ผู้เขียน หัวข้อ: รีบเช็กเลย ประกันสังคมให้สิทธิ “ตรวจสุขภาพฟรี” เริ่ม 1 ม.ค.นี้  (อ่าน 973 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 ประกันสังคมเตรียมเพิ่มสิทธิ “ตรวจสุขภาพฟรี” ให้แก่ผู้ประกันตน เผย อยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาด ดีเดย์วันที่ 1 ม.ค. 2560 ย้ำตรวจสุขภาพได้ที่ รพ. ตามสิทธิ และตรวจได้เฉพาะรายการตามความเหมาะสมของอายุและรายการที่จำเป็น
       
       วันนี้ (22 ธ.ค.) นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงการเพิ่มสิทธิประโยชน์การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคของผู้ประกันตน ว่า สปส. เล็งเห็นความสำคัญของการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน เนื่องจากเป็นสิทธิที่ควรได้รับ และจากมาตรา 63(2) เรื่องการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตน ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมฉบับแก้ไขนั้น ล่าสุด สปส. ได้จัดทำข้อกำหนดในการตรวจสุขภาพของผู้ประกันตนกว่า 12 ล้านคนแล้วเสร็จ ทางคณะกรรมการการแพทย์ได้ลงนามแล้ว โดยอยู่ระหว่างประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งกำหนดไว้ว่ามีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2560
       

       นพ.สุรเดช กล่าวว่า สำหรับสิทธิประโยชน์การให้บริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้กำหนดให้ผู้ประกันตนทุกคน เข้ารับบริการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการตรวจสุขภาพได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องรับบริการในโรงพยาบาลตามสิทธิที่ผู้ประกันตนได้เลือกเอาไว้ เบื้องต้นในปีแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,500 - 1,800 ล้านบาท โดยผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการตรวจสุขภาพนั้น จะสามารถตรวจสุขภาพพื้นฐานได้ อาทิ ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ ตรวจการทำงานของไต เพื่อค้นหาปัจจัยเสี่ยง ภาวะผิดปกติ หรือโรค ซึ่งนำไปสู่การป้องกันการส่งเสริมสุขภาพของผู้ประกันตน หรือหากพบความผิดปกติจะได้รับการบำบัดรักษาตั้งแต่ระยะแรกตามรายการ และหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการแพทย์กำหนด ซึ่งจะดูตามอายุ และความจำเป็น อาทิ การตรวจเต้านมโดยแพทย์ หรือบุคลากรสาธารณสุข ผู้ประกันตนอายุ 30 - 39 ปี ตรวจได้ทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 40 - 54 ปี ตรวจได้ทุกปี หรือการตรวจน้ำตาลในเลือด อายุ 35 - 54 ปี ตรวจทุก 3 ปี แต่ถ้าอายุ 55 ปีขึ้นไป ตรวจได้ 1 ครั้งต่อปี หรือการเอกซเรย์ทรวงอก Chest x-ray ได้ปีละ 1 ครั้งอายุ 15 ปีขึ้นไป เป็นต้น



โดย MGR Online       22 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
คปค. ท้วงสิทธิตรวจสุขภาพฟรี “ประกันสังคม” ด้อยกว่าบัตรทอง มีการกำหนดจำกัดอายุ เตรียมหารือกลุ่มเครือข่ายแรงงาน วันที่ 24 ธ.ค. ก่อนเสนอต่อ สปส. วันที่ 26 ธ.ค. พร้อมขอเพิ่มเงินค่าปลงศพ และเงินขาดรายได้แก่แรงงานนอกระบบ
       

       วันนี้ (23 ธ.ค.) นายมนัส โกศล ประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่ม “สิทธิตรวจสุขภาพฟรี” ตามมาตรา 63(2) พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 ม.ค. 2560 ว่า ตนมองว่า สิทธิดังกล่าวยังมีปัญหาเรื่องสิทธิด้อยกว่าบัตรทอง เช่น การตรวจเอกซเรย์ทรวงอก สิทธิบัตรทองไม่ได้กำหนดอายุ แต่ดูตามความจำเป็น ขณะที่ สปส. กลับระบุอายุไว้ว่าต้อง 15 ปีขึ้นไป ซึ่งตรงนี้เรามองว่า ผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบ ไม่น่าจะต้องมาถูกจำกัดเช่นนี้ เป็นต้น ทั้งนี้ คปค. จะร่วมกับกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ เครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข และ สภาพัฒนาแรงงาน จัดประชุมหารือกรณีการตรวจสุขภาพฟรีดังกล่าว ในวันที่ 24 ธ.ค. ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ จะมีการถกกันว่า ควรมีสิทธิตรวจสุขภาพอย่างไร เพื่อให้เท่าเทียมกับกองทุนบัตรทอง และจะเสนอต่อ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. ในการหารือร่วมกันวันที่ 26 ธ.ค. นี้
       
       นายมนัส กล่าวว่า มาตรา 63(2) อนุบัญญัติ 7 ของ พ.ร.บ. ประกันสังคมฯ ยังมีกรณีเยียวยาผลกระทบจากการบริการทางการแพทย์ ซึ่งสิทธิบัตรทองมีเยียวยาช่วยเหลือเบื้องต้น 240,000 บาท สูงสุด 400,000 บาท แต่ประกันสังคมยังไม่ออกระเบียบมารองรับจุดนี้ ทำให้ทุกวันนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีการเยียวยาผู้ประกันตนกรณีได้รับผลกระทบทางการแพทย์ด้วยหรือไม่ นอกจากประเด็นตรวจสุขภาพแล้ว ในเรื่องผู้ประกันตนที่เป็นแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ซึ่งปัจจุบันมีอยู่กว่า 2 ล้านคนนั้น จะมีข้อเสนอให้เพิ่มสิทธิ อย่างค่าปลงศพได้ที่ 20,000 บาท ให้เพิ่มเป็น 40,000 บาท เทียบเท่ากับผู้ประกันตนทั่วไปตามมาตรา 33 และขอให้เพิ่มเงินขาดรายได้จากเดิม 200 บาทต่อวันเป็น 300 บาทต่อวัน ทั้งหมดจะมีการรวบรวมและเข้าหารือกับเลขาธิการ สปส. ในวันที่ 26 ธ.ค. นี้

โดย MGR Online       23 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
สปส. ยันให้สิทธิตรวจสุขภาพฟรี ไม่ทำให้นายจ้างยกเลิกสวัสดิการตรวจสุขภาพประจำปี ชี้ มีกฎหมายกำหนดในบางกิจการ เผย แพกเกจต่างกัน หากบางรายการซ้ำสามารถเลือกตรวจได้ ย้ำกำหนดอายุตรวจสุขภาพ ยึดตามเกณฑ์วิชาการ ความเหมาะสม และความคุ้มค่า
       

       นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวถึงข้อกังวลการให้สิทธิผู้ประกันตนตรวจสุขภาพฟรี อาจส่งผลให้สถานประกอบการยกเลิกการจัดตรวจสุขภาพประจำปี ว่า การจัดตรวจสุขภาพประจำปีของสถานประกอบการนั้น มีกฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่า ในกิจการบางประเภทต้องจัดตรวจสุขภาพประจำปีให้แก่พนักงานหรือลูกจ้าง จึงไม่ต้องกังวลว่าสถานประกอบการจะยกเลิกการตรวจสุขภาพประจำปี นอกจากนี้ แพกเกจการตรวจสุขภาพประจำปีของสถานประกอบการและของสิทธิประกันสังคมก็มีความแตกต่างอยู่ อาจมีเฉพาะบางเรื่องเท่านั้นที่มีการตรวจตรงกัน แต่ก็ไม่ถือว่าเป็นปัญหา หากมีรายการตรวจสุขภาพที่เหมือนกันในรายการใด ผู้ประกันตนก็สามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิตรวจสุขภาพรายการนั้นจากสิทธิประกันสังคม หรือสวัสดิการของสถานประกอบการ ซึ่งหากเลือกใช้สิทธิตรวจของสถานประกอบการก็เท่ากับว่าไม่ได้ใช้สิทธิของประกันสังคม ซึ่งก็สามารถเก็บไว้ใช้ได้ หากมีการเปลี่ยนงาน หรือเปลี่ยนนายจ้าง แล้วจำเป็นต้องตรวจ หรือหากเลือกใช้สิทธิของประกันสังคมก็อาจไม่ต้องตรวจรายการที่ซ้ำของทางสถานประกอบการ ก็ถือเป็นการประหยัดค่าตรวจได้อีกทางหนึ่ง
       
       นพ.สุรเดช กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สิทธิตรวจสุขภาพฟรีของประกันสังคม มีการกำหนดอายุว่าแต่ละช่วงวัยสามารถตรวจสุขภาพรายการใดได้บ้าง ไม่ได้ปล่อยให้สามารถตรวจสุขภาพอะไรก็ได้นั้น เพราะว่ามีการพิจารณาตามความเหมาะสมของการตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงอายุแล้ว ว่าแต่ละช่วงวัยมีความเหมาะสมที่จะต้องตรวจสุขภาพ หรือเฝ้าระวังโรคอะไร ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์ทางวิชาการ โดยใช้แนวทางของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาเป็นเกณฑ์ รวมถึงพิจารณาในเรื่องของความคุ้มทุนด้วย เพราะหากไม่มีการกำหนด สามารถตรวจสุขภาพในเรื่องใดก็ได้นั้น เมื่อตรวจสุขภาพไปแล้วก็อาจได้ผลน้อย เช่น คนที่อายุน้อยขอตรวจสุขภาพในรายการที่เหมาะสมกับคนที่อายุมากกว่าก็อาจไม่ได้ประโยชน์ และไม่คุ้มค่า จึงต้องมีการกำหนดช่วงอายุดังกล่าวไว้เป็นเกณฑ์

โดย MGR Online       24 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
 เครือข่ายแรงงานยื่น 5 ข้อเสนอปฏิรูปประกันสังคม ย้ำสิทธิตรวจสุขภาพฟรีไม่ควรจำกัดอายุ เพิ่มตรวจช่องปาก - ฝากครรภ์ในสิทธิตรวจสุขภาพ ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ฯ ห่วง รพ.เล็ก ตรวจไม่ได้ตามรายการที่ สปส. กำหนด ต้องส่งแล็บภายนอก เพิ่มภาระ รพ.
       
       จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลตามสิทธิ เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2560 โดยแบ่งรายการตรวจตามช่วงอายุและความจำเป็น ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 63 (2) พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ซึ่งกลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิ โดยเมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมร่วมกับเครือข่ายแรงงานกว่า 40 กลุ่ม เพื่อยื่นข้อเสนอการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ในหลายๆ เรื่อง
       
       วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ และเครือข่ายแรงงานอื่นๆ นำโดย นายมนัส โกศล ประธาน คปค. ทพญ.มาลี วันทนาศิริ ผู้ประสานงานเครือข่าย ฟ.ฟันสร้างสุข เดินทางมาพบ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพื่อหารือและติดตามความคืบหน้าในการปฏิรูประบบประกันสังคม พร้อมยื่นข้อเสนอ 5 เรื่องโดยเฉพาะกรณีสิทธิตรวจสุขภาพฟรี
       
       นายมนัส กล่าวว่า จากการหารือทางเครือข่ายฯ ไเด้ยื่นข้อเสนอต่อเลขาธิการ สปส. จำนวน 5 ประเด็น คือ 1. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค มาตรา 63 (2) และเงินช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นแก่ผู้ประกันตนกรณีได้รับความเสียหายจากการรับบริการทางการแพทย์ มาตรา 63 (7) โดยกรณีการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ซึ่งมีการจัดตรวจสุขภาพฟรีนั้น มองว่ายังขาดการประสานงานกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ซึ่งมีกฎหมายบังคับให้กิจการบางประเภทที่มีความเสี่ยงต้องจัดตรวจสุขภาพให้แก่ลูกจ้างอยู่แล้ว และเมื่อพบว่าป่วยก็ต้องดูแลรักษาโดยใช้เงินจากกองทุนเงินทดแทน ซึ่งมีเพดานการเบิกอยู่ที่ 1 ล้านบาท ซึ่งหากเกินเพดานจากนี้ก็ต้องประสานการรักษาจากกองทุนรักษาพยาบาลของประกันสังคม แต่ที่ผ่านมายังขาดการประสานข้อมูลกันในการดูแลความต่อเนื่องการรักษาของผู้ประกันตน สำหรับสิทธิตรวจสุขภาพฟรีนั้นยืนยันว่าไม่ควรมีการกำหนดอายุ เพราะทุกคนมีการจ่ายเงินสมทบเหมือนกันถือเป็นการจำกัดสิทธิ
       
       “นอกจากนี้ ยังขอเสนอให้เพิ่มการตรวจสุขภาพช่องปาก และการฝากครรภ์ ให้อยู่ในสิทธิตรวจสุขภาพฟรีดังกล่าวด้วย เพราะที่ผ่านมาพบว่าในส่วนของผู้ประกันตนนั้นมักไปใช้สิทธิรักษาทันตกรรมช่วงปลายปีก่อนที่จะหมดสิทธิ ทั้งที่อาจไม่ได้มีปัญหาอะไร แต่การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพช่องปากจะช่วยให้ผู้ประกันตนรู้ว่าสุขภาพช่องปากของตัวเองเป็นอย่างไร ต้องรักษาในเรื่องใดบ้าง ขณะที่การฝากครรภ์นั้นมักพบว่า ผู้ประกันตนที่ตั้งครรภ์ไม่ค่อยมาฝากครรภ์เหมือนคนในสิทธิบัตรทอง เพราะต้องเสียเวลาในการทำงานและมีค่าใช้จ่าย จึงอยากเก็บเงินไว้ใช้ในช่วงหลังคลอดมากกว่า การให้สิทธิตรวจสุขภาพครอบคลุมเรื่องการฝากครรภ์ด้วยก็จะช่วยเพิ่มอัตราการฝากครรภ์ได้” นายมนัส กล่าว
       

       นายมนัส กล่าวว่า 2. การเพิ่มและขยายสิทธิประโยชน์สำหรับผู้ประกันตนแรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ให้เท่ากับมาตรา 39 3.ก ารเร่งรัดการออกอนุบัญญัติตาม พ.ร.บ. ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2558 จำนวน 17 ฉบับ 4.สิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมแก่ผู้ประกันตน และ 5. กรณีผู้ประกันตนรับเงินบำนาญชราภาพถูกตัดสิทธิการรักษาจากประกันสังคมไปใช้ระบบบัตรทอง หรือเกษียณอายุไปแล้ว ต้องถูกโอนไปใช้สิทธิรักษาพยาบาลบัตรทองโดยขอให้สามารถเลือกใช้สิทธิรักษาพยาบาลของประกันสังคมต่อได้
       
       รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การเพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรีให้แก่ผู้ประกันตนนั้น ก่อนอื่น สปส. ต้องคุยเรื่องค่าใช้จ่ายรายการตรวจสุขภาพกับแต่ละโรงพยาบาลที่รับผู้ประกันตนก่อน ว่าค่าใช้จ่ายรายการตรวจแต่ละอย่างให้เท่าไร อย่างไร นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลด้วย เพราะอย่างโรงพยาบาลขนาดเล็กอาจไม่สามารถตรวจสุขภาพได้ทุกรายการตามที่ สปส. กำหนด บางแห่งที่ทำไม่ได้อาจต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการ (แล็บ) ภายนอก ซึ่งราคาก็จะสูงเกินกว่าที่ราคาที่ สปส. ให้หรือไม่ ตรงนี้ก็จะกลายเป็นภาระแก่โรงพยาบาลอีก ที่สำคัญคือโรงพยาบาลที่รองรับผู้ประกันตนจำนวนมากหลักเรือนแสนคน จะมีศักยภาพเพียงพอในการรองรับจำนวนคนที่ตรวจหรือไม่
       
       “อย่างโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เรามีการตรวจสุขภาพอยู่แล้ว รวมถึงมีการออกตรวจสุขภาพนอกพื้นที่ เชื่อว่าไม่มีปัญหาในการให้บริการตรวจวุขภาพ เพราะจำนวนผู้ประกันตนของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เองก็อยู่ประมาณ 3 หมื่นกว่าคน อย่างไรก็ตาม นอกจากเรื่องค่าใช้จ่ายแต่ละรายการตรวจที่ต้องชัดเจนแล้ว มองว่าหากตรวจสุขภาพแล้วเจอความผิดปกติ แล้วต้องมีการตรวจอย่างอื่นเพิ่ม ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตรงนี้ สปส. รองรับด้วยหรือไม่ เช่น ตรวจพบความผิดปกติของตับ หรือตรวจเจอนิ่ว ที่จะต้องมีการอัลตราซาวนด์เพิ่ม ค่าใช้จ่ายตรงนี้ สปส. ครอบคลุมหรือไม่ก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน หรือถือว่าเป็นค่ารักษารายหัวที่ สปส. ให้แต่ละโรงพยาบาลก็ต้องกำหนดให้ชัดเจน เพื่อไม่เป็นภาระแก่โรงพยาบาล” รศ.นพ.จิตตินัดด์ กล่าว
       
       นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. กล่าวว่า ข้อเสนอต่างๆ สปส.ยินดีรับไว้พิจารณา อย่างเรื่องตรวจสุขภาพช่องปาก และการฝากครรภ์ มองว่าน่าจะปรับปรุงเพิ่มเติมได้ ส่วนเรื่องผู้ประกันตนที่เกษียณอายุไปแล้ว และอยากให้ สปส. ดูแลรักษาพยาบาลต่อก็ต้องแก้กฎหมาย ซึ่งจะต้องมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อไป ส่วนการกำหนดอายุการตรวจสุขภาพในแต่ละรายการ ย้ำว่าอิงตามข้อมูลวิชาการของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ว่า กลุ่มวัยนั้นจำเป็นตรวจอะไรบ้าง สำหรับการประสานไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญา เพื่อเริ่มสิทธิตรวจสุขภาพฟรี สปส. ได้ทำหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลคู่สัญญาทุกแห่งแล้ว คาดว่า จะได้รับพร้อมกันไม่เกิน 2 วันจากนี้ โดยย้ำว่าค่าใช้จ่ายจะคิดตามรายการจริง ไม่ใช่การเหมาจ่าย ซึ่งงบที่ตั้งไว้ 1,500 - 1,800 ล้านบาท ผ่านการคำนวณตามหลักทางคณิตศาสตร์แล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ รพ. นำเงินไปใช้ โดยไม่มีผู้ประกันตนเข้ารับบริการ

โดย MGR Online       26 ธันวาคม 2559

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด
เครือข่ายแรงงาน ชี้ “ประกันสังคม” เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพอย่างเดียว แต่ยังไร้การส่งเสริมป้องกันโรคอย่างอื่น อาจขัดเจตนารมณ์ กม. ย้ำ ไม่ควรกำหนดอายุการตรวจ แนะระบุให้ชัดเตรวจเจอโรคต้องได้รับการรักษาทันที พร้อมเสนอเลขาธิการ สปส. วันที่ 26 ธ.ค.
       
       จากกรณีสำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิตรวจสุขภาพให้ผู้ประกันตน โดยไม่เสยค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลตามสิทธิ เริ่มวันที่ 1 ม.ค. 2560 โดยแบ่งรายการตรวจตามช่วงอายุและความจำเป็น ซึ่งกลุ่มเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) มองว่าเป็นการจำกัดสิทธิ ล่าสุด เมื่อวันที่ 24 ธ.ค. ที่ผ่านมา ที่โรงแรมเบย์ ศรีนครินทร์ คปค. ร่วมกับเครือข่ายแรงงานกว่า 40 กลุ่ม ร่วมจัดการประชุมระดมความคิดเห็นแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานและข้อเสนอในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประกันสังคม ในเรื่องมาตรา 63 (2) (7) แนวทางการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค และการเยียวยาผลกระทบจากการรับบริการทางการแพทย์ ด้วย
       

       นายบัณฑิตย์ ธนชัยเศรษฐวุฒิ ผู้แทนมูลนิธิอารมณ์ พงศ์พงัน กล่าวว่า จากการศึกษามาตรา 63 (2) ขณะนี้พบว่า เห็นเพียงหลักเกณฑ์และอัตราแนบท้ายการตรวจร่างกายสำหรับประชาชนอายุ 15 - 80 ปีขึ้นไปเท่านั้น คือ มีแค่การตรวจสุขภาพ แต่ยังไม่มีแนวทางการส่งเสริมสุขภาพโรคอื่นๆ เลย ซึ่งอาจไม่ตรงกับมาตรา 63 (2) ที่เกี่ยวเนื่องจากการส่งเสริมสุขภาพทั้งหมด แบบนี้ถือว่าผิดเจตนารมณ์หรือไม่ และจะทำให้สังคมเข้าใจผิดว่าตรวจสุขภาพ คือ การส่งเสริมป้องกันโรค ที่สำคัญ สปส. ยังไม่ชัดเจนว่าหน่วยบริการมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ควรออกมาพูดให้ชัดเจน นอกจากนี้ ประเด็นมาตรา 63 (2) (7) ยังมีเรื่องเยียวยาการช่วยเหลือทางการแพทย์ เบื้องต้นก็ยังไม่มีการกล่าวถึงในประกาศแนบท้าย
       
       นายมนัส โกศล ประธาน คปค. กล่าวว่า เบื้องต้นทางเครือข่ายต่างๆ มองว่า ประกาศที่ออกมา สามารถปรับปรุงเพิ่มเติมได้ เหมือนกรณีทันตกรรมจาก 600 บาทต่อปี เป็น 900 บาทต่อปี ก็มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ จากเดิมกำหนดอัตราค่าบริการ เงื่อนไขต่างๆ ก็ปรับปรุงให้เหมาะสมตามข้อเรียกร้อง ดังนั้น ในวันที่ 26 ธ.ค. นี้ เครือข่ายจะเข้าพบ นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการ สปส. จะนำข้อเสนอเหล่านี้ไปหารือด้วย รวมถึงข้อเสนอของเครือข่าย ฟ. ฟันสร้างสุข ที่เสนอว่า การตรวจสุขภาพช่องปากจำเป็นต้องมีอยู่ในประกาศด้วย และควรมีการระบุให้ชัดเจนด้วยว่าหากตรวจสุขภาพแล้ว พบว่า ผู้ประกันตนมีภาวะของโรคใดๆ ก็ตาม เช่น ไต หรือเบาหวาน ต้องได้รับการรักษาทันที และขอให้หลักเกณฑ์ในการตรวจสุขภาพ ไม่ควรมีการกำหนดช่วงอายุ อย่าง มะเร็งปากมดลูก กำหนดอายุ 30 ปีขึ้นไปตรวจได้ แต่ข้อเท็จจริงทางการแพทย์ เด็กและวัยรุ่นก็มีความเสี่ยงเช่นกัน
       
       นพ.สุรเดช กล่าวว่า ยินดีรับฟังข้อเสนอ โดยทั้งหมดยืนยันว่า หลักเกณฑ์ที่ออกมาอิงตามข้อมูลวิชาการ โดยทำงานร่วมกับกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยศึกษาและพิจารณาแล้วว่าอะไรที่เป็นประโยชน์ และจำเป็นกับกลุ่มอายุ แต่หากต้องปรับปรุงในอนาคตก็ยินดี เพราะทาง พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับว่า ทุกนโยบายต้องรับฟังความคิดเห็นประชาชนแบบประชารัฐ

โดย MGR Online       25 ธันวาคม 2559