้งโรงเรียนแพทย์ ฯลฯ ส่วนการแก้ไขปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องในอดีตที่ติดตัวแดงวิกฤตหนักระดับ 7 หลายแห่งนั้น และสามารถบรรเทาจนเหลือแค่ 5 แห่งที่มีการวิกฤตหนัก มีด้วยกัน 2 แนวทาง คือ 1.จะต้องมีการปรับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และ 2. จะต้องเติมเงิน ไปในระบบ
       
       นพ.โสภณ เมฆธน ปลัด สธ. กล่าวว่า ที่ผ่านมา รพ.สังกัด สธ.ประสบปัญหาทางการเงินจริง โดยรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ที่ผ่านมาได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสธ. มีการประเมินทุกไตรมาสในการให้ รพ.แต่ละแห่งทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการ ทั้งกรอบกำลังคน และค่าใช้จ่ายทางการเงิน เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น ล่าสุด รมว.สาธารณสุข ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำรายละเอียดทางการเงินว่า จะมียอดคงเหลือจำนวนเท่าไร หลังจากจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว เนื่องจากยังมีเงินก้อนอื่นๆ เช่น เงินคิดตามกลุ่มโรค (ดีอาร์จี) เพื่อนำมาประเมินค่าใช้จ่ายร่วมกัน คาดว่าตัวเลขตรงนี้จะนำเสนอเข้ามาได้ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันส่วนกรณีเรื่องเด็กแรกคลอด ที่รพ.สังกัดได้ให้บริการ และเสนอของบไปยัง สปสช. แต่ยังไม่ได้เงินอีก 300 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ สปสช.กำลังจะเคลียร์เงินก้อนนี้ส่งตรงมายังรพ.
       
       ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.ให้ตัวเลข รพ.ขาดสภาพคล่องไม่ครบถ้วน เพราะไม่ได้มีแค่ 5 แห่ง แต่มีกว่า 100 แห่ง นพ.โสภณ กล่าวว่า ตัวเลข รพ. 5 แห่งดังกล่าวมาจากก่อนหน้านี้ที่มีการแชร์ในโซเชียลมีเดียว่ามี 18 แห่ง ซึ่งใน 18 แห่งนั้นหากคำนวณทั้งหมดแล้ว โดยไม่ใช่แค่หลังหักหนี้จะพบว่า เหลือทุนสำรองสุทธิที่ติดลบ 5 แห่งจาก 18 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพศ/รพท. อย่างไรก็ตาม แต่หากรวมทั้งหมดที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องยอมรับว่า ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะรวมโรงพยาบาลชุมชนด้วย ซึ่งมีประมาณ 80 แห่ง แต่การขาดสภาพคล่องไม่ใช่ระดับวิกฤตสีแดงหรือระดับ 7 โดยทาง สธ.ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการออกมาตรการทั้งระยะสั้นระยะยาว รวมทั้ง สปสช.ก็ต้องหันมาช่วยเหลือกัน ที่สำคัญต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่ม เพราะงบประมาณด้านสุขภาพที่ได้รับไม่เพียงพอจริงๆ

โดย MGR Online       7 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์กรณีปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนและขาดสภาพคล่อง นำโดยนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาพูดว่า รพ.ขาดทุนไม่ใช่แค่ 5 แห่งตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแถลง แต่จริงๆ แล้วมีมากกว่า 70 แห่ง พร้อมจี้ให้ปฏิรูปการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ใหม่ เพราะเป็นสาเหตุให้ รพ.ขาดสภาพคล่องจากวิธีจัดสรรเงิน ขณะเดียวกันในเพจเฟซบุ๊กของสมาพันธ์แพทย์ รพศ.รพท.ยังระบุว่าไม่มีเงินในการบริหาร แม้แต่เงินจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน (พีฟอร์พี)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 7 เมษายน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า จริงๆ แล้ว รพ.ในสังกัด สธ.โดยเฉพาะโรงพยาบาลศูนย์ (รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ซึ่งเป็นโรงพยาบาลขนาดใหญ่กว่า 800 แห่ง รวมไปถึงโรงพยาบาลชุมชน (รพช.) ที่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาประสบปัญหาทางการเงินจริง โดยรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ที่ผ่านมาได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่ง สธ.มีการประเมินทุกไตรมาสในการให้ รพ.แต่ละแห่งทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการ ทั้งกรอบกำลังคนและค่าใช้จ่ายทางการเงินว่ามีความแตกต่างจาก รพ.ลักษณะมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น

“ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดทำรายละเอียดทางการเงินว่าจะมียอดคงเหลือจำนวนเท่าไร หลังจากจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว เนื่องจากยังมีเงินก้อนอื่นๆ เช่น เงินคิดตามกลุ่มโรค หรือที่เรียกว่าดีอาร์จี เพื่อนำมาประเมินค่าใช้จ่ายร่วมกัน คาดว่าตัวเลขตรงนี้จะนำเสนอเข้ามาได้ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนกรณีเรื่องเด็กแรกคลอดที่ รพ.สังกัดได้ให้บริการและเสนอของบไปยัง สปสช.แต่ยังไม่ได้เงินอีก 300 ล้านบาทนั้น ขณะนี้ สปสช.กำลังจะเคลียร์เงินก้อนนี้ส่งตรงมายัง รพ.” นพ.โสภณกล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่า ประเด็น รพ.ขาดทุนขาดสภาพคล่องนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า สธ.ให้ตัวเลขไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่ใช่แค่ 5 แห่ง แต่ในโซเชียลเผยแพร่ปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนมีกว่า 100 แห่งด้วยซ้ำไป นพ.โสภณกล่าวว่า ตัวเลข รพ.5 แห่งที่ขาดสภาพคล่องนั้นมาจากก่อนหน้านี้ที่มีการแชร์ในโซเชียลว่ามี 18 แห่ง ซึ่งใน 18 แห่งนั้นหากคำนวณทั้งหมดแล้ว โดยไม่ใช่แค่หลังหักหนี้ จะพบว่าเหลือทุนสำรองสุทธิที่ติดลบ 5 แห่งจาก 18 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลศูนย์ รพท. แต่หากรวมทั้งหมดที่มีปัญหาขาดสภาพคล่อง ยอมรับว่าไม่ได้มีแค่นี้ เพราะรวมโรงพยาบาลชุมชนด้วย ซึ่งมีประมาณ 80 แห่ง แต่การขาดสภาพคล่องไม่ใช่ระดับวิกฤตสีแดงหรือระดับ 7 โดยทาง สธ.ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการออกมาตรการทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้ง สปสช.ก็ต้องหันมาช่วยเหลือกัน ที่สำคัญ ต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่ม เพราะงบประมาณด้านสุขภาพที่ได้รับไม่เพียงพอจริงๆ

ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า กรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีการเชื่อมโยงว่า รพ.กำลังแย่ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พี นพ.โสภณกล่าวว่า ไม่ใช่ไม่จ่าย แต่กำลังหามาตรการช่วยเหลือ เพราะถ้ามีเงินจ่ายทันที มีหรือที่จะไม่ให้บุคลากรของตัวเอง เพียงแต่เมื่อเงินเข้ามาต้องจ่ายค่ายาก่อน แต่ทั้งหมดอยู่ในมาตรการที่กระทรวงกำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อเสนอของบกลางต่อไป


มติชนออนไลน์
วันศุกร์ที่ 7 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หลังจากมีการเปิดเผยปัญหาโรงพยาบาลขาดทุน ขาดสภาพคล่องวิกฤตกว่า 18 แห่ง แม้ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขจะออกมาบอกว่า รพ.วิกฤตจริงๆ มี 5 แห่งจาก 18 แห่ง แต่สุดท้ายหากเหมารวมทุกระดับ ทั้งโรงพยาบาลขนาดใหญ่และขนาดเล็กรวมแล้วเกือบ 80 แห่ง จนในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อนุมัติงบประมาณกลาง 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาบรรเทาช่วยเหลือ รพ.ขาดทุนในระยะสั้น และระยะยาวมอบหมายให้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หาแนวทางแก้ไขอย่างเป็นระบบนั้น

เมื่อวันที่ 8 เมษายน นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปและผู้อำนวยการโรงพยาบาลพระนครศรีอยุธยา กล่าวถึงกรณีนี้ว่า เป็นเรื่องที่ดีและต้องขอขอบคุณนายกรัฐมนตรี ที่เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น และเชื่อว่า งบประมาณ 5,000 ล้านบาทจะมาช่วยบรรเทาโรงพยาบาลที่กำลังประสบปัญหาได้ แม้จะเป็นระยะสั้น แต่ก็ดีกว่าไม่มีเลย ซึ่งที่ผ่านมาปัญหาโรงพยาบาลขาดสภาพคล่องนั้น มีมานานแล้ว เนื่องจากรายได้หลักของโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุขคือกองทุนหลักประกันสุขภาพ บริหารจัดการโดย สปสช. ซึ่งงบประมาณเป็นการเหมาจ่ายรายหัวตามยอดประชากร มีการหักเงินเดือนบุคลากร กองทุนย่อยเฉพาะโรค กองทุนตำบล ฯลฯ สุดท้ายเหลือเงินเหมาจ่ายรายหัวที่รัฐบาลให้มาไม่ถึงครึ่งสำหรับ รพ.ในการใช้รักษาผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก และส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคแก่ประชาชนที่รับผิดชอบ เช่นในปี 2560 รัฐจัดสรรให้ 3,109 บาทต่อหัวประชากร สุดท้ายคาดว่าคงเหลือถึงรพ.ไม่เกิน 1,400 บาทต่อหัวประชากร ซึ่งตรงนี้เป็นค่าเฉลี่ย รพ.ที่มีประชากรน้อย เมื่อมีการหักเงินเดือนบุคลากร ก็จะได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยนี้

ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการปรับปรุงการจ่ายเงินของ สปสช.และแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือไม่ นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ใช่ และเห็นว่าทาง สธ.และทุกภาคส่วน กำลังดำเนินการอยู่

นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า ปัญหาเหล่านี้ทำให้โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) และโรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) ขนาดเล็ก มีประชากรน้อย ต้องขาดทุน ขาดสภาพคล่องมานานเรื้อรังเกือบสิบปี ที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขได้พยายามแก้ปัญหามาโดยตลอด เช่นการปรับเปลี่ยนเงินเดือนบุคลากร การกันเงินเพื่อช่วยเหลือ รพ.ที่ยากลำบาก การช่วยเหลือกันในหมู่ รพ.ด้วยกันแบบ "พี่น้องช่วยกัน" ในเรื่องการตามจ่ายค่ารักษา มีการค้างหนี้ ลดหนี้ ตลอดจนยกหนี้ให้กันมาโดยตลอด จนกระทั่งมาในปีนี้ ได้มีการจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวในผู้ป่วยนอกแบบขั้นบันได โดยให้เพิ่มในกลุ่ม รพ.เล็กที่อยู่ห่างไกลยากลำบากและมีประชากรน้อย เช่นตามเกาะ ลดหลั่นไปจนได้น้อยใน รพ.ที่ใหญ่ และจัดสรรเงินเพิ่มในผลงานผู้ป่วยในให้ รพ.ขนาดเล็กโดยจะได้น้อยลงใน รพ.ใหญ่ ซึ่งจุดนี้ทุกคนเข้าใจ แต่ก็ทำให้ประสบปัญหากับ รพ.ใหญ่ซึ่งเริ่มมีสัญญาณการขาดสภาพคล่องมา 2-3 ปีแล้ว จุดสำคัญอีกเรื่องในปีนี้คือ สปสช.มีการนำค่าใช้จ่ายในการรักษาทารกแรกเกิดซึ่งแต่เดิมอยู่ในกองทุนเฉพาะโรคไปอยู่ในเหมาจ่ายรายหัวผู้ป่วยในโดยไม่ได้เอาเงินตามลงมาให้ (2,000-3,000 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งค่าใช้จ่ายในทารกแรกเกิดต้องใช้ทรัพยากรและผู้เชี่ยวชาญในการรักษา ส่วนใหญ่จึงเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนของ รพศ.และรพท. ซึ่งอัตราการจ่ายในผู้ป่วยในของ สปสช.ก็ไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่เป็นจริงมานับสิบปีแล้ว

นพ.ธานินทร์ กล่าวว่า จากที่กล่าวมา จึงส่งผลให้เห็นภาพของการขาดสภาพคล่องใน รพศ.และ รพท.ที่ชัดเจนมากในปีนี้ และหากไม่มีการแก้ไขที่เหมาะสม ในไตรมาส 3 และ 4 นี้ จะมีปัญหาใน รพ.ทุกระดับแน่นอน เนื่องจากเงินเหมาจ่ายจะเหลือเพียงกองทุนผู้ป่วยใน ส่วนผู้ป่วยนอกและส่งเสริมสุขภาพได้ครบแล้วตั้งแต่ไตรมาส 1 อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีปัญหาการขาดสภาพคล่อง แต่พวกเราทุกคนก็พยายามอย่างเต็มที่ในการให้บริการประชาชน ไม่ให้กระทบคุณภาพและมาตรฐานแน่นอน ขอให้พี่น้องประชาชนสบายใจได้

“ต้องขอบคุณรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารสุขและปลัดกระทรวงฯที่ได้ติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด จนมีการแก้ไขปัญหาในระยะสั้น อีกทั้งยังมีการวางแผนแก้ไขในระยาวทั้งในการปรับประสิทธิภาพการบริหารของ รพ. การบริหารจัดการของสปสช. ตลอดจนการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ เพื่อให้กองทุนนี้เป็นประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและยั่งยืนตลอดไป” ผอ.รพ.ฯ กล่าว


ที่มา มติชนออนไลน์
8 เม.ย 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
หลังจากมีการเปิดเผยปัญหา รพ.ขาดสภาพคล่องเกือบ 80 แห่ง โดยเฉพาะ รพ.ใหญ่ๆ ที่ประสบวิกฤตหนัก 5 แห่ง คือ รพ.พะเยา รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี รพ.ประจวบคีรีขันธ์ รพ.พิจิตร รพ.สมเด็จพระพุทธเลิศหล้า จ.สมุทรสงคราม ตามที่เป็นข่าวไปก่อนหน้านี้ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบอนุมัติงบประมาณกลาง 5,000 ล้านบาท เพื่อนำมาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับโรงพยาบาลในสังกัด สธ. ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมประชุมพิจารณารายละเอียดในการจัดสรรงบดังกล่าวนั้น

เมื่อวันที่ 9 เมษายน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้ พญ.ประนอม คำเที่ยง รองปลัด สธ. เป็นผู้ไปดำเนินการเกี่ยวกับรายละเอียดการจัดสรรงบประมาณกลาง 5,000 ล้านบาท แต่ทั้งหมดต้องหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องว่าควรจะจัดสรรอย่างไร เนื่องจากมีข้อเสนอเข้ามาในเรื่องการบรรเทาปัญหาระยะเร่งด่วน ประกอบไปด้วย 1.ข้อเสนอว่าด้วยการนำไปช่วยกรณีค่าตอบแทนของบุคลากรสาธารณสุข ซึ่งรวมถึงงบค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงานหรือพีฟอร์พีก่อนดีหรือไม่ เนื่องจากเดิมงบประมาณค่าตอบแทนของกระทรวงเคยได้รับประมาณ 3,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเหลืออยู่ 2,000 ล้านบาท ทำให้ไม่เพียงพอ เป็นต้น 2.ข้อเสนอให้นำงบส่วนนี้ไปช่วยในกลุ่มผู้ป่วยใน เนื่องจากที่ผ่านมาประสบปัญหาไม่คุ้มทุน เนื่องจากข้อกำหนดในการจ่ายเงินส่วนนี้ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้ค่าเฉลี่ยกลุ่มโรคน้อย และ 3.ข้อเสนอนำไปช่วย รพ.ที่มีปัญหาหนี้สิน

“ทั้งหมดเป็นเพียงข้อเสนอจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ต้องรอให้มีการประชุมหารือกันภายในสัปดาห์หน้าก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการ สธ. กำชับให้ดำเนินการอย่างถี่ถ้วนและเร็วที่สุด เพื่อบรรเทาปัญหาที่เกิดขึ้นในระยะเร่งด่วน” ปลัด สธ.กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไปแห่งประเทศไทย (สพศท.) กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าควรนำไปช่วยเหลือในเรื่องการค้างจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พีก่อน ซึ่งขณะนี้ รพศ. รพท.หลายแห่งค้างจ่ายบุคลากรสาธารณสุขอยู่ประมาณ 2,000-3,000 ล้านบาททั่วประเทศ สำหรับระยะยาวคงต้องไปแก้ที่ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ด้วย เนื่องจากยังมีเรื่องการจัดสรรเงินไปยัง รพ.ต่างๆ ซึ่งที่ผ่านมาไม่เพียงพอจริงๆ ตรงนี้ก็จะเป็นเรื่องรายละเอียด นอกจากนี้ อยากให้มีการแก้กฎระเบียบต่างๆ ที่เอื้อให้ รพ.สามารถหารายได้เข้า รพ.เองได้ด้วย

ด้าน นพ.ธานินทร์ สีวราภรณ์สกุล ประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ.รพท.) กล่าวว่า มองว่า การนำงบช่วยเหลือระยะสั้น หากนำไปช่วย รพ.ที่ค้างจ่ายพีฟอร์พีก็เป็นเรื่องดี เพียงแต่บาง รพ.ก็มีการจ่ายไปแล้ว จนทำให้ขาดสภาพคล่อง และรอการช่วยเหลืออยู่ ดังนั้น หากนำเงินก้อนนี้ลงไปช่วยเฉพาะ รพ.ที่ค้างจ่ายพีฟอร์พี ก็จะทำให้ รพ.ที่จ่ายไปแล้วนั้นไม่ได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วนหรือไม่ จึงมองว่า ควรนำเงิน 5,000 ล้านบาทไปช่วยทั้งระบบก่อนดีกว่า เพราะหากระบบเดินได้ แต่ละแห่งก็จะสามารถบริหารจัดการบรรเทาความเดือดร้อนไปได้ระยะหนึ่ง

“ผมมองว่า สธ.ควรนำเงิน 5,000 ล้านไปไว้ในกลุ่มผู้ป่วยใน เนื่องจากกลุ่มนี้มีค่าใช้จ่ายเยอะ และยิ่งล่าสุด สปสช.นำการดูแลรักษาทารกแรกเกิด ซึ่งเดิมอยู่ในกองทุนเฉพาะโรคไปอยู่ในผู้ป่วยใน โดยไม่ได้เอาเงินตามลงไป ซึ่งคิดเป็น 2-3 พันล้านบาทต่อปี ตรงนี้จะเป็นปัญหามาก หากไม่มีเงินมาในกลุ่มผู้ป่วยใน จะส่งผลกระทบต่อ รพศ.รพท.อย่างหนัก ซึ่งหากนำเงินไปช่วยในกลุ่มนี้จะช่วยได้ทั้งระบบ เพราะ รพ.จะเดินต่อไปได้” นพ.ธานินทร์กล่าว

ด้าน นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท และผู้อำนวยการ รพ.ชุมแพ กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่าเรื่องนี้เป็นการปั่นกระแสของคนบางกลุ่มหรือไม่ เพราะการที่มีเนื้อหาข่าวพาดพิงว่าค่าเหมาจ่ายรายหัวที่ได้จาก สปสช.ได้น้อยจนทำให้สถานะทางการเงินติดลบนั้นก็ถือว่าไม่แฟร์ เพราะรายได้ของโรงพยาบาลนั้นมาจากหลายทาง ไม่ใช่จาก สปสช.อย่างเดียว ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบให้ชัดว่าข้อมูลที่เผยแพร่ดังกล่าวได้บันทึกแหล่งรายได้ครบถ้วนหรือไม่ โดยเฉพาะรายได้จากสำนักงานประกันสังคม และเงินบำรุงต่างๆ และการติดลบเนื่องจากมีการลงทุนก่อสร้างอาคารหรือห้องผ่าตัดเพิ่ม บางโรงพยาบาลก็ติดลบเนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลการรักษาผู้ป่วย จึงถูกกรมบัญชีกลางสั่งระงับการจ่ายเงินเพราะตรวจสอบข้อมูลก่อน เป็นต้น

มติชนออนไลน์
วันจันทร์ที่ 10 เมษายน 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สธ.เตรียมกระจายงบประมาณ 5,000 ล้านบาท ที่ได้รับการอนุมัติจากนายกรัฐมนตรี 3 เรื่อง คือสนับสนุนค่าใช้จ่ายการให้บริการผู้ป่วยใน แก้ไขสภาพคล่องของโรงพยาบาลทุกระดับ และกัน 1,000 ล้าน สนับสนุนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุขและโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า แนวทางการกระจายงบประมาณได้รับการจัดสรรจำนวน 5,000 ล้านบาท จาก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีแผนกระจายงบประมาณดังนี้

1.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการให้บริการผู้ป่วยในของหน่วยบริการทุกระดับ

2.แก้ไขสภาพคล่องของโรงพยาบาลทั้งระดับโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชนที่มีปัญหาวิกฤติทางการเงิน

3.สนับสนุนการจ่ายค่าตอบแทนกำลังคนด้านสาธารณสุข ในวงเงิน 1,000 ล้านบาท ในส่วนที่เคยขอรับงบประมาณไป 3,000 ล้านบาท แต่ได้รับมาจากสำนักงบประมาณเพียง 2,000 ล้านบาท ในปี 2560 ซึ่งจะครอบคลุมบุคลากรสาธารณสุขทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลจังหวัดถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)

ทั้งนี้ คาดว่าคณะรัฐมนตรีจะพิจารณาอนุมัติงบประมาณ 5,000 ล้านบาทนี้ หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งจะช่วยสร้างขวัญกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ช่วยธำรงรักษาคนไว้ในระบบและเกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงาน

Tue, 2017-04-11 23:50 -- hfocus