ผู้เขียน หัวข้อ: อุบัติเหตุปีใหม่ “ฉุกเฉินวิกฤต” เข้าได้ทุก รพ. สปสช.ย้ำอย่ามุ่งเข้าแต่ รพ.เอกชน  (อ่าน 558 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด
รมว.สธ.ย้ำ ดื่ม - เมาไม่ขับ ป้องกันอุบัติเหตุ ด้าน สปสช. ชี้ เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตใช้สิทธิ “รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” ได้ แต่อย่ามุ่งเข้าแต่ รพ.เอกชน เผย หากไม่วิกฤตแนะเข้า รพ.รัฐ ไว้ก่อน เหตุมีระเบียบเบิกจ่ายกำหนดไว้ ตามมาตรา 7 พ.ร.บ. หลักประกันฯ กรมควบคุมโรคร่วมเดินหน้าตั้งด่านชุมชน สกัดปัจจัยเสี่ยงอุบัติเหตุ พร้อมตรวจตราทำผิดกฎหมายเหล้า
       
       วันนี้ (28 ธ.ค.) นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า เทศกาลปีใหม่ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพตัวเองให้ดี ย้ำว่า ดื่มไม่ขับ เมาไม่ขับ โดยเฉพาะหากขี่รถจักรยานยนต์ขอให้สวมหมวกกันน็อก อย่างไรก็ตาม หากเกิดอุบัติเหตุ สธ. มีระบบรองรับ ซึ่งเรื่องเจ็บป่วยฉุกเฉินอย่างช่วงสงกรานต์ปี 2559 ที่ผ่านมา สธ. ก็สามารถจัดบริการรองรับได้เป็นอย่างดี ปีใหม่ 2560 นี้ก็เช่นกัน

อุบัติเหตุปีใหม่ “ฉุกเฉินวิกฤต” เข้าได้ทุก รพ. สปสช.ย้ำอย่ามุ่งเข้าแต่ รพ.เอกชน
        ด้าน ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ โฆษกสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาวปีใหม่ ซึ่งมีการเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนาจำนวนมาก สำหรับประชาชนสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสิทธิบัตรทองนั้น หากในระหว่างที่เดินทางไปต่างจังหวัด และมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาลแบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1. กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤตที่หากไม่รักษาทันทีมีโอกาสเสียชีวิตสูง สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ที่สถานพยาบาลทุกแห่งที่อยู่ใกล้สุด ตามนโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉิน รักษาทุกที่ ดีทุกสิทธิ” และให้สถานพยาบาลที่ให้การรักษาเบิกค่าใช้จ่ายจาก สปสช. ตามอัตราที่กำหนด แต่ไม่ใช่ว่ามุ่งเจาะจงไปเข้าสถานพยาบาลเอกชน ขณะที่มีสถานพยาบาลรัฐอยู่ใกล้ หากเป็นแบบนี้ก็ไม่เข้าเกณฑ์การใช้สิทธิ ดังนั้น จึงขอแนะนำว่าเบื้องต้นให้เข้ารักษาที่สถานพยาบาลรัฐไว้ก่อน
       

       2. กรณีเจ็บป่วยที่ไม่ใช่กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินระดับวิกฤต หรือผู้มีสิทธิบัตรทองที่เดินทางไปต่างถิ่น แล้วมีความจำเป็นต้องเข้ารักษาที่ รพ. เช่น ความดันโลหิตขึ้นสูง ปวดศีรษะมาก ท้องเสียรุนแรง ซึ่งเป็นอาการเจ็บป่วยที่ยังไม่ถึงขั้นฉุกเฉินถึงแก่ชีวิต กรณีนี้จะเป็นไปตามข้อบังคับ สปสช. ว่าด้วยการใช้สิทธิรับบริการสาธารณสุข กรณีที่มีเหตุสมควร กรณีอุบัติเหตุ หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 ซึ่งระบุว่า ผู้ป่วยสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง หากมีเหตุสมควร หรือกรณีอุบัติเหตุฉุกเฉิน หรือกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลอื่นได้ ซึ่งสถานพยาบาลอื่นนั้น หมายถึงสถานพยาบาลที่ไม่ได้ลงทะเบียนประจำไว้ และสถานพยาบาลที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 7 พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 และเช่นเดียวกัน คือ แนะนำให้เข้าสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ใกล้ที่สุดไว้ก่อน ไม่ใช่มุ่งเจาะจงเข้าสถานพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราการเบิกจ่ายตามระเบียบที่กำหนดไว้
       
       “เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมและเพิ่มความสะดวกในการเข้ารับบริการรักษาพยาบาลฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้นได้ นอกจากการเตรียมหลักฐานสำคัญ คือ บัตรประจำตัวประชาชนแล้ว ยังควรศึกษาข้อมูลหน่วยบริการที่อยู่ในพื้นที่ระหว่างเดินทางและจุดหมายปลายทาง เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญของการเข้ารับการรักษาพยาบาลยังหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุดโดยเร็วได้ เพื่อเป็นความไม่ประมาท ในส่วนของประชาชนที่เจ็บป่วยด้วยโรคประจำตัวที่ต้องรับประทานยาต่อเนื่อง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหอบหืด เป็นต้น ควรเตรียมพร้อมยารักษาโรคเพื่อให้เพียงพอสำหรับการเดินทาง” ทพ.อรรถพร กล่าว
       
       นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักงานป้องกันควบคุมโรค (สคร.) ทุกแห่งทั่วประเทศ ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ร่วมกับพื้นที่ โดยเฉพาะ “ด่านชุมชน” ที่มีบทบาทสำคัญในการป้องกันอุบัติเหตุในช่วงดังกล่าว โดยสกัดกั้นผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ทั้งเมาสุรา ไม่สวมหมวกนิรภัย และเตือนให้ปฏิบัติตามกฎจราจร ทั้งบนถนนชนบทและก่อนออกสู่ถนนทางหลวง ซึ่งมาตรการด่านชุมชนนี้ เกิดจากการทำข้อตกลงหรือประชาคมหมู่บ้าน มีผู้ปฏิบัติจากหน่วยงานในชุมชนเอง เช่น ผู้นำชุมชน อบต./เทศบาล รพ.สต. อสม. อปพร. และกลุ่มอาสาสมัครอื่นๆ โดยใช้หลัก 3 ต. ดังนี้

1. ต.เตรียม เตรียมความพร้อมสร้างมาตรการชุมชน
2. ต.ตั้ง ตั้งด่านชุมชน สกัดกลุ่มเสี่ยง เลี่ยงอุบัติเหตุ และ
3. ต.ติดตาม ติดตามตรวจสอบมุ่งสู่ความสำเร็จ และให้ออกตรวจเตือน/ประชาสัมพันธ์ และบังคับใช้กฎหมายร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ก่อนเทศกาล และในช่วงเทศกาลให้มีการดำเนินการอย่างเข้มข้นโดยการบังคับใช้กฎหมายทั่วประเทศ โดยเฉพาะการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ต้องห้าม คือ สถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ รวมทั้งการขายให้กับเด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี

โดย MGR Online       28 ธันวาคม 2559