ผู้เขียน หัวข้อ: สธ.ดึงแพทย์ ตจว.38 ทีม บริการจุดวิกฤต กทม.พร้อมจับตาโรคระบาดพื้นที่น้ำลด  (อ่าน 1025 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
 สธ.ระดมทีมแพทย์เกือบ 40 ทีม จากต่างจังหวัด เข้าช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในจุดวิกฤตใน กทม.เช่น ทวีวัฒนา บางพลัด ดอนเมือง และที่นนทบุรี ปทุมธานี และให้ทุกจังหวัดที่น้ำเริ่มลด เร่งควบคุมป้องกันโรคระบาด เช่น ฉี่หนู อุจจาระร่วง ไข้หวัดนก ตาแดง และเตรียมพร้อมยารักษา เผยล่าสุดพบผู้ประสบภัยป่วยกว่า 9 แสนราย มีอาการซึมเศร้า 6,516 ราย จิตแพทย์ต้องให้การรักษาด้วยยาเกือบ 5,000 ราย
       
       วันนี้ (31 ต.ค.) นายวิทยา บุรณศิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงการช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมของ สธ.ว่า วันนี้ได้สั่งระดมทีมแพทย์เคลื่อนที่ 38 ทีมจากต่างจังหวัด เข้าไปให้บริการประชาชนที่อยู่ในพื้นที่วิกฤติ ใน กทม.เช่น ที่เขตบางพลัด ทวีวัฒนา ดอนเมือง เนื่องจากระดับน้ำท่วมสูงขึ้น และมีชุมชน บ้านจัดสรร ซอกซอยจำนวนมาก รวมทั้งที่จังหวัดนนทบุรีและปทุมธานีด้วย โดยจะใช้เรือเข้าไปหาผู้ป่วยที่ติดอยู่ตามบ้าน ให้ทั่วถึงที่สุด บ้านใดที่มีผู้ป่วยเรื้อรังติดอยู่ในบ้าน ขอให้ใช้ผ้าสีเขียว แขวนไว้ที่หน้าต่างบ้าน ให้เห็นชัด เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่ามีผู้ป่วยเรื้อรังอยู่ในบ้าน ทีมแพทย์จะได้เข้าไปให้การดูแลประเมินสุขภาพ
       
       จังหวัดที่น้ำลดแล้วให้เร่งควบคุมความสะอาดสุขาภิบาล สิ่งแวดล้อม ขยะ สิ่งปฏิกูล เพื่อป้องกันโรคระบาด ที่จะตามมาภายหลังน้ำท่วม ที่ต้องระวังคือโรคฉี่หนู โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง ไข้หวัดใหญ่ โรคตาแดง และโรคไข้หวัดนก เน้นย้ำในพื้นที่ที่เคยพบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก เช่นพิจิตร อุทัยธานี พิษณุโลก แม้ว้าจะไม่พบผู้ป่วยโรคนี้มานกว่า 4 ปีแล้วก็ตาม แต่เนื่องจากในช่วงน้ำท่วมคนใกล้ชิดกับไก่มาก สภาพอากาศเริ่มเย็นลง เอื้อให้เชื้อไวรัสเจริญดีขึ้น และให้เตรียมพร้อมยารักษารองรับ ซึ่งได้รับรายงานว่าทุกพื้นที่น้ำท่วมยังไม่พบโรคใดๆ ระบาด
       
       ด้าน นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในการวางความพร้อมของโรงพยาบาลใน กทม.ขณะนี้ได้ย้ายผู้ป่วยหนักที่อาการคงที่ออกไปเรื่อยๆ รวม 395 ราย การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยดี หากมีผู้ป่วยหนักที่จะต้องย้ายออกไปอีก ก็มีเตียงรองรับเต็มที่ สำหรับการตั้งโรงพยาบาลสนาม ในพื้นที่ กทม.กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกทม. ตั้ง 3 มุมเมือง ด้านตะวันออก มอบให้โรงพยาบาลนพรัตนราชธานีดูแล ด้านเหนือตั้งที่มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ให้โรงพยาบาลสมุทรปราการรับผิดชอบ ด้านตะวันตกตั้งที่ขนส่งสายใต้ใหม่ มอบให้โรงพยาบาลสุพรรณบุรี และเพชรบุรี จะเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
       
       ผลการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ยอดสะสมจนถึงขณะนี้ มีทั้งหมด 948,618 ราย อันดับหนึ่ง คือโรคน้ำกัดเท้า พบได้ประมาณร้อยละ 70 ของผู้ป่วย ส่วนการตรวจคัดกรองปัญหาสุขภาพจิตในผู้ประสบภัยทุกพื้นที่ พบเครียด 108,382 ราย เครียดในระดับสูง 5,459 ราย ซึมเศร้า 6,516 ราย เสี่ยงฆ่าตัวตาย 956 ราย ต้องติดตามดูแลใกล้ชิด 1,505 ราย และทีมจิตแพทย์ต้องให้การรักษาด้วยยาจำนวนทั้งหมด 4,687 ราย
       
       อย่างไรก็ตาม จากการเดินทางเข้าไปตรวจเยี่ยมสถานการณ์น้ำท่วมในเขตชุมชนหนาแน่นทั้งใน กทม.นนทบุรี ลักษณะน้ำท่วมจะแช่ขัง และมีหนูจำนวนมากหนีน้ำขึ้นไปอยู่ตามบ้าน กองขยะ ซอกอาคาร ซึ่งเสี่ยงจะทำให้ผู้ประสบภัยเสี่ยงติดเชื้อโรคฉี่หนู จึงขอแนะนำให้ประชาชนสวมรองเท้าบูต หรือสวมถุงพลาสติกยาว หนา หุ้มเท้าให้สูงเลยข้อเข่าและสวมถุงเท้า รองเท้าทับ ป้องกันไม่ให้สัมผัสน้ำ ป้องกันเกิดบาดแผล หลังขึ้นจากน้ำให้รีบล้างเท้าฟอกสบู่เช็ดให้แห้ง และป้องกันโรคน้ำกัดเท้า ด้วยการโรยแป้งฝุ่นตามซอกเท้า เพื่อไม่ให้ซอกนิ้วเท้าเปื่อย หรืออาจใช้กระดาษทิชชูสอดระหว่างนิ้วเท้า เพื่อไม่ให้ซอกนิ้วเท้าติดกัน ทำให้ผิวชื้นและเปื่อยได้ และให้สังเกตอาการ หากป่วยมีไข้สูงทันทีทันใด ปวดศีรษะ หนาวสั่น และมีอาการปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะที่น่อง ขอให้คิดถึงโรคไข้ฉี่หนู ควรรีบไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลสนาม หรือที่หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ หรือที่สถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ทันที และให้แจ้งประวัติการแช่น้ำให้แพทย์ทราบด้วย เพื่อการรักษาได้อย่างทันท่วงที

ASTVผู้จัดการออนไลน์    31 ตุลาคม 2554