ผู้เขียน หัวข้อ: โรงพยาบาลเอกชนพร้อม ระดม"แพทย์-ยา" รับวิกฤต24ชั่วโมง  (อ่าน 1472 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9753
    • ดูรายละเอียด
ร.พ.เอกชนพร้อมรับมือน้ำท่วมเมืองกรุง "สมิติเวช-บำรุงราษฎร์-เกษมราษฎร์-รามคำแหง" เผย โอเปอเรชั่นช่วงวิกฤต ระดมทีมแพทย์พยาบาลรับมือเต็มร้อย สั่งเพิ่มสต๊อก "ยาและเวชภัณฑ์-อาหาร-น้ำ-ไฟ" มั่นใจอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า 2-3 เดือน เผยหากกรณีฉุกเฉินเตรียมแผนสำรองย้ายคนไข้หนักไป ร.พ.ที่น้ำไม่ท่วม

นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการ บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ ในฐานะนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า สมาชิกโรงพยาบาลเอกชนมีการเตรียมตัวที่ดีระดับหนึ่ง ขึ้นอยู่กับที่ตั้งของแต่ละโรงว่าอยู่ในพื้นที่ต่ำหรือไม่ ขณะเดียวกันก็มีโครงการ "เพื่อนช่วยเพื่อน" เพื่อช่วยเหลือ ร.พ.ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม

นอกจากนี้สมาคมได้ริเริ่มเสนอตัวและชวนสมาชิกจำนวน 57 แห่ง ในส่วนที่ ต่อเนื่องกับพื้นที่ประสบภัย (จากจำนวนสมาชิกกว่า 240 โรง) ในการดูแลรักษา ผู้ป่วย (ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน) โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติ ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วย ที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติ ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม หรือข้าราชการที่ใช้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ

นายแพทย์เฉลิมกล่าวว่า สำหรับกลุ่มเกษมราษฎร์ในกรุงเทพฯและปริมณฑล (ประชาชื่น บางแค รัตนาธิเบศร์ สุขาภิบาล 3) นอกจากการเตรียมทำแนวกั้นน้ำไม่ให้เข้าพื้นที่ ร.พ. กลุ่มยังได้เตรียมในส่วนของเวชภัณฑ์ยา อาหาร น้ำดื่ม สำรองไว้ 2 เดือน พร้อม เครื่องปั่นไฟฟ้าและน้ำมันรองรับได้ 7-10 วัน และได้เตรียมความพร้อมของทีมแพทย์และเจ้าหน้าที่โดยให้พักภายในโรงพยาบาล

รวมทั้งได้มีการเตรียมแผนย้ายผู้ป่วยหนักในกรณีฉุกเฉินไปยังโรงพยาบาลในเครือ อาทิ สาขาสระบุรี ส่วนสาขารัตนาธิเบศร์ และบางแค ซึ่งได้รับผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่ทำให้การ เดินทางลำบาก ทั้ง 2 สาขาจึงเปิดให้บริการเฉพาะผู้ป่วยหนักและฉุกเฉิน และเคลื่อนย้ายคนไข้ไปยัง ร.พ.ในเครือ

นายแพทย์จิตจำลอง หะริณสูต ผู้ช่วยผู้อำนวยการฯ และประธานคณะกรรมการบริหารจัดการในสถานการณ์น้ำท่วม โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท กล่าวว่า นอกจากการเตรียมกันแนวกั้นน้ำและเครื่องสูบน้ำเครื่องปั๊มน้ำไว้รองรับแล้ว สมิติเวชยังได้เตรียมระบบไฟฟ้าสำรอง เครื่องปั่นไฟ และสำรองเชื้อเพลิงได้อีก 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ยังมีคลังอาหารสามารถอยู่ได้ถึง 4 สัปดาห์ พร้อมเครื่องกรองน้ำ 11 เครื่อง ส่วนเวชภัณฑ์ยาเชื่อมั่นว่าจะมีเพียงพอสำหรับใช้ถึงเดือนธันวาคม

พร้อมกันนี้ยังอำนวยความสะดวกในการเดินทางและการทำงานให้กับบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ร.พ. ด้วยการเช่าหอพักใกล้โรงพยาบาล หรือในกรณีน้ำท่วมสูงก็ได้เตรียมแผนการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลในเครือ ทั้งสมิติเวช ศรีนครินทร์, สมิติเวช ศรีราชา, บีเอ็นเอช และโรงพยาบาล อื่น ๆ ภายใต้กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ

ขณะที่ น.พ.ศิริพงษ์ เหลืองวารินกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท โรงพยาบาลรามคำแหง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้แม้ว่าโรงพยาบาลในเครือทั้งรามคำแหง และสินแพทย์ จะยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่บริษัทก็ได้เตรียมความพร้อมต่าง ๆ ไว้รองรับ ไม่ว่าจะเป็นแผนการขนย้ายผู้ป่วยหนัก ซึ่งได้เตรียมความพร้อมไว้ทั้งในแง่การขนส่งที่ได้พูล รถพยาบาลในเครือไว้มากกว่า 20 คัน เพื่อส่งต่อไปยัง ร.พ.ในเครือที่มีขีดความสามารถและน้ำไม่ท่วม

ส่วนยาและเวชภัณฑ์ได้เตรียมความพร้อมมาระยะหนึ่งแล้ว จากปกติที่สต๊อกไว้ 3 เดือนก็เพิ่มอีก 1 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมียาและอุปกรณ์เพียงพอ รวมทั้งเรื่องอาหารการกินที่จะอยู่ได้นานไม่ต่ำกว่า 1 เดือน ขณะเดียวกันก็มีการเตรียมเครื่องปั่นไฟสำรองไว้ในกรณีฉุกเฉินด้วย

"สิ่งที่ขาดไม่ได้คือแพทย์และพยาบาล ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการดูแลรักษาผู้ป่วย ดังนั้นโรงพยาบาลจึงเปิดวอร์ดให้แพทย์และพยาบาลมาพักที่โรงพยาบาล ขณะที่ผู้บริหารก็จะอยู่สแตนด์บายที่โรงพยาบาลตลอด 24 ชั่วโมง"

ด้านนายแมค แบนเนอร์ ผู้อำนวยการด้านบริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้บริเวณโดยรอบ ร.พ.ยังไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ได้เตรียมแนวทางป้องกันเพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยได้ต่อเนื่อง ทั้งการตั้งกระสอบทรายพร้อมแผ่นเหล็กกั้นน้ำโดยรอบทั้ง 3 อาคาร โดยเฉพาะห้องควบคุมระบบไฟฟ้าได้ป้องกัน 2 ชั้น และเตรียมน้ำมันสำรองในกรณีที่มีความต้องการไว้ ส่วนของเวชภัณฑ์ ยา อาหาร และน้ำ ได้เตรียมสำรองล่วงหน้าประมาณ 2 เดือน พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมทางด้านบุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ ด้วยการจัดเซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ไว้ให้พัก

"ตอนนี้เรายังเปิดให้บริการตามปกติทั้งแผนกคนไข้นอก คนไข้ใน และศูนย์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตามหากน้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤตก็ได้เตรียมแผนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยบางส่วนซึ่งจะพิจารณาตามอาการไปยังโรงพยาบาลพันธมิตร ส่วนคนไข้หนักที่ต้องนอนในห้องไอซียู การเคลื่อนย้ายอาจมีความเสี่ยง ซึ่ง ร.พ.มั่นใจว่ามีความพร้อมในการดูแลได้ดี"

ขณะที่ น.พ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเจ้าพระยา กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ขณะนี้แม้ว่าตัว ร.พ.จะไม่ถูกน้ำท่วม แต่เนื่องจากถนนบริเวณรอบ ๆ ถูกน้ำท่วม ทำให้การเดินทางของผู้ปวยที่จะเข้ามารับการรักษาไม่สะดวก ร.พ.จึงได้เตรียมรถและเรือสำหรับการรับส่งผู้ป่วยไว้เป็นจุด ๆ เพื่อรับส่งผู้ป่วยที่จะเดินทางไปรับการรักษาพยาบาล รวมทั้งการจัดทีมแพทย์พยาบาล และพาหนะ เพื่อให้การดูแลผู้ป่วยประจำที่ต้องรับยาต่อเนื่อง เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ ส่วนกรณีผู้ป่วยล้างไตของเจ้าพระยา ร.พ.จะให้เข้าพักใน ร.พ. โดยไม่คิดมูลค่า

10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ปีที่ 35 ฉบับที่ 4365  ประชาชาติธุรกิจ