ผู้เขียน หัวข้อ: อดีตประธานสปสช. ระบุบอร์ดสปสช. มีอำนาจล้น ชงเลขาฯ อนุมัติครั้งละ 1 พันล้าน  (อ่าน 2389 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด

จากประเด็นปัญหาการบริหารจัดการของสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำให้การให้บริการด้านสุขภาพและหน่วยบริการสาธารณสุข โดยเฉพาะโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขมีปัญหาขาดทุนจำนวนมาก ต่อเรื่องนี้สำนักข่าวไทยพับลิก้าได้สอบถามกับ นายวิทยา แก้วภราดัย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในช่วงปี พ.ศ.2552 และเคยเป็นประธานคณะกรรมการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ถึงการบริหารจัดการของสปสช.ในฐานะประธานว่า สปสช. เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นมาทำหน้าที่เป็นเหมือนบริษัทประกัน รับเงินจากรัฐบาลไปประกันสุขภาพประชาชน 48 ล้านคน ที่ไม่ใช่ข้าราชการ ไม่ใช่แรงงาน โดยจ่ายให้คนเจ็บป่วยเป็นรายหัว ซึ่งสปสช.เป็นผู้บริหารเงินจ่ายแทนคน 48 ล้านคน

“ปัญหาของสปสช. ส่วนหนึ่งเป็นเพราะคณะกรรมการบริหารมีความเป็นอิสระสูงมาก จนยากที่จะตรวจสอบ แม้ตำแหน่งรัฐมนตรีเมื่อเข้าไปอยู่ในวงล้อมของบอร์ดสปสช. ก็อาจตกอยู่ในที่นั่งลำบาก ผมไปนั่งในที่ประชุมสปสช. ผมคือรัฐมนตรี แล้วมีปลัดหนึ่งคน ที่เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง นั่งข้างผม นอกจากนั้นเป็นตัวแทนจากกลุ่มองค์กรต่างๆ และกลุ่มเอ็นจีโอซึ่งเขามาอยู่ก่อนผมนานมาก ผมเหมือนไปอยู่กลางวงล้อม เราก็ไม่ใช่หมอด้วย มาพูดภาษายาทีละตัว เราเป็นรัฐมนตรีก็มึนตึ๊บ เพราะโดยโครงสร้างรัฐมนตรีเป็นแค่ตัวกลางระหว่างองค์กรนี้กับรัฐบาล สปสช.มีความเป็นอิสระในการบริหารสูง ผมเป็นรัฐมนตรีไม่ได้ลงไปในรายละเอียดเรื่องงบประมาณรู้แค่ว่างบแบ่งเป็นกี่หมวด ส่วนเรื่องบริหาร คณะกรรมการสปสช.เป็นคนจัดการ”

นายวิทยากล่าวว่าแม้จะไม่ได้เข้าใจภาษาหมอไปทั้งหมด แต่บางครั้งรัฐมนตรีที่ไม่ใช่หมอก็จำเป็นที่จะต้องคัดค้านคนเป็นหมอบ้าง”ช่วงที่ผมเป็นประธานมีเรื่องเดียวที่ผมเถียงเรื่องที่เขาขอปรับค่าบริหารจัดการขึ้นให้ได้ 3 % ของงบรวมที่ได้รับ ปีแรกเป็น 800 ล้านบาท ปีต่อมาเขาบอก 1,800 ล้านบาท ผมก็ถามว่าทำไมมันเพิ่มเยอะแบบนั้น ค่าบริหารองค์กรทำไมแพงเอาแค่จำเป็นก็พอ 800 ล้านบาท ขยับขึ้นเป็น 900 ล้านบาท เอาพอสมควร เราก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเยอะขนาดนั้น แต่เขาก็พยายามอธิบายว่ามาตรฐาน 3 % มันเป็นหลักการบริหารองค์กรทั่วไป มาตรฐานสากลซึ่งผมไม่เห็นด้วย อันนี้เป็นการแย้ง ส่วนในรายละเอียดอื่นๆ ผมก็อยากให้เขาทำเต็มที่ เพราะงบประมาณเข้ามาเท่าไรเอาไปให้ประชาชน แต่การบริหารเงินไปสู่ประชาชนเป็นอำนาจของเขาหมด รัฐมนตรีไม่ได้เกี่ยว ถ้าหากจะให้ สปสช. มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งแรกที่ควรจะเข้าไปดูคือ บอร์ดหรือคณะกรรมการสปสช.ทั้งหมด”

“ผมเข้าใจว่าต้องปรับระบบคณะกรรมการทั้งหมด และต้องมีการรายงานการใช้จ่ายเงินต่อองค์กรใดองค์กรหนึ่งซึ่งไม่ใช่องค์กรที่เป็นเครือข่าย วันนี้ สปสช. กลายเป็นสมาคม “ส” ไม่รู้กี่ “ส” เวียนกันเป็นกรรมการไปหมด โยกไปโยกมาจนผมมึนไปหมด ว่าไปที่นี่ก็เจอคนนี้มาที่นี่ก็เจอคนเดิม เราดูแล 4-5 “ส” ก็เสียวไปหมดมันมาชุดเดียวกันหมดทุก ส.” นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวต่อไปว่า”หากถามว่ากระบวนการคัดเลือกเพื่อเข้าสู่การเป็นคณะกรรมการควรจะทำอย่างไร ต้องยึดโยงจากประชาชนหรือไม่ โดยกฎหมายกำหนดให้มีตัวแทนจากองค์ภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งอนุกรรมการชุดต่างๆมากขึ้นกว่าเดิม ควรมีการตรวจสอบว่าเงินที่ใช้จ่ายเป็นอย่างไร สภาผู้แทนราษฎรจัดเงินให้ไปแต่ไม่ไปตรวจสอบ แต่ละปีๆ เป็นเท่าไร เพราะเป็นการเหมาจ่ายให้สปสช. เหลือแล้วไม่เคยคืน มีเพียงสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ( สตง.) ที่ตรวจสอบ ซึ่งเป็นการรายงานสภาเพื่อทราบ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้เลยเมื่อเห็นความผิดปกติ ปัญหาจริงๆ เป็นเพราะนักการเมืองกับข้าราชการกลัวเอ็นจีโอเพราะเขามีเครือข่าย อย่าขัดใจเขา”

ส่วนประเด็นงบประมาณที่บริหารงานจนโรงพยาบาลรัฐ สังกัดกระทรวงสาธารณสุขหลายแห่งประสบภาวะขาดทุน และมีหนี้เพิ่มขึ้น นายวิทยาให้ความเห็นว่า “ผมว่าต้องทบทวนการใช้เงินกองทุนสปสช. ว่าเราใช้เงินได้ตามเป้าประสงค์หรือเปล่า ต้องตีแผ่เงินของสปสช. ว่ามีเท่าไร จ่ายยังไงไม่เพียงพอ ซึ่งรัฐบาลปล่อยให้โรงพยาบาลรัฐเจ๊งไม่ได้หรอก เพราะเขาไม่ได้ทำธุรกิจ เราให้เขารักษาฟรี ส่วนเงินบำรุงโรงพยาบาลที่เอาไปจ้างพนักงาน ไปจ้างแพทย์ พยาบาลที่ยังไม่ได้บรรจุ ก็ใช้เงินบำรุงไป ดังนั้นต้องดูว่าเงินที่สปสช.ดูแลมันอยู่ตรงไหน ถ้าไม่พอขอรัฐบาลเพิ่ม สิ้นปีเหลือเงินเท่าไหร่ มีการใช้จ่ายอะไรที่ผิดปกติมากไปไหม เบี้ยประชุมแพงไปไหม ก็ต้องตรวจสอบได้”

นายวิทยายังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า”บริการสาธารณสุขของไทยมีปัญหามากตอนนี้ เพราะระบบโรงพยาบาลมีปัญหา ทั้งโรงพยาบาลจังหวัด โรงพยาบาลศูนย์ แออัดยัดเยียด โรงพยาบาลอำเภอเริ่มง่อยเปลี้ยเพราะแพทย์ไม่กล้ารักษาผู้ป่วย กลัวโดนฟ้อง ใช้วิธีส่งต่อไปยังโรงพยาบาลใหญ่ ผมคิดว่าต้องพัฒนาโรงพยาบาลหลักให้รับมือได้ โรงพยาบาลจังหวัดทั่วประเทศปัจจุบันคนไข้ล้น ขณะที่โรงพยาบาลอำเภอ 800 โรง ผมเข้าใจว่าล้นสัก 200 อีก 600 ว่างเตียงไม่เต็ม และบางจังหวัดที่ไม่ได้งบลงทุนไปนานๆ คนไข้ก็ล้น เช่นมี 100 เตียง แต่มีผู้ป่วยนอนรักษา 140 คน ผมคิดว่าต้องปรับโรงพยาบาลพวกนี้ให้รับมือให้ได้”

อนึ่งนายวิทยารับตำแหน่งรัฐมนตรี่ว่าการกระทรวงสาธารณสุขได้ 1 ปี 10 วัน และได้ลาออกจากตำแหน่งกรณีมีข่าวการทุจริตโครงการไทยเข้มแข็งของกระทรวงสาธารณสุข โดยผลการสอบสวนชี้ว่านายวิทยามีข้อบกพร่องในการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งส่อไปในทางทุจริต นายวิทยาจึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง

    อำนาจเลขาธิการสปสช.อนุมัติครั้งละ 1,000 ล้านบาท

    สำหรับข้อมูลของสปสช.นั้นในสมัยที่นายมงคล ณ สงขลา ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขและในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้ออกประกาศให้เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.)มีอำนาจอนุมัติการจัดหาพัสดุตามโครงการพิเศษที่คณะกรรมการเห็นชอบ เช่น การจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ จากองค์การเภสัชกรรมการ ครั้งหนึ่งในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท โดยประกาศเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2550

    ประกาศดังกล่าวเป็นแก้ไขข้อบังคับของสำนักงานหลักประกันสุขภาพ ทำได้โดยคณะกรรมการสปสช. ซึ่งมีอำนาจแก้ไขได้ตามพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติพ.ศ.2545 ตามมาตรา 18 (6) โดยคณะกรรมการมีอำนาจหน้าที่ออกระเบียบเกี่ยวกับการรับเงิน การจ่ายเงิน และการรักษาเงินกองทุน รวมทั้งการจัดการผลประโยชน์ตามมาตรา 40

    แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขให้ข้อมูลว่าในระเบียบเดิมนั้นเลขาธิการสปสช. มีอำนาจอนุมัติเงินครั้งหนึ่งในวงเงินไม่เกิน 100 ล้านบาท และประธานกรรมการครั้งหนึ่งในวงเงิน 100 ล้านบาท เมื่อนายมงคลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และมีนายไพจิตร ปวะบุตร เป็นเลขาธิการสปสช. และมีกรรมการอื่นๆ อาทิ นายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน เป็นกรรมการ และเป็นประธานอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ ได้เสนอให้มีการแก้ไขข้อบังคับดังกล่าว

    “การแก้ไขกฏระเบียบเป็นอำนาจของคณะกรรมการ ลองคิดดูว่าเลขาธิการสปสช.มีอำนาจมาก สามารถเซ็นต์อนุมัติได้ถึง 1,000 ล้านบาทในแต่ละครั้ง มีอำนาจมากกว่านายกรัฐมนตรีเสียอีก เป็นการอนุมัติการจัดหาพัสดุตามโครงการพิเศษที่คณะกรรมการเห็นชอบ เช่น การจัดหายาต้านไวรัสเอดส์ จากองค์การเภสัชกรรมการ ครั้งหนึ่งในวงเงินไม่เกิน 1,000 ล้านบาท เพราะในช่วงนั้นมีการผลักดันเรื่องซีแอลยาป้องกันโรคเอดส์ และนพ.วิชัย นั่งเป็นประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรมจนถึงปัจจุบันก็นั่งอยู่ และกฎหมายสปสช.ไม่ได้ให้อำนาจในการจัดซื้อเวชภัณฑ์หรือยาแต่อย่างใด ที่สำคัญสปสช.อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐมนตรีสาธารณสุขเท่านั้น ไม่ต้องขึ้นกับหน่วยงานใดๆ เลย”แหล่งข่าวกล่าว

    ประกาศแก้ไขข้อบังคับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

    แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าแม้กฎหมายจะกำหนดให้มีการตรวจสอบการบริหารเงินและการดำเนินงานของโดยให้แต่ตั้งอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งตามมาตรา 21 พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 แต่อนุกรรมการชุดนี้จะต้องทำตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด

    นอกจากนี้สปสช.ในช่วงนั้นมีคำสั่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ที่ 9/2550 เรื่องแต่งตั้งคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 11 คณะ แต่ละคณะมีกรรมการตั้งแต่ 9 –22 คน การประชุมแต่ละครั้งจ่ายเบี้ยประชุม 12,000 – 15,000 บาท/คน/ครั้ง ประชุมเดือนละครั้ง ซึ่งกรรมการทั้ง 11 ชุดนี้ จะเป็นกรรมการไขว้กันไปมา อย่าง คณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ มีนพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นประธาน มีศ.(พิเศษ)ไพจิตร ปวะบุตร เป็นรองประธาน ขณะที่คณะอนุกรรมการงบลงทุนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมีศ.(พิเศษ)ไพจิตร ปวะบุตรเป็นประธาน มีนพ.วิชัย โชควิวัฒน เป็นรองประธาน เป็นต้น“

    แหล่งข่าวกล่าวต่อว่าคณะอนุกรรมการที่มีบทบาทสำคัญคือคณะอนุกรรมการประสานยุทธศาสตร์ มีนพ.วิชัย โชควิฒนเป็นประธาน มีหน้าที่ พิจารณากลั่นกรองเรื่องที่จะนำเสนอขอความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ, กำกับติดตามการบริหารงานและส่งเสริม สนับสนุน รวมทั้งอนุมัติกรอบและแผนการพัฒนาโครงสร้างระบบงานและอัตรากำลังของสปสช., แต่งตั้งคณะทำงานที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น และปฏิบัติภารกิจอื่นๆตามที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติมอบหมาย

    นอกจากนี้ในปี 2552 คณะกรรมการสปสช.ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาในการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า อาศัยอำนาจมาตรา 20 ให้มีหน้าที่ 1.พัฒนาแนวทางและกลไกการคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นและมีปัญหาการเข้าถึงของประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2.ดำเนิกนารคัดเลือกยาและเวชภัณฑ์ที่จำเป็นตามข้อ 1 และเสนอให้กระทรวงทรวงหรือกรมที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการเพื่อแก้ปัยหาในการเข้าถึงของประชาชน

    “เลขาธิการสปสช.มีอำนาจมากในการอนุมัติเงินตามที่บอร์ดสปสช.เสนอ ซึ่งสูงกว่านักการเมืองมาก อย่าง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมต.คลัง ได้มีคำสั่ง 1050/2554 เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 ให้นายบุญช่วย เตริยาภิรมย์ รมช.คลังสั่งและปฏิบัติราชการแทนรมต.คลัง โดยอนุมัติการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างโดยวิธีการพิเศษในวงเงิน 250 ล้านบาท และการสั่งซื้อหรือสั่งจ้างนอกจากวิธีพิเศษและวิธีการพิเศษ ครั้งหนึ่งวงเงิน 500 ล้านบาท โดยอาศัยอำนาจพ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน สำหรับส่วนราชการในสังกัดได้แก่ กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต กรมศุลกากร และรัฐวิสาหกิจในสังกัด ได้แก่โรงงานยาสูบ โรงงานไพ่ องค์การสุรา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย”

    แหล่งข่าวได้ตั้งข้อสังเกตว่าพ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้อำนาจกับคณะกรรมการมากมาย โดยระบุว่าให้เป็นไปตามเงื่อนไข หลักเกณฑ์ วิธีการที่คณะกรรมการกำหนด อาทิ มาตรา 6,7,8,17,21,37,40,41

    นอกจากนี้ในเรื่่องผลตอบแทนเจ้าหน้าที่มีโบนัสทุกปี และเลขาธิการเงินเดือน 300,000 บาท ส่วนผู้อำนวยการสำนักงานเขต เงินเดือน 150,000 บาท รวมทั้งมีการใช้งบประชาสัมพันธ์ค่อนข้างมาก

    สำหรับคณะกรรมการสปสช.ประกอบด้วย

    1.รัฐมนตรี่ว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานกรรมการ

    2.ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ และผู้อำนวยการสำนักงานงบประมาณ

    3.ผู้แทนเทศบาลหนึ่งคน องค์การบริการส่วนจังหวัดหนึ่งคน องค์การบริหารส่วนตำบลหนึ่งคน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบอื่นหนึ่งคน โดยให้ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแต่ละประเภทคัดเลือกกันเอง

    4.ผู้แทนองค์กรเอกชน ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่มิใช่เป็นการแสวงหาผลกำไรและดำเนินกิจกรรมดังต่อไปนี้องค์กรละหนึ่งคน โดยคัดเลือกกันเองในแต่ละกลุ่มให้เหลือกลุ่มละหนึ่งคน และให้ผู้แทนดังกล่าวเลือกกันเองให้เหลือจำนวนห้าคน และองค์กรเหล่านี้ดำเนินการกิจกรรมไม่น้อยกว่าหนึ่งปี และได้มาขึ้นทะเบียนไว้กับสำนักงานก่อนครบกำหนดสิบห้าวันนับแต่วันที่มีการคัดเลือกกรรมการ ถ้าองค์กรใดดำเนินกิจกรรมหลายกลุ่ม ให้ขึ้นทะเบียนเพื่อใช้สิทธิคัดเลือกกรรมการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น

    องค์กรในข้อ 4 ได้แก่ ก.งานด้านเด็กและเยาวชน ข.งานด้านสตรี ค.งานด้านผู้สูงอายุง.งานด้านคนพิการหรือผู้ป่วยจิตเวช จ.งานด้านผู้ติดเชื้อเอชไอวีหรือผู้ป่วยเรื้อรังอื่น ฉ.งานด้านผู้ใช้แรงงาน ช.งานด้านเกษตรกร ฌ.งานด้านชุมชนกลุ่มน้อย

    5.ผู้แทนประกอบอาชีพด้านสาธารณสุข จำนวนห้าคน ได้แก่ผู้แทนแพทยสภา สภาการพยาบาล สภาเภสัชกรรม ทันตแพทยสภา และสมาคมโรงพยาบาลเอกชนด้านละหนึ่งคน

    6.ผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเจ็ดคน ซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้มีความเชี่ยวชาญทางด้านประกันสุขภาพ การแพทย์ และสาธารณสุข การแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือก การเงินการคลัง กฏหมายและสังคมศาสตร์ ด้านละหนึ่งคน

    แหล่งข่าวกล่าวว่าส่วนใหญ่กรรมการที่มาประชุมเป็นประจำคือกรรมการตามข้อ4-5-6 ที่เหลือส่งตัวแทน หรือไม่ได้มาร่วมประชุมแต่อย่างใด ทั้งๆที่การบริหารงานสปสช.วงเงินเป็นแสนล้านบาทและเป็นเรื่องเฉพาะทาง พร้อมตั้งข้อสังเกตุว่ากรรมการในข้อ 4 ให้เลือกกันเอง และไม่ต้องเสนอครม.เหมือนกรรมการข้อ 6 และกฏหมายมาตรา 17 ระบุว่าให้ประธานกรรมการเป็นประธานในที่ประชุม ถ้าประธานที่ประชุมไม่มาหรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้กรรมการที่มาประชุมเลือกรรมการคนหนึ่งเป็นประธานในที่ประชุม

thaipublica.org 17 ตุลาคม 2011