ผู้เขียน หัวข้อ: สลด! “บุญธรรม” อดีตแข้งทีมชาติหัวใจวายเสียชีวิตข้าง สพฉ.หลังเรียก 1669 ไม่มารับ  (อ่าน 953 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 วงการฟุตบอลเศร้า “บุญธรรม” อดีตกองหลังทีมชาติไทยหัวใจวาย ขณะซ้อมในสนามฟุตบอล สธ. เผย โทร.เรียก 1669 แล้ว ผ่านไป 10 - 15 นาที ยังไม่มารับ จนต้องนำส่ง รพ. กันเอง สุดท้ายเสียชีวิตที่ รพ.
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ หรือ โก๋ อดีตกองหลังทีมชาติไทย และสโมสรองค์การโทรศัพท์ ได้เสียชีวิตลงด้วยอาการหัวใจวาย ขณะกำลังซ้อมฟุตบอลอยู่ที่สนามกีฬาภายในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งอยู่บริเวณตรงข้ามกับอาคารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ที่ดูแลระบบสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669
       
       ทั้งนี้ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อช่วง 17.00 น. ของวันที่ 21 ก.พ. 2560 ซึ่ง นายบุญธรรม จะมาซ้อมฟุตบอลที่แห่งนี้เป็นประจำ แต่วันเกิดเหตุ พบว่า นายบุญธรรม เกิดอาการเหนื่อยและออกมานั่งพักที่ข้างสนาม โดยไม่ได้บอกใคร แล้วเกิดอาการวูบหงายหลัง กลุ่มเพื่อนที่เล่นด้วยกัน จึงเข้าไปช่วยเหลือ ขอความช่วยเหลือที่อาคาร สพฉ. โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้ประสานขอความช่วยเหลือด้วยวิทยุสื่อสาร แต่ผู้ที่มาขอความช่วยเหลือไม่ทราบว่า เจ้าหน้าที่ได้ประสานไปยังหน่วยงานใด นอกจากนี้ ยังมีการโทรศัพท์ไปยังสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้สอบถามอาการและจุดเกิดเหตุ แต่ผ่านไปประมาณ 10 - 15 นาที ก็ยังไม่มีรถฉุกเฉินมารับตัว หรือมีเจ้าหน้าที่ประสานกลับมา กลุ่มเพื่อนที่ช่วยกันปั๊มหัวใจอยู่ จึงตัดสินใจช่วยกันหามขึ้นรถกระบะนำตัวมาส่งที่สถาบันบำราศนราดูร ซึ่งอยู่ห่างออกไปไม่กี่กิโลเมตร แต่ไม่สามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ทัน และเสียชีวิตในเวลาต่อมา
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่เข้าถึงตัวผู้ป่วยล่าช้า ทั้งที่ที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่กระทรวงสาธารณสุขเอง และอยู่ใกล้เคียงกับอาคารของ สพฉ. ซึ่งอาคารดังกล่าวมีเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบอัตโนมัติ (AED) แต่กลับไม่ได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ของอาคารให้นำเครื่องดังกล่าวออกมาช่วยเหลือผู้ป่วย ทั้งที่ผ่านมา สพฉ. พยายามผลักดันและขับเคลื่อนการติดตั้งเครื่อง AED ในสถานที่สาธารณะมาตลอด
       
       ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อผู้บริหาร สพฉ.เพื่อสอบถามเกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถติดต่อได้

โดย MGR Online       22 กุมภาพันธ์ 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 สพฉ. เสียใจ “อดีตกองหลังทีมชาติ” เสียชีวิต แจงเวลาตั้งแต่รับแจ้งเหตุจนรถพยาบาลถึงจุดเกิดเหตุ ใช้เวลา 7 นาที ตามมาตรฐาน แต่สวนทางกับเพื่อนที่นำส่งผู้ป่วยด้วยตัวเอง เร่งสอบข้อเท็จจริงเพื่อพัฒนาระบบ
       
       จากกรณี นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย เกิดอาการหัวใจวายระหว่างการซ้อมฟุตบอลอยู่ภายในสนามกีฬาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แต่เมื่อประสานสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 กลับพบปัญหารอประมาณ 10 - 15 นาที ก็ไม่มีการประสานรถมารับ จนต้องนำส่งผู้ป่วยเองที่สถาบันบำราศนราดูร สุดท้ายเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 21 ก.พ. ที่ผ่านมา
       
       นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และโฆษก สธ. กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า ก่อนอื่นต้องขอแสดงความเสียใจกับครอบครัวผู้เสียชีวิต สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าว จากการตรวจสอบพบว่า เหตุเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2560 เวลาประมาณ 17.00 น. หลังจากนั้น เพื่อนๆ จึงเข้าไปช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้น ขณะเดียวกัน ก็มีการวิ่งไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และโทร.ประสาน 1669 มีเจ้าหน้าที่รับสายซักถามอาการ จุดเกิดเหตุ และเบอร์โทร.กลับ ศูนย์สั่งการ รพ.พระนั่งเกล้า จึงประสานไปยังสถาบันบำราศนราดูรเพื่อไปรับผู้ป่วยทันที แต่เมื่อถึงที่เกิดเหตุกลับไม่พบผู้ป่วย เนื่องจากสวนทางกับเพื่อนผู้ป่วยที่นำส่งผู้ป่วยด้วยรถกระบะ ซึ่งผู้ป่วยถึงห้องฉุกเฉิน พบว่า ผู้ป่วยไม่มีสัญญาณชีพ เจ้าหน้าที่เริ่มทำการช่วยฟื้นคืนชีพอย่างเต็มที่ แต่สุดท้ายไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้

สพฉ.แจงรับแจ้ง “บุญธรรม” หัวใจวาย ส่งรถถึงที่เกิดเหตุใน 7 นาที แต่ไม่เจอผู้ป่วย
        นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า สพฉ. ขอแสดงความเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการสืบหาข้อเท็จจริง เบื้องต้นทราบว่าบันทึกการโทร.แจ้งเหตุสายด่วน 1669 นั้น ศูนย์สั่งการ รพ.พระนั่งเกล้า ได้รับแจ้งในเวลา 17.23 น. และแจ้งไปยังสถาบันบำราศนราดูร เวลา 17.24 น. โดยรถออกจากโรงพยาบาลในเวลา 17.27 น. และถึงจุดเกิดเหตุในเวลา 17.30 น. แต่ไม่พบผู้ป่วย ซึ่งคาดว่าน่าจะสวนทางกับรถของญาติที่นำส่งผู้ป่วย ทั้งนี้ ระยะเวลาที่รถพยาบาลถึงจุดเกิดเหตุใช้เวลาเพียง 7 นาที ถืออยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ส่วนปัญหาที่ยังไม่ชัดเจน คือ เวลาที่เกิดเหตุ และเวลาที่โทร.แจ้งศูนย์ เป็นเวลาเท่าใด เพราะเวลาที่ถูกบันทึกในระบบ คือ 17.23 น. หากเพื่อนผู้ป่วยโทร.ก่อนหน้านั้น คงต้องหาสาเหตุเพิ่มเติมว่ามีความผิดพลาดอย่างไร ทั้งนี้ ยืนยันว่า สพฉ. จะพยายามสอบข้อเท็จจริงเพื่อพัฒนาระบบต่อไป
       
       นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า ส่วนกรณีเพื่อนผู้ป่วยวิ่งมาแจ้งที่ สพฉ. พบว่า มีแจ้งว่าผู้ป่วยมีอาการชัก เจ้าหน้าที่ศูนย์สั่งการได้แจ้งไปยังศูนย์สั่งการ 1669 จ.นนทบุรี ในทันที ซึ่งศูนย์สั่งการจังหวัดนนทบุรี แจ้งว่า ได้รับแจ้งเหตุแล้วขณะนี้รถฉุกเฉินอยู่ระหว่างกำลังเดินทาง ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ของ สพฉ. เอง ก็กำลังเตรียมตัวที่จะออกจากตึกไปให้การช่วยเหลือ แต่เป็นจังหวะเดียวกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้รับแจ้งทางวิทยุสื่อสาร ว่า ผู้อยู่ในเหตุการณ์ได้เคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปส่งโรงพยาบาลด้วยตนเองแล้ว ทั้งนี้ จากการตรวจสอบข้อมูลกับสถาบันบำราศนราดูร พบว่าผู้ป่วยไปถึงโรงพยาบาลในเวลาประมาณ 17.30 น. ซึ่งเป็นเวลาไล่เลี่ยกับที่เพื่อนของผู้ป่วยมาแจ้งที่ สพฉ.


โดย MGR Online       22 กุมภาพันธ์ 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
สธฉ. แจงเหตุไม่ได้ใช้เครื่องปั๊มหัวใจสาธารณะ ช่วยชีวิต “บุญธรรม” เหตุเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่ามีอาการชัก ชี้ หัวใจวายทำให้เกิดอาการชักได้ แต่คนทั่วไปไม่ทราบ จึงเข้าใจคลาดเคลื่อน
       
       จากกรณี นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย เกิดอาการหัวใจวายและเสียชีวิตระหว่างซ้อมฟุตบอลภายในสนามกีฬาของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีการไปขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่อาคารสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) แต่ไม่มีการนำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ออกมาช่วยเหลือ ส่วนการประสานตัวส่ง รพ. นั้น สพฉ. ชี้แจงว่า ทั้งหมดใช้เวลา 7 นาที ไม่ใช่ 10 - 15 นาที แต่อย่างใด
       
       นพ.วิฑูรย์ อนันกุล รองผู้อำนวยการสำนักสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สิ่งที่ตั้งข้อสังเกต คือ เพื่อนที่อยู่ในเหตุการณ์ระบุว่า ได้วิ่งไปแจ้งเหตุกับทาง สพฉ. แต่เนื่องจากเป็นช่วงเย็นแล้ว ทำให้ต้องแจ้งกับทาง รปภ. ซึ่ง รปภ. ได้ขึ้นไปบอกทางเจ้าหน้าที่ สพฉ. ที่อยู่ในตึก แต่ทางผู้แจ้ง ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นเพื่อนหรือญาติ บอกว่า ผู้ป่วยมีอาการชัก ทำให้อาจเข้าใจคลาดเคลื่อนหรือไม่ เพราะหลายคนหากไม่ทราบก็จะคิดว่าไม่น่ามาจากภาวะความผิดปกติของหัวใจ จึงไม่ได้ให้ใช้เครื่อง AED ทั้งที่ สพฉ. มีเครื่องนี้ประจำอยู่
       
       ผู้สื่อข่าวถามว่า เพราะเหตุใดภาวะหัวใจหยุดเต้นจึงมีอาการชัก จนทำให้เข้าใจคลาดเคลื่อน นพ.วิฑูรย์ กล่าวว่า อาการชักเป็นอาการหนึ่งของหัวใจหยุดเต้น เพียงแต่คนทั่วไปอาจไม่ทราบ และไม่ได้บอกรายละเอียดของอาการมากนัก ทั้งนี้ เมื่อหัวใจหยุดเต้น ทำให้สมองขาดเลือดและเกิดการกระตุก ชักได้

โดย MGR Online       23 กุมภาพันธ์ 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
สพฉ. เร่งสอบข้อเท็จจริง สายด่วน 1669 ไปช่วย “อดีตกองหลังทีมชาติ” ช้า คลี่ปมเพื่อน โทร.แจ้งเวลาใด ย้ำ ระบบบันทึกข้อมูลช่วงเวลา 17.23 น. ส่งรถพยาบาลไปช่วยใน 7 นาที ปัดเจ้าหน้าที่ สพฉ. ไม่เอาเครื่อง AED ไปช่วยเหลือ เผย นำเครื่อง AED ไปช่วยแล้ว แต่เพื่อนนำผู้ป่วยส่ง รพ. ก่อน
       
       จากกรณีการเสียชีวิตของ นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ที่เกิดอาการหัวใจวายขณะซ้อมฟุตบอลภายในสนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงการประสานสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 ว่า ใช้เวลานาน 10 - 15 นาที รถพยาบาลก็ยังไม่มา ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ยืนยันว่า ใช้เวลาเพียง 7 นาที ในการมารับตัวผู้ป่วย แต่ไม่พบเนื่องจากเพื่อนผู้ป่วยทำการส่งตัวผู้ป่วยเอง
       
       วันนี้ (23 ก.พ.) นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า เบื้องต้นเมื่อมีการโทร.เข้ามาที่ระบบ 1669 จะมีการบันทึกเวลาทุกนาทีเมื่อมีการติดต่อ การรับโทรศัพท์ หรือการปล่อยรถพยาบาล โดยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ในระบบได้บันทึกไว้ว่าศูนย์สื่อสารและสั่งการ 1669 ได้รับแจ้งการขอความช่วยเหลือในเวลาประมาณ 17.23 น. และได้ประสานไปยังสถาบันบำราศนราดูร ซึ่งอยู่ใกล้จุดเกิดเหตุที่สุด ในเวลา 17.24 น. และภายใน 2 - 3 นาที รถโรงพยาบาลก็ออกมาจากสถาบันบำราศนราดูร เพื่อไปรับตัวผู้ป่วย แต่ญาติได้นำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลด้วยตนเอง รถพยาบาลเลยไม่ได้เข้าถึงจุดเกิดเหตุ เพราะมีการนำตัวผู้ป่วยออกมาก่อนแล้ว ซึ่งทั้งหมดใช้เวลาเพียง 7 นาที ก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน คือ ต้องไม่เกิน 8 - 10 นาที อย่างไรก็ตาม หากญาติมีความติดใจ สพฉ. จะตรวจสอบไปที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์ของผู้ โทร.แจ้ง 1669 ว่า แท้จริงโทร.มาเวลาใด โดยจะตรวจสอบว่า ก่อน 17.23 น. ได้มีการโทร.แจ้งมาที่สายด่วน 1669 หรือไม่ และหากแจ้งแล้วเกิดอะไรขึ้นในระหว่างนั้น เพื่อที่จะได้ทราบข้อเท็จจริงและนำกลับมาพัฒนาระบบให้ดียิ่งขึ้นต่อไป

        “บ่อยครั้งคนทั่วไปเมื่อเจอผู้ป่วยฉุกเฉินจะเข้าไปช่วยผู้ป่วยก่อน ซึ่งใช้เวลาเป็น 10 กว่านาที พอรู้สึกว่าไม่ไหวแล้วถึงจะเริ่มโทรศัพท์ขอความช่วยเหลือ ซึ่งเวลาที่เสียไปถือว่านานพอสมควร ดังนั้น เมื่อพบผู้ป่วยฉุกเฉินขอให้ โทร.แจ้งสายด่วน 1669 ก่อน ส่วนที่ต้องมีการซักถามอาการผู้ป่วย ก็เพื่อประเมินอาการผู้ป่วยว่าหนักเบาแค่ไหน จะได้ส่งรถที่มีศักยภาพที่เหมาะสมกับอาการป่วย และระหว่างเจ้าหน้าที่กำลังเดินทางมา เราก็เข้าไปให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นก่อนได้ หากในที่เกิดเหตุมีคนมากกว่า 1 คน ก็ทำควบคู่กันไปได้” รองเลขาธิการ สพฉ. กล่าว
       
       นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยฉุกเฉินใช้บริการผ่านสายด่วน 1669 เป็นล้านคน โดย 4 ปีที่ผ่านมา สถิติการใช้งานยิ่งเพิ่มมากขึ้น เฉพาะปี 2559 มีผู้ใช้บริการถึง 1,169,136 คน ซึ่งระบบเรากำลังพัฒนาไปได้ด้วยดี ประชาชนก็รู้จักสายด่วนมากขึ้นและเราก็ได้ช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินมากขึ้นด้วย
       
       เมื่อถามถึงเพื่อนผู้ป่วยมาขอความช่วยเหลือที่ สพฉ. ซึ่งใกล้ที่สุด แต่ไม่มีการนำเครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) ออกไปใช้ นพ.ภูมินทร์ กล่าวว่า พนักงานรักษาความปลอดภัยเมื่อรับแจ้งเหตุ ก็รีบวิ่งมาบอกศูนย์สื่อสารสั่งการที่ชั้น 2 ทันที และศูนย์สื่อสารสั่งการได้รีบโทร.แจ้งศูนย์สั่งการจังหวัดนนทบุรี เพื่อให้ส่งรถส่งอุปกรณ์ที่มีความพร้อมมารับตัวผู้ป่วย ขณะเดียวกัน ก็เตรียมวิ่งออกไปช่วยผู้ป่วยที่จุดเกิดเหตุ พร้อมเครื่อง AED ที่มีอยู่แล้ว แต่ระหว่างเข้าให้การช่วยเหลือก็ได้รับแจ้งจากวิทยุ ว่า มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยออกไปสถาบันบำราศนราดูรแล้ว ไม่ใช่ไม่มีใครมาช่วยเหลืออย่างที่เข้าใจ และยังมีการสอบถามไปที่สถาบันบำราศนราดูรด้วย โดยได้รับแจ้งว่าผู้ป่วยไปถึงเวลา 17.30 น. ซึ่งเวลาที่เขาวิ่งมาขอความช่วยเหลือที่ สพฉ. ก็ประมาณ 17.30 น. แล้ว เรื่องนี้คาดว่าเป็นความคลาดเคลื่อนในช่วงเวลาที่ไม่พอดีกัน

โดย MGR Online       23 กุมภาพันธ์ 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
สธ. เร่งสืบเวลา โทร.แจ้ง 1669 ช่วยชีวิต “อดีตทีมชาติไทย” ไม่ตรงกัน เชิญเพื่อน “บุญธรรม” ให้ข้อมูล ยัน โทร.เวลา 17.18 น. ต่างจากข้อมูล สพฉ. ถึง 5 นาที แถมไม่มีคน โทร.กลับ ไม่มีเสียงไซเรนรถพยาบาลมารับตาม สพฉ. อ้าง เสนอติดเบอร์สถาบันบำราศฯ รอบ สธ. แจ้งเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์คู่ 1669
       
       จากกรณีความสับสนเรื่องเวลาในการแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านสายด่วนการแพทย์ฉุกเฉิน 1669 เพื่อช่วยชีวิต นายบุญธรรม บูรณธรรมานันท์ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ที่เกิดอาการหัวใจวายขณะซ้อมในสนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่ไม่ตรงกัน โดยทางเพื่อนผู้เสียชีวิต ระบุว่า โทร.แจ้งประมาณ 10 - 15 นาที ก็ไม่มีการติดต่อกลับเพื่อมารับตัวผู้ป่วย จนต้องนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลเอง ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุว่า รับแจ้งเมื่อเวลา 17.23 น. และส่งรถไปรับถึงในเวลา 17.30 น. นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงสั่งการให้ นพ.วิทูรย์ อนันกุล รองผู้อำนวยการสำนักงานสาธารณสุขฉุกเฉิน (สธฉ.) ดำเนินการตั้งทีมสืบสวนข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
       
       วันนี้ (24 ก.พ.) เมื่อเวลา 09.00 น. ได้มีการจัดประชุมเพื่อสืบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องเวลาในการแจ้งเหตุ 1669 ที่ไม่ตรงกัน ระหว่างศูนย์รับแจ้งเหตุที่ รพ.พระนั่งเกล้า จ.นนทบุรี กับเวลาที่เพื่อนผู้เสียชีวิต โทร.ขอความช่วยเหลือ โดยการประชุมดังกล่าว เป็นเพียงการสอบถามเฉพาะกลุ่มเพื่อนๆ และผู้เห็นเหตุการณ์ในวันนั้นประมาณ 6 - 7 คน โดยเป็นการหารือแบบปิด ไม่อนุญาตให้ผู้ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าฟัง และไม่อนุญาตให้ใครให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชน โดยขอให้รอการรวบรวมข้อมูลมากกว่านี้ก่อน เนื่องจากยังไม่ได้ข้อสรุปใดๆ
       
       ทั้งนี้ บรรยากาศหลังการประชุม บรรดาเพื่อนๆ และผู้เห็นเหตุการณ์ที่เข้าร่วมให้ข้อมูลต่างมีอารมณ์ไม่ค่อยพอใจเท่าที่ควร เนื่องจากจากการสอบถาม ปรากฏว่า ยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่า ทางผู้บริหาร สพฉ. ให้ข้อมูลที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเวลาที่ โทร.ไปแจ้งศูนย์รับแจ้งเหตุ 1669 นั้น ไม่ตรงกัน เพราะเพื่อนๆ ยืนยันว่า โทร.ไปเวลา 17.18 น. แต่ สพฉ. บอกว่าเช็กข้อมูลรับแจ้งเหตุที่เวลา 17.23 น. ซึ่งต่างกันถึง 5 นาที โดยข้อมูลตรงนี้มาตรวจสอบได้
       
       เพื่อนผู้ โทร.แจ้งเหตุ 1669 กล่าวว่า ตนเป็นคน โทร.แจ้ง 1669 เอง เจ้าหน้าที่ได้ขอเบอร์ส่วนตัวตนไป เพื่อทราบอาการและ โทร.ถามเส้นทาง แต่รอแล้วก็ไม่มีใคร โทร.กลับมา จนทุกวันนี้ก็ยังไม่ โทร.มาเลย และที่บอกว่า มีรถฉุกเฉินของสถาบันบำราศฯ วิ่งมารับผู้เสียชีวิตด้วยนั้น ตนและเพื่อนไม่เห็นมีรถสักคัน เพราะรถฉุกเฉินก็ต้องมีเสียงไซเรนดังอยู่แล้ว แต่นี่ไม่เห็น ไม่มีเสียงดังใดๆ ซึ่งพวกตนไม่ได้ต้องการตำหนิหรือต่อว่าใคร เพราะผู้เสียชีวิตก็เสียชีวิตไปแล้ว สิ่งที่พวกตนรู้สึก คือ นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรกที่เกิดในกระทรวงสาธารณสุข เพราะในอดีตคนในกระทรวงวิพากษ์วิจารณ์กันหนาหูมาก ว่า เคยมีกรณีแบบนี้มาก่อน 2 ครั้ง เป็นข้าราชการมาประชุมอยู่ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก และอีกคนก็เป็นคนนอกมาวิ่งรอบกระทรวงก็เกิดอาการวูบเหมือนกัน แต่ตนไม่ทราบว่า ประสบเหตุความล่าช้าเหมือนเคสนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ คือ คนไม่ค่อยรู้ว่ามีสถาบันบำราศนราดูรอยู่ใกล้ๆ
       
       “พวกผมเสนอที่ประชุมเพื่อขอให้ผู้บริหาร สธ. ปรับปรุงโดยควรติดป้ายเบอร์ โทร.ฉุกเฉินของสถาบันบำราศนราดูร ไม่ใช่แค่ 1669 เท่านั้น เพราะที่สถาบันบำราศฯ จะใกล้กว่าอยู่ภายในกระทรวงเอง ทำไมต้องไปเสียเวลา โทร.ไป 1669 เพื่อให้เขาประสานมาที่สถาบันบำราศฯ อยู่ดี นอกจากนี้ หากเป็นไปได้ก็ควรฝึกอบรมการช่วยชีวิตเบื้องต้นของ รปภ. ในกระทรวงด้วย” เพื่อนผู้อยู่ในเหตุการณ์ กล่าว
       
       ด้าน นพ.เกียรติภูมิ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างสืบสวนข้อเท็จจริง ซึ่งทางกลุ่มเพื่อนผู้เสียชีวิตได้เสนอให้มีการติดเบอร์ของสถาบันบำราศฯ ไว้รอบบริเวณ สธ. เพื่อให้ผู้ที่มีเหตุฉุนเฉินสามารถ โทร.หาโรงพยาบาลใกล้เคียงได้โดยตรงนั้น ตนจะรับข้อเสนอไว้พิจารณาและจะดำเนินการปรับปรุงระบบต่อไป แต่ปัจจุบันสถาบันบำราศฯ เป็นโรงพยาบาลที่ดูแลรักษาเกี่ยวกับโรค ศักยภาพในการช่วยชีวิตฉุกเฉินอาจไม่เพียงพอ ซึ่งจะพัฒนาเพิ่มศักยภาพตรงนี้

โดย MGR Online       24 กุมภาพันธ์ 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ เผย ขั้นตอนช่วยคนหัวใจวาย โทร.แจ้ง 1669 เร่งปั๊มหัวใจ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้ป่วยทำพลาดโอกาสปั๊มหัวใจต่อเนื่อง ชี้ 72% คนแจ้งอาการหัวใจวายเป็นอาการอื่น แนะพกยาอมไอเอสดีเอ็นช่วยเหลือยามวิกฤตได้
       
       จากกรณีการเสียชีวิตของอดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย จากอาการหัวใจวายขณะซ้อมฟุตบอลในสนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.)
       
       วันนี้ (24 ก.พ.) ที่โรงพยาบาลราชวิถี มีการจัดเวทีเสวนา “ไทยถึงเวลาพัฒนาระบบรับมือผู้ป่วยฉุกเฉิน ก่อนสายเกินแก้แล้วหรือยัง?” โดย โครงการส่งเสริมและป้องกันคนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน สมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย โรงพยาบาลราชวิถี และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
       
       นพ.สันต์ หัตถีรัตน์ นายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอแสดงความเสียใจกับกรณีที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ขณะนี้มีประชาชนเจ็บป่วยเข้ารับบริการทางการแพทย์ฉุกเฉินปีละกว่า 25 ล้านคน อีกทั้งจำนวนมากที่ต้องเสียชีวิตและพิการ โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้การปฐมพยาบาลอย่างเร่งด่วนภายในไม่เกิน 7 - 8 นาที แต่ที่ผ่านมา การแจ้งเหตุยังมีความสับสนอยู่ ซึ่งข้อมูลจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี ปี 2558 พบว่า อาการสำคัญที่รับแจ้งในผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีมากถึง 72% ที่ได้รับแจ้งเป็นอาการอื่นที่ไม่สื่อว่าเป็นหัวใจหยุดเต้น เช่น เจ็บหน้าอก ชักเกร็ง หอบเหนื่อย สำหรับอัตราการเสียชีวิตในผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล มีเพียง 11% เท่านั้นที่รอดชีวิต
       
       “แนะนำว่า เมื่อเกิดเหตุขอให้แจ้ง 1669 และระหว่างรอขอให้มีการปั๊มหัวใจอย่างถูกวิธีด้วยเพื่อเพิ่มโอกาสรอดชีวิต และไม่ควรย้ายผู้ป่วยเองเพราะอาจจะทำให้ขาดช่วงการปั๊มหัวใจ นอกจากนี้ ผู้ชายที่อายุมากกว่า 40 ปี หรือผู้หญิงหลังหมดประจำเดือน ควรพกยาแก้อาการหัวใจขาดเลือด หรือ ยาไอเอสดีเอ็น ติดตัวไว้ประมาณ 2 เม็ด ซึ่งหาซื้อได้ตามร้านขายยาทั่วไป เม็ดละ 2 บาท เพราะหากเกิดเหตุขึ้นจะได้ช่วยเหลือตัวเอง หรือช่วยคนอื่นได้ทันที โดยขอให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) พิจารณาประกาศให้ยาไอเอสดีเอ็น เป็นยาสำหรับปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วย ซึ่งไม่มีผลข้างเคียงมาก เพียงแค่เกิดอาการชาที่ลิ้น ปวดหัวไม่กี่นาทีก็หาย ยกเว้นผู้ชายที่กินยาเพิ่มสมรรถภาพทางเพศในช่วง 2 วันเท่านั้น ที่ห้ามกิน เพราะจะทำให้ความดันตก ช็อก เสียชีวิต” นพ.สันต์ กล่าว
       
       นพ.สันต์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สพฉ. มีการขับเคลื่อนเรื่องเครื่องช่วยฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) แต่พอเกิดเหตุข้างสำนักงาน ซึ่งมีทั้งเจ้าหน้าที่ของ สพฉ. และมีเครื่อง AED อยู่พร้อม กลับไม่สามารถช่วยนำออกมาใช้ได้ จึงอยากให้ สพฉ. ทบทวนระบบว่า สามารถใช้งานได้จริงหรือไม่ มีปัญหาอุปสรรคอย่างไร รวมถึงการอบรมใช้กู้ชีพ การใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ ส่วนกรณีหลายฝ่ายเรียกร้องให้ กทม. ซื้อเครื่อง AED ติดตั้งทั่วกรุงเทพฯ เห็นว่า อาจใช้ได้ในบางกรณีเท่านั้น เนื่องจากเครื่องนี้ใช้ในรายที่หัวใจหยุดเต้น หรือเต้นแบบไม่เป็นจังหวะ อีกทั้งขึ้นอยู่กับการฝึกอบรม หากขาดทักษะก็ไม่สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยฉุกเฉินได้ และที่สำคัญ เครื่องนี้มีราคาแพง จึงเป็นไปได้ยากที่รัฐบาล หรือ กทม. จะจัดสรรงบประมาณเพื่อติดตั้งทั่วไปได้
       
       นพ.สมชาย กาญจนสุต อุปนายกสมาคมเวชศาสตร์ฉุกเฉินฯ ในฐานะผู้ที่ริเริ่มทำงานพัฒนาให้มีศูนย์กู้ชีพนเรนทร รพ.ราชวิถี และสามารถขยายผลต่อจนมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินทั่วประเทศ กล่าวว่า ผู้รับผิดชอบระบบควรจัดให้มีการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ และความพร้อมในการช่วยเหลือ โดยหน่วยงานภายนอก จะสังเกตได้ว่า พื้นที่เสี่ยงของผู้ป่วยฉุกเฉิน คือ สถานที่ออกกำลังกาย ฟิตเนส สนามฟุตบอล หรือแม้แต่สถานที่ประชุมที่มีความเครียด เช่น รัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ควรมีการประเมินความเสี่ยง และเตรียมความพร้อมของระบบการช่วยเหลือใน 3 มิติ คือ ความรวดเร็ว ความสามารถของผู้ช่วยเหลือและการเข้าถึงบริการ ตลอดจนการนำส่งไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสม นอกจากนั้น ควรจัดให้มีการซ้อมระบบปฏิบัติการว่าสามารถปฏิบัติได้จริงและต่อเนื่อง ปัจจุบันได้มีการพัฒนาด้านวัสดุอุปกรณ์ไปมาก แต่ขาดการตรวจสอบว่าสามารถใช้งานในเหตุการณ์จริงๆ ได้
       
       “เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้หากมองย้อนหลังตามหลักการแล้วควรมีการแจ้งเหตุขอความช่วยเหลือให้เร็วที่สุด หากผู้ป่วยหมดสติและคลำชีพจรไม่ได้ให้ทำการกดหน้าอกแบบถูกวิธี (Quality CPR) พร้อมกับการจัดหาเครื่อง AED หากหาไม่ได้ก็ควรกดหน้าอกต่อไปเรื่อยๆ จนกว่าหน่วยกู้ชีพจะมาถึงซึ่งควรจะมาโดยเร็วที่สุด ไม่ควรเคลื่อนย้ายไปโรงพยาบาลเอง เพราะจะทำให้ต้องหยุดการกดหน้าอกในระหว่างการเคลื่อนย้ายเป็นผลเสียต่อการช่วยชีวิต แต่ในเหตุการณ์จริง ครั้งนี้เชื่อว่าผู้ช่วยเหลือต่างมีเจตนาดีที่จะช่วยชีวิตผู้ป่วยเป็นที่ตั้ง ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องเผยแพร่องค์ความรู้และฝึกอบรมการช่วยชีวิตที่ถูกต้องให้ทั่วถึงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่อยู่หรือทำงานในพื้นที่ความเสี่ยงสูง และสำรวจความพร้อมของระบบการช่วยเหลือเพื่อปรับระบบให้สามารถปฏิบัติการช่วยเหลือฉุกเฉินได้จริงอันประกอบด้วยความรวดเร็ว ความสามารถ และความครอบคลุม รวมทั้งมีการซ้อมปฏิบัติในสถานการณ์ต่างๆ ด้วย” นพ.สมชาย กล่าว

โดย MGR Online       24 กุมภาพันธ์ 2560

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
สพฉ. โบ้ย สธ. รายงานเวลารับแจ้งช่วย “บุญธรรม” คลาดเคลื่อน ด้าน รมว.สธ. เร่งออกกฎหมายลูกบังคับ ทุก รพ.ร่วมรักษาฉุกเฉินวิกฤต 72 ชม. แรกไม่เสียค่าใช้จ่าย
       
       ความคืบหน้ากรณีการรายงานเวลารับแจ้งเหตุ 1669 ช่วยชีวิต นายบุญธรรม ธรรมานันท์ หรือ โก๋ อดีตกองหลังทีมชาติไทย ที่เกิดอาการหัวใจวายขณะซ้อมที่สนามกีฬากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ไม่ตรงกัน ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า เพื่อนผู้เสียชีวิต โทร.แจ้งเวลา 17.18 น. และศูนย์รับแจ้งเหตุ รพ.พระนั่งเกล้า ประสานไปยังสถาบันบำราศนราดูร เวลา 17.23 น. ซึ่งต่างจากการรายงานครั้งแรกที่ระบุว่าได้รับแจ้งตอนเวลา 17.23 น.
       
       นพ.ภูมินทร์ ศิลาพันธ์ รองเลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) กล่าวว่า การรายงานครั้งแรกที่ระบุว่า เวลารับแจ้งเหตุคือเวลา 17.23 น. นั้น เป็นเวลาที่ทาง สธ. ประสานเช็กจากศูนย์รับแจ้งเหตุ รพ.พระนั่งเกล้า ไม่ใช่ สพฉ. ซึ่งตนก็ไม่แน่ใจว่าเหตุใดจึงมีการรายงานว่าเป็นเวลาดังกล่าว แต่ยืนยันว่าการประสานนำข้อมูลมาชี้แจงนั้นไม่ใช่ข้อมูลที่มาจาก สพฉ. ส่วนกรณีการประสานข้อมูลเวลาโทร.ของเพื่อนผู้เสียชีวิตกับคู่สายโทรศัพท์นั้น สพฉ. เป็นผู้ประสานจนทราบว่าเป็นเวลา 17.18 น. จริง ทั้งนี้ การประสานนำข้อมูลรับแจ้งเหตุของศูนย์รับแจ้งเหตุจากโรงพยาบาลต่างๆ นั้น โดยปกติทาง สธ. จะเป็นผู้ประสานนำข้อมูลจากโรงพยาบาลมาให้ทาง สพฉ. ส่วนเรื่องการพัฒนาระบบของสายด่วน 1669 นั้น ยังต้องศึกษารายละเอียดอยู่
       
       ด้าน นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณีโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยเจ็บป่วยฉุกเฉิน ว่า ที่ผ่านมา แม้มีกรณีลักษณะนี้เกิดขึ้นจริง แต่หลายครั้งเมื่อมีการพิสูจน์ว่าผู้ป่วยเข้าเกณฑ์เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต หรือกรณีสีแดงจริง ก็จะมีการเจรจาหารือกับทางโรงพยาบาลเอกชนเพื่อไม่ให้เก็บค่ารักษากับทางผู้ป่วย แต่อย่าลืมว่าที่ผ่านมาเป็นเรื่องความสมัครใจ ไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ล่าสุดอยู่ระหว่างจัดทำกฎกระทรวงเพื่อกำหนดให้โรงพยาบาลทุกแห่งต้องรับรักษาผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินให้พ้นวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมงต้องไม่เรียกเก็บค่ารักษา โดยให้ตั้งเบิกกับภาครัฐ ซึ่งจะมีกองทุนสุขภาพของแต่ละสิทธิเป็นผู้จ่าย ซึ่งหากละเมิดจะมีความผิดทันที คาดว่า ประกาศใช้เดือนเมษายนนี้ ทันสงกรานต์พอดี
       
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจาก สพฉ. ระบุถึงเกณฑ์การคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” กรณีการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนนอกคู่สัญญา 3 กองทุน โดย ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ได้แก่ บุคคลซึ่งได้รับบาดเจ็บหรือมีอาการป่วยกะทันหัน ซึ่งมีภาวะคุกคาม ต่อชีวิต ซึ่งหากไม่ได้รับปฏิบัติการแพทย์ทันทีเพื่อแก้ไขระบบการหายใจ ระบบไหลเวียนเลือดหรือระบบ ประสาทแล้ว ผู้ป่วยจะมีโอกาสเสียชีวิตได้สูง หรือทำให้การบาดเจ็บหรืออาการป่วยของผู้ป่วยฉุกเฉินนั้น รุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้นได้อย่างฉับไวดังรายละเอียดต่อไปนี้
       
1. Cardiac arrest ไม่รู้สึกตัว หรือ ไม่หายใจ หรือ ไม่มีชีพจร
2.Airway obstruction คือ หายใจได้ยินเสียงดัง Stridor.
3.Breathing มีอาการหายใจผิดปกติ โดยมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ: ต้องลุกนั่ง/พิงผนัง หรือยืนเพื่อให้หายใจได้ หรือ หายใจมีเสียงดัง หรือ ซีดและเหงื่อท่วมตัว หรือ หายใจเร็ว(มากกว่าตามเกณฑ์ อายุ) แรง และลึก หรือ ใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ หรือ หายใจช้า (น้อยกว่า 6 ครั้ง)
4. Circulation มีอาการแสดงช็อก โดยมีอาการต่อไปนี้อย่างน้อย 2 ข้อ คือ เหงื่อท่วมตัว ซีดและผิวเย็นชืด หมดสติชั่ววูบ/เกือบหมดสติชั่ววูบเมื่อนั่ง/ยืน เป็นต้น
5. กลุ่มอาการ แพ้ยา/แพ้อาหาร/แพ้สัตว์ต่อย/แอนาฟิแล็กซิส/ปฏิกิริยาภูมิแพ้ มีผื่นร่วมกับหายใจติดขัด และ ไม่มีผื่น แต่มีอาการหายใจติดขัด แน่นหน้าอก และ
6.กลุ่มอาการสัตว์กัด งูพิษกัด และ มีอาการทางระบบประสาท หรือ ระบบไหลเวียนโลหิต ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการสูญเสียอวัยวะสาคัญ
       
       นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มอาการเจ็บแน่นทรวงอก/หัวใจ เฉียบพลัน กลุ่มมีครรภ์/คลอด/นรีเวช มีน้ำเดิน และ มดลูกหดตัวหรือเลือดออกทางช่องคลอด รวมทั้งกลุ่มอาการชัก กลุ่มอาการแขนขาอ่อนแรง/พูดลำบาก/ปากเบี้ยว และกลุ่มอาการถูกทำร้าย/บาดเจ็บ มีการบาดเจ็บของระบบประสาท/หลอดเลือดที่สาคัญ ที่เสี่ยงต่อการเสียชีวิตและการสูญเสียอวัยวะสำคัญ เป็นต้น

โดย MGR Online       27 กุมภาพันธ์ 2560