ผู้เขียน หัวข้อ: ยาชื่อสามัญ ทรัพย์สินทางปัญญา กับความตึงเครียดเหนือ-ใต้  (อ่าน 2018 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
สวัสดีครับ บางท่านอาจยังคงจำได้ว่าเมื่อปีก่อน มีกรณีการกักสินค้ายาที่ชื่อ Losartan ระหว่างจอดแวะท่าที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต และประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินเดียและบราซิล ซึ่งเป็นต้นทางและปลายทางของสินค้ายาดังกล่าว พร้อมทั้งองค์กรภาคประชาสังคมหลายแห่ง

อาทิ หมอไร้พรมแดน ได้ออกมาแสดงความกังวลต่อการบังคับใช้กฎหมายศุลกากรของสหภาพยุโรป หรือ "อียู" ซึ่งอาจมีผลเป็นอุปสรรคต่อการขนส่งยาชื่อสามัญ (generic drug) เนื่องจากเมื่อยาดังกล่าวแวะท่า (transit) ในประเทศที่มีการคุ้มครองสิทธิบัตรสูตรยาดังกล่าวไว้ ก็อาจโดนกล่าวหาว่าเป็นสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาได้
 เรื่องนี้ บราซิลและอินเดียมองว่า Lorsartan ผลิตโดยถูกกฎหมายที่อินเดียและสามารถนำเข้าบราซิลได้โดยถูกกฎหมาย เนื่องจากบริษัทยาอเมริกันไม่มีสิทธิบัตรที่บราซิลหรืออินเดีย และยาดังกล่าวควรได้รับเสรีภาพในการแวะท่า (freedom of transit) ดังนั้น ศุลกากรเนเธอร์แลนด์ ซึ่งดำเนินการตามข้อบังคับของสหภาพยุโรป ไม่ควรที่จะแทรกแซงการขนส่งยาดังกล่าว ขณะที่อียูยืนยันหนักแน่นว่าเป็นการบังคับใช้กฎหมายที่พรมแดน (border measure) ที่ศุลกากรเนเธอร์แลนด์นั้น ทำได้ตาม TRIPS (ความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลก)และแม้จะเป็นสินค้า แวะท่า (goods in transit) อียูก็มีสิทธิบังคับใช้กฎหมายของตนในอาณาเขตของตน โดยไม่ผิดกติกาการค้าระหว่างประเทศ
 ตามคาดครับ อินเดียและบราซิลกัดไม่ยอมปล่อย หลังจาก "หารือ" กับอียูและเนเธอร์แลนด์มาปีที่แล้วตลอดปี ในที่สุดก็ฟ้องร้องทั้งสองสมาชิกที่องค์การการค้าโลก(WTO) เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยเริ่มกระบวนการหารืออย่างเป็นทางการภายใต้องค์การ ซึ่งก็ทราบกันดีว่า คือก้าวแรกของการฟ้องคดี เพื่อสร้างแรงกดดัน และจะสามารถนำไปสู่การขอจัดตั้ง dispute settlement panel ในที่สุด เรื่องนี้เนเธอร์แลนด์พลอยติดร่างแหไปด้วยครับ ในฐานะประเทศสมาชิกที่บังคับใช้ border measures ตามข้อบังคับของอียู
 อินเดียกับบราซิลพักหลัง ๆ นี้ ดูจะหงุดหงิดกับอียูเหลือทน เพราะไม่ว่าจะหารือกันมากี่เดือน อียูใช้วิธีแก้ตัวปากเปล่าอยู่เรื่อย ไม่มีหลักฐานมาสนับสนุน แถมที่พูดปาวๆ เอาไว้ว่ามาตรการศุลกากรของตนจะช่วยตรวจสอบไม่ให้ยาปลอมเข้ามาในเส้นทางการ ค้า ถือเป็นประโยชน์ด้านสาธารณสุข ฝ่ายอียูก็ไม่เคยบอกได้ซักทีว่าเคยจับยาปลอมที่มาแวะท่าได้กี่รายแล้ว มิหนำซ้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้กฎหมายศุลกากรของตนในเรื่องนี้อีกด้วย เหมือนจะยั่วโมโหกันแท้ๆ แบบนี้อาบังกับพี่แซมบ้าจึงต้องจับมือกันฟ้องเสียให้รู้เรื่องไปเลย
 หากมองในบริบทกว้าง ท่านผู้อ่านคงเห็นตรงกับผมว่าในช่วงหลายปีมานี้ มีความตึงเครียดอยู่มากระหว่างการรักษาสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญากับมาตรการ ด้านสาธารณสุข ซึ่งแฝงอยู่ในความตึงเครียดเหนือ-ใต้ โดยแม้ว่าความตกลง TRIPS จะให้ความยืดหยุ่นในการบังคับใช้สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะเพื่อประโยชน์ด้านสาธารณสุข แต่ก็ดูเหมือนมีความพยายามจากประเทศพัฒนาแล้วที่จะตอบโต้ด้วยการเพิ่มการปก ป้องทรัพย์สินทางปัญญาด้วยวิธีอื่น อาทิ การเสนอพันธกรณีปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาที่เกินกว่าในความตกลง TRIPS หรือที่เรียกว่ากันติดปากว่า "TRIPS-plus" ในการเจรจาเอฟทีเอ นอกจากนี้ บางประเทศยังจับกลุ่มเพื่อเจรจา Anti-Counterfeit Trade Agreement เพื่อเสริมสร้างการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา โดยไม่ยอมเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาให้ภายนอกรับรู้ ทำให้มีการคาดการณ์ต่างๆ นานาเกี่ยวกับการใช้มาตรการศุลกากรปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและดูเหมือนยิ่ง สร้างความหวาดระแวงระหว่างกันมากขึ้นอีก
กรณีการกัก Lorsartan ที่ท่าเรือรอตเตอร์ดัมข้างต้นจึงเสมือนเป็นการยืนยันว่าสิ่งที่โลกเหนือ-ใต้
หวาดระแวงกันอยู่นั้น น่าจะมีมูลอยู่ ดังนั้น แม้เนเธอร์แลนด์จะไม่ใช่เป้าหมายหลักของการโต้ตอบจากอินเดียและบราซิล แต่ก็ไม่วายถูกดึงเข้าไปอยู่ท่ามกลางความตึงเครียดนี้ครับ แถมอยู่ฝ่ายที่ต้องตั้งรับอีกด้วย คงต้องติดตามกันต่อไปครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 2,531   16-19  พฤษภาคม พ.ศ. 2553