ผู้เขียน หัวข้อ: โรงพยาบาลเอกชนโต้กรณีเรียกเก็บเงินรักษาผู้ป่วยน้ำท่วม  (อ่าน 1011 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9755
    • ดูรายละเอียด
    จากกรณีที่ พญ.วิลาวัลย์ จึงประเสริฐ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ข้าราชการและผู้ประกันตนที่มีบัตรประกันสังคมเข้ารักษาโรงพยาบาลเอกชนถูกเรียกเก็บเงิน ทำให้ผู้ประสบภัยประสบปัญหาเพราะไม่มีเงินติดตัวมากนัก

    ในวันนี้ นายแพทย์เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ต้องทำความเข้าใจกับผู้ใช้บริการว่า โรงพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมโครงการรับรักษาผู้ประสบภัยน้ำท่วมมีจำนวนเพียง 57 แห่ง และให้บริการผู้ที่ถือบัตรทองหรือบัตรประกันสังคมในจังหวัดที่ประสบอุทกภัยเท่านั้น ส่วนกรณีล้างไต สำนักงานหลักประกันสุขภาพจะเป็นผู้จัดการเอง ส่วนกรณีของข้าราชการ ถ้ารักษาพยาบาลต้องสำรองจ่ายแล้วไปเบิกกับกรมบัญชีกลาง เพราะเป็นประกาศกฎระเบียบของกรมบัญชีกลาง ในส่วนของโรงพยาบาลเอกชน 57 แห่งที่เข้าร่วม ถ้าผู้ป่วยเข้ารับการรักษาและเข้าหลักเกณฑ์ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและสำนักงานประกันสังคมกำหนด ทางโรงพยาบาลไม่เคยเรียกเก็บเงินเลย แต่ข่าวที่ออกมาทำให้โรงพยาบาลเอกชนเสียความรู้สึก ทั้งที่ตั้งใจให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการดูแลผู้ป่วยที่ประสบอุทกภัย

    ด้าน นายแพทย์พิพัฒน์ พงศ์รัตนามาน ที่ปรึกษาสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า ในช่วงวิกฤตอุทกภัยโรงพยาบาลเอกชนได้จัดแพทย์ พยาบาล รถพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ ออกหน่วยเคลื่อนที่ไปช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยตลอด โดยไม่ได้เลือกปฏิบัติว่าจะเป็นผู้ป่วย บัตรทอง บัตรประกันสังคม ข้าราชการ การที่อธิบดีกรมการแพทย์ออกมาให้สัมภาษณ์ว่า โรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินกับผู้ป่วยที่ประสบอุทกภัยที่เข้ารักษาพยาบาล ไม่ควรที่จะเหมารวมใช้คำว่า โรงพยาบาลเอกชน ซึ่งหมายรวมถึง โรงพยาบาลเอกชนทั้งหมด ทำให้โรงพยาบาลเอกชนที่มีความตั้งใจช่วยเหลือทางราชการรู้สึกท้อ เสียความรู้สึก หากมีข้อสงสัยอันใดเกี่ยวกับการที่ผู้ป่วยร้องเรียนก็ควรที่จะสอบถามมายังสมาคมโรงพยาบาลเอกชนก่อนเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริง ข่าวที่ออกไปจะได้ไม่บิดเบือน เป็นข้อมูลที่ถูกต้องและตรงตามความเป็นจริง

เนชั่นทันข่าว 27 ตค. 2554