ผู้เขียน หัวข้อ: ผ่าเส้นทาง"ตะวันตก" ภารกิจผันน้ำ4พันล."ฝืด"  (อ่าน 1647 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9742
    • ดูรายละเอียด

หมายเหตุ - เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม จากสถานการณ์มวลน้ำระลอกล่าสุด คาดว่ามีปริมาณราว 400 ล้านลูกบาศก์เมตร บริเวณพื้นที่รังสิต-ดอนเมือง กำลังจ่อทะลักเข้าพื้นที่ใจกลางของกรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ การค้า และการบริหารราชการของประเทศ ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (ศปภ.) เร่งผันน้ำลงสู่อ่าวไทย 3 เส้นทางหลัก คือ 1.แม่น้ำเจ้าพระยา 2.ฝั่งตะวันตกด้านแม่น้ำท่าจีน 3.ฝั่งตะวันออกด้านแม่น้ำบางปะกง

ทีมข่าว "มติชน" เกาะติดการแก้วิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในรอบ 5 ทศวรรษ ด้วยการตะลุยดูเส้นทางผันมวลน้ำก้อนมหึมาที่จ่ออยู่เหนือกรุงเทพมหานครทางด้านประตูระบายน้ำ และสถานีสูบน้ำฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา เป็นเส้นทางการระบายน้ำไปยังแม่น้ำท่าจีนลงสู่ทะเลด้าน จ.สมุทรสาคร

ทีมข่าว "มติชน" ใช้เส้นทางด่วนพระราม 2 เข้าถนนเอกชัย สู่ตัวเมืองมหาชัย ผู้คนที่นั่นยังใช้ชีวิตเป็นปกติ ตลาดอาหารทะเลยังคงเปิดขาย โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งเดินเครื่องผลิตสินค้า ไม่พบเห็นการก่อกระสอบทรายหรือคันดินกั้นบ้านเรือนเหมือนชาว กทม.

สอบถาม "จรินทร์ สงวนทรัพย์" ชาวมหาชัย ได้ความว่า รู้ข่าวจะมีการผันน้ำมาทางสมุทรสาคร คิดว่าถ้าน้ำมาคงต้องยอม เพราะจะให้น้ำท่วมกรุงเทพฯไม่ได้

"ถ้าน้ำท่วมที่มหาชัยอาจสูงแค่ระดับหัวเข่าหรือน่อง ไม่นานก็ลดลง เพราะอยู่ติดทะเลระบายน้ำได้ง่าย ผมคิดว่าควบคุมสถานการณ์ได้ สำหรับตัวเองไม่ได้ตื่นตัวหรือกลัวอะไรแต่ก็ไม่ประมาท เตรียมพร้อมรับมือโดยขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงประมาณ 1 เมตร สำหรับน้ำท่วมเมืองมหาชัย เกิดขึ้นเป็นปกติตามสถานการณ์น้ำขึ้นน้ำลง แต่ท่วมขังไม่นานเท่าไหร่" จรินทร์กล่าว

ทีมข่าว "มติชน" สำรวจประตูระบายน้ำและสถานีสูบน้ำคลองมหาชัย ซึ่งมีประตู 6 บานสำหรับระบายน้ำ และเครื่องสูบน้ำขนาด 3 ลบ.ม.ต่อวินาที จำนวน 12 เครื่อง

จากนั้นเดินทางทวนแม่น้ำท่าจีน โดยใช้ถนนสวนส้มเลียบคลองสวนส้ม มาถึงตัว อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำคลองภาษีเจริญ พบว่าเจ้าหน้าที่กำลังประชุมอย่างเคร่งเครียดเพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และจากการสำรวจพบว่าน้ำในคลองภาษีเจริญตอนนี้ยังอยู่ในระดับปกติ ต่ำกว่าตลิ่ง 1.5 เมตร เนื่องจากน้ำทางเหนือยังผันมาไม่ถึง อย่างไรก็ตาม มีการเตรียมพร้อมผันน้ำออกแม่น้ำท่าจีน มีเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม./วินาที จำนวน 6 เครื่อง และติดตั้งเพิ่มอีก 5 เครื่อง รวมทั้งสิ้น 11 เครื่อง

"พิสิษฐ์ พิบูลย์สิริ" ผู้อำนวยการโครงการชลประทานสมุทรสาคร กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในสมุทรสาครตอนนี้ ประเมินสถานการณ์เป็น 3 ระดับ คือ 1.เฝ้าระวัง-รับฟังข่าวสาร 2.ยกของขึ้นที่สูง และ 3.การอพยพ สำหรับในพื้นที่คลองภาษีเจริญ ช่วง อ.กระทุ่มแบน ตอนนี้อยู่ในขั้นที่ 2 โดยเริ่มมีการผันน้ำจากทางเหนือเข้าสู่คลองแล้ว เป็นน้ำที่รับออกมาจากคลองมหาสวัสดิ์ ผ่านคลองทวีวัฒนา โดยจะผันน้ำออกได้หลายเส้นทาง อาทิ ลงสู่แม่น้ำท่าจีน, คลองสี่วาตากล่อม, คลองแคลาย, คลองบางน้ำจืด, คลองน้อย, คลองมะเดื่อ ฯลฯ รวมแล้วกว่า 30 สายที่จะลงสู่คลองมหาชัย และจะผันออกสู่แม่น้ำท่าจีนตรงปากคลองมหาชัยอีกที

"สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมที่ชาวกระทุ่มแบนเป็นห่วง ตอนนี้ได้ประสานงานกับทางเทศบาลรายงานให้ทราบ คิดว่าน่าจะระบายน้ำทั้งระบบได้ทัน แต่อยากให้ประชาชนช่วยเฝ้าระวังสถานการณ์ ขอความร่วมมือละเว้นการทิ้งสิ่งปฏิกูลลงคลอง เพราะอาจขวางทางน้ำ หากน้ำท่วมจริงคิดว่าสามารถระบายน้ำได้เร็ว เพราะว่าอยู่ติดปากอ่าวไทย" พิสิษฐ์กล่าว

ทีมข่าว "มติชน" สำรวจในตัว อ.กระทุ่มแบน พบว่าที่ทำการเทศบาลเมืองกระทุ่มแบน มีประชาชนและเจ้าหน้าที่กำลังกรอกทรายใส่กระสอบ สำหรับเตรียมรับน้ำท่วม นอกจากนี้ ในตลาดกระทุ่มแบน ยังพบว่าร้านค้าหลายร้านการก่อกำแพงอิฐบล็อก และกระสอบทรายสูงเกือบ 50 เซนติเมตร เพื่อปิดทางน้ำ ชาวกระทุ่มแบนตื่นตัวกับสถานการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้เป็นอย่างยิ่ง

เมื่อสอบถามจาก "พยงค์ เข็มวัน" ชาวสวนในกระทุ่มแบน กล่าวว่า ติดตามข่าวสารน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง รู้สึกกลัวมาก เนื่องจากเป็นบ้านสวนชั้นเดียวอยู่ติดคลอง จึงทำแนวกระสอบทรายกั้นรอบบ้านและยกของขึ้นที่สูง นอกจากนี้ยังมีเรือเตรียมไว้ด้วย ที่บ้านอยู่กันสามคน พ่อ แม่ ลูกวัย 5 ขวบ มีการตุนอาหารไว้เหมือนกัน นอกจากนี้เริ่มมีการฝากสิ่งของไว้ที่โรงเรียนต่างๆ โดยจะมีเจ้าหน้าที่เฝ้าทรัพย์สินให้ และทางเทศบาลยังประกาศสถานการณ์น้ำให้ทราบทุกวันๆ ละ 3 รอบ ทั้งยังเดินเคาะบอกถึงประตูบ้านอีกด้วย

"สำหรับตัวเอง รู้สึกกลัวมาก เพราะเป็นบ้านชั้นเดียว ก็คุยกันกับแฟนว่าถ้าน้ำสูงมากก็คงเอาชีวิตรอดไว้ก่อน" พยงค์กล่าวด้วยสีหน้าเศร้าสลด

ขณะที่ทีมข่าว "มติชน" กำลังเดินทางออกจากกระทุ่มแบน ปรากฏว่ามีฝนตกหนัก โดยใช้เส้นทางถนนพุทธมณฑลสาย 4 ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสายศาลายา พบว่าบนถนนมีน้ำท่วมขัง การจราจรติดขัด นอกจากนี้ทางมหาวิทยาลัยสร้างคันดินกั้นโดยรอบพื้นที่มหาวิทยาลัยสูงกว่า 2 เมตร

ทีมข่าว "มติชน" เดินทางไปยังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ซึ่งเป็นที่ตั้งของสถานีสูบน้ำขนาดใหญ่ของคลองมหาสวัสดิ์ โดยใช้ถนนเลียบทางรถไฟ ซึ่งก่อนเข้าสู่โครงการมีน้ำขังถนนความสูง 30 เซนติเมตร เป็นระยะทางยาว

"ชัยพร พรหมสุวรรณ" ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระพิมล เปิดเผยว่า ระดับน้ำในพื้นที่ของโครงการ โดยเฉพาะในคลองมหาสวัสดิ์ตอนนี้ เป็นมวลน้ำที่เอ่อล้นมาจาก อ.สามโคก จ.ปทุมธานี และ อ.บางบัวทอง จ.นนทบุรี ไหลมารวมกันเข้าสู่คลองมหาสวัสดิ์ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา และระดับน้ำยังสูงขึ้นเรื่อยๆ เฉลี่ยวันละ 15 เซนติเมตร กระทั่งตอนนี้ ระดับน้ำสูงเท่ากับคันกั้นน้ำของ กทม.แล้ว อีกทั้งมวลน้ำนี้ยังทำให้คันกั้นน้ำแตก 2 จุดตามที่เป็นข่าวคือ บริเวณสถานีรถไฟศาลาธรรมสพน์ และวัดปุรณาวาส จนทำให้ชุมชนแถวนั้นได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม

"สำหรับน้ำจากฝั่งตะวันตกของ กทม. ที่อยู่เหนือคลองมหาสวัสดิ์ตอนนี้ สามารถระบายออกสู่ทะเลได้ 3 ทาง คือ 1.ลงสู่แม่น้ำท่าจีน ที่สถานีสูบแห่งนี้ ซึ่งมีเครื่องสูบน้ำ 3 ลบ.ม/วินาที จำนวน 6 เครื่อง และติดตั้งเพิ่มอีก 5 เครื่อง 2.เปิดประตูระบายน้ำฉิมพลี เพื่อให้น้ำจากคลองมหาสวัสดิ์ ไหลลงสู่คลองทวีวัฒนา ไหลต่อสู่คลองภาษีเจริญ แล้วระบายให้ทางมหาชัยทำการผันน้ำลงสู่อ่าวไทยต่อไป โดยตอนนี้เปิดประตูสูง 1.8 เมตรแล้ว และน้ำไหลแรงมาก เพราะระดับต่างกันกว่า 1 เมตร และ 3.ทางแม่น้ำเจ้าพระยา" ชัยพรกล่าว

ชัยพรกล่าวอีกว่า สำหรับน้ำที่ระบายจากคลองมหาสวัสดิ์สู่คลองทวีวัฒนาและสู่คลองภาษีเจริญ ตอนนี้มีการเร่งระบายน้ำให้เร็วที่สุด ด้วยการติดเครื่องผลักดันน้ำ 4 จุด และเรือผลักดันน้ำของกองทัพเรืออีก 2 ลำ ช่วยดันน้ำ สำหรับ แนวคันกั้นน้ำของคลองมหาสวัสดิ์ที่พังลงตอนนี้ ทางเจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมอย่างเต็มที่ เพื่อให้น้ำกลับมาไหลตามระบบ แต่เนื่องจากมีมวลน้ำปริมาณมากเหลือเกิน

สถานการณ์น้ำตอนนี้ ชัยพรคาดว่าจะกลับมาเป็นปกติหลังจากผ่านปีใหม่ไปแล้ว

ระบบระบายน้ำทางด้านตะวันตก มีปัญหาหลายประการ เช่น น้ำที่ผันลงสู่แม่น้ำท่าจีนไม่สามารถระบายสู่อ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากเเม่น้ำท่าจีนมีความคดเคี้ยวมาก อีกทั้งบางตอนยังตื้นเขิน นอกจากนี้ยังไม่มีคลองระบายน้ำที่เชื่อมกับคลองมหาสวัสดิ์ ดึงน้ำลงไปทางใต้ มีคลองเพียงเส้นเดียวเท่านั้นคือ คลองทวีวัฒนา แต่ก็พบปัญหาอีกว่า ตอนปลายของคลองทวีวัฒนาที่เชื่อมกับคลองภาษีเจริญที่อยู่ในเขต กทม.นั้น มีประชาชนรุกล้ำพื้นที่คลองจนทำให้ปลายทางของคลองแคบและตื้นเขิน น้ำไม่สามารถระบายได้อย่างที่ต้องการ ต่างกับช่วงต้นและกลางของคลองมหาสวัสดิ์ที่มีความกว้างค่อนข้างมาก

ชัยพรกล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์น้ำท่วมครั้งนี้จะเป็นบทเรียนให้ทุกคนได้คิดถึงระบบการระบายน้ำและความสำคัญของคลองสาขาต่างๆ ที่สามารถช่วยผันน้ำ ปกติน้ำทางแม่น้ำท่าจีนไม่เคยเอ่อท่วมอย่างนี้ เพราะสามารถไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ตอนนี้ชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรมต่างสร้างขวางทางน้ำ จึงเกิดสถานการณ์อย่างที่เป็นอยู่

สำหรับการผันน้ำออกสู่ทะเลทางฝั่งตะวันตกของ กทม. มวลน้ำที่อยู่ทางเหนือ กระจายอยู่ตามที่ต่างๆ ทั้งปทุมธานีและนนทบุรีมีประมาณ 4,000 ล้าน ลบ.ม. จากเว็บไซต์ของกรมชลประทานเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ระบุไว้ว่า ศักยภาพในการผันน้ำลงสู่อ่าวไทยทั้งระบบทางฝั่งตะวันตกทั้งลงแม่น้ำท่าจีน แม่น้ำเจ้าพระยาอยู่ที่ 32.18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

"ชาว กทม.นนทบุรี-ปทุมธานี ที่จมมิดใต้บาดาลอยู่ในขณะนี้ รวมทั้งคนกรุงฝั่งธนบุรีที่น้ำกำลังจ่อคิวท่วม ลองบวกลบคูณหารเอาเองแล้วกันว่าจะต้องใช้เวลาผันน้ำก้อนใหญ่ขนาดนี้กี่วัน!"

หน้า 2,มติชนรายวัน ฉบับวันศุกร์ที่ 28 ตุลาคม  2554