ผู้เขียน หัวข้อ: โรงพยาบาล (ภาค) สนาม  (อ่าน 1237 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
โรงพยาบาล (ภาค) สนาม
« เมื่อ: 16 พฤศจิกายน 2011, 22:27:43 »
สำรวจ โครงสร้างโรงพยาบาล "เฉพาะกิจ" เพื่อคอยดูแลสุขภาพของผู้ประสบภัย ทั้ง หมอ พยาบาล อาจารย์ และนักศึกษา ต่างช่วยกัน "รันระบบ" ให้ไม่แพ้โรงพยาบาลจริงๆ ที่จมน้ำอยู่

ความเคลื่อนไหวของผู้คนกว่าครึ่งพัน ทำให้ "บริเวณ" ของอาคารกองกิจการนักศึกษา ในรั้วมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ดูเล็กลงไปถนัดตา

นับตั้งแต่ที่นี่ประกาศตัวเป็น "ศูนย์พักพิงผู้ประสบอุทกภัย" เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2554 จนมาถึงวันนี้ ก็ยังมีผู้คนเดินทางเข้ามา "หลบน้ำ" อย่างต่อเนื่อง

ทั้ง "บ้านใกล้" อย่าง อ.บางเลน อ.นครชัยศรี หรือ "เรือนเคียง" จากฝั่งธนฯ กรุงเทพฯ และปทุมธานี

อาคาร 4 ชั้น กินพื้นที่ไปถึงสนามหญ้า ลานดินโดยรอบถูก "ใช้สอย" และ "แบ่งส่วน" สำหรับรองรับการใช้ชีวิตของผู้ประสบภัย แบบ "ครบวงจร" ไม่ว่าจะเป็น ที่กิน ที่อยู่ ศูนย์ประสานงาน รวมไปถึงกิจกรรมจากหน่วยงาน และภาคส่วนต่างๆ ที่ระดมมาช่วยเหลือ

ทำให้ 624 ชีวิตของผู้ประสบภัย (ยอดวันที่ 14 พฤศจิกายน 2554) เมื่อบวกกับ อาสาสมัคร และเจ้าหน้าที่ มีสภาพไม่ต่างอะไรกับชุมชนขนาดย่อม

จนล่าสุด ภายในศูนย์พักพิงได้เปิด "โรงพยาบาลสนาม" ขึ้นมา เพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องอาศัย "เรือนนอน" และ "บุคลากรทางการแพทย์" หลังจากเปิดพื้นที่ช่วยเหลือมายังไม่เต็มเดือนดี

    โมเดล "30 เตียง"

ด้วยสภาพร่างกายที่ไม่ค่อยเอื้ออำนวยในการเดินทางสักเท่าไหร่อยู่แล้ว เมื่อถูกอาการเส้นเลือดในสมองตีบทำให้ร่างกายซีกซ้ายใช้การไม่ได้ "เล่นงาน" เข้าไปอีก ทำให้ชีวิตของ วิไลวรรณ รุ่งโรจน์ ในวัย 77 ปี ค่อนข้างลำบากพอสมควร

ทางครอบครัวจึงตัดสินใจ ส่งตัว "คุณยาย" จากบ้านใน ซอยวัดดงมูลเหล็ก บางกอกน้อย เข้ารักษาตัวที่ โรงพยาบาลศิริราช ก่อนจะมาพักฟื้นต่อยัง ศูนย์ภูมิบำบัดราชพฤกษ์ ตลิ่งชัน เมื่อไม่กี่อาทิตย์ที่ผ่านมา

เมื่อตลิ่งชัน "จมน้ำ" เธอจึงกลายเป็นผู้ประสบภัยไปโดยปริยาย และถูก "ส่งต่อ" มาที่นี่ พร้อมๆ กับผู้ป่วยจากสถานพยาบาลอื่นๆ ในละแวกพื้นที่ใกล้เคียง

โรงพยาบาลสนาม เกิดขึ้นจากการประสานงานของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) กับมหาวิทยาลัยที่ต้องการ "พื้นที่" สำหรับรองรับผู้ป่วยจากสถานพยาบาลที่ถูกมวลน้ำ "เล่นงาน" อยู่ในขณะนี้

"จริงๆ เราทำก่อนหน้านั้นอยู่แล้วค่ะ" ผศ.ดร.หทัยชนก บัวเจริญ หรือ "อาจารย์นก" อาจารย์ประจำคณะพยาบาลศาสตร์ ที่รั้งตำแหน่งผู้ดูแลระบบบริการโรงพยาบาลสนามเท้าความ

ที่ทำอยู่ก่อน... ในความหมายของเธอก็คือ การดูแลผู้ป่วยที่เป็นผู้พักพิง ซึ่งทางศูนย์ฯ ได้ใช้พื้นที่ชั้น 2 ของอาคารจัดเป็นส่วนพยาบาล นอกจากห้องพยาบาลใต้ถุนอาคารที่เป็นฐานหลักในการดูแลผู้อพยพ และมีอาสาสมัครนักศึกษาพยาบาลของมหาวิทยาลัยมาช่วย

"เราจัดเซ็ตการปฐมพยาบาลเบื้องต้น (First aid) ให้ อย่างผู้ป่วยอัมพฤกษ์ของ 2 ครอบครัวที่เป็นผู้พักพิง เอาหนังสือมาให้ จัดเวรเด็กให้มาเยี่ยม วัดความดัน คอยแวะมาพูดคุย"

หลังจากผู้ป่วยเริ่มมีปริมาณมากขึ้น จนทาง สสจ. แสดงความจำนงอยากใช้พื้นที่ตั้งเป็นที่พักผู้ป่วยขนาด 30 เตียง ระบบ "โรงพยาบาลสนาม" จึงเป็นรูปเป็นร่างขึ้น โดยได้อาคารห้องสมุดของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม ที่เพิ่งสร้างใหม่มาปรับเป็น "อาคารพยาบาล" หรือ "เรือนนอน"

ส่วน อุปกรณ์ หรือเวชภัณฑ์ต่างๆ นอกจากที่คณะฯ นำมาใช้เอง และขอรับบริจาคแล้ว ทาง สสจ.ก็ยังส่งมาช่วยเพิ่มเติมโดยเฉพาะ ทีมพยาบาลวิชาชีพ และแพทย์ ทั้งจากโรงพยาบาลในนครปฐมเอง และโรงพยาบาลชุมชน จากราชบุรี ซึ่งประสานงานผ่านโรงพยาบาลศูนย์นครปฐมเป็นแม่ข่าย โดยใช้ระบบเดียวกับการควบคุมโรค หรือติดเชื้อในโรงพยาบาลเป็นมาตรฐาน ทั้งการแยกถังขยะติดเชื้อ จัดเรื่องการล้างมือ เรื่องอุปกรณ์ เรื่องดูแลผู้ป่วย เป็นต้น

บทบาทหลักของตัวโรงพยาบาลที่ถูกวางไว้ก็คือ การเป็นที่พักพิง-ส่งต่อในกรณีที่ แพทย์เห็นว่า "ตึงมือ"

"ถ้าหายใจเองไม่ได้ ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจ เราจะไม่รับ" อาจารย์นก ยกตัวอย่าง

หรือกรณี ต้องฉีดยาติดต่อกัน มีอาการติดเชื้อรุนแรง และแพร่กระจายเชื้อกับคนอื่น อย่าง วัณโรคปอด ตลอดจน กรณีที่มีอาการทางจิตประสาท ก่อกวนคนอื่น ทางโรงพยาบาลแห่งนี้ก็ต้อง "ขอผ่าน"

แต่คนไข้ทั้ง 26 คน ที่ประจำเตียงอยู่วันนี้ ก็มีตั้งแต่ภาวะติดเชื้อเรื้อรัง เส้นเลือดในสมองแตก เบาหวาน ความดัน หรือเคสที่ต้องรับยาต่อเนื่อง และคนไข้โรคจิต-ประสาทที่มีอยู่ แน่นอนว่าไม่ได้เบากว่าเคสที่ปฏิเสธไปสักเท่าไร

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. "ผู้สูงอายุทั้งนั้นค่ะ" เธอบอก

    พยาบาล "ลูกผสม"

"เพราะเราไม่มีคนดูแล มีแต่นักศึกษาที่ประสบการณ์ยังไม่ถึง เด็กปี 2 เราเรื่องการพยาบาลยังไม่ได้ ได้แค่พื้นฐานดูแล ความสุขสบายทั่วไป" นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมพยาบาลที่ประจำอยู่ในส่วนนี้ จึงหน้า "ละอ่อน" กันส่วนใหญ่
 ด้วยความเป็นคณะเปิดใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่ปีที่ 2 ของการศึกษา นักศึกษายังไม่เคยผ่านภาคปฏิบัติมาก่อน แต่สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ว่าที่พยาบาลทั้ง 54 คน ได้ลองลง "สนามจริง" ไปโดยปริยาย

"กลัว แถมเกร็งด้วยค่ะ" เป็นคำสารภาพของ อาย - ภัสราภรณ์ สมบุตร นักศึกษาพยาบาลปี 2 หนึ่งในพยาบาลจำเป็นที่มารับหน้าเสื่อครั้งนี้

ขณะที่ อะตอม - วิทย์วุฒิ จันทร์กระแจะ นักศึกษาพยาบาลร่วมห้องอีกคน มองว่าเป็นอะไรที่ต่างจากตำราอย่างสิ้นเชิง

"ตอนเรียนจะมีขั้นตอนค่อนข้างซับซ้อนอยู่แล้ว แต่ก็ฝึกกับหุ่น แต่พอมาเจอคนจริงๆ เขาเคลื่อนไหวตัวเองได้ ซึ่งก็ทำให้เป็นอุปสรรค บางคนก็มีโลกส่วนตัว บางเคสก็ต้องรีบทำแข่งกับเวลาก็มี ต้องปรับเฉพาะหน้าเยอะครับ" เขาแบ่งปันประสบการณ์

ทั้งอาย อะตอม และเพื่อนๆ ถูกเรียกตัวกลับระหว่างปิดภาคเรียน ภายหลังจากที่ โรงพยาบาลสนามเริ่มเป็นรูปเป็นร่างในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 โดยก่อนหน้านั้น จะเป็นการ "ขอแรง" ช่วยดูแลผู้อพยพในศูนย์พักพิงฯ มากกว่า

"นักศึกษาเราทั้ง 2 ชั้นปี มีทั้งหมด 99 คน แต่เรียกกลับมาได้ 54 คน เพราะที่เหลือติดน้ำท่วม" อาจารย์นกเสริม
 แน่นอนว่า การเรียกกลับมานอกจากจะช่วย "ผ่อนแรง" ทีมพยาบาลวิชาชีพที่ถูกส่งมาประจำแล้ว "หน้างาน" ตรงนี้ยังถูกปรับให้กลายเป็น "วิชาเรียน" ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับตัวนักศึกษาเองก่อนลงปฏิบัติจริงอีกด้วย

"นอกจากเราบริการสังคมแล้ว เราก็ขอเรียนรู้จากสังคมด้วย" รศ.ดร.สุนุตตรา ตะบูนพงศ์ คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มองถึง "โอกาส" ใน "วิกฤติ" คราวนี้

ลักษณะการทำงานภายในอาคารโรงพยาบาลสนามจึงเป็นแบบ "คู่ขนาน" ที่นอกจากจะมีพยาบาลวิชาชีพประจำเวรตั้งแต่ 7.00 - 19.00 น. และ 19.00 - 7.00 น.ตามปกติแล้ว ยังมี "เวรเด็ก" ที่ทำงานล้อกันไปด้วย

"แต่เด็กจะอยู่แค่ 4 ทุ่มค่ะ คือ เวรเช้า 7.00 -15.00 เวรเย็น 15.00-22.00 ถือเป็นฝึกปฏิบัติเลย มีอาจารย์เข้ามาดูแล" ผู้ดูแลระบบโรงพยาบาลคนเดิมอธิบาย

ที่สำคัญ ถึงพยาบาลจะมีนักศึกษาเป็นส่วนผสม แต่ก็ไม่ได้ทำให้ "มาตรฐาน" โรงพยาบาลตกลงแต่อย่างใด

"ไม่แตกต่างค่ะ" วาสนา ภูมิชัยศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ โรงพยาบาลพุทธมณฑล หนึ่งในทีมพยาบาลที่มารับหน้าที่ระหว่างโรงพยาบาลต้นสังกัดกำลังจมน้ำยืนยัน เพราะความพร้อมด้านสถานที่ และอุปกรณ์จะไม่เท่าโรงพยาบาล แต่ก็ต้องปรับให้ได้มาตรฐานเท่ากัน ไม่ว่าจะเป็นโซนสะอาด หรือโซนติดเชื้อ

"อย่างน้อยคนไข้ที่มาอยู่ที่นี่ก็ต้องไม่ติดเชื้อเพิ่ม" เธอบอก

    "อาสา" พยุงระบบ

การมีโรงพยาบาลภาคสนาม ทำให้ภายในศูนย์พักพิงแบ่งระบบการดูแลออกเป็น 2 ส่วน คือ โซนศูนย์พักพิง และโซนเรือนนอน เพื่อให้การดูแลด้านสาธารณสุขเป็นไปอย่างทั่วถึง

เมื่อศักยภาพการดูแลเพิ่ม ปริมาณคน และปริมาณของ ย่อมเพิ่มตามไปโดยปริยาย บุคลากร เวชภัณฑ์ และการประสานงาน จึงถือเป็นปัญหาแรกๆ ที่อาจารย์นกในฐานะผู้ดูแลระบบต้องเจอ

วันนี้ แม้ทางศูนย์จะได้กำลังจาก นพ.พนมพันธ์ ศิริวัฒนานุกูล อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ และผู้อำนวยการสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คุณหมออีกคนที่ "ตกงาน" เพราะน้ำท่วมโรงพยาบาล มาช่วยนั่งประจำห้องตรวจให้

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ทุกอย่าง "เสถียร" ขึ้น

"ปกติทาง สสจ.ก็จะหาแพทย์มา จาก รพ.พุทธมณฑล และรพ.นครปฐม มาตรวจทุกวัน แต่ตอนนี้ระบบยังไม่นิ่ง เขาก็เลยมาบางวัน บางเวลา แต่ก็มีมาทุกวัน" เธอบอก

ปริมาณเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์สนับสนุนต่างๆ ก็ยังเป็นปัญหาอยู่

"อุปกรณ์อะไรขาด ถ้าที่คณะมีก็มาหนุนเสริม ในช่วงแรก ของขาด ขอบริจาค ก็อาจารย์ และนักศึกษานี่แหละค่ะ ไปขอในตลาดองค์พระ เราก็ทำลิสต์รายการเวชภัณฑ์ รายการยา พ่อค้าแม่ค้า คนเดินตลาดก็ให้มาเยอะ ทั้งยา ผ้าถุง ผ้าปูเตียง ผ้าอ้อม ยาพื้นฐาน ก็ได้มา"

ยังไม่นับเรื่องการบริหารจัดการคนไข้ อาทิ บางกรณีที่พยาบาลไม่สามารถจ่ายยาเองได้ ก็พยายามแก้ไขปัญหาด้วยการส่งต่อไปยังโรงพยาบาล หรือไม่ก็เจียดเวลาหมอให้เข้ามาตรวจรักษา ซึ่งทั้งหมด เป็นสถานการณ์ที่ต้องแก้แบบ "วันต่อวัน" มากกว่า

"เฉพาะหน้ามากค่ะ" เธอยืนยัน

และ "ค่าใช้จ่าย" ที่เป็น "ปัญหาคลาสสิก" ตลอดเวลา

ภาระกว่า 20,000 บาทต่อวัน เฉพาะค่ายา ค่าอุปกรณ์ ไม่ได้นับค่าน้ำค่าไฟ หรือค่าแรงที่ส่วนใหญ่เป็นจิตอาสา ก็ยังไม่มีความชัดเจนว่า

..ส่วนนี้ ใครจ่าย ?

"ต้องทำใจนะ เพราะหน่วยราชการเรารู้ว่าทำงานยังไง" ผศ.สมเดช นิลพันธุ์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม บอกเอาไว้ตั้งแต่วันแรกๆ ที่ตัดสินใจรับทำเรื่องโรงพยาบาลสนาม

สิ่งที่เขาวางแผนเอาไว้ก็คือ "ควักเนื้อ" การขออนุมัติงบประมาณจากสภามหาวิทยาลัยไว้จำนวนหนึ่ง เพื่อใช้สนับสนุนการดำเนินการของโรงพยาบาล หากไม่มีหน่วยงานใดแสดงความรับผิดชอบ ตลอดระยะเวลาประมาณการ 2 เดือนเพื่อรอน้ำลด

"ตอนนี้โชคดีที่เรายังไม่ได้ใช้เงินมหาวิทยาลัย วันนี้เรายังมีเงินบริจาคที่บริจาคเข้ามา ยาก็องค์การเภสัชกรรม มีบางส่วนที่ซื้อบ้าง ที่จำเป็นจริงๆ ก็ใช้เงินบริจาคจัดหามา ใช้หน้าเสื่อตรงนี้  ได้มาใช้ไป จนท้ายสุด โอเค ไม่มีใครบริจาคแล้ว จึงเอาเงินที่มีอยู่มาใช้  เพราะการทำงานในมหาวิทยาลัยบางคนก็เห็นด้วย บางคนก็ไม่เห็นด้วย ต้องระมัดระวังเรื่องการใช้เงินตรงนี้เหมือนกัน"

ความระมัดระวังที่ ผศ.สมเดชพูดถึงก็คือ การตรวจสอบการใช้เงิน เพราะถึงแม้จะเห็นว่าเป็นการช่วยเหลือประชาชนจริงๆ แต่ด้วยระบบราชการ "การใช้เงินผิดวัตถุประสงค์" ก็อาจทำให้ ถูกตีความว่า "ทุจริต" ก็ได้

อย่างไรก็ตาม ภาพการดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ของบรรดาอาสาสมัครพยาบาล ก็ทำให้บรรยากาศในโรงพยาบาลเฉพาะกิจแห่งนี้ เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และเป็นยาบำรุงกำลังใจขนานเอกให้ผู้ประสบภัยสามารถยิ้มสู้ปัญหาผ่านไปได้อย่างดีอีกด้วย

"เหยียบไว้นะ หลานๆ เขาดูแลดีกว่าบางโรงพยาบาลที่เคยไปอีก" เสียงยายวิไลวรรณกระซิบกระซาบด้วยรอยยิ้ม

---------------
ส่งน้ำใจให้โรงพยาบาลสนาม

ผู้ที่ต้องการสนับสนุนศูนย์พักพิง และโรงพยาบาลสนามของ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐม สามารถบริจาคได้ที่ บัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย สาขามหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม เลขที่ 980-6-68225-4 โครงการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครปฐมร่วมใจต้นภัยน้ำท่วมและช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

รายการสิ่งของที่ต้องการับบริจาค : ผงซักฟอกแบบห่อ 10 บาท, แปรงสี, ขวดนม, ผ้าอ้อมสำเร็จรูปผู้ใหญ่ ไซค์ใหญ่ กลาง, เจลล้างมือ, เชือกตากผ้า, แป้ง, หมอนผ้าห่ม, ชุดชั้นใน, ผ้าถุง, เสื้อผ้า, รองเท้า, น้ำยาซักผ้าเด็ก, แปรงล้างขวดนม, โลชั่นทาผิวแบบซอง, แปรงซักผ้า, พริกไทย, น้ำมันพืช, พริกแกงทุกชนิด, ซอสมะเขือเทศ, ซอสหอยนางรม, หมูบด, ไก่สับ, ต้นหอม, ผักชี, หอมแดง, ซี้อิ๋วดำ, กะปิ, กระเทียม, น้ำตาลปีบ, น้ำตาลทราย

โดย : ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
กรุงเทพธุรกิจ 16 พฤศจิกายน 2554