ผู้เขียน หัวข้อ: พร้อม "พลี" เพื่อ "กทม."..สมรภูมิสุดท้ายของ "สงครามน้ำ" ก็มาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร  (อ่าน 1105 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
แล้วที่สุด สมรภูมิสุดท้ายของ "สงครามน้ำ" ก็มาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร
ระทึกใจยิ่งว่า จะเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับ นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี
คือ "พ่ายแพ้" ยับเยิน หรือไม่

ถือเป็นมหาสงคราม ที่ทั้งรัฐบาล และ กทม. จะพ่ายแพ้ไม่ได้
จะต้อง "พลี" ทุกอย่าง เพื่อรักษา "กทม."!

อย่างที่รับรู้ และเป็นข้ออ้างสำคัญมาโดยตลอดว่า กทม. จะจมน้ำไม่ได้ เนื่องจากเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม
หากรักษาเอาไว้ไม่ได้ ก็จะสร้างผลกระทบให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง มหาศาล
ในทางยุทธศาสตร์ จึงสูญเสียที่มั่นนี้ไม่ได้

และนี่จะเป็นการพิสูจน์ครั้งสำคัญ ว่าเงินจำนวนมหาศาลที่ทุ่มเทลงไปเพื่อวางระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพฯ ตลอดหลายสิบปี ทำให้มีความเป็นระบบ และดีที่สุดของประเทศ จะมีประสิทธิภาพมากเพียงใด

ถ้ารักษาเอาไว้ไม่ได้
ก็ต้องถือว่าเป็นความล้มเหลวอันใหญ่หลวงของชาติ
คงจะต้องมีการปรับรื้อกันยกใหญ่
เพราะเท่ากับว่า ประเทศ "พัง" ไปทุกส่วนแล้ว

ปี 2540 ระบบเศรษฐกิจของประเทศพัง

ปี 2552-2553 ระบบการเมืองของประเทศพัง

ปี 2554 ประเทศพังเพราะภัยธรรมชาติ

และกำลังลุ้นสมรภูมิสุดท้าย คือ กทม. ว่าจะรอดหรือไม่

ถ้าไม่รอด ก็ต้องนับว่าเป็นกรรมของประเทศแห่งนี้ ที่เพียงไม่ถึง 20 ปี เราก็จมลงสู่วิกฤตในทุกด้าน
ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่า จะต้องใช้เวลา เงิน และทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อฟื้นประเทศขึ้นมาได้อีกเมื่อใด
และเพื่อไม่ให้สิ่งที่เลวร้าย กลายเป็นสิ่งที่เลวร้ายที่สุด

จึงไม่มีทางเลือกนอกจากต้องดิ้นรนต่อสู้ เพื่อไม่ให้ กทม. แตก!

แต่กระนั้น ในท่ามกลางการดิ้นรนต่อสู้
ก็อาจเป็นโชคไม่ดีของประเทศ เนื่องจาก "ฝ่ายนำ" ที่ควรจะมีเอกภาพสูงสุดในการ "กำกับ" การต่อสู้ ไม่อาจสลัดผลประโยชน์ในพวก ในฝ่ายของตนออกไปได้

เราจึงได้เห็นการช่วงชิงเพื่อหาประโยชน์ในทางการเมือง พร้อมกันไปด้วย
ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมรภูมิ กทม. ถือเป็นสมรภูมิที่จะชี้อนาคตทางการเมือง ทั้งระดับชาติ และทั้งระดับท้องถิ่น
ระดับชาติ ถือเป็นเดิมพันครั้งสำคัญของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย เนื่องจากโอกาสที่จะเรียกกระแสนิยมน้อยลงทุกที
น้อยลง เนื่องจากพ่ายแพ้ในการปกป้องพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่ภาคเหนือตอนล่างถึงภาคกลาง มาโดยตลอด
ทำให้เกิดกระแสลบ ต่อรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ่งขึ้นทุกที
ทั้งฝีมือบริหารจัดการ
ทั้งภาวะการเป็นผู้นำ
เสียงต่อว่า มือไม่ถึง คุมสถานการณ์ไม่ได้ ดังกระหึ่มขึ้นเรื่อยๆ

ซึ่งถ้าหากต้องพ่ายแพ้ที่สมรภูมิกรุงเทพฯ
เชื่อว่า "วิกฤตศรัทธา" จะเกิดขึ้นกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และรัฐบาล อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จนอาจนำไปสู่ความผลิกผันทางการเมืองในอนาคตอันใกล้อย่างคาดไม่ถึงได้

ขณะเดียวกัน ในส่วนท้องถิ่น คือ กทม. อยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร และพรรคประชาธิปัตย์
ซึ่งก็ต้องสู้สุดฤทธิ์เช่นกัน
เพราะความอยู่รอดของ กทม. คืออนาคตทางการเมืองของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ว่าจะกลับมาเป็นผู้ว่าราชการ กทม. ได้อีกครั้งหรือไม่
ขณะเดียวกัน ความอยู่รอดของ กทม. จะช่วยลบล้างข้อกล่าวหาที่ทำให้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พ่ายแพ้ในการเลือกตั้งทั่วไป นั่นก็คือ "ดีแต่พูด" ลงได้
พร้อมๆ กับที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ "ดูดี" ขึ้น
ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ และนายอภิสิทธิ์ ที่ดูจะไม่แนบเป็นเนื้อเดียวกันในช่วงที่ผ่านมา กลับมาผนึกกำลัง เพื่อโชว์ให้เห็นว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีดี
และยิ่งหากรักษา กทม. เอาไว้ได้
พรรคประชาธิปัตย์ ก็จะยกระดับไปสู่ภาวะ "มีดีกว่า" อย่างไม่ยาก

ด้วยความรู้สึกว่า จะต้อง "ดูดีกว่า" นี้เอง ทำให้การปกป้อง กทม. ที่ถือเป็นการชี้เป็นชี้ตาย ทั้งของพรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย เหมือนกัน แต่กลับแฝงไปด้วยการแข่งขันทางการเมืองอย่างเข้มข้น
เข้มข้นจนทำให้ "ความเป็นเอกภาพ" ในการสู้วิกฤตด้อยลง
คนไทยได้เห็นภาพ นายอภิสิทธิ์ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ หารือเพื่อแก้ไขน้ำท่วมร่วมกันเพียง "ครั้งเดียว"
จากนั้นต่างคนก็ต่างเดิน และบางจังหวะก็มีท่าทีที่ขัดแย้งกันด้วย
เช่น พรรคประชาธิปัตย์ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉิน เพื่อเปิดทางให้กองทัพเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์
แต่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ เห็นว่า กลไกที่มีอยู่ สามารถบริหารจัดการได้ จึงปฏิเสธแนวคิดดังกล่าว
ซึ่งก็นำไปสู่ประเด็นแห่งความขัดแย้ง โดยฝ่ายประชาธิปัตย์ก็โจมตีว่า รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ประเมินสถานการณ์ผิด ดื้อรั้น หวาดระแวงทหารมากจนเกินไป จนไม่กล้าใช้

ขณะที่พรรคเพื่อไทย ก็สวนคืนว่าพรรคประชาธิปัตย์คุ้นเคยกับการใช้อำนาจพิเศษ และมีเป้าหมายที่จะดิสเครดิตรัฐบาล เพราะหากประกาศใช้ภาวะฉุกเฉิน อำนาจบริหารจัดการก็จะไปอยู่ในมือของกองทัพ สะท้อนให้เห็นความด้อยประสิทธิภาพในการบริหาร

ท่าทีอันแตกต่างเช่นนี้ ทำให้ ความร่วมไม้ร่วมมือ ที่คนไทยอยากเห็น กลายเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตรงกันข้าม นับวันจะขยายวงขึ้น
เพราะแม้แต่เรื่อง "ถุงทราย" ก็ยังเป็นประเด็นเชือดเฉือนกัน
นี่ไม่นับรวมถึงการให้ข้อมูลแก่สังคม การบริหารจัดการน้ำ ฯลฯ ซึ่งพบว่าในระยะๆ หลัง ขัดแย้งกันโดยตลอด
และคาดหมายกันว่า หากศึกครั้งนี้ "เอาไม่อยู่" กรุงเทพฯ ต้องแตก

เชื่อเลยว่า การชี้หน้ากล่าวโทษกันระหว่างฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลจะเป็นไปอย่างดุเดือด เลือดพล่าน

อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่ดี หรือเชิงบวก
นั่นคือ การพลี เพื่อ กทม. กระทำสำเร็จ
สามารถปกป้องเมืองหลวงเอาไว้ได้
แต่ก็คงไม่มีใครเฉลิมฉลองได้ เพราะหายนะจากน้ำท่วมครั้งนี้ร้ายแรงนัก

ทั้งพื้นที่ทางการเกษตร ทั้งนิคมอุตสาหกรรม ไม่รวมบ้านเรือนประชาชนอีก
รวมความเสียหายแล้ว อาจจะพอๆ กับการที่ กทม. จมน้ำ
ซึ่งต้องยอมรับว่า การป้องกันไม่ให้น้ำท่วม กทม. ก็คือการผลักภาระไปให้พื้นที่อื่น
ก่อให้เกิดความเสียหาย และทุกข์ยากแสนสาหัส ต่อคนจำนวนมาก
ทำให้ต้องเกิดคำถามอย่างหนักหน่วงติดตามมาว่านอกเหนือจากงบประมาณแผ่นดินที่ทุ่มเทรักษา กทม. จำนวนมากแล้ว ยังผลักภาระให้คนอื่นอีก
เป็นธรรมหรือไม่
และจะมีวิธีการอย่างไรที่จะให้คนได้รับการปกป้อง ต้อง "จ่าย" เพื่อดูแลคนที่เดือดร้อนแทนบ้าง

นี่คือโจทย์ใหญ่ที่จะเกิดขึ้น
เพราะเชื่อว่าต่อไปแต่ละจังหวัดก็คงใช้ข้ออ้างเช่น กทม. บ้าง
เหล่านี้จะกลายเป็นความขัดแย้งที่ร้าวลึกของสังคม
หากแก้ไม่ดี บทเรียนอันเจ็บลึกที่คนนอก กทม. เผชิญจากน้ำท่วมคราวนี้ จะทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านขัดขวาง
ไม่ยอมให้มีการพลี เพื่อ กทม. อยู่สบายๆ เช่นนี้อีกแล้ว!

มติชนออนไลน์  21 ตุลาคม พ.ศ. 2554