ผู้เขียน หัวข้อ: ห่วง!! วัยรุ่นเสพ “ทรามาดอล” จนต้องรับการบำบัดเพิ่มขึ้น  (อ่าน 606 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
กรมการแพทย์เผย วัยรุ่นติดยา “ทรามาดอล” จนต้องเข้ารับการบำบัดเพิ่มมากขึ้น จาก 9 ราย ในปี 58 เพิ่มเป็น 46 ราย ในปี 59 ชี้ทำให้ร่างกายและจิตใจติดได้ เหตุมีฤทธิ์เช่นเดียวกับฝิ่น เฮโรอีน
       
       นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีวัยรุ่นนิยมนำยาแก้ปวด “ทรามาดอล” หรือที่เรียกว่า “ยาเขียวเหลือง” มาเสพ ว่า ทรามาดอลเป็นยาแก้ปวดในกลุ่มโอพิออยด์ ออกฤทธิ์เหมือนมอร์ฟีน พบว่า มีการลักลอบขายยาชนิดนี้ให้แก่เด็กวัยรุ่นเพื่อใช้ในทางที่ผิด ทั้งการเสพแบบยาเดี่ยว และผสมกับเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งผสมกับน้ำใบกระท่อม และยาต่างๆ เช่น ยานอนหลับ ยาแก้ไอ ยาแก้แพ้อากาศ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “สี่คูณร้อย” จากข้อมูลของสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ พบว่า มีผู้ป่วยที่ติดยาทรามาดอล ปี 2557 มีจำนวน 5 ราย ปี 2558 มีจำนวน 9 ราย และปี 2559 เพิ่มขึ้นเป็น 46 ราย เช่นเดียวกับผู้ป่วยที่ติดยาชนิดสี่คูณร้อย ปี 2557 มีจำนวน 50 ราย ปี 2558 มีจำนวน 80 ราย และปี 2559 มีจำนวน 114 ราย จะเห็นได้ว่า สถิติผู้เข้ารับการบำบัดรักษาจากทั้ง 2 กรณี มีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปี
       
       สำหรับยาทรามาดอลในทางการแพทย์ใช้รักษาอาการปวดในระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก มีขนาด 50 มิลลิกรัม และ 100 มิลลิกรัม ซึ่งขนาดที่ร่างกายสามารถรับได้ในปริมาณสูงสุดไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวัน และมีผลข้างเคียง เช่น อาเจียน มือสั่น ใจสั่น มึนงง ง่วงซึม ประสาทหลอน เป็นต้น หากได้รับยาในปริมาณสูงตั้งแต่ 500 มิลลิกรัม (10 เม็ด) ขึ้นไป จะเกิดอาการรุนแรง เช่น ชัก ไข้สูง ภาวะกล้ามเนื้อตาย สลาย ภาวะลิ่มเลือดกระจายในหลอดเลือด ไตวายเฉียบพลัน และอาจเสียชีวิตได้
       
       “ยาทรามาดอลสามารถทำให้เสพติดได้ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ เนื่องจากยามีฤทธิ์เช่นเดียวกับสารเสพติดประเภทฝิ่น เฮโรอีน หากนำไปใช้ในทางที่ผิด สามารถทำให้ติดได้ และเมื่อใช้ในระยะยาวจะมีผลสะสมต่อสมอง ทำให้สมองเสื่อมและร่างกายทรุดโทรม ควรใช้ยานี้อย่างระมัดระวังตามแพทย์สั่ง ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตบุตรหลาน ทั้งนี้ หากไม่สามารถหยุดยาได้เองสามารถปรึกษาสายด่วนยาเสพติด 1165 หรือขอรับคำปรึกษาและบำบัดรักษาได้ที่สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กรมการแพทย์ และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในภูมิภาค 6 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา และ ปัตตานี” อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าว


โดย MGR Online       29 ธันวาคม 2559