ผู้เขียน หัวข้อ: ในเมืองจีนคุณคือใคร บอกได้จากอาหารที่กิน  (อ่าน 1299 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
 ลอสแองเจลิสไทมส์ - ณ ฝั่งตรงกันข้ามกับบ้านของลุงหลี่ สิ่วฉิน ชายวัย 68 ปี ซึ่งอาศัยในหมู่บ้านซุนอี้ ที่กรุงปักกิ่งมาตลอดชีวิตนั้น เป็นที่ตั้งของสวนปลูกผัก ที่ดูผิดสังเกตพิกล มันกั้นอาณาเขตด้วยรั้วสูง 6 ฟุต ตรงปลายเป็นเหล็กแหลม มียามเฝ้าหน้าประตู และเปิดให้เฉพาะรถยนต์บางคันเข้าไป
       
       สถานที่แห่งนั้นเคยมีป้ายติดประกาศว่าเป็น “แหล่งปลูกผักของสำนักงานศุลกากรแห่งปักกิ่งและคันทรี่คลับ” จนกระทั่งเมื่อเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ป้ายก็ถูกรื้อออก หลังจากนักข่าวชาวจีนเล็ดลอดเข้าไปข้างใน และรายงานเรื่องราวเกี่ยวกับสวนผักแห่งนี้ ซึ่งผลิตอาหารด้วยวิธีการแบบเกษตรอินทรีย์ ที่ปลอดสารพิษถึงขนาด ที่สามารถเด็ดผลแตงกวาจากต้น มากินได้เลย โดยไม่ต้องนำมาล้างให้สะอาดเสียก่อน
       
       หากเป็นที่อื่นในโลก การมีสวนผักสุดยอดแบบนี้อาจเป็นเรื่อง ที่ต้องนำคุยอวดคุณสมบัติกันใหญ่โต ทว่าไม่มีสิ่งนี้เกิดขึ้นในจีน !
       
       การทำสวนเกษตรอินทรีย์บนแดนมังกรเป็นเรื่อง ที่ต้องเหยียบเอาไว้ อย่าแพร่งพรายเป็นอันขาด เพราะผลผลิต ซึ่งสุดแสนจะสะอาด และปลอดภัยที่สุดเหล่านี้ สุดท้ายปลายทางของมันก็คืออยู่บนโต๊ะอาหารของพวกคนร่ำรวย และเจ้าหน้าที่ของรัฐ
       
       "สวนนี่สำหรับพวกเจ้าหน้าที่เท่านั้นแหละคุณ เขาปลูกผักปลอดสารพิษ พริกเอย หอมหัวใหญ่เอย ถั่ว ดอกกะหล่ำ แต่ไม่ขายให้ประชาชนหรอก" ลุงหลี่เล่าให้ฟัง
       
       " ชาวบ้านธรรมดาอย่าหวังได้เข้าไปเล้ย" แกว่า
       
       บริษัทผู้ผลิตอาหาร ที่ดีที่สุดหลายรายของจีนก็ไม่เผยแพร่โฆษณา เพราะไม่ต้องการให้สาธารณชนรู้ว่าผลผลิต ที่มีจำกัดนี้ ถูกส่งไปให้เจ้าหน้าที่พรรคคอมมิวนิสต์ ส่งไปยังห้องรับประทานอาหารของนักกีฬาชั้นยอด นักการทูตต่างชาติ และคนระดับบนพวกอื่น ๆ
       
       ส่วนประชาชนทั่วไปกินอาหาร ซึ่งนับวันมีแต่สารปนเปื้อนเพิ่มขึ้น หรือถูกสุขอนามัยน้อยลง เช่น เนื้อสัตว์เจือสารสเตียรอยด์ ปลาจากบ่อ ที่ใส่ฮอร์โมนกระตุ้นให้โตไว ๆ หรือนมปนเปื้อนสารเมลามีน
       
       "พวกเจ้าหน้าที่รัฐไม่สนหรอกว่า ชาวบ้านทั่วไปกินอะไร เพราะเขากับครอบครัวมีอาหาร ที่ผลิตป้อนให้เป็นพิเศษเฉพาะ" นายเกา จื้อหยง ซึ่งทำงานกับบริษัทผลิตอาหาร ซึ่งเป็นของรัฐ และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ ระบุ
       
       ในเมืองจีนนั้น การจัดส่งเสบียงอาหาร ซึ่งทำขึ้นเป็นพิเศษเฉพาะ มีมาตั้งแต่ยุคต้น ๆ ในสมัยการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์ และมีหน่วยผลิตอาหาร คอยจัดสรรให้ตามฐานะตำแหน่ง
       
       "พวกผู้นำต้องการให้แน่ใจว่าพวกเขามีอาหารกินเพียงพอ และอาหารไม่ถูกใส่ยาพิษ" นายเกาอธิบาย
       
       ในหนังสือชีวประวัติของท่านประธานเหมา เจ๋อตง ซึ่งแต่งโดยนายแพทย์ประจำตัวของเขาเล่าว่า ในช่วงทศวรรษ 1950 ที่ปรึกษาชาวโซเวียตได้ช่วยจีนจัดตั้งแผนกจัดส่งอาหาร โดยมีเครื่องไม้เครื่องมือตรวจตราความปลอดภัยพร้อมสรรพสำหรับพวกผู้นำ
       
       การปันส่วนอาหารสำหรับเจ้าหน้าที่ระดับล่าง มีการแบ่งระดับของเจ้าหน้าที่ออกเป็น 25 ระดับ คุณภาพและปริมาณอาหารในการปันส่วนก็ลดหลั่นกันไปตามระดับ
       
       ครั้นมาถึงยุคปัจจุบัน ระบบการส่งป้อนอาหารพิเศษเฉพาะสำหรับชนชั้นสูงแดนมังกรเกิดขึ้นในสภาพการณ์ ที่สิ่งแวดล้อมกำลังเสื่อมโทรม และการผลิตอาหารปลอดสารพิษมีอย่างจำกัด
       
       Phelim Kine เจ้าหน้าที่ของกลุ่มฮิวแมน ไรตส ว็อตช์ ประจำฮ่องกงระบุว่า มีคนกลุ่มเดียวในสังคมจีนที่ได้กินอาหาร ที่เชื่อถือได้ว่าปลอดภัยก็คือพวกเจ้าหน้าที่ในพรรคคอมมิวนิสต์
       
       ในกรุงปักกิ่ง ฟาร์มผลิตอาหารจำหน่ายสำหรับลูกค้ากลุ่มพิเศษนั้นตั้งอยู่ใกล้กับสนามบิน ซึ่งเป็นละแวกอาศัยขอชาวต่างชาติ ที่ร่ำรวย มีโรงเรียนนานาชาติตั้งอยู่หลายแห่ง ส่วนทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองเป็นย่านผู้คนอาศัยแออัด เหม็นกลิ่นควันพิษ และการจราจรบนท้องถนนจอแจคับคั่ง
       
       ตรงเชิงเขาทางด้านตะวันตกเป็นที่ตั้งของฟาร์มจี้ซาน ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีปลูกพืชผักป้อนให้แก่ห้องครัวส่วนตัวของท่านประธานเหมา ปัจจุบัน ยังดำเนินการภายใต้การอุปถัมภ์ของแคปปิตอลอะกริบิสซิเนส กรุ๊ป ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่จัดหาอาหารสำหรับการประชุมต่าง ๆ ในระดับชาติ
       
       ด้านคณะรัฐมนตรีของจีนเองก็มีผู้จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารส่งให้โดยเฉพาะ ตั้งแต่อาหารชนิด ที่มีราคาแพง ไปจนถึงอาหารประเภทไข่เป็ดเค็ม
       
       โฆษกของบริษัทเว่ยซานหูโลตัสฟู้ด ในมณฑลชานตงระบุว่า ทางบริษัทจัดส่งอาหารให้คณะรัฐมนตรีมานานเกือบ 20 ปีแล้ว
       
       "ผลิตภัณฑ์ของเราหาซื้อในร้านซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปไม่ได้ เพราะปริมาณการผลิตของเราน้อยมาก" โฆษกเปิดเผย
       
       นอกจากนั้น เกษตรกร ซึ่งทำฟาร์มแบบเกษตรอินทรีย์หลายรายยังถูกกดดันให้จำหน่ายผลผลิต ที่มีจำกัดของตนให้แก่ทางการ
       
       "รัฐบาลอยากให้เราป้อนผลผลิตให้แก่เจ้าหน้าที่และหน่วยงานของรัฐมากขึ้น แต่เราคิดว่าการที่ผู้คนทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากผลิตภัณฑ์ของเราก็เป็นเรื่องที่สำคัญ" นายหวัง จ้านหลี่ เจ้าของโรงผลิตนมโคเกษตรอินทรีย์ "กรีน ยาร์ด" ซึ่งได้รับประกาศนียบัตรรับรองเมื่อปี 2549 ตั้งอยู่ในย่านหยานชิงของกรุงปักกิ่งกล่าวในตอนท้าย

ASTVผู้จัดการออนไลน์    16 พฤศจิกายน 2554