ผู้เขียน หัวข้อ: คนจีนทำงานจนตายยอดพุ่ง ‘6 แสนคนต่อปี’หนักไปไหม  (อ่าน 790 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
นี่ก็ใกล้สิ้นปีเต็มที หลายคนต้องเร่งทำงานปิดงบ จบโปรเจคให้ทันสิ้นปีกันเป็นแถว แต่ละคนจึงต้องทำงานอยู่ที่ออฟฟิศกันจนถึงมืดค่ำ เกินเวลางาน ได้โอทีบ้าง ไม่ได้บ้าง สุขภาพแต่ละคนเริ่มทรุดกันเป็นแถวๆ…

ที่ไทยเรายังไม่ได้ยินเรื่อง “การทำงานจนตาย”

แต่ที่ญี่ปุ่นสถานการณ์นี้รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนมีการบัญญัติศัพท์เฉพาะของการ “ทำงานจนตาย” ขึ้นมาเลยทีเดียว การทำงานหนักจนเสียชีวิตที่ญี่ปุ่นจะเรียกว่า อาการ “คาโรชิ” (過労死) และตอนนี้ไม่ใช่แค่ญี่ปุ่นเท่านั้นที่มีคนตายจากการทำงาน ที่เกาหลีใต้และจีนก็กำลังพบสภาพนี้เช่นเดียวกัน โดยภาษาเกาหลีจะเรียกอาการนี้ว่า “กวาโรซา” (과로사) ส่วนที่จีนจะเรียกว่า “กั้วเหลาสื่อ” (过劳死)

เมื่อไม่นานมานี้ สถิติของจีนน่าตกใจมาก เพราะคนที่ทำงานจนตายยอดพุ่งทะลุแซงญี่ปุ่นไปเป็นที่เรียบร้อย เพราะของจีนนี่ตายปีละราว 600,000 คน (สถิติปี 2557) คือ เฉลี่ยมีคนตายจากการทำงานหนักเกินเหตุวันละ 1,600 คนเลยทีเดียว และเนื่องจากจีนเป็นประเทศที่อาการหนักที่สุดตอนนี้ จึงเอาข้อมูลมาเล่าฝากกัน

เว็บไซต์ข่าว “สเตรตส์ ไทมส์” ของสิงคโปร์ได้รายงานเรื่องนี้ไว้ว่า มีกรณีการเสียชีวิตหมาดๆ ของชาย 3 รายที่คาดว่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานจนตายเกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ รายแรกเป็นวิศวกรหนุ่ม เสียชีวิตจากอาการเลือดออกในสมอง อีก 2ราย เป็นหมอจากโรงพยาบาลจงซาน ในเมืองเซียะเหมิน ทางใต้ของจีน วัย 43 ปี และ 49 ปี ทั้ง 2 คนนี้เป็นเพื่อนกันค่ะ คนแรกเจ็บหน้าอกและตาย ก่อนอีกวันถัดมาอีกคนก็ตามไป

สถิติของคนที่ทำงานหนักมากถึงมากที่สุดของจีนจะเป็นพวกที่ประกอบอาชีพ สื่อมวลชน นักโฆษณา วงการแพทย์และไอที เฉพาะปีนี้ช่วงระหว่างเดือน เม.ย.- มิ.ย.มีนักข่าวและบรรณาธิการอย่างน้อย 10 คน ต้องจบชีวิตลงขณะปฏิบัติหน้าที่ ไม่ใช่เพราะถูกเก็บนะคะ แต่เพราะทำงานไม่หยุดจนต้องตาย อายุเฉลี่ยของพวกเขา คือ 41 ปี

หนึ่งในบรรณาธิการชื่อ “จิน ป๋อ” วัย 34 ปี เป็นคนที่ทุ่มเทเพื่องานมาก ทำงานดึกดื่นทุกวัน เพื่อนร่วมงานก็เห็นว่า เขาก็ปกติดี แต่จู่ๆ วันหนึ่งเขาล้มตึงขณะอยู่บนรถไฟใต้ดิน สุดท้ายก็เสียชีวิตกระทันหัน สร้างความตื่นตะลึงให้กับคนรอบข้างอย่างมาก

นายแพทย์อู๋ เสี่ยซื่อ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญปัญหาระบบหัวใจและหลอดเลือด จากโรงพยาบาลเป่ยจิง อันเจิ้นในกรุงปักกิ่งให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์โกลบอล ไทม์สของจีนไว้ว่า การทำงานหนัก ทำงานล่วงเวลา ต้องนอนดึกบ่อย จะทำให้เกิดความเครียด ทำลายสุขภาพ เป็นสาเหตุให้หลายโรคถามหา เช่น โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือดหรือโรคหลอดเลือดสมอง

เว็บไซต์จัดหางานออนไลน์ของจีน “zhaopin.com” รายงานว่า พนักงานบริษัทมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวน 13,400 คนที่ทางเว็บไซต์ให้ทำแบบสำรวจพบว่า พวกเขาไม่ได้ออกกำลังกายเลยในหนึ่งสัปดาห์ และ 2 ใน 3 ต้องทำงานล่วงเวลามากกว่า 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในปี 2557 มีรายงานจากตลาดแรงงานในจีนว่า 90 % ของแรงงานจีนทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ บางคนทำมากกว่า 50 ชั่วโมง

แต่ช่วงระยะเวลาที่กฎหมายระบุไว้ คือ ไม่ควรเกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน 44 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และไม่ควรทำโอทีมากกว่า 36 ชั่วโมงต่อเดือน แต่บริษัทห้างร้านมีหรือจะฟัง? พนักงานก็ยังคงก้มหน้าก้มตาทำงานเลยเวล่ำเวลาต่อไป โดยเฉพาะคนหนุ่มสาวมักคิดว่า ตัวเองมีกำลังยังทำงานได้ จึงทุ่มเทและหักโหมกับการทำงาน ซึ่งบางครั้งนำไปสู่อันตรายของสุขภาพ

จีนนี่อาจจะมากในแง่ของจำนวนผู้ที่เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินเหตุ แต่ผู้ที่จมดิ่งลงสู่งานหนักแบบได้โล่นี่ต้องยกให้ญี่ปุ่นค่ะ เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาประเทศนี้เพิ่งประสบกับวิกฤติ “คาโรชิ” มาเลย ผลการสำรวจของรัฐบาลญี่ปุ่นพบว่า 12 % ของพนักงานบริษัททำโอทีมากกว่า 100 ชั่วโมง ต่อเดือน และอีก 23 % บอกว่า พวกเขาทำโอทีราวๆ 80 ชั่วโมงต่อเดือน จนรัฐต้องจัดให้มีการตรวจสอบว่าบริษัทไหนอนุญาตให้พนักงานทำงานล่วงเวลาหนักเกินเหตุ? ถ้าพบจะโดนลงโทษตามกฎหมายทันที

เคยได้ยินคำพูด “งานหนักไม่เคยฆ่าใคร” สงสัยว่าวลีนี้คงใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ปัจจุบันเสียแล้ว เพราะงานหนักกำลังฆ่าเรา หากไม่ออกกำลังกายและดูแลสุขภาพให้ดี การทุ่มเทเพื่องานเป็นสิ่งที่ดีค่ะ แต่มากไปก็ไม่ดีแน่นอน นายจ้างเองก็ต้องใช้งานลูกน้องแต่พอดีด้วยเหมือนกัน เพราะถ้าเขาป่วยหรือตายแล้วใครจะทำงานให้เราล่ะ…

ที่มา เดลินิวส์

16/12/2016
http://www.jehoynews.com/%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99%E0%B8%97%E0%B8%B3%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%99%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%9E%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%87/