ผู้เขียน หัวข้อ: จ่อคลอดประกาศ รักษาฉุกเฉินวิกฤต ฟรี 72 ชม.แรก ห้าม รพ.เก็บเงิน  (อ่าน 604 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
สธ. เผยร่างกฎหมายลูกแล้วเสร็จ เร่งเสนอ รมว.สธ. ลงนาม บังคับใช้ รพ. ต้องดูแล “ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” รักษาฟรี 72 ชั่วโมงแรก ห้ามเก็บเงิน เล็งให้ทันใช้ก่อนสงกรานต์
       
       นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการสถานพยาบาล ตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล(ฉบับที่ 4 ) พ.ศ. 2559 กล่าวถึงความคืบหน้าการออกกฎหมายลูกตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่ ว่า เมื่อวันที่ 9 มี.ค. ได้ข้อสรุปร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุขทั้ง 3 ฉบับแล้ว ประกอบด้วย 1. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน 2. ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น และ 3. หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต
       
       “ทั้งหมดจะเสนอ รมว.สธ. ในการลงนาม โดยในส่วนของการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตนั้น จะต้องเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติ โดยรมว.สธ. อยากให้ออกทันเดือนเมษายน ซึ่งตรงกับเทศกาลสงกรานต์ อาจมีอุบัติเหตุมาก หากมีประกาศตรงนี้ก็จะช่วยผู้ป่วยได้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ประชาชนทุกคนในประเทศไทยไม่ว่าอยู่กองทุนสุขภาพไหน ทั้งหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และ กองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการก็จะได้รับสิทธิรักษาเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมง ไม่ต้องเสียเงิน แต่ต้องย้ำว่าต้องเป็นฉุกเฉินวิกฤต ซึ่งจะมีอยู่ในนิยาม และเมื่อพ้นวิกฤตก็ต้องส่งต่อไปยัง รพ. รัฐตามสิทธิ โดยค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะผ่าน ครม.” นพ.เกียรติภูมิ กล่าว
       
       ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สธ. กล่าวว่า ตนยังไม่เห็นร่างประกาศดังกล่าว แต่เห็นว่าแล้วเสร็จ ซึ่งหากทุกอย่างเรียบร้อยก็พร้อมจะนำเสนอต่อ ครม. เพื่อประกาศใช้ โดยหวังว่าจะออกทันช่วงเดือนเมษายนนี้ เพื่อทันช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุสูง


โดย MGR Online       10 มีนาคม 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9745
    • ดูรายละเอียด
 ปลัด สธ. คาด 1 - 2 วัน เสนอร่างประกาศฯ การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินให้ รมว.สธ. พิจารณา พร้อมเร่งชงหลักเกณฑ์ค่าใช้จ่ายป่วยวิกฤตสีแดงให้ ครม. อนุมัติ ป้องกันปัญหา รพ.เอกชนเรียกเก็บค่ารักษาฉุกเฉินวิกฤต 72 ชั่วโมง หวังทันใช้ช่วงสงกรานต์
       
       วันนี้ (14 มี.ค.) นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข 3 ฉบับ ภายใต้ พ.ร.บ. สถานพยาบาล (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2559 เพื่อกำหนดวิธีในการดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินในระดับต่างๆ และป้องกันการเก็บเงินค่ารักษาในผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ว่า ประกาศฯ ทั้ง 3 ฉบับนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดของกลุ่มกฎหมาย เพื่อเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ภายใน 1 - 2 วัน โดยจะมีประกาศฯ 2 ฉบับ คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน การระดมทรัพยากรและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเยียวยา และการจัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่น ที่เมื่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. ลงนามแล้วจะประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา
       
       นพ.โสภณ กล่าวว่า ส่วนอีกฉบับคือ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต จะต้องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อโดยเร็ว เพื่อให้ทันต่อการประกาศใช้ และให้สามกองทุนสุขภาพภาครัฐ ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) กองทุนประกันสังคม และกองทุนสิทธิสวัสดิการข้าราชการรับทราบ และดำเนินการตามมติ ครม. ในการจ่ายเงินให้แก่โรงพยาบาลเอกชนตามอัตราที่กำหนด และเงื่อนไขคือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) ภายใน 72 ชั่วโมง
       
       “ขณะนี้ทุกอย่างเสร็จสิ้นหมดแล้ว ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาจากฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งล่าสุดเห็นข่าวทางโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ประชาชื่น ก็ออกมาให้ข่าวว่าเห็นด้วย แม้แต่ในเครือโรงพยาบาลกรุงเทพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน จากการหารือก็เห็นด้วยเช่นกัน ดังนั้น จึงเป็นสัญญาณที่ดีที่ในอนาคตอันใกล้จะมีกฎหมายมาควบคุมเรื่องนี้” นพ.โสภณ กล่าว
       
       นพ.ธงชัย กีรติหัถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า หากมีประกาศฯ ออกมาจะลดปัญหาการเก็บเงินผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้ เพราะจะมีกฎหมายกำหนด ยกตัวอย่าง กรณีวิกฤตสีแดง ซึ่งมีผลต่อชีวิตนั้น รพ.เอกชนต้องรับรักษาให้พ้นวิกฤต และห้ามเก็บเงินผู้ป่วย หรือญาติผู้ป่วย โดยต้องเก็บตามอัตราตามกฎหมายกับกองทุนนั้นๆ แต่หาก รพ.เอกชนเรียกเก็บเงินโดยไม่ทำตามกฎหมาย เมื่อมีการพิสูจน์โดยสถาบันการแพทย์แห่งชาติ (สพฉ.) แล้วว่าเป็นฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) จริงๆ สบส. มีอำนาจตามกฎหมายจะไปดำเนินการช่วยเหลือ โดยการเชิญ รพ.เอกชน และผู้ป่วยหรือญาติมาหารือร่วมกัน เพื่อให้ รพ.เอกชนคืนเงินแก่ผู้ป่วย และให้ไปเรียกเก็บกับกองทุนสุขภาพตามสิทธิของผู้ป่วย แต่หาก รพ.เอกชนไม่ยอมจ่ายคืน ผู้ป่วยหรือญาติสามารถฟ้องร้อง โดย สบส. จะเป็นพยานให้
       
       “นอกจากนี้ ยังได้กำหนดหลักเกณฑ์กรณีที่ รพ.เอกชน ปฏิบัติตามกฎหมาย รับรักษาผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉินสีแดงภายใน 72 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่จะพ้นวิกฤตแล้ว และจำเป็นต้องส่งต่อไปยังโรงพยาบาลตามสิทธิ ก็ต้องประสานไปยังกองทุนนั้นๆ เพื่อจัดโรงพยาบาลและเตียงรองรับ แต่หากไม่มีเตียงจริงๆ ทางกองทุนฯจะต้องหารือกับทาง รพ.เอกชน ว่า จะพร้อมรับในราคาที่ตกลงกันเองของแต่ละกองทุนหรือไม่ รวมทั้งหากผู้ป่วยหรือญาติ มีกำลังจ่าย และพ้นวิกฤตแล้ว แต่ไม่อยากย้ายไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ต้องการรักษาต่อโรงพยาบาลเดิมก็ต้องยินยอมจ่ายเอง เป็นต้น” นพ.ธงชัย กล่าวและว่า สิ่งสำคัญประชาชนจะต้องรู้สิทธิตนเอง อย่างญาติก็สามารถสอบถาม รพ.เอกชน ได้ว่า เป็นวิกฤตสีแดงหรือไม่ หากไม่มั่นใจก็สอบถามไปยัง สพฉ.

โดย MGR Online       14 มีนาคม 2560