ผู้เขียน หัวข้อ: ความลับของการนอน (fatal familial insomnia)(เนชั่นแนลจีโอกราฟฟิก-พค.2553)  (อ่าน 4364 ครั้ง)

pani

  • Hero Member
  • *****
  • กระทู้: 756
    • ดูรายละเอียด
เชอรีล ดิงเกส ทหารยศสิบเอกวัย 29 ปี จากเมืองเซนต์ลูอิส  เป็นครูผู้สอนศิลปะการต่อสู้ด้วยมือเปล่าให้ทหาร  เธอเป็นหนึ่งในผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการรับรองจาก กองทัพว่ามีความสามารถในการต่อสู้ระดับสอง ซึ่งรวมถึงการฝึกฝนการต่อสู้แบบสองต่อหนึ่งอย่างหนักหน่วง แต่เธออาจต้องเผชิญกับการต่อสู้ที่หนักหนาสาหัสกว่าในอนาคต ดิงเกสอยู่ในครอบครัวที่มียีนของโรคนอนไม่หลับถึงตายที่ถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ (fatal familial insomnia: FFI) อาการหลักของโรคเอฟเอฟไอคือ ผู้ป่วยจะไม่สามารถนอนหลับได้ โดยมีอาการเริ่มแรกคือไม่สามารถงีบหลับ จากนั้นก็จะนอนไม่หลับตลอดทั้งคืน จนกระทั่งผู้ป่วยไม่สามารถนอนได้เลย กลุ่มอาการนี้มักเริ่มขึ้นเมื่อผู้ป่วยย่างเข้าสู่วัย 50 ปี และโดยทั่วไปแล้วจะดำเนินไปเป็นระยะเวลาราวหนึ่งปีก่อนจะเสียชีวิตลงตามชื่อโรค  ดิงเกสปฏิเสธการตรวจหายีนของโรคนี้ “ฉันกลัวว่าหากรู้ว่าฉันมียีนนี้อยู่ ฉันอาจถอดใจยอมแพ้ ไม่ต่อสู้ดิ้นรนกับอะไรอีกแล้วในชีวิต”

เอฟเอฟไอเป็นโรคที่น่าพรั่นพรึง  และการที่เรามีความรู้เพียงน้อยนิดเกี่ยวกับกลไกของโรค ยิ่งทำให้มันฟังดูน่ากลัวยิ่งขึ้น นักวิจัยคิดว่า โปรตีนรูปร่างผิดปกติชื่อว่าพรีออน (prion) โจมตีทาลามัส (thalamus) ซึ่งเป็นโครงสร้างที่อยู่ลึกเข้าไปในสมองของผู้ป่วยโรคเอฟเอฟไอ และทาลามัสที่เสียหายก็รบกวนการหลับ แต่พวกเขาไม่รู้ว่าโรคนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่รู้ว่าจะหยุดโรคหรือบรรเทาอาการอันโหดร้ายเช่นนี้ได้อย่างไร  เอฟเอฟไอเป็นโรคที่พบได้น้อยมาก โดยมีรายงานเพียง 40 ครอบครัวในโลกเท่านั้น แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งมันยังเป็นปริศนาพอๆกับการนอนไม่หลับอีกหลายประเภทที่มีความรุนแรงน้อยกว่ามาก

ความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจจากภาวะ นอนไม่หลับนั้นมีมหาศาล  สถาบันแพทยศาสตร์ของสหรัฐฯ (Institute of Medicine) ประเมินว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนเกือบร้อยละ 20 มีสาเหตุมาจากการที่ผู้ขับขี่ง่วงนอน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลโดยรวมที่เกี่ยวข้องกับการอดนอนสะสมหรือ “หนี้การนอน” (sleep debt) สูงถึงหลายหมื่นล้านดอลลาร์ สหรัฐต่อปี  ความเสียหายในแง่ของประสิทธิภาพการผลิต นั้นยิ่งสูงกว่า นอกจากนี้ยังมีความเสียหายที่ประเมินค่ามิได้ ทั้งสัมพันธภาพที่ได้รับผลกระทบและที่หายไป  การที่ทำให้ผู้คนอ่อนล้าเกินกว่าจะทำงานได้  รวมถึงความสุขในการใช้ชีวิตที่หมดไปด้วย

เป็นที่รู้กันมานาน 50 ปีแล้วว่า การนอนหลับแบ่งออกได้เป็นสองช่วง ได้แก่ ช่วงหลับลึก (deep-wave sleep) และช่วงหลับฝันหรือเร็ม (rapid eye movement: REM)  ซึ่งสมองมีการทำงานอย่างตื่นตัวใกล้เคียงกับตอนตื่น แต่กล้ามเนื้อที่อยู่ภายใต้การควบคุมของจิตใจอยู่ในสภาพไม่ไหวติง  เรารู้ว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกล้วนนอนหลับ โลมาเองก็นอนหลับโดยที่สมองอีกซีกหนึ่งตื่นอยู่เพื่อรับรู้โลกใต้น้ำรอบตัว ทั้งปลา สัตว์เลื้อยคลาน และแมลงต่างมีประสบการณ์ของการนอนหลับพักผ่อนเช่นกัน

ทฤษฎีการนอนหลับอันโด่งดังเชื่อว่า สมองต้องการการพักผ่อน การวิจัยที่ฮาร์วาร์ดซึ่งนำโดยโรเบิร์ต สติกโกล์ด เมื่อเร็วๆนี้ ได้ทำการทดลองกับนักศึกษาด้วยแบบทดสอบความถนัดในรูปแบบต่างๆ และอนุญาตให้นักศึกษางีบหลับก่อนจะกลับมาทดสอบอีกครั้ง ผลวิจัยพบว่า ผู้ที่หลับจนถึงช่วงหลับฝันจะทำแบบทดสอบเกี่ยวกับการจดจำรูปแบบ เช่นไวยากรณ์ได้ดีกว่า  ขณะคนที่หลับลึกจะท่องจำได้ดีกว่า นักวิจัยคนอื่นๆพบว่า ในช่วงที่หลับ สมองพยายามจะสร้างความทรงจำระยะยาวเกี่ยวกับสิ่งที่ได้เรียนรู้ในวันนั้น การวิจัยดังกล่าวเสนอว่า หน้าที่หนึ่งของการนอนหลับอาจได้แก่การเปลี่ยนความทรงจำระยะสั้นเป็นความทรงจำระยะยาว

นอกจากนี้  การนอนหลับยังน่าจะมีจุดประสงค์ทางสรีรวิทยาอีกด้วย  กล่าว คือการที่ผู้ป่วยโรคเอฟเอฟไอมีอายุสั้นเป็นตัวบ่งชี้ว่า การนอนหลับมีความสำคัญต่อความอยู่รอดของร่างกาย งานวิจัยหลายชิ้นมุ่งไปที่การค้นหาสาเหตุของการเสียชีวิต ผู้ป่วยโรคนี้เสียชีวิตเพราะอดนอนหรือไม่  ถ้าหากไม่ แล้วการนอนไม่หลับทำให้เกิดสภาวะใดที่คร่าชีวิตพวกเขา นักวิจัยบางคนพบว่า การอดนอนทำให้แผลของหนูทดลองหายช้า ขณะที่บางคนกล่าวว่า การนอนช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน แต่การศึกษาเหล่านี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดในปัจจุบัน

บ่ายวันหนึ่งเมื่อปีที่แล้ว ผมไปเยี่ยมชมศูนย์เวชศาสตร์การนอนที่สแตนฟอร์ด  ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1970 และเป็นแห่งแรกในประเทศที่ มุ่งรักษาปัญหาการนอนไม่หลับ  ศูนย์แห่งนี้รักษาผู้ ป่วยกว่า 10,000 รายต่อปี  เครื่อง มือหลักที่ใช้ในการวินิจฉัยของศูนย์คือ  เครื่องโพลีซอมโนแกรม (polysomnogram: เครื่องตรวจและบันทึกสภาพสรีรวิทยาช่วงการนอนหลับ) ที่บันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง (electroencephalograph: EEG) ซึ่งจะจับกระแสไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากสมองของผู้ป่วยที่กำลังหลับ เมื่อเราเริ่มหลับ สมองจะทำงานช้าลงและลักษณะคลื่นไฟฟ้าสมองจะเปลี่ยนจากคลื่นแหลมเล็กไปเป็น ลูกคลื่นขนาดใหญ่ขึ้น  เช่นเดียวกับทะเลที่ยิ่งห่าง ฝั่งคลื่นก็ยิ่งราบเรียบ  คลื่นสมองที่เงียบสงบนี้จะ ถูกคลื่นที่รวดเร็วและรุนแรงของการหลับช่วงเร็มแทรกเป็นระยะๆ เวลาที่เราฝันเกือบทั้งหมดจะอยู่ในช่วงเร็ม โดยที่ไม่ทราบสาเหตุ

การวินิจฉัยโรคเอฟเอฟไอและภาวะง่วงเกิน (narcolepsy หรือโรคที่ผู้ป่วยมีอาการง่วงนอนเวลากลางวันมากผิดปกติ ชนิดหนึ่ง) จะไม่สามารถทำได้หากปราศจากการบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมองและเครื่องตรวจวัดอื่นๆ แต่คลีต คูชิตะ ผู้อำนวยการศูนย์ บอกผมว่า เขาสามารถระบุปัญหาการนอนหลับของผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้ตั้งแต่การสัมภาษณ์เบื้องต้น นั่นเป็นเพราะมีทั้งคนที่ต้องคอยถ่างตาให้ตื่นตลอดเวลา และคนที่เล่าถึงความอ่อนล้าแต่ก็ไม่ได้เผลอหลับขณะสัมภาษณ์ กลุ่มแรกมักเป็นพวกที่หยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnea) หรือผู้มีอาการกล้ามเนื้อคลายตัวขณะนอนหลับ ทำให้เนื้อเยื่ออ่อนในคอและหลอดอาหารปิดลง ทางเดินอากาศหายใจของผู้นอนจึงถูกปิดกั้น เมื่อสมองรับรู้ว่าไม่ได้รับออกซิเจน ผู้ที่หลับอยู่จึงตื่นขึ้นและสูดลม หายใจเข้า  สมองก็จะได้รับการเติมออกซิเจนและหลับต่อ ได้อีกครั้ง ส่วนกลุ่มหลังมีอาการที่คูชิตะเรียกว่า “การนอนไม่หลับที่แท้จริง” หรือคนที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ทางด้านการนอนหลับว่าเป็นโรคนอนไม่หลับ จากสรีรวิทยาทางจิต (psychophysiological insomnia) หมาย ถึงคนที่ไม่สามารถนอนหลับได้หรือหลับๆตื่นๆโดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด คนเหล่านี้เมื่อตื่นนอนจะรู้สึกว่าไม่ได้พัก และเมื่อล้มตัวลงนอนสมองก็เริ่มหมกมุ่นครุ่นคิด คนกลุ่มนี้คิดเป็นร้อยละ 25 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่ศูนย์การนอน

ในขณะที่การหยุดหายใจสามารถรักษาด้วย อุปกรณ์ที่อัดอากาศเข้าไปในลำคอของผู้นอนเพื่อเปิดทางเดินหายใจ แต่การรักษาการนอนไม่หลับแบบดั้งเดิมนั้นยังไม่มีวิธีการที่ชัดเจน การฝังเข็มอาจช่วยได้เพราะใช้กันมานานแล้วในเอเชีย และศูนย์การนอนหลับแห่งมหาวิทยาลัยพิตต์สเบิร์กกำลังศึกษาวิธีนี้อยู่

โดยทั่วไปการรักษาโรคนอนไม่หลับจาก สรีรวิทยาทางจิต มีสองส่วน ส่วนแรกคือการใช้ยานอนหลับ ซึ่งส่วนใหญ่ออกฤทธิ์โดยการกระตุ้นการทำงานของกรดแกมมา-แอมิโนบิวทรีริกหรือ กาบา (gamma-aminobutryric acid: GABA) ซึ่งเป็น สารส่งผ่านประสาทที่ควบคุมความวิตกกังวลและการตื่นตัวโดยรวมของร่างกาย แม้ว่ายานอนหลับจะปลอดภัยกว่าสมัยก่อน แต่ก็ก่อให้เกิดการติดยาทางด้านจิตใจ (psychological addiction)ได้ ผู้ใช้ยานอนหลับหลายรายกล่าวว่า การนอนหลับโดยใช้ยาแตกต่างจากการนอนหลับตามปกติ และจะมีอาการเมาค้างเมื่อตื่นนอน

ขั้นที่สองในการรักษาผู้ที่นอนไม่หลับ ที่แท้จริงคือ การบำบัดความคิดและพฤติกรรมหรือซีบีที (cognitive behavioral therapy: CBT) ในการบำบัดแบบซีบีที นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญจะสอนให้ผู้นอนไม่หลับคิดว่า ปัญหานี้แก้ไขหรือจัดการได้ นั่นคือส่วนของการรับรู้ และร่วมกับการฝึกให้มี “สุขอนามัยการนอน” ที่ดี ซึ่งระบุว่า เราควรนอนในห้องมืด เข้านอนเฉพาะเวลาที่ง่วงนอน และอย่าออกกำลังกายก่อนนอน การศึกษาหลายชิ้นเผยว่า ซีบีทีมีประสิทธิภาพในการรักษาการนอนไม่หลับในระยะยาวมากกว่าการใช้ยา แต่ผู้ป่วยหลายรายก็ยังไม่มั่นใจ

การ ที่เรานอนไม่หลับอาจเป็นเพราะเราลืมไปว่าจะหลับอย่างไร โดยเฉลี่ยแล้วเรานอนน้อยกว่าคนในศตวรรษที่แล้วประมาณครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง การนอนไม่หลับหรือการอดนอนที่แพร่ระบาดอาจเป็นเพียงเพราะเราไม่ใส่ใจความ ต้องการของร่างกาย จังหวะการนอนตามธรรมชาติ ของวัยรุ่นระบุว่า พวกเขาควรนอนตื่นสาย แต่เด็กๆกลับต้องเข้าเรียนตอนแปดโมงเช้า คนที่ทำงานกะกลางคืนเข้านอนตอนเช้า และนั่นเป็นการต่อสู้กับจังหวะชีวิตที่มีมาแต่โบราณของร่างกาย ซึ่งสั่งการ ให้เราตื่นเพื่อล่าสัตว์หรือหาของป่าในเวลาที่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยแสงสว่าง แต่คนเหล่านั้นก็ไม่อาจเลือกได้ เราต่อสู้กับแรงขับดันทางธรรมชาตินี้โดยเดิมพันกับสวัสดิภาพของเราเอง ชาร์ลส์ ไซส์เลอร์ จากฮาร์วาร์ด กล่าวว่า การไม่ได้นอนติดต่อกัน 24 ชั่วโมงหรือนอนเพียงคืนละ 5 ชั่วโมง ติดต่อกันหนึ่งสัปดาห์มีค่าเท่ากับการมีแอลกอฮอล์ในกระแสเลือด ร้อยละ 0.1 แต่การทำธุรกิจใน ปัจจุบันยกย่องการที่พนักงานทำงานติดต่อกันโดยไม่ได้หยุดพักผ่อน

ในทศวรรษ 1980 เรคต์ชาฟเฟนทำการทดลองโดยกระตุ้นให้หนูตื่นอยู่ตลอดเวลาในห้องปฏิบัติการ เขาวางพวกมันลงบนจานที่ตั้งอยู่บนแกนหมุนเล็กๆเหนือแท็งก์น้ำ ถ้าหนูหลับ จานจะพลิกและทำให้หนูตกน้ำ พอตกน้ำ มันก็จะตื่นขึ้นทันที หลังจากสองสัปดาห์ พวกมันก็ตาย แต่เมื่อเรคต์ชาฟเฟนผ่าชันสูตรศพ เขากลับไม่พบสิ่งผิดปกติใดๆชัดเจน อวัยวะของหนูไม่ได้เสียหาย และดูเหมือนว่าพวกมันจะตายเพราะเหนื่อยจนหมดแรงมากกว่า ซึ่งนั่นเป็นผลจากการไม่ได้นอน การทดลองครั้งต่อมาในปี 2002 ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัยขึ้นก็ยังไม่สามารถระบุสาเหตุการตายที่แน่ชัดของ หนูได้
ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดผม ได้พบกับ วิลเลียม เดเมนต์ หนึ่งในผู้ค้นพบการหลับช่วงเร็ม ผมถามถึงสิ่งที่เขาเรียนรู้จากการค้นคว้าวิจัยเรื่องเหตุผลของการนอนหลับมา ตลอด 50 ปี เดเมนต์ตอบว่า “เท่าที่รู้ในตอนนี้ เหตุผลที่แท้จริงเพียงประการเดียวที่เราต้องหลับก็คือ เพราะเราง่วงนอนครับ”

เรื่องโดย ดี. ที. แมกซ์