ผู้เขียน หัวข้อ: เปิดโมเดล!ฝ่าวิกฤติกทม.'ตัดถนน 8 สาย'ระบายน้ำ  (อ่าน 2091 ครั้ง)

story

  • Staff
  • Hero Member
  • ****
  • กระทู้: 9721
    • ดูรายละเอียด


เปิดโมเดล'River Network Model'ฝ่าวิกฤติกทม.จมน้ำ เสนอตัดถนน 8เส้นฝั่งตะวันออกจี้รัฐตัดสินใจด่วนแก้โจทย์ใหญ่สกัดน้ำ1.7หมื่นล้านลบ.ม.เข้ากรุง

      สถานการณ์น้ำท่วมยังคงวิกฤติในหลายพื้นที่ ปริมาณมวลน้ำขนาดใหญ่ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร คือโจทย์ใหญ่ที่รัฐและหน่วยงานราชการทั้งหมดต้องเร่งระดมแนวทางเพื่อเร่งระบายน้ำลงสู่ทะเลให้เร็วที่สุด เพราะมิฉนั้นกทม.(โซนเสี่ยงขั้น 2และ3 )และอีกหลายจังหวัดใกล้เคียงคงต้องจมอยู่กับน้ำ 1-2 เดือนเป็นแน่
 ในประเด็นดังกล่าว  ชวลิต  จันทรรัตน์  วิศวกรแหล่งน้ำ  บริษัททีมกรุ๊ป ซึ่งถือว่าเป็นบริษัทที่ปรึกษาซึ่งมีประสบการณ์ด้านการจัดการน้ำมานาน ได้ทดลองแบบจำลองที่เรียกว่า "RIVER  NETWORK  MODEL"  เพื่อประเมินทิศทางพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและทางออกในการระบายน้ำ


   เนื่องจากในปีนี้มีฝนตกมากกกว่าปกติถึง 40% ก่อนที่จะไหลลงมายัง "ปิง- วัง- ยม-น่าน "ก่อนที่จะลงสู่เจ้าพระยา ขณะเดียวกันเขื่อนที่มีอยู่หลายแห่งก็ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำที่มากขึ้นได้ ทำให้วันนี้มีมวลน้ำข้างอยู่1.6-1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) โดยประมาณ 7-8 พันล้านเป็นน้ำค้างทุ่งและอีกประมาณ 1 หมื่นล้านลูกบาทศ์เมตรอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา

 ทั้งนี้มวลน้ำ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร เป็นการคำนวณตั้งแต่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ซึ่งขณะนี้กำลังไหลเข้ามากรุงเทพ และเมื่อนำมาคำนวณรวมกับปัจจัยน้ำทะเลหนุนเสริม และความอ่อนแอของพนังกั้นน้ำในพื้นที่ต่างๆ บริเวณแนวกันของกทม.พบว่า มีความจำเป็นที่รัฐจะต้องเร่งตัดสินใจเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลให้เร็วที่สุด ทางออกแรกคือการให้พื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็น  flood way หรือพื้นที่ระบายน้ำ

  ชวลิต ขยายเพิ่มเติมว่าหลังจากได้ข้อมูลจากโมเดลน้ำ  เราพบว่า  มวลน้ำทั้งหมดตั้งแต่ชัยนาท มี ประมาณ 1.7 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร รวมลุ่มน้ำเจ้าพระยา และน้ำค้างทุ่งทั้งหมดจะมีน้ำไหลเข้า จ.พระนครศรีอยุธยา เฉลี่ย 600 ล้านลบ.ม.ต่อวัน ขณะที่หน่วยงานราชการ ได้พยายามเร่งระบายน้ำออกได้ แต่สามารถระบายลงไปได้วันละ 450 ล้านลบ.ม.เพราะฉะนั้นจะเหลือน้ำประมาณ 150 ล้านลบ.ม.ที่ไหลแทรกไปตามพื้นที่ต่างๆ เช่น ทะลักเข้าไปในพื้นที่ปทุมธานี และ นนทบุรีในพื้นที่ ซึ่งหากไม่"หาที่ใหม่ให้น้ำ"หรือเร่งระบายออก น้ำที่สะสมเข้ามา วันละ 150 ล้านลบ.ม.ต่อวันก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆและเชื่อว่าพนังกั้นน้ำที่ปกป้องกทม.อยู่วันนี้ ก็จะไม่สามารถรับแรงกระแทกของน้ำได้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นในหลายจุดแล้ว เช่นบริเวณปทุมธานี 

     เขาได้เสนอว่าเพื่อแก้ปัญหาในปริมาณน้ำที่เหลือ 150 ล้านลบ.ม.ต่อวันระบายลงสู่อ่าวไทยได้มากที่สุด จำเป็นต้องเร่งระบายเพราะไม่อย่างนั้น จะไม่สามารถรักษาพื้นที่ กทม. เอาไว้ได้

   " สิ่งที่ต้องทำตอนนี้ก็คือ การเร่งระบายน้ำ 150 ล้านลบ.ม. เพื่อไม่ให้ กทม. ต้องรับน้ำ ถ้าเป็นไปได้ ต้องเจาะทะลุพื้นที่ฝั่งตะวันออก  คือเจาะตัดขาดถนนหลายๆ สาย เพื่อให้น้ำผ่านได้เร็วขึ้น เพราะเท่าที่ประเมินตอนนี้เราเห็นว่าหากไม่เร่งระบายพนังกั้นน้ำในหลายพื้นที่อาจจะสู้ไม่ไหว"

    แม้ว่ารัฐบาลจะเลือกพื้นที่ฝั่งตะวันออกเป็นพื้นที่ระบายน้ำ เนื่องจากฝั่งตะวันตก แม่น้ำท่าจีนคดเคี้ยวทำให้ระบายได้ไม่มาก แต่อย่างไรก็ตามพื้นที่ฝั่งตะวันออก ก็มีถนน 50 สาย ที่ขวางเส้นทางน้ำ ชวลิต จึงเสนอว่า หากต้องการเร่งระบายน้ำ สิ่งที่ต้องทำก็คือ การตัดถนน 8 เส้นในฝั่งตะวันออก เช่น ถนนบริเวณ ต.หนองเสือ ปทุมธานี และถนนบริเวณบางน้ำเปรี้ยวเพื่อตัดน้ำลงไปสู่ทะเลที่บริเวณคลองด่าน

      " เราได้เสนอแนวทางนี้กับกรมชลประทานไปแล้ว แต่ในรายละเอียดหน่วยงานภาครัฐทั้งส่วนกลาง ท้องถิ่น ต้องมาพิจารณาร่วมกันว่าจะตัดถนนสายไหนบ้าง ที่ระบายได้ดีที่สุดและผลกระทบน้อยที่สุด"

  ชวลิต บอกว่า การเจาะถนน ต้องตัดสินใจภายในวันนี้เพราะปริมาณการไหลของน้ำในปัจจุบันอยู่ที่  3 เมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าเร็วมากขณะที่จำนวนน้ำ 150 ล้านลบ.ม. จะทำให้ปริมาณน้ำเพิ่มความสูงมากขึ้นตามกำแพงกั้นและที่สุดกำแพงอ่อนแอก็จะพังทลายลง

  เขาบอกว่า หากมีการตัดสินใจเจาะถนนสิ่งที่ต้องเตรียมดำเนินการ คือ การประสานกับท้องถิ่นเตรียมพื้นที่อพยพ โซนสีแดงต้องเข้าช่วยเหลือผู้อพยพ โดยหาสถานที่อพยพ เพื่อย้ายคนออกไปในพื้นที่ หากบางคนต้องการอยู่บ้านต้องแจ้งทะเบียนเพื่อสามารถแจกจ่ายอาหารได้ ส่วนโซนสีเหลืองต้องแจ้งให้เก็บของ และจอดรถในที่สูง  สิ่งเหล่านี้คือ เรื่องที่หน่วยงานราชการต้องเตรียมการทั้งหมด หากมีการตัดสินใจตัดถนนเพื่อระบายน้ำ

   ส่วนประชาชน ชวลิต บอกว่า" อย่าแตกตื่น ติดตามข่าวทางราชการให้มาก เพราะว่าข้อมูลเป็นความจริงทุกหน่วยงานกำลังช่วยกันอยู่แล้ว " อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าปีนี้ปริมาณน้ำ 5 แม่สายหลัก มีจำนวนมากกว่าทุกปี ถึง 1.4 เท่า ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำ ปิง  วัง ยม น่าน และ เจ้าพระยา ดังนั้นทุกคนจึงต้องช่วยกันแบ่งเบาความเดือดร้อนร่วมกัน
-----

กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ 14 ตุลาคม 2554