ผู้เขียน หัวข้อ: พลเมืองชั้นสองกับการเข้าถึงการผ่าตัดสมอง  (อ่าน 1760 ครั้ง)

science

  • Full Member
  • ***
  • กระทู้: 184
    • ดูรายละเอียด

จากการประชุมวิชาการประจำปีส่วนภูมิภาค ของสมาคมแพทย์อุบัติเหตุแห่งประเทศไทย วันที่ 4-6 มกราคม 2560 ณ เดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน ชลบุรี มีข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับอุบัติเหตุโดยเฉพาะเรื่องของการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือต่อสมอง

เป็นที่ทราบกันดีว่า การบาดเจ็บที่ศีรษะ(โดยเฉพาะบาดเจ็บต่อสมอง)มีความสูญเสียอย่างมากทั้งอัตราตายที่สูง ความพิการทุพพลภาพทั้งชั่วคราวและถาวร มีการสูญเสียทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างมากมาย เฉพาะแค่อุบัติเหตุทางถนน ปีๆหนึ่งก็มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2 หมื่นคน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก) ประมาณ 66 เปอร์เซ็นต์ มีสาเหตุจากอุบัติเหตุจากรถจักรยานยนต์ และในจำนวนนี้มากกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ เสียชีวิตจากบาดเจ็บที่ศีรษะ(ข้อมูลจากบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ)

มีผู้ที่เสียชีวิตจากการถูกทำร้ายประมาณ 3 พันคนต่อปี (รายงานประจำปี 2558 สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข) อวัยวะที่ได้รับการบาดเจ็บจากการถูกทำร้ายสูงสุด คือ ศีรษะ นอกจากนี้การพลัดตกหกล้มก็มีผู้เสียชีวิตประมาณปีละ 2 พันคน

ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ(ไม่ว่าจากสาเหตุใด อุบัติเหตุทางถนน ถูกทำร้าย พลัดตกหกล้ม หรือทำร้ายตัวเอง) ที่มีเลือดออกภายในกะโหลกศีรษะและสมอง หากมีปริมาณเลือดมากหรือสมองบวมมาก จนทำให้มีการกดเบียดก้านสมอง(brain herniation) จำเป็นต้องได้รับการผ่าตัดสมองโดยด่วน การผ่าตัดภายในเวลาที่เหมาะสมจะช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บได้ หากล่าช้าออกไปจะทำให้มีอัตราตายและความพิการสูง

ในส่วนภูมิภาคทั้ง 76 จังหวัด มีแพทย์ผ่าตัดสมอง(ประสาทศัลยแพทย์)เพียง 56 จังหวัด อีก 20 จังหวัดยังไม่มี ดังนั้นหากมีผู้บาดเจ็บที่จะต้องได้รับการผ่าตัดสมองโดยด่วนในจังหวัดเหล่านี้ ก็จะต้องส่งตัวผู้บาดเจ็บนั้นไปยังจังหวัดใกล้เคียงที่มีขีดความสามารถในการผ่าตัดสมองได้ ซึ่งจะต้องใช้เวลา
(จังหวัดที่ยังไม่มีประสาทศัลยแพทย์ - แม่ฮ่องสอน, พะเยา, น่าน, สุโขทัย, กำแพงเพชร, อุทัยธานี, ชัยนาท, สิงห์บุรี, อ่างทอง, หนองบัวลำภู, บึงกาฬ, กาฬสินธุ์, มุกดาหาร, ศรีสะเกษ, อำนาจเจริญ, ตราด, ระนอง, พังงา, สตูล และปัตตานี)

มี 28 จังหวัดที่มีประสาทศัลยแพทย์เพียง 1-2 คน ซึ่งอาจไม่สามารถอยู่เวรได้ตลอดเวลา ทุกวัน ทั้งปีได้ อาจมีบางเวลา บางวันที่ผู้บาดเจ็บที่จะต้องได้รับการผ่าตัดสมองถูกส่งตัวไปจังหวัดอื่นอีกเช่นกัน
(จังหวัดที่มีประสาทศัลยแพทย์ 1-2 คน - ลำพูน, แพร่, ตาก, เพชรบูรณ์, พิจิตร, ลพบุรี, ปทุมธานี, กาญจนบุรี, ราชบุรี, เพชรบุรี, สมุทรสงคราม, สมุทรปราการ, นครนายก, ปราจีนบุรี, สระแก้ว, เลย, หนองคาย, นครพนม, ชัยภูมิ, มหาสารคาม, ยโสธร, สุรินทร์, ชุมพร, กระบี่, นครศรีธรรมราช, พัทลุง, ยะลา และนราธิวาส)

ในจังหวัดที่มีประสาทศัลยแพทย์ตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ซึ่งสามารถจัดเวรได้ตลอดทุกวันตลอดทั้งปี (28 จังหวัด)เรื่องระยะทางในแต่ละอำเภอไปยังตัวจังหวัด ก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่จะเป็นเหตุให้ผู้บาดเจ็บได้รับการผ่าตัดสมองในเวลาที่ไม่เหมาะสมได้ หากอำเภอใดใช้เวลาเฉพาะการเดินทาง มากกว่า 1ชั่วโมง (ไม่รวมเวลาในการประสานระหว่างโรงพยาบาล และเวลาเตรียมการที่จำเป็นอื่นๆ)

ประเมินคร่าวๆได้ว่า เกือบหนึ่งในสี่ของประชาชนในส่วนภูมิภาค(ไม่รวมกรุงเทพมหานคร) ที่ไม่สามารถเข้าถึงการผ่าตัดสมองได้ในเวลาที่มีความจำเป็นเร่งด่วน นั่นคือ การขาดโอกาสที่สำคัญ โอกาสที่จะมีชีวิตรอด โอกาสที่จะไม่กลายเป็นผู้พิการทุพพลภาพ

https://www.facebook.com/praditc/media_set?set=a.1381673211883983.1073741864.100001239514505&type=3&uploaded=7