ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อต้องอยู่กับ "พ่อแม่สูงอายุ" อารมณ์ร้าย!  (อ่าน 1379 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 เป็นปัญหาที่เชื่อว่าหลาย ๆ บ้านคงเกิดอาการหนักใจไม่น้อย เมื่อต้องอยู่กับพ่อแม่สูงอายุเจ้าอารมณ์ หรืออารมณ์ร้ายจนเรื่องบางเรื่องอาจบานปลายกลายเป็นสงครามน้ำลายสาดใส่กันระหว่างพ่อแม่ และลูกหลานได้ ซึ่งหากเกิดขึ้นบ่อย ๆ เป็นไปได้ที่จะแหวกช่องว่างทางความสัมพันธ์ให้กว้างออกไปอีก และยากที่จะอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
       
       เกี่ยวกับความเจ้าอารมณ์ หรืออารมณ์ร้ายของพ่อแม่สูงอายุ พญ.สิรินทร ฉันศิริกาญจน หัวหน้าหน่วยเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และนายกสมาคมผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมแห่งประเทศไทย บอกว่า เกิดขึ้นได้จาก 2 สาเหตุหลัก คือ พ่อแม่ที่ประสบเหตุไม่พึงพอใจ ถูกทอดทิ้ง หรือถูกกระทำอย่างไม่เหมาะสมทางด้านการเงิน และการใช้คำพูด และอีกสาเหตุหนึ่งคือ การป่วยหรือภาวะผิดปกติ เช่น โรคซึมเศร้า สมองเสื่อม ความเจ็บปวด และการสื่อสารขัดข้อ
       
       "ส่วนมากแล้ว สาเหตุที่ผู้สูงอายุอารมณ์ร้าย เพราะลูกหลานทำให้ท่านรู้สึกว่าไม่มีความหมายทั้งที่ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม ซึ่งหลักการนี้ใช้วิเคราะห์สถานการณ์ในสิ่งที่มีชีวิตทุกชนิด ถ้ามองดูง่าย ๆ สัตว์เลี้ยงของเราหรือเด็ก ๆ ถ้าเติบโตขึ้นมาในสิ่งแวดล้อมที่ดีไม่ถูกรังแกและรู้สึกว่าเขามีคุณค่าก็จะทำให้เขาเป็นคนอารมณ์ดี แต่ถ้าถูกเพิกเฉย หรือไม่สนใจก็จะกลายเป็นอีกแบบหนึ่ง" พญ.สิรินทรขยายความ
       
       นอกจากนี้ ผู้สูงอายุมีโลก และมีสิ่งแวดล้อมของท่าน แต่สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้กำลังเลื่อนลอยหายไปทุกที เห็นได้จากเพื่อนฝูงก็ลดน้อยลง ยิ่งไม่ได้รับรู้ถึงความรู้สึกดี ๆ ที่ลูกหลานมีให้ด้วยแล้ว ก็อาจแสดงอารมณ์รุนแรงออกมาได้
       
       "อย่าลืมว่าถ้าคนมีสุขภาพดี อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คุ้นเคยและเป็นมิตร มีความมั่นใจในสถานภาพของตน ชีวิตจะมีความหมายเพราะตื่นมาทุกวันก็พบกับความสดใส และรู้สึกถึงการรับรู้ว่ามีตัวตนอยู่ในบ้านก็เป็นไปได้ยากที่ท่านจะอารมณ์เสีย แต่ในทางกลับกัน ถ้าท่านไม่เคยรับรู้ถึงการยอมรับฟัง ถูกทิ้งให้อยู่ในสิ่งแวดล้อมเดิม ๆ กับความคิดและเหตุผลเดิม ๆ ทำให้ยากที่จะเข้าใจอะไรโดยง่าย และในที่สุดก็จะถูกกล่าวหาว่าดื้อ ไม่เข้าใจ พูดไม่รู้เรื่อง ยิ่งลูกหลานรุกเร้าและแสดงท่าที่ว่ามีข้อมูลมากกว่า รู้ดีกว่า และถึงจุดที่จะต้องตัดสินใจ เหล่าลูกหลานก็พยายามจะบอกพวกท่านให้ทำตามความคิดที่ดีสุดในความเห็นของพวกตัวเอง เป็นไปได้อย่างมากว่าท่านจะเกิดการต่อต้านด้วยวาจา และอาจแสดงการขัดขืนในรูปแบบอื่น ๆ ตามมาได้" พญ. สิรินทรเผย
       
       ดังนั้น การอยู่ร่วมกับพ่อแม่สูงวัยอารมณ์ร้าย เราต้องเข้าใจ และไม่ไหลไปตามอารมณ์ของท่าน โดย พญ.สิรินทร ได้ให้แนวทางในการช่วยลดปัญหาอารมณ์ร้ายอย่างเป็นรูปธรรม ดังต่อไปนี้
       
       - ควรพูดคุยกับท่านให้มากขึ้น เล่าสถานการณ์ต่าง ๆ ให้ฟัง ขอความคิดเห็นจากท่านในเรื่องต่าง ๆ ถ้าความเห็น "ไม่เข้าท่า" หรือ "พูดแต่เรื่องเดิมๆ" ก็ไม่ต้องไปวิจารณ์ แต่ควรแสดงท่าทีเข้าใจในความคิด ไม่ควรพูดโพล่งไปว่า “เป็นไปไม่ได้” โดยอาจจะเลี่ยงไปเป็น "ความคิดดูดีนะคะแต่อาจจะเป็นไปได้ยากแต่ไม่เป็นไรเราลองดูก่อนก็ได้ว่าจะทำอะไรได้บ้าง" จากนั้นค่อย ๆ บอกปัญหาทีละอย่าง ไม่ต้องไล่เรียงด้วยมาดนักวิชาการ เพราะการบอกปัญหา 1....2....3...ให้ท่านฟังในทีเดียว มันยากสำหรับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะผู้สูงอายุที่จะเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อนได้รวดเดียว
       
       - เอาใจใส่ชีวิตประจำวันของท่านให้มากขึ้น เช่น ถามไถ่ท่านว่า ทานข้าวหรือยัง กับข้าวอร่อยไหม น้ำหนักตัวเหมือนเดิมหรือเปล่า นึกอยากกินอะไรหรืออยากไปเยี่ยมใครบ้างหรือเปล่า ระบบการขับถ่ายเป็นอย่างไร (เรื่องระบบการขับถ่ายนี้เป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่สนใจจริง ๆ ถ้าถามเรื่องนี้ล่ะก็ คุณจะมีข้อสนทนาไปอีกหลายประโยคเลยทีเดียว)

       - หากิจกรรมต่าง ๆให้ท่านทำ ซึ่งคนแต่ละคนมีความสนใจไม่เหมือนกัน ลูกหลานต้องดูในภาพรวมว่าท่านมีความสุขกับอะไรแล้วทำให้เกิดกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านั้นขึ้น เช่น พ่อทำกับข้าวเก่งแต่เลิกราไปนานแล้ว อาจช่วยกันหารายการอาหารและวิธีทำทางอินเตอร์เน็ทแล้วตกลงกันว่าจะทานกันวันไหนบ้าง ไม่ต้องทำทุกวันก็ได้ โดยกิจกรรมแต่ละอย่างนั้นอย่าให้หนักจนเกินไป พยายามช่วยในสิ่งที่อาจจะเกินกำลังของท่าน แต่ต้องไม่ให้ท่านรู้สึกด้อยค่าเพราะการช่วยเหลือของเราด้วย
       
       อย่างไรก็ดี วิธีที่จะช่วยลดปัญหาเจ้าอารมณ์ และอารมณ์ร้ายของท่านในระยะยาวนั้น พญ.สิรินทรบอกว่า ต้องสร้างความมั่นใจให้ท่านเชื่อว่า ลูกหลานยังเห็นเขาเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ไม่ใช่เฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้านหรือส่วนเกินอย่างที่หลาย ๆ คนทำ เช่น เห็นผู้สูงอายุยังเดินเหินได้ ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ จึงทำเป็นไม่สนใจ หรือไม่หาโอกาสเข้าไปพูดคุยกับท่านบ้าง เป็นไปได้ที่พ่อแม่ผู้สูงอายุอาจแสดงอารมณ์น้อยใจ และบางรายอาจแสดงอารมณ์รุนแรงออกมาได้
       
       สำหรับบางบ้านที่พ่อแม่สูงวัยมีอาการป่วย เช่น มีภาวะซึมเศร้า หรือมีภาวะสมองเสื่อม ซึ่งบางครั้งอาจมีปัญหาทางด้านอารมณ์อยู่บ้าง คุณหมอท่านนี้บอกว่า ลูกหลานต้องระลึกไว้เสมอ ๆ ว่า ท่านป่วย ท่านต้องการความช่วยเหลือ และความเข้าใจ การไปตำหนิ หรือหงุดหงิดใส่ท่าน เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
       
       "ในประสบการณ์ของหมอเองพบว่า ลูกหลานปรับตัวยากมาก ๆ เมื่อเผชิญกับผู้สูงอายุที่ป่วยในทางจิตใจ และความสามารถสมองที่เข้าใจสิ่งต่าง ๆไม่เป็นปกติ อย่าว่าแต่คนป่วยเลย เราท่านทั้งหลายน่าจะเคยพบเจอคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรานี่แหละในที่ทำงานของเราทำตัวแปลก ๆ และยากที่จะเข้าใจมีทั้งก้าวร้าวเอาแต่ใจ ไม่ลดละโอกาสที่จะด่าว่าคนอื่น ๆ ส่วนใหญ่เราก็พยายามจะเข้าใจคนพวกนี้และทำงานร่วมกันกับเขา แล้วคนสูงอายุที่บ้านล่ะ ทำไมท่านไม่ได้โอกาสอย่างนี้บ้าง ทำไมลูกหลานถึงไปต่อปากต่อคำหรือทำให้ท่านเสียใจด้วย"
       
       ดังนั้น ถ้ากำลังมีปัญหาเหล่านี้อยู่ พญ.สิรินทร แนะนำว่า อันดับแรกควรมีสติ อย่าด่วน หยุดคำพูดเผ็ดร้อนและท่าทางทั้งหลายที่แสดงออกมาด้วยการต่อปากต่อคำ ถ้าลำบากมากที่จะหยุดตัวเอง อาจจะต้องเตรียมใครสักคนเพื่อคอยเตือนสติ
       
       "ไม่มีพ่อแม่คนไหนอยากจะทะเลาะกับลูกหลานหรอก เขาต้องมีความกดดันอื่น ๆ อยู่ในใจและส่วนใหญ่ลูกหลานนั่นแหละคือต้นเหตุที่สำคัญ ก่อนจะว่าว่าท่านอารมณ์เสีย หรือขี้หงุดหงิด ควรหันกลับมามองดูตัวเองก่อนว่าเรามีส่วนทำอะไรให้ท่านเป็นอย่างนั้นหรือไม่ อย่ามองด้านเดียวให้มองทั้งตัวเราและมองผู้อื่นด้วยความอ่อนน้อมถ่อมตนให้มาก" พญ.สิรินทรสรุปทิ้งท้าย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    23 พฤศจิกายน 2554