ผู้เขียน หัวข้อ: เมื่อสายน้ำไหลบ่าถึงมหานที / ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์  (อ่าน 1231 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
หลังจากมวลน้ำก้อนใหญ่ไหลบ่ามาจากทางเหนือ เข้าสู่ลุ่มเจ้าพระยา สร้างความเดือดร้อนให้มากมายจนกลายเป็นมหาอุทกภัยสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์ มาถึงตอนนี้หากเป็นภาพยนตร์ก็เลยฉากไคลแมกซ์ ชาวกรุงเทพคงไม่สงสัยแล้วว่าน้ำจะท่วมที่ใดบ้าง คำถามใหม่คือเราจะต้องอยู่กับน้ำท่วมอีกนานแค่ไหน และอีกหลายคำถามที่หลายคนสงสัย จะเป็นอย่างไรเมื่อน้ำเหล่านี้ไหลลงทะเล
       ในฐานะของนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผมพยายามตั้งคำถามและตอบคำถามเพื่อให้พวกเราเห็นภาพว่า จะเกิดอะไรขึ้นในทะเลของเราครับ
       
       ทะเลคือที่ไหน? คำว่า “ทะเล” ดูเหมือนใหญ่โตมหาศาล แต่ในความจริงนั้นเล็กนิดเดียว เพราะทะเลที่กำลังรับน้ำจืดจากลุ่มเจ้าพระยา หมายถึง “อ่าวไทยตอนใน” หรือ “อ่าวไทยรูปตัวก.” ชายฝั่งตั้งแต่ชลบุรี ปากน้ำบางปะกง ปากน้ำเจ้าพระยา ท่าจีน แม่กลอง ไปสิ้นสุดที่จังหวัดเพชรบุรีและตอนเหนือของจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ พื้นที่รวมกันแล้วกว้างเพียง 10,000 ตารางกิโลเมตร ใกล้เคียงกับพื้นที่ของกรุงเทพและเขตปริมณฑลทั้งหมด (1,500 ตารางกิโลเมตรและ 7,800 ตารางกิโลเมตร) อ่าวแห่งนี้มีลักษณะเกือบปิด เคยมีการศึกษาในอดีตกล่าวว่า หากทิ้งถุงพลาสติกลงไปในอ่าวไทยตอนใน ถุงดังกล่าวจะหมุนเวียนอยู่ 49 วัน ก่อนจะหลุดออกสู่ทะเลเปิดด้านนอก
       
       ลองหลับตาแล้วคิดถึงน้ำปริมาณมหาศาล ขยะนับล้านตัน สิ่งเจือปนอื่นๆ อีกมาก ทุกอย่างจะไหลลงไปในทะเลเล็กๆ และจะอยู่ในนั้นอย่างน้อย 1 เดือน
       
       น้ำไหลลงทะเลอย่างไร? วัฎจักรของน้ำคือน้ำจะระเหยจากทะเลและมหาสมุทร กลายเป็นเมฆล่องลอยไปทั่ว ส่วนใหญ่ตกลงในทะเล มีบางส่วนเข้ามาตกในแผ่นดิน โดยเฉพาะในเขตขุนเขาอันเป็นแนวปะทะเมฆ น้ำเหล่านี้จะไหลมารวมกัน จากลำธารสายน้อยเป็นแม่น้ำสายใหญ่ และจะหลั่งไหลกลับลงไปสู่ทะเล
       
       การกลับสู่ทะเลของน้ำมี 2 ทาง เส้นทางหนึ่งคือมาตามแม่น้ำตามปรกติ อีกทางเกิดเมื่อน้ำมีปริมาณมากไปจนไหลบ่ามาตามพื้นดิน ลักษณะเช่นนี้เกิดเป็นประจำในลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เช่น ลุ่มน้ำเจ้าพระยา สิ่งมีชีวิตและระบบนิเวศชายฝั่งต่างมีเวลาปรับตัวมาหลายพันปี เหตุการณ์นี้จึงไม่ใช่ครั้งแรกที่สรรพชีวิตบริเวณอ่าวไทยเจอะเจอ แต่สถานการณ์ในปัจจุบันกับเหตุการณ์ในอดีตแตกต่างกัน
       
       อดีตกับปัจจุบันต่างกันอย่างไร? ความแตกต่างที่ชัดเจนมี 2 ประการ นั่นคือความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในลุ่มน้ำ และความเปลี่ยนแปลงบริเวณชายฝั่งทะเล ความเปลี่ยนแปลงในลุ่มน้ำหมายถึงการพัฒนาต่างๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นตลอดเส้นทางของน้ำ ทั้งแหล่งการเกษตร ทั้งนิคมอุตสาหกรรม โรงงานต่างๆ ตลอดจนบ้านเรือนชุมชน เมื่อน้ำไหลผ่าน น้ำนำพาหลายอย่างที่ไม่เคยมีในอดีตมาด้วย เช่น ขยะสามล้านตัน สารเคมีในโรงงาน น้ำเน่าเสียที่เกิดจากการกักขัง ฯลฯ ทุกอย่างกำลังมุ่งหน้าลงทะเล
       
       นอกจากนี้ บริเวณชายฝั่งทะเลของเราเปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน ในอดีตเราเคยมีป่าชายเลนผืนใหญ่ที่สุดผืนหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คอยรับน้ำที่ไหลบ่าลงมา ชะลอให้ช้าลงบ้าง ให้ค่อยปรับเปลี่ยนตามวัฏจักรน้ำขึ้นน้ำลงบ้าง ช่วยกัก “เก็บขยะ” จากแผ่นดินไว้บ้าง แต่ปัจจุบัน ป่าเหล่านั้นแทบไม่เหลือแล้ว เรามีแต่นากุ้งรกร้างแทนที่ นากุ้งที่พร้อมจะปล่อยให้น้ำไหลบ่าข้ามได้ทันที ยังมีแหล่งชุมชน ถนน โรงงาน ฯลฯ ที่ช่วย “ปล่อยขยะ” แทนที่จะเก็บไว้ น้ำจืดที่ไหลลงทะเลในอดีตกับในปัจจุบันจึงไม่เหมือนกัน
       
       น้ำมาแล้ว น้ำทำให้เกิดอะไร? น้ำในโลกแบ่งเป็น 2 ส่วน หนึ่งคือน้ำจืด อีกหนึ่งคือน้ำทะเล ความแตกต่างคือแร่ธาตุที่เจือปนอยู่ในน้ำ โดยเฉพาะเกลือหรือโซเดียมคลอไรด์ที่ทำให้น้ำเค็ม (NaCl) น้ำทะเลมีเกลือละลายเจือปน 3.1-3.5 เปอร์เซ็นต์ ผิดจากน้ำจืดที่ความเค็มเป็นศูนย์หรือน้อยมาก (ปรกติหน่วยความเค็มเป็น “ต่อพันส่วน” แต่เพื่อความเข้าใจที่ง่ายของคนทั่วไป ผมขอใช้หน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์)
       
       เมื่อน้ำจืดมาถึงทะเล น้ำทำให้ความเค็มเปลี่ยนแปลง เกิดปรากฏการณ์ที่ชาวบ้านเรียกกันว่า “น้ำเบียด” หรือสัตว์ทะเลได้รับผลกระทบเพราะความเค็มลดน้อยลงอย่างรวดเร็ว สัตว์บางกลุ่มที่ไม่สามารถหลบหนีได้ อาจตายลง เช่น ปูเสฉวนหรือสัตว์น้ำขนาดเล็กที่เราเห็นอยู่ตามชายหาดในช่วงนี้ สัตว์น้ำบางกลุ่มอาจหนีไปได้ เช่น ฝูงปลา พวกเขาจะไปให้ห่างจากชายฝั่ง
       
       นอกจากนั้น น้ำจืดยังนำพาสารอาหารจากแผ่นดิน สารอาหารเหล่านี้หากมีอยู่ในระดับพอดี จะช่วยให้ทะเลอุดมสมบูรณ์ แต่ถ้ามีมากเกินไป จะทำให้แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามด้วยแพลงก์ตอนสัตว์บางชนิด เกิดปรากฏการณ์ “ขี้ปลาวาฬ” อาจทำให้สัตว์ทะเลตาย ทั้งจากภาวะที่ออกซิเจนลดน้อยลงจนหมด หรืออาจตายจากพิษของแพลงก์ตอนบางกลุ่ม
       
       ปรากฏการณ์น้ำเบียดและปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬเป็นเรื่องปรกติที่เราเจอะเจอในช่วงปลายฝนของทุกปี แต่อย่าลืมว่า ปีนี้น้ำไม่ปรกติ
       
       น้ำไม่ปรกติเป็นอย่างไร? คำตอบมีอยู่ 2 ประการ อันดับแรกคือน้ำจืดมีปริมาณมากเป็นพิเศษ อีกทั้งยังมาเร็วกว่าทุกปี ทำให้เกิดปรากฏการณ์น้ำเบียดและขี้ปลาวาฬอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกันยายน ทำให้ปริมาณสัตว์น้ำชายฝั่งเปลี่ยนแปลงมาถึงปัจจุบัน
       
       อันดับสองคือน้ำนำพาสิ่งแปลกปลอมมาด้วย น้ำจืดที่ไหลบ่าผ่านแหล่งเกษตร โรงงาน และย่านชุมชน น้ำจืดที่เต็มไปด้วยขยะและน้ำเน่า ย่อมส่งผลกระทบไม่ธรรมดา
       
       น้ำขยะ? ขยะที่ไม่ย่อยสลาย เช่น ถุงพลาสติก กระสอบทราย กระป๋อง รองเท้าแตะ ฯลฯ จำนวนมากมายมหาศาลเกินนับไหว ล่องลอยอยู่ในน้ำที่กำลังท่วมเรา หากหลุดจากกรุงเทพลงสู่อ่าวไทยตอนใน ไม่มีป่าชายเลนช่วยขวางหรือดักขยะ มีแต่โรงงานและแหล่งชุมชนช่วยเติมขยะ ขยะเหล่านั้นย่อมหมุนเวียนอยู่ในอ่าวไทยตอนใน อาจไม่ถึง 49 วัน แต่ต้องเป็นเวลาอีกนานเป็นแน่
       
       ขยะที่ถูกพัดพาไปติดปะการังหรือสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ย่อมส่งผลทำให้ปะการังตาย กัลปังหาหัก ฟองน้ำล้ม ฯลฯ สัตว์ทะเลที่ซวย เช่น เต่าที่หลงกินขยะเข้าไป ลูกโลมาที่เข้าใจผิดคิดว่าหลอดกาแฟเป็นลูกปลากินได้ ย่อมตกตายไปตามกัน ขยะที่ย่อยสลายไม่ได้จึงส่งผลอย่างสาหัส
       
       ความสาหัสดังกล่าวยังส่งผลต่อเนื่องถึงแหล่งท่องเที่ยวของเรา ชายหาดชื่อดัง นับตั้งแต่บางแสน พัทยา เรื่อยไปจนจรดสัตหีบ ชายหาดเพชรบุรี หัวหิน ฯลฯ หนีไม่พ้นวงจรขยะเหล่านี้ ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีขยะมาติดหาดมากน้อยขนาดไหน แต่ผมบอกได้ว่ามากกว่าทุกปี และถ้าเรารับมือกับขยะเหล่านั้นด้วยวิธีการเดิมในระดับเท่าเดิม แต่เจอขยะมากกว่าทุกปี แหล่งท่องเที่ยวของเราจะเป็นอย่างไร ? ผมก็ยังตอบได้ หาดของเราจะน่าเกลียดกว่าเดิมเป็นแน่ แล้วลองคิดถึงการท่องเที่ยวที่ตามมา ขนาดน้ำท่วมเฉยๆ ยังมีปัญหาเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องไปทั้งประเทศ แล้วถ้าหาดของเราดูย่ำแย่ ภาพเผยแพร่ออกไป ไม่อยากคิดครับ
       
       น้ำเน่า? นอกจากขยะที่เรามองเห็น ยังมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในน้ำ ทำให้น้ำเสีย กลายเป็นน้ำเน่าสีดำกลิ่นอี๋แหยะ และอาจมีสารปนเปื้อนที่ไม่พึงปรารถนาจากโกดังหรือโรงงาน น้ำเหล่านั้นส่งผลกระทบตั้งแต่ยังลงไปไม่ถึงทะเล เพราะเมื่อภาพของน้ำเน่าสนิทกำลังไหลบ่าเข้าสู่ถนนพระราม 2 เผยแพร่ไปทั่วโลก ผู้สั่งซื้อผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของเราล้วนสะดุ้ง สหรัฐอเมริกาที่สั่งซื้อกุ้งจากเมืองไทยปีละ 50,000 ล้านบาท ตกใจถึงขนาดเมื่อรู้ว่าโรงงานที่ทำกุ้งเหล่านั้นมาให้พวกเขากิน กำลังเจอน้ำสีดำปี๋อี๋แหยะท่วม แม้ระบบของโรงงานจะดีเยี่ยมปานไหน น้ำอาจไม่มีวันซึมผ่านไปถึงตัวกุ้งแม้แต่หยดเดียว แต่ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีก็ดันเกิดขึ้นแล้ว
       
       เท่าที่ผมทราบ บางประเทศที่สั่งอาหารทะเลจากเรากำลังบอกว่า ชั้นต้องตรวจให้เข้มขึ้นนะ ซึ่งการตรวจเข้มหมายถึงโอกาสที่จะปฏิเสธอาหารทะเลย่อมมีมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ น้ำท่วมพระรามสองอาจส่งผลถึงประมงพาณิชย์ที่ทำมาหากินในอันดามัน ยังไม่พูดถึงการเพาะเลี้ยงที่มีอยู่ทุกแห่งหนทั่วประเทศ
       
       เมื่อน้ำเสียมาถึงทะเล น้ำที่เต็มไปด้วยสารอินทรีย์ที่กำลังย่อยสลาย มีสารอาหารมากมายมหาศาล อาจทำให้เกิดปรากฏการณ์ขี้ปลาวาฬในหลายพื้นที่ หากไหลผ่านแหล่งนิเวศชายฝั่งที่สำคัญ เช่น ดอนหอยหลอด ผลจาก “น้ำเบียด” ก่อนถูก “น้ำเน่า” ซ้ำเติม อาจทำให้พ่อแม่หอยได้รับผลกระทบ รวมถึงแหล่งสัตว์หน้าดินในบริเวณอื่น หอยที่ตายในวันนี้ อาจหมายถึงลูกหอยที่น้อยลงในวันหน้า ผลกระทบอาจไม่จบลงเมื่อน้ำแห้ง
       
       ผู้ได้รับผลกระทบ? คำตอบแรกคือ “ผม” เพราะในฐานะหัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ผมนับตัวเองและคณาจารย์ตลอดจนลูกศิษย์รวมกันแล้วกว่า 300 ชีวิต เป็นส่วนหนึ่งของคนทะเลที่ได้รับผลกระทบ น้ำท่วมเกษตรศาสตร์ลึก 80-100 เซนติเมตร ตั้งแต่ต้นเดือนพฤศจิกายน แลปต่างๆ เจ๊งกันระนาว งานโครงการสะดุด วิทยานิพนธ์ทำไม่ได้ เรียนไม่ได้สอนไม่ได้ จนกว่าจะถึงกลางเดือนธันวาคม นับตั้งแต่ตั้งภาควิชาของเรามา 45 ปี นี่คือเหตุการณ์ที่ไม่เคยเจอะเจอมาก่อน (แล้วข้าพเจ้าดันเพิ่งมาเป็นหัวหน้าภาคฯ โอย...)
       
       แต่เมื่อเทียบความเดือดร้อนของเรา กับความเดือดร้อนของคนอื่น เรายังน้อยกว่าเยอะ ผมพอทราบว่าชาวประมงพื้นบ้านได้รับผลกระทบจากน้ำเบียดและขี้ปลาวาฬ ทำให้กุ้งหอยปูปลาลดน้อยลงจนจับไปก็ไม่คุ้มค่าน้ำมัน เหตุการณ์เหล่านั้นเริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ก่อนหน้าน้ำจะถล่มเมืองนครสวรรค์และเกาะเมืองอยุธยาด้วยซ้ำ เพราะหัวน้ำแรกลงมาถึงทะเลแล้ว ผลกระทบดังกล่าวยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน และไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดเมื่อไหร่
       
       ชาวประมงพื้นบ้านคือกลุ่มคนที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านในการหากิน พวกเขาคือคนที่เข้าใจวิถีธรรมชาติ ดำรงชีวิตอย่างพอเพียงมาตลอด พวกเขาไม่ได้เป็นต้นเหตุปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทำให้โลกร้อน ไม่เคยตัดไม้ทำลายป่า แต่พวกเขากลับเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบยาวนานที่สุดและมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง และจนถึงปัจจุบัน ผมยังไม่ทราบว่าภาครัฐจะเยียวยาวพวกเขาอย่างไร? ยังไม่ทราบด้วยซ้ำว่า จะมีใครนับพวกเขาเป็นส่วนหนึ่งของผู้ประสบภัยหรือเปล่า เพราะบ้านเขา “น้ำไม่ท่วม”
       
       ผลกระทบยังเกิดกับผู้ประกอบกิจการเพาะเลี้ยงชายฝั่ง น้ำที่ไหลผ่านทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงัก ผลยังต่อเนื่องถึงโรงงานที่ต้องเจอกฎกติกาในการส่งออกผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่เข้มงวดขึ้น ไม่ว่าจะถูกน้ำท่วมหรือไม่ท่วมก็ตามที ผลต่อเนื่องถึงแหล่งท่องเที่ยวริมทะเลที่จะต้องเผชิญกับขยะตามชายหาด แนวปะการังที่มีถุงพลาสติกมากมาย ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในพื้นที่อ่าวไทยตอนในที่ต้องสะดุ้งเมื่อเห็นปริมาณขยะดังกล่าว
       
       แล้วเราควรทำอย่างไร? มุมมองและแนวคิดของคนเพียงหนึ่งเดียวย่อมมิอาจรับมือกับเหตุภัยพิบัติระดับนี้ได้ เคราะห์ดีที่เรามีเครือข่ายนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลที่เคยทำงานร่วมกันมาหลายเรื่อง ตั้งแต่ครั้ง “สึนามิอันดามัน” “ปะการังฟอกขาว” และอื่นๆ อีกมาก ผมพอทราบว่าเครือข่ายดังกล่าวกำลังจะเริ่มขับเคลื่อนสังคมอีกครั้ง เพียงแต่หวังว่าผู้บริหารจะใส่ใจกับข้อเสนอแนะจากพวกเรา
       
       สำหรับหน่วยงานต่างๆ ที่ดูแลเกี่ยวกับทะเลและธรรมชาติ เช่น ทรัพยากรจังหวัด ฯลฯ คงจะต้องเตรียมตรวจสอบพื้นที่บอบบางและพื้นที่ซึ่งเป็นระบบนิเวศทางทะเลที่สำคัญที่อยู่ในเขตความรับผิดชอบ เช่น ดอนหอยหลอด แนวปะการังเกาะล้าน ฯลฯ ตลอดจนดูแลคนที่หากินกับทะเลและเดือดร้อน รวมถึงการวางแผนจัดทำกิจกรรมเก็บขยะและดูแลรักษาแหล่งท่องเที่ยวชายหาดที่กำลังจะมีถุงพลาสติกหลายล้านใบลอยไปหาในเร็ววัน ปีหน้าคงเป็นปีที่เข้มข้นสำหรับกิจกรรมรักษาความสะอาดในอ่าวไทยตอนใน แน่นอนว่ากลุ่มอาสาและภาคเอกชนสามารถเข้ามามีบทบาทได้อย่างต่อเนื่อง
       
       ในระหว่างนี้ พวกเราช่วยกันได้ด้วยการมี “จิตอาสา” เก็บขยะให้พ้นน้ำ ไม่ว่าจะเป็นขยะเน่าหรือขยะย่อยสลายไม่ได้ เก็บขยะให้มากมายสุดชีวิต ให้คิดว่านอกจากช่วยการระบายน้ำแล้ว คุณยังมีส่วนช่วยทะเลและคนทำมาหากินกับทะเลอย่างเหลือล้น มิใช่น้ำแห้ง...ทุกอย่างจบ
       
       สำหรับผมแล้ว นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้น แต่จะเป็น “จุดเริ่มต้นของจุดจบ” หรือ “จุดเริ่มต้นของวันใหม่” ขึ้นอยู่กับแรงกายแรงใจและความสามัคคีของพวกเราครับ

ASTVผู้จัดการออนไลน์    22 พฤศจิกายน 2554