ผู้เขียน หัวข้อ: บทเรียนที่"แสนแพง" จากการละเลย คำเตือนของ"ในหลวง"  (อ่าน 1438 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ภาพที่พสกนิกรชาวไทยเห็น เมื่อเวลา 15.57 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน

มากด้วยความ "ปลื้มปีติ"

เป็นความปีติ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในฉลองพระองค์เชิ้ตแขนสั้นสีส้มลายกราฟิกดอกกุหลาบ สนับเพลาสีกากีเข้ม ฉลองพระบาทหนังสีดำผูกเชือก ทรงจูงสุนัขทรงเลี้ยง คุณทองแดง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าน้ำบริเวณลานสระว่ายน้ำสมาคมศิษย์เก่าแพทย์ศิริราชเพื่อทอดพระเนตรระดับน้ำและทัศนียภาพริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

และต่อมาเวลา 17.28 น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงร่วมด้วย

กระทั่ง 18.40 น. จึงเสด็จพระราชดำเนินกลับ

รวมเวลาเสด็จถึง 3 ชั่วโมง 13 นาที

ประชาชนที่มารอเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ต่างเปล่งคำถวายพระพร "ทรงพระเจริญ"

ที่เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระพักตร์แจ่มใส

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ซึ่งเสด็จไปทรงเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมบริเวณพระตำหนักจักรีบงกช ต.บางขะแยง จ.ปทุมธานี มีพระดำรัสกับประชาชน ว่า

"ขอเล่าให้ฟังสักนิดนึงว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยประชาชนมาก เมื่อสักประมาณอาทิตย์หนึ่งมาแล้ว ทรงทอดพระเนตรข่าวน้ำท่วมถึง 5 ชั่วโมงเต็มๆ เสร็จแล้วคงจะเป็นเพราะทรงเครียด ดูแล้วพระเจ้าอยู่หัวทรงรักประชาชนเหมือนลูกหลานอย่างจริงๆ และเมื่อเห็นราษฎรทุกข์ ก็ทรงทุกข์ด้วย ทุกข์เหลือเกิน"

"แต่ท่านเป็นคนที่ไม่ค่อยรับสั่ง เพราะฉะนั้น จึงออกมาในอาการที่ว่า ทรงมีอาการป่วยต่างๆ เช่นว่ามีเลือดออกเป็นต้น วันนั้นก็ฉุกละหุกพอสมควร แต่ตอนนี้ก็คงเข้าสู่สภาพปกติแล้ว แต่ว่าหมอก็ยังหาแผลไม่ได้ว่าตรงไหนที่เลือดออก เขาส่องกล้องเข้าไปแล้วก็ยังไม่เจอ ตอนนี้ก็เลยต้องเฝ้าดูพระอาการอยู่"

"แต่อยากให้ทราบว่าใจของพระองค์ท่านอยู่กับประชาชนเสมอ"

และเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบอุทกภัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ จ.นนทบุรี และมีพระดำรัสอีกครั้งหนึ่งว่า

"ช่วงเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ ข้าพเจ้าไปเยี่ยมคนที่ประสบอุทกภัยที่พระนครศรีอยุธยา พอกลับมาพยาบาลมาเชิญ บอกว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ถ่ายเป็นเลือดถึง 800 ซีซี ความดันตกมากอยู่ในภาวะทรงช็อก ไม่รู้สึกพระองค์"

"ข้าพเจ้าวิ่งไปเลยตอนนั้น เห็นพระองค์ได้รับการถวายเลือด ถวายอาหารทางเส้น หมอสันนิษฐานว่า เป็นเพราะทรงกังวล"

"ข้าพเจ้าถามพยาบาลว่า ทรงทำอะไรบ้างในวันสองวันนี้"

"ปรากฏว่า พระองค์ดูข่าวน้ำท่วม ทรงดูข่าวน้ำท่วมแสดงให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรักประชาชนเหมือนลูก เหมือนหลาน ทรงเป็นห่วงเป็นใย"

"พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งน้อยอยู่แล้ว แต่อาการที่แสดงออกทางร่างกาย พอเครียดขึ้นมาก็เกิดอาการทางกระเพาะ ลำไส้ ขณะนี้แพทย์ถวายการรักษาจนทรงเป็นปกติแล้ว"

"ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่โรงพยาบาลศิริราชก็จริง แต่พระทัยอยู่กับราษฎรทุกคน ถ้าใครรู้สึกซาบซึ้งในน้ำพระทัยขอให้อธิษฐานในใจเท่านั้น ขอให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระชนม์ยืน และทรงพระสุขภาพพลานามัยดี แค่คิดแค่นี้ข้าพเจ้าถือว่า กำลังใจของท่านทุกคนจะถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ"

แม้สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี จะทำให้พสกนิกรชาวไทย สบายใจด้วย ทรงบอกว่า ขณะนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นปกติแล้ว

แต่คนไทยก็ยังคงอดเป็นห่วงและกังวลไม่ได้

จนเมื่อ 15.57 น. วันที่ 14 พฤศจิกายน ที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จลงมาทอดพระเนตรสภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ด้วยพระพักตร์ที่แจ่มใส นั่นแหละ

ความทุกข์ กังวลใจของพสกนิกรก็ผ่อนคลายลง

และยิ่งสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณมากขึ้น ที่ทรงห่วงใยผู้ประสบภัยน้ำท่วมอย่างมาก ทรงติดตามข่าวอย่างใกล้ชิด จนมีพระอาการเครียด

โดยสะท้อนผ่านพระอาการทางร่างกาย ที่ทรงมีพระโลหิตออกดังกล่าว

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นั้นเป็นที่แจ้งประจักษ์ใจของทั้งคนไทยและคนทั่วโลก ว่าทรงเชี่ยวชาญเรื่องน้ำอย่างมาก

สะท้อนผ่านจากที่สื่อมวลชนทั้งในและนอกประเทศ ร่วมกันนำเสนอพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับ "น้ำ" ระหว่างที่คนไทยเผชิญมหาวิกฤตน้ำท่วม ขณะนี้

โดยสื่อมวลชนไทย ได้ย้อนไปถึงปี 2538 ในช่วงเดือนกันยายน มีพายุดีเปรสชั่นไรอันเข้ามาในไทย ทำให้ฝนตกมากทางตอนเหนือประเทศไทยและกรุงเทพฯ

น้ำเหนือไหลบ่าลงมาจะเข้าท่วมกรุงเทพฯ

วันที่ 19 กันยายน 2538 ทรงประชุมข้าราชการที่เกี่ยวข้องเป็นการด่วน

ทรงมีรับสั่งให้แก้ปัญหาโดยปล่อยให้น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำตามธรรมชาติของน้ำ

ให้ขุดตัดถนนที่ขวางทางน้ำ ขุดใต้ทางรถไฟ หาทางให้น้ำไหลลอดออกลงคลองระบายน้ำเพื่อให้ลงทะเลไปโดยเร็ว

พร้อมรับสั่งถึงโครงการระยะยาว ด้วยการให้เตรียมขุดขยายคูคลอง ระบบประตูระบายน้ำและสูบน้ำต่างๆ

ที่สำคัญ ทรงมีพระราชดำรัสว่า

"ในสมัยเก่า...สมัยรัชกาลที่ 5 ที่ 6 ท่านเวนคืนเอาไว้ ท่านสงวนเอาไว้เป็นของรัฐ แล้วก็คนที่ไปอยู่ในนี้ ผิดกฎหมายทั้งนั้น คนที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย ชาวบ้านที่เข้าไปอยู่ก็ผิดกฎหมาย รวมทั้งคนที่ไปซื้อจากชาวบ้านก็ผิดกฎหมาย ฉะนั้น การที่จะขุดรูจะไปทำโครงการสาธารณะ ไม่ผิดกฎหมาย ทำเพื่อที่จะป้องกัน เพราะว่าปีที่แล้วก็เกิด ปีก่อนๆ ก็เกิด ปีหน้าก็จะเกิดอีก ต้องทำโครงการฟลัดเวย์ (Flood Way)"

"ขอโทษที่ต้องพูดภาษาฝรั่ง ฟลัดเวย์ เพราะว่าเหมือนที่อเมริกา ที่ซานฟรานซิสโก เขามีฟลัดเวย์ใหญ่ตอนที่ไม่มีน้ำ แล้วไม่มีน้ำมาหลายปี ที่แคลิฟอร์เนียเขาอดน้ำจะแย่ ไอ้ฟลัดเวย์ก็อยู่ แต่ฝนตกเมื่อไร ไอ้ฟลัดเวย์ก็เต็มไปเลย แล้วไม่มีใครกล้าไปอยู่ในนั้นตอนนี้ถ้าใครกล้ามาอยู่ในนี้ แล้วฟลัดเวย์มันผ่านไป ก็กรวดน้ำให้เขา คือว่า ต้องเรียกว่า จะหาว่าใจร้ายก็ใจร้าย แต่จะป้องกันไม่ให้มีความหายนะ"

"...อันนี้ถึงย้ำและพูดรุนแรงหน่อยว่า แม้จะมีที่ที่คนจะว่าอะไร เป็นที่ของเขา ก็ต้องทำ ใช้กฎหมายใดที่จะพึงใช้ได้ หรือมิเช่นนั้นก็เอาเงินทุ่มก็ได้ แต่เชื่อว่าผู้ที่เป็นเจ้าของคราวนี้ คงเข้าใจ เขาต้องสละบ้าง และจะเป็นการแสดงความรักชาติ หรือความรักส่วนรวมของผู้เป็นเจ้าของที่ตรงนี้ และประชาชนก็จะมีความเห็นใจเขา แล้วก็อาจจะไม่ตำหนิติเตียนในเรื่องอื่น ก็อาจสบายขึ้นได้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด"

จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชดำรัสถึงฟลัดเวย์ ที่จะเป็นทางระบายน้ำมาตั้งแต่ปี 2538

แต่น่าเสียดาย ที่ไม่มีการสานต่อเรื่องนี้

และเมื่อประเทศต้องเผชิญกับปัญหาอุทกภัยครั้งร้ายแรงเช่นตอนนี้ ประเทศไทยจึงเสียหายอย่างหนัก

และต่างพากันนึกถึงสิ่งที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงแนะนำไว้

ขณะที่สื่อต่างประเทศ เช่น สำนักข่าวเอพีเสนอรายงานกึ่งวิเคราะห์เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมองการณ์ไกลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน ก่อนหน้าจะเกิดอุทกภัยครั้งร้ายแรงที่สุดใน 50 ปี

พระองค์ทรงเตือนหลายครั้งเรื่องการพัฒนามากเกินไป

รวมทั้งมีพระราชดำริหลายประการเพื่อบรรเทาความเสียหายจากการหนุนของน้ำทะเลในแต่ละปี นอกเหนือจากการรับมือกับฤดูน้ำหลาก

"ความพ่ายแพ้ของประเทศไทยต่อน้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้ ทำให้ประชาชนเกือบ 400 รายเสียชีวิต พลเมืองนับแสนต้องกลายเป็นผู้อพยพ"

เอพี ย้ำว่า

"นี่เป็นบทเรียนที่แสนแพงจากการละเลยคำเตือนของพระองค์"
..............
(ที่มา : มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 18-24 พ.ย.2554)