ผู้เขียน หัวข้อ: ทำไมจึงมีการฟ้องร้อง/ ร้องเรียนแพทย์มากขึ้น และจะแก้ไขได้อย่างไร  (อ่าน 1475 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
บทความนี้ ไม่ได้หมายความว่า แพทย์ต่อต้านการเข้าถึงการรักษา ได้อย่างเท่าเทียมของคนไทยทุกคน แต่อยู่ที่กลุ่มบุคคลที่บงการ จัดการ เอาหน้า และได้ประโยชน์ ขาดความเข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่สนใจ และสร้างความร้าวฉานขึ้นในประเทศ

พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภาที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สนช. ให้คำตอบ คือกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 เป็นต้นเหตุสำคัญอันแรกแห่งปัญหาในการส่งเสริมให้มีการฟ้องร้องแพทย์

นับตั้งแต่ประเทศไทยมีการประกาศใช้ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 ซึ่งกฎหมายนี้เสนอเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร โดยประชาชนได้เข้าชื่อเสนอกฎหมาย และรัฐบาลได้ยกร่างกฎหมายประกบ ทั้งนี้ฝ่ายประชาชนที่ได้เข้าไปเป็นกรรมาธิการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาผู้แทนราษฎร และได้นำร่างกฎหมายทั้งสองมาพิจารณาร่วมกัน โดยฝ่ายประชาชนที่ได้เข้าไปพิจารณาร่วมกันในชั้นกรรมาธิการ ได้แก่ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง น.ส.ยุพดี สิริสินสุข นายสงวน นิตยารัมภพงศ์ (ต่อมาทั้งสามคนนี้ได้เข้าไปเป็นบอร์ดและเลขาธิการ สปสช.อย่างยาวนาน) ซึ่งฝ่ายประชาชนได้กล่าวว่า ประชาชนเป็นผู้เสนอร่างกฎหมาย แล้วกระตุ้นและผลักดันรัฐบาลให้รัฐบาลสนับสนุนงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยให้พรรครัฐบาลสนับสนุนให้กฎหมายผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา จนสามารถประกาศออกมาใช้บังคับได้ในปี พ.ศ.2545

ในช่วงที่มีการนำร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น มีข่าวเรื่องการชุมนุมประท้วงของบุคลากรทางการแพทย์ นำโดยแพทย์และพยาบาลในโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า (ขอบันทึกไว้ว่าผู้นำในการเรียกร้องนี้คือ นพ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ) ที่ใช้สัญลักษณ์ในการคัดค้านโดยการแต่งชุดดำหรือใส่ปลอกแขนดำ (ไว้ทุกข์) โดยบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นได้เรียกร้องให้ยกเลิกร่างกฎหมายมาตรา 44 และ 45 (ซึ่งต่อมาเมื่อพิจารณาบัญญัติเป็นกฎหมายแล้ว กลายเป็นมาตรา 41 และ 42)

เหตุผลที่มีการเรียกร้องให้มีการยกเลิกมาตรา 41 นั้น เนื่องจากมาตรา 41 บัญญัติไว้ว่าให้คณะกรรมการกันเงินจำนวนไม่เกินร้อยละหนึ่งของเงินที่จะจ่ายให้หน่วยบริการไว้เป็นเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการ ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ โดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้ แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการกำหนด

ทำไมแพทย์จึงร่วมคัดค้านมาตรา 41 และ 42 บุคลากรทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแพทย์ที่เป็นหัวหน้าทีมในการสั่งการรักษาผู้ป่วย ต่างก็สามารถคาดการณ์ได้ว่า ถ้ามีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่เก็บค่ารักษาเพียง 30 บาท ย่อมจะทำให้มีผู้ป่วยมารับการรักษาที่โรงพยาบาลมากขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย โดยที่จำนวนบุคลากรที่จะทำงานรักษาประชาชนนั้นไม่มีทีท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนเท่าๆกับจำนวนผู้ป่วย

ซึ่งจะทำให้แพทย์ต้องทำงานมากขึ้น จนอาจจะมีเวลาไม่เพียงพอที่จะเอาใจใส่ในรายละเอียดของการซักประวัติความเจ็บป่วย ไม่มีเวลาพอที่จะตรวจร่างกายผู้ป่วยอย่างละเอียดรอบคอบ แล้วจะทำให้เกิดความผิดพลาดในการรักษาผู้ป่วยมากขึ้น และความผิดพลาดนี้อาจจะนำไปสู่ความเสียหายแก่ผู้ป่วย ซึ่งเมื่อผู้ป่วยมีสิทธิที่จะมาขอ “เงินช่วยเหลือ” จากคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ก็ย่อมส่งเสริมให้ผู้ป่วยมาร้องขอ “ความช่วยเหลือ” มากขึ้น และการที่ผู้ป่วยมาร้องขอความช่วยเหลือก็ย่อมต้อง “กล่าวหาว่า” แพทย์เป็นผู้กระทำให้เกิด “ความเสียหาย” ไว้ก่อน ทั้งๆที่ความเป็นจริงนั้น ความเสียหายที่เกิดจากการรักษาพยาบาลนั้น อาจมิได้เกิดจากการกระทำผิดของแพทย์ผู้รักษาเลย การมีบทบัญญัติมาตรา 41 จึงเท่ากับเป็น “แรงกระตุ้น” ให้ผู้ป่วย “เรียกร้องหรือฟ้องร้อง” ขอ “เงินค่าช่วยเหลือ” มากขึ้นเรื่อยๆ

และความคิดเหล่านี้ของบุคลากรทางการแพทย์นั้นเป็นความจริง กล่าวคือ หลังจากมีกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว การฟ้องร้องและร้องเรียนแพทย์และโรงพยาบาลมีมากขึ้นหลายเท่าตัว และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆตลอดมา จึงพูดได้ว่าการมีบทบัญญัติมาตรา 41 จึงเท่ากับเป็น “แรงกระตุ้น” ให้ผู้ป่วย “เรียกร้องหรือฟ้องร้อง” ขอ “เงินค่าช่วยเหลือ” มากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนั้นมาตรา 41 ยังตอกย้ำว่า “ความเสียหายนั้นสามารถหาผู้กระทำความผิดได้หรือหาผู้กระทำผิดได้” ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า การเกิดความเสียหายนั้น ต้องมีคน “กระทำความผิด” แต่อาจจะปิดบังซ่อนเร้น จนผู้สอบสวนไม่สามารถ “หาคนผิดได้” ทั้งๆที่ความเป็นจริงก็คือ ความเสียหายจากการไปรับการรักษาจากโรงพยาบาลนั้น มันอาจเกิดขึ้นได้โดย “ไม่มีคนทำผิดเลย” (ซึ่งจะอธิบายต่อไปว่ามันเป็นไปได้อย่างไร) จึงทำให้ประชาชนต้องกล่าวโทษแพทย์ให้มากๆเข้าไว้ จึงจะร้องขอการช่วยเหลือ ได้มากๆ.


โดย หมอดื้อ 26 มี.ค. 2560
http://www.thairath.co.th/content/895452

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
บทความนี้ไม่ได้หมายความว่าแพทย์ต่อต้านการเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมของคนไทยทุกคน แต่อยู่ที่กลุ่มบุคคลที่บงการ จัดการ เอาหน้า และได้ประโยชน์ ขาดความเข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่สนใจ และสร้างความร้าวฉานขึ้นในประเทศ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สนช. แจงความจริงในเรื่องการรักษาผู้เจ็บป่วยตามหลักของการแพทย์แผนปัจจุบัน ความจริงนั้นผู้เจ็บป่วย “มีความเสียหายทางร่างกายอยู่ก่อนแล้ว” ก่อนที่จะมาหาหมอให้หมอช่วย “ซ่อมร่างกายที่มีความเสียหาย”

ความจริงข้อนี้ทุกคนคงเข้าใจตรงกันอยู่แล้วและเมื่อแพทย์ได้ไปทำการตรวจร่างกาย วินิจฉัยโรค และอาการเจ็บป่วยแล้ว แพทย์ก็ให้การรักษา หรือ “ซ่อมแซมความเสียหายของร่างกายผู้ป่วย” อย่างเต็มที่ กระบวนการทางการแพทย์ในการ “ซ่อมแซมผู้ป่วย” ในการรักษาผู้ป่วยทุกคน แพทย์จะต้องใช้ทั้งวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ พร้อมทั้ง “การมีสติ” (ไม่ประมาทเลินเล่อ) กำกับในการทำงาน และยังต้องมีเวลา “อธิบาย” ให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจในการเจ็บป่วยและวิธีการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยยินยอมรับการรักษาและให้ความร่วมมือในการรักษา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ต้องใช้ “เวลา” ที่เหมาะสม การรักษาผู้ป่วยจึงจะมีผลดี (แต่บางทีก็เกิดผลร้าย ทั้งๆที่หมอได้ใช้ศาสตร์ ศิลป์ สติ เวลา และอื่นๆที่จำเป็น ฯลฯ) จากอาการแทรกซ้อน อาการอันไม่พึงประสงค์ หรือเหตุที่หมอไม่สามารถควบคุมได้ (เหตุสุดวิสัย) แต่ในการ “ซ่อมแซมร่างกายและ/หรือจิตใจของผู้ป่วย” หรือให้การรักษาผู้ป่วยนั้น แพทย์มีกระบวนการที่ต้องใช้ความรู้ 2 ด้านคือ หลักการด้านวิทยาศาสตร์ และหลักการทางด้านศิลปศาสตร์

แต่ความรู้ทั้งสองหลักนั้นก็ล้วนไม่มีความ “ตรงไปตรงมา” เต็มร้อย เหมือนหลักทางคณิตศาสตร์ แบบที่ว่า หนึ่งบวกหนึ่งต้องเท่ากับสองเสมอไป แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์นั้น มันเป็นวิทยาศาสตร์แห่งการคาดคะเน (หรือพยากรณ์) ว่าอาการเจ็บป่วยนั้นๆ มัน “น่าจะเป็นโรคอะไรมากกว่ากัน” เรียกว่า “Science of Probability” การคาดคะเนนั้นอาจแปลได้ง่ายๆแบบภาษาชาวบ้านธรรมดาสามัญทั่วไปว่า “การเดา” แต่เป็นการเดาอย่างอาศัยหลักวิชาวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่แพทย์ได้ศึกษาเล่าเรียนมาจากโรงเรียนแพทย์ และจากการค้นคว้าศึกษาวิจัยเองหรือศึกษาจากการวิจัยและตำราของครูอาจารย์แพทย์

แต่ผู้อ่านอย่าเพิ่งตกใจว่า การแพทย์คือการเดา เนื่องจากแพทย์จะต้องถูกปลูกฝังเรื่อง “จรรยาบรรณแพทย์” มาอย่างเข้มข้นตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนแพทย์ นั่นคือ “บทบัญญัติ” ให้แพทย์ต้องระมัดระวังในการรักษาผู้ป่วยเป็นสิ่งแรกที่จะต้อง “ตั้งสติระลึกไว้เสมอว่า” “กฎข้อแรกคืออย่าทำให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วย” ส่วนหลักศิลปศาสตร์หรือหลักการ “รักษา” ผู้ป่วยนั้น ก็ถูกเรียกว่าเป็น “ศิลปศาสตร์ของความไม่แน่นอน”

กล่าวคือ แพทย์จะต้องทำการ “ตัดสินใจ” ที่จะเลือก “วินิจฉัยและให้การรักษา” หรือ “ซ่อมแซมร่างกาย” ที่มี “ความเสียหาย” ของผู้ป่วยให้ดีที่สุด เท่าที่จะทำได้ตามหลักวิชาทางการแพทย์ แต่การ“ตัดสินใจ” ในการวินิจฉัยและรักษาโรคนั้น แพทย์ก็ต้อง “คาดคะเน” หรือ “พยากรณ์” ว่าหลังจากแพทย์ได้ “วินิจฉัย” โดยการใช้ดุลพินิจทั้งศาสตร์และศิลป์ และได้ลงมือ “รักษาและซ่อมแซม” ผู้ป่วยไปแล้วนี้ แพทย์ย่อม “คาดหวัง” ว่าผลการรักษาน่าจะ “ให้ผลดีที่สุด”

แต่ผลการรักษาผู้ป่วยก็ไม่อาจจะให้ผล “ดีที่สุด” (เหมือนที่แพทย์พยากรณ์หรือคาดหวังไว้) จากการรักษาของแพทย์ทุกครั้งไป เพราะผู้ป่วยแต่ละคน มีอวัยวะร่างกาย เลือดเนื้อ เนื้อเยื่อ กระดูก เอ็นข้อต่อ ฯลฯ ทั้งภายในภายนอกต่างกันหลายสิบหลายร้อยอย่าง แบบที่เรียกว่า “ร้อยพ่อพันแม่”

นอกจากอวัยวะภายในไม่เหมือนกันแล้ว ส่วนประกอบทางเคมี ฮอร์โมน รวมทั้งกระบวนการของการ “ทำงาน” ทางสรีรวิทยาของผู้ป่วยแต่ละคนก็ล้วนแตกต่างกัน และปฏิกิริยาตอบสนองต่อยาและการรักษา แม้จะเหมือนกัน ก็มีแตกต่างกันไปบ้าง รวมทั้งสภาพจิตใจ อารมณ์ สังคม และการยอมรับหรือรับรู้ข้อมูลจากแพทย์ของผู้ป่วยแต่ละคนก็แตกต่างกันไป (บางคนไม่เข้าใจ) รวมทั้งปฏิกิริยาตอบสนองต่อความรู้สึกเจ็บปวด ทุกข์ทรมานก็ไม่เหมือนกัน ฉะนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการของโรคเดียวกัน ก็มาหาหมอในสภาพที่แตกต่างกันมากมายหลายเรื่องดังกล่าว

ผลการรักษาความเจ็บป่วยต่างๆ แม้จะป่วยด้วยโรคเดียวกัน รักษาเหมือนกัน แต่ผลการรักษาก็อาจจะแตกต่างกันออกไป แต่ตำราแพทย์จะบอกไว้ว่า ส่วนใหญ่แล้วควรจะรักษาอย่างไร และจะมีผลอย่างไร แต่ส่วนน้อยที่รักษาแล้วไม่มีผลดีตามตำรา เช่น บางคนแพ้ยา บางคนมีโรคซ่อนเร้นอยู่ที่ยังไม่แสดงอาการออกมาภายนอก แต่พออาการอีกโรค (ที่หมอตรวจพบแล้วและกำลังให้การรักษาอยู่) นั้นเป็นมากขึ้น ทำให้อาการโรคที่ยังไม่แสดงออกกลับทรุดหนักลงไป เกิดการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรง ซึ่งอาจเรียกว่า “เป็นความเสียหาย”

ซึ่งส่วนมากญาติผู้ป่วยก็อาจ “กล่าวโทษ” ว่า “หมอทำ” หรือเกิดจาก “มือหมอ” ก็เป็นได้ จะเห็นได้ว่า ในการทำงาน “ซ่อมแซมร่างกาย” ผู้ป่วยนั้น มีความไม่แน่นอนอยู่ทุกขั้นตอน การตรวจรักษาโรคนอกจากจะใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ดังกล่าวแล้ว แพทย์ยังต้องใช้ “เวลา” เพื่อจะสามารถใช้ “สติ” ในการ “ตัดสินใจ” หรือใช้ “ดุลพินิจ” ในการรักษาผู้ป่วย ฉะนั้น ถ้ามีผู้ป่วยมากๆเพราะไม่เสียค่าใช้จ่ายจากการมารับการรักษา “ศูนย์บาท” แพทย์ (ที่มีจำนวนน้อย) ก็จะไม่มี “เวลา” พอที่จะใช้ทั้ง “ศาสตร์ ศิลป์ และสติ” ในการ “ตัดสินใจหรือใช้ดุลพินิจ” ในการรักษาผู้ป่วย การคาดคะเนหรือการพยากรณ์โรค

รวมทั้งการตัดสินใจรักษาผู้ป่วยก็คงเกิดความผิดพลาดได้ง่าย แพทย์จึงออกมาต่อต้านมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่ยังมีมาตรา 42 ตอกย้ำอีกว่า ถ้าสำนักงานจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นตามมาตรา 41 ไปแล้ว ให้สำนักงานไปไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำผิดได้ ซึ่งการมีบทบัญญัติว่าให้มีการ “ไล่เบี้ยเอากับผู้กระทำผิด” นี้เอง จึงยิ่งตอกย้ำว่า “ความเสียหายของร่างกายหรือจิตใจของผู้ป่วยนั้น” น่าจะเกิดจาก “การกระทำผิด” ของแพทย์ และอาจจะเป็นการชี้ช่องว่า “แพทย์ทำผิดแล้วยังปกปิด ซ่อนเร้นหรือแก้ตัว” อีก

ฉะนั้นกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจึงเป็นต้นเหตุแห่งการกระตุ้นหรือส่งเสริมให้ผู้คนในสังคม กล่าวโทษ ฟ้องร้อง และหวาดระแวง ไม่ไว้ใจแพทย์ โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์มากขึ้น แต่หลังจากมีหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ จาก 30 บาท มาเป็นศูนย์บาท การฟ้องร้องยิ่งเพิ่มมากมายทวีคูณ

รัฐบาลไทยรู้แล้วว่า “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเที่ยวประเทศไทยมากขึ้น แต่ไม่ทำให้ประเทศไทยได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมใดๆเลย มีแต่จะสร้างภาระและมลภาวะให้ประเทศ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆงอกเงยขึ้นจากทัวร์ศูนย์เหรียญ รัฐบาลนี้ได้จัดการยุติ “ทัวร์ศูนย์เหรียญ” ไปแล้ว

ซึ่งน่าชมเชย แต่ระบบ “ซ่อมแซมร่างกาย” ที่น่าจะเรียกว่า “ซ่อมสุขภาพศูนย์บาท” ที่ก่อให้เกิดผลเสียมากมายมหาศาลหลายประเด็น หลายมิติ ต่อประชาชน ต่อมาตรฐานการแพทย์ ต่อภาระงบประมาณ และยังทำให้เกิดความหวาดระแวง ขาดความไว้วางใจ มีการกล่าวหา กล่าวโทษ ฟ้องร้องและความบาดหมางระหว่างผู้ป่วยและคนทั่วไปที่มีต่อแพทย์ รัฐบาลนี้ยังมองไม่เห็น และยังไม่ลงมือแก้ไขเลย.

โดย หมอดื้อ 2 เม.ย. 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9759
    • ดูรายละเอียด
บทความนี้ ไม่ได้หมายความว่า แพทย์ต่อต้านการเข้าถึงการรักษา ได้อย่างเท่าเทียมของคนไทยทุกคน แต่อยู่ที่กลุ่มบุคคลที่บงการ จัดการ เอาหน้า และได้ประโยชน์ ขาดความเข้าใจ หรือเข้าใจแต่ไม่สนใจ และสร้างความร้าวฉานขึ้นในประเทศ พญ.เชิดชู อริยศรีวัฒนา กรรมการแพทยสภา ที่ปรึกษาสำนักกฎหมายการแพทย์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ กมธ.สนช. ตั้งใจจะเขียน เพื่อทำความเข้าใจกับประชาชนว่า “ความเสียหายที่เกิดจากการไปรับการรักษาจากแพทย์” นั้น มีสาเหตุมากมายหลายอย่าง

และหนึ่งในนั้นคือวิชาการแพทย์นั้น เป็นวิทยาศาสตร์แห่งการคาดคะเน และเป็นศิลปศาสตร์แห่งการ “ประเมินจากข้อมูลจำกัด เพื่อใช้ในการตัดสินใจ” โดยที่ต้องใช้ข้อมูลที่มีอยู่ในมือ ความรู้ และประสบการณ์มาใช้ทั้งหมด แต่หมอขณะเดียวกันก็จะต้องมีเวลาและมีสติ ในขณะที่ทำการ “ซ่อมแซมร่างกายผู้ป่วย”

เพื่อให้แพทย์สามารถ “คาดคะเน และตัดสินใจ” ได้ถูกต้อง การจะมีเวลาเพียงพอจนไม่ขาด “สติ” (ซึ่งเรียกว่าไม่ประมาทเลินเล่อ) ก็คือ แพทย์ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจรักษาผู้ป่วยมากเกินไป มีเวลากับผู้ป่วยอย่างน้อยคนละมากกว่า 10-15 นาที นอกจากนี้แล้ว แพทย์ยังต้องการเวลาที่จะ “บอกเล่าทำความเข้าใจกับผู้ป่วยและญาติ” ว่าเขาป่วยเป็นอะไร หมอจะรักษาอย่างไร และผลการรักษาจะดีหรือไม่อย่างไร

นอกจากนั้น หมอยังต้องมีทีมงาน (บุคลากรทาง การแพทย์ทุกสาขาวิชาชีพ) ครบครัน มีงบประมาณเพียงพอให้มีอาคารสถานที่ เตียง เครื่องมือแพทย์ยาเวชภัณฑ์ ที่จำเป็นในการ “ซ่อมแซมสุขภาพ” ครบถ้วน

และมีทีมผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาและช่วยแก้ปัญหาที่ไม่สามารถจัดการเองได้ มีรถพยาบาลส่งผู้ป่วยไปยังศูนย์การแพทย์ที่มีเตียงรองรับเมื่อจำเป็น เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย และแพทย์ยังต้องมี “สุขภาพดี” และมีความพร้อมของร่างกายจากการพักผ่อนเพียงพอ ไม่ต้องหักโหมทำงานติดต่อกันมากกว่า 24 ชั่วโมง มีผู้ป่วยให้รักษาไม่มากเกินไป จึงจะสามารถใช้ศาสตร์ ศิลป์และสติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

สรุปแล้วบทความนี้ ได้อธิบายว่า กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสาเหตุหนึ่งของการ “จุดประกาย” ให้มีการฟ้องร้องแพทย์มากขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับผลที่ไม่ต้องการ อาจผันมาเป็นการฟ้องร้อง เจ็บแค้น และจนถึง “เงินช่วยเหลือ”.......สาเหตุต่อมาที่จะทำให้การฟ้องแพทย์มากขึ้น เนื่องจากประชาชนคิดว่า แพทย์เป็น “ผู้กระทำผิด” ทั้งหมด ที่ทำให้เกิดความเสียหายกับผู้ป่วย แต่ไม่ได้มองถึงข้อจำกัดต่างๆ.......

ผู้เขียนบทความนี้ พยายามที่จะอธิบายว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยส่วนมากแล้ว ไม่ได้เกิดจาก “การกระทำความผิดในการรักษาผู้ป่วย” แต่เกิดขึ้นได้จากการดำเนินการในการแพทย์ปัจจุบันที่มีข้อจำกัดที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ในการ “ซ่อมสุขภาพผู้ป่วย” ข้อจำกัดในทางการแพทย์แผนปัจจุบัน มีสาเหตุมาจากการที่แพทย์ต้องใช้ทั้งการคาดคะเน และการ “ประเมินจากข้อมูลจำกัด เพื่อใช้ในการตัดสินใจ”

หมอดื้อ ขอเพิ่มเติมว่า การจะแก้ไขคือการต้องตีแผ่ความเป็นจริงเหล่านี้ให้ประชาชนเห็น และจัดการระบบ องค์กร ตัวบุคคล ซึ่งทำเสมือนหนึ่ง ตนเองเป็นพหูสูตร สร้างยุทธศาสตร์จากการอ่าน เอามายำ เรียกว่าเป็นกูรู การ “จัดการความรู้” (knowledge management) และยังโหมประโคมตัวเองว่าสามารถกำหนดให้การรักษาคนป่วย ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิต และมีความผันผวน โดยกำหนดให้เป็นสิ่งมีชีวิตแบบเดียวกัน ปฏิบัติรักษาได้เหมือนกันหมด ไม่มีข้อบิดพลิ้ว มาด้วยอาการนี้ต้องทำแบบนี้ ใช้การตรวจเท่านี้ ด้วยยาอย่างนี้ ถ้าไม่สำเร็จ คือคนรักษาไม่ดี และยังป้ายความผิดพลาด ความเสียหาย ความไม่พร้อม การขาด แคลนเครื่องมือ อุปกรณ์ การขาดงบ ว่าเป็นความผิดของโรง พยาบาลรัฐ ไม่รู้จักทอดกฐินหาเงินเรี่ยไรเอง คงอยากทำอยู่ แต่ดูคนไข้ให้ได้หมดแต่ละวันก็เก่งแล้ว

เพื่อให้การตัดสินใจ สรุป เรื่อง สปสช. เรื่องภาวะล้มละลาย ซึ่งเป็นเรื่องในวงจรเดียวกันกับเรื่องฟ้อง เรียนผู้ไม่เข้าใจ ผู้สร้างยุทธศาสตร์ สามารถเปลี่ยนการรักษาคนเหมือนซ่อมรถ เข้ามาดูคนไข้ รับผิดชอบเต็มเวลา ทั้งคนไข้นอก คนไข้ใน ถูกตามฉุกเฉิน อยู่เวร 2 สัปดาห์ก็พอ แล้วจะรู้ว่าการออกความเห็น การวางรูปแบบ โดยไม่ตระหนักสถานการณ์จริงน่าจะไม่ถูกต้อง และสุดเลวร้าย

ที่ต้องเรียนเช่นนี้ เพราะตัวเองยังดูคนไข้ ที่ รพ.จุฬา ซึ่งถือว่าสบาย เพราะมีเด็กๆช่วย เครื่องมือพร้อมขนาดนี้ ยังไม่ทราบว่าเป็นอะไร ต้องวางแผนทุกๆครึ่งวัน แล้วที่ไปเยี่ยม รพ.ต่างจังหวัด มีคนไข้ล้น ออกมาทางเดิน หนักหมด อยากจะวิจารณ์ ให้ดูด้วยความรอบคอบ รักษาตามหลักวิชา พูด คงพูดได้ พูดง่าย

แต่โรคซับซ้อน มีหลายสิบคนหนัก คนไข้นอกเป็น 100 ตั้งแต่ท่าน รมต.ท่านประธาน ก.ม. นู่น นี่ ใช้ที่เห็นด้วยตา ลงไปคลุกจริงๆ การดูคนไข้แต่ละคน เราเจอแต่ความไม่แน่นอนตลอด เรื่องอย่างนี้ต้องลองมาดูคนไข้ด้วยกันจริงๆ คนไข้นอก ใน คนไข้ iCU ครับจะได้หมดปัญหา

ถ้าท่านเหล่านี้ทำได้ คนไข้รอด วินิจฉัยแม่นดังตาเห็นจัดการคนไข้หาย รอดได้หมด เป็น 100 ใช้งบอย่างประหยัด หมอทั้งประเทศใน รพ.รัฐ รวมทั้งตัวเอง น่าจะเลิกเป็นหมอ ให้ท่านๆลงมาดูเอง

ไม่ใช่ท้าครับ นัดวันมาได้ รู้แล้วนะครับ หมอดื้อคือใคร (คือ หมอในประเทศไทย 99% ไง) ขอ 2 สัปดาห์ มานะ.

โดย หมอดื้อ 9 เม.ย. 2560
« แก้ไขครั้งสุดท้าย: 10 เมษายน 2017, 03:32:39 โดย story »