ผู้เขียน หัวข้อ: อุทกภัยในบรรณพิภพ  (อ่าน 1187 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
อุทกภัยในบรรณพิภพ
« เมื่อ: 12 พฤศจิกายน 2011, 21:19:51 »
เป็นเรื่องธรรมดา...เมื่อถึงฤดูน้ำหลาก น้ำย่อมไหลตามเส้นทางแม่น้ำลำคลองก่อนออกสู่ทะเล แต่เพราะปีนี้น้ำมากหลากแรง กว่าจะไหลคืนสู่ห้วงสมุทรได้ก็ทิ้งอะไรไว้มากมายเหลือคณานับ นอกจากสรรพสิ่งต่างๆที่ถูกสายน้ำกวาดเรียบแล้ว ยังมีตะกอนแห่งความสูญเสีย ตะกอนความเห็นแก่ตัว และตะกอนแห่งความขัดแย้งเปรอะเปื้อนให้เห็นมากมายทั่วประเทศ

 ตั้งแต่ฤดูมรสุมปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พายุหมุน 'นกเตน' ขึ้นฝั่งทางตอนเหนือของประเทศเวียดนาม สายฝนกระหน่ำเป็นวงกว้าง แทบทั้งประเทศไทยถูกปกคลุมด้วยม่านฝน นานวันปริมาณน้ำจากชั้นฟ้าที่ร่วงลงสู่พื้นดินค่อยๆ ทบทวี มากขึ้น...มากขึ้น...
 เมื่อน้ำมาก หมายความว่า ถึงฤดูน้ำหลากแล้ว กฎธรรมชาติของน้ำคือไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ น้ำจากภาคเหนือซึ่งสะสมไว้มากกว่าทุกปีเริ่มไหลทะลักโดยมีปลายทางอยู่ที่ทะเล แต่กว่าจะไปถึงหมุดหมายต้องผ่านจังหวัดต่างๆ หากพื้นที่ใดเป็นสัน เป็นดอน ย่อมปลอดภัย แต่ถ้าพื้นที่ใดเป็นแอ่ง หรือลุ่ม ก็ย่อมเจิ่งนองด้วยน้ำ
 ตลอดทางที่น้ำปริมาณมหาศาลนี้ไหลผ่าน ก่อเกิดผลกระทบต่อผู้หลงลืมพลังแห่งธรรมชาติ ผู้ประเมินสายน้ำผิดพลาด จนบ้านเรือนจมใต้บาดาล คนไร้ที่อยู่อาศัย สัตว์เลี้ยงถูกทอดทิ้งให้รอวันตาย หรือไม่ก็ต้องอพยพกันจ้าละหวั่น และเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า
 ภายในสัปดาห์แรกของอุทกภัยมีรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตถึง 13 คน อุทกภัยดำเนินต่อไปใน 16 จังหวัด ขณะที่ฝนยังคงตกลงมามาก ภายในเวลาไม่นานอุทกภัยก็ลุกลามไปทางใต้เมื่อแม่น้ำเจ้าพระยารับน้ำปริมาณมากจากแม่น้ำสาขา จนถึงวันที่ 4 ตุลาคม เขื่อนส่วนใหญ่มีน้ำใกล้เต็มหรือเกินความจุ
 น้ำแทบกลืนกินทุกสิ่งทุกอย่างที่ขวางหน้า ไม่เลือกเพศเลือกวัย ไม่เลือกคนรวยคนจน ไม่เลือกอาชีพใดๆ ...คนทุกวงการโดนเหมือนกันหมด  และคนในแวงวงบรรณพิภพก็เช่นกัน อุทกภัยไม่มีการยกเว้น หรือให้สิทธิพิเศษใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านนักเขียน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ สายส่ง ร้านหนังสือ หรือแม้กระทั่งคนอ่านหนังสือ ล้วนแล้วแต่โดนอย่างถ้วนหน้า
 ตั้งแต่น้ำไหลหลากจากภาคเหนือ อีสาน กลาง สู่กรุงเทพฯ นักเขียนและบรรณาธิการมากมายกลายเป็นผู้ประสบภัยไปโดยปริยายเมื่อน้ำเยือนเรือนชาน อาทิ บรรณาธิการระดับปรมาจารย์ สุชาติ สวัสดิ์ศรี ที่ต้องซัดเซลุยกระแสน้ำไหลเอ่อเกือบท่วมเกือบหัวออกจากบ้านเพื่อลี้ภัย แม้ชีวิตของครอบครัวสวัสดิ์ศรีและสัตว์เลี้ยงจะรอดปลอดภัยดี ทว่ายังมีสมบัติของชาติมากมายต้องจมน้ำ หนังสือซึ่งประเมินค่ามิได้ วันนี้จำต้องสูญหายจากโลกไปอย่างน่าเสียดาย แม้มีบางเสียงเรียกร้องให้ผู้ทรงอำนาจเหลียวแลสักนิด ส่งคนเข้าไปกอบกู้สมบัติแผ่นดินในบ้านสุชาติ ทว่า ก็ไร้เสียงตอบกลับใดๆ

น้ำมาแล้วครับท่านนายกฯ !
 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม เจน สงสมพันธุ์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำทัพคณะกรรมการสมาคมฯ และเจ้าหน้าที่ เดินทางเยี่ยมเยือนนักเขียนผู้ประสบภัยที่จังหวัดลพบุรี แต่ยังไม่ทันพ้นวัน เย็นวันเดียวกันนั้นขณะที่คณะบุคคลจากสมาคมนักเขียนฯ จะเดินทางต่อไปเยี่ยมนักเขียนผู้ประสบภัยที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมืองกรุงเก่าก็กลายสภาพเป็นเมืองบาดาลไปเสียแล้ว
 เท่านั้นไม่พอ บ้านและสำนักงานของนายกฯ เจน ซึ่งอยู่ที่ ต.คลองสอง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี กลายเป็นพื้นที่ประสบอุทกภัยทันที เพราะน้ำจากอยุธยาไล่ตามหลังนายกฯ เจนมาถึงบ้าน แม้เขาจะพยายามรับข้อมูลข่าวสารมากมายเพื่อเตรียมรับมือ แต่ท้ายที่สุดทรัพย์สินบางส่วนก็เสียหาย หนำซ้ำเขายังต้องอพยพหลบภัยไปยังบ้านหลังที่สองอีก
 "ผมเจอตั้งแต่วันที่ 9 แล้ว พอกลับจากลพบุรีก็เจอเลย คืนนั้นน้ำจากอยุธยามาแล้ว เพราะผมอยู่คลองสอง น้ำเริ่มเข้าไปที่เก็บหนังสือแล้ว ข้อมูลแต่ละวันที่เราติดตามมันผิดพลาด อย่างข้อมูลบอกให้เราคิดว่าพ้นแล้ว วางหนังสือบนพาเหรดสามชั้น พอวันต่อมามันขึ้นมา ก็เพิ่มเป็นสี่ชั้น พอสี่ชั้นก็มาประเมินอีกว่าไม่น่าจะรอด ก็ต้องย้ายกันใหม่ ย้ายกันหลายรอบ เช่น วันที่ 20 ศปภ.ประกาศว่าน้ำจะขึ้นสูงที่สุด ปรากฏว่ามันไม่ใช่ มันมาขึ้นสูงสุดอีกวัน มันผิดหมด อย่างบ้านพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ใครจะคิดว่าท่วมเกือบถึงฝ้า"
 นอกจากนายกสมาคมฯ จะเป็นผู้ประสบภัย นักเขียนหลายคนก็มีสถานะไม่แตกต่างกัน เช่น จตุพล บุญพรัด หรือ ชีวี ชีวา นักเขียนและบรรณาธิการแพรวสำนักพิมพ์ ก็ยังติดอยู่ในบ้านย่านบางบัวทองจนถึงปัจจุบัน
 ชีวี ชีวา เล่าว่า น้ำมามากเกินคาด ทั้งๆ ที่เขาประเมินสถานการณ์ก่อนหน้านี้ตลอดเวลา
 "ทีแรกกะว่าคงจะท่วมแบบโรแมนติก (หัวเราะ) คือน้ำแตะๆ เท้าบนผิวถนน แค่นั้นก็คงจะเต็มที่แล้ว เพราะว่าแรกๆ ช่วงที่มันจ่อ ตั้งแต่วันที่ 10 เป็นต้นมา น้ำมันเริ่มเข้ามาแตะหมู่บ้าน มาจ่อหลังหมู่บ้าน รอบๆ หมู่บ้าน คล้ายๆ ว่ามันล้อม คนในหมู่บ้านก็ช่วยกัน จิตอาสาช่วยขนกระสอบทราย วางแนวมิดชิดพอสมควร แต่หลังจากนั้นมันเริ่มซึมมาจากท่อ ผมก็นั่งดูมันอยู่ทุกวัน เอาเก้าอี้สนามเอกเขนกกันหน้าบ้าน ดูน้ำค่อยๆ ปริ่มขึ้น เริ่มมีปลาหลุดมาทีละตัว มันก็ดูน่ารักดีนะ ก็คงไม่มีอะไรหรอก แต่พอถึงคืนวันที่ 17 อยู่ๆ ประมาณก่อนเที่ยงคืนมาแบบน้ำป่าเลยเว้ย ผมเองก็ลุกขึ้น ไม่ได้นั่งหลับหรอก แต่นั่งรอ พอเห็นมันมาตามถนนสายหลักก็ตะโกนเรียกเพื่อนบ้านว่าน้ำมาแล้ว ตอนนั้นแหละเริ่มโกลาหล น้ำมาทีเดียวระดับครึ่งเอว คนที่ไม่ค่อยเตรียมตัวก็หนีไม่ทันหรอก มันมาตูมเดียว ส่วนคนที่ไม่เคยเจอก็รีบอพยพกันคืนนั้นก็เยอะ มันเป็นภาพโกลาหล แต่พอรุ่งขึ้น สองสามวันก็เข้าสู่ภาวะปกติ"
 หลังจากน้ำเข้ามายึดพื้นที่หมู่บ้านของเขา เริ่มมีเสียงบ่นอุบ บางคนโวยวายหาคนรับผิดชอบ และร้องหาความช่วยเหลือ ชีวี ชีวา บอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเรื่องปกติของคนที่ปรับสภาพไม่ได้ ส่วนการช่วยเหลือจะเข้ามาถึงหรือไม่ เขาไม่สนใจ เพราะในสถานการณ์แบบนี้ควรพึ่งตนเองก่อน
 "ก่อนหน้านั้นเราก็ตามข่าวเรื่องนี้มานานแล้ว ตั้งแต่นครสวรรค์ อยุธยา ลพบุรี ซึ่งคนเหล่านั้นโดนหนักกว่าเราไม่รู้เท่าไร พอมาถึงเรานิดๆ หน่อยๆ ก็โวยวาย เมืองไทยเราเป็นแบบนี้กันเยอะ แทนที่จะตั้งรับ ปรับสภาพ มักจะไม่เข้าใจ มัวแต่รอคอย เรียกร้องต้องการให้คนเข้ามาช่วย กลายเป็นสับสนวุ่นวาย ไร้ระเบียบ ถ้าเราตั้งหลักสักหน่อย อย่างที่เจอนี่ปัญหาคือเข้า-ออกลำบาก งานการที่ทำอยู่ถ้าเราทำที่บ้านได้บ้างก็ไม่เป็นไร เสบียงอาหารถ้าพอมีไว้ หรือเดินย่ำไปซื้อได้บ้างก็ไม่เป็นไร"
 สำหรับ ชีวี ชีวา อุทกภัยครั้งนี้ยังกระทบเขาไม่มากนัก จากประสบการณ์ที่สั่งสมมาทั้งชีวิต ช่วยบรรเทาความตระหนกไปจากใจได้มากโข จะมีก็แต่เพียงประหลาดใจ เพราะหมู่บ้านที่เขาอาศัยมานับสิบปีน้ำไม่เคยท่วม ปีนี้คือปีแรกที่ท่วม และท่วมมากด้วย
 "คนที่ไม่เคยเจอ ไม่เคยพบ ไม่เคยเห็นก็อาจจะตื่นเต้น ตกใจ อย่างเรา รุ่นนี้ก็อาจจะพอผ่านนู่นผ่านนี่มาพอสมควร ปกติที่นี่ไม่เคยท่วม แต่ก็มาท่วม ก็เท่านั้นเอง พอท่วมก็ปรับสภาพกันไปตามระดับน้ำ เราพยายามคิดว่ามันเป็นธรรมชาติ มันมาเดี๋ยวมันก็ผ่านไป เราเองเป็นคนที่เข้มแข็งก็ไม่ได้รู้สึกว่าติดเกาะ ไปไหนไม่ได้ หรือรู้สึกว่าแย่แล้ว ต้องให้คนนั้นคนนี้มาฃ่วยเหลือ บางอย่างเราช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนคนที่เข้ามาช่วยตามหมู่บ้านเราก็ยินดี เราขอบคุณ เช่น เอาถุงยังชีพมาให้"
 นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ยังมีนักเขียนและคนวรรณกรรมอีกหลายคนที่บ้านถูกนำท่วม ไม่ว่าจะเป็น นิวัติ กองเพียร,อาริตา,เอก อัคคี,ปลาอ้วน...และอีกหลายๆคน รวมทั้งนิรันศักดิ์ บุญจันทร์ บก.จุดประกายวรรณกรรม ก็โดนสายน้ำถล่มจนต้องอพยพออกจากบ้าน พร้อมหมากับแมวที่เลี้ยงดูเอาไว้

สมาคม (ไม่ทิ้ง) นักเขียน
 ในประเทศไทยมีสมาคมมากมาย บางสมาคมเป็นตัวเอ้ในวงการของตน แต่บางสมาคมใหญ่โตด้วยชื่อเสียงและผลงาน ทว่า หาได้มีทุนทรัพย์มากนัก สมาคมนักเขียนฯ ก็เช่นเดียวกัน ลำพังทุนรอนสำหรับทำกิจกรรมกิจการต่างๆ ภายในสมาคมยังต้องใช้อย่างจำกัดจำเขี่ย แต่เมื่อเกิดภัยพิบัติต่อนักเขียน ในฐานะผู้ดูแลและญาติทางวรรณกรรม สมาคมนักเขียนฯ จึงเร่งหามาตรการช่วยเหลืออย่างสุดแรงกำลัง
 แต่ด้วยภาวะที่คณะกรรมการแต่ละคนก็ยังต้องแก้ปัญหาเฉพาะตน บางคนยังต้องตั้งรับกับน้ำมหาศาลที่อาจมาถึงตัวเมื่อไรก็ได้ ณ ตอนนี้มาตรการเร่งด่วนที่พอจะทำได้คือช่วยเหลือเฉพาะหน้า
 เจน สงสมพันธุ์ กล่าวว่า "กำลังคิดอยู่ว่าจะทำอะไร เมื่อวานก็คุยกับสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ ว่าจะให้ความช่วยเหลือนักเขียนอย่างไร ในตอนนี้ก็คงจะรวบรวมข้อมูลก่อน เพราะภาวะของสมาคม เวลาจะทำอะไรก็ต้องมีแหล่งเงินทุนจากภาคเอกชน เพราะเราไม่เคยได้รับการสนับสนุนจากทางภาครัฐเลย คนที่เข้ามาบริหารจึงมีหน้าที่หลักคือหางบประมาณ แต่ที่ยังบอกอะไรมากไม่ได้ เพราะเวลามีเรื่องอะไรต่างๆ เราต้องไปคุยกับองค์กรเอกชน ว่าเราจะทำอะไร สอดคล้องกับนโยบายของเขาไหม
 การช่วยเหลือเฉพาะหน้าอย่างที่ลพบุรี เมื่อวันที่ 9 เราก็ไปเยี่ยมนักเขียน เช่น ปานศักดิ์ นาแสวง เยี่ยมนักเขียนลพบุรี ไปที่ราชภัฎที่ลพบุรี พอกลับมาที่อยุธยาตอนเย็นน้ำก็ท่วมเมือง วันที่ 10 แถวรังสิตก็เริ่มมาแล้ว ผมก็ไปเฝ้าโกดัง วันที่ 14 เรากับพวกมาลีฮวนน่าก็จัดรับบริจาค คือ ช่วยเฉพาะหน้าก่อน ในบางที่ที่มีนักเขียนอยู่ เราก็เอาถุงยังชีพไปให้กับนักเขียน นักเขียนกระจายให้แก่เพื่อนบ้าน  ให้รู้ว่าในวงการนี้ก็ยังมีการดูแลกัน อันนี้ในเบื้องต้น แต่พอท่วมหนักยังต้องตัวใครตัวมันอยู่ เพราะเดือนนี้สมาคมก็ยังไม่ได้ประชุม เลื่อนไป เพราะระหว่างที่นัดประชุมประจำเดือนก็อยู่ในช่วงวันที่ 20 กว่าๆ น้ำก็จะท่วมหนัก แต่ละคนก็ต้องเฝ้าระวัง ผมก็มีจดหมายไปถึงกรรมการสมาคม นอกจากเราจะทำหน้าที่ต่างๆ อยู่แล้ว ก็ให้คิดงานต่อไปด้วยว่าเราจะแก้ไขปัญหาอย่างไร แต่สิ่งที่รับอยู่ทุกวันคือนักเขียนคนไหนมีปัญหาอะไรบ้าง อย่างพี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็รับทราบกัน ส่งข้อความให้กำลังใจแก่กันและกันอยู่"
 ณ ขณะนี้ สำนักงานสมาคมนักเขียนฯ ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่คณะกรรมการต่างๆ ไม่สะดวกเข้าไปปฏิบัติหน้าที่ การขอรับความช่วยเหลือ หรือรับแจ้งข้อมูลนักเขียนผู้ประสบภัยจึงเป็นหน้าที่ของ นรีภพ สวัสดิรักษ์ เป็นผู้รับเรื่องต่างๆ ไว้ เมื่อมีโครงการเป็นรูปธรรม ทางสมาคมจะใช้ข้อมูลส่วนนี้เพื่อกระจายความช่วยเหลือสู่นักเขียน
 เหตุผลหนึ่งที่ทำให้มาตรการล่าช้า เพราะภาครัฐยังไม่เหลียวแลวงการนี้สักเท่าไร แม้แต่รัฐบาลเองก็ยังสับสนกับวิธีแก้ปัญหา ถึงแม้จะมีหน่วยงานภายนอกต้องการยื่นมือมาช่วยเหลือสมาคมนักเขียน พอเห็นความอ่อนแอของรัฐบาลแล้วคงไม่มีใครกล้าเสี่ยง
 "สำนักวัฒนธรรมบางที่เขาก็อยากช่วยเหลือแต่ปรากฏว่าข่าวที่ออกไปจากบ้านเรา มันมีปัญหากับหน่วยงานรัฐบาลมาก เพราะข้อมูลรัฐบาลก็ไม่แน่น แล้วก็มีเรื่องคอร์รัปชั่นอยู่ เขาจึงถามมาว่าจะบริจาคอย่างไรเพราะก็ไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล ส่วนหนึ่งนักเขียนต้องช่วยเหลือตัวเองระดับหนึ่ง แต่การช่วยเหลือจากองค์กรคงเป็นหน้าที่ของสมาคมนักเขียนว่าจะช่วยเหลืออย่างไร"
 วลีที่ว่า "ปิดทองหลังพระ" อาจยังใช้ได้ดีในสถานการณ์แบบนี้ เพราะนอกจากสมาคมฯ จะหาแนวร่วมจากสมาคมอื่นและจากภาคเอกชนแล้ว ความช่วยเหลืออย่างมีระบบระเบียบโดยหน่วยทหารและหน่วยงานท้องถิ่นช่วยลดปัญหาและความล่าช้าลงมาก
 "สมาคมนักเขียนไม่สามารถทำด้านสังคมสงเคราะห์โดยตรง แต่ในระหว่างน้ำท่วมถ้าเยี่ยมกันได้ก็เยี่ยมกัน ที่ผ่านมาที่ลพบุรีมีระบบจัดการโดยทหารที่ชัดเจน เราสามารถประสานงานได้ก่อนหน้าเพียงหนึ่งวัน บอกชัดเจนว่าเขาสามารถสนองตอบเรื่องยานพาหนะเราได้ แต่ในกรุงเทพฯ นนทบุรี อยุธยา เราสับสนมาก หน่วยงาน ศปภ.ของรัฐบาลตอบเราไม่ได้ว่าเราจะไปเยี่ยมนักเขียนคนนี้ เขามีเรือให้เราไหม พอตอบตรงนี้ไม่ได้เราก็ทำงานยากเหมือนกันนะ
 ที่ลพบุรี พอท้องถิ่นประสานมาปั๊บ เราก็จัดการได้เลย เราเอาของต่างๆ ไป 98 ชุด พอไปถึง เอาของลง ฟังบรรยายสรุปที่ราชภัฏ เราออกมารอรถห้านาทีมีรถพาเราไปถึงจุดหมายปลายทางเรียบร้อย แต่ตั้งแต่มีการตั้งศูนย์มาที่ดอนเมือง ประสานแล้วมันไม่ได้ เราต้องการประสานว่ามีตรงนี้ไหม เขาบอกว่า มันเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉิน เอาเรื่องเฉพาะหน้าก่อน อย่างที่อยุธยา เราบอกว่าอยากได้เรือไปพื้นที่บ้านนักเขียนท่านหนึ่ง เขาบอกว่ายังไม่สามารถจัดให้ได้ ต้องติดต่อมาอีกรอบหนึ่ง นี่คือสิ่งที่เป็นปัญหา"
 ไม่ว่าจะติดขัดมากน้อยเพียงใด แต่นายกฯ เจนก็ยังย้ำชัดถึงมาตรการช่วยเหลือที่สมาคมฯ พร้อมหยิบยื่นให้นักเขียนทุกคน เพียงต้องรอเวลาและปริมาณน้ำให้ลดลงก่อน นโยบายต่างๆ จึงจะเดินหน้าต่อได้
 "หลังน้ำท่วมก็มีการเสนอโครงการอยู่แต่รอประชุมกรรมการหาโครงการที่ชัดเจน ตอนนี้ก็ส่งความเห็นไปให้กรรมการต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาผมตะลึง เพราะส่งไปแล้วมันเงียบหมดเลย เพราะทุกคนก็กำลังแก้ปัญหาของตัวเองอยู่ กำลังตะลึงกับน้ำท่วมว่ามันท่วมจริง ก่อนหน้านั้นตั้งแต่อยุธยา ปทุมธานี รังสิต โดนมาก่อน ตอนนี้คนกรุงเทพฯ กำลังยุ่งกับปัญหาอยู่ และกรรมการก็อยู่รอบใน ปกติเวลาเราติดต่อ ส่งอีเมลติดต่อกัน แต่ในสัปดาห์ที่ผ่านมามันเงียบไปเลย แสดงว่าก็กำลังมีปัญหากันจริงๆ"

อยู่ได้ถ้าเข้าใจน้ำ
 แม้ปัญหาดังกล่าวมีทีท่าจะบานปลาย ยังไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่ถึงอย่างไรชีวิตก็ยังต้องดำเนินต่อ ตราบใดที่ลมหายใจยังคงผ่อนเข้าผ่อนออกทุกคืนวัน นั่นแปลว่า เรายังมีชีวิต ยังสู้ต่อไปได้
 สำหรับหนุ่มบ้านนอกอย่าง ชีวี ชีวา ธรรมชาติไม่น่ากลัวแต่ทรงพลัง ดังนั้นเขาจึงเลือกโอนอ่อนผ่อนตามพลังของธรรมชาติ ดีกว่าต้านทานจนตัวตาย
 "อย่างผมเองพื้นฐานดั้งเดิมมาจากธรรมชาติ สังคมบ้านนอก เราจะเจอสิ่งเหล่านี้มา เจอธรรมชาติของน้ำป่า เจอพายุ ต่อสู้ชีวิตในวัยเด็ก เราผ่านความเข้มแข็งสร้างเสริมกระดูกมายาวนาน ในบางช่วงเราได้เห็นเพื่อนต่างจังหวัดประสบภัยเราจึงเข้าใจมันได้ ถ้าจะว่ากันจริงๆ คนโบราณเขาเข้าใจสิ่งเหล่านี้เป็นธรรมชาติ เข้าใจว่าพอถึงฤดูน้ำหลากน้ำก็จะมา แล้วก็ไม่มีใครไปกั้นขวางทางน้ำ น้ำก็จะไหลไปตามทางธรรมชาติ ตามแม่น้ำลำคลอง ออกสู่ท้องทุ่ง เขารับรู้ เข้าใจ ถ้ารู้ว่าน้ำจะหลากมาก็เตรียมตัว เก็บข้าวของเข้าสู่ยุ้ง เก็บขึ้นสู่ที่สูง สถาปัตยกรรมอะไรต่างๆ มันอธิบายได้หมด
 แต่ในยุคปัจจุบันความเจริญ ตึกรามบ้านช่องระบบอุตสาหกรรมสร้างความเจริญ สร้างความสะดวก รวดเร็ว สร้างความง่ายๆ ให้กับคนยุคสมัยใหม่ พอเขาเจอธรรมชาติที่เขาป้องกันมันได้ในสถานการณ์ที่ไม่มากเท่าครั้งนี้นะ เขาจึงชะล่าใจ ไม่นึกว่าน้ำจะลงมาได้อย่างไรทั้งภาค จากภาคเหนือสู่ภาคกลาง ไล่ตีทีเดียวพังพ่ายยับกันไป เขาไม่นึกถึงหรอก เขาคิดว่าป้องกันได้ ไม่ว่านิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เขาคิดว่าป้องกันได้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่ ยิ่งป้องยิ่งโดน ยิ่งป้องยิ่งหนัก กว่าจะรู้ตัวกันตอนท้ายๆ สังเกตไหมทีแรกตั้งป้อมสู้ สู้ สู้ ตอนหลังเริ่มเบี่ยงให้น้ำไหลออกข้าง ไม่ปะทะส่ง ไม่น่าเชื่อว่าเราไม่มีภูมิปัญญากันเลย กว่าจะตั้งรับมันได้ใช้เวลาเป็นเดือน ก็คิดว่าจะเข้าใจมันแล้วแต่ทุกวันนี้มันยังตบตีกันอยู่เลย ไม่ว่านายกรัฐมนตรี ผู้ว่าฯ ถ้ามองดีๆ มันเป็นเรื่องตลกบนความขมขื่นของพี่น้องประชาชน ความระส่ำระสาย ความไร้สาระ ความไม่เข้าใจ พูดไปก็หาว่าไปวิพากษ์เขา แต่วิธีแก้ไขของคนที่เกี่ยวข้องโดยภาพรวมมันสอบตกโดยสิ้นเชิง
 เราต้องยึดหลักธรรมชาติ ธรรมชาติเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ เราต้องนอบน้อมถ่อมตน ธรรมชาติยิ่งใหญ่และไม่มีใครจะไปชนะเขาได้ พูดอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าให้เรายอมแพ้ แต่ให้เรายอมรับในกฎของธรรมชาติ กฎของน้ำ ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ น้ำมากย่อมท่วมมาก ก็เท่านั้นเอง
 หลักของการกินอยู่ ต้องปรับตัว เดิมทีเรามีสังคมน้ำ มีวัฒนธรรมน้ำ ในวันนี้ก็ประมาณอย่างนั้น เราต้องปรับตัวเองด้วย ต้องนึกว่าจริงๆ ก่อนที่ใครจะมาช่วยเราอะไรบ้างที่เราช่วยตัวเองได้ หลังจากที่ผ่านช่วงโกลาหลไปแล้ว ต้องปรับ มีอะไรกินก็กิน อดทน อย่าเครียด จะเจ๊งไปแล้วกี่ล้านไม่มีประโยชน์ ตัวเลขตอนนี้ไม่มีความหมายเลย
 ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก็แปลกนะ สังคมหมู่บ้านจัดสรรอย่างที่ผมอยู่ คนไม่พูดกันนะ ต่างคนต่างอยู่ แต่จากเหตุการณ์นี้คนหันมาพูดกัน กลับมาถามทุกข์สุขกัน มีอะไรแบ่งปันกัน ให้ถือสิ่งเหล่านี้เป็นบทเรียน"
 เชื่อว่าวันนี้ยังมีผู้ประสบภัยรายใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ คงไม่มีใครหลบเลี่ยงได้ จุดประกายวรรณกรรมภาวนาให้ทุกคนอดทน เรียนรู้ เข้าใจ ปรับตัว และอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างปลอดภัย
 อุทกภัยจะรุนแรงเพียงใดไม่สำคัญ มีแต่น้ำใจคนไทยเท่านั้นที่จะชะล้างคราบสกปรกและรอยน้ำตาให้หมดไปได้

โดย : ปริญญา ชาวสมุน
กรุงเทพธุรกิจ 6 พฤศจิกายน 2554