ผู้เขียน หัวข้อ: แบกแดด เมื่อฟ้าหลังฝน(สารคดี-เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก)  (อ่าน 1687 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
แม้ผมไม่ได้กลับมาเยือนแบกแดดเพื่อเยี่ยมชมสมรภูมิเยี่ยงนักท่องเที่ยวทั่วไป แต่ก็ยากยิ่งนักที่จะไม่ทำเช่นนั้น ครั้งสุดท้ายที่ผมอยู่ที่นี่ ผมใส่ชุดพรางทะเลทราย แบกอาวุธประจำกายรับใช้ประเทศชาติในฐานะทหารราบยศสิบเอกแห่งกองทัพบกสหรัฐฯ นั่นคือระหว่างปี 2003 – 2004 ซึ่งเป็นช่วงที่มีทหารอเมริกันประจำการในอิรักถึง 150,000 นาย ตลอดหลายปีหลังจากนั้น ผมมักกังขาเสมอว่าชาวอิรักที่ดิ้นรนต่อสู้เพื่อสร้างชีวิตใหม่ของตนเองนั้นต้องเผชิญกับอะไรบ้าง ผมยังอดสงสัยไม่ได้ว่าตัวเองจะรู้สึกอย่างไร  หากได้กลับไปเดินตามท้องถนนในกรุงแบกแดดโดยไม่สวมเสื้อเกราะกันกระสุน และไม่มีเข็มขัดกระสุนนับร้อยนัดคาดทับหน้าอก

ในตอนนั้น หน่วยของผมมีหน้าที่คุ้มกันขบวนรถบรรทุกเสบียงที่ยาวเป็นงูเลื้อยผ่านตัวเมือง กลุ่มต่อต้านมีวิธีการซุ่มโจมตีที่แยบยล พวกเขาขับยวดยานที่บรรทุกวัตถุระเบิดเต็มพิกัด วันหนึ่งผู้บังคับหมู่ตะโกนให้พลปืนกลและผมกระโจนลงจากตำแหน่งที่เรายืนประจำการอยู่บนท้ายรถหุ้มเกราะ ทันใดนั้น เสียงปืนครกก็ดังฝ่าอากาศมาพร้อมกับสะเก็ดระเบิดที่โปรยปรายลงมาราวกับสายฝน เราขับรถฝ่าพายุเศษโลหะที่พร้อมจะคร่าชีวิต หัวใจเต้นรัวราวกับจะกระดอนออกมานอกอก ความทรงจำทำนองนี้ผุดขึ้นในห้วงคำนึงของผม ขณะที่เราขับรถผ่านตัวเมือง

ทว่านี่ไม่ใช่กรุงแบกแดดที่ผมเคยรู้จัก ตรงหัวถนนอาบูนูวาสใกล้กับแม่น้ำไทกริส ที่ซึ่งเสียงปืนจากพลซุ่มยิงเคยเป็นภัยรายวัน มาบัดนี้สรรพเสียงแห่งสงครามกลับถูกกลบทับด้วยเสียงของเด็กๆ   เล่นฟุตบอลในสนามหญ้า ส่วนที่ถนนไฮฟาซึ่งเคยร้อนระอุจากความขัดแย้งและการต่อสู้อันขมขื่นระหว่างนิกายในช่วงปี 2006 – 2008 เหล่าเด็กหนุ่มหยุดยืนคุยกันใกล้ทางเข้าตลาด ขณะที่เสียงเพลงป็อปของอิรักดังลั่นจากเครื่องเสียงแบบพกพา ในละแวกมหาวิทยาลัย กลุ่มเด็กสาวหอบตำราเรียนพากันหัวร่อต่อกระซิก ทุกแห่งหนในกรุงแบกแดดยามนี้เปี่ยมไปด้วยสรรพเสียงของเมืองที่กำลังฟื้นคืนชีวิต

วันแรกที่ไปถึง ผมกางแผนที่เมืองลงบนโต๊ะในลานร่มรอบอาคารที่พัก แผนที่นี้ล้าสมัยแล้ว เต็มไปด้วยจุดสีแดงและสีน้ำเงินแปะติดไว้ตามพื้นที่ต่างๆของเมือง  ชื่อย่านหลายแห่งเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่การยึดครองของพันธมิตร เมื่อถอยหลังออกมามองในมุมกว้าง จุดต่างๆที่เห็นบนแผนที่ กล่าวคือ  สีน้ำเงินข้างหนึ่งและสีแดงอีกข้างหนึ่ง หมายถึงเขตอิทธิพลของมุสลิมชีอะฮ์ที่แผ่กว้างเหนือฝั่งตะวันออกของแม่น้ำไทกริส  ส่วนชาวซุนนีกระจุกตัวอยู่ทางฝั่งตะวันตก ขณะที่ชุมชนซุนนีขยายตัวออกไปทางตะวันตก ชาวชีอะฮ์ก็รุกคืบสู่ชุมชนใกล้ริมฝั่งแม่น้ำ แม้จะยังมีชุมชนบางแห่งที่สองนิกายอยู่ร่วมกัน แต่แบกแดดก็หาใช่ต้นแบบนครทางโลกแห่งตะวันออกกลางดังที่ชาวอิรักเคยอวดอ้างและภาคภูมิอีกต่อไป วันวารที่ครอบงำด้วยความรุนแรงได้สร้างภูมิทัศน์ใหม่ที่ถูกกำหนดด้วยเผ่าพันธุ์และศาสนา

ในร้านกาแฟชาห์บันดาร์บนถนนอัลมุตานับบีย์ที่ซึ่งเหล่ากวีและนักปรัชญาไม่พิสมัยเกมหมากรุก แต่พึงใจกับการปะทะสังสรรค์ ถกเถียงอภิปราย และขบปัญหาประเทืองปัญญา ตอนที่ผมทรุดตัวลงนั่งข้างมุฮัมมัด เญาวาด อาจารย์ด้านชีววิทยาวัย 63 ปี   ผมอดไม่ได้ที่จะมองไปรอบๆและสังเกตเห็นกรอบรูปบรรจุภาพถ่ายของคนที่เสียชีวิตในเหตุระเบิดเมื่อปี 2007 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนหลายสิบคนทั้งในและนอกร้านกาแฟแห่งนี้ เมื่อผมถามถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น เญาวาดบอกว่า “เหตุระเบิดก็เหมือนเส้นวงปีต้นไม้นั่นละครับ คุณเรียกมันว่าอะไรนะ  วงปีการเจริญเติบโตใช่ไหม” ผมพยักหน้ารับขณะที่เขาเสริมว่า “ต้นไม้ผ่านทั้งเปลวไฟและความแห้งแล้งมาแล้วทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาเท่านั้น วงปีบ่งบอกทั้งช่วงเวลาที่ดีและ  ไม่ดี ช่วงนี้เป็นเวลาที่ไม่ค่อยดีสักเท่าไร แต่ทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งของการเจริญเติบโตของต้นไม้” เขาหยุดชั่วครู่เพื่อจิบชา  “ผมจะบอกให้นะครับ ประวัติศาสตร์ล้วนเป็นผลผลิตของสงคราม”

ค่ำคืนหนึ่งผมมาสูบ ชีชาห์ หรือฮูกกอห์ ที่อัดแน่นด้วยยาสูบรสมินต์   ในคลับอัลอะลาวียะห์ใกล้กับจัตุรัสฟีร์เดาส์ ที่นี่จัดว่าหรูหราโอ่อ่าทีเดียว หลังเดินฝ่าแนวกำแพงกันแรงระเบิดอันวกวนราวเขาวงกตและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยท่าทางเบื่อหน่ายมาได้ ผมก็เข้ามานั่งในซุ้มขนาดใหญ่ใกล้น้ำพุที่มลังเมลืองด้วยหลอดไฟสีฟ้า  ชายหนุ่มหน้านิ่งแต่งกาย ภูมิฐานนั่งสูบชีชาห์ห่างไปสองโต๊ะ ข้อมูลจากแหล่งข่าวซุบซิบระบุว่า เขาเป็นนายพลแห่งกองทัพอิรักที่มักมานั่งสูบชีชาห์ตามลำพังแทนที่จะกลับบ้านไปหาภรรยา    ทั้งหมดนี้ผมได้ยินจากรอวา อุล-นิอ์อะมีย์ นักธุรกิจสาวที่เชิญผมไปที่คลับ

อุล-นิอ์อะมีย์เพิ่งเริ่มก่อตั้งองค์กรพัฒนาเอกชนในกรุงแบกแดดเพื่อส่งเสริมศักยภาพคนวัยหนุ่มสาว  หลักสูตรที่สอนมีทั้งโยคะ นาฏศิลป์ การทำหนัง กราฟิกดีไซน์ และการเขียนเชิงสร้างสรรค์ “ฉันเชื่อในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่แค่ผู้หญิงอิรักคนหนึ่งว่า  ทักษะเหล่านี้มีบทบาทอย่างมากในการพัฒนาเยาวชน  อันที่จริง   ทักษะพวกนี้เป็นเสมือนจิตวิญญาณ ของชีวิตด้วยซ้ำ” เธออธิบาย  “นี่แหละค่ะญิฮาดขนานแท้ การอุทิศตนเพื่อศาสนาอย่างแท้จริงไม่ได้หมายความว่าคุณต้องลุกขึ้นมาจับอาวุธเข่นฆ่าศัตรูเสมอไป”

เธอเล่าให้ผมฟังว่า โครงการล่าสุดคือการไปเยี่ยมสถานพินิจในกรุงแบกแดดเพื่อให้กำลังใจเยาวชนผ่านทางการแสดงออกด้านศิลปะ เธอประหลาดใจเมื่อพบว่าเด็กๆในสถานพินิจมีอายุระหว่าง 5 – 18 ปี ส่วนมากเป็นเพียงเด็กกำพร้า อันเป็นผลพวงจากความรุนแรงระหว่างนิกายที่เกิดขึ้นในช่วงหลายปี

ก่อนออกจากแบกแดด ผมแวะไปซื้อฮูกกอห์ทำในอิรักที่ย่านอัลกอร์รอดะห์เพื่อนำกลับบ้าน   ขณะเดินเรื่อยเปื่อยข้ามถนนท่ามกลางการจราจรช่วงหัวค่ำ ผมสังเกตเห็นความมีชีวิตชีวาบนท้องถนน ประตูร้านรวงยังเปิดแง้มไว้ ร้านขายเสื้อผ้าแฟชั่นตลาดบนโชว์เสื้อผ้ารุ่นล่าสุดบนหุ่นไร้หัวในตู้โชว์กระจก ความคึกคักจอแจของกิจกรรมต่างๆไม่ได้มีแต่เฉพาะแผงลอยข้างทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงร้านรวงต่างๆด้วย ทั้งร้านขายของเล่น ร้านขายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ร้านขายโทรศัพท์มือถือ และร้านขายของชำ

ถึงกระนั้น เมื่อวานก็เพิ่งเกิดเหตุโจมตีงานชุมนุมของชาวชีอะฮ์ในกรุงแบกแดด ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บห้าราย แล้วยังมีเหตุระเบิดใกล้มัสยิดในย่านอัลอุตอยฟียะห์ ทำให้มีผู้บาดเจ็บสามราย ส่วนที่เมืองโมซุล ศพของสตรีนางหนึ่งถูกทิ้งไว้กลางถนน ระหว่างพูดคุยกับผู้คนที่นี่ ผมสัมผัสได้ถึงความอึดอัดคับข้องใจที่สั่งสมมานานปีในน้ำเสียงของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ยามที่ทอดสายตามองย่านต่างๆในเมือง ผมยังมองเห็นสัญญาณของการฟื้นตัวและเติบโต

บางสิ่งบางอย่างในตัวผมเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน แต่ละวันที่ผ่านไป อะดรีนาลินที่เคยพลุ่งพล่านตอนกลับมาเยือนเมืองหลวงแห่งนี้ใหม่ๆเริ่มเหือดแห้งไป   เวลานี้ผมมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นว่า แบกแดดกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่ตัวตนใหม่ หาใช่เมืองซึ่งถูกกำหนดหรือตีกรอบด้วยสงคราม แต่เป็นเมืองที่น่าอยู่และรุ่งเรืองขึ้นทุกขณะ แม้ว่าจะต้องใช้เวลาอยู่บ้าง และผลพวงของสงครามจะยังคงทิ้งร่องรอยไว้ที่นี่ตราบชั่วชีวิตของเรา ทว่าแบกแดดได้เริ่มฟื้นฟูตนเองสู่นครที่งามตระหง่านอีกครั้งหนึ่งแล้ว

ตุลาคม 2554